เด็กสมัยนี้ต้อง ‘ดิจิทัล’ เท่านั้นจริงหรือ?

Highlights

  • ยุคนี้ ใครๆ ก็คิดว่าการทำสื่อให้วัยรุ่นจำเป็นจะต้องอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น แต่เด็กๆ มัธยมปลายกลุ่มหนึ่งกลับบอกว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการคือหนังสือที่มีความรู้ระดับสูงกว่าพวกเขา และห้องสมุดดีๆ ที่เหมาะสำหรับนั่งอ่านหนังสือและทำงานกลุ่ม
  • นอกจากนี้ เด็กหลายคนยังบอกว่าหนังสือคือแหล่งความรู้ที่ดีและลึกกว่า Google แถมบางคนยังบอกให้เอาคอมพิวเตอร์ออกจากห้องสมุดเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้หนังสือเสียอีก เห็นอย่างนี้ คนทำสื่อจึงควรกลับมาคิดให้ดีว่าการทำสื่อให้วัยรุ่นจำเป็นต้อง 'ดิจิทัล' เท่านั้นจริงๆ หรือ

ถ้าพูดถึงมุมมองที่มีต่อการสื่อสารในปัจจุบัน เราถูกชี้นำว่าพฤติกรรมการอ่าน การบริโภคข้อมูล และการมีส่วนร่วมของเยาวชน ยืนอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ก้าวเร็ว

ดังนั้นถ้าต้องการชนะศึกนี้ (หรือจะเรียกว่าชนะสงครามก็ไม่ผิดนัก) ในประเด็นเรื่องการเข้าถึงหัวใจของคนรุ่นใหม่ สื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีย่อมได้รับความสำคัญเป็นทางเลือกแรก ดูเหมือนว่าทุกๆ อย่างเดินไปในทิศทางนั้น กลายเป็นคำจำกัดความว่าถ้าจะเข้าถึงเด็กต้องใช้เทคโนโลยีเท่านั้น ซึ่งก็ดูเป็นข้อสรุปที่ไม่ได้เกินจริงเลย

คำถามคือ ทำไมเราถึงสรุปแบบนั้น เพราะเด็กบอกเราว่าเขาต้องการอะไร หรือผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่เป็นคนสรุปให้เขา แล้วถ้าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นทุกสิ่งที่วัยรุ่นต้องการ เราจะรับได้มั้ย ใครจะรับผิดชอบ

อาทิตย์ก่อน ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง ถามถึงความเห็นและความต้องการของพวกเขาเกี่ยวกับห้องสมุด เพราะโรงเรียนมีนโยบายปรับปรุงห้องสมุดที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และมุ่งหวังให้นักเรียนกลับมาใช้ห้องสมุดมากขึ้น

ครั้งนี้ผู้บริหารเลือกที่จะเริ่มต้นจากห้องสมุด อยากให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด คิดกลับหัวจากเดิมที่ผู้บริหารและครูคือผู้ตัดสินใจว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ ครั้งนี้ทุกอย่างจึงเริ่มต้นจากนักเรียนภายใต้โครงการที่เราเรียกว่า Re-Imagine  

เราเริ่มต้นด้วยโครงสร้างคำถามที่น้อยที่สุด แต่เน้นให้นักเรียนได้แสดงความเห็นส่วนตัวออกมามากที่สุด นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.4-6 คละโปรแกรม คละทั้งเด็กที่มีผลการเรียนที่ดีและเด็กที่ออกจะเฮี้ยวๆ หน่อย คำตอบของนักเรียนเหล่านี้ทำให้ผมประหลาดใจมาก

เดิมผมมีภาพในใจว่าเด็กๆ อาจต้องการห้องสมุดที่หรู เท่ มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบ มี eBook มี eMagazine แต่ผลกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

เรื่องแรก เด็กบอกไปในทิศทางเดียวกันว่า พวกเขาไม่ต้องการห้องสมุดที่ทันสมัยจ๋า หรือห้องสมุดที่ออกแบบได้อลังการ พวกเขาต้องการห้องสมุดที่มีพื้นที่ส่วนตัวให้พวกเขาได้คิด มีพื้นที่ให้ได้คุยงานกลุ่ม ได้ซ้อมนำเสนอ หรือมานั่งประชุมงานกัน อาจจะเป็นห้องสมุดที่ออกแนวคลาสสิกธรรมดาก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของพวกเขา และต้องการให้มันอยู่รอบๆ ตัวคือหนังสือที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ หนังสือที่พวกเขาสามารถใช้อ้างอิงได้

“ครูครับ ผมอยากให้เอาคอมพิวเตอร์ออกไปจากห้องสมุด พวกผมอยากได้พื้นที่ห้องสมุดที่กว้างขึ้น” เด็กคนหนึ่งพูดขึ้นมา

ผมถามเขาว่าการใช้กูเกิลหาข้อมูลไม่สะดวกกว่าหรือ หาแรงบันดาลใจได้ไม่สิ้นสุด คำตอบของเด็กมัธยมกลุ่มนี้เล่นเอาผมพลิกตำราไม่ทัน

“กูเกิลใช้สร้างแรงบันดาลใจ หรือใช้อ้างอิงได้ไม่ดีเท่าหนังสือหรอกครับครู มันมีข้อจำกัด พวกผมไม่สามารถเชื่อกูเกิลได้ทั้งหมด”

ผมพยายามเปลี่ยนคำถามเพื่ออยากให้เขาย้ำความคิดตัวเองดีๆ เรื่องนี้ แต่กี่ครั้งๆ คำตอบยังเหมือนเดิม กลับได้เหตุผลของพวกเขาเพิ่มมาเรื่อยๆ อาทิ

“งานบางอย่างนะครู หาในกูเกิลมันไม่มีหรอก หรือถ้ามีมันก็กว้างมากจนพวกผมก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน”

หรือ

“ทุกวันนี้พวกผมว่าเรื่องเทคโนโลยีมันอยู่รอบตัวมากเกินไปสำหรับพวกผม ผมอยากได้เวลาคิด เวลาอยู่กับตัวเองบ้าง”  

เมื่อถามว่าเขาต้องการอะไรจากห้องสมุดที่ไม่ใช่หนังสือ ต้องการ eBook Corner มั้ย คำตอบคือ

“อย่าเอา eBook เข้ามาห้องสมุดเด็ดขาดนะครับ มันใช้งานไม่ได้จริง เสียเวลา” หรือที่เล่นเอาผมเกือบตกเก้าอี้คือ “ผมอยากได้สวน อยากได้ต้นไม้เขียวๆ ไว้มองบ้าง เวลาอ่านหนังสือหรือมาค้นคว้าอะไร บางทีอยากทอดสายตา แล้วคิด”

เมื่อถามถึงความชอบด้านหนังสือว่าพวกเขาต้องการอะไร คำตอบหนึ่งที่น่าคิดคือ พวกเขาต้องการหนังสือที่อยู่ในระดับสูงกว่าอายุ ทั้งนี้เพราะเด็กมัธยมปลายอยากรู้จักตัวเอง อยากรู้ว่าชอบอะไร เพื่อนำไปสู่การวางแผนชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาต่อ พวกเขาบอกว่าห้องสมุดมีแต่หนังสือที่ครูคิดว่าเหมาะกับเขา แต่ในความเป็นจริงมันไม่น่าสนใจเลย เพราะพวกเขารู้อยู่แล้ว เขาต้องการความรู้ที่อยู่เหนือตำราหรือ ‘ความเหมาะสม’ ตามคำจำกัดความของครูบรรณารักษ์

เด็กที่ออกจะเฮี้ยวๆ คนหนึ่งบอกว่า ผมสนใจเรื่องการทำอาหาร แต่ไม่ต้องการหนังสือทำอาหาร อยากอ่านหนังสือที่ให้ความรู้มากกว่านั้น อยากได้หนังสือที่บอกศาสตร์ของการทำอาหาร แต่ห้องสมุดไม่มีให้ผม หรือเด็กอีกคนบอกว่าเขาสนใจงานค้นคว้าถึงที่มาด้านศิลปะของศิลปินบางคน แต่สิ่งที่เขาเจอคือหนังสือสรุปศิลปินเอกของโลกเท่านั้น เขาต้องการต่อยอดความคิด แล้วรู้จักความลึกให้มากกว่านี้

“ผมอยากได้หนังสือของ ฌอง–มิเชล บาสเกีย แต่หาที่ไหนก็ไม่มี ห้องสมุดก็ไม่มี ร้านหนังสือก็ไม่มี ดูบนอินเทอร์เน็ตก็ไม่น่าสนใจ” เด็กพูดอย่างนั้น

บางคนอยากได้หนังสือทางสถาปัตย์ สิ่งเหล่านี้ถ้าใช้วิจารณญาณเราย่อมไม่เลือกเข้าห้องสมุดสำหรับนักเรียนมัธยมแน่ แต่ในความเป็นจริงนี่คือสิ่งที่เด็กต้องการ

เราควรจะฟังใครดี ฟังตัวเองแล้วเดินหน้าเชื่อต่อไปว่าเด็กสนใจเทคโนโลยี หรือจะหันกลับมามองว่าเราพลาดอะไรไปหรือเปล่า  

ผมพยายามวกกลับไปถามเรื่องดิจิทัลหลายครั้ง เน้นในหลายมิติ แต่เหมือนว่าพวกเขาจะเบื่อเอาการ ต่างเน้นแต่คำพูดที่ว่า “มันมากเกินไปครับครู” อยู่เสียอย่างนั้นทุกครั้งที่ถาม

ที่น่าคิดมากคือ พวกเขาย้ำบ่อยๆ ว่า “ที่พวกผมไม่มีคือความเป็นส่วนตัวและแรงบันดาลใจ” พวกเขาขาดแรงบันดาลใจ น่าคิดทีเดียว หรือเรามีแต่สารที่ส่งออกมาโดยที่เราเลือกแล้ว แต่เราไม่ได้ให้โอกาสเขาได้คิดเอง

เมื่อมาถึงเรื่องท้ายๆ เกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด เด็กตอบตรงกันว่า พวกเขาอยากให้ห้องสมุดเปิดดึกหน่อย และอนุญาตให้เข้าใช้ได้ในวันเสาร์และอาทิตย์ ผมถามเขาว่าทำไม ถ้าอยากนั่งเล่นเย็นๆ เข้าห้างก็ได้ พวกเขาบอกผมว่า “เบื่อห้างครับครู ไม่มีอะไร บางทีพวกผมก็อยากได้ที่นั่งคิด นั่งทำงาน หรือมีสถานที่ให้ทำงานกลุ่ม โดยที่ไม่ต้องไปเจอกันตามห้าง หรือบ้านเพื่อนคนใดคนหนึ่ง การได้มานั่งทำงานร่วมกันที่โรงเรียนเหมือนได้ใกล้แหล่งข้อมูลที่สามารถเอาออกมาใช้ได้ทันที” คำตอบนี้ทำให้ผมคิดย้อนด้วยเช่นกัน แล้วผู้ปกครองจะไม่สบายใจยิ่งกว่าหรือถ้าทราบว่าลูกอยู่ที่โรงเรียน

คำตอบของนักเรียนมัธยมปลายเกือบยี่สิบคนนี้อาจไม่ได้เป็นคำตอบของเยาวชนหรือวัยรุ่นทั้งประเทศ มันจะพอหรือไม่ที่จะทำให้ผู้ใหญ่กลับมาคิดว่าสิ่งที่เยาวชนเหล่านี้ต้องการจริงๆ คืออะไร แล้วที่ว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ หรือเป็นสิ่งที่พวกเขาเติบโตมานั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็กที่ต้องการสิ่งเหล่านั้น

พวกเขาเหล่านี้อาจยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอยู่ แต่ในส่วนผสมที่พอเหมาะ เด็กยังอยากมีสถานที่และเวลาให้พวกเขาได้คิดแบบผู้ใหญ่แต่เล่นตามวัย ให้พวกเขาเป็นอย่างที่เขาเป็น และได้สนุกกับมันมากที่สุด เพียงแต่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องมองเห็นถึงความปรารถนา และความงามอย่างที่พวกเขาต้องการให้เข้าใจ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา