‘ลฤก’ พวงหรีดเสื่อผืนหมอนใบ ‘ระลึก’ ถึงคนที่จากไปพร้อมช่วยลดขยะให้โลกทุกขั้นตอน

Highlights

  • แป้ง–นนทิกานต์ อัศรัสกร คือทายาทของโรงงานผลิตเสื่อพลาสติกที่ชื่อรักชาติพาณิชย์ โรงงานที่เปลี่ยนมาใช้พลาสติกรีไซเคิลตั้งแต่ยุคอากง
  • เธอและพี่ชายนำผลิตภัณฑ์ของตระกูลมาต่อยอดเป็นแบรนด์ใหม่ที่ชื่อ Agora Design Mat โดยยึดแนวคิดที่ว่าจะทำให้เสื่อเป็นมากกว่าเสื่อ
  • ด้วยใจที่มุ่งมั่นกับธุรกิจ เมื่อคนรุ่นใหม่อย่างเธอมีโอกาสไปงานศพ จึงปิ๊งไอเดีย สร้าง 'ลฤก' แบรนด์ที่เธอทุ่มเวลาศึกษาพัฒนาด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น
  • พวงหรีดเสื่อที่รักโลกทุกขั้นตอนจากความตั้งใจของเธอจะเป็นอย่างไร ตามไปดู!

หากใครมีโอกาสได้ไปงานศพคงจะรู้ว่าธุรกิจพวงหรีดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ขยันต่อยอดไอเดียจากสิ่งดั้งเดิมอย่างพวงหรีดดอกไม้ พัฒนาต่อเป็นพวงหรีดพัดลม พวงหรีดผ้าห่ม หรือกระทั่งหนังสือก็ถูกหยิบมาทำเป็นพวงหรีดเพื่อแสดงความอาลัย

ไม่นานมานี้ เราเพิ่งรู้จักกับแบรนด์พวงหรีดน้องใหม่อย่าง ‘ลฤก’ ที่เกิดจากไอเดียของคนรุ่นใหม่อย่าง แป้ง–นนทิกานต์ อัศรัสกร หญิงสาวที่ออกตัวกับเราตั้งแต่แรกพบว่าจริงๆ แล้วไม่ค่อยได้คลุกคลีกับการร่วมงานศพเท่าไหร่นัก แต่เพราะความไม่คุ้นเคยที่ว่านี้เองจึงจุดประกายให้เธอทำลฤก พวงหรีดเสื่อผืนหมอนใบ ที่ไม่ได้มีไว้แค่ระลึกถึงคนที่จากไปเท่านั้น แต่ยังคิดและสอดแทรกความรักโลกเพิ่มเข้าไปอย่างจริงจัง 

ไอเดียที่ว่านี้ได้มาอย่างไร เหตุใดคนที่ห่างไกลจากงานโศกจึงคิดทำธุรกิจเกี่ยวกับการระลึกถึงคนที่จากไป ไม่ต้องตามไปวัดไปวาที่ไหน ฟังเธอเล่าพร้อมกันได้เลย

ว่ากันง่ายๆ ‘ลฤก’ คือแบรนด์น้องใหม่ที่แป้งเข้ามาดูแลอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่กระบวนการคิด วิธีการผลิต ไปจนถึงการทำตลาด

หากมองใบหน้าหวานของหญิงสาวตรงหน้า รวมทั้งอายุอานามที่ยังไม่พ้นวัยเบญจเพส ใครหลายคนคงไม่เชื่อว่าแบรนด์น้องใหม่ที่เธอสร้างมาจะเป็นแบรนด์พวงหรีด เช่นเดียวกันกับเราที่เกิดข้อสงสัยตั้งแต่แรกเห็นผลิตภัณฑ์ว่าอะไรทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเธอหันมาสนใจสิ่งนี้

“ตอนแรกเราไม่มีความรู้เลย ไม่เคยสนใจด้วยซ้ำ มีปฏิสัมพันธ์กับมันน้อยมาก เพราะเราไปงานศพแทบจะนับครั้งได้เลย” 

แน่นอนว่าคำตอบของแป้งไม่ได้ทำให้ความสงสัยของเราหายไปเท่าไหร่นัก และดูเหมือนเธอจะรู้ จึงอธิบายความเป็นมาให้เราฟังต่อด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

แป้งเท้าความให้ฟังว่าจริงๆ แล้วที่บ้านของเธอเป็นบริษัทผลิตเสื่อพลาสติกที่อยู่คู่เมืองไทยมาแล้วกว่า 50 ปีในชื่อของ หจก.รักชาติพาณิชย์ ธุรกิจที่อากงเธอบุกเบิกขึ้นมานี้ไม่เพียงแต่ผลิตเสื่อขายเท่านั้น แต่ยังบรรจุแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างเต็มเปี่ยมจากการผลิตเสื่อพลาสติกด้วยเม็ดพลาสติกเวอร์จิน ก็ได้ริเริ่มทดลองนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ในเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนครบร้อยเปอร์เซ็นต์ในที่สุด

แต่อย่างที่รู้ว่าเมื่อกิจกรรมของคนเปลี่ยนไป เสื่อจึงถูกใช้งานน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่ยอดขายไม่น่าพึงพอใจเท่าไหร่นัก ตอนนั้นเองที่ Agora Design Mat บริษัทเสื่อรุ่นที่ 3 ซึ่งดูแลโดยแป้งและพี่ชาย นำความเป็นสมัยใหม่เข้ามาต่อเติมให้เสื่อแบบดั้งเดิม ดูแลดีไซน์ให้ทันสมัย เหมาะกับคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งตั้งปณิธานว่านี่จะเป็นแบรนด์ที่ทำให้เสื่อเป็นมากกว่าเสื่อ

ด้วยใจที่ผูกพันกับธุรกิจของครอบครัว ไปที่ไหนเมื่อไหร่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงและหาทางพัฒนาแบรนด์ของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เมื่อได้เห็นพวงหรีดหลากรูปแบบ ทั้งพวงหรีดดอกไม้ พวงหรีดพัดลม ไปจนถึงพวงหรีดผ้าห่ม ในงานศพของคนรู้จัก ตอนนั้นเองที่ไอเดียพวงหรีดเสื่อเริ่มปรากฏชัดขึ้นในความคิดของหญิงสาวตรงหน้าเรา

“ด้วยความที่เราไม่ค่อยได้ไปงานศพก็เลยสงสัยว่าทำไมเพื่อนๆ ถึงหารเงินซื้อพวงหรีดพัดลมแทนที่จะเป็นพวงหรีดดอกไม้แบบเก่า เลยเดาว่าน่าจะเป็นเรื่องของการลดขยะและการนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เราเลยกลับมาคิดว่าจริงๆ แล้วเสื่อของเราก็น่าจะใช้เป็นพวงหรีดได้เหมือนกัน เพราะมันก็เป็นสิ่งที่วัดใช้งานอยู่แล้ว จริงๆ แล้ววัดถือว่าเป็นลูกค้าหลักเลยด้วยซ้ำ ในชุดสังฆทานปกติก็มักมีเสื่ออยู่ในนั้น เมื่อใช้เสร็จก็ถวายวัดได้ หรือถ้าวัดไม่ต้องการ เจ้าภาพก็ยังเอาไปใช้แทนพรม ใช้ปิกนิกนั่งกินข้าวต่อได้

“พอกลับจากงานศพจึงอยากลองว่าจะทำได้จริงไหม เราเลยเอาเสื่อไปให้ร้านพวงหรีดที่พ่อสั่งประจำลองทำขึ้นมาดู บอกเขาว่าเราอยากเอาเสื่ออันนี้มาทำเป็นพวงหรีด เรามีไอเดียว่ามันน่าจะเป็นพวงหรีดได้ ช่วยคิดหน่อยว่าจะทำยังไงดี เขาก็บอกว่าได้ ถามเราว่าปกติน้องขายแบบไหน พอรู้ว่าเราขายเป็นม้วนบ้าง พับครึ่งแล้วใส่ถุงบ้าง เขาก็บอกว่าทำอย่างนั้นแหละแล้วแปะป้ายชื่อเอา” 

ในเมื่อไม่สามารถพึ่งพาผู้มีประสบการณ์ได้ สุดท้ายแป้งจึงนำไอเดียที่ว่ากลับมาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ทั้งพยายามศึกษาวิธีพับให้เป็นรูปทรงต่างๆ อย่างโอริกามิ หรือพวงหรีดผ้าห่มที่มีอยู่ดั้งเดิม จนได้วิธีการพับที่โชว์ลวดลายของเสื่อที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครของ Agora Design Mat อย่างที่เธอตั้งใจไว้ รวมทั้งยังหาวิธีต่อยอดทำให้พวงหรีดเสื่อของเธอเป็นพวงหรีดที่ประกอบด้วยวัสดุที่นำไปใช้ต่อได้แทบทั้งหมด

“พอหาวิธีพับเสื่อได้สำเร็จ เราก็เริ่มมาคิดว่าพวกไม้กระดานที่เป็นโครงข้างหลังพวงหรีดจริงๆ แล้วมันก็เป็นขยะที่ไม่ได้นำไปใช้ต่อ หรืออย่างลวดเย็บที่เราใช้ยึดตัวเสื่อกับไม้ก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้แล้วเหมือนกัน เลยเริ่มมองหาสิ่งของที่จะมาใช้แทนกัน เป็นอะไรที่จะเกิดประโยชน์ได้ทั้งหมด” 

ถาดส้มตำ ถาดหวาย จึงค่อยๆ ถูกทยอยนำมาทดลอง แม้กระทั่งพวงตากผ้าก็เคยเข้าร่วมการทดลองของเธอมาแล้ว

“เราลองวัสดุหลายอย่างมาก จนรู้สึกท้อเหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะเจอวัสดุที่ใช่สักที หรือถ้ามันไม่มีจริงๆ เราอาจจะต้องตัดใจใช้ไม้เหมือนเดิมหรือเปล่า สุดท้ายก็มาจุดไต้ตำตอว่า จริงๆ แล้ว Agora มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเบาะรองนั่งอยู่ และมันก็น่าจะนำมาใช้เป็นโครงด้านหลังได้”

ลฤกจึงเสร็จสมบูรณ์กลายเป็นพวงหรีดเสื่อและอาสนะรองนั่งที่มีตะปูและเชือกคอยยึดเกี่ยวระหว่างกัน เป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้งแทบทั้งหมดสมใจเธอ

อย่างที่แป้งบอกไว้ตอนแรกว่าเธอไม่มีความรู้เรื่องพวงหรีดเลยสักนิด แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะในเมื่อใจพร้อมจะทำ คนรอบตัวอย่างพ่อแม่ไปจนถึงคนในออฟฟิศจึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีให้เธอศึกษาและเรียนรู้การทำตลาด

“เรื่องที่ยากจริงๆ ของการทำลฤก คงเป็นเรื่องการทำความเข้าใจพวงหรีดมากกว่าว่าส่วนใหญ่คนที่ซื้อพวงหรีดไปเขานึกถึงหน้าตาของพวงหรีดมากขนาดไหน สีมีผลกับการสั่งซื้อหรือเปล่า ดอกไม้เกี่ยวข้องไหม

“เพราะมันไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่ารู้สึกยังไงกับพวงหรีดด้วย เสิร์ชในพันทิปก็คงไม่มี เราเลยอาศัยการถามจากพ่อแม่ จากเพื่อนๆ ของเขา หรือจากพี่ๆ ที่ออฟฟิศ”

แต่คำตอบที่ได้รับกลับหลากหลายมาก เธอค้นพบว่าจริงๆ แล้วผู้ซื้อพวงหรีดส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจหน้าตาของพวงหรีดขนาดนั้น แถมในบางครั้งคนที่ดูแลเรื่องการสั่งซื้อจริงๆ ก็ไม่ใช่เจ้าตัวเสียด้วยซ้ำ

“มันเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ใช้เช็กชื่อว่าฉันมางานแล้ว คนที่ซื้อไม่แคร์กับดีเทลของพวงหรีดก็จริง แต่เขาก็จะเลือกพวงหรีดที่เข้ากับภาพลักษณ์ของเขาอยู่ดี เช่น ถ้าอยากดูดี ส่วนใหญ่ก็จะสั่งพวงหรีดราคาแพงหน่อย ถ้าเป็นพวงหรีดดอกไม้ก็จะใช้ดอกไม้นำเข้าจากเมืองนอก ใช้ป้ายที่มีกากเพชร เพราะมันก็เป็นหน้าตาของเขาด้วย ชื่อของเขาอยู่ตรงนั้น” 

“เราเลยมองว่ามันคงแล้วแต่มุมมอง ความชอบของคน และสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นสีไหนมันก็นำไปใช้ได้อยู่ดี เพียงแต่พวงหรีดของเราอาจจะไปตอบโจทย์ที่ว่าเรามีให้เลือกหลากหลายและดูดี Agora มีแบบไหน ลฤกก็มีแบบนั้น สีและลายของเสื่อเราค่อนข้างยูนีค หรือถ้าองค์กรไหนต้องการพวงหรีดในปริมาณมากก็สามารถสั่งทำและเปลี่ยนสีเสื่อให้ได้” 

“ลฤกเป็นเหมือนอีกทางเลือกหนึ่งให้กับคนที่สนใจเรื่องนี้ ถ้าพูดถึงความรักโลกจริงๆ แล้วมันก็คล้ายกันกับพวงหรีดพัดลมนั่นแหละ เพียงแต่เราคิดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ต้นน้ำคือเราก็ใช้ขยะรีไซเคิลมาทำเป็นพลาสติกสำหรับทำเสื่อ ปลายน้ำคือเราก็ไม่ได้ทำให้เกิดขยะเพิ่มอีก เหมือนเป็นการอัพไซเคิลที่ได้ช่วยลดขยะเป็น 2 ขั้น

“คนที่ไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำก็มี อย่างตอนที่ทำ Agora ก็มีคนมองว่าเราเอาขยะมาขายทำไม ซึ่งการที่เขามองอย่างนั้นมันก็ไม่ผิดเพราะมันก็ใช่จริงๆ หรือบางคนก็บอกว่าขนาดเอาขยะมาขาย ทำไมยังขายแพงขนาดนี้ เขาไม่ได้มองเรื่องกระบวนการ เรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เราเลยคิดว่าทัศนคติของคนเรามันเปลี่ยนด้วยแบรนด์หนึ่งไม่ได้หรอก เราไม่ได้เป็นกำลังสำคัญในการจะเปลี่ยนทัศนคติของคนขนาดนั้น แต่เราก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เราหวังดี ทำในสิ่งที่ดี และก็ส่งต่อความคิดที่ดีตรงนี้ออกไป

“เราไม่เคยคิดและไม่เคยคาดหวังว่าทั้ง Agora และลฤกจะเป็นแบรนด์ที่ลดขยะได้มากที่สุดในประเทศ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ช่วยลด ถึงจะลดแค่หยิบมือเดียวก็ไม่เป็นไร”


ด้วยความตั้งใจของแป้ง รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายพวงหรีดจึงแบ่งไปบริจาคให้กับมูลนิธิที่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรงอย่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียรด้วย หากใครสนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊ก ลฤก พวงหรีดเสื่อ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย