หนังสือขายดีไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือใหม่เสมอไป

ในอุตสาหกรรมหนังสือต่างประเทศมีคำจำกัดความของหนังสือ ‘Bestselling’ ที่หมายถึงหนังสือขายดี และ ‘Backlist’ ที่หมายถึงหนังสือที่พิมพ์มาเกินกว่า 12 เดือน แต่ในไทยอาจยังไม่มีคำจำกัดความที่แบ่งแยกในเชิงระยะเวลาและยอดขายชัดเจน มีแค่คำว่า ‘หนังสือใหม่’ และ ‘หนังสือขายดี’ เป็นตัวชูโรง โดยเฉพาะหนังสือที่เป็น Backlist ที่ยังไม่มีคำอธิบายเด่นชัดเลย

ไม่แน่ว่าถ้าเราสามารถจำกัดความคำว่าหนังสือ Backlists ในภาษาไทยได้ มันอาจจะกลายเป็นผู้เปลี่ยนเกมของระบบนิเวศในอุตสาหกรรมหนังสือไทยก็ได้

ถ้าถามว่าช่วงนี้หนังสือหมวดไหนขายดี คงง่ายที่จะตอบว่าหมวด Non-Fiction สิ แต่ไม่ใช่หนังสือที่สะท้อนหรือเล่าความจริงต่างๆ จะขายดีเสมอไป ในตอนนี้ หนังสือหมวด Smarter Book ที่ช่วยยกระดับความคิดหรือเพิ่มพูนปัญญาให้คนอ่านดูจะเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ที่น่าสนใจคือหนังสือ 10 อันดับขายดีในหมวดนี้กลับเป็นหนังสือ Backlist ที่พิมพ์มาแล้วหลายปีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Sapiens : A Brief History of Human Kind และ Homo Deus : A Brief History of Tomorrow ของ Yuval Noah Harari ที่พิมพ์ในปี 2015 และ 2017 ตามลำดับ หรือเป็น A Brief History of Time ของ Stephen Hawking, Prisoners of Geography ของ Tim Marshall, Lean in 15 ของ Jow Wicks, The Chimp Paradox ของ Steve Peters, The 8-Week Blood Sugar Diet ของ Michel Mosley, The Secret ของ Rhonda Byrne, The Clever Gut Diets ของ Michael Mosley และที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ Thinking Fast and Slow ของ Daniel Kahneman ที่พิมพ์ตั้งแต่ปี 2012

มาดูเรื่องสัดส่วนการขายกันบ้าง แม้ว่าในปี 2014 ตัวเลขจะตกลงไปเหลือ 584.8 ล้านปอนด์ตั้งแต่มีการตั้งหมวดหนังสือ Smarter Book นี้ขึ้นมา (ตกลงไป 231 ล้านปอนด์เมื่อเทียบกับปี 2007) แต่ในปี 2015 ตัวเลขก็ค่อยๆ ผงกหัวกลับขึ้นมาเติบโตที่ 650.2 ล้านปอนด์ และ 692.2 ล้านปอนด์ในปี 2016 ตัวเลขล่าสุดในปี 2017 คือ 689.1 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับตัวเลขปี 2014

โดยสัดส่วนยอดขายของหนังสือ Backlist ในหมวด Non-Fiction ก็ปรับเพิ่มในทิศทางเดียวกัน จากที่เคยมียอดเฉลี่ยที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ของหมวด Non-Fiction ในปีล่าสุด สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย David Graham กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ Pavilion Publishing เปิดเผยว่ายอดขายหนังสือ Backlist ในหมวด Non-Fcition ของเขาเพิ่มสัดส่วนเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมดซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก จนปัจจุบันสำนักพิมพ์ Pavilion ต้องตั้งทีมขายที่กลับมาให้ความสำคัญกับตลาดเดิมของสินค้าหมวดนี้หรือที่เรียกว่า Heritage Market

อะไรทำให้หนังสือหมวดนี้มียอดขายโตวันโตคืน เมื่อเทียบกับหนังสือเซเลบริตี้ (Celebrity Books) ที่เคยมียอดขายมากมายแต่ในตอนนี้กลับหดตัวลงไปเรื่อยๆ การเล่าเรื่องธรรมดาๆ อาจไม่ใช่สิ่งที่คนอ่านต้องการ สิ่งที่คนอ่านมองหาคือการเล่าประสบการณ์มากกว่า กลับมาที่กลุ่ม Smarter Book มีการวิเคราะห์กันว่าที่หนังสือเหล่านี้ขายดีก็เพราะอิทธิพลของโซเชียลมีเดียหรือ online retailer อย่าง Amazon แทบเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ

มีสองสิ่งที่อาจจะสนับสนุนแนวคิดนี้ได้

อย่างแรกคือเรื่องราวที่กระจายมากขึ้นในโซเชียลมีเดียต่างๆ มักอ้างอิงความรู้จากหนังสือเหล่านี้อยู่ไม่มากก็น้อย สิ่งนี้สอดคล้องกับความต้องการของคนอ่านที่มองหาอะไรที่มากกว่าแค่ความเพลิดเพลิน แต่มันคือคุณภาพ ปรัชญา ความรู้ ที่สามารถนำไปประยุกต์กับชีวิตประจำวันได้ ท่ามกลางความสับสนของโลกโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเราต้องมุ่งหาความรู้มากขึ้นเพื่อให้เท่าทันโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ข้อถัดไปคือ หนังสือ Backlist กลุ่มนี้กลับขึ้นมาเป็นที่สนใจบน online retailer เจ้าใหญ่อย่าง Amazon สอดคล้องกับข้อแรกว่าพอมีความรู้กระจายผ่านโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้เกิดการค้นหาข้อมูลหนังสือ โดยแพลตฟอร์มที่ง่ายที่สุดก็คือ Amazon ที่มีอัลกอริทึ่มนำเสนอเรื่องที่คล้ายคลึงกันตามความสนใจของผู้ใช้มาให้เห็นพร้อมๆ กัน ส่วนการซื้อก็ไปเติบโตทั้งสองช่องทางคือทั้ง Amazon และร้านหนังสือทั่วไป

คำถามที่ตามมาคือทำไมหนังสือ Backlists ถึงไม่กลับไปมีจุดเริ่มต้นในการขายอีกครั้งบนร้านค้าปลีก แต่เป็นบนโลกออนไลน์

โดยปกติ ระบบของร้านหนังสือส่วนใหญ่จะเน้นนำเสนอหนังสือออกใหม่ โดยจะเน้นการจัด การสั่ง หรือทำโปรโมชั่นกับหนังสือใหม่เป็นหลัก ทำให้โอกาสที่หนังสือ Backlist เหล่านี้จะได้ออกมาวางที่จุดวางเด่นๆ ภายใต้พื้นที่จำกัดของแต่ละร้านจึงเป็นไปได้น้อยมาก แต่เมื่อเกิดการบูมผ่านทางออนไลน์จึงเป็นโอกาสที่หนังสือเหล่านี้ได้กลับมาเป็นหนังสือแถวหน้าอีกครั้ง

บทอธิบายของ Denise Bates ของสำนักพิมพ์ Octopus บอกว่ายอดขายหนังสือ Backlist เพิ่มขึ้นมา 15 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยที่จำนวน 7 ใน 20 ติดอันดับหนังสือขายดี ทิศทางที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือการที่ร้านหนังสือหันมาให้ความสนใจ และพร้อมที่จะสั่งหนังสือกลุ่มนี้เข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เพราะมันหมายถึงความแน่นอนของรายได้ ความเสี่ยงที่ลดลงเมื่อเทียบกับการสั่งหนังสือใหม่ที่ไม่มีต้นทุนที่คนอ่านชื่นชอบมาก่อน

ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมหนังสือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องอาศัยการเข้าใจแบบเจาะลึก และไม่กลัวถ้าจะต้องกลับไปทำอะไรที่เคยทำ เพราะอาจได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คิดก็ได้ ทั้งยังพิสูจน์อีกว่าหนังสือที่ขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาดไม่ได้จำกัดแค่หนังสือใหม่เท่านั้น แต่หมายรวมถึงหนังสือที่ถูกพิมพ์มาก่อนหน้า ชุดความคิดที่ระบบควบคุมสต็อกหนังสือบอกว่าหนังสือที่อยู่ในร้านเกินกว่า 6 เดือนคือหนังสือที่ขายไม่ได้จึงดูเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนทางเดินของกระแสธุรกิจ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ และทำไม่ได้

อุตสาหกรรมหนังสือมีพื้นที่และระบบนิเวศเป็นแบบเฉพาะของตัวเอง ผู้ที่อาศัยอยู่ในธุรกิจนี้จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ใช้ชีวิตแแบบกลมกลืน แต่ก็ต้องกล้าที่จะทำบางอย่างสวนทางกับชุดความเข้าใจเดิมบ้างไม่มากก็น้อย

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา