‘พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกม’ จากเพจออนไลน์สู่ร้านบอร์ดเกมนั่งสบาย หายปวดหลัง ถูกใจวัยทำงาน

หากลองเสิร์ชชื่อ ‘พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกม’ ในกูเกิล คุณจะพบกับแผนที่บอกพิกัดบอร์ดเกมคาเฟ่ย่านหนองแขมที่ตั้งใจออกแบบให้ตอบโจทย์ผู้เล่นวัยทำงาน

และหากนำชื่อนี้ไปเสิร์ชในเฟซบุ๊ก คุณจะเจอกับเพจขายและรีวิวบอร์ดเกมอ่านเพลิน เข้าใจง่าย ขนาดคนไม่มีประสบการณ์เข้าไปอ่านแป๊บเดียวก็ยังเก็ต! 

ไม่ว่าคุณจะรู้จักกับพยัคฆ์อรุณบอร์ดเกมในฐานะไหนก่อน ทั้งหมดนี้ก็คือจักรวาลเล็กๆ ของสองแฟนคลับบอร์ดเกมตัวยงอย่าง ปุ้ม–นุวดี เกตุเรืองโรจน์ และ บอส–นเรศ ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้ตัดสินใจกระโดดออกจากงานประจำมาทำสิ่งที่พวกเขาหลงใหลอย่างจริงจัง

ลองมาดูกันดีกว่าว่าสองผู้เล่นสำคัญในเกมกระดานธุรกิจนี้เลือกเดินเกมกันยังไงให้พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกมครองใจผู้เล่นทั้งมือใหม่และมือโปรได้ไม่ยาก

พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกม’s Facts

Label : พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกม

Founder : นุวดี เกตุเรืองโรจน์ และ นเรศ ลิมาภรณ์วณิชย์

Founded : เพจเฟซบุ๊ก 3 ปี / บอร์ดเกมคาเฟ่ 11 เดือน

Challenge : การเติบโตไปพร้อมผู้เล่นบอร์ดเกมที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ

Industry : บอร์ดเกม

Target Group : คนเล่นบอร์ดเกมวัยทำงาน

Vision : หยิบ pain point มาต่อยอดให้เป็นธุรกิจ

Mission : ทำให้บอร์ดเกมกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย และสร้างพื้นที่ให้นักเล่นบอร์ดเกมวัยทำงาน

Belief : ค่อยๆ ทำในสเกลเล็กให้เติบโตอย่างมั่นคง

Top 3 Popular Products :

1. เกม Side Effects

2. เกม Outfoxed

3. เกม Pan Am

Creative Execution

ร้านบอร์ดเกมที่ชัดเจนทั้งออนไลน์และออฟไลน์

“เมื่อก่อนเราสองคนทำงานบริษัท แต่ด้วยความชอบเล่นบอร์ดเกมทำให้มีบอร์ดเกมเป็นกิจกรรมหลังเลิกงาน เล่นไปดื่มไป สุดท้ายเราพบว่าการดื่มให้น้อยลงแล้วเล่นบอร์ดเกมให้มากขึ้นมันช่วยผ่อนคลายและสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงได้มากจริงๆ”

ปุ้มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในบอร์ดเกมซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 5 ปีก่อน จากที่มีบอร์ดเกมหนึ่งกล่องในครอบครอง ปุ้มและบอสเริ่มขยับขยายคลังสะสมจนมีบอร์ดเกมเกินร้อย พร้อมกับความรู้ในวงการที่แน่นขึ้นทุกวัน 

2 ปีต่อจากนั้นทั้งคู่จึงตัดสินใจเปิดเพจ ‘พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกม’ ขึ้นเพื่อรีวิวบอร์ดเกมที่พวกเขาเคยเล่น พื้นที่ออนไลน์แห่งนี้ถือเป็นสนามเตรียมความพร้อมให้พวกเขาได้สำรวจตลาด และแลกเปลี่ยนข้อมูลอินไซต์กับเพื่อนๆ ในวงการบอร์ดเกม จนช่วยปูทางไปสู่การทำร้านในฝันอย่างบอร์ดเกมคาเฟ่ในเวลาต่อมา

“เราใช้กลยุทธ์แบบ Kinfolk คือเลือกทำออนไลน์ก่อน ให้คนเห็นภาพเรา รู้สึกสนิทกับเราทั้งๆ ที่เราไม่มีตัวตน” ปุ้มเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

เมื่อสั่งสมข้อมูลได้มากพอพร้อมเก็บหอมรอมริบจนทุกอย่างลงตัว พวกเขาจึงไม่รอช้า ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาเปิดบอร์ดเกมคาเฟ่เล็กๆ ของตัวเองเมื่อกลางปีที่แล้ว

แม้ความนิยมของบอร์ดเกมจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้ร้านบอร์ดเกมน้อยใหญ่เกิดขึ้นมากมายทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกมกลับแตกต่างออกไป เพราะพวกเขาตั้งต้นธุรกิจเล็กๆ นี้จากสายตาของคนเล่นบอร์ดเกมวัยทำงาน ซึ่งเห็นช่องว่างและโอกาสในจุดที่ยังไม่มีใครไปถึงในตลาดบอร์ดเกมของไทย

ตั้งต้นธุรกิจจาก pain point ส่วนตัว

ถึงจะบอกว่าร้านบอร์ดเกมมีให้เห็นอยู่ทั่วไป แต่ถ้าสังเกตให้ดีร้านเหล่านี้มักจะมีทำเลอยู่ตามย่านมหาวิทยาลัย คอยรองรับผู้เล่นวัยเรียนเป็นส่วนใหญ่ หรือหากเป็นร้านขึ้นห้างฯ ก็มักจะเน้นปริมาณคนเข้าเพื่อให้ตั้งราคาค่าบริการที่ย่อมเยาได้ บางครั้งบรรยากาศร้านที่ควรจะเป็นสถานที่ผ่อนคลายความเครียดจึงออกจะโหวกเหวกและวุ่นวายกว่าที่ควร

“ช่วงที่เราทำงานประจำ ถ้าไม่เดินห้างฯ เราก็อยากไปนั่งเล่นบอร์ดเกม แต่คาเฟ่ส่วนใหญ่ที่เราเจอบรรยากาศร้านไม่ค่อยน่าประทับใจ บางร้านเสียงดัง คนเยอะ หรือตั้งใจทำเมนูอาหารที่เจาะกลุ่มเด็กวัยรุ่น ในขณะที่คนในวัย 30-40 อย่างเราซึ่งโตแล้วบางครั้งก็อยากได้อะไรที่มีคุณภาพขึ้น ผ่อนคลายขึ้น อยากมีร้านที่ไปนั่งเล่นได้ทุกวันจริงๆ”

เมื่อเจอ pain point ของนักเล่นบอร์ดเกมวัยทำงานแล้ว ปุ้มและบอสจึงเลือกที่จะเปิดบอร์ดเกมคาเฟ่ซึ่งตอบโจทย์คนวัยนี้โดยเฉพาะ ด้วยการเลือกทำร้านให้โล่งโปร่งสบาย มีโต๊ะแค่ 3 ตัวเพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้เล่น เปิดเพลงเพราะ มีเมนูอาหารจริงจัง รวมไปถึงการเลือกโต๊ะเก้าอี้ที่ตอบโจทย์มนุษย์ออฟฟิศปวดหลังง่าย ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ราคาเข้าใช้บริการของพยัคฆ์อรุณบอร์ดเกมคาเฟ่สูงกว่าร้านอื่นๆ เล็กน้อย แต่พวกเขาเชื่อว่านี้คือการจ่ายเพื่อแลกกับการเล่นเกมที่ผ่อนคลาย ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกเหมือนได้นั่งเล่นอยู่ที่บ้านจริงๆ

สร้างฐานแฟนคลับด้วยการเปิดแฟนเพจ

แม้การเปิดบอร์ดเกมคาเฟ่สำหรับผู้เล่นวัยทำงานดูจะเป็นตลาดที่เฉพาะเจาะจงเหลือเกินเมื่อเทียบกับประชากรผู้เล่นซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษา แต่การมีเพจเฟซบุ๊กกลับเป็นตัวช่วยสำคัญในการกวาดแฟนบอร์ดเกมวัยรุ่นเหล่านี้ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่บอร์ดเกมคาเฟ่ไม่สามารถไปถึงได้

ปุ้มเล่าว่าพวกเขาตั้งใจวางเพจให้เป็นเหมือนเพื่อนของทุกคน กลุ่มคนที่พวกเขาเลือกคุยในเพจจึงเป็นใครก็ได้ที่สนใจเรื่องนี้ ไม่เกี่ยงเพศ วัย หรือความสามารถ เพราะพวกเขาอยากให้นี่เป็นพื้นที่ที่คนหลงเสน่ห์บอร์ดเกมสามารถแวะเข้ามาได้อย่างสบายใจ

“ด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายของร้านกับเพจมีช่วงวัยที่ค่อนข้างต่างกัน คนจากเพจที่มาที่ร้านเลยเหมือนแวะมาให้รู้มากกว่า บางทีก็อยากมาเจอเรา มาทำความรู้จักกัน เสร็จแล้วก็เป็นเพื่อนคุยกันในออนไลน์ต่อไป ส่วนคนที่มาประจำก็จะเป็นคนวัยทำงานที่บ้านอยู่แถวนี้ หรือบางทีเสิร์ชกูเกิลเจอเลยแวะมา แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็จะคงความเฟรนด์ลี่แบบพยัคฆ์อรุณไว้ เพราะทุกคนสำคัญกับเรามาก พวกเขาให้ข้อมูลดีๆ ที่ช่วยพัฒนาร้านเราได้เยอะเลย” บอสสมทบ

เล่าเรื่องให้ว้าวเหมือนได้แกะกล่องด้วยกัน

สิ่งที่ยากที่สุดในการเปิดร้านบอร์ดเกมออนไลน์คือการขายบอร์ดเกมให้คนรู้สึกอยากเล่นแม้จะไม่เคยเห็นเกมของจริงมาก่อน 

ทั้งสองบอกว่าวิธีการทำคอนเทนต์ให้เข้าใจง่ายที่สุดคือการเล่าเรื่องผ่านอัลบั้ม เน้นใช้ภาพสวยๆ มากกว่าเขียนอธิบาย เพราะจุดสำคัญคือการทำให้คนทางบ้านเห็นความน่าสนใจของเกมและรู้สึกว้าวเหมือนตอนที่ปุ้มและบอสได้แกะกล่องเกมเหล่านั้นครั้งแรก

อย่างเกม Pan Am หนึ่งในสินค้าขายดีของร้าน พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกมก็นำมารีวิวในแบบที่เห็นแล้วจะไม่อยากซื้อยังไงไหว เพราะทั้งคู่เล่าย้อนไปถึงเรื่องราวของสายการบิน Pan America ซึ่งเป็นต้นแบบของเกมนี้ แล้วแกะกล่องให้ดูกันทีละชิ้นไปเลยว่ามีอะไรบ้าง ยาวไปจนถึงรายละเอียดต่างๆ ในเกม ตั้งแต่ตอนเริ่มเล่นจนถึงสถานการณ์จำลองหากหยิบการ์ดใบต่างๆ ขึ้นมา เรียกว่าละเอียดทุกกระบวนการจนเหมือนได้ไปนั่งเล่นเกมพร้อมกัน

“หนึ่งปัญหาที่เราเจอเวลาไปอ่านเรื่องบอร์ดเกมคือ คนมักจะเขียนรีวิวเกมเหมือน rulebook เล่าวิธีการเล่นตรงๆ เลย แต่สุดท้ายซื้อเกมมาคุณก็ได้ rulebook อยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่เราเลือกเล่าจึงเป็นการดำเนินเรื่องในเกม ความสนุกของเกมนี้อยู่ตรงไหน ภาพเป็นยังไงมากกว่า เพื่อคนดูจะได้จินตนาการร่วมไปได้ และเกิดความรู้สึกอยากเล่นเหมือนเรา” ปุ้มขยายความ 

สร้างพื้นที่สบายใจของมือใหม่และมือโปร

การหันมาจริงจังกับตลาดบอร์ดเกมทำให้ปุ้มและบอสพบว่าไม่เพียงผู้เล่นหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเท่านั้น แต่ผู้เล่นที่เข้าวงการแล้วก็สามารถผันตัวไปเป็นมือโปรได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ทั้งคู่จึงต้องหาจุดกึ่งกลางในการขายของให้ทั้งคนที่เพิ่งก้าวเข้าวงการและคนที่กลายเป็นเซียนบอร์ดเกมไปแล้วสนใจได้พร้อมๆ กัน

“ในเมื่อเราตั้งใจให้เพจของเราต้อนรับผู้เล่นหน้าใหม่อยู่เสมอ การขายเกมให้คนอินทั้งมือใหม่และมือโปรจึงต้องมีจุดร่วม เราเลยเลือกนำเสนอด้วยการแนะนำเกมที่แปลกใหม่ไปเลย แต่ภาษาที่ใช้ทุกครั้งต้องง่าย เหมือนเพื่อนคุยกัน คนแรมต่ำมาอ่านก็เข้าใจ”

บอสเล่าต่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำการบ้านรายวัน เพื่อให้พวกเขามีข้อมูลในวงการบอร์ดเกมที่สดใหม่และน่าสนใจเสมอ นี่จะช่วยดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่และสร้างวงสนทนาสนุกๆ ให้กับผู้เล่นที่มีประสบการณ์แล้ว แถมบางครั้งพวกเขายังนำเกมที่เพื่อนๆ แนะนำมาทำคอนเทนต์เพิ่มเติม ด้วยพวกเขาเชื่อว่าข้อมูลหลายอย่างไม่สามารถหาได้ในอินเทอร์เน็ต คำแนะนำจากเพื่อนๆ จึงทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกับเกมแปลกๆ ที่หลุดเรดาร์ไปและยังไม่ค่อยมีใครเคยเล่น

ต่อยอดสู่สินค้าของตัวเอง

แม้ทั้งคู่จะรีบออกปากว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานโขกว่าพยัคฆ์อรุณบอร์ดเกมจะสามารถพัฒนาไปถึงขั้นขายบอร์ดเกมของตัวเองได้ แต่ร้านบอร์ดเกมเล็กๆ นี้ก็สามารถสร้างรายได้จากการผลิตสินค้าเอาใจคนรักบอร์ดเกมในชื่อแบรนด์ของตัวเองได้แล้ว โดยสินค้าที่ว่าก็คือ playmat หรือแผ่นรองกระดานเกม ซึ่งเกิดมาเพื่อแก้ปัญหายามเล่นเกมแล้วการ์ดติดโต๊ะ กว่าจะหยิบได้การ์ดเกมพังไปเลยก็มี

“จริงๆ ในวงการนี้มีสินค้าประเภทนี้อยู่นะ แต่ไม่มีอันไหนที่หน้าตาถูกใจเราเลย ยิ่งมองกลับไปที่ตัวร้าน เราก็อยากให้สินค้าของเราดูโต เข้ากับร้านและกลุ่มลูกค้าของเรา หรือคนเล่นเกมหยิบสิ่งนี้มาใช้แล้วรู้สึกว่าเท่จัง เหมือนหลุดออกมาจาก Monocle เลย playmat ของเราเลยถือเป็นสินค้าเสริมหล่อ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนเล่น แล้วยังมีประโยชน์ด้วย”

นอกจากความพิเศษเรื่องหน้าตาแล้ว playmat ของพยัคฆ์อรุณยังไม่มีแผ่นหนังเหลือทิ้ง เศษหนังที่เหลือจากการทำ playmat จะถูกนำไปทำเป็นถ้วยใส่โทเคนอีก 4 ใบ ทำให้ลูกค้าที่จ่ายเงินซื้อได้ของกลับไปแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย พร้อมคุณภาพแน่นในราคาเอื้อมถึง เป็นทางเลือกใหม่ๆ ในตลาดบอร์ดเกมที่หาสินค้าที่ดูโตเหมาะกับวัยทำงานได้ยากเหลือเกิน

สมดุลของแพสชั่นและธุรกิจ

“เราไม่อยากบอกว่าเราเป็น SME เพราะเราอยากเป็นแค่ successful small shop” ปุ้มกล่าวปิดท้าย

แม้ทุกวันนี้พวกเขาทั้งสองคนจะยังเป็นมือใหม่สุดๆ ในวงการธุรกิจ ร้านยังใหม่ รายได้ยังไม่คงตัว แต่ด้วยความที่พวกเขาเลือกนำงานอดิเรกมาทำให้จริงจัง การคงไว้ซึ่งความรักในการเล่นบอร์ดเกมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การเติบโตไปข้างหน้า 

“การที่เราจะรักงานของเราได้ คือการวาง position ของเราให้ดี หากวันหนึ่งเรามองสิ่งนี้เป็นธุรกิจไปหมด ต้องขายในปริมาณที่เยอะขึ้นเพื่อให้ต้นทุนถูกลง วันนั้นเราอาจจะไม่รักบอร์ดเกมแล้วก็ได้ ดังนั้นเมื่อเราเลือกมาทางเล็ก จุดสำคัญเลยคือการตอบโจทย์ลูกค้าที่มีให้ได้ ราคาและบริการต้องเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เราอยากรักษาความเล็กแบบนี้ไว้แต่ก็ยังประสบความสำเร็จด้วย สำหรับมือใหม่อย่างเราทุกวันนี้มันก็คือการทดลองรายวันเพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริงในอนาคตต่อไป” ปุ้มสรุป

Creative Shortcut

เริ่มต้นจากแวดวงที่ตัวเองสนใจและมีความรู้เชิงลึก มองหา pain point หรือช่องว่างในทางธุรกิจ แล้วลองคิดหาทางออกที่ตอบโจทย์และสร้างรายได้ในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้

Brand Reflect

KPI ที่ใช้วัดความสำเร็จของแบรนด์

ในแง่แบรนด์เราใช้เอนเกจเมนต์ของคนในเพจเป็นตัววัด แต่ในขณะที่ร้านซึ่งตอนนี้มีแค่ 3 โต๊ะรายได้จึงไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ จุดนี้ก็น่าจะต้องพัฒนากันต่อไป ตอนนี้เราเลยใช้การขายน้ำขายอาหารเพื่อเพิ่มรายได้ต่อโต๊ะเข้าไป

แบรนด์ที่เป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ

เราชอบแนวคิดของร้านเล็กๆ ในญี่ปุ่น คือไม่ต้องใหญ่ก็อยู่ได้ มันดีต่อใจมาก ให้ร้านแบบนี้เป็นต้นแบบของทุกร้านเลยแล้วกัน

สิ่งที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนทำธุรกิจ

คนที่อยากออกมาทำธุรกิจ ถ้าบ้านไม่ได้รวยก็ต้องมีแผนแน่นหนานะ เช่น จะต้องเก็บเงินตั้งแต่ตอนไหนถึงจะพอให้ออกไปทำธุรกิจ แล้วก็ต้องปักธงด้วยว่าจะให้เวลาตัวเองเรียนรู้และเจ็บกับการล้มลุกคลุกคลานนานแค่ไหน แล้วเรามีแผนสำรองไหมถ้าสิ่งที่ทำมันยังไม่เข้าที่แม้ว่าจะเลยกำหนดที่เราตั้งไว้แล้ว

สิ่งที่ควรลงทุนเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ

ลงแรงมากกว่า เราต้องตั้งใจฟังลูกค้าเยอะๆ ฟังสิ่งที่เขาพูดออกมาให้หมด นี่จะเป็นแนวทางให้เรารู้ว่าเราจะพัฒนาอะไรได้อีก แล้วก็ลงแรงในการหาข้อมูลด้วย เพราะเราต้องศึกษาตลาดไปเรื่อยๆ เพื่อให้เข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้า

Do & Don’t ในการทำธุรกิจ

สิ่งที่ไม่ควรทำคืออย่ามักง่าย บางคนคิดเรื่องกำไรมากไป จริงๆ ร้านบอร์ดเกมทำง่ายมาก มีเกม โต๊ะ เก้าอี้ก็จบแล้ว แต่เราว่าแบบนี้ให้คุณค่ากับคนเล่นเกมน้อยไปหน่อย จริงๆ ก็กับทุกธุรกิจแหละ เราควรให้คุณค่ากับลูกค้าและบริการของเรา ส่วนสิ่งที่ควรทำคือทำไปเลย (หัวเราะ)


‘creative entrepreneur : online brands’ คือซีรีส์บทความประจำเดือนมิถุนายนที่ต่อยอดจาก a day ฉบับ creative entrepreneur ซึ่งจะชวนคุณไปเรียนรู้เบื้องหลังการทำงานของ 4 แบรนด์ออนไลน์ที่ใช้ความครีเอทีฟรันธุรกิจให้โดดเด่นไม่ซ้ำใคร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย