‘หิว’ เมื่อปลาทูต้มหวานสุดโลคอล ถูกแปลงโฉมให้เก๋และมินิมอล แถมยังหรอยแรงนิ!

ในยุคที่การพรีออร์เดอร์อาหารคาวหวานกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในการกิน แถมยังช่วยกระตุ้นให้เกิดเทรนด์อาหารใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นครัวซองต์ ซอฟต์คุกกี้ โชคุปัง หรือ Molten Cake แต่ท่ามกลางกระแสเหล่านี้ ‘ปลาทูต้มหวาน’ คงไม่ใช่เมนูที่อยู่ๆ ก็นึกอยากสั่งมาลองชิม

แต่ความคิดนั้นอาจเปลี่ยนไปถ้าคุณได้เห็นภาพและเรื่องราวที่ หิว (Hungry.hc) แบรนด์ปลาทูต้มหวานพร้อมทานของสองพี่น้องจากเมืองชุมพรอย่าง มะเหมี่ยว–นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว–โสมประภา อุสายพันธ์ สื่อสารอย่างตั้งใจแถมยังรับประกันความหรอยแรงนิ

จากครั้งแรกที่มีแต่คำว่า “ไม่รอด” “ขายไม่ได้หรอก” และ “เรียนมาตั้งสูงจะกลับมาทำปลาทูต้มหวานออนไลน์ทำไม” ทั้งคู่ไม่ฟังคำเหล่านั้นแต่ใช้ความรู้ด้านดีไซน์ของคนน้องอย่างหมิวมาผสานกับความรู้ทางการตลาดจากมะเหมี่ยว จนวันนี้ปลาทูต้มหวานกลายเป็นอาหารที่คนรุ่นใหม่สนใจ แถมยังแตกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลพร้อมทานใหม่ๆ ที่ออกมากี่รอบก็ขายหมด

แล้วมุมมองการตลาดและดีไซน์จะมาผสานรวมกันจนทำให้ปลาทูต้มหวานน่าสนใจยิ่งๆ ขึ้นไปได้ยังไงบ้าง 

ฉีกซองปลาทูต้มหวานของหิวแล้วไปทานให้หายหิวกัน

Hungry.hc’s Facts

Label : หิว Hungry.hc
Founder : มะเหมี่ยว–นัฐยา อุสายพันธ์ และ หมิว–โสมประภา อุสายพันธ์
Founded : 2560
Challenge : การเปลี่ยนมุมมองว่าปลาทูต้มหวานก็เป็นอาหารของคนรุ่นใหม่ได้
Industry : อาหารทะเลแปรรูปพร้อมทาน
Target Group : กลุ่มคนรุ่นใหม่
Vision : ทำในสิ่งที่ชอบและรักษามาตรฐานคุณภาพให้ได้
Mission : พัฒนาขั้นตอนการผลิตให้รวดเร็วขึ้นเพื่อตอบรับตลาดที่ขยายมากขึ้น
Belief : ความท้องถิ่นและความบ้านๆ ของชุมชนนั้นน่าสนใจและมีเอกลักษณ์
Top 3 Popular Products :
1. ปลาทูต้มหวาน
2. ปลาอินทรีดองสาเก
3. กุ้งโอคักดองสาเก

Creative Execution
ใช้ดีไซน์ที่ดีและการตลาดทำสิ่งที่เชื่อให้มีเอกลักษณ์

ย้อนเวลากลับไป 4 ปีที่แล้ว ก่อนที่ปลาทูต้มหวานพร้อมทานและสารพัดอาหารทะเลสุดเย้ายวนชวนน้ำลายสอจากแบรนด์หิวจะเกิดขึ้น การค้าขายออนไลน์และการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองกำลังเริ่มบูมในประเทศไทย บัณฑิตหมาดๆ จากคณะมัณฑนศิลป์อย่างหมิวและมะเหมี่ยวผู้เรียนจบปริญญาโทด้านการตลาดต่างก็เห็นตรงกันว่าอยากสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง แม้จะยังไม่รู้แน่ชัดว่าแบรนด์ที่ว่าจะขายอะไรก็ตาม

กระทั่งได้กลับไปใช้ชีวิตที่ชุมพรอีกครั้ง ‘ปลาทูต้มหวาน’ เมนูสูตรพิเศษของคุณป้าที่ทั้งคู่คุ้นเคยแต่เด็กก็กลายเป็นสิ่งที่ทั้งสองเห็นตรงกันว่าน่าจะต่อยอดได้อีกไกล เพราะทั้งอร่อย ก้างนิ่ม เนื้อแน่น แถมหนังปลายังสวยเป๊ะ 

Cr. หิว Hungry.hc

“การกลับมาชุมพรรอบนั้นทำให้เราว้าวกับปลาทูต้มหวานของป้ามาก ว้าวที่ป้าตั้งใจคิดสูตรอยู่เป็นสิบปี ว้าวที่เขาลงทุนกับเครื่องฆ่าเชื้อจนมันเก็บได้นานถึง 6 เดือน ว้าวกับความรักและความทุ่มเทของเขา 

“ขณะเดียวกันเราเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยน คนหันมาพึ่งสินค้าออนไลน์และอาหารแปรรูปพร้อมทานมากขึ้น การตลาดที่เรียนมาจึงทำให้เรามั่นใจว่าถ้าเอาแบรนด์มาครอบมันน่าจะดี แต่ป้าไม่เห็นภาพเดียวกันกับเรา คนรอบข้างก็บอกว่าปลาทูต้มหวานจะขายออนไลน์ได้ยังไง สุดท้ายเราเลยขอทำแบรนด์แยกออกมาเป็นของตัวเองโดยให้ป้าเป็นฝ่ายผลิต”

Cr. หิว Hungry.hc

เมื่อมะเหมี่ยวชวนหมิวว่าอยากลองดูสักตั้ง หมิวจึงตกลงและตั้งชื่อแบรนด์เป็นภาษาไทยว่า ‘หิว’ ซึ่งข้องเกี่ยวกับอาหารที่เธอสนใจแต่เดิมแถมยังพ้องกับชื่อ ‘หมิว’ อีกด้วย

“ช่วงนั้นเราอินกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มักหยิบจับของบ้านๆ ธรรมดาๆ ในท้องถิ่นมาแต่งตัวด้วยดีไซน์ให้น่ารัก เราเลยอยากทำให้ปลาทูต้มหวานเป็นแบบนั้นเพื่อสื่อสารว่าความเป็นท้องถิ่นมันมีเอกลักษณ์ มันน่าเล่น และมันมีคุณค่า” หมิวผู้เชี่ยวชาญด้านดีไซน์เล่าให้ฟัง

ไม่ใช่เพราะความบังเอิญแน่ๆ ที่แบรนด์เล็กๆ จากชุมพรแบรนด์นี้จะมีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมรวมกว่า 20,000 และยังคงขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแม้ทั้งคู่จะคลอดหิวมาได้กว่า 4 ปีแล้ว

แบรนด์ดิ้งที่ดีไม่ได้มีแค่โลโก้และชื่อสินค้า

เมื่อนักเรียนการตลาดอย่างมะเหมี่ยวต้องมาปลุกปั้นแบรนด์ของตัวเอง การออกแบบแบรนด์ดิ้งในมุมของเธอจึงไม่ได้มีแค่ชื่อแบรนด์ โลโก้ และแพ็กเกจจิ้ง เพราะในความเป็นจริงแล้วแบรนด์จะต้องใส่ใจตั้งแต่คุณภาพสินค้าที่ผู้บริโภคจะสัมผัสได้โดยตรง จนถึงสิ่งที่จับต้องได้ยากอย่างแก่นคุณค่าของแบรนด์

ซึ่งแก่นที่ว่าของหิวคือความเป็น ‘ท้องถิ่น’ ที่แม้จะฟังดูเข้าถึงยาก แต่ในความคิดของทั้งคู่ ความเป็นท้องถิ่นที่ว่านั้นแสนเก๋และมีอะไรให้ค้นหาอีกมาก หมิวและมะเหมี่ยวจึงเริ่มต้นจากการสื่อสารแก่นของแบรนด์ผ่านแพ็กเกจจิ้ง เรื่องราว และภาพถ่ายที่ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้แบรนด์หิวไม่ใช่แบรนด์ปลาทูต้มหวานออนไลน์ทั่วไปแต่เป็นแบรนด์ที่มีตัวตนชัดเจนชนิดที่ต่อให้มีปลาทูต้มหวานเกิดขึ้นอีกกี่ร้อยแบรนด์ ‘หิว’ ก็จะแตกต่างจากคนอื่นอยู่ดี

หนึ่งในสิ่งสำคัญของการสร้างแบรนด์ดิ้งคือการเล่าเรื่อง เราว่ามันเหมือนการทำนิตยสารที่มีหัวข้อหลายหัวข้อให้คนเลือกอ่านและติดตามตลอดเล่ม ลูกค้าจะเกิดความรับรู้ร่วมกับเรา เขาจะรู้สึกอินและรู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์จนกลายเป็น loyal custormer ไปโดยปริยาย” 

มะเหมี่ยวยกตัวอย่างเรื่องเล่าที่เธอใช้ในการสื่อตัวตนให้เราฟัง ตั้งแต่ความรักในแพปลาและทะเลชุมพร ความสวยงามของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลาลับ กระทั่งวิถีชีวิตคนในชุมชนแพปลาที่เธออาศัยเพื่อให้ผู้บริโภคจำได้ขึ้นใจว่านี่แหละคือหิวและอยากกลับมาลิ้มรสอาหารทะเลจากพวกเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แพ็กเกจแบบไหนที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย

เพราะกลุ่มลูกค้าที่ทั้งคู่ต้องการสื่อสารคือคนรุ่นใหม่ที่ห่างไกลจากเมนูปลาทูต้มหวานชนิดที่บางคนอาจไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำ ความหินของการปลุกปั้นแบรนด์หิวจึงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนมุมมองของลูกค้า เพื่อให้พวกเขารู้ว่าปลาทูต้มหวานก็เก๋ อร่อย และเข้ากับชีวิตประจำวันอันแสนเร่งรีบของทุกคนได้

“ปลาทูต้มหวานในสายตาคนรุ่นใหม่คืออาหารสำหรับคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มันคือปลาทูที่ต้มขายอยู่ในกะละมังที่ตลาด เราออกมาบอกว่ามันไม่ได้เป็นของกินสำหรับคนรุ่นพ่อแม่เท่านั้นนะ แต่มันสร้างมาเพื่อคุณ คนรุ่นใหม่อย่างคุณก็กินได้

“เราจึงเน้นทำคอนเทนต์วิธีการทานปลาทูต้มหวานให้เห็นว่านอกจากกินกับข้าว ยังเอาไปทำแซนด์วิชหรือมิกซ์กับอาหารอื่นๆ ได้หลากหลาย เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่มากขึ้น”

นอกจากนั้นพวกเธอยังตั้งใจปรับโฉมปลาทูต้มหวานด้วยแพ็กเกจจิ้งดีไซน์ ที่ไม่ได้โฟกัสเพียงฟังก์ชั่นการใช้งานแบบในรุ่นป้าเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์จากปลาทูในกะละมังมาเป็นปลาทูในถุงพลาสติกสะอาดใส บรรจุในกล่องคราฟต์น่าสนใจ แน่นอนว่าคนออกแบบสติ๊กเกอร์ไปจนกล่องพัสดุฉบับหิวจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากหมิวผู้เชี่ยวชาญการออกแบบ

“เราออกแบบให้มันน่ารัก ง่ายๆ แต่ยังต้องสื่อสารความท้องถิ่นของแบรนด์ด้วย เช่น ใช้ตัวอักษรไทยแทนตัวอักษรภาษาอังกฤษ วาดรูปผู้หญิงใส่ผ้าซิ่นในคอลเลกชั่นวันสงกรานต์ และจะออกแบบแพ็กเกจจิ้งใหม่ตามเทศกาลไทยซึ่งเป็นไอเดียของพี่มะเหมี่ยว” หมิวเล่าถึงไอเดียตั้งต้นส่วนมะเหมี่ยวอธิบายต่อว่าช่วงเทศกาลคนจะมีกำลังซื้อมากขึ้น การทำปลาทูต้มหวานเป็นของขวัญโดยออกลายใหม่ๆ ให้ไม่น่าเบื่อก็น่าจะกระตุ้นยอดขายได้ดี

Cr. หิว Hungry.hc

นอกจากแพ็กเกจจิ้งภายนอกของแบรนด์ที่น่ารักน่าซื้อ ทั้งคู่ยังใส่ใจกับวัสดุกันกระแทกภายในนั่นคือใช้ใบจากตากแห้งที่คนในท้องถิ่นไม่สนใจแทนกระดาษและพลาสติก ซึ่งไม่เพียงช่วยลดต้นทุนแต่ยังเชื่อมกับหัวใจของแบรนด์อย่างความง่ายๆ บ้านๆ ที่สื่อสารมาตลอด

ถ่ายรูปยังไงให้เย้ายวนชวนกดสั่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งที่นั่งไถฟีดอินสตาแกรมแล้วเจอภาพอาหารหน้าตาดีของหิวที่ชวนหิวนั้นดึงดูดให้ลูกค้าอยากกดสั่งมาทานเดี๋ยวนี้ เราจึงสงสัยว่าวิธีการถ่ายภาพสินค้าออนไลน์ในแบบของหิวมีเทคนิคอะไร

“ถ้าเป็นรูปที่พวกเราเซตถ่ายเองจะเน้นแสงธรรมชาติ แต่บางครั้งก็จะเห็นรูปที่เป็นแสงในสตูดิโอด้วย เพราะมาจากเพื่อนที่เป็นลูกค้าเราอยู่แล้วเป็นคนถ่ายให้ บ้างก็เป็นภาพจากลูกค้าเองที่ถ่ายส่งมา ดังนั้นภาพในอินสตาแกรมจึงหลากหลายมากและไม่คุมโทนเลย

“ตอนแรกเราจริงจังเรื่องการคุมโทนมากเพราะเราจบออกแบบมา แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับพบว่าลูกค้าไม่ได้สนใจเรื่องโทนขนาดนั้น เขาสนใจเรื่องราวที่สื่อผ่านภาพมากกว่า ซึ่งภาพเหล่านั้นก็ไม่ได้มีเกณฑ์ชัดเจนว่าต้องถ่ายแบบไหนยังไง แต่พวกเราใช้เซนส์ของตัวเองเป็นหลัก ที่สำคัญคือต้องให้ภาพสื่อถึงความบ้านๆ ง่ายๆ ของแบรนด์” 

ภาพสินค้าทั้งหมดที่ว่าหมายรวมตั้งแต่ภาพปลาทูต้มหวานที่เคียงข้างกับเครื่องครัวหวายที่สื่อถึงความเป็นดั้งเดิมแต่ก็ยังให้ความเก๋ได้ด้วย รวมถึงภาพปลาทูต้มหวานบนใบตองสีเขียวที่ช่วยขับเน้นให้สินค้าดูน่าทานขึ้น บางครั้งก็มีวัตถุดิบของเมนูนั้นประกอบฉาก เช่น หอม กระเทียม เกลือ 

“ภาพสำคัญกับธุรกิจออนไลน์นะ มันเข้าถึงคนได้ง่าย ประทับใจคนได้ง่าย และชวนให้คนอยากกดสั่งเดี๋ยวนั้น” หมิวเอ่ย

แต่ถ้าใครได้ลองกดติดตามอินสตาแกรมของแบรนด์หิวก็จะพบว่าสิ่งที่ผ่านตาเราในฟีดมากที่สุดนั้นไม่ใช่ pack shot ภาพสินค้าเหมือนแบรนด์ทั่วไป เพราะพวกเธอยังตั้งใจโพสต์ภาพวิถีประมงพื้นบ้าน ภาพอาทิตย์ตกดินที่ทะเลชุมพร รวมถึงกระบวนการทำปลาทูต้มหวานแบบดั้งเดิมเพื่อสื่อสารให้เห็นตัวตนที่ชัดเจนของแบรนด์ที่ตั้งไว้แต่แรก

แตกไลน์สินค้ายังไงให้ไม่หลงทาง

นอกจากปลาทูต้มหวานพร้อมทาน สินค้าอื่นๆ ของหิวก็ชวนน้ำลายสอทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกุ้งโอคักดองสาเก ปลาอินทรีดองสาเก หรืออาหารทะเลพร้อมทานอื่นๆ เพราะครอบครัวของทั้งสองประกอบอาชีพแพปลาที่แปรรูปอาหารทะเลขายอยู่แล้ว

แต่ใช่ว่าสินค้าที่นำมาขายภายใต้แบรนด์ ‘หิว’ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องสื่อถึงความเป็นท้องถิ่นของแบรนด์ได้และต้องแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ในตลาดด้วย

“เราไม่อยากทำสินค้าที่เหมือนในตลาดมากเกินไปเพราะต้องไปแข่งกับคนไม่รู้อีกตั้งเท่าไหร่ ถ้าเราอยู่บนพื้นฐานความชอบของเรามันก็จะมีเอกลักษณ์บางอย่างที่อาจไม่ได้เตะตาต้องใจทุกคนแต่เชื่อสิว่ามันมีกลุ่มคนที่ต้องการสินค้าเหล่านี้” 

มะเหมี่ยวยกตัวอย่างปลาอินทรีดองของหิวว่าเกิดขึ้นเพราะเธอเห็นว่าคนสนใจแต่แซลมอนแต่ไม่สนใจปลาอินทรีซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นไทยเลย เธอจึงคิดว่าหากจะขายเมนูปลาอีกละก็ ต้องเป็นปลาอินทรีของดีบ้านเธอที่คนอื่นไม่ขายกันนี่แหละ 

หรืออย่างกุ้งดองที่ใครๆ ก็ขาย เธอก็ไม่ได้หยิบกุ้งอะไรก็ได้มาดองกับซอสอะไรก็ได้ แต่พวกเธอก็เลือกกุ้งโอคักที่ถึงแม้คนจะรู้จักน้อยแต่ก็มีดีที่เนื้อกรุบกรอบกว่ากุ้งไหนๆ เมื่อนำมาผสมผสานกับน้ำดองสาเกสูตรเฉพาะที่พี่ชายของเธอทำขึ้น ไม่แปลกที่ใครได้เห็นก็ต้องกดสั่ง (รวมถึงเราด้วย)

“ช่องทางการค้าขายออนไลน์มันเข้าถึงง่ายอยู่แล้ว โอกาสที่แบรนด์หน้าใหม่ๆ จะเกิดมีมากกว่าเมื่อก่อนมากๆ แต่ความง่ายตรงนี้แหละที่ทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูง คุณต้องแตกต่างจากแบรนด์อื่นพอสมควรถึงจะอยู่ได้ในระยะยาว” มะเหมี่ยวเน้น

ดูเหมือนว่ามุมมองการตลาดและดีไซน์ของทั้งคู่จะทำให้แบรนด์นี้ไปได้ไกลมากๆ แต่มีความรู้ไหนที่ใช้ไม่ได้ในการทำแบรนด์บ้างหรือเปล่า–เราสงสัย

“จริงๆ มันไม่ได้อยู่ในตำราอะไรแต่เราเชื่อมาตลอดว่าถ้าของมันดีก็ไม่จำเป็นต้องลดราคาแต่พอขายไปจริงๆ ก็พบว่ามันไม่ใช่ว่ะ (หัวเราะ) บางทีก็ต้องหาสมดุลระหว่างความเชื่อเราและพฤติกรรมของคนบ้าง” มะเหมี่ยวทิ้งท้าย

Creative Shortcut

เริ่มต้นธุรกิจในสิ่งที่เชื่อ และต่อยอดให้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากคนอื่นๆ ในตลาด จะทำให้แบรนด์แข็งแรง สร้างกลุ่มลูกค้าประจำ และยืนระยะในตลาดออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูงได้โดยไม่ต้องวิ่งตามกระแสตลอดเวลา

Cr. หิว Hungry.hc

Brand Reflect

KPI ที่ใช้วัดความสำเร็จของแบรนด์

มะเหมี่ยว : โจทย์แรกเริ่มคือการเปลี่ยนมุมมองคนรุ่นใหม่ว่าปลาทูต้มหวานก็เป็นสินค้าที่รุ่นเขาทานได้ ดังนั้นตัววัดความสำเร็จแรกของเราจึงคือการที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ตามที่เราตั้งใจ ส่วนตัววัดที่สองคือด้านคุณภาพสินค้า ถ้าลูกค้าเดิมกลับมาซื้อซ้ำนั่นแปลว่าเรารักษามาตรฐานสินค้าไว้ได้สำเร็จ

แบรนด์ที่เป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ

หมิว : แบรนด์จากญี่ปุ่นที่มักจะหยิบยกสิ่งธรรมดาๆ ที่ดูไม่มีมูลค่ามาใส่แพ็กเกจดีๆ น่ารักๆ และใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆ จนกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าขึ้นมา

สิ่งที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนจะเริ่มธุรกิจ

หมิว : เรามั่นใจกับไอเดียของตัวเองขนาดไหนและยอมรับได้ไหมถ้ามีความเสี่ยงอื่นๆ ตามมา 

มะเหมี่ยว : คุณชอบหรือมีแพสชั่นกับอะไร อย่างเราที่เรียนการตลาดมาก็ตอบได้ตั้งแต่ต้นว่าอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง แม้จะยังไม่รู้ว่าแบรนด์นั้นจะขายอะไร แต่ถ้าตอบตัวเองได้แล้วขั้นตอนต่อจากนั้นมันจะตามมาเอง เพราะเราจะหันมามองสิ่งรอบตัวมากขึ้นว่ามีอะไรให้หยิบมาพัฒนาได้ไหม 

สิ่งที่ควรลงทุนเมื่อเริ่มธุรกิจ

มะเหมี่ยว : ลงทุนกับอะไรก็ตามที่ช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น ศึกษาว่ามาตรฐานแบรนด์อื่นเป็นยังไง และสิ่งไหนจะทำให้คุณแตกต่างจากชาวบ้านเขา เหมือนกับที่ป้าเราลงทุนใช้เครื่องจักรฆ่าเชื้อจนเก็บได้นานถึง 6 เดือน แถมยังลงแรงและเวลาเพื่อคิดสูตร จนเรากล้าพูดว่าไม่มีปลาทูต้มหวานที่ไหนเหมือนเราแน่นอน 

หมิว : คนเรียนดีไซน์อย่างเรามักจะคิดว่าควรลงทุนกับเรื่องดีไซน์ที่เน้นความสวยงามเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่บางครั้งก็ต้องคิดว่ามีสิ่งอื่นที่น่าลงทุนกว่าเรื่องนี้หรือเปล่า เช่น ถ้าสินค้านั้นต้องการความสะดวกหรือความสะอาดก็ควรจะไปลงทุนกับสิ่งนั้นมากกว่า อย่างตอนแรกเราบรรจุกุ้งโอคักดองสาเกในกระดาษคราฟต์เพราะคิดว่ามันสวยและเข้ากับหิว แต่ลูกค้าก็ฟีดแบ็กมาว่าถ้าบรรจุในกระป๋องแบบปัจจุบันจะปลอดภัยและสะอาดกว่านะ เราก็ต้องปรับ 

Cr. หิว Hungry.hc

Do & Don’t ในการทำธุรกิจ 

มะเหมี่ยว : สิ่งที่ควรทำก็คือ หนึ่ง–ตอบตัวเองให้ได้ว่าอยากทำอะไร สอง–สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นในตลาดได้จริงไหม ถ้าได้ก็ทำไปเลยโดยไม่ต้องฟังเสียงคนรอบข้างมากเกินไป 

ส่วนสิ่งที่ไม่ควรทำคืออย่าพยายามทำตามกระแสหรือทำตามคนอื่น เพราะตลาดออนไลน์มันใหญ่มาก ถ้ายิ่งทำตามคนอื่นก็ยิ่งต้องไปแข่งกับสินค้าประเภทเดียวกันของแบรนด์อื่นๆ อีก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ดูตลาดเลยนะ คุณต้องบาลานซ์ด้วยว่าสิ่งที่ทำจะต้องเข้าถึงคนได้ไม่ยากเกินไปด้วย

ขอบคุณภาพจาก โสมประภา อุสายพันธ์, หิว (Hungry.hc)


‘creative entrepreneur : online brands’ คือซีรีส์บทความประจำเดือนมิถุนายน ที่ต่อยอดจาก a day ฉบับ creative entrepreneur ซึ่งจะชวนคุณไปเรียนรู้เบื้องหลังการทำงานของ 4 แบรนด์ออนไลน์ที่ใช้ความครีเอทีฟรันธุรกิจให้โดดเด่นไม่ซ้ำใคร

AUTHOR