ถ้าต้องย้อนความไปถึงจุดเริ่มต้นว่าฉันมาเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาได้ยังไง ความทรงจำจะพากลับไปที่ห้องตรวจในโรงพยาบาลเมื่อราว 5 ปีก่อน
มันไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะยังมีองค์ประกอบมากมายที่ทำให้ฉันตัดสินใจได้ว่านี่คือเส้นทางที่จะไปต่อ แต่นั่นนับเป็นโมเมนต์ที่ทำให้ได้เข้าใจตัวเองในส่วนลึกมุมหนึ่งของชีวิต
ถ้านี่เป็นภาพยนตร์ ฉากนี้ก็เป็นฉากที่น่าสนใจดี เพราะมันคือการพูดคุยกันระหว่างฉัน-คนไข้ และเธออีกคนที่ฉันไม่ทราบชื่อ-นักเทคนิคการแพทย์ที่มาทำหน้าที่ตามกะในวันนั้น
ช่วงนั้นรู้สึกว่าหัวใจมีจังหวะการเต้นแปลกๆ ก็เลยพาตัวเองไปเสียเงินตรวจให้สบายใจ เราเจอกันในเวลาเย็นย่ำ ฉันนอนเปลือยอก แม้จะมีเสื้อคลุมปิดอยู่บางพื้นที่เป็นระยะให้พอไม่เหนียมอายจนเกินไป แต่ก็ต้องใช้ความกล้าหาญในระดับสูงสำหรับมนุษย์ไร้นมอย่างฉัน
ถ้าจำไม่ผิด วันนั้นเธอใช้เครื่องมือควานตรวจบริเวณอกเพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เก็บข้อมูลการเต้นหัวใจเป็นกราฟไว้ได้ ฉันต้องติดเครื่องเล็กๆ นี้ไว้กับตัวเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
มันน่าจะเริ่มต้นจากการชวนคุยไม่ให้คนไข้เขินอายหรือเกร็งเกินไป เธอเอ่ยปากถามว่า “คนไข้ทำงานอะไรเหรอคะ?”
“อ๋อ เป็นนักเขียนค่ะ ทำงานนิตยสาร” ฉันตอบ นึกขอบคุณที่เธอช่วยทำลายความเงียบในห้องตรวจมืดสลัว
ทันใดนั้นเสียงของเธอก็เปลี่ยนไป “จริงเหรอคะ มันเป็นงานที่เราเคยอยากทำ” เป็นเสียงที่ตื่นเต้นและกระตือรือร้น
เธอไม่ได้อธิบายถึงชีวิตตัวเองมากมาย แต่จับใจความได้ว่า งานที่ทำอยู่ไม่ใช่งานที่เธอมีความสุขนัก มันทำให้เธอมีอาการใจป่วย ควานหาจากเสี้ยวส่วนความทรงจำที่หลงเหลือ วันนั้นเธอน่าจะเอ่ยถึงโรคซึมเศร้า การได้เขียนบันทึกหรืออ่านหนังสือเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยประคับประคองเธอไว้
“เราก็เขียนเหมือนกัน มันช่วยได้จริงๆ” ฉันตอบรับกลับไปแบบนั้นอย่างกระตือรือร้น เราได้แลกเปลี่ยนเรื่องจิปาถะกันอีกเล็กน้อย หลังจากเอ่ยปากพูดเรื่องการเขียนการอ่าน ท่าทีของเธอก็เปลี่ยนเป็นคนละคน กลายเป็นคนที่สดใส มีพลัง และแล้วช่วงเวลาในห้องตรวจสั้นๆ ก็จบลง นึกเสียดายที่เราไม่มีเวลาคุยกันนานกว่านั้น ก่อนจากกันฉันเอ่ยขอบคุณ มันเป็นคำขอบคุณที่กินความหมายหลายๆ อย่างไว้ในนั้น ทั้งขอบคุณที่ทำให้ฉันรู้สึกสบายใจที่สุดในการตรวจ และขอบคุณสำหรับบทสนทนาที่มีความหมาย
การเชื่อมโยงกับคนแปลกหน้าในเวลาที่ถูกต้องมีพลังเกินคาดเสมอ ฉันเชื่อแบบนั้นเสมอมา
ช่วงนั้น เป็นช่วงเวลาปีท้ายๆ ของการทำงานในฐานะกองบรรณาธิการ เป็นช่วงที่จิตใจสั่นไหวกับความเปลี่ยนแปลง และเป็นช่วงที่รู้ตัวว่าต้องเติมอะไรสักอย่างให้ตัวเองเพื่อให้เส้นทางการทำงานไปต่อได้ และยังไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นคืออะไร
แต่ถ้าวัดเอาจากสภาพจิตใจตัวเอง ฉันแค่ต้องการการเยียวยา ฉันสนใจว่าเมื่อคนเรามีทุกข์ เราอยู่ร่วมกับมันและหาหนทางใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร นี่เป็นคำถามที่ฉันมักจะถามผู้ให้สัมภาษณ์หากมีโอกาส เพราะเราจะได้เห็นพลังอันน่าอัศจรรย์ของมนุษย์
บางเรื่องราวก็ไม่ได้ตื่นเต้นร้องว้าว (และมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเลย) แค่ได้รับฟังว่าใครคนหนึ่งก็กำลังพยายามไปทีละนิดในทุกวัน ล้มบ้าง มีแรงบ้าง แอบพูดประชดชีวิตตัวเองบ้างแต่ก็ไม่ยอมแพ้ ฉันก็รู้สึกมีเพื่อนร่วมทางและได้แรงใจกลับมา ทุกคนมีบทเรียนที่ได้จากชีวิตมาเล่าสู่กันฟังเสมอ ทุกคนบนโลกจริงๆ
ฉันเลยได้โอกาสเสนอบรรณาธิการว่า ฉันอยากทำเล่มที่เกี่ยวกับการบำบัด อยากเล่าถึงการบำบัดหลายๆ รูปแบบ อยากให้คนอ่านได้รู้ว่าชีวิตเรามีทางเลือกที่จะเยียวยาตัวเองอีกมาก แค่เราไม่รู้เท่านั้นเอง
บังเอิญว่า มันเป็นเล่มที่ฉันรีเสิร์ชและเขียนเองคนเดียวแบบโซโล่ เพราะวางแผนว่าการเล่าเรื่องจะมี ‘ฉัน’ เป็นคนไปทำความรู้จักและสัมผัสกับการบำบัดแบบต่างๆ เมื่อตั้งใจไม่แบ่งงาน การทำงานช่วงท้ายจึงเรียกว่านรกมาก ยิ่งเป็นการเขียนที่ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวและความรู้สึกเข้มข้น กว่าจะผ่านไปแต่ละบทบางจังหวะก็รากเลือด
มีคืนหนึ่งที่ฉันเขียนต้นฉบับถึงดึกดื่น น่าจะเลยเที่ยงคืนไปแล้ว มันเป็นโค้งสุดท้ายที่เริ่มไม่อยากสู้ต่อ การเขียนที่ไหลลื่นต้องการสภาพจิตใจที่ผ่อนคลาย แต่เดดไลน์บีบคั้นไม่อนุญาต ฉันเริ่มหมดแรงจริงๆ จังๆ และรู้สึกเป็นทุกข์กับสภาวะตรงหน้า รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะเสร็จทัน ไม่อยากทำแล้ว ไม่ไหวแล้ว
ก็เลยหยุดเขียน ก้มหน้าฟุบกับหมอน เราเอาตัวเองมาอยู่ในความเหนื่อยหนักขนาดนี้เพื่ออะไร
…เขียนไปทำไมนะ เล่มนี้ ฉันถามตัวเองในใจดื้อๆ
เมื่อแวดล้อมด้วยความเงียบในระดับเพียงพอ อยู่ดีๆ ในใจก็ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่คนนั้น ผู้หญิงที่ฉันไม่รู้จัก คนที่บอกว่างานแบบที่ฉันทำช่วยให้เธอผ่านแต่ละวันไปได้
ไม่กี่อึดใจ ฉันก็เงยหน้าขึ้นมา พิมพ์คอมพิวเตอร์ต่อไป
ใจคิดแค่ว่า ฉันจะเขียนเพื่อให้เธออ่าน แค่คนแบบเธอคนเดียวได้อ่านก็เพียงพอแล้ว
มาตกตะกอนทีหลังว่านั่นคือคุณค่าอย่างหนึ่งที่ฉันให้ในชีวิต ฉันอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับใครสักคน โดยเฉพาะประโยชน์ทางจิตใจ แม้การทำงานจะไม่ได้มีความสุขตลอด หลายครั้งเป็นทุกข์ เหนื่อย และเจ็บป่วยด้วยซ้ำในวันที่เราดูแลตัวเองไม่เป็น แต่พอระลึกได้ว่าทำไปเพื่ออะไร ฉันก็พร้อมจะสู้ให้ถึงปลายทาง
เพิ่งมีบทสนทนาบนโต๊ะกินข้าวยามค่ำคืนกับเพื่อนฝูง เราคุยกันเรื่องอาชีพที่ทำ การตามหาอะไรที่เป็นตัวเอง และความพยายามที่จะมีความสุขกับการทำงาน
ในวงนั้น เราพบว่าเมื่อเราใช้ความสุขเป็นเกณฑ์ในการตามหาคำตอบสุดท้าย (เช่นว่านี่คืองานที่ฉันทำไปได้ยาวๆ ในชีวิตนี้ไหม) บางครั้งเราหาไม่เจอ เพราะก่อนหน้าจะได้คำตอบ เราจะเจอวันที่เราเป็นทุกข์จากสิ่งนั้นที่เราเลือกเอง ต่อให้เป็นสิ่งที่เรารักแค่ไหน ก็คงมีส่วนผสมที่เราไม่ถูกใจอยู่บ้าง
แต่พอเอาเกณฑ์ความสุขวางลง แล้วเขยิบมาสู่คำถามเรื่อง ‘คุณค่า’ หรือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ สิ่งที่เรารู้สึกว่าทำแล้วมีความหมาย เราตอบได้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร เราก็จะเริ่มชัดขึ้นว่าสิ่งไหนคือคำตอบสำหรับชีวิตในปัจจุบันนั้นๆ
หลังจากนั้นหลายเดือน เล่มบำบัดก็เป็นบันไดที่พาให้ฉันก้าวมาสู่อีกโลก จากผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร ฉันลาออกมาเป็นลูกเจี๊ยบเตาะแตะในอีกสายอาชีพ ที่บางครั้งก็อยากหนีไปจากสภาวะที่รับรู้ว่าตัวเอง ‘ไม่เก่ง’ แต่บางขณะที่รู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า ได้ช่วยคนจริงๆ แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตเขาก็ตาม โมเมนต์แบบนั้นคือเชื้อเพลิงที่ช่วยให้ฉันไปต่อได้
ความสัมพันธ์ของนักจิตวิทยาการปรึกษากับผู้รับบริการเป็นความสัมพันธ์พิเศษ ส่วนหนึ่งในปลายทางที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับผู้รับบริการคือเขาได้จริงแท้และซื่อตรงกับตัวเอง ดังนั้นเมื่อเราอยู่ในการบำบัด ทั้งคู่ต่างเรียนรู้ที่จะสื่อสารและแสดงออกอย่างซื่อตรง ไม่ตกอยู่ภายใต้ความกลัวหรือเงื่อนไขอื่นๆ พูดง่ายๆ คือมันจะดีถ้าเราต่างเป็นตัวเองแบบ ‘เรียลๆ’ ต่อกัน โดยมีดอกจันว่าฝั่งเรายังรู้ตัวว่ากำลังสวมหมวกของผู้ให้บริการเสมอ
ฉันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษามือใหม่ที่ยังมีหลายด้านต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก เวลาอยู่ด้วยกันในเซสชั่นบำบัดตอนฝึกงาน ผู้รับบริการที่เคยเจอกันมานานในหลักปีก็รับรู้ได้ถึงความกังวลที่ฉันมีในใจตอนทำงาน ซึ่งอันที่จริงผู้รับบริการไม่ควรต้องเป็นฝ่ายเป็นห่วงนักจิตวิทยาเลย นี่คือจุดที่ฉันต้องปรับปรุงต่อไป แต่ช่วงเวลานั้นฉันทำได้ดีที่สุดเพียงเท่านั้น
เมื่อใกล้ถึงเวลาจบการบำบัดและต้องแยกย้าย เราจะมีเซสชั่นพูดคุยเพื่อปิดจบเป็น closure อย่างเหมาะสมให้ความสัมพันธ์ของเรา ต่างคนจะต่างได้สะท้อนถึงประสบการณ์ที่ได้รับหรือสังเกตได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นั่นคือเวลาที่ฉันได้รับฟังว่าผู้รับบริการเองก็สัมผัสได้ถึงโลกภายในของฉัน ไม่ต่างจากที่ฉันสัมผัสโลกของเขาได้
มีถ้อยคำหนึ่งที่หลงเหลือกับใจฉัน มันจะผุดขึ้นมาในวันที่รู้สึกล้มเหลวและมีคำถามกับตัวเอง ไม่ว่ากับเรื่องอะไรของชีวิต มันเป็นถ้อยคำที่พยายามบอกฉันว่า
‘ขอให้เป็นตัวเองแบบนี้ต่อไป เพราะสิ่งที่ทำที่ผ่านมาและตัวตนที่เป็นอยู่ ได้ช่วยเขาแล้วจริงๆ’
มองย้อนกลับไป ฉันถือว่านั่นคือความโชคดีอย่างมากที่ผู้รับบริการสะท้อนสิ่งที่ยืนยันคุณค่าที่ฉันให้ในชีวิต มันทำให้รู้ว่าฉันน่าจะมาถูกทาง นี่คือทางที่ฉันไปต่อได้
แน่นอนว่าการเป็นตัวเองของฉันคงไม่ได้เหมาะกับผู้รับบริการทุกคน เราต่างมีธรรมชาติบางอย่างที่จะเข้ากันได้มากน้อยต่างกันไป แต่อย่างน้อย เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้ความเป็นตัวเองเป็นทรัพยากรในการทำงานหรือสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง และรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร มันมีความหมายต่อชีวิตเราอย่างไร ในแต่ละวันที่ผ่านไป เราจะอยู่และลงมือทำด้วยความมั่นคง ในวันที่เราเหนื่อย ท้อ หรืออยากล้มเลิก เราจะให้คำตอบตัวเองได้ชัดเจนกว่าวันไหนๆ ว่าเรายังอยากไปต่อ หรือพอแค่นี้
คุณค่าที่เราให้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์และวันเวลา ขอแค่เราได้พูดคุยกับตัวเองเรื่อยๆ เราก็จะเข้าใจตัวเองในวันนั้นๆ และเลือกก้าวต่อในทางที่มั่นใจมากขึ้น
ตอนนี้นอกจากตั้งใจจะใช้การเขียนมาช่วยในการบำบัด ฉันที่มักเป็นทุกข์กับอาการเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ของร่างกายอย่างที่เคยเล่าในตอนก่อนๆ ก็เริ่มได้คำตอบว่า อนาคตอยากจะเก่งขึ้นเพื่อช่วยดูแลใจผู้ป่วยทางกาย เพื่อให้เขาได้มีใจที่แข็งแรงเท่าที่เป็นไปได้ภายใต้ข้อจำกัด
พอมองข้ามซ็อตไปว่าวันหนึ่งฉันจะได้ทำสิ่งเหล่านั้น ก็รู้สึกมีแรงสู้กับวันนี้ที่แสนเหนื่อยล้าอีกวันหนึ่ง เป็นความหวังที่ส่องประกายเล็กๆ ท่ามกลางความขมุกขมัว ว่าเราอยากมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อทำสิ่งที่ตั้งใจ แม้ชีวิตจะชอบสู้เรากลับเสียเหลือเกิน
ใครก็ตามที่กำลังรู้สึกมีคำถาม หรือหลงทาง ลองตามรอยสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าแต่ละวันมีความหมาย ฉันขออวยพรให้เราได้มาเจอกันที่ปลายทาง ที่เราต่างยิ้มให้ตัวเองอย่างภาคภูมิใจในแต่ละก้าวที่ผ่านมา : )
______________________________________________________________________________________
สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น
- คำว่า ‘คุณค่า’ อาจดูจับต้องยาก แต่จริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในชีวิตของเราในมิติต่างๆ ทั้งในมุมการใช้ชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์ ดังนั้นเราจึงสามารถใช้คุณค่าเป็นเข็มทิศในการตัดสินใจได้ โดยเฉพาะในครั้งสำคัญๆ
- ลองรีเช็กตัวเองด้วยตัวอย่างคำถามเหล่านี้ เราอาจได้คำตอบมากขึ้นว่าชีวิตเราให้คุณค่ากับอะไรบ้าง : ค่านิยมแบบไหนที่คุณให้คุณค่า และมันสำคัญกับชีวิตคุณอย่างไร? คนแบบไหนที่คุณชื่นชอบ หรือคุณลักษณะใดในตัวคนรอบข้างที่คุณให้คุณค่ามากที่สุด? คุณอยากให้คนจดจำคุณอย่างไร? คุณชอบใช้เวลากับสิ่งใด และเพราะอะไร? ช่วงเวลาแบบไหนที่คุณรู้สึกพึงพอใจและเติมเต็มมากที่สุด? คุณอยากให้คนจดจำคุณอย่างไร?