ทุกอารมณ์ที่เป็นดั่งไฟ จงปลดปล่อยและใช้มันเป็นเชื้อเพลิง

มีข้อเท็จจริงบางข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับร่างกายฉันเอง ซึ่งเคยเป็นปริศนามาตลอด ร่างกาย

เมื่อก่อนฉันมักฝันร้ายเห็นร่างกายตัวเองบาดเจ็บ ฝันแบบนี้มักโผล่มาปีละ 2-3 ครั้ง จับต้นชนปลายไม่ถูกและจำไม่ได้ว่าอะไรกันแน่หนอที่มากระตุ้น (จะบอกว่าดูหนังจนเก็บไปฝันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉันกลัวหนัง genre ที่เห็นผู้คนบาดเจ็บแบบโคลสอัพสุดๆ) 

เรื่องน่าแปลกคืออวัยวะที่บาดเจ็บมักเป็นส่วนขา ต้นขาบ้าง น่องบ้าง และมีจุดร่วมว่าอาการบาดเจ็บจะทำให้ฉันไม่อาจขยับตัวไปไหนได้ ทุกครั้งพอตื่นมาจะได้แต่สงสัยว่าอะไรกันนะที่ซ่อนอยู่ในภาพฝันเหล่านี้ 

ย้อนประวัติศาสตร์ผ่านร่างกาย ทุกคนจะรู้ว่าฉันเป็นมนุษย์ที่เจ็บออดๆ แอดๆ อยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอาการทางท้องไส้ สมัยมัธยมปลายบังเอิญสอบติดโรงเรียนที่ขึ้นชื่อว่าเรียนสุดโหด ช่วงสอบปลายภาคฉันเคยเครียดจนตื่นมาเกาะขอบชักโครกกลางดึกแบบงงๆ ในสมัยนั้นความรู้ด้านสภาพจิตใจที่ส่งผลต่อร่างกายก็ยังมีน้อยมาก พอหลุดพ้นจากการเรียนสายวิทย์ที่ตัวเองไม่ค่อยชอบ มาอยู่คณะที่เรียนได้ตรงใจและสนุกสนานกว่าเดิมฉันก็มีความสุขขึ้น จบปัญหาไปหนึ่งเปลาะ

แต่พอเรียนจบ โตขึ้นอีกเลเวล ต้องรับมือการงานที่เข้มข้น ความสัมพันธ์ส่วนตัวก็เจอเรื่องท้าทาย ช่วงหนึ่งฉันรู้สึกเหมือนหัวใจตัวเองเต้นแปลกๆ อยู่ดีๆ มันจะกระโดดหย็องแหย็งๆ เป็นระยะ ไปตรวจจริงจังก็ไม่เจออะไร พอสถานการณ์เปลี่ยน อาการพวกนั้นหายไป แต่พอชีวิตเหวี่ยงให้ไปเจอสถานการณ์ท้าทายใหม่ๆ ในคราบความรู้สึกเก่า ฉันพบว่าอาการพวกนั้นคล้ายจะตบเท้าเข้ามาใกล้กว่าเดิม

เวลาเศร้า ตรงหัวใจและท้องจะว่างโหวงเป็นวูบๆ ราวกับตรงนั้นเป็นช่องหลุมดำที่พร้อมจะสูบเอาความอบอุ่นทั้งหมดในร่างกายให้หายไป เวลาเครียดสะสมหลายๆ วัน กล้ามเนื้อแถวหัวใจก็จะกระตุกแปลกๆ เวลาโกรธมากๆ คนอื่นอาจพูดเสียงดัง ลุกขึ้นมาตบโต๊ะ แต่สำหรับฉัน ข้างในอาจคุกรุ่น แต่กล้ามเนื้อทั้งมวลของร่างกายเหมือนจะกลายเป็นหิน ปากก็อ้าไม่ออก ขาก็ก้าวไม่ไป ทำได้แค่…เดินไปห้องน้ำ ล็อกประตู หมดแรง ทรุดตัวลง นั่งร้องไห้จนกว่าจะหาย

บางครั้งถ้าความโกรธนั้นหนักข้อมากๆ ฉันก็อดไม่ได้ที่จะตีขาตัวเองด้วยความโกรธเท่าที่อยากแสดงออกกับคนคนนั้น ตอนนั่งร้องไห้อยู่กับพื้นนั่นแหละ มันเป็นความโกรธที่หลากหลาย สะเปะสะปะ ทั้งโกรธคนที่มาต่อว่ากันแรงๆ และโกรธตัวเองที่กลัวจนไม่กล้าทำอะไรเพื่อปกป้องความรู้สึกตัวเองได้เลย

พอสังคมบ้านเราเริ่มสนใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น ฉันก็เพิ่งอ๋อว่าพฤติกรรมทุบตีที่ฉันทำไป แม้จะสั้นๆ และเกิดไม่บ่อย มันก็นับเป็นการทำร้ายร่างกายตัวเองรูปแบบหนึ่ง เป็นวิธีรับมืออารมณ์ทางลบที่ไม่ดีกับใจและร่างกายในระยะยาว (ใครมีปัญหานี้ ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้เลยนะคะ) 

“ร่างกายนี้ศักดิ์สิทธิ์มากนะมึง” เพื่อนสายจิตวิญญาณคนแรกในชีวิตเคยพูดเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้นฉันไม่เข้าใจ ฝันอะไรแปลกๆ ก็แค่นานๆ มาที ปล่อยให้ปริศนาเป็นปริศนาต่อไปก็คงไม่มีปัญหา

ช่วงที่ชีวิตเจอมรสุมหนักๆ และตัดสินใจไปใช้บริการดูแลใจในฐานะคนไข้ ฉันก็ไม่เคยเล่าเรื่องนี้กับจิตแพทย์อย่างจริงจัง เพราะรู้สึกว่ามันเป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อยของเหตุการณ์ จนครั้งหนึ่งที่ได้พูดถึงอาการที่ร่างกายฟรีซ โดยเฉพาะบริเวณขา หมอก็แค่พูดง่ายๆ ออกมาว่า “คุณคงจะโกรธมากๆ เลยสินะครับ” 

นั่นเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ฉันได้เข้าใจว่า อารมณ์ที่ฉันรับมือไม่เก่งอย่างความโกรธ มันถึงขั้นสั่งการร่างกายให้ชะงักได้ เพราะตอนที่อารมณ์พีคจริงๆ ก็จะรู้สึกแค่ว่ามันช่างทรมานเหมือนตัวเองถูกขังอยู่ข้างใน ไม่ได้เชื่อมโยงได้หรอกว่าสภาพร่างกายแข็งเป็นหินนั้นเกิดจากอารมณ์ที่พลุ่งพล่านเหมือนภูเขาไฟระเบิด แต่กลับไม่มีที่ทางให้ลาวาร้อนๆ ระบายออก เพราะฉันไม่กล้าและไม่อนุญาตให้ตัวเองทำ

เรียกง่ายๆ เลยคือกายและใจป่วยเพราะฉันเก็บกดอารมณ์ลบๆ ไว้ข้างใน  

ร่างกาย

แล้วมันก็ตลกดีที่สุดท้ายคนที่ทำให้ฉันตื่นรู้สุดๆ ว่าร่างกายที่ทั้งน่านับถือและน่าสงสารนี้แบกรับทุกสิ่งอย่างเอาไว้แทนเรากลับเป็นแพทย์แผนจีน ตอนนั้นฉันลองไปหาหมอจีนเพราะท้องเสียมาหลายวัน ร่างกายอ่อนเพลียแบบงงๆ มาร่วมเดือน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความหัวร้อนใดๆ ทั้งสิ้น

“โห ความเครียดมันกระจายลงไปในกล้ามเนื้อหมดเลย” หมอพูดด้วยน้ำเสียงใจดี หลังเอาปลายนิ้วแตะจุดชีพจรที่ข้อมือแค่ชั่วแวบ หมออธิบายว่าความเครียดของฉันเหมือน ‘ไฟ’ ที่วิ่งแตกฉานซ่านเซ็นไปทั่วร่าง 

จังหวะนั้น ข้อมูลจากหมอจีนกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่คลายปริศนาทุกอย่าง คำว่า ‘ไฟ’ ที่หมอพูด มันช่างตรงกับที่ฉันรู้สึกตอนร่างกายฟรีซ ที่เหมือนมีลูกไฟร้อนๆ วิ่งไปมาข้างในไม่หยุดหย่อน จากอกลงไปที่ท้อง จากท้องลงไปที่ขา จากขากลับขึ้นมาที่ตัว ฉันระบุได้หมดเลยว่าไฟลูกนั้นกำลังวิ่งไปชนอะไรบ้าง 

ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ได้จะชวนทุกคนไปหาหมอจีน ทว่าข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ แต่แสนสำคัญทั้งหมดนี้ทำให้ฉัน ‘เห็นภาพ’ อย่างแจ่มแจ้งว่า มวลอารมณ์ที่เป็นทุกข์ เป็นพิษ ไม่ได้ถูกระบายออก หรือเกิดขึ้นบ่อยๆ จนสะสม ไม่ว่าหนักหรือเบา จะวนเวียนอยู่ในร่างกายและแสดงออกมาเป็นอาการอะไรสักอย่างหนึ่ง ไล่ตั้งแต่อาการที่รู้จักกันทั่วไป เช่น ปวดหัวไมเกรน หรือภาวะที่เราควบคุมร่างกายตัวเองไม่ได้และรู้สึกขาดการเชื่อมต่อกับร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่เจอบาดแผลทางใจ (trauma) มาในอดีต 

วลีที่ ‘ขาดการเชื่อมต่อกับร่างกาย’ ฉันยกมาจากหนังสือชื่อ The Body Keeps the Score: Mind, Brain and Body in the Transformation of Trauma ซึ่ง Bessel van der Kolk ผู้เขียนพยายามอธิบายว่าประสบการณ์ trauma นั้นทิ้งร่องรอยไว้ในจิตใจ สมอง และร่างกายไว้ยังไงบ้าง (หากใครสนใจ มีฉบับแปลภาษาไทยชื่อ ฝันร้ายในร่างกาย : สมอง ร่างกาย จิตใจ ในการเยียวยาบาดแผลทางใจ โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) 

เคสที่ฉันอ่านแล้วสนใจคือ แอนนี่ ผู้ถูกผู้เป็นพ่อล่วงละเมิดทางเพศตอนเด็กจนมีภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder–โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง) เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น แอนนี่จะตกอยู่ในสภาวะร่างกายที่กลัวและกังวลจนทำอะไรไม่ถูก เพราะบาดแผลรุนแรงยังฝังรากลึกอยู่ในร่างกาย ผู้เขียนอธิบายว่าความทรงจำของความรู้สึกที่ไม่อาจตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่คุกคามเรา จะสั่งสมอยู่ในกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดหรือทำให้เราไม่เชื่อมต่อกับบางส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ โดยสามารถเป็นได้ทั้งบริเวณศีรษะ หลัง แขนขาในผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ หรืออวัยวะเพศในผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

ฉันไม่อาจเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งที่แอนนี่เผชิญ แต่ฉันเข้าใจความรู้สึก ‘ขาดการเชื่อมต่อกับร่างกาย’ จากระดับประสบการณ์ส่วนตัวว่ามันคือการที่เราไม่ปะติดปะต่อกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย เราไม่รู้ว่าที่ร่างกายกำลังปั่นป่วน มันกำลังส่งสัญญาณอะไร และเรายังควบคุมอาการที่เกิดกับร่างกายไม่ได้ด้วย เหมือนที่ฉันไม่เคยเข้าใจว่าต้นตอปัญหาในระดับลึกที่สุดของฉันคือความโกรธที่ไม่อนุญาตให้ปะทุ เวลาโกรธจัดมากๆ ฉันอาจจะตัวสั่น มือสั่น แต่ก็ไม่รู้ต้องจัดการยังไงกับมันอยู่ดี

ทุกอารมณ์มีประโยชน์ของมัน ความโกรธทำให้เรารู้จักปกป้องตัวเอง ทำให้เรากล้าหาญที่จะยืนหยัดเพื่ออะไรบางอย่าง แต่สำหรับฉัน ทุกครั้งที่โกรธ พอมีคำพูดจากผู้ใหญ่เตือนว่า “โกรธไม่ดีนะ” ฉันในวัยเด็กก็กล้ำกลืนไฟความโกรธนั้นไว้ข้างใน ปิดปากตัวเองซะ กลั่นออกมาได้แค่น้ำตา รู้สึกว่าตัวเองทำผิดอะไรสักอย่างและช่างอ่อนแอเหลือเกิน

พอแสดงออกความโกรธไม่ได้ ฉันก็ทุบตีขาตัวเองเพื่อหาที่ระบาย ระบายความอึดอัดเจ็บใจที่ไม่อาจแสดงจุดยืน ไม่อาจทำให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่ฉันคิดและรู้สึก แค่จะพูดว่า “คำพูดเธอทำให้ฉันเสียใจมากๆ” ก็ยังทำไม่ได้  

ฉันค่อยๆ ปะติดปะต่อจนเข้าใจว่านั่นคือที่มาของฝันร้าย ภาพตัวเองนั่งบาดเจ็บอยู่ในฝันคนเดียวโดยไม่มีใครช่วยเหลือ แทบไม่ต่างจากฉากเอ็มวีร้องไห้ในห้องน้ำ พูดแล้วเหมือนจะขำ แต่ทุกวินาทีที่นั่งอยู่ตรงนั้นฉันโกรธตัวเองและโกรธโลกมากๆ จริงๆ จนไม่แปลกใจที่ภาพฝันจะออกมารุนแรงได้ถึงเพียงนั้น

ร่างกาย

สมัยทำ a day เล่ม Therapy ฉันได้สัมภาษณ์พี่ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว และได้ชุดความรู้มาว่าเซลล์ในร่างกายของเราจดจำทุกอย่างที่เกิดกับเราได้ เหมือนเป็นที่เก็บรักษาเมมโมรีที่ดึงออกมาใช้ได้เสมอ หากเราอยากพูดคุยกับร่างกาย และยินดีรับฟังคำตอบของเขา 

ฝันร้ายนั้นคงเป็นสัญญาณให้ฉันลุกออกไปต่อสู้เพื่อตัวเองและกล้าที่จะแสดงจุดยืนบ้าง

ในวันที่ฉันทดลองรับการบำบัดผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายกับพี่ดุจดาว ห้วงเวลาที่ฉันมีความสุขที่สุดอย่างที่ชีวิตช่วงก่อนหน้านั้นไม่ได้รู้สึกมาหลายปีคือช่วงที่คนตรงหน้าถามถึง ‘สิ่ง’ ที่ฉันยังรู้สึกว่าตัวเองขาด แล้วขาของฉันก็ออกวิ่งแทนคำตอบ

มันเป็นการวิ่งด้วยความเร็วระยะสั้นๆ ในห้องบำบัดขนาดใหญ่ ฉันไม่ได้คิดอะไร รู้แค่ว่าขาของฉันอยากกระโดด อยากวิ่งให้เร็วที่สุด ขาของฉันดูจะมีความสุขเมื่อเขาไม่ถูกจองจำด้วยความกลัว 

พอจบการทดลอง ฉันถามพี่ดุจดาวว่าเราจะแปลภาษาร่างกายยังไงเพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ เธอจึงพูดกับฉันที่ยังกระโดดไปมาเหมือนเด็กไม่หยุดว่า “ขาหมายถึงอะไร จุดยืนหรือเปล่า?”

นั่นน่าจะเป็นจุดเชื่อมกับร่างกายครั้งแรกที่ทำให้ฉันหาจุดมั่นคงในความสับสนของชีวิตได้ 

ตอนฝึกหัดเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา เวลาผู้รับบริการของเราไม่สามารถหาคำพูดอะไรมาอธิบายสิ่งที่พวกเขากำลังรู้สึกได้ อาจารย์ก็แนะว่าลองถามเขาดูสิ ตอนนี้ในร่างกายเขากำลังรู้สึกอะไรอยู่ ความรู้สึกนั้นหน้าตาเป็นยังไง อยู่ที่จุดไหนของร่างกาย แล้วค่อยๆ ตามรอยจากจุดนั้น ความรู้สึกจุกในอก ลำคอตีบตันเกินจะเอ่ยเป็นถ้อยคำ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอีกแบบ เพราะเรากำลังเข้าใจเขามากขึ้นทีละน้อยในความรู้สึกที่กำลังเกิดในปัจจุบัน ผ่านการพึ่งพาความคิดให้น้อยแล้วให้ร่างกายเปล่งเสียงในความเงียบ

จงปลดปล่อยความรู้สึกของคุณออกมา อย่าสะสมจนเป็นพิษ และร่างกายก็คือช่องทางสื่อสารที่จะช่วยให้คุณรู้จักอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น นี่คือพยานรู้เห็นคนสำคัญซึ่งอยู่กับเราตลอด 24 ชั่วโมง

ฉันจึงอยากส่งสารนี้ถึงใครสักคนว่าคุณไม่จำเป็นต้องเคยผ่านเหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัสเพื่อจะเริ่มเชื่อมต่อกับร่างกาย เพราะความสุข ความเศร้า ความโกรธ ความทุกข์ ความหวัง ล้วนเดินทางอยู่ภายในตัวคุณ เมื่อคุณรู้สึกว่างโหวงที่หน้าอกหรือช่องท้อง เมื่อคุณรู้สึกสดชื่นตื่นตัวไปทั้งร่าง ความเจ็บปวดและความสุขนั้นก็กำลังบอกใบ้บางสิ่ง ข้อความล่องหนในซองจดหมายเหล่านี้กำลังรอให้คุณเปิดอ่าน เพื่อ ‘make sense’ กับมัน

สำหรับฉัน ร่างกายไม่ต่างจากเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่กับเรามานาน แต่พอไม่ได้พูดคุยกันเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ก็ห่างเหิน ทำให้เข้าใจกันยาก การหมั่นสำรวจว่าเพื่อนคนนี้กำลังรู้สึกอะไรอยู่ คุณอาจรู้เท่าทันตัวเองมากขึ้น คุณจะรู้สึกตัวว่ากำลังเครียดเกินพิกัดจากความตึงล้าที่หลังคอและบ่า ลมหายใจตื้นและสั้นก็อาจช่วยบอกใบ้ว่าตอนนี้คุณอาจกำลังกังวลหรือกลัวอะไรสักอย่างโดยไม่รู้ตัว เมื่อไหร่ที่เราสนิทกับร่างกาย เราจะได้เพื่อนอีกคนมาคอยเตือนไม่ให้เราข้ามไปยังเขตแดนที่เป็นอันตรายต่อจิตและกายของเรา

ร่างกาย

ช่วงรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรก กิจกรรมใหม่ล่าสุดในชีวิตคือโยคะแบบงูๆ ปลาๆ วันละ 10 นาทีตอนเช้า

“ไม่ต้องกังวลเรื่องท่าทาง สิ่งสำคัญคือหายใจลึกๆ” ระหว่างตั้งสมาธิทำท่านักรบ ขาสั่นกึกๆ เสียงครูโยคะในยูทูบก็ลอยมา การได้สังเกตเห็นและรับรู้ความตึงกับความผ่อนคลายในกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันถือเป็นประสบการณ์สดใหม่ ฉันสังเกตว่าแม้ขาจะสั่นแต่ลมหายใจก็ยังคงไหลเข้า-ออกช้าๆ จากปลายจมูกเข้าไปเติมความสดชื่นที่ปอดจนเต็มฉ่ำเท่าที่ต้องการ

นอกจากเป็นที่รับ-ส่งข้อความและคำบอกใบ้ปริศนา การอยู่ด้วยกันเงียบๆ แบบนี้กับร่างกายและลมหายใจก็เหมือนปั๊มน้ำมันที่พร้อมจ่ายความสงบมาให้ฉันเสมอ 

แอนนี่ที่ฉันเล่าถึง เมื่อเธอกลับมาเชื่อมต่อกับร่างกายมากขึ้นผ่านโยคะ เธอก็สามารถพูดและอธิบายถึงบาดแผลทางใจในอดีตกับนักบำบัด รู้ทันความกลัวที่ฝังรากลึก และค่อยๆ ปลดปล่อยมันได้สำเร็จ เธอเล่าว่า “ฉันค่อยๆ เรียนรู้ที่จะให้ตัวเองได้ ‘รู้สึก’ ถึงความรู้สึกต่างๆ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของพวกมัน” 

หากจำไม่ผิด ตั้งแต่ฉันเริ่มฟังเสียงร่างกายมากขึ้น ค้นพบก้อนความโกรธขนาดเท่าอุกกาบาต และเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น แม้จะยากเย็นอยู่บ้าง แต่ฝันร้ายก็ไม่มาเยือนอีก

เร็วๆ นี้ฉันเพิ่งระลึกได้ด้วยซ้ำว่าเมื่อตอนเด็กๆ กีฬาที่ฉันชอบมากที่สุดคือการวิ่งระยะสั้น เพราะฉันรักการทำความเร็ว ทะยานผ่านลมสดชื่นไปข้างหน้า และไม่หยุดจนกว่าจะถึงเป้าหมาย 

ตัวตนที่แท้จริงของฉัน ในที่สุดเธอก็นั่งไทม์แมชชีนกลับมาพบกันจนได้ 

แค่เปิดลิ้นชักความทรงจำของร่างกายเท่านั้นเอง


สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น 

  • เราทำความรู้จักและสำรวจความรู้สึกให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้นผ่านการสังเกตร่างกาย โดยอาจเริ่มจากสังเกตร่างกายไปทีละส่วน ว่าร่างกายส่วนนั้นกำลังเป็นยังไง รู้สึกยังไง เครียดเขม็ง เจ็บปวด เหนื่อยล้า หรือผ่อนคลาย เพียงคุณหยุดสังเกต ระบุความรู้สึกได้ และตอบสนองด้วยการดูแลตัวเองอย่างที่ต้องการ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว 
  • หากมีเรื่องทุกข์ใจ วิธีเยียวยาเบื้องต้นที่ดีที่สุดคือลองระบายสิ่งที่กวนใจออกมา เช่น ผ่านการพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ ผ่านการเขียนในพื้นที่ส่วนตัว หรือหากรู้สึกอึดอัดแต่ยังไม่อยากพูด การพาตัวเองไปออกกำลังกายก็เป็นวิธีคูลดาวน์ตัวเองอีกทาง ลองค้นหาวิธี ‘ระบาย’ ที่เหมาะสมและปลอดภัยกับตัวเรา เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดเป็นความเจ็บป่วยทางกายและใจจากการสั่งสมความเครียดเป็นเวลานาน 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JCCHR

นักวาดภาพประกอบ ชอบแมว ชอบจังหวัดเกียวโตกับโอกินาวา ชอบกาแฟ และดูหนังฟังเพลงที่ชอบซ้ำหลายๆ รอบ