ในช่วงเก็บตัวอยู่กับบ้าน เราเป็นหนึ่งในหลายคนที่เลือกหยิบหนังสือบันทึกเดินทางออกมาอ่านด้วยความหวังว่ามันจะเยียวยาความอยากเที่ยวที่อัดอั้นอยู่เต็มอกให้ทุเลาได้บ้าง แต่ให้ตายเถอะ! ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน นั้นไม่เหมือนกับหนังสือท่องเที่ยวเล่มอื่นๆ ที่เราเคยอ่าน
อย่างแรก ประเทศเม็กซิโก–สถานที่ที่การเดินทางในเล่มเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ประเทศติดอันดับความนิยมของคนไทยเป็นทุนเดิม แถมคนเขียนยังไม่ได้ไปเที่ยวแบบธรรมดา แต่เธอตั้งใจข้ามน้ำข้ามทะเลไปสืบสาแหรกของศิลปินชื่อดัง Frida Kahlo ถึงถิ่น และดั้นด้นข้ามทะเลทรายไปตามหาชุมชนชาติพันธุ์ Zapotec ชุมชนบ้านเกิดของแม่ของฟรีด้า ภาษาของเธออ่านง่ายเป็นกันเองในขณะที่ระหว่างบรรทัดอัดแน่นไปด้วยความไว้วางใจในโชคชะตาและรอยยิ้มของคนแปลกหน้า คละไปกับรูปถ่ายสีสดที่พาเราไปอยู่กลางตลาดของชนเผ่าได้อย่างอัศจรรย์ ทุกอย่างบรรจุอยู่ในรูปเล่มที่มีเสน่ห์ประณีตตามแบบฉบับหนังสือทำมือ ทั้งเต็มไปด้วยเซอร์ไพรส์ที่ตกลงมาใส่มือให้ใจเต้นอยู่ไม่หยุด
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้นาทีที่เราอ่านหน้าสุดท้ายของหนังสือจบ เราตัดสินใจส่งข้อความไปหาผู้เขียน พัทริกา ลิปตพัลลภ ทันที เหตุใดศิลปินอย่างฟรีด้าจึงเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนของเธอ เรื่องเล่าที่เอิ่มเอมใจในเล่มนั้นเธอแลกมันมาด้วยอะไรบ้าง และที่สำคัญ ผู้หญิงคนนี้เป็นใครกัน
โชคดีที่เธอตอบรับคำชวนของเราอย่างทันควัน หลังจากการชนแก้วเตกีล่าใต้แสงจันทร์ คำตอบของคำถามที่คาใจทั้งหลายก็ค่อยๆ โปรยออกมาจากริมฝีปากของเธอ เคล้าไปกับเสียงเพลงแบบมารีอาชีของชาวเม็กซิโก และเราก็หวังเหลือเกินว่าบทสนทนาด้านล่างจะคัดย่อชั่วโมงต้องมนตร์นั้นมาให้ทุกคนได้รู้จักกับนักเขียน นักเดินทาง นักผจญภัย นักเล่าเรื่อง นักทำหนังสือ และอีกหลายนักที่ทำให้เราหลงรักผู้หญิงคนนี้ได้บ้าง
อะไรคือจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักเขียนนักเล่าเรื่องของคุณ
เราเพิ่งถามตัวเองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองว่าความชอบเขียนชอบเล่าเรื่องของเรามันมาจากไหน จนเจอคำตอบว่าอ้อ มันมีอยู่ตั้งแต่เด็กๆ แล้วนี่นา อาจจะสักช่วงประถมปลาย เราไม่ได้โตมากับพ่อแม่ เขาฝากเราไว้กับปู่ย่า เราจำความรู้สึกตอนนั้นได้ว่าโคตรโดดเดี่ยวเพราะช่วงอายุระหว่างปู่ย่ากับเราห่างกันมาก ยิ่งพอเข้าวัยรุ่นนี่พีคเลยเราทะเลาะกับย่าเราบ่อยมาก
ตั้งแต่ชั้นประถมปลายเรามีสมุดบันทึกเอาไว้ขีดเขียนเต็มไปหมด มีความลับทุกอย่างอยู่ในนั้น เราไม่ได้มานั่งจดความรู้สึกย้อนหลังด้วยนะ แต่เวลาที่รู้สึกอะไรไม่ว่าจะโกรธ เสียใจ ดีใจ สับสน เราจะวิ่งไปเปิดเก๊ะในห้องนอน หยิบสมุดออกมาจดทันทีเดี๋ยวนั้นเลย เหมือนเราได้พูดได้ตะโกนออกมาเป็นตัวอักษร จนวันหนึ่งเราก็ได้ทำงานที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ดิฉัน ทำอยู่ 13 ปีจนหนังสือปิดตัวก็มาเป็นนักเขียนอิสระทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และตอนนี้ก็ทำสำนักพิมพ์จิ๋วๆ ชื่อมาลาฤดูร้อน ผลิตงานเขียนของตัวเองและรับจ้างออกแบบและผลิตหนังสือให้คนอื่นด้วย ซึ่งงานเขียนของเราก็ยังใช้วิธีเดิมอยู่คือทั้งหมดมาจากสมุดบันทึกการเดินทาง
ก่อนหน้านี้คุณเคยติดใจอินเดียจนเขียนเป็นหนังสือ ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก มาแล้ว กับหนังสือเล่มล่าสุด คุณประทับใจอะไรในตัวฟรีด้า คาห์โล ถึงขนาดที่ต้องเดินทางไปตามหาต้นตระกูลของเธอที่ประเทศเม็กซิโก
การได้ดูหนังเรื่อง Frida (2002) ทำให้เราประทับใจในตัวผู้หญิงคนนี้ ก่อนจะเดินทางไปเม็กซิโกครั้งแรกเราดูหนังเรื่องนี้มาแล้วประมาณเจ็ดถึงแปดรอบบวกกับอ่านหนังสือประวัติของฟรีด้าด้วย ยิ่งดูยิ่งอ่านเราก็ยิ่งรู้สึกว่าผู้หญิงบ้าอะไรวะอดทนได้ขนาดนี้
คิดดูว่าถ้าเราเป็นฟรีด้า เกิดมาเป็นโปลิโอตั้งแต่เจ็ดขวบ ขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เพื่อนล้อ ทั้งใส่ถุงเท้าซ้อนกันไว้เยอะๆ และหาวิธีต่อส้นรองเท้าเพิ่มขึ้น พอเข้าวัยรุ่นก็เจออุบัติเหตุใหญ่ถึงขนาดราวมือจับบนรถเมล์แทงเข้ามดลูก กระดูกแตกไม่รู้ตั้งกี่สิบจุด ในเวลาที่ตัวเองนอนเดี้ยงอยู่บนเตียงหลังจากรอดชีวิตมาได้หวุดหวิด เอ้า แฟนที่รักกันมากก็เดินมาบอกลา มาเจอ Diego Rivera ศิลปินใหญ่และต่อมาแต่งงานกัน ดิเอโก้ก็เจ้าชู้สุดๆ นอนกับผู้หญิงไปทั่วจนแมตช์ที่ทำให้ชีวิตคู่ถึงจุดพังคือการที่ดิเอโก้เป็นชู้กับพี่สาวของฟรีด้า
ทั้งชีวิตของฟรีด้าวนเวียนอยู่แต่กับความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งเธอระบายออกมาบนแคนวาส งานศิลปะแทบทุกชิ้นมีร่องรอยความเจ็บปวดอยู่ด้วยเสมอ ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิงด้วยกัน เราเห็นใจความเป็นมนุษย์แบบฟรีด้า เป็นความรู้สึกที่เรามองผู้หญิงคนนี้แบบใจเขาใจเรา พอความรู้สึกที่ลึกซึ้งแบบนี้ระหว่างเรากับฟรีด้าเกิดขึ้นมามันยิ่งทำให้เราอยากทำความรู้จักผู้หญิงคนนี้มากขึ้น
เราอยากรู้ว่าทุกอย่างที่อยู่บนตัวฟรีด้าไม่ว่าจะเสื้อผ้าหน้าผม นิสัยใจคอ หรือแม้กระทั่งลักษณะคิ้วเข้มชนกัน กระโปรงยาวกรุยกรายปักด้วยลายดอกไม้ วัฒนธรรมเหล่านี้ทั้งหมดมีที่มายังไง ผู้หญิงเม็กซิกันเป็นเหมือนเธอกันหมดไหม หรือต่างกันยังไง วันหนึ่งเราก็เลยคิดว่า เอาล่ะ ถ้าอยากรู้ฉันก็ต้องไปหาคำตอบที่เม็กซิโก
คิดว่าตัวเองมีลักษณะไหนที่คล้ายคลึงกับฟรีด้าไหม
โห ไม่มีใครเหมือนฟรีด้าได้หรอก ไม่มีทางที่ใครจะมีอินเนอร์เหมือนฟรีด้าได้เลย มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตว่าเขาผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง
ขณะที่เรากำลังเปิดอ่าน ซินญอริต้า ในชุดผ้ากันเปื้อน จดหมายของคุณในซองสีขาวก็ร่วงหล่นลงมาใส่มือ บนหน้าซองจ่าหน้าให้ส่งถึงฟรีด้าที่ ‘บ้านสีฟ้า’ (La Casa Azul) บ้านหลังนั้นสำคัญกับคุณยังไง
เอาอย่างนี้ดีกว่า เคยแอบชอบใครสักคนไหม พอเรารู้สึกถูกชะตาหรือหลงรักใครสักคน เราก็อยากรู้ว่าเขาอยู่แบบไหน กินแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีด้านขาวเทาดำยังไงบ้างในตัว แปลว่าถ้าเราอยากรู้จักใครสักคนจริงๆ เราก็ต้องไปดูบ้านของเขา ซึ่งบ้านสีฟ้า (La Casa Azul) มีความสำคัญตรงที่เป็นบ้านเกิดของฟรีด้า ขณะที่ฟรีด้ายังมีชีวิตเธอใช้เวลาอยู่ที่นี่เยอะที่สุด และยังตายที่บ้านหลังนี้ด้วย เพราะฉะนั้นบ้านหลังนี้คือวิญญาณความเป็นฟรีด้าในทุกตารางเมตร
เราเคยไปบ้านหลังนี้ซึ่งปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ฟรีด้า คาห์โล สองครั้ง ความรู้สึกเดิมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ คือเวลาเราค่อยๆ เดินดูไปทีละห้องๆ โดยมีเสียงเยือกเย็นของผู้หญิงคนหนึ่งดังผ่านเฮดโฟนคอยอธิบายให้เราฟังว่าแต่ละจุดในบ้านเคยเกิดอะไรขึ้น แต่ช่วงชีวิตของฟรีด้าที่อยู่ในบ้านหลังนี้เธอต้องพบเจออะไรบ้าง เธอใช้ชีวิตแบบไหน ในช่วงขณะนั้นเราจะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าเหมือนมีฟรีด้ามาเดินอยู่ด้วยข้างๆ เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ
ส่วนจดหมายที่เราสอดไว้ในหนังสือคือจดหมายที่เราเขียนหาฟรีด้าตอนที่เราเดินทางอยู่ในเม็กซิโก คือเราก็รู้แหละว่าการเขียนจดหมายหาฟรีด้ามันไม่มีทางไปถึงหรอกเพราะฟรีด้าเสียชีวิตแล้ว แต่ประเด็นมันไม่ใช่ตรงนั้น จดหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจากครั้งที่สองที่เราไปบ้านฟรีด้า พอกลับออกมาก็นึกอยากเขียนจดหมายหาเธอ อยากขอบคุณที่เธอเป็นแรงบันดาลใจให้เราเดินทางมาถึงเม็กซิโกจนได้พบเจอความน่าสนใจอีกหลายๆ อย่างของประเทศนี้
หลังเขียนจดหมายฉบับนี้เสร็จเราไปที่ไปรษณีย์เพื่อติดแสตมป์ประทับตรา ก่อนส่งเราก็ก๊อบปี้จดหมายฉบับนี้ไว้ด้วยการถ่ายภาพเพื่อเอามาเป็นต้นแบบในการทำจดหมายฉบับก๊อบปี้ขึ้นมาเสียบไว้ในหนังสือที่เราทำ
คิดว่าถ้าฟรีด้าได้อ่านจดหมายของคุณ เขาจะตอบกลับมาว่า
ฉันไปดีแล้ว ปล่อยฉันเป็นอิสระเถอะ (หัวเราะ)
นอกจากบ้านของฟรีด้าแล้ว เมื่อทราบว่าแม่ของฟรีด้ามาจากเมืองในคอคอด Tehuantepec คุณก็ดั้นด้นไปถึงที่นั่นซึ่งในหนังสือบอกว่ายากมาก ทำไมถึงยังไปที่นั่น
มันไม่ใช่เพราะเราชอบทำอะไรยากๆ หรอก แต่เราว่ามันเป็นเพราะคนเราอาจมีเรื่องที่อยากรู้ต่างกัน มิติต่างกัน ซึ่งเรื่องที่เราอยากรู้มันดันเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังและความกระเสือกกระสนอยู่เสมอ เราเป็นคนที่ถ้าอยากรู้อะไรเราจะต้องรู้ให้ได้ และการรู้ที่ดีที่สุดก็คือการพาตัวเองไปหาคำตอบจากต้นตอ ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ของวัฒนธรรมที่อยู่บนตัวฟรีด้าเองก็มาจากชนเผ่าซาโปเทกทั้งนั้น และกลุ่มผู้หญิงชนเผ่าซาโปเทกที่แข็งแรงที่สุดก็อยู่บนคอคอดนี้ เลยอยากไปเห็น อยากไปรู้จัก บอกเลยว่าผู้หญิงกลุ่มนี้มันมาก ระหว่างแฟนกับเพื่อนผู้หญิงกลุ่มนี้เลือกเพื่อนก่อนเสมอ ยอมขึ้นคานดีกว่าโดนเพื่อนทิ้ง
คุณบอกว่าประเทศเม็กซิโกคือ ‘ประเทศแห่งตลาด’ สินค้าที่คุณชอบที่สุดในตลาดที่นั่นคืออะไร
ถ้าให้ระบุเป็นประเภทของสินค้าเลยคงเป็นอาหาร เราไม่ได้เป็นคนทำอาหารเก่งเลยนะแต่ชอบวัฒนธรรมการกินอาหารของคนเม็กซิกัน เวลาเข้าตลาดที่ขายอาหารมันจะตามมาด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่พ่วงมากับอาหารเหล่านั้น เช่นเวลามีร้านที่ตั้งแผงขาย Tejate (เครื่องดื่มจากโกโก้) เวลาเสิร์ฟ เขาจะเสิร์ฟกับภาชนะแฮนด์เมดที่ทำจากเมล็ดกระถินซึ่งใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณ ปัจจุบันก็ยังคงใช้กันอยู่
เราชอบบรรยากาศภาพรวมของตลาดแบบเม็กซิกันที่มีทั้งสี กลิ่น ผิวสัมผัส เสียงเพลง ภาษาชนเผ่า เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องใช้ หลายอย่างเป็นวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อมาเป็นพันปีแล้ว ทุกอย่างมันตะโกนแข่งกันในเวลาเดียวกัน มันโฉ่งฉ่าง สนุก มีชีวิต ตลาดเล็กตลาดน้อยเยอะแยะไปหมด ตลาดคือลมหายใจของคนเม็กซิกัน
หนังสือของคุณอัดแน่นไปด้วยสรรพสีสันของชีวิต โดยเฉพาะภาพผู้หญิงที่คุณสามารถเก็บบันทึกความรู้สึกของพวกเขาอย่างงดงามเสมอ คุณมีเคล็ดลับอะไรในการถ่ายภาพผู้คนที่พบเจอระหว่างทาง
เราไม่ได้มีเคล็ดลับหรือมีหลักในการถ่ายภาพอะไรหรอก แค่ถ่ายตามความรู้สึก ถ่ายความจริงที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า แค่นั้นเลย ซึ่งคำว่าความจริงในความหมายของคนถ่ายภาพแต่ละคนก็อาจจะมองในมุมที่ไม่เหมือนกัน
คุณเขียนประโยคเปิดบทแรกของเล่มไว้ว่า ‘ทุกอย่างมีเวลาของมัน’ หมายความว่าคุณเชื่อในโชคชะตามากกว่าสัญชาตญาณของตัวเองหรือเปล่า
เราเชื่อทั้งสองอย่าง เพราะโชคชะตากับสัญชาตญาณเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินอยู่คู่กันในชีวิต เอาเข้าจริง ประโยคนี้มันมีที่มานะ ถ้าย้อนดูหนังสือ ซินญอฯ ในหน้าแรกๆ จะมีลายมือภาษาชนเผ่าประโยคหนึ่งเขียนเอาไว้เดี่ยวๆ เลย นั่นเป็นลายมือของนักเขียนภาษาชนเผ่าซึ่งเป็นคนเขียนพจนานุกรมภาษาชนเผ่าซาโปเทกที่เรามีโอกาสได้ไปเจอและขอให้แกเขียนลายมือภาษาชนเผ่าให้ ประโยคนี้แปลได้ว่า ‘ทุกอย่างมีเวลาของมัน’ มันคือประโยคที่เรามีไว้คอยเตือนใจตัวเราเอง
ตั้งแต่คิดจะไปเม็กซิโก กระทั่งจนเริ่มต้นคลำทางเพื่อตามหาข้อมูลต่างๆ ในการเขียนหนังสือ ไปจนถึงการติดต่อประสานงานกับคนในพื้นที่ที่นั่น ทุกอย่างมีเรื่องของจังหวะและการรอคอยเข้ามาเกี่ยวข้อง บางช่วงเราท้อเหมือนกันนะเพราะภาษาเป็นด่านสำคัญมากในการติดต่อกับคนพื้นที่ (คนเม็กซิกันใช้ภาษาสเปนและภาษาชนเผ่าเป็นหลัก)
ยิ่งช่วงที่จะเดินทางไปคอคอด Tehuantepec นี่กว่าจะเข้าไปถึงได้ยากมาก ลำพังการพาตัวเองไปถึงที่นั่น สำหรับเราไม่ได้ยากหรอก แต่เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว จำเป็นมากที่จะต้องมีคนรู้จักที่เป็นคนในพื้นที่และพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะด้วยสถานการณ์ในคอคอด Tehuantepec ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2017 ก็เริ่มมีปัญหายาเสพติด ขโมยขโจร เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ การรู้จักคนในพื้นที่อย่างน้อยทำให้เราอุ่นใจและรู้ว่าเราควรทำอะไรหรืออะไรที่ห้ามทำเด็ดขาด ตลอดการเดินทางเพื่อทำหนังสือเล่มนี้ เรามีประโยคนี้นี่ล่ะที่ทำให้เรายังเดินทางต่อไปได้อย่างมีความหวัง ‘ทุกอย่างมีเวลาของมัน’
ในฐานะนักเขียน คุณเลือกเรื่องราวที่พบเจอมาร้อยเรียงในหนังสือของคุณอย่างไร มีบ้างไหมที่ต้องจำใจทิ้งบางเรื่องไประหว่างการคัดเกลา
เราบอกคนอ่านมาตลอดว่าประเทศเม็กซิโกสำหรับเราคือเสียงตะโกน ทุกองค์ประกอบของประเทศนี้ไม่มีใครยอมใคร แต่ความมั่วๆ ความอีเหละเขละขละ ความโฉ่งฉ่างที่ผสมรวมกันอยู่ในเสียงตะโกนเหล่านั้นกลับเป็นความลงตัวอย่างบอกไม่ถูกนั่นล่ะคือโจทย์ของการทำหนังสือเล่มนี้ เราจะทำยังไงให้หนังสือมันส่งเสียงตะโกนออกมาได้ตั้งแต่แรกเห็นเพื่อบอกความเป็นประเทศเม็กซิโก ยิ่งพอได้เปิดดูทีละหน้ายิ่งรู้สึกว่า โอ้โห เสียงดังจริงๆ
ก่อนหน้านี้คุณออกหนังสือชื่อ ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก จัดจำหน่ายด้วยวิธีเดียวกับ ซินญอริต้าในผ้ากันเปื้อน คือด้วยเพจสำนักพิมพ์ที่คุณตั้งเอง ‘มาลาฤดูร้อน’ เรารู้สึกว่าหนังสือทั้งสองเล่มมีความคล้ายกันมากคือมีความตั้งใจมากทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะเล่มนี้ที่สอดแทรกตั้งแต่ธงลายฉลุ, ที่คั่นหนังสือ, จวบจนผ้าปักงานฝีมือจากตลาด ช่วยอธิบายหน่อยว่าทำไมหนังสือของคุณถึงต้องมีสิ่งเหล่านี้
เราไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของแถมเลยนะ ทุกอย่างที่ให้ไปกับหนังสือคือองค์ประกอบที่ทำให้ความเป็นประเทศที่เรากำลังพยายามพรีเซนต์ชัดเจนขึ้น เป็นเรื่องของโสตสัมผัส ตัวอย่างเช่น เหตุผลที่เราใส่ธงราว Papel Picado (ธงพลาสติกลายฉลุ) แนบไปกับหนังสือเพราะธงราวนี้คือหนึ่งในองค์ประกอบของความเป็นเม็กซิกันที่เราไปเห็นมา ทุกบ้านทุกถนนทุกตลาดต้องมีแขวนห้อยระโยงระยางอยู่ มันบอกถึงความเป็นประเทศที่บันเทิงและครื้นเครงมาก มีเทศกาลให้ฉลองกันตลอดเวลา ซึ่งธงราวมีต้นกำเนิดมาจากกลุ่ม Astec ชนเผ่าดั้งเดิมของเม็กซิโก สมัยก่อนเผ่านี้นิยมแกะสลักลวดลายลงบนหินเพื่อบูชาเทพเจ้าจนต่อมามันถึงได้มีการพัฒนามาเป็นธงราว
คุณอยากไปเม็กซิโกเพราะต้องการตามหาคำตอบบางอย่าง หลังกลับมาแล้วคุณคิดว่าบรรลุเป้าหมายไหม
สำหรับเรา การทำหนังสือออกมาหนึ่งเล่ม หลังจากทำเสร็จเราจะต้องไม่มีคำถามอะไรกับมันแล้ว หนังสือ ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน ที่ทำออกมาโดยมีฟรีด้า คาห์โล เป็นกุญแจดอกแรกที่พาเราไปรู้จักประเทศนี้ เราว่ามันก็สมบูรณ์ในตัวของมันระดับหนึ่ง
หนังสือหนึ่งเล่มมันไม่ใช่แค่ตัวหนังสือกับภาพถ่าย แต่ยังมีเรื่องขององค์ประกอบต่างๆ ที่เราต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นให้นานพอที่จะดึงมันออกมาได้ เลยทำให้เราไม่สามารถไปไหนแค่อาทิตย์สองอาทิตย์แล้วกลับมาทำหนังสือได้ทันทีแต่เราต้องไปใช้ชีวิตกับคนพื้นที่อยู่เป็นเดือนๆ บางทีอยู่เป็นเดือนก็ยังไม่พอแต่ต้องหาเวลากลับไปซ้ำอีกเพื่อที่จะได้เห็นและได้รู้จักประเทศประเทศหนึ่งให้มากพอ กระทั่งรู้ว่าเราจะหยิบอะไรมาเป็นวัตถุดิบในการทำหนังสือได้บ้าง
ทุกองค์ประกอบสำคัญหมดไม่ว่าจะโทนสีที่คนที่นั่นใช้ ผิวสัมผัสบนวัตถุจากการดำเนินชีวิตสองฝั่งถนนหรือกลางหุบเขา บุคลิกตัวอักษรตามป้ายโฆษณา สีสันในตลาดสด เสียงดนตรีเม็กซิกันข้างทาง เฉดสีของฟรีด้า คาห์โล จังหวะการใช้ชีวิตของคนเมืองหลวงกับชนเผ่าที่ไม่เหมือนกัน ลายผ้ากันเปื้อนที่ผู้หญิงแต่ละชนเผ่าเลือกใช้ ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างของวัตถุดิบที่เราเก็บมาเรียงร้อยเรื่องราวนอกเหนือไปจากตัวอักษรและงานภาพถ่าย ฉะนั้นเราถือว่า ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน ทำงานในตัวมันเองได้ดีในระดับหนึ่งในแง่ของการส่งเสียงตะโกนออกไปให้คนอ่านได้ยินผ่านรูปแบบของหนังสือที่พูดไม่ได้แต่มีชีวิต
เสียงตอบรับของเล่มที่แล้วกับเล่มนี้ต่างกันไหม
เสน่ห์ของอินเดียคือความคาดไม่ถึงก็จริง แต่ด้วยความที่คนไทยคุ้นเคยกับอินเดียอยู่แล้วมันเลยเข้าถึงง่าย นี่เราขายหมดมา 7-8 เดือนแล้วก็ยังมีคนถามหาทุกวัน ทุกวันจริงๆ นะ ส่วนเม็กซิโกแม้คนไทยจะเคยได้ยินชื่อของประเทศเม็กซิโกมาตลอดแต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเคยไป
ความน่าดีใจคือหลายคนไม่เคยสนใจประเทศเม็กซิโกเลยแต่หลังจากได้หนังสือเราไปอยู่ในมือและอ่านจนจบก็มีหลายๆ อย่างของประเทศนี้ที่เขาอยากรู้มากขึ้น อยากไปยืนในปาร์ตี้ของชนเผ่าที่เราได้ไปยืนอยู่ อยากไปเดินกลางหุบเขาคนเดียวบ้าง บางคนก็เกิดความสงสัยในวัฒนธรรมเม็กซิกันหลายๆ เรื่องตามมา จะมีคนอ่านอีกกลุ่มที่ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้วมันก็อาจยากไปสำหรับเขาที่จะเดินทางไปถึงเม็กซิโก แต่สิ่งที่คนอ่านกลุ่มนี้บอกเราคือเขาได้แรงบันดาลใจจากหนังสือของเราไปต่อยอด
นิสัยอะไรที่นักเดินทางที่ดีพึงมี
เราว่าน่าจะเป็นเซนส์ของการเอาตัวรอดนะ เพราะนักเดินทางมักมีความอยากรู้อยากเห็นในมุมที่คนทั่วไปอาจไม่ได้ใส่ใจหรือนึกอยากหาคำตอบ ซึ่งไอ้ความอยากรู้อยากเห็นนี่ล่ะมากับการต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ ฉะนั้นต้องมีเซนส์ของการเอาตัวรอด
ลูกชายรู้สึกยังไงกับงานของคุณ เขาชอบหนังสือของคุณไหม
หมื่นไมล์ตอนนี้อายุ 17 เป็นคนอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก แต่เขาจะชอบพวกนิยายแฟนตาซีมากกว่า หนังสือแม่ตอนนี้ยังไม่แตะค่ะ
ตอนนี้กำลังเขียนเล่มต่อไปแล้วรึยัง
เขียนอยู่ค่ะ
ช่วยเกริ่นๆ หรือบอกใบ้ให้หน่อยได้ไหมว่าเกี่ยวกับสถานที่ไหน
ยังไม่บอกดีกว่า
ถ้าวิกฤตโควิดจบลงแล้ว คุณจะเดินทางไปที่ไหนเป็นอันดับแรก
กลับบ้านหลังที่สองค่ะ อินเดีย
ขอบคุณภาพจาก พัทริกา ลิปตพัลลภ
ใครอ่าน Q&A นี้จบแล้วอยากจะออกเดินทางไปเม็กซิโกแบบแพทสามารถสั่งหนังสือ ‘ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน’ ได้ที่เพจ Summermala แถมได้ข่าวว่าเล่ม ‘ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก’ ที่หมดไปแล้วอาจจะกลับมาพิมพ์ใหม่เร็วๆ นี้ด้วยนะ!