MasterPeace ศูนย์ปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่เชื่อว่าทุกคนสามารถเติบโตได้ในแบบฉบับของตัวเอง

กว่าผีเสื้อจะสยายปีก โบยบินในเส้นทางที่ตัวเองต้องการ ก็ต้องใช้เวลาแต่ละช่วงชีวิต ผ่านเรื่องราวมามากมาย กระบวนการจากดักแด้มาสู่ผีเสื้อที่เตรียมสยายปีกโบยบินอาจไม่ง่ายดายนัก ชีวิตคนเราก็เช่นกัน

ท่ามกลางสังคมแห่งความโกลาหลวุ่นวาย บนโลกที่จมดิ่งในวังวนของการแข่งขัน ความคาดหวัง ความกดดันที่ค่อยๆ กัดกินจิตใจเราอยู่ทุกวัน ไม่ต่างจากชีวิตของหนอนผีเสื้อที่พยายามดันตัวเองออกมาเผชิญโลกกว้าง คงจะดีไม่น้อยถ้าหากมีใครสักคนเป็นเพื่อนร่วมทางในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต 

นั่นคือความตั้งใจของ MasterPeace ศูนย์ปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่เริ่มต้นจากสองสาวเพื่อนสนิท น้ำผึ้ง-กิตินัดดา อิทธิวิทย์ และ ฝ้าย-กันตพร สวนศิลป์พงศ์ ซึ่งเจอกันตอนเรียนปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีภาพฝันตรงกันว่าอยากเปิดศูนย์ให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นของตัวเอง ทั้งคู่จึงได้ส่งบัตรเทียบเชิญ กัญ-วรกัญ รัตนพันธ์ รุ่นพี่คนสนิทที่เป็นคนดูแลในช่วงฝึกงาน ที่ศูนย์สุขภาวะทางจิต จุฬาฯ มาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้วยกัน ทั้งสามคนมองเห็นคุณค่าในชีวิตตรงกันและอยากทำงานกับคนกลุ่มกว้างมากกว่าแค่ในห้องบำบัด 

สิ่งแรกที่พวกเธอคิดตรงกันคือชื่อแบรนด์ MasterPeace เพราะทำให้นึกถึงงานชิ้นเอกของศิลปิน ส่วนหนึ่งอาจเพราะทั้งสามคน นอกจากเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาแล้ว ยังมีสิ่งที่สนใจแตกต่างกันไป คนนึงชอบงานศิลปะ อีกคนชอบทำอาหาร และคนสุดท้ายชอบเขียนหนังสือ ดังนั้นการรวมตัวกันเปรียบเหมือนเป็นพื้นที่ให้ความแตกต่างของแต่ละคนมาเจอกันอย่างสนุกสนานในแบบของตัวเอง จนเกิดเป็นคอนเซปต์ Meet & Embrace Your True Self

ทั้งสามคนเชื่อตรงกันว่า เราทุกคนคืองานศิลปะที่มีความงามเฉพาะตัว ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ‘เพราะความไม่สมบูรณ์แบบเราจึงเป็นมนุษย์’ และทุกคนสามารถเติบโตอย่างสร้างสรรค์ได้ในแบบตัวเอง สามารถที่จะสร้าง Peace หรือ ‘ความสงบสุขในใจตนเอง’ ให้เกิดขึ้นได้ แม้อยู่ในสถานการณ์ท้าทายหรือโลกจะใจร้ายกับเราสักเพียงใดก็ตาม

จิตวิทยานอกห้องบำบัด

หลายคนอาจจะมองว่าจิตวิทยาเข้าถึงยาก มีภาพจำว่าต้องอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม หากต้องการรับบริการปรึกษาจำเป็นต้องเดินเข้าไปหานักจิตวิทยาเท่านั้น แต่ MasterPeace  ไม่ทิ้งการทำงานเชิงรุกที่พยายามพาจิตวิทยาออกไปหาผู้คนผ่านการสื่อสารรูปแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์ ดีไซน์ส่งต่อไอเดียไปให้คนทั่วไปจนกลายเป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยกันได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้คนเข้าถึงคอนเทนต์ของจิตวิทยาได้มากขึ้นและไปได้ไกลกว่าที่มันเคยเป็น

ฝ้าย : เรารู้สึกว่าเนื้อหาเรื่องจิตวิทยามันสนุกนะ แล้วก็เป็นเรื่องที่จริงๆ แล้วคนควรจะได้รู้ไม่ใช่เหรอ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบุคลากรด้านนี้เท่านั้นถึงจะได้เข้าใจ เราแค่คิดว่ามันอาจจะยังมีพื้นที่หนึ่งที่เราน่าจะกระโดดเข้าไปทำอะไรได้ เรามองว่าเนื้อหาจิตวิทยามันน่าจะไปเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้มากขึ้น อยากให้จิตวิทยามันไปไกลกว่าที่มันเคยเป็น ไม่ใช่แค่ต้องอยู่ในตำราเท่านั้น ซึ่งการทำงานเป็นโปรเจกต์ที่อยู่นอกห้องบำบัดเราสามารถเข้าถึงคนได้เยอะมาก ใช้เทคโนโลยี ใช้ชาแนลอื่นๆ ในการพาความรู้หลักการเดียวกันไปถึง และมันอาจจะไปถึงได้เร็วเพียงพอก่อนที่เขาจะมาถึงห้องบำบัดก็ได้ 

น้ำผึ้ง : เราไม่ได้มีเพดาน ไม่ได้มีกรอบว่ามันจะต้องเป็นแนวไหน ตราบใดที่มี ‘คน’ ตรงนั้น เราพาจิตวิทยาไปได้หมดด้วยการผสมผสานกับศาสตร์ต่างๆ ขอแค่เห็นว่าโจทย์คืออะไร แล้วเราก็ค่อยดีไซน์วิธีสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ และพาสิ่งที่อยู่ในห้องบำบัดออกไปให้เข้าใกล้ใจผู้คนมากขึ้น

กัญ : ในห้องบำบัดเราก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ มันคือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการทำงานที่นักจิตวิทยาทุกคนพยายามทำและทำมันอย่างดีมากๆ แต่ว่าพอเราขยับมานั่งข้างๆ อีกโพสิชั่นหนึ่ง เรารู้สึกว่ามีองค์ความรู้บางอย่างที่เราอยากทำต่อไปให้มันกว้างขึ้น อยากทำให้คนไม่พูดแค่โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือเครียด เราไม่ได้มีเป้าหมายแค่นั้น เรารู้สึกว่าทุกอย่างที่เป็นสุขภาพใจสามารถพูดคุยและดูแลได้ 

ปลูกดอกไม้ไว้นอกรั้วบ้าน

2-3 ปีที่ผ่านมา ความรู้สึกเครียดหรือกังวลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือสูญเสียการควบคุมต่างๆ ในชีวิต แน่นอนข้างในต้องสั่นไหวอยู่แล้ว แต่ในโลกความเป็นจริงต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีพื้นที่ปลอดภัย หรือมีความพร้อมที่จะเข้าถึงบริการตรงนี้ ดังนั้น MasterPeace ตั้งใจที่ปลูกดอกไม้นอกรั้วบ้านเพื่อลดช่องว่างเหล่านี้ 

น้ำผึ้ง : เรามองเห็นและเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนชายขอบที่เข้าไม่ถึงสิทธิหรือ resource ต่างๆ ทั้งๆ ที่การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพใจควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทั่วไปพึงมี ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสิทธิพิเศษแล้วถึงได้ เราจึงพยายามพาสิ่งที่อยู่ในห้องบำบัดออกไปหาผู้คน ซึ่งอาจจะช่วยเป็นเหมือน momentum ที่เหวี่ยงไปให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ เห็นความสำคัญ รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจและดูแลกันมากขึ้น

กัญ : ด้วยเซอร์วิสที่มันมีเรื่องของค่าใช้จ่าย คนที่จะสามารถเข้าถึงบริการได้แสดงว่าต้องเป็นคนที่มีความพร้อม มีโอกาสในระดับนึงเหมือนกัน ปัญหาสุขภาพจิตของคนที่เข้ามาคือเรื่องของการใช้ชีวิต พอมันถูกทับด้วยทุนในการเข้ามารับการปรึกษาได้ มันก็จะคัดกรองคนจำนวนหนึ่ง เราแบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งแรกคือคนที่มาด้วยตัวเอง ฝั่งสองคือคนที่มีคนสนับสนุน ซึ่งก็คือกลุ่มเด็กวัยรุ่น เยาวชน กลุ่มนี้มีไม่มาก เพราะกว่าที่เขาจะผ่านด่านของการสื่อสารกับที่บ้านเพื่อที่จะเข้ามารับบริการได้ ด่านนั้นก็อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางบ้าน หรือเขาตัดสินใจเข้ามารับบริการเองก็อาจจะจ่ายได้แค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น 

ฝ้าย : สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมไม่ว่าจะทางจิตใจหรือทางทุนทรัพย์ เราว่างานเชิงรุกก็อาจจะช่วยเป็นทุ่นหย่อนให้เขาผ่อนได้เหมือนกัน เขาไม่ได้มาเจอพวกเราโดยตรงแบบตัวต่อตัวในห้องบำบัด แต่เรายังมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่หย่อนเอาไว้ข้างนอกบ้าน เหมือนปลูกดอกไม้ไว้นอกรั้วบ้านตัวเอง เผื่อใครเดินผ่านไปผ่านมาแล้วเห็น เขาจะได้มีอะไรเล็กๆ ที่เก็บกลับไปพอที่จะดูแลตัวเองได้ แล้วในวันหนึ่งที่เขารู้สึกอย่างแน่วแน่ว่าเขาต้องการพื้นที่ตรงนี้ เขาก็จะมา

Creative therapy 

ตอนนี้ MasterPeace ให้บริการทั้งรูปแบบ onground และ online เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีทีมนักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตบำบัด และนักพฤติกรรมศาสตร์มืออาชีพที่เชี่ยวชาญในหลากหลายทฤษฎี ทั้งสายมนุษยนิยม (Humanistic Approach) และสายบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Approach) เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน ไม่เพียงมีความรู้ในด้านจิตวิทยาแต่ยังควบคู่ไปกับด้านครีเอทีฟ

น้ำผึ้ง : บริการของเราจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการจะปรึกษาเชิงจิตวิทยารายบุคคล ซึ่งตอนนี้เปิดให้บริการแบบ Soft Launch และจะให้บริการอย่างเป็นทางการน่าจะปลายปีนี้ มีนักจิตปรึกษา นักจิตบำบัด ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยากับจิตบำบัดมาให้บริการตรงนี้ แต่สำหรับลูกค้าองค์กรตอนนี้เรามีบริการอยู่ 4 แบบ

บริการแรก การจัดทำบรรยาย เวิร์กช็อป ฝึกอบรมต่างๆ เราจะเข้าไปทำในพื้นที่ของลูกค้าองค์กร

บริการที่สอง การครีเอตคอนเทนต์ร่วมกับลูกค้าองค์กรสื่อ อย่างเช่น การเขียนคอลัมน์ peace of mine กับ a day, พอดแคสต์ Heal ใจ กับ Fastwork, ร่วมเป็น co-host ในพอดแคสต์ R U OK กับ The Standard และคอนเทนต์ล่าสุดที่ฝ้ายได้ช่วยเขียนให้ Mirror Thailand 

บริการที่สาม การเป็นที่ปรึกษาและร่วมออกแบบการเล่าเรื่องทางจิตวิทยา เพื่อพาจิตวิทยาไปผนวกกับศาสตร์อื่นๆ ออกมาในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย จากที่เคยทำมาก็มีโปรเจกต์ Meet Your Monster งานสำรวจสุขภาพใจเด็กที่เราร่วมออกแบบและทำงานร่วมกับ Glow Story และ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  มีเจ้าภาพใหญ่เป็น กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) และโปรเจกต์ล่าสุดคือนิทรรศการสุขภาพจิตในรูปแบบ Digital Art ชื่อ CONNE(X)T HOMECOMING พาใจกลับบ้าน กับ Eyedropper Fill ซึ่งมีเจ้าภาพเป็น สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)

บริการสุดท้าย การดูแลสุขภาพใจของพนักงานในองค์กร ซึ่งจะเปิดบริการในสิ้นปีนี้

เพื่อนร่วมเดินทาง

อย่างไรก็ตาม พวกเธอเชื่อว่าในศักยภาพของมนุษย์เปรียบเหมือนการเติบโตของผีเสื้อ ในระหว่างทางพวกเธอจะเป็น ‘เพื่อนร่วมเดินทาง’ ไปพร้อมกัน อาจจะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปมอบให้ แต่จะทำหน้าที่คอยรับฟัง คอยเอื้อให้มองเห็นว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน แล้วให้พวกเขาได้ตัดสินใจและเดินต่อไปด้วยตัวเอง 

กัญ : ใน process ของ therapy นักจิตวิทยาการปรึกษาจะเหมือนเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง เราไม่ใช่คนตัดสินใจให้ เราไม่ใช่เป็นคนคิดให้ แต่เราค่อยๆ ดึงและเดินไปพร้อมกับจังหวะของผู้ที่มาคุยกับเรา จังหวะไหนเขาเดินได้ช้าหน่อย เราก็เดินช้าๆ พร้อมเขา แต่ในขณะเดียวกันเราช่วยกันเกลี่ยทางให้มันเดินง่ายขึ้น จังหวะไหนเขาเดินได้เร็วหน่อยเราก็เดินตามจังหวะนั้น แล้วลองดูว่าอะไรที่ทำให้เขาเดินได้เร็วขึ้น

ฝ้าย : เราจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางในช่วงระยะเวลาที่ใครคนหนึ่งหรือใครหลายๆ คนกำลังอยู่ในช่วงของการ transform ตรงนั้นของชีวิต สำหรับเราผีเสื้อเขาเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ดูบอบบาง แต่เขาก็มีชีวิตอย่างสวยงามในแบบของเขา ผีเสื้อจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมกับการทำงานด้านจิตใจสำหรับเรา

น้ำผึ้ง: เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์คือ process ในการเติบโตของผีเสื้อ เป็นหนอนนี่มันก็อาจไม่ได้น่ารัก กระบวนการเติบโตมันอาจจะไม่ได้สวยงาม ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ในความไม่สมบูรณ์แบบเราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะเติบโต ใช้ชีวิตแบบมีความสุข มีความสงบ และมีคุณภาพได้ โดยมันจะมีความสงบมากขึ้นถ้าเขามีเราเป็นเพื่อนร่วมทางช่วยในการสำรวจใจ ประคับประคองไปด้วยกันในจังหวะที่เขารู้สึกว่าชีวิตมันไม่โอเค แล้วเมื่อใดก็ตามที่เขารู้สึกโอบรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ ตัวเขาเองก็จะเปิดพื้นที่ให้กับความไม่สมบูรณ์แบบของคนรอบข้างได้มากขึ้นเช่นกัน 

พื้นที่ปลอดภัยของกันและกัน

แน่นอนว่า MasterPeace อาจไม่ใช่ศูนย์ให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ดีที่สุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญทำให้ทุกคนมองสุขภาพจิตเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพูดคุยกันบนโต๊ะอาหารได้ และมีพื้นที่ปลอดภัยที่เอื้อบรรยากาศให้แต่ละคนได้เติบโตในแบบฉบับของตัวเอง ความจริงแล้วในมุมนักจิตวิทยาเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เจอเรื่องราวในชีวิตมาไม่ต่างจากคนทั่วไป การทำงานตรงนี้จึงเป็นพื้นที่ให้ความแตกต่างของผู้ก่อตั้งทั้งสามได้มาเติบโตไปพร้อมๆ กัน

กัญ : เราอยากให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ธรรมดาที่สุดที่เราจะกลับมาดูแลตัวเองได้ เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ถูกพูดถึง ไม่อยากให้เราต้องใช้ตัวเราเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยความเคี่ยวเข็ญ แต่อยากให้รู้สึกว่าการที่เรามีชีวิตอยู่ในแต่ละวันมันมีความหมายยังไงกับตัวเราเอง เมื่อเรารับรู้สิ่งเหล่านี้ได้แปลว่าเราเห็นความสำคัญของตัวเราเอง ฉันสำคัญ ฉันจึงอยู่ตรงนี้ แล้วอย่างนั้นมันจะขับเคลื่อนตัวเราได้

น้ำผึ้ง : บางคนอาจจะมองว่าการที่เขาเปิดเผยความเปราะบางมันอาจจะดูเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องอ่อนแอ แต่จริงๆ แล้วการเปิดเผยความรู้สึกความอ่อนแอ ความเปราะบางต่างๆ มันคือความเข้มแข็งนะ การที่คนนึงกล้าแชร์เรื่องราวออกมามันอาศัยความกล้าเยอะมากๆ เราเองก็เป็นมนุษย์ เราเองก็เป็นนักจิตที่มีความรู้สึกเหมือนกับทุกคน เราต่างเป็นคนที่เผชิญเรื่องราวในชีวิตไม่แตกต่างกัน เลยยิ่งเข้าใจถึงความสำคัญของการเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่พร้อมจะรับฟัง

ฝ้าย : ถ้าหากโลกมันไม่ไหวแล้วก็ลองเดินเข้ามาคุยเถอะ นักจิตก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เราไม่ได้ล้มลุกคลุกคลานน้อยไปกว่าคนที่มาหาเรา เราอาจจะผ่านเรื่องผ่านราวมาคล้ายๆ กันนั่นแหละ แต่เราอาจจะหาจังหวะที่ได้คุยกับตัวเองเยอะหน่อย เราก็เลยรู้ว่าน่าจะผ่านอะไรประมาณนี้ หรือถ้าไม่รู้เราก็ยินดีที่จะนั่งอยู่กับคุณนะ เพื่อที่คุณจะค่อยๆ หาทางไปได้ในจังหวะของคุณ อย่ารอจนถึงจุดสุดท้ายของตัวเองเลย เราเชื่อมั่นจากใจว่าทุกคนมีศักยภาพ ถ้าคุณได้ใช้ชีวิตอย่างที่เป็นตัวคุณจริงๆ คุณจะทำอะไรได้อีกเยอะมาก การดูแลใจมันเหมือนการลุกขึ้นมาจัดบ้านเพื่อที่จะให้บ้านเป็นระเบียบขึ้น ให้ฝุ่นในบ้านมันน้อยลงหน่อย ในวันนั้นเราอาจจะไปเจอของมีค่าที่เราวางลืมทิ้งไว้ก็ได้ แต่แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้ต้องใช้แรงและความพยายาม เราเข้าใจความ struggle ตรงนั้นนะ แล้วก็เข้าใจอีกเช่นกันในจังหวะที่รวบรวมความกล้าไม่ว่าจะทางใจทางการเงินเพื่อมาหา แต่อยากให้รู้ว่าเราอยู่ตรงนี้ 

หากแต่ละคนได้ใช้ชีวิตอย่างที่เป็นตัวเองจริงๆ ออกมา มันจะเปล่งประกาย และเมื่อคนเราไม่ถูกครอบ เราเชื่อจากใจเลยว่าทุกคนจะบลูมมิ่งเป็นดอกไม้ที่เบ่งบานแบบมีสีสันของตัวเองอย่างแน่นอน

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย