PDM แบรนด์ผู้พลิกเสื่อพลาสติกแบบไทยๆ ให้ไปไกลกว่าเสื่อปูพื้นแบบเดิมๆ

Highlights

  • PDM คือแบรนด์เสื่อสัญชาติไทยที่หยิบเสื่อพลาสติกบ้านๆ ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีมาพัฒนาเป็นพรมสุดเก๋สำหรับบ้านเมืองร้อน
  • คุยกับสองผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง ดิว–ดุลยพล ศรีจันทร์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง และพาร์ตเนอร์ แมน–แมนรัตน์ สวนศิลป์พงศ์ เกี่ยวกับการเดินทางของแบรนด์และความตั้งใจเบื้องหลังที่ 'อยากเห็นคนไทยมีบ้านสวย'
  • นอกจากจะเปลี่ยนบริบทของเสื่อให้ร่วมสมัยด้วยดีไซน์ที่สวยแล้ว PDM ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพการใช้งานและความทนทานของเสื่อ ชนิดที่ว่าเจอแดดเจอฝนยังไงก็ไม่เปื่อยไม่เปราะ!

หากถามว่าฟังก์ชั่นของเสื่อคืออะไร

เรายกมือตอบอย่างฉับไวว่าฟังก์ชั่นของมันคือการปูพื้นและนั่งนอน แต่คิดไปคิดมาก็น่าใจหายที่วิถีนั่งนอนบนเสื่อเริ่มจางหายจากชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ไปหมดแล้ว อย่างน้อยก็มีเราคนหนึ่งที่ลืมไปแล้วว่าตัวเองหยิบเสื่อที่แม่ซื้อติดบ้านออกมาใช้งานครั้งล่าสุดตอนไหน

แต่สำหรับคนชอบเดินงานขายของตกแต่งบ้านและคนที่สนใจแวดวงงานดีไซน์ เชื่อว่าคุณคงคุ้นหน้าคุ้นตาเสื่อลายกราฟิกสวยกริบจาก PDM เป็นอย่างดีแน่ๆ

ในวันที่กรุงเทพฯ ร้อนอบอ้าว เรานัดกับสองผู้อยู่เบื้องหลังเสื่อ PDM อย่าง ดิว–ดุลยพล ศรีจันทร์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง และพาร์ตเนอร์ แมน–แมนรัตน์ สวนศิลป์พงศ์ เจ้าของไอเดียการพลิกโฉมหน้าตาและยกระดับฟังก์ชั่นของเสื่อธรรมดาๆ ให้เป็นของแต่งบ้านที่มีคุณค่าเทียบเท่าพรมหรูๆ ของต่างประเทศ

ความไม่ธรรมดาของเสื่อ PDM ไม่ได้มีเพียงแค่ความสวยแบบสากล แต่เป็นความทนทานที่ได้จากวิธีการทอที่คิดมาอย่างละเอียดยิบ บวกกับการลองผิดลองถูกนับไม่ถ้วนของทีมดีไซเนอร์ ไม่แปลกที่พวกเขาจะคว้ารางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมจากเวทีดีไซน์ชั้นนำมากมาย เช่น DEmark : Design Excellence Award และ Good Design Award

ตัวหนังสือด้านล่างนี้ คือเรื่องเล่าที่อยู่เบื้องหลังเสื่อผืนใหญ่ที่พวกเขาช่วยกันถักทอตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

แบรนด์ที่เริ่มต้นจากเสื่อพลาสติกบ้านๆ

หลังจากดิวจบการศึกษาจากเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เขาพาเพื่อนนักออกแบบสิ่งทอ (textile designer) ชาวฟินแลนด์อย่าง Sini Henttonen (ที่กลายเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์คนสำคัญของแบรนด์) มาเที่ยวที่โคราช ระหว่างเดินสำรวจวิถีชีวิตชาวบ้าน เสื่อพลาสติกหน้าตาสามัญก็สะดุดเข้าตาเธออย่างจัง

เสื่อที่คนไทยใช้มีลักษณะการใช้งานที่เหมือนกับพรมของคนยุโรป ข้อสังเกตของซินิจุดประกายให้ดีไซเนอร์หนุ่มเห็นโอกาสนำความเชี่ยวชาญของตัวเองมาเพิ่มความน่าสนใจให้กับเสื่อแบบบ้านๆ ที่เราทุกคนเห็นกันจนชินตา

“ผมเอาไอเดียมาปรึกษาพี่แมน ก่อนหน้านี้ผมทำงานให้เขาที่ kenkoon (แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไฮเอนที่แมนดูแลอยู่) เขาแนะนำว่าหากผมอยากทำก็ทำให้เหมือนพลิกไปเลย พลิกในความหมายที่ว่าไม่ใช่เรื่องดีไซน์หน้าตาอย่างเดียว แต่เป็นรายละเอียดตั้งแต่การเลือกวัสดุและการทอชนิดที่ว่าเสื่อแบบเดิมๆ ไม่สามารถเทียบคุณภาพเสื่อที่เราอยากนำเสนอได้เลย

“โจทย์ง่ายๆ ของเราก็คือทำยังไงถึงจะเพิ่มมูลค่าของเสื่อผืนละสามร้อยกว่าบาท แล้วสามารถอยู่กับเฟอร์นิเจอร์ไฮเอนหรือเฟอร์นิเจอร์ราคาสูงได้อย่างไม่เคอะเขิน” หนุ่มดีไซเนอร์ย้ำ

ทำเสื่อให้ดีกว่าพรมและดีกว่าเสื่อที่เคยมีมา

ปีแรกของ PDM เน้นหนักไปที่การหาโรงงานที่เปิดใจรับออร์เดอร์การผลิตเสื่อ ‘ที่คิดต่าง’ จากเสื่อทั่วไปในเวลานั้น

“เมื่อก่อนโรงงานที่ทำเสื่อในเมืองไทยมีอยู่ประมาณ 10 โรงงานเอง ทุกคนเน้นผลิตและขายจำนวนมากไว้ก่อน แข่งกันตัดราคาก็มี เพราะฉะนั้นเรื่องดีไซน์เราแทบไม่ต้องพูดถึงเลย หมุนเวียนกันอยู่แค่ไม่กี่แบบตรงนั้น แล้วก็มุ่งว่าจะลดต้นทุนยังไงได้บ้าง คุณภาพของเสื่อที่ผูกพันกับชีวิตพวกเรามานานก็เลยแย่ลงเรื่อยๆ” แมนเสริม

นอกจากจะเปลี่ยนบริบทของเสื่อให้ร่วมสมัยด้วยดีไซน์ที่สวยแล้ว PDM ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพการใช้งานและความแข็งแรงเป็นหลักด้วย เพราะเสื่อแบบเดิมใช้งานไม่นานก็เปราะและขาด พวกเขาจึงเลือกปรับวัสดุ เช่น การผสมสารป้องกันยูวีในพลาสติก PP เพื่อให้เสื่อทนแดดมากขึ้น ทนชนิดที่ว่าปูทิ้งนอกบ้าน 1 ปีสีก็ไม่ซีดและพลาสติกไม่เปราะแน่นอน

แถมเสื่อของพวกเขายังถูกทอให้แน่นกว่าเสื่อแบบเดิมๆ ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ “แน่นให้ดูเหมือนพรม” ดิวเรียกอย่างนั้น

“หลายครั้งที่การออกเดินทางทำให้ผมได้เห็นว่าบ้านฝรั่งสวย เพราะเขาเชื่อว่าตัวเองอยู่ในบ้านเยอะเลยยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งดีๆ เข้าบ้าน แต่ละบ้านก็ให้ความสำคัญกับพรม พรมทำให้บ้านไม่แห้ง เพราะฉะนั้นทุกบ้านเลยมีมันอยู่

“แต่บ้านเขาเป็นเหมืองหนาว อีกส่วนหนึ่งคืออากาศร้อนชื้นบ้านเรามันก่อให้เกิดฝุ่น แค่คุณปูพรมให้ห้อง อยู่คอนโดชั้นไหนยังไงก็เจอฝุ่นอยู่ดี เราต้องยอมรับว่าพรมไม่เหมาะกับเมืองไทย แต่เสื่อไม่ได้มีคุณสมบัติในการสร้างฝุ่นและเก็บฝุ่นในเวลาเดียวกัน เพราะงั้นเสื่อจึงเป็นสิ่งที่คนใช้งานดูแลง่ายมากๆ ทุกครั้งที่มีคนมาถามว่าดูแลเสื่อยังไง ผมตอบเสมอว่าไม่ต้องดูแลหรอกครับ ใช้ไปเลย” ดิวพูดพลางหัวเราะ

เสื่อสวยก็เป็นเหมือนผงชูรสให้บ้าน

“ผมเป็นคนที่มีปัญหามากเกี่ยวกับการทำให้บ้านสวย เพราะเป็นคนที่หยิบจับอะไรมามิกซ์แล้วมันไม่ค่อยแมตช์ มีไอเดียที่อยากรวมสองสิ่งนี้ไว้ด้วยกันนะ แต่พอรวมกันแล้วมันไม่สวย” แมนเริ่มต้นเล่าด้วยเสียงหัวเราะ 

“PDM สำหรับผมมันคือคำว่า enhance จริงๆ คำนี้เขาใช้กับผงชูรส คือ flavor enhancer แต่เราเลือกเอาคำนี้มาใช้กับคำว่า living, ดีไซน์ และเฟอร์นิเจอร์ คือหมายความว่าใส่พวกนี้ลงไปนิดหน่อยแล้วอร่อยเลย ไม่ว่าบ้านคุณจะออกแบบมายังไง ถ้าคุณใส่ PDM เข้าไปปุ๊บ สวยเลย”

ทุกวันนี้ซินิรับหน้าที่ดูภาพรวมดีไซน์ทั้งหมดของแบรนด์ ดิวแชร์ให้เราฟังว่าเธอเป็นดีไซเนอร์ชาวสแกนดิเนเวียนที่ซีเรียสเรื่องดีไซน์สุดๆ อย่างเสื่อลาย stride ที่ซินิออกแบบถือเป็นเสื่อลายแรกที่ PDM วางขายและยังคงขายดีต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา 

กาลเวลาไม่ได้ส่งผลอะไรกับเซนส์ในการออกแบบของเธอเลย 

ชวนเพื่อนมาช่วยออกแบบ

PDM ไม่ได้มีเพียงดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งที่รับหน้าที่ออกแบบลายเสื่อเท่านั้น เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้ใครหลายคนสนใจแบรนด์ PDM มากขึ้นคือ การที่พวกเขาชักชวนคนเก่งๆ ในแวดวงดีไซเนอร์มาร่วมออกแบบด้วยกันนั่นเอง

“เราเห็นแบรนด์ดีๆ ของเมืองนอก เช่น Vitra (แบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากสวิตเซอร์แลนด์) ขณะที่คุณเปิดหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ คุณจะเห็นชื่อของดีไซเนอร์ชื่อดังจากทั่วโลกอยู่หน้าเพจนั้น มันเจ๋งมากเลย มันเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้ใช้ของที่ดีไซน์โดยดีไซเนอร์เก่งๆ ผมอยากให้ PDM เป็นแบรนด์ดีไซน์ที่ชวนนักออกแบบมาอธิบายมุมมองการออกแบบของพวกเขาผ่านงานของเรา”

ดิวเสริมว่ามุมหนึ่งมันคือการเปิดโอกาสให้แบรนด์ของพวกเขาเป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มคนที่สนใจงานดีไซน์ที่ต่างแขนงกันออกไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภูมิสถาปนิกระดับโลกอย่าง ป๊อก–อรรถพร คบคงสันติ, โอ–ศรัณย์ เย็นปัญญา จากบริษัทดีไซน์ 56thStudio หรือคนล่าสุดอย่าง Kaniit. Textile นักออกแบบสิ่งทอแห่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชื่อว่าคนรักงานคราฟต์คงรอชมผลงานของเธออย่างใจเต้นแรงแน่ๆ

ปูเสื่อรอลวดลายใหม่จาก PDM 

นี่ถือว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์เราพอสมควร หลังจากรู้ว่าจุดหมายของ PDM ไม่ได้มีเพียงการผลิตเสื่อที่สวยและทนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“ผมมองว่าเราคือบริษัท living lifestyle เราเริ่มต้นจากการเอาเสื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต” แมนเริ่มต้นเอ่ย “สเตปต่อมาคือเราอยากเห็นคนไทยมีบ้านที่สวย อย่างตัวดิวเขาเชื่อสิ่งนี้มากๆ แต่ว่าที่ผ่านมาบ้านเรามีชอยส์ให้เลือกน้อยมาก ทั้งๆ ที่เมืองไทยมีดีไซเนอร์เก่งๆ มีทรัพยากรอะไรเยอะแยะ หลังจากนี้เราจะเริ่มมีเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งอื่นๆ เพื่อให้มันตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากเห็นได้แบบง่ายๆ โดยมีแบรนด์ PDM เป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เราอยากพัฒนาต่อ” 

“ผมอยากเห็น PDM เดินไปในไดเรกชั่นเดียวกับแบรนด์ living design ดีๆ ของเอเชีย ทุกวันนี้เรามีโอกาสเดินทางออกไปต่างประเทศบ้างแล้ว ทั้งส่งออกและมี distributor ที่นู่นด้วย เราก็พยายามทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมอาจจะเป็นคนชาตินิยมนิดหนึ่ง เวลาที่คนต่างชาติพูดถึงเมืองไทยผมไม่อยากได้ยินแค่คำว่า ‘อาหารอร่อย ราคาถูก’ แต่อยากได้ยินเขาพูดถึงงานดีไซน์จากเมืองไทยด้วย” ดิวทิ้งท้าย

ภาพ PDM BRAND


PDM

facebook : PDM BRAND
instagram : pdmbrand
website : pdmbrand.com
line: @pdmbrand

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน