ใดๆ ในตัวฉันที่เคยคิดว่าเป็นขยะเหลือค้างตู้เย็น งานนี้จะได้ ‘เห็นดี’ กัน

ที่บ้านฉัน เรามีประโยคติดตลกที่ชอบแซวแม่ว่า อาหารที่แม่ทำมักจะอร่อยและลงตัวที่สุด ในวันที่แม่ทำอาหารแบบมิกซ์แอนด์แมตช์เพื่อโละของเก่าๆ ในตู้เย็นให้สิ้นซาก Peace of Mine

คนกินน่ะอร่อย แต่คนทำต้องผ่านโมเมนต์กุมขมับ วัตถุดิบมีแค่นี้ หลายอย่างก็ดูไม่เข้ากัน แต่ทำยังไงให้มันออกมาอร่อย วันแบบนั้นแม่จึงมักให้กำเนิดเมนูแปลกใหม่บนโต๊ะ ประหนึ่งกำลังเป็นผู้เข้าแข่งขันในโจทย์ Mystery Box แห่งรายการมาสเตอร์เชฟ

พลิกตำราอาหารเก่าเก็บประจำบ้าน ต่อด้วยการส่องคลิปทำอาหารในยูทูบ กลยุทธ์เก่าและใหม่ต้องผสมผสาน อะไรไม่เคยทำก็ต้องลอง แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้นได้ แม่ต้องเอาวัตถุดิบทุกอย่างออกมากาง แบ วาง ให้เห็นกันชัดๆ นั่นแคร์รอตครึ่งซีกที่ใช้ไม่หมดจากมื้อก่อน นั่นมิโสะใกล้หมดอายุ นั่นมะเขือหน้าตาห่อเหี่ยวแต่ดีงามเพราะไม่มียาฆ่าแมลง 

อะไรที่ถูกซุกซ่อนไว้ในตู้เย็นหรือซื้อทิ้งลืม งานนี้จะได้ ‘เห็นดี’ กันว่ามันเป็นอะไรได้มากกว่าขยะปล่อยเหลือคาตู้  

แต่นี่แหละ ขั้นตอนที่ฉันไม่ชอบทำเลยตลอดสิบปีที่ผ่านมา

เคยไหมคะ จำได้ว่าเคยซื้ออะไรสักอย่างไว้ แต่พอจะใช้ก็หาไม่เจอ ฉันนี่แหละ เจ้าของสถิตินักทำของหายด้วยวิธีการที่ว่า คอมเมนต์จากกรรมการทางบ้าน (พ่อ แม่ พี่) ที่ลอยเข้าหูอยู่บ่อยๆ ก็คือ ‘เพราะห้องเธอรกเกินไปไงล่ะ’ เมื่อไหร่ที่ใครเข้ามาหาของในห้องโดยไม่ขออนุญาตแล้วตำหนิเรื่องนี้ ฉันจะโกรธ

นานน้านนนนนที ฉันจะฮึบ! เอาล่ะ วันนี้จะเคลียร์ของในห้อง แล้วพอลองเก็บห้องจริงๆ ก็ค้นพบว่า มีหลายอย่างมากที่เราไม่รู้ตัวว่าเรามี ลิปสติกแท่งโปรดกลิ้งไปอยู่หลังตู้ซึ่งเต็มไปด้วยประชากรฝุ่น บัตรสมาชิกที่คุ้ยหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอหลบอยู่ในแก๊งถุงพลาสติกพับทบรูปสามเหลี่ยม เงินสกุลต่างประเทศมูลค่าหลายพัน ฉันก็เก็บลืมไว้ด้านในสุดของลิ้นชัก

บทเรียนส่วนตัวจากการเก็บห้อง : เราจะ ‘เจอ’ เมื่อเราตัดใจ และยอมเอาทุกอย่างออกมา กาง แบ วาง ให้เห็นกันชัดๆ 

เหตุผลที่ใครหลายคนไม่อยากเคลียร์ของเหลือค้างในห้อง หรือในตู้เย็น อาจแค่เพราะเขาขี้เกียจ ฉันก็เคยคิดแบบนั้นแหละ จนวันหนึ่งที่นั่งเรียนอยู่ในคลาสปริญญาโทแล้วกังวลเมื่อต้องออกไปฝึก role play เป็นนักบำบัดต่อหน้าประชาชีในห้อง ฉันก็เชื่อมโยงโลกภายนอกกับโลกภายในตัวเองได้ขึ้นมา

ฉันยอมรับว่าบางครั้งฉันตั้งใจไม่ทำอะไรกับข้าวของในห้องตัวเอง เพื่อประชดคำตำหนิของผู้อาวุโสกว่า แต่ความจริงอีกข้อที่ต้องยอมรับเช่นกันคือ บางครั้งฉันก็ไม่อยากรับรู้หรอกว่า ฉันก็มีข้อบกพร่องอย่างที่เขาบอก ฉันไม่มีระเบียบ และของในห้องฉันเต็มไปด้วยขยะ คนอื่นอาจเปิดประตูทิ้งไว้ให้ลมลอดผ่าน แต่ประตูห้องของฉันจะถูกปิดอยู่เสมอ 

ฉันไม่ชอบให้ใครมาเปิดดูใน ‘พื้นที่ของฉัน’ ไม่ว่ามันจะเป็นห้องนอน เป็นสมุด เป็นคอมพิวเตอร์ เป็นพื้นที่ที่ฉันนั่งสัมภาษณ์ใครสักคนอยู่ หรือแม้แต่หัวใจ–ตัวตนภายใน เพราะไม่ชอบให้ใครมาชี้บอกว่า ฉันบริหารจัดการสิ่งต่างๆ บกพร่องตรงไหนบ้าง  พอๆ กับไม่ชอบที่จะต้องยอมรับว่า ฉันเองก็ไม่อยากจะมองความเละเทะนั้นเหมือนกัน เพราะแม้มันจะเป็นพื้นที่ไร้ระเบียบ แต่มันก็ดีที่สุดได้เท่านั้น ฉันนอนหลับ ทำงาน และอยู่อย่างสบายดีในที่แห่งนั้น เพียงเงื่อนไขเดียว ขอแค่อย่ามีใครมาเปิดดู มารื้อค้น มาทำให้ฉันเห็นอะไรที่ฉันไม่ชอบในตัวเอง โปรดปล่อยให้ความไม่สบายใจของฉันนอนหลับสนิทต่อไปเถอะ 

ฉันใช้นิสัยนี้กับชีวิตทั้งส่วนที่จับต้องได้และไม่ได้มาตลอดจริงๆ เพราะมีความคิดฝังหัวว่า คนเราไม่ควรจะมีข้อบกพร่อง แต่พอความเป็นจริงมันมี ฉันก็ไม่ชอบไอ้ข้อบกพร่องที่ว่า เลยปิดหูปิดตาไม่มอง

กับพื้นที่ทางกายภาพ มันอาจไม่ยากเย็นหรอก ที่จะสละเวลาหยิบแต่ละอย่างในนั้นขึ้นมาพิจารณา ว่าอันไหนสมบูรณ์ อันไหนชำรุด ก็คงเหมือนผักในตู้เย็นที่เราเผลอปล่อยเน่าคาตู้โดยไม่ตั้งใจ ถ้าเจอก็แค่เสียดายเงิน แล้วเอาไปทำปุ๋ยซะ 

แต่ถ้าพูดถึงตัวเราเอง จะมีสักกี่ครั้งที่เรากล้าเอาทุกมิติของตัวเอง ทั้งดีและไม่ดี ออกมาวางตรงหน้า จนเราเห็นกับตาว่า นั่นไงความทรงจำเปื่อยยุ่ยที่ไม่กล้าทิ้ง นั่นไงนิสัยเจ้ากี้เจ้าการที่มีคนมาฝากไว้ นั่นไงความขี้กลัวจากอุบัติเหตุบางอย่างในอดีต และนั่นไงอีกมากมาย

พื้นที่ของเราจึงถูกปิดไว้ และมีสิ่งที่เรา ‘คิดว่าเป็นขยะ’ นอนนิ่งอยู่มากมาย การจะเปิดใจออกดูโดยไม่ตำหนิตัวเองมันโคตรยาก ยากเหลือเกิน ฉันร้องไห้กับสิ่งที่คิดว่าเป็นขยะในตัวเองมาหลายครั้งด้วยความรู้สึกนี้จริงๆ 

แต่ก็จะมีบางวัน ที่อยู่ดีๆ ความท้าทายหน้าใหม่ก็โผล่มาทักทาย วันที่อยู่ดีๆ ชีวิตก็เสกให้เรากลายเป็นผู้เข้าแข่งขันในโจทย์ Mystery Box ที่เราต้องต่อสู้กับแบบทดสอบ โดยวัตถุดิบทั้งหมดที่มี ซึ่งหนีไม่พ้นตัวเรา (ประสบการณ์ ทัศนคติ และบลาๆๆ) เท่าที่มันจะดีได้ในเวลานั้น (ดีที่สุดแม้มันจะพังอยู่ก็ตาม) 

“คุณต้องสร้างสรรค์เมนูที่ดีที่สุดจากวัตถุดิบหลักในกล่องนี้ และเรามีวัตถุดิบเสริมอย่างจำกัดเตรียมไว้ให้คุณที่ใต้สเตชั่นแล้วค่ะ” ว่าแล้ววรรคทองของพิธีกรรายการสุดสวยอย่างพี่ป๊อกก็ลอยมา 

ว่ากันตามตรง ฉันชอบดูการแข่งขันโจทย์นี้มากกว่าดูภารกิจแบบทีมที่ผู้เข้าแข่งขันช่วยเหลือกันได้และเน้นการทำอาหารในปริมาณมาก โจทย์ Mystery Box นั้นเรียบง่ายมาก นั่นคือคุณจะทำวัตถุดิบที่มีอยู่จำกัดในกล่อง ให้ออกมาเป็นอาหารจานที่ดีที่สุดได้ยังไง 

ของในกล่องที่กรรมการเตรียมไว้ให้ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ไม่มีใครได้เห็น และแน่นอนว่าไม่มีสิทธิเลือกตามความถนัด 

จังหวะที่เพลงรายการจะบิลด์มากคือจังหวะที่ผู้เข้าแข่งขันกลั้นใจยกกล่องดูวัตถุดิบที่อยู่ภายใน มันเป็นชั่วขณะที่ตื่นเต้นที่สุด ปนน่ากลัวหน่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเจออะไรในนั้นบ้าง และจะไหวไหมที่ต้องจัดการมันด้วยตัวเราเองคนเดียว

แต่ทางเดียวที่จะผ่านแบบทดสอบไปได้ คือกล้าหาญพอที่จะเปิดกล่องปิดสนิทนั้น 

แล้วเราจะพบว่า สิ่งที่เข้าใจว่าใช้การไม่ได้ อาจมีประโยชน์มาก ถ้ามันผ่านการขัดเกลา และต้มให้สุกพร้อมกินสักหน่อย

1 Peace of Mine

ขั้นตอนสำคัญมากของชีวิตที่ฉันได้เรียนรู้จากชีวิตหลังจากมาเรียนจิตวิทยาได้ 2-3 ปี เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ นั่นคือการยอมรับ

ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองที่ฉันเคยได้รับก่อนเข้ามาเรียน มักพูดถึงกระบวนการที่พาเราไปข้างหน้า ไปสู่ตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า แต่ขั้นตอนการยอมรับกลับไม่ค่อยมีใครพูดถึง ทั้งที่มันเป็นจุดสำคัญ เป็นจุดที่ยาก และแทบจะเป็นจุดตัดสินเลยว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ดีจะมาถึงได้ไหม 

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการยอมรับหรือ Acceptance นี่แหละ เป็นบันไดขั้นแรกของการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิด Paradigm Shift หรือการเปลี่ยนแปลงในโลกทัศน์ของคนคนนั้น จากนั้น มันจะเป็นจุดออกตัวบนเส้นทางการเติบโตอันยาวไกลที่มั่นคงยิ่งขึ้น 

ที่ผ่านมา เวลาฉันอยากจะดีขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นการมีระเบียบขึ้น ทำงานเก่งขึ้น กล้าหาญขึ้น ฯลฯ) มันจะมีประโยคคำถามวนเวียนอยู่เสมอๆ ว่า ในสิ่งที่ฉันเป็น ฉันมี มันก็ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้แล้ว จากทรัพยากรที่มีตรงนี้ มันจะดีขึ้นกว่านี้ได้ยังไง หรือฉันจะสร้างสรรค์อะไรที่ดีกว่านี้ได้ยังไงในเมื่อฉันก็เป็นแค่ฉันคนเดิมคนนี้

‘ในเมื่อฉันก็เป็นแค่ฉันคนนี้’ ได้ยินเสียงของความน้อยใจและการประเมินตัวเองนั้นไหม ฉันที่เหมือนแคร์รอตหั่นซีกเป็นเศษ

การเห็นตัวเองที่ไม่เต็มสมบูรณ์ เป็นเรื่องเจ็บปวดใจสำหรับฉันตลอดมา ฉันเลยพอใจที่จะเก็บตัวเองไว้ในกล่อง ไม่อยากเป็นจุดสนใจ ถ้าต้องไปนอนโชว์ตัวเป็นเศษแคร์รอตหั่นซีกบนเขียง ฆ่าฉันตรงนั้นเลยดีกว่า ก่อนฉันจะขาดใจเพราะความอับอาย 

แต่ความจริงที่ฉันลืมไปข้อหนึ่งก็คือ ใครๆ ก็ต่างมีช่วงเวลาแบบนั้น ใครๆ ก็มีจุดอ่อน และคงไม่ใช่ตู้เย็นทุกบ้านที่จะมีแต่ของสวยๆ งามๆ ต่อให้เป็นแคร์รอตเหลือค้างตู้ก็ยังมีประโยชน์ในแบบของมัน (แคร์รอตต้มสุกนี่ฉันรักมากเลยนะขอบอก) พอดูให้ดีๆ จะพบว่าฉันไม่ใช่ ‘แค่ฉันคนนี้’ แต่เป็น ‘ตั้งฉันคนนี้’ ที่ผ่านอะไรต่างๆ มาด้วยตัวเอง 

ในการแข่งขัน วัตถุดิบในกล่องปริศนาคือของที่มีกรรมการเลือกมาให้ ในชีวิตจริง หลายอย่างที่มาประกอบสร้างเป็นตัวเรา ก็เป็นสิ่งที่เราไม่มีสิทธิเลือก และเป็นสิ่งทรงอิทธิพลต่อใจโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น ครอบครัว สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีส่วนหล่อหลอมให้เด็กๆ มากมายใจดีกับตัวเองไม่เป็น พวกเขาจะยอมรับตัวเองได้เมื่อไหร่ว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นนั้น ‘เพียงพอ’ ในเมื่อผู้ใหญ่ข้างตัวยังยอมรับพวกเขาไม่ได้ 

พอโตขึ้น ฉันไม่ปฏิเสธเลยว่า กระบวนการที่เราต้องพิจารณาตัวเองในเวอร์ชั่นไม่สมบูรณ์ บกพร่อง ชำรุด มันทำใจยอมรับได้ยาก การผ่านมาแต่ละจุดของฉัน ปวดใจเหมือนได้แผลแบบเลือดตกยางออกก็มี

แต่ถ้ายิ่งละเอียดลออกับขั้นตอนนี้ได้เท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็คุ้มค่ามากขึ้นเท่านั้น เราจะเริ่มเห็นที่มาที่ไปของตัวตนเทาๆ ที่เรามี เราจะเริ่มตั้งคำถาม เริ่มสืบเสาะหาต้นทางและหนทางแก้ไข และเป็นทางที่เหมาะกับตัวตนเราในเวลานั้นจริงๆ สุดท้าย เราจะอยู่กับตัวเองโดยไม่คาดหวังว่าทุกอย่างในนี้ต้องดีพร้อมจึงจะยอมรับได้ 

‘ถ้าคุณอยู่กับตัวเองในเวอร์ชั่นผุพังที่สุดได้ ต่อจากนี้อะไรก็ไม่ยากเกินไปแล้ว’ นี่คือประโยคที่ฉันตกตะกอนได้จากการอ่านหนังสือจิตวิทยานอกชั้นเรียน และแปลกดีที่เริ่มรู้สึกถึงความกล้าหาญในตัวเอง

เปิดกล่องปริศนาออกมาดู อย่าลืมให้เวลาตัวเองตกใจจนพอใจ แล้วค่อยๆ ตั้งสติ ตั้งต้นทำความรู้จักวัตถุดิบทุกอย่างที่มี ว่ารสชาติมันเป็นยังไง อะไรจะมารวมร่างกันแล้วอร่อยบ้าง แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่รู้จัก ไม่เคยกิน หรือไม่ชอบก็ตาม ถ้าเรารู้วิธีดูแล เขาก็เป็นองค์ประกอบที่ดีของจานนั้นๆ ได้ และพอเราทำถึงจุดนั้นได้ เราจะพบว่าเรามีศักยภาพในการสร้างสรรค์และพลิกแพลงมากกว่าที่คิด 

สิ่งต่างๆ ในตัวเราเองก็เช่นกัน 

เมื่อใช้วิธีนี้กับตัวเองได้ ฉันพบความจริงส่วนตัว 2 ข้อ

หนึ่ง นอกจากเจอจุดที่ไม่ชอบต่างๆ นานา เช่น ความรู้สึกไร้ค่าไร้ราคา ความคิดมาก ฉันก็ยังมีเรื่องที่ชอบในตัวเองหลงเหลืออยู่ และเห็นมันชัดขึ้น เมื่อยอมเอาทุกอย่างออกมา กาง แบ วาง ให้เห็นกันชัดๆ 

สอง ต่อให้วันนั้นฉันทำเมนูอะไรดีๆ ออกมาไม่ได้เลย ทำได้แค่ฮึบเปิดกล่องสำเร็จ ฉันยังเป็นแคร์รอตหั่นซีก ที่ต่างไปมีแค่ ฉันรู้แล้วว่าฉันเป็นอะไร สิ่งที่ฉันเป็นไม่ใช่เรื่องน่าอับอายอย่างที่เคยคิด และฉันก็รักมัน เพราะนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานี้ วินาทีนี้ 

ถ้าตามกติกาของฉันคือฉันชนะแล้ว 


สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น 

  • เรามี self-acceptance หรึอยัง? จุดสังเกตคือเราโอบรับเอาทุกมิติที่เป็นตัวเองไว้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข จริงใจกับตัวตนที่เป็น มองมันตามความเป็นจริง โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบว่าฉันดีหรือแย่กว่าคนรอบข้างยังไง
  • รู้จัก self-acceptance ให้มากขึ้น ผ่านหนังสือ The Art & Power of Acceptance : Your Guide to Inner Peace โดย Ashley Davis Bush และลองอ่านบทความนี้เพื่อเข้าใจความต่างระหว่าง self-acceptance และ Self-esteem 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JCCHR

นักวาดภาพประกอบ ชอบแมว ชอบจังหวัดเกียวโตกับโอกินาวา ชอบกาแฟ และดูหนังฟังเพลงที่ชอบซ้ำหลายๆ รอบ