การเขียนเพื่อ ‘ฮีล’ ตัวเองสอนให้รู้ว่า เราต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญของชีวิตเราเองได้จริงๆ

“อย่าคุยกับตัวเองในหัวเท่านั้น แบบนั้นอาจจะสับสนหรือจับต้นชนปลายไม่ถูก ให้เขียนมันออกมาเลยค่ะ เขียนให้เห็นชัดๆ” 

นี่เป็นหนึ่งในถ้อยคำของเพื่อนนักศิลปะบำบัดที่ฉันจำได้ วันนั้นเธอเป็นคนนำกระบวนการในเวิร์กช็อปที่ฉันเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัด ตอนนั้นฉันเพิ่งเข้ามาเรียนจิตวิทยาการปรึกษาได้ไม่ถึงปี ยังไม่ได้ฝึกงาน และเป็นคนหน้าใหม่สุดๆ ในเส้นทางจิตบำบัด 

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการเขียนละก็ ค่อนข้างพูดได้อย่างมั่นใจว่าฉันอยู่กับมันมาทั้งชีวิตเลยล่ะ

ฉันจำอะไรในชีวิตวัยเด็กได้ไม่มากนัก จำได้ชัดๆ ก็ตอนขึ้นเรียนชั้นประถมและสนุกกับการแต่งนิยายแฟนตาซีกับนิยายวัยรุ่น ที่เพื่อนบางคนบอกว่ามันสนุกและขอติดตามอ่านไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ แต่นอกจากความสนุกจากการอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉันจำความไม่ได้เลยว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงที่ทำให้ฉันเริ่มเขียน การเขียนเป็นสิ่งที่แค่โผล่เข้ามาในชีวิตอย่างไม่มีที่มาที่ไป แล้วก็อยู่กันเรื่อยมาจนทุกวันนี้ เป็นเนื้อเป็นตัว เป็นตัวเป็นตน และเป็นเงินเป็นทองหล่อเลี้ยงชีวิต

แต่ในระหว่างทาง การเขียนช่วยชีวิตฉันนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่ฉันเขียนไปโดยไม่ได้รู้หลักการหรอกว่า การเขียนเพื่อเยียวยาตัวเองต้องทำอย่างไร ในจุดตั้งต้นฉันแค่อยากพ่น อยากระบาย อยากตะโกนแต่ตะโกนจริงๆ ไม่ได้ก็เลยตะโกนเงียบๆ ลงหน้ากระดาษ บางครั้งอาจจะร้องไห้ไปด้วยเขียนไปด้วย สีขาวสะอาดนั้นดูดซับเอามวลอารมณ์สีดำไว้โดยไม่หือไม่อือ ไม่ปัดป้อง ไม่ส่งเสียง เพียงรับไว้ รับไว้ และรับไว้ 

บางเวลา กระดาษคือพยานหนึ่งเดียวที่รับรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกายใจของฉัน   

ว่ากันตามตรง ฉันเข้ามาเรียนต่อจิตวิทยาการปรึกษา ก็เพื่อให้ตัวเองมีฐานความรู้ที่จะใช้การเขียนบำบัดได้อย่างเชี่ยวชาญ และตอนนี้ก็กำลังเขียนทีสิสเกี่ยวกับประสบการณ์จากการเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึกหรือ Expressive Writing โดยเฉพาะ เพราะเชื่อว่าเครื่องมือนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมบ้านเราที่คนต้องอยู่กับการเก็บความรู้สึกไว้ข้างใน ไม่ได้ถูกหล่อหลอมให้กล้าแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา พอสะสมความอึมครึมไว้ข้างในมากเข้า นอกจากเราจะไม่รู้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง เรายังเสี่ยงต่อภาวะที่จิตใจจะเจ็บป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในยุคที่เราเริ่มพูดถึงการเขียนแบบ Free Writing หรือการเขียนโดยอิสระ เราเริ่มมีคอร์สสอนการเขียนให้คนทั่วไปใช้ดูแลตัวเองเบื้องต้น การเขียนเพื่อฮีลตัวเองเริ่มแมสมากขึ้น จะมีช่วงเวลาไหนที่มนุษย์ที่รอดชีวิตมาด้วยการเขียนอย่างฉัน รู้สึกว่า ‘นี่คือเวลาทอง’ ได้มากกว่านี้อีก  

ฉันคิดว่าในชีวิตของทุกคน ถ้าเราย้อนมององค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่หายใจอยู่กับเราอย่างใกล้ชิด เราจะเห็นจุดเชื่อมโยงในตัวตน ได้ยินคำใบ้ และรู้ว่าวิถีที่เราต้องการไปจริงๆ คือทิศทางไหน ทุกคนต่างมี ‘สิ่งนั้น’ ที่น่าอัศจรรย์อยู่ในตัวเอง ทุกคนมีศักยภาพจะพบ ‘คำตอบ’ ในใจที่ตามหา ขอเพียงได้มีเวลาสำรวจตรวจตราโลกภายในอย่างใกล้ชิดมากขึ้น 

สำหรับฉัน หนึ่งในช่องทางสำรวจตัวเองที่เราทำได้ คือการเขียน 

แน่นอนว่าแต่ละคนคงมีช่องทางที่ถนัดต่างกันไป บางคนอาจถนัดที่จะวาดรูป บางคนถนัดที่จะเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ในขั้นพื้นฐานแล้ว ทุกคนเริ่มเขียนเพื่อคุยกับตัวเองได้ (แม้ไม่ใช่นักเขียน) มันคือเครื่องมือราคาย่อมเยาที่ช่วยกางโลกข้างในออกมาวางให้เราเห็นชัดๆ แล้วเราจะเริ่มรู้ว่าจะไปทางไหนอย่างไรต่อ 

ความรู้สึกเมื่อเราเป็นคนร่างแผนที่และหาเส้นทางนั้นเจอด้วยตัวเอง บางครั้งมันรู้สึกเหมือนเราเป็นผู้ค้นพบขุมสมบัติที่ตามหามานานเชียวล่ะ 

โดยทั่วไปแล้ว วิธีเขียนที่ช่วยให้เราได้ทำความรู้จักโลกภายในตัวเองมากขึ้น คือการเขียนอย่างไม่ตัดสินตัวเอง ไม่ต้องคิดว่ามีอะไรถูกหรือผิด หรือไม่ต้อง ‘คิด’ ด้วยซ้ำว่า กำลังจะเขียนอะไร 

สมัยก่อนเวลาถ่ายภาพด้วยกล้องทอย จะมี motto สำหรับคนถ่ายภาพที่บอกว่า ‘Don’t think, just shoot’ อย่าไปคิดอะไรมาก ถ่ายๆ ไปเหอะ เดี๋ยวก็จะได้ภาพที่เกินความคาดหมายออกมาเอง ความไม่พยายามจัดวางจะช่วยให้เราได้จังหวะลงตัวของธรรมชาติที่ต่อให้ออกแบบให้ตายก็อาจไม่ปรากฏแบบนั้น สำหรับฉัน การเขียนอย่างอิสระและสะท้อนความคิดความรู้สึกก็เป็นไปตามหลักการเดียวกัน คือ Don’t (over)think, just write 

สำหรับคนอย่างฉันที่เติบโตมาพร้อมความคิดวุ่นวายแวดล้อม การเปิดหน้ากระดาษแล้วเห็นความโล่ง นิ้วได้สัมผัสความเรียบและเงียบนุ่มของกระดาษ การเปิดสมุดนั้นไม่ต่างจากการเรียก ‘ห้องต้องประสงค์’ ให้เปิดขึ้น (ห้องต้องประสงค์ = ห้องอเนกประสงค์ล่องหนที่จะปรากฏขึ้นให้พวกแฮร์รี่ใช้ฝึกปรือเวทมนตร์) ความโล่งว่างสีขาวปราศจากเส้นบรรทัดช่วยให้ฉันพักหายใจ หยุดทุกสิ่งที่คิด แล้วค่อยๆ ถ่ายเทเอามวลข้างในออกมา ไม่ว่ามวลนั้นจะเป็นมวลหนักๆ จากเรื่องที่เป็นทุกข์ หรือมวลความสุขที่อยากบันทึกและอิ่มเอมไปกับมัน

ฟังก์ชันอย่างแรกของการเขียนก็คือได้ถ่ายเทโดยที่เราไม่ต้องกังวลใจ สำหรับฉันแล้ว บนโลกนี้มีไม่กี่สถานที่หรอกที่เราเป็นแบบนั้นได้โดยสมบูรณ์ เพราะโดยธรรมชาติ ฉันก็จะคำนึงถึงความรู้สึกคนรอบข้าง คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากการพูดหรือการกระทำ เวลาที่ต้องคิดหรือสื่อสารเรื่องสำคัญ ฉันจะเหมือนคนที่ไม่กล้าตอบข้อสอบ เพราะสมองส่วน ‘กระดาษทด’ จะ ‘คิดเผื่อ’ ไปเรื่อยๆ อย่างไม่จบสิ้น ดังนั้นการมีกระดาษจริงๆ ให้ทดออกมาเห็นๆ กันไปเลย จะช่วยหยุดวงจรความคิดวนเวียนนี้ได้

พอสิ่งที่พูดออกมาบนกระดาษมันเป็นเรื่องจริง ไม่บิดพลิ้ว เราก็ได้เฝ้ามองจนเข้าใจความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองมากขึ้น ฉันคิดว่าถ้าพูดง่ายๆ มันคือการเซฟแรงที่เราต้องใคร่ครวญกลั่นกรองอะไรมากมายในสมอง เราแค่เทมันออกมาตรงๆ จากนั้นถึงค่อยเริ่มขั้นตอนการจัดการดูแล ไม่ว่าจะเป็นการปลอบประโลมตัวเอง หรือจัดระเบียบความคิดและวางแผนชีวิตเสียใหม่ 

ตอนที่แล้วฉันเล่าเรื่องการไปนิเวศภาวนาในป่า ก่อนไปฉันก็ถามตอบและโชว์ตบตีกับตัวเองให้ตัวเองดูบนหน้ากระดาษ ว่าฉันกลัวการเข้าป่าเพราะฉันกลัวว่าจะตายอยู่ในนั้น ไล่ตั้งแต่กลัวหนาวตาย ร้อนตาย เจอสัตว์ร้าย ไปจนถึง ‘กลัวว่าจะตายจนตาย’ ซึ่งพอเขียนออกมาให้เห็นจะๆ กับสายตา เราจะรู้ว่าความคิดที่เต้นระบำเล่นใหญ่อยู่ในหัวนั้นไม่ได้เป็นจริงไปเสียทั้งหมด พอเขียนให้ชัด ฉันได้บอกตัวเองว่าความตายไม่ใช่เรื่องจริง ความกลัวใหญ่ยิ่งนี้เป็นเพียงเครื่องยืนยันถึงความรักชีวิตของเรา และการปลอบความกลัวให้สงบลงก็เป็นสิ่งที่ลงมือทำได้ 

ฉันเขียนตอบตัวเองลงไปทีละบรรทัดว่า อะไรคือเหตุผลที่ความกลัวเหล่านั้นไม่น่าเป็นไปได้ และถ้ามันดูมีสัญญาณว่าจะเกิดขึ้นจริง ฉันจะทำอะไรได้บ้าง วันนั้นฉันน่าจะใช้เวลาเขียนอยู่ราว 20 นาที และใช้พื้นที่ไป 2 หน้ากระดาษ ผลลัพธ์คือฉันหยุดร้องไห้ หยุดวอแวกับตัวเอง และหลับสนิทในที่สุด 

ในชีวิตนี้ มีอีกหลายคืนมากๆ ที่พอเขียนจบ และได้เขียนประโยคที่ตัวเองอยากฟัง อยากได้ยิน อยากอ่านให้เห็นกับตา ฉันจะร้องไห้อีกครั้ง แต่เป็นการร้องไห้จากความรู้สึกโล่ง เหมือนว่าน้ำตาที่กลั่นออกมาพร้อมคำบางคำได้ควบแน่นเอาความหนักหนาในใจออกมาเรียบร้อยแล้ว ‘การผ่าตัดเล็กๆ วันนี้สำเร็จลงด้วยดี’ และการได้ปิดสมุดลงก็เหมือนการเย็บปิดแผล ทุกอย่างกลับเข้าสู่โหมดปลอดภัย

ถ้าบอกว่าทุกคนสามารถเป็นนักเขียน ฉันคิดว่าเรานี่แหละคือคนที่เขียนหนังสือให้ตัวเองอ่านได้ดีที่สุด 

หลายครั้งเราเฝ้าตามหาประโยคสักประโยคที่จะช่วยให้สมองและจิตใจเรา ‘คลิก’ ไปสู่จุดสบาย จุดคลี่คลาย อย่างที่ฉันเคยไปเลือกหนังสือสักเล่มและสุ่มพลิกอ่านสักหน้าในร้านหนังสือ ตามความเชื่อส่วนตัวของหนอนหนังสือวัยเยาว์ว่า ‘ประโยคที่ใช่จะมาถึงในเวลาที่ใช่ เราจะได้อ่านข้อความที่ถูกต้องในเวลาอันสมควร’ แต่สุดท้ายฉันก็พบว่าหลายต่อหลายครั้ง ในเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด ฉันไม่ได้พบ ‘ประโยคที่ถูกต้อง’ ในหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กที่วางขาย แต่กลับพบมันในบันทึกหน้าเก่าๆ ที่เคยเขียน

มันเคยมีวันที่ฉันรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่รู้จะรับมือปัญหาตรงหน้าอย่างไร และเริ่มจมดิ่ง แต่เมื่อพลิกสมุดเปะปะไปแล้วสายตาปะทะกับประโยคที่เขียนไว้ว่า ‘ไม่เคยมีครั้งไหนที่เธอผ่านไปไม่ได้’ ฉันก็ร้องไห้อย่างหนักหน่วง ส่วนผสมหลักในน้ำตาคือความรู้สึกขอบคุณที่ฉันคือผู้หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ตัวเอง การมีสมุดบันทึกทำให้ฉันรักษาพลังงานของตัวเองในอดีตไว้ และตัวฉันในอดีตก็นั่งไทม์แมชชีนมาช่วยฉันในปัจจุบันได้จริงๆ ราวกับมีเวทมนตร์ 

ระหว่างรีเสิร์ชทำวิทยานิพนธ์และทบทวนวรรณกรรม ฉันพบว่าคุณสมบัติหนึ่งของการเขียนคือการทำให้บุคคลนั้นๆ รู้จักและได้สัมผัสศักยภาพในการดูแลตัวเอง เวลาเราพูดถึงการเขียน นักเขียนก็คือผู้กำกับ เมื่อเราจดบันทึก เราก็คือ ‘ผู้เล่า’ ที่เลือกน้ำเสียง ถ้อยคำ และมุมมองต่อเหตุการณ์และประสบการณ์ต่างๆ เรามีพลังและอำนาจที่จะควบคุมพื้นที่ปลอดภัยของเรา 

จุดที่สำคัญที่สุดคือ เราได้เฝ้ามองเรื่องราวต่างๆ ในฐานะคนที่เข้าใจมันดีที่สุด เราสามารถหยิบยื่นความเมตตาให้ตัวเองได้เมื่อต้องการ เราสามารถชวนตัวเองคิดในมุมใหม่ๆ เราสามารถเขียนแบบไหนก็ได้ที่อยากเขียน เขียนนานเท่าไหร่ก็ได้ที่อยากเขียน เราจะรู้ว่าจุดไหนเรามาถึงจุดไคลแม็กซ์หรือเส้นชัยของการเขียนในวันนั้นแล้ว เราเองคือคนเดียวที่รู้ว่าเราได้ค้นพบ ‘กุญแจ’ สำคัญของเรื่องราว 

กุญแจนั้นอาจเป็นกุญแจดอกเล็กสำหรับการไขปัญหาเฉพาะหน้า หรืออาจเป็นกุญแจดอกใหญ่สำหรับการไขปัญหาระยะยาวของชีวิตก็ได้ เพราะการเขียนแต่ละครั้งจะค่อยๆ ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าเราจะเขียนแล้วเกิดความหงุดหงิด เขียนแล้วอยากร้องไห้ เขียนแล้วโล่งใจ ประสบการณ์แต่ละครั้งเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ช่วยให้เราประกอบภาพตัวเองได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จนค่อยๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญของชีวิตตัวเอง 

เวลาฉันเปิดสมุด พื้นที่ตรงนั้นเหมือนมีฉันอีกคนในเวอร์ชั่นที่มีสติ คอยอยู่เป็นเพื่อน เป็นนักจิตฯ หรือเป็นครู กำลังนั่งฟังข้างๆ เพื่อเข้าใจสิ่งที่ฉันคนนี้ประสบพบเจอ 

แน่นอนว่าผลดีจากการเขียนไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ฉันเขียน เมื่อก่อนที่ฉันเขียนโดยไม่ได้มีความรู้หลักการที่จะปฏิบัติต่อตนเองอย่างเมตตา ฉันก็ได้พ่นข้อความที่ยิ่งตอกย้ำให้ตัวเองร้องไห้ แต่ในวันหนึ่งที่เราเติบโตขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็เป็นทรัพยากรชั้นเยี่ยมที่ช่วยให้ฉันเข้าใจได้เช่นกันว่า ทำไมฉันจึงรักตัวเองไม่เป็นสักที ถ้อยคำดุด่าตัดพ้อเหล่านั้นมันมาจากไหน และฉันจะหยุดและเปลี่ยนถ้อยคำที่เป็นพิษกับตัวเองได้อย่างไร 

 ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามา แน่นอนว่าหากมีใครสนใจเริ่มเขียนเพื่อเยียวยา ฉันก็จะดีใจมากที่ได้ส่งต่อเครื่องมือนี้ให้ใครคนนั้นได้ใช้ดูแลตัวเอง แต่สิ่งสำคัญจริงๆ ที่ฉันอยากบอกคือ เราต่างสามารถค้นหาช่องทางและวิธีการที่จะสำรวจตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง ปลอบโยนตัวเอง เพราะเราทุกคนต่างเป็นคนที่รู้จักตัวเองได้ดีที่สุด เราจะรู้ว่าอะไรทำให้จิตใจเราได้เชื่อมต่อ ได้บอกเล่าเรื่องราว เราคือคนเลือกภาษาที่จะใช้คุยกับตัวเอง และเราสามารถมีหลายภาษาที่เอาไว้ใช้ปลอบประโลมตัวเองได้ (อย่างฉันก็มีการเขียนเป็นภาษาหลัก และศิลปะเป็นภาษารอง เป็นต้น) 

ถ้ายังคิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน ลองหากระดาษว่างๆ สักแผ่น หรือเปิดหน้าจอโล่งๆ ขึ้นมา ลองเขียนความรู้สึกนึกคิดออกมาตามธรรมชาติ แล้วค่อยๆ ตามมันไป

ห้องต้องประสงค์ของคุณรออยู่ตรงนั้นแล้ว : ) 

______________________________________________________________________________________

สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น

  • สำหรับคนที่อยากเริ่มเขียนเพื่อทำความเข้าใจและเยียวยาตนเอง คำแนะนำคือให้เขียนในพื้นที่ที่รู้สึกว่าเป็นส่วนตัวและปลอดภัย อาจกำหนดเวลาการเขียนให้ตัวเองสัก 15 นาที ตอนเขียนให้เขียนโดยไม่ต้องกลัวถูกผิด ไม่ต้องคิดถึงเรื่องไวยากรณ์ เมื่อเขียนเสร็จแล้วลองทิ้งเวลาสักพักแล้วค่อยกลับมาอ่านสิ่งที่เขียนเพื่อสังเกตและซึมซับในจุดที่มีความหมายหรือสำคัญ 
  • สำหรับคนที่กำลังรู้สึกเปราะบาง มีอารมณ์ท่วมท้น ไม่แน่ใจว่าจะอยู่กับอารมณ์นั้นได้ไหม เราเชียร์ให้ลองปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อจะได้เริ่มต้นเขียนแบบมีคนช่วยซัพพอร์ต    

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JCCHR

นักวาดภาพประกอบ ชอบแมว ชอบจังหวัดเกียวโตกับโอกินาวา ชอบกาแฟ และดูหนังฟังเพลงที่ชอบซ้ำหลายๆ รอบ