ในความมืดที่มองไม่เห็นแม้มือตัวเอง ความเข้มแข็งยังอยู่ตรงนั้น

คืนนั้นมืดมาก มืดขนาดที่ฉันหลับตาหรือลืมตา ก็ค่าเท่ากัน 

ฉันนอนอยู่กลางป่าภาคเหนือ คนเดียว อย่างน้อยก็ในรัศมีหลายร้อยเมตร ไม่มีใครสักคนอยู่ตรงนี้ คืนนั้นพระจันทร์เหมือนถูกดูดกลืนหายไป ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ฉันจะต้องวิ่งผ่านป่าในความมืดไปให้ถึง base camp หรือจุดที่จะมีคนช่วยเหลือรออยู่ 

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉันพาตัวเองไปอยู่ป่าที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในจังหวัดเชียงราย ในทริปกิจกรรม Vision Quest หรือนิเวศภาวนา ฟังชื่อแล้วหลายคนคงไม่คุ้นเคย แต่ถ้าต้องอธิบายง่ายๆ มันคือการพาตัวเรากลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ รับการเยียวยาจากต้นไม้ ใบหญ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์  และตกตะกอนคำตอบของคำถามที่มีอยู่ในชีวิต 

ฟังดูสวยงามและน่าสนใจสำหรับคนสายเดินป่า แต่สำหรับฉัน ผู้ไม่เคยกางเต็นท์ ผู้ไม่เคยก่อไฟ ผู้ไม่นิยมชีวิตที่ไม่มีห้องน้ำและชักโครกนั่งสบาย ผู้ไม่คุ้นวิถีป่า ผู้นอนไม่หลับเวลาแปลกที่ ผู้ไม่ชอบแมลง ผู้มีความกลัวเป็นสรณะ ผู้จินตนาการล้ำเลิศว่าตอนอยู่คนเดียวจะเจอเสือ หมี งู และช็อกสติหลุด … คำถามคือ กลัวขนาดนี้ จะไปทำไม? 

ก็เพราะว่ากลัวที่สุดล่ะมั้ง ก็เลยต้องไป นี่แหละคำตอบในวันที่ตัดสินใจ 

ขยายความเพิ่มเติมอีกสักหน่อย ชีวิตช่วงนั้นก็เหนื่อยจริงนั่นแหละ รู้สึกว่ามีบางมุมในชีวิตที่ทำให้กุมขมับจนรู้สึกอยากหนีไปพักในป่าเงียบๆ แรงกายแรงใจมันห่อเหี่ยวลงทุกวัน พอสืบสาวค้นดูต้นตอความเหนื่อยในชีวิต ก็พบว่าความเหนื่อยก้อนใหญ่เกิดจากความกลัว (เหมือนที่ฉันเคยเล่าไว้ในตอนที่ว่าด้วยความวิตกกังวล) กลัวนั่นกลัวนี่ กลัวพูดไม่เข้าหูคน กลัวการตัดสินใจ พอเห็นแบบนี้ก็คิดขึ้นมาว่า ถ้ามันกลัวมากนัก ก็ไปอยู่กับความกลัวที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดสักรอบไหมล่ะ ถ้ารอดมาได้ก็คือเธอรอด ในชีวิตต่อจากนี้ฉันก็จะจดจำว่า ฉันคือผู้รอดจากความกลัว ฉันอยู่กับความกลัวได้ (โว้ย) 

 แล้วทริปพิสูจน์การเอาตัวรอดของตัวเอง โดยไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีผ้านวมนุ่ม ไม่มีเทียนหอมไว้จุดคลายใจ แต่มีพลั่วหนึ่งอันไว้ขุดทำห้องน้ำส่วนตัว ก็เริ่มต้นขึ้นแบบนั้น 

ในทริปนิเวศภาวนา เราไม่ได้อยู่คนเดียวตลอด เรามีเพื่อนร่วมทริปที่ออกเดินทางด้วยกัน รวมทั้งมีผู้นำกระบวนการที่ช่วยให้อุ่นใจว่าหากเกิดอะไรขึ้นเราจะยังมีทีมซัพพอร์ต สมาชิกผู้ร่วมทริปแต่ละคนมีเหตุผลที่มาเข้าร่วมแตกต่างกันไป ในเหตุผลของหลายคนก็มีความสั่นไหวเป็นส่วนประกอบ บางคนมาเพราะชีวิตเพิ่งผ่านการสูญเสีย บางคนมาเพื่อหาคำตอบให้กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก 

ในจุดร่วมของเราบางคน เราอยากตามหาผืนดินที่หนักแน่นมั่นคงให้จิตใจ เพื่อที่เราจะกลับไปเผชิญหน้าต่อเรื่องราวท้าทายต่างๆ อย่างมีพลังมากขึ้น ในวงพูดคุย เราแบ่งปันเรื่องราวหลากหลายนั้นด้วยกัน ก่อนจะสรุปโจทย์ที่สำคัญในใจที่สุด แล้วแยกย้ายออกไปใช้เวลาอยู่คนเดียวทั้งหมด 2 วัน 2 คืน แล้วเราจะกลับมาพบและแบ่งปันเรื่องราวกันอีกครั้ง ว่าเราได้เรียนรู้หรือเจออะไรบ้างตอนอยู่ลำพัง

แต่ละคนจะได้เลือกจุดกางเต็นท์ของตัวเอง จุดที่อยู่แล้วรู้สึกว่าใช่ และต้องเป็นจุดที่อยู่ห่างกันมากพอจะรู้สึกว่าได้อยู่คนเดียวจริงๆ 

จุดที่ฉันเลือกอยู่เป็นกุฏิร้าง (ที่หลายคนลงความเห็นว่าน่ากลัวเหมือนฉากในละครผี และจะไม่มีวันเลือกอยู่ตรงนั้นเด็ดขาด) ฉันไม่ได้เลือกอยู่เพราะว่าที่นั่นเป็นกุฏิหรอก แค่รู้สึกสะกิดใจกับต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตายหลังกุฏิก็เท่านั้น แต่วินาทีที่ขนของมาและเริ่มกางเต็นท์ ก็เริ่มรู้สึกหวั่นไหวข้างใน ฉันจะผ่านช่วงเวลาตรงนี้ไปได้อย่างไร จะผ่านไปแบบไหน บรรยากาศรอบตัวไม่ได้มีอะไรชวนให้สบายใจหรืออบอุ่นใจขนาดนั้น ผืนดินแห้งเป็นทราย มีรูรังมดอยู่หลายจุดที่ฉันไม่ทันสังเกตในทีแรก และมีใยแมงมุมอยู่รอบตัว

ก่อนเดินทางมา ฉันกลัวการมาอยู่ป่าล่วงหน้าเป็นเดือน ต้องใช้เวลาแต่ละคืนกับการดีลในความกลัวแต่ละเรื่อง บางคืนก็กลัวจนร้องไห้ พูดกับเพื่อนว่า ‘คนขี้กลัว’ อย่างฉันเนี่ย ดีไม่ดีพอไปแล้วอาจเจอตัวเองไปกรีดร้องอยู่กลางป่าว่าเอาตัวเองมาที่นี่ทำไม เพื่อนซึ่งเคยผ่านกระบวนการเหล่านี้จึงบอกว่า ณ เวลานั้นจริงๆ ฉันอาจพบว่าตัวเองสงบนิ่งกว่าที่คิดก็ได้ 

นึกย้อนดูแล้ว ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นเป็นต้นมา ฉันแทบไม่เคยจินตนาการเห็นภาพตัวเองที่นิ่งสงบเลย 

การนิยามตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เราจะจดจำตัวเองจากคำที่เราตั้งชื่อให้ การเผชิญเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตอย่างหวาดระแวงและไม่มั่นใจ ทำให้ฉันนิยามตัวเองว่าเป็นคนขี้กลัว นักขี้กังวล อาการทางกายที่เกิดซ้ำซากทำให้ฉันนิยามตัวเองว่าเป็นคนนอนยาก เป็นโรคกระเพาะ พ่วงโรควิตกกังวล ในทางจิตใจ ฉันรับเอาสิ่งที่คนรอบข้างบอกว่าฉันเป็นคนทำอะไรไม่ค่อยได้ เอาตัวรอดไม่เก่งและน่าเป็นห่วง เข้ามาในใจเป็นเวลานับสิบปี ดังนั้นการจะไปอยู่ป่า ฉันจึงแทบไม่มีเสี้ยวส่วนความมั่นใจในหัวใจ 

พอถึงหน้างานจริง ใจไม่สงบเสียทีเดียวหรอก แต่ก็ไม่ได้สติแตก มันสงบแบบมีคลื่นขยับขึ้นลงอยู่ภายใน ในเมื่อพาตัวเองมาอยู่ตรงนั้นแล้ว ฉันก็แค่ต้องค่อยๆ ผ่านมันไป ทำใจนิ่งๆ แล้วกางเต็นท์ ทำตามคู่มือสักพักก็ออกมาเป็นบ้านชั่วคราวให้ได้หลบนอน พื้นที่น้อยๆ ที่สร้างด้วยมือตัวเองให้ความอุ่นใจอย่างน่าประหลาด 

ตอนอยู่คนเดียว เวลากลางวันไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แสงอาทิตย์อยู่กับเรา ฉันออกไปเดินในป่า  ใจกลัวหลงทางอยู่บ้าง แต่เส้นทางในป่าชุมชนไม่ได้เดินยาก เราแค่ต้องจดจำสักนิดว่าเรามาจากทางไหน ยังไงก็พาตัวเองกลับมาบ้านได้เสมอ

ไฮไลต์อยู่ในช่วงกลางคืน คืนแรกฉันเข้าเต็นท์ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกและความมืดเริ่มมาเยือน พระจันทร์เกือบเต็มดวงช่วยส่องไฟจนสว่างไปทั่วทั้งป่า ตอนดึกๆ ลืมตาเห็นก้อนเงาสีดำเคลื่อนที่ไปมา พอเห็นว่าเป็นแมลงสาบที่เกาะอยู่ด้านนอกมุ้งในระยะประชิดก็ตกใจเฮือก แต่เต็นท์ก็เล็กเกินจะขยับหนี ได้แต่บอกตัวเองทำใจร่มๆ ไว้ แมลงสาบก็เป็นอีกสัญลักษณ์ของความกลัว แต่กลางคืนคือเวลาของเขา และนี่ก็คือที่ของเขา ฉันต้องหัดปรับตัวและต้อนรับบ้าง 

คืนที่สอง หลังพระอาทิตย์ตกดินไม่นาน พอเข้าเต็นท์และปิดไฟ อยู่ดีๆ ฉากตรงหน้าก็ค่อยๆ มืดลง ตอนแรกคิดว่าสายตาตัวเองมีปัญหา แต่ไม่นานก็รู้ว่าเมฆมาบังจนแสงจันทร์หายมิด มิดระดับยกมือขึ้นมาดูตรงหน้าก็มองอะไรไม่เห็น มันเป็นความมืดที่เข้มที่สุดในชีวิตที่เคยเจอ เหมือนตัวเราถูกดูดหายเข้าไปในความมืด แล้วเม็ดฝนก็ค่อยๆ หย่อนตัวลงมา ตอนแรกเป็นเสียงเปาะแปะฟังสบายเหมือน ASMR ชั้นดี แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมง เสียงเปาะแปะก็กลายเป็นเสียงลมมรสุม ฝนห่าใหญ่ตกลงมากระแทกเต็นท์ไม่หยุด จุดที่ฉันอยู่เป็นเนิน เต็นท์จึงสะบัดตัวเองไปมาตามแรงลมที่เข้ามาปะทะ ข้างนอกมีแต่เสียงลมพัดโหมดังลั่น ฉันพยายามนอนให้นิ่งที่สุด แตะมือไปที่ผ้าใบเต็นท์บางๆ ที่ปกป้องร่างกายจากเม็ดฝนและลมที่กระหน่ำซ้ำลงมาไม่หยุด หัวใจเต้นเร็วขึ้น ไม่แน่ใจว่ากำลังรู้สึกอะไร ตื่นกลัว หรือกล้าหาญ 

บางคราวในชีวิต เราจะเจอสถานการณ์แบบนี้ วันที่ดูสุขสงบ ไม่มีเมฆฝนใดเป็นสัญญาณ แต่เพียงไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นทุกอย่างก็กลับตาลปัตร กลายเป็นสีดำมืด ฉันนึกถึงสายโทรศัพท์จากโรงพยาบาลเมื่อปลายปีที่แล้ว และเสียงคุณหมอที่ฟังดูวิตกกังวลเอ่ยว่า “ผลตรวจคัดกรองมะเร็งไม่ดีเลยครับ” 

วูบนั้น โลกดับไปหลายวินาที ปากยังพูดคุยตามปกติว่าหลังจากนี้ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจรักษาอย่างไรบ้าง หลังวางสายก็พยายามทำใจนิ่งๆ เดินไปส่องกระจกในห้องน้ำ บอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร ฉันจะดูแลเธอเอง วินาทีนั้นทุกความรู้สึกปะปนกันเละเทะ มีความตื่นกลัวมหาศาล และมีเศษเสี้ยวของความกล้าหาญ 

หนึ่งเดือนหลังจากวันนั้น เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม ผลออกมาพบว่ายังไม่ใช่เซลล์มะเร็งเต็มตัว แต่อยู่ในระยะเฝ้าระวัง เราจะตรวจเช็กกันเป็นระยะและดูแลรักษา จนกว่าทุกอย่างจะสงบ

คืนแห่งความมืดและลมฝนนั้น คือสัญลักษณ์ของช่วงเวลานี้ ฉันทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านอนนิ่งๆ ทำใจให้สงบ และรอมรสุมผ่านไป ใจนึกถึงคำที่พี่มู-ผู้ช่วยนำกระบวนการบอก ตอนเขาเห็นว่าฉันตอกสมอบกเพื่อยึดเต็นท์ไว้กับพื้นดินลึกมาก ลึกจนดึงไม่ออก ต้องใช้อุปกรณ์และช่วยกันสองแรงกว่าจะถอนได้หมด 

“เห็นความกลัวเลยเนี่ย ตอกลึกขนาดนี้” เขาแซวด้วยเรื่องจริง “ไม่ต้องตอกลึกขนาดนี้ก็ได้ แค่มีน้ำหนักตัวเรากับกระเป๋าวางอยู่ เต๊นท์ไม่ไปไหนหรอก” 

ด้วยน้ำหนักของเราเอง มันมั่นคงเพียงพอ ด้วยบ้านอ่อนนุ่มที่สร้างเอง แม้จะสั่นไหวไม่หยุด แต่มันก็คุ้มครองฉันได้ ฉันบอกตัวเองแบบนั้นในความมืด แล้วก็หลับๆ ตื่นๆ ไปทั้งคืน คอยเฝ้าระวังว่าลมฝนจะอ่อนกำลังลงเมื่อไหร่  

ผ่านพ้นคืนที่น้ำเกือบท่วมเต็นท์ ตอนเช้ามืดฉันเริ่มได้ยินเสียงนกฮูกร้อง แสดงว่าฝนผ่านไปแล้ว ค่อยๆ เปิดเต็นท์ออกจึงได้สูดลมหายใจของอากาศหลังฝนซา บรรยากาศข้างนอกยังถูกย้อมด้วยสีฟ้าหม่น บริเวณรอบๆ และเต็นท์เปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน ข้าวของบางส่วนที่จำเป็นต้องทิ้งไว้ด้านนอกเปียกชุ่ม  แต่ทุกอย่างก็สงบลงแล้ว

ฉันยืนสงบนิ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รอพระอาทิตย์ค่อยๆ แง้มตัวเองออกมา หากมองทะลุม่านต้นไม้ จะเห็นทะเลหมอกสีขาวฟูลอยอยู่ล้อมรอบทั่วบริเวณ

‘ผ่านมาได้แล้วนะ’ ประโยคง่ายๆ ดังชัดในใจ ฉันผ่านช่วงเวลาหวั่นไหวทั้งหมดมาเพื่อจะได้พูดประโยคนี้ให้ตัวเองฟัง เพียงเท่านี้จริงๆ 

สายวันนั้นได้เวลาเก็บของกลับไปรวมกลุ่ม ช่วงเวลาปลีกวิเวกจบลงแล้ว ฉันหอบข้าวของพะรุงพะรังกลับไปที่จุดรวมตัว ได้รับการต้อนรับกลับสู่อ้อมกอดและวงพูดคุยของเพื่อน พี่ น้อง เราต่างนึกถึงและเป็นห่วงกัน ไม่มีใครคิดว่าฝนที่มาเยือนปลายฤดูหนาวจะหนักขนาดนี้ แม้แต่ผู้นำชุมชนชาวปกาเกอะญอยังบอกว่า ฝนแบบนี้ 10 ปีจะมีสักครั้ง 

“เด็กผู้หญิงคนนั้นผ่านพ้นความกลัวมาได้แล้ว” พี่มูเอ่ยต้อนรับด้วยรอยยิ้ม จากนั้นน้ำตาฉันก็ร่วง เราทยอยต้อนรับเพื่อนที่เดินทางกลับมาทีละคนสองคน พร้อมแบ่งปันอาหารอุ่นๆ กลางฝนที่ยังพรำลงมา  

สองวันสองคืนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันก็เข้มข้นมากพอที่จะทำให้นิยามที่ฉันเรียกตัวเองเปลี่ยนไป มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละน้อย ตั้งแต่วินาทีที่พบว่าตัวเองก็กางเต็นท์ได้ ไม่ต้องมีห้องน้ำก็อยู่ได้ มีไฟดวงเล็กดวงเดียวตอนกลางคืนก็ไม่เป็นไร ความพร่องที่เคยรับรู้ในตัวเองไม่ใช่อุปสรรคในการดำรงอยู่ 

จากที่เป็นคนบ้าหอบฟางและคิดเผื่อสำหรับทุกสิ่ง ในความเป็นจริง ข้าวของที่ช่วยให้มีชีวิตรอดมาได้มีจำนวนน้อยกว่าที่คิด ทำให้คิดว่าชีวิตเราเบาลงกว่านี้ได้ เราสามารถทิ้งน้ำหนักความกังวลไว้ข้างนอก เพราะสิ่งที่มีติดตัวอยู่แล้วจะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาท้าทายไปได้ และบางอย่างนั้น เราทุกคนก็มีมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณที่ถูกต้อง ความมั่นคง หรือความกล้าหาญ 

ฉันประทับคำลงในใจตัวเองใหม่ว่า ฉันไม่ใช่ ‘คนขี้กลัว’ แต่ฉันคือ ‘ผู้ที่มีความกลัวและอยู่กับความกลัวนั้นได้’ และในความกลัวนั้น แม้จะอยู่คนเดียว แต่ฉันไม่ได้โดดเดี่ยว ฉันมีเพื่อนร่วมทางที่พร้อมจะรับฟัง เข้าใจ และช่วยเหลือ

ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ในความมืดที่มืดมิดที่สุด แม้จะมองไม่เห็นแม้ฝ่ามือตัวเอง 

กำมือแล้วฉันก็รู้ ความเข้มแข็งยังอยู่ตรงนั้น 

______________________________________________________________________________________

สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น 

  • ในทางจิตวิทยา มีตัวแปรหนึ่งชื่อ Resilience หรือความสามารถในการฟื้นพลัง หมายถึงศักยภาพในตัวคนคนหนึ่งที่เมื่อเผชิญปัญหาแล้วผ่านพ้นอุปสรรคนั้นไปได้ ในวันที่มีเรื่องราวหนักหนามาปะทะ ลองค่อยๆ สำรวจ 3 ปัจจัยที่ช่วยเติมพลังส่วนนี้  ได้แก่ แหล่งซัพพอร์ตจากภายนอก (I have) เช่น เรารู้ว่าเรามีคนที่เชื่อใจได้ มีคนที่แนะนำเราได้ ถัดมาคือ แง่มุมทางบวกที่เรารับรู้เกี่ยวกับตนเอง (I am) เช่น เรารับรู้ว่าเรามีความกล้าหาญ เรามีคุณค่าและเป็นที่รัก สุดท้ายคือ เรารับรู้ว่าเรามีความสามารถในการแก้ไขปัญหา (I can) เช่น เราสามารถพูดบอกเล่าความกลัวนี้กับใครสักคน เราจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ 
  • การก้าวพ้นอุปสรรคเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา เมื่อล้มลง ให้เวลาตัวเองค่อยๆ ลุก ค่อยๆ ยืน ค่อยๆ ก้าวเดินต่อ ไม่ต้องกดดันตัวเองเกินไปว่าล้มแล้วต้องลุกให้เร็วในทันทีทันใด

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JCCHR

นักวาดภาพประกอบ ชอบแมว ชอบจังหวัดเกียวโตกับโอกินาวา ชอบกาแฟ และดูหนังฟังเพลงที่ชอบซ้ำหลายๆ รอบ