After the run: เหล่าผู้คนที่ออกมา ‘ก้าว’ ต่อจากตูน Bodyslam 1/2

มีหลายคนที่เชื่อในตัว ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย แต่หวั่นเกรงว่าเขาจะวิ่งถึงจุดหมายที่หลักกิโลสองพันกว่าด้วยดีไหม นอกจากทำให้คนตกใจตั้งแต่ประกาศตัวเลขระยะทาง เขาก็ทำให้เราทึ่งอีกครั้งเมื่อการวิ่งระยะไกลภายใน 55 วันจบลงอย่างสวยงาม (แถมยังมีแรงไปขึ้นคอนเสิร์ตต่อสบายๆ)

อาจไม่มีการวิ่งระยะไกลในชื่ออาทิวราห์อีกต่อไป-ไม่มีใครรู้ แต่คล้ายว่าการ ‘ก้าว’ ของเขายังไม่จบลงดี เมื่อเราได้เห็นใครหลายคนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง อาจเป็นการวิ่ง อาจเป็นการออกกำลังกาย อาจเป็นการเปลี่ยนความคิดเดิมๆ หรืออาจเป็นการทำอะไรเพื่อคนอื่น-อย่างที่เขาตั้งใจทำ

แม้ไม่เคยมีใครระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่แรงบันดาลใจนั้นมีความสามารถในการแพร่กระจายได้ด้วยตัวเอง และเรื่องราวของบุคคลต่อไปนี้คือตัวอย่างที่เราอยากบันทึกไว้

พริม อติรักษ์ – นักวิ่งหน้าใหม่

“เมื่อก่อนเราไม่ใช่คนตัวเล็ก แต่ก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองอ้วน ไปออกกำลังกายบ้างก็จริง แต่ก็ทำเพราะเป็นแฟชั่น อยากมีรูปสวยๆ ไว้ลง ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแฟชั่น ดาราทำอะไร คนก็มักจะทำตาม เราก็เป็นหนึ่งในนั้น จุดเปลี่ยนคือตอนเรียนจบโทที่อังกฤษ น้ำหนักขึ้นมา 13 กิโล รับตัวเองไม่ได้เลย มันไม่ใช่จุดที่เรารู้สึกว่าเรารักตัวเอง เลยเริ่มมีแรงผลัก ไฟเริ่มติด ต้องทำอะไรสักอย่าง เริ่มต่อยมวย เข้า cycling class รู้สึกว่ามันสนุก

“ก่อนหน้าจะมาออกกำลังกายจริงจังเคยพยายามวิ่งแล้ว แต่วิ่งทีไรก็คันแบบทรมานมากจนต้องหยุด เกาจนเป็นแผล วิ่งได้ 10 นาทีก็ยอมแพ้ จนครั้งนึงรู้สึกหงุดหงิดตัวเองว่าทำไมเราอ่อนแบบนี้ นอกจากนี้ก็มีปัญหาหายใจไม่ทันด้วย แต่เหตุผลที่ทำให้เราอยากเริ่มวิ่งจริงจังอีกครั้งก็คือแฟน เขาชอบวิ่งอยู่แล้ว เราจึงอยากก้าวข้ามอุปสรรคตรงนี้เพื่อจะได้ไปวิ่งกับเขา มีกิจกรรมทำร่วมกัน พอเริ่มวิ่งไปได้สักพัก สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือร่างกายเราที่แข็งแรง เราอึดขึ้นมาก พริมเริ่มวิ่งจริงจังเมื่อตอนปี 2017 จุดเริ่มต้นของการวิ่งครั้งแรก คือที่ Nike Running Club ที่ติดใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ไป หลังจากนั้น NRC BKK คือ the must ของทุกสัปดาห์ที่จะต้องไปให้ได้ พริมได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งด้วยกันเพเซอร์หรือโค้ชที่น่ารักมากๆ คอยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำในการวิ่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้พริมสามารถฮึดสู้ และพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

“พริมไม่ใช่แฟนคลับพี่ตูนขนาดนั้นเพราะไม่ใช่คนฟังเพลงเยอะ แต่วันที่บินกลับมาไทยได้ขึ้นไฟลท์เดียวกับพี่ตูน มีโอกาสได้คุย ได้ถ่ายรูปคู่ เราก็ประทับใจ แฟนชอบพี่ตูนมาตั้งแต่สมัยอยู่วงละอ่อน พอพี่ตูนเริ่มวิ่ง เขาก็คอยไลฟ์สดให้พริมฟังว่าพี่ตูนถึงนี่แล้ว ถึงนั่นแล้ว เรื่องที่คนสงสัยว่าพี่ตูนจะวิ่งได้จนจบไหม พริมก็สงสัยเหมือนกัน แต่พริมคิดว่าเพราะพี่ตูนมีความเชื่อ เขาจึงทำได้ ถ้าสังเกตจากเพลงของเขา มันมักจะเกี่ยวกับความฝัน ความหวังและความเชื่อ เขาเชื่อแต่แรกว่าคนไทยจะช่วยเขาในการหยิบยื่นเงินบริจาค แต่ใครจะเชื่อว่าขอแค่คนละ 10 บาท มันจะกลายเป็นพันล้านไปได้ เวลามีปัญหาคนไทยจะยื่นมือเข้ามาช่วยกันแหละ แต่การที่พี่ตูนพูดและทำแบบนี้ เขาได้หย่อนเมล็ดพันธุ์ดีลงในใจให้คนไทยหลายๆ คน ว่าชีวิตที่มีค่ามันคือชีวิตที่ทำเพื่อคนอื่น

“จุดที่เราได้จากพี่ตูนและก้อยก็คือการเอาชนะตัวเอง เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เราอยากดูแลตัวเอง อยากเอาชนะขีดจำกัดในชีวิตที่คิดว่าทำไม่ได้ แต่จริงๆ ทำได้ สำหรับก้อยอาจจะเห็นภาพมากกว่าหน่อยเพราะเป็นผู้หญิงเหมือนกัน วิ่งตามแฟนเหมือนกัน แล้วก้อยก็มีแฮชแท็กว่า #ก้อยไม่เก่งแต่ก้อยไม่หยุด ที่พริมวิ่งขึ้นมาเพซ 6 ได้นี่ก็เกือบตาย แต่พอทำได้แล้วรู้สึกภูมิใจมาก ตอนนี้เรื่องลดความอ้วนเป็นเรื่องรองไปแล้ว การได้ออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพตัวเองไม่ให้เป็นภาระหมอพยาบาลอย่างที่พี่ตูนบอก เป็น priority หลักในการออกกำลังกายของพริม

“ตอนพี่ตูนเข้ามากรุงเทพ พริมได้ไปวิ่งในขบวนร่วมกับทีม NRC วิ่งไปก็จะร้องไห้เพราะตื้นตันมาก พลังจากผู้คนมาเยอะมาก นั่นเป็นวันแรกที่วิ่งได้ 8 กิโลฯ กว่าและวิ่งด้วยเพซค่อนข้างเร็วกว่าที่เคยวิ่ง พริมคอยเซฟพี่ตูน คอยกันคนไม่ให้ทะลุเข้ามา รู้สึกเป็นเกียรติกับชีวิตมากๆ ปกติเราจะวิ่งเพื่อเอาชนะตัวเอง แต่การวิ่งเพื่อคนอื่นมันเป็นอย่างนี้นี่เอง เป็นความรู้สึกที่จะจำไปชั่วชีวิต ต้องขอบคุณ NRC ทำให้พริมได้มีประสบการณ์ดีๆ ขนาดนั้น

“เรารู้สึกขอบคุณพี่ตูนมากๆ ที่เขาเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ ชีวิต พริมชอบดูรายการเจาะใจ มีเทปหนึ่งแขกรับเชิญมีทั้งคุณแซม (ณัฐพล เสมสุวรรณ อดีตผู้ป่วยมะเร็ง และ Stevens-Johnson syndrome) และคุณแต็ก The Voice นี่ก็เป็นสองตัวอย่างที่พี่ตูนเป็นแรงบันดาลใจให้เขา พริมกับแฟนนั่งดูร้องไห้เลย จับมือแฟนบอกว่า พรุ่งนี้ไปวิ่งกันเถอะ ดาราคนอื่นอาจจะออกกำลังกายจริงๆ แต่เรามักไปทำตามแต่เปลือก แต่พี่ตูนเขาไม่ได้แค่วิ่งเพื่อให้เรามาวิ่งตามเขา เขาใส่ข้อคิด มุมมอง แรงบันดาลใจให้คนไทยด้วย มันเลยไม่ฉาบฉวย ทำให้เราทำต่อไปได้เรื่อยๆ”

จตุภัทร ลิมประพฤทธิ์กุล – NRC BKK เพเซอร์

“เราไปวิ่งกับพี่ตูน 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันแรกที่เบตงจนถึงอำเภอธารโต วิ่งไปด้วยตลอดทั้งวัน ครั้งที่สองคือวิ่งส่งพี่ตูนจากนครปฐมเข้ากรุงเทพฯ ยังคุยกับเพื่อนอยู่เลยว่า นี่มันไม่ใช่งานวิ่งปกติแล้ว แต่คืองานบุญที่อยู่ในรูปแบบของงานวิ่ง โดยปกติงานวิ่งจะอยู่ในรูปแบบของการแข่งขัน คนที่วิ่งเร็วคือคนที่ได้รับรางวัล แต่ในการวิ่งกับพี่ตูน ทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับรางวัลบางอย่าง รางวัลคือความอิ่มใจ ไม่ใช่แค่กับคนที่วิ่งกับเขา แต่รวมถึงคนที่อยู่รอบข้างเขาด้วย

“สิ่งที่พี่ตูนทำมันทิ้งไว้อยู่ในตัวเรา เราเป็นคนวิ่งอยู่แล้ว แต่ในทุกวันเราก็มีความขี้เกียจ เราสู้กับความขี้เกียจของเราอยู่ โครงการที่มีการวิ่งแต่ละวัน วันวิ่งก็วิ่ง วันพักก็พัก มันทำให้เราเห็นว่านี่แหละ วินัยของเขา บางวันเราขี้เกียจก็เปิดไลฟ์ เปิดเพจโครงการขึ้นมาดู แล้วรู้สึกว่าขณะที่เรานอนขี้เกียจเนี่ย เรามาทำตามแผนของเราดีไหม เราออกมาวิ่งดีกว่า รู้สึกอย่างนี้ตลอดช่วงที่มีโครงการ สิ่งหนึ่งที่เขาเปลี่ยนเราคือเรื่องความมีวินัย ความไม่ขี้เกียจ ตลอดสองพันกว่ากิโลเมตร พี่ตูนมีแผน แล้วเขาก็เป็นคนมั่นคงกับแผน ทำตามที่โค้ชบอก

“ตลอดทางที่เราวิ่งกับพี่ตูนที่เบตง เราไม่ได้คุยอะไรกับพี่ตูนเลย แต่ได้ยินเสียงเขาตลอด เป็นเสียงที่บอกกับเด็กๆ ทุกคนที่เอาเงินมาบริจาคว่า ‘ตั้งใจเรียนนะ เป็นเด็กดีนะ’ ถ้าวิ่งผ่านคนแก่ชราก็จะบอกว่า ‘สุขภาพแข็งแรงนะครับ ขอบคุณนะครับ ใจดีจังเลยครับ’ เราได้ยินแค่นั้นแหละตลอดทาง แต่พี่ตูนสื่อสารกับเราแล้ว

“หลายคนจะคิดว่าพี่ตูนเป็นเทพบุตร เป็นคนที่ประเทศนี้ต้องการ แต่ส่วนตัวเรายังเห็นว่าเขาเป็นศิลปิน ศิลปินที่สอนเราใช้ชีวิต มันคงเป็นวิธีการที่เขาแสดงลวดลายในการออกแบบชีวิตของเขาทางหนึ่ง เดิมเขาส่งข้อความมาผ่านเสียงเพลง ผ่านดนตรี ผ่านถ้อยคำ แต่คราวนี้มันต่างออกไป เขาใช้การวิ่งเป็นตัวสื่อสาร เราก็ได้แต่เรียนรู้และทบทวน ว่าชีวิตเราเนี่ย เรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังทำเพื่อใคร มันมีประโยชน์กับใครบ้างรึเปล่า”

กภ.ณัฐนันท์ อุสายพันธ์

นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กระทรวงสาธารณสุข

“หนึ่งในโรงพยาบาลที่จะได้รับครุภัณฑ์จากโครงการคือโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โครงการต้องการนักกายภาพบำบัดไปช่วยดูแลทีมวิ่ง ทีมนักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลเราเลยเป็นทีมนักกายภาพบำบัดคู่ขนานทีมแรก คอยดูแลนักวิ่งอื่นๆ ที่เป็นการ์ดหรือเป็นคนดังที่มาร่วมวิ่ง รับผิดชอบตั้งแต่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ไปจนถึงจังหวัดชุมพร พี่ต้องหาข้อมูลเส้นทางวันต่อวัน ดูข่าว ดูไลฟ์สดเพื่อดูว่าขบวนมีนักวิ่งเยอะไหม ต้องเตรียมทีมนักกายภาพยังไง ต้องวางแผนการทำงานล่วงหน้า

“โครงการนี้เป็นสิ่งน่ามหัศจรรย์ เพราะตามหลักการของการทำกายภาพ นักวิ่งควรพักเมื่อบาดเจ็บ แต่โครงการนี้เขาพักไม่ได้ ยังไงก็ต้องวิ่งต่อ เราก็ต้องใช้มันสมองและสองมือทำให้เขาหาย ให้วิ่งต่อได้ ดูแลทุกจุดพักเซ็ต ใช้น้ำแข็งประคบทุกเซ็ต ใช้เทคนิคการ taping เข้ามาช่วย ในประสบการณ์ทำงาน 28 ปี ส่วนใหญ่เวลาทำงานก็ตั้งหลักอยู่ที่โรงพยาบาล เครื่องมืออยู่ไหนพื้นที่เป็นยังไงเรารู้ แต่นี่หนึ่งวันเราต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานอย่างน้อย 5 ครั้ง พอถึงจุดพักทำกายภาพ ไม่รู้เลยว่าจะเจออะไร บางช่วงเป็นป่า บางช่วงเป็นปั๊มน้ำมัน คนที่ไปต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวตรงนี้

“ถ้าคุณตูนวิ่งตีสอง เราจะตื่นตีหนึ่ง ถ้าคุณตูนเสร็จสามทุ่ม เราก็ได้นอนสี่ทุ่ม เราทำอย่างนั้นได้เพราะคุณตูนเหนื่อยกว่าเราหลายเท่า ตอนเขาวิ่งเราก็ได้พักบนรถ ตอนที่เขาพัก เราก็ต้องทำงานเต็มที่ ทีมงานอื่นๆ เช่นทีมคนขับรถ น้องที่ต้องเตรียมขนน้ำแข็ง เขาก็นอนน้อยเหมือนกัน ทุกคนมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ แต่เวลาเขาทำงานเสร็จ เขาจะบอกว่า พี่ ผมเจ็บตรงนี้ มาเลยพี่ดูให้ ถึงน้องไม่ใช่นักวิ่งพี่ก็ดูให้

“พี่ไม่เคยรู้ว่าคุณตูนมีแบคกราวน์ยังไง เป็นคนที่อยู่คนละเจเนอเรชั่น แต่พอไปทำงาน เราเห็นเขาทำงานเพื่อคนอื่นอย่างแสนสาหัส โปรตีนในกล้ามเนื้อสลายก็ยังฝืนวิ่ง ตั้งแต่เขาออกวิ่ง พี่ก็ขอกล่องก้าวคนละก้าวเอามาไว้ที่โรงพยาบาลที่แผนกกายภาพให้คนบริจาคได้ หรือตอนอยู่ในขบวน ถ้าเข้ามาแล้วก็จะไม่สามารถไปไหนได้เลย เพราะตรงนั้นจะรถติด คนเยอะ แต่พี่ก็สนุก

“โครงการนี้ทำให้พี่เปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ก่อนหน้าปี 59 พี่ป่วยหนัก ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ก็ออกกำลังกายเยอะเพื่อให้ฟื้นตัว ปกติวิ่ง fun run (5 กิโลเมตร) แต่พอไปเห็นคนวิ่งคนอื่นที่เขาอายุมากกว่าเรา โดยเฉพาะคุณแม่หมอเมย์ วิ่งร้อยกิโล ทำไมเราทำไม่ได้ล่ะ พอหมดระยะที่รับผิดชอบก็ฟังไลฟ์สดทุกวัน ตีสองคุณตูนออกวิ่งแล้ว ตายๆ ฉันจะต้องตื่นตีห้ามาวิ่ง เซ็ตสองเขาวิ่งยังไม่ทันจบ แต่เราวิ่งครบ 1 ชั่วโมงแล้ว ต้องรีบไปทำงานแล้ว แต่อย่างน้อยก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากออกกำลังกายมากขึ้น

“ปกติพี่เป็นนักกายภาพ ต้องสอนคนไข้เส้นเลือดในสมองแตกออกกำลังกายเพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็คิดว่าเราเป็นต้นแบบ แต่ตอนนี้เราคิดว่าต้องทำให้ได้มากกว่านั้น จะค่อยๆ ไต่ระดับไปตามศักยภาพที่คิดว่าพัฒนาได้ พี่ส่งแชร์ไปในกลุ่มไลน์เพื่อนสนิทด้วยว่า เราอายุ 50 กว่ากันแล้ว เราควรจะออกกำลังกายนะ ถ้าเราเป็นบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข แล้วเราไม่ทำ เราจะไปสอนเขาออกกำลังกายได้ยังไง

“มันเป็นโครงการของคนรุ่นใหม่ที่คิดและทำให้เกิด social movement ไม่ได้เปลี่ยนแค่ทัศนคติ แต่เปลี่ยนถึงระดับพฤติกรรม ตอนนี้พี่เห็นคนในโรงพยาบาล หรือคนรอบๆ หมู่บ้านเขาออกมาวิ่งแล้ว เราภูมิใจกับตัวเองที่ได้มาทำงานตรงนี้ ภูมิใจที่ได้ร่วมทำความดี คุณตูนพูดอย่างชัดเจนในวันสุดท้ายบนเวทีว่าเขาวิ่งได้เพราะทีมกายภาพสุดยอด”

ณัฐพล เสมสุวรรณ – อดีตผู้ป่วยมะเร็ง

“ตอนพี่ตูนวิ่งโครงการที่บางสะพานจบ ตอนนั้นผมยังเป็นคนป่วยที่ไม่แข็งแรง ได้ยินประโยคที่เขาบอกว่า ‘ผมอยากให้คนไทยออกมาดูแลสุขภาพ’ สำหรับคนป่วย ประโยคนี้มันมีค่ามากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ มันรู้สึกว่ามีใครคนหนึ่งอยากให้เราพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เห็นความสำคัญของตัวเองมากขึ้น และคนที่พูดเขาก็กำลังทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า การทำอะไรนอกเหนือไปจากสิ่งที่คนคาดหวังมันเป็นไปได้ มันเลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราลองทำสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ สำเร็จหรือไม่สำเร็จเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผมออกมาวิ่งทุกวัน

“ผมรู้สึกว่าแกเป็นคนตัวเล็ก คนที่ทำสิ่งยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีร่างกายยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องแข็งแกร่งมาก่อน พี่ตูนเล่าว่าเขาเป็นคนธรรมดาที่เริ่มหัดวิ่งอย่างสม่ำเสมอจนทำได้ มันแค่ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม แม้ตอนแรกผมจะวิ่งได้ไม่ไกล แค่ประมาณรอบสระว่ายน้ำก็เหนื่อยหอบแล้ว ผมโดนคีโมมาเยอะกว่าคนปกติ ร่างกายอ่อนแอมาก แต่ทุกครั้งที่ท้อก็จะคิดว่า เรามีเหตุผลอะไรที่ทำให้เริ่มวิ่ง เราอยากมีสุขภาพแข็งแรงจริงๆ แค่ไหน เราจะยอมแพ้ทุกครั้งที่ล้มไหม ถามตัวเองอย่างนี้ตลอด

“วันหนึ่งพี่ตุ้ม-หนุ่มเมืองจันทน์ เห็นเรื่องที่ผมเขียนเล่าในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าผมวิ่งได้ 10 กิโลแล้ว เขาก็ชวนไปไลฟ์ในเพจ หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนเข้ามาปรึกษาผม เข้ามาขอบคุณแนวคิดที่พลิกชีวิตไปเยอะมาก ทำให้ผมเห็นว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเป็น มันสร้างประโยชน์ให้ ‘คนที่เราเคยเป็น’ ได้ นั่นคือคนที่มีความทุกข์และมองไม่เห็นทางออก เราทำให้เขาเห็นว่าชีวิตมันยังมีทางไปอยู่ ผมพยายามเขียนให้กำลังใจคนไข้ หรือคนไม่ป่วยให้ออกมาทำอะไรที่คิดว่าเขาทำไม่ได้ ให้ออกมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แม้มันจะมีความทุกข์เจืออยู่เสมอ

“ผมตีความเส้นชัยว่าไม่ว่าเรื่องอะไร การที่เราจะไปถึงเส้นชัย เราต้องก้าวเดินเสมอ เส้นชัยมันไม่ก้าวเข้ามาหาเรา เราต้องก้าวเข้าไปหาเส้นชัย และการออกกำลังกายก็ทำให้เราแข็งแรงพอจะก้าวไปที่เส้นชัยนั้น ผมคิดว่าพี่ตูนเป็นพลังงานที่ยิ่งใหญ่ เขาแค่ใช้การปฏิบัติตัว ทำให้คนอื่นเห็นเหมือนที่ผมเห็น ประโยคที่เราเคยฟังมาว่า การออกกำลังกายดีต่อสุขภาพยังไง มันเข้าไม่ถึงเรา แต่การกระทำของพี่ตูนเข้าถึงหัวใจเราได้ เพราะเขาใช้ใจในการวิ่งมากกว่าร่างกาย

“พี่ตูนทำให้ผมมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างแข็งแรงขึ้น แล้วผมก็กลายเป็นคนส่งต่อแรงบันดาลใจที่ได้ไปให้คนป่วยหลายคน มีคนป่วยเยอะมากส่งข้อความมาในเพจ บอกว่าผมช่วยชีวิตเขาไว้ คนไม่ป่วยก็ส่งมาว่า ทำไมคนป่วยอย่างแซมถึงทำได้ ทำไมเขาถึงทำไม่ได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ออกกำลังกาย จนตอนนี้เขาไปฮาล์ฟมาราธอนแล้ว การออกกำลังกายคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราหลงลืมไป ยุคสมัยเปลี่ยนไป เราใช้สมองมากขึ้นแต่ใช้ร่างกายน้อยลง แต่ในชีวิตจริงเราต้องใช้ร่างกายในการดำเนินชีวิตมากกว่าสมอง ชีวิตจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ ผมจึงมองว่าการออกกำลังกายคือชีวิต”

นี่เป็นเพียงเรื่องราวจากคนธรรมดา 4 คนที่เป็นคนส่งต่อพลังที่ได้รับจากการวิ่งของ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย กลายเป็นผู้ที่ลุกขึ้นมา ‘ก้าว’ ในแนวทางของตนเอง และความหมายในการกระทำนั้นก็ไปไกลกว่าการแค่ออกกำลังกาย ลองค้นพบ The power of the run ในตัวเราได้ทุกคน ขอเพียงเริ่ม ‘ก้าว’ เท่านั้นเอง

AUTHOR