“มันยังไม่ใช่ตอนจบจนกว่าเราจะตาย” – อีฟ มาริษา และการเดินทางครั้งใหม่

Highlights

  • อีฟ–มาริษา รุ่งโรจน์ คือหญิงสาวนักเดินทางที่ถ่ายทอดภาพถ่ายจากการเดินทางผ่านเพจ ABOVE THE MARS เพจที่เธอปลุกปั้นเล่าเรื่องการเดินทางกับเพื่อนสาวมาตลอด 3 ปี
  • ยอดผู้ติดตามกว่าแสนคนเป็นเครื่องยืนยันว่าภาพการเดินทางของเธอนั้นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ภาพถ่ายธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ท้องฟ้า ผู้คนทำให้เราเห็นพื้นที่อีกซีกโลกพร้อมเรื่องเล่าที่เธอตั้งใจบอกกล่าวให้ทุกคนได้รู้
  • หลายคนเชื่อว่าสิ่งที่อีฟไม่เคยขาดตกบกพร่องคือเรื่องแพสชั่นในการเดินทาง แต่ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งความรู้สึกที่ไม่ได้มีความสุขกับการเดินทางแล้วจะเกิดขึ้นกับเธอในระหว่างเดินทาง
  • ทั้งหมดได้ผ่านการบอกเล่า และตกตะกอนออกมาเป็นคอนเซปต์ในนิทรรศการ The Temporary Observer นิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรกของเธอที่อยากชวนทุกคนมาสังเกตการณ์การเดินทางทั้งภายนอกและภายในจิตใจกัน

ภาพถ่ายธรรมชาติ ท้องฟ้า ผู้คน การเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ด้วยแพสชั่นและความสุข แทบจะเป็นภาพจำที่ใครหลายคนอธิบายตัวตนของ อีฟ–มาริษา รุ่งโรจน์  

หลายคนเรียกเธอว่านักเดินทาง ผู้พกสายตาการมองโลกเป็นเอกลักษณ์ ออกไปเก็บเกี่ยวพื้นที่อีกซีกโลกมาให้คนอื่นได้เห็นผ่านเพจ ABOVE THE MARS เพจที่เธอกับเพื่อนตั้งใจปลุกปั้นกันมาตลอด 3 ปี

ความชื่นชอบในการเดินทางของอีฟยังพาให้เธอไปทำงานด้านสารคดีกับไทยพีบีเอสในรายการ AEC Checkpoint รายการที่พาคนดูไปสำรวจความเป็นไปของอาเซียนทั้งด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งกำลังจะออนแอร์ช่วงต้นปีนี้

ยังไม่พอ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้อีฟกำลังจะมีนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรกที่ชื่อว่า The Temporary Observer นิทรรศการที่เธอจะพาคนดูไปเป็นผู้สังเกตการณ์ เพื่อสำรวจการเดินทางทั้งภายนอกและภายในจิตใจของเธอ

จากงานที่เห็นทั้งหมด ใครหลายคนอาจเห็นว่าแพสชั่นการเดินทางของอีฟไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ความจริงแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เบื้องหลังเส้นทางการดูโลกของหญิงสาวเต็มไปด้วยการตั้งคำถามและการเปลี่ยนแปลงความหมายและวิถีการเดินทางของตัวเองจากเดิม ด้วยเหตุผลที่เธอรู้สึกว่า เธอไม่ได้มีความสุขกับมันแล้ว

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราอยากคุยกับอีฟ ในวันที่ความหมายของการเดินทางทั้งภายนอกและภายในจิตใจของเธอเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม

เห็นหลายครั้งที่คุณให้สัมภาษณ์ คนมักถามว่าความหมายของการเดินทางของคุณคืออะไร แต่อยากรู้ว่าตลอดเวลาที่ออกเดินทาง ความหมายที่เรานิยามมันเปลี่ยนไปบ้างไหม 

เปลี่ยนไปจากวันแรกมาก ต่อให้สิ่งที่ทำอยู่คนจะเห็นว่าเหมือนเดิม คือเราเดินทาง แต่ตัวเราคิดว่ามันไม่เหมือนกันเลย มันต่างกันทั้งจุดประสงค์ ความหมาย และสิ่งที่ได้รับ ยิ่งเราเดินทาง เราเห็นมากขึ้น ยิ่งรู้สึกตื่นเต้นกับมันได้ยากขึ้น  

เราถึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรเพื่อการเดินทาง มันมีความหมายต่อเรา แล้วมันมีความหมายกับคนอื่นด้วยหรือเปล่า หลังๆ เราเริ่มหาความลึกซึ้งในการเดินทาง ละเมียดละไมกับมันมากขึ้น ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าเดือนนี้ไปสองประเทศ เราเปลี่ยนมาเป็นอยู่ที่นั่นให้นานขึ้นดีไหม พักที่เดิมนานๆ เพื่อคุยกับคนให้นานขึ้น เริ่มมีมิสชั่นกับตัวเอง เริ่มคิดว่าสิ่งที่ทำมันได้ให้อะไรกับคนอื่นหรือเปล่า เพราะเราคิดว่าตัวเราเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่คอยบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองเจอไปหาผู้คนได้ เราใช้การเดินทางและภาพถ่ายของเราเป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนอื่นได้

 

ที่บอกว่าความหมายเปลี่ยนจากวันแรกมาก แล้วความหมายของการเดินทางในวันแรกๆ ของเราคืออะไร

เล่าก่อนว่าอีฟเริ่มเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกตอนอายุ 23 ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ไปเที่ยว ญี่ปุ่นคือประเทศแรกที่เราได้ไป มันเบสิกมาก แต่เราตื่นเต้นมากตอนได้เห็นเมือง นี่มันคือโลกคู่ขนานกับประเทศที่เราเคยอยู่ มันเปิดโลกมาก แล้วเราก็ฟุ้งมาก มันดีจังเลยที่เราได้เห็นว่าคนของอีกที่หนึ่งกำลังทำอะไรอยู่ เข้าใจแล้วว่าการไม่อยู่กับที่มันให้อะไรเราได้บ้าง ก็เลยสัญญากับตัวเองว่าจะไปเห็นโลกใบนี้ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ อันนี้คือความตั้งใจแรก 

ตอนนั้นเราเหมือนเด็กได้ของเล่นใหม่ กลับมาแล้วรู้สึกติดใจ รอทริปใหม่ ชอบมันมาก ชอบการนั่งเครื่องบิน ชอบการได้อยู่ที่ใหม่ๆ เราก็ไปไม่หยุด ไปไอซ์แลนด์ อินเดีย ไม่มีทริปไหนไม่ตื่นเต้นเลย ใครชวนไปไหนเราไปหมด ช่วงนั้นคือไปเดือนละสองทริป ไม่ได้อยู่บ้าน แม่จำหน้าไม่ได้ กลับบ้านมาคืนนี้ พรุ่งนี้บินอีก บางทีไม่มีเวลาจัดกระเป๋า ให้พี่สาวจัดไว้ให้ บางทีก็ให้คนเอากระเป๋ามาให้ที่สนามบิน เรากระหายการเดินทางมาก เสพติด บางครั้งพักไปแค่สามอาทิตย์ แต่คิดถึงบรรยากาศการนอนอยู่บนเครื่อง อยากไปทริปใหม่อีกแล้ว

ฟังแล้วดูเหมือนคุณมีความสุขกับการเดินทางมากเลย แต่ทำไมถึงได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่

หลังจากเดินทางทุกๆ เดือน เดือนละสองทริปได้เกือบปี เราตื่นขึ้นมาในทริปหนึ่งที่อิหร่าน แล้วก็รู้สึกโหวงเหวงในใจ ไม่ตื่นเต้นที่อยากจะออกไป ขี้เกียจไปมาก เริ่มรู้สึกเหนื่อย มองเห็นอะไรสวยงามยากขึ้น มันแปลกมาก เพราะเราไม่ใช่คนแบบนี้ นี่เรายืนอยู่ในประเทศที่เราชอบมาก แต่ไม่มีเสียงอะไรในใจแบบที่ผ่านมาเลย

เราเป็นคนคิดมากอยู่แล้ว ตอนนั้นมันมีหลายคำถามเกิดขึ้นเยอะมาก แล้วเราก็พยายามทวนเป้าหมายในชีวิตของตัวเองว่ามันคืออะไร ย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วเวลาใครถามว่าเรียนจบไปอีฟอยากทำงานอะไร เราตอบว่าอยากเป็นศิลปินที่ทำงานเพื่อคนอื่น ทำให้โลกมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งนี้มันวนกลับมาตั้งคำถามการเดินทางของเรา ที่บอกว่าอยากจะทำอะไรเพื่อโลก มันหายไปไหนแล้ว อยากจะเป็นคนที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้นไม่ใช่เหรอ แล้วสิ่งที่ทำอยู่มันดีจริงๆ เหรอ

ตอนนั้นเราเหมือนเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้ทุกอย่างมันวุ่นวาย เรากำลังเอ็นจอยกับตัวเอง ออกไปเดินทางเพื่อตัวเอง มีภาพดีๆ มาให้คนอื่นชื่นชม ทุกคนอิจฉาที่เราเดินทาง แต่มันใช่ความจริงหรือเปล่า เรากำลังทำให้คนอื่นไม่พอใจในชีวิตตัวเองหรือเปล่า 

 

คิดว่าอาการเบื่อหรือคำถามพวกนี้มันเกิดจากอะไร

เพราะเราเจอความสวยงามซ้ำๆ มันมีบางทริปที่เราไปตามแพลนที่มีคนเตรียมไว้ให้ ซึ่งมันมีแต่ด้านสวยงามที่เขาอยากให้เราโชว์ เพราะเราเริ่มต้นในฐานะบล็อกเกอร์ แล้วเราก็ต้องถ่ายภาพที่สวยที่สุดของที่นั่นเพื่อดึงให้คนไปเที่ยว เราเห็นที่นี่สวย อาหารดี เจอความสวยงามซ้ำๆ จนตั้งคำถามว่ามันคือความจริงเหรอ 

เราเลยคิดว่าแบบนี้มันไม่ใช่วิธีที่เราเดินทางนี่หว่า วิธีการเดินทางของเรามันคือการออกไปโดยไม่รู้จะเจออะไร ได้คุยกับคนท้องถิ่น ได้พักในที่ที่อาจจะไม่ได้ดีมากหรือดีมากสลับกันไป 

 

ตอนนั้นรู้สึกยังไง

มันซัฟเฟอร์มาก ฉันไม่มีความสุขได้ยังไงในเมื่อสิ่งนี้คือสิ่งที่ตัวเองรักและอยากทุ่มเทกับมัน อีกอย่างคือทุกอย่างมันดีนะ ได้ไปอยู่ในพื้นที่ดีๆ ได้ไปเที่ยว แต่ทำไมถึงรู้สึกไม่ดี เราก็เลยคิดว่าเราบกพร่องทางความรู้สึก ในใจเรามีรูโหว่อะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ เราขาดแรงบันดาลใจที่แท้จริง

มันยิ่งเห็นชัดตอนที่เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถ่ายภาพดี อยู่ๆ ก็คิดว่าภาพเราไม่มีความหมาย รู้สึกตัวเองไร้ความสามารถ เราเคยทำได้ดีกว่านี้ เราเริ่มไม่ครีเอตอะไร เริ่มทำตามกลไกอัตโนมัติ แล้วก็ห่อเหี่ยวมากๆ 

ตอนนั้นคุยกับตัวเองว่ายังไงบ้าง

หลังจากทริปอิหร่าน เดือนต่อมาเราไปเนปาลกับเพื่อน เป็นทริปที่ตั้งใจไปเองกับเพื่อนอยู่แล้ว ระหว่างเดินขึ้นเขา เราอยู่กับตัวเองเยอะมาก คุยกับตัวเองว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว อีฟจะเอายังไงกับชีวิตดี ตอนนี้ความรู้สึกมันกร่อนอยู่ข้างใน มันไม่ใช่ความจริง เราก็คิดว่าเราเป็นคนที่เปลือกหรือเปล่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้ข้างในมันกร่อนสิ

ปกติต้นปีเราจะเขียนเป้าหมายว่าปีนี้เป็นปีของอะไร เมื่อตอนปลายปี 2017 เราเขียนเอาไว้ว่า ‘ปี 2018 จะเป็นปีแห่งการวางรากฐาน’ ซึ่งก็ไม่รู้นะว่ารากฐานนั้นคืออะไร แล้วระหว่างเดินขึ้นเขาที่เนปาลเราก็คิดถึงประโยคนี้ ทำไมเราถึงเขียนแบบนี้ หรือรากฐานที่ว่าคือเราจะทำทุกอย่างให้มันจริงขึ้น ทำให้มันหนักแน่นขึ้น หาความรู้เพิ่มขึ้น

 

เสียใจไหมในวันที่งานที่เรารักมันกลายเป็นเรื่องฝืนใจที่จะต้องทำมันต่อไป

เสียใจ แต่ไม่อยากยอมแพ้ เราคิดว่าเรายังชอบอยู่ เพียงแต่มันไม่มีเวลาพักให้ได้ตกตะกอน และเราอยากกลับไปรู้สึกเหมือนเดิม มันอาจจะผิดหวัง แต่เราคิดแค่ว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้กลับมารู้สึกเหมือนครั้งแรก

มันเหมือนเรากำลังบริหารความสัมพันธ์กับคนคนหนึ่งอยู่ เราไม่อยากเลิกกับเขา แต่เราต้องกลับมาทำให้มันรู้สึกปั๊ปปี้เลิฟอีกครั้ง เราพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะเรารักในสิ่งนี้ มันคือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดแล้ว 

แล้วคุณกลับมาเยียวยาตัวเองยังไงตอนรู้สึกว่างเปล่า

ตอนเดินขึ้นเขาที่เนปาล เราตัดสินใจเลยว่าจะหยุดเดินทาง คืออยู่กับที่ใดที่หนึ่งนานสามเดือน แล้วพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใหม่เพื่อที่เวลาคิดอะไรจะได้ต่างไปจากเดิม ตอนนั้นเลือกไปอังกฤษ เพราะชอบที่นี่มาก หาความรู้เพิ่มเติมด้วยการลงคอร์สเรียนสารคดี 

เราบอกเพื่อนที่ทำเพจด้วยกัน บอกแฟนที่เพิ่งแต่งงานกันได้ไม่กี่วันว่าเราจะพักเดินทางแล้วไปอยู่อังกฤษ เราตัดสินใจแล้วทำเลย เพราะถ้าไม่ไปตอนนี้ แล้วรอ right time มันก็ไม่รู้จะตอนไหน เราไม่ค่อยกลัวเรื่องความเสี่ยง อยากทำอะไรก็ทำ  

 

การตัดสินใจอย่างนี้ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างหรือเปล่า

จริงๆ เราคุยกันก่อน มันจะส่งผลกระทบไหม เราคิดว่าเราประเมินสถานการณ์ได้ ถ้าแต่งงานนานกว่านั้น เราอาจจะไม่อยากไป แต่ตอนนี้เราประเมินสถานการณ์ว่าครอบครัวเราแข็งแรง ครอบครัวอยู่ได้  ดังนั้นเวลาที่ดีที่สุดคือตอนนี้ มันคือปัจจุบัน เราเลยบอกว่าถ้ารอก็ไม่รู้ว่าจะเมื่อไหร่ ดังนั้นประเมินจากสถานการณ์ แล้วเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง จะดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ลองทำมันไม่รู้

 

ทำไมเชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง ไม่กลัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงเหรอ

ไม่กลัว (ตอบทันที) เราไม่ได้ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่เรารู้ว่าทุกวันมันไม่ใช่ตอนจบ ในเมื่อตัดสินใจไปแล้ว เราเลือกเอง เราไม่ได้ไปเชื่อใคร ถ้าเลือกทางที่คนอื่นบอกแล้วมันแย่ เราอาจจะไปโทษเขา แต่ถ้าคุณเลือกแล้วมันแย่ โทษตัวเอง แล้วเก็บเป็นบทเรียน สุดท้ายก็ไปต่อ แค่นั้น

อีฟมีนิทานเรื่องหนึ่งที่แฟนเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งในหมู่บ้านไปซื้อม้ามาเลี้ยง แล้วม้าตัวนั้นทำเขาตกแขนหัก ทุกคนในหมู่บ้านบอกว่าม้าตัวนี้มันไม่ดี ผู้ชายคนนี้โชคร้ายมาก แต่อีกอาทิตย์หนึ่งพระราชาเกณฑ์ผู้ชายทุกคนไปรบ แต่ผู้ชายเลี้ยงม้าไปไม่ได้ เพราะแขนหัก ส่วนคนที่ไปรบตายหมด ดังนั้นมันเลยเห็นว่าตอนจบมันยังไม่จบ มันตัดสินไม่ได้ว่าสิ่งไหนดีไม่ดี มันยังไม่ใช่ตอนจบจนกว่าเราจะตาย เราเลยไม่เชื่อว่าวันนี้ไม่ดี แล้วพรุ่งนี้จะกลับมาดีไม่ได้ ถ้ามันจะไม่ดีตอนนี้ มันอาจเป็นทางแยกที่ไปเจอเรื่องที่ดีกว่าก็ได้ 

อีกอย่างคือเราคิดว่าทุกคนมีสัญชาตญาณตัวเองมาตั้งแต่เกิด การเชื่อในสัญชาตญาณตัวเองมันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะเรารู้จักตัวเองมากที่สุด เราก็เลยใช้สิ่งนั้นมาโดยตลอด 

พอตัดสินใจไปอยู่อังกฤษแล้ว ได้ทำอะไรบ้างถึงสามารถฟื้นฟูใจตัวเองกลับมาได้

เราไปอยู่ที่นั่นประมาณ 7 เดือน ตอนแรกวางไว้ 4 เดือน เรียนคอร์สสารคดีประมาณ 3 เดือน เราชอบทุกอย่างที่นั่นมาก ชอบเมือง รู้สึกว่าอยู่ได้ไม่อันตราย ได้ไปเดินมิวเซียม แกลเลอรี ได้เจอคนใหม่ๆ ไปงานอีเวนต์ เจอศิลปิน เป็นพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดีมาก 

แล้วเราเป็นคนสองประเภท คือบางครั้งเราก็ต้องการเซฟโซนที่จะได้ทบทวนตัวเอง เราก็จะอยู่แต่ในห้อง อีกส่วนคือเราสามารถออกไปเจอคนใหม่ๆ ที่ใหม่ๆ ได้ทันที การได้อยู่ที่นั่นมันทำให้เรารู้สึกกลับมาเป็นตัวเองเกือบร้อยเปอร์เซนต์ แล้วมันก็ทำให้เรารู้ว่าการได้หยุดเดินบ้างมันก็ดี ได้คุยกับตัวเอง เห็นอะไรชัดขึ้น เพราะถ้าเดินทางมันก็เหมือนอยู่บนรถ จะเห็นข้างทางชัดได้ยังไง

ยิ่งได้เจอเพื่อนที่เรียนด้วยกัน เขาก็ทำให้เรามั่นใจเรื่องถ่ายภาพมากขึ้น จากตอนแรกที่รู้สึกตัวเองไม่มีความสามารถแล้ว เราเหมือนได้กลับมาเยียวยาตัวเองอีกครั้ง มีครั้งหนึ่งเพื่อนบอกให้เราปิด live view ไม่ให้เราเช็กภาพเวลาถ่ายตลอดเวลา แล้วเขาบอกให้ดูจาก viewfinder อย่างเดียว ให้เราฝึกปรับระยะจากตรงนั้น ถ่ายเสร็จแล้วให้มั่นใจว่ามันจะออกมาดี ไม่งั้นเราก็จะถ่ายแก้ใหม่ไปเรื่อยๆ 

พอทำไปได้สักพัก มันเปลี่ยนข้างในตัวเราด้วยนะ เรามั่นใจที่จะถ่ายภาพมากขึ้น กลับมารู้สึกดีกับตัวเอง อย่างน้อยคือได้รู้ว่าความรู้สึกชอบมันยังไม่หมดไปนี่ อะไรที่มันอยู่ลึกสุดหัวใจที่ตัวเองรักอยู่ มันก็แค่รอวันที่ไปตะกุยขึ้นมาอีกครั้งว่าตื่นๆ ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะนะ (หัวเราะ)  

แล้วทำไมเลือกเรียนสารคดี

ก่อนหน้านี้เราเคยถ่ายภาพคุณยายคนหนึ่งที่แม่สาใหม่ แล้วเขาทำผ้าเขียนเทียนที่กำลังจะหมดไปจากประเทศไทย เราขับรถไปกับเพื่อน ไปคุยกับเขา แล้วเขาบอกว่าถ้าตายไปจะไม่มีเด็กรุ่นใหม่มาทำต่อแล้ว เพราะทุกคนออกไปทำงานตัวเมืองเชียงใหม่ เราเลยเอาเรื่องนี้มาเขียนลงเพจ แล้วมีคนเมสเซจมาขอบคุณที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เขาเป็นลูกหลานในหมู่บ้าน ถ้าทำงานเก็บเงินได้สักก้อนแล้วจะกลับไปสืบสานต่อ

โห นี่แหละมันคือการเปลี่ยนแปลง อย่างที่เคยบอกว่าเราอยากทำงานที่เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง นี่เลยเป็นจุดเล็กๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราคิดได้ว่าอย่างนี้สิ งานเรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เราเลยสนใจสารคดีแล้วก็เลือกเรื่องนี้ไปพรีเซนต์ในคลาสว่าเราอยากบันทึกโลก อยากใช้กล้องบันทึกทุกอย่างเพื่อทำให้คนรู้ว่าในโลกมีสิ่งนี้ อาจจะแค่บันทึกเพื่อไม่ให้มันหายไป หรือโชคดีหน่อยคือสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้

นี่เป็นอีกเหตุผลที่คุณมาทำสารคดีกับไทยพีบีเอสหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้คุณไม่ค่อยรับงานรายการโทรทัศน์เท่าไหร่

ใช่ เวลามีงานหน้ากล้องเรามักปฏิเสธเพราะคิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดี ไม่รับงานถ่ายแบบเลยทั้งๆ ที่เติบโตมาจากเน็ตไอดอล (หัวเราะ) 

ตอนเรากลับมาจากอังกฤษ เราก็อยากทำงานสารคดีอยู่แล้ว แล้วพอดีมีสายเข้ามาจากไทยพีบีเอส ชวนเราไปทำรายการสารคดีเกี่ยวกับ AEC เราก็ตอบตกลงโดยไม่ถามอะไรเลย เพราะเราอยากเรียนรู้การทำงานกับมืออาชีพ มันเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้ร่วมงานกับช่างภาพระดับประเทศอย่างพี่ทอม (ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์) 

 

เล่าได้ไหมว่ารายการนี้เกี่ยวกับอะไร

แกนหลักคือเรากำลังไปดูว่าสิ่งที่เราทำสัญญากับกลุ่ม AEC มากี่สิบปีมันเกิดผลจริงๆ ไหม หรือมันเป็นแค่วาทกรรม มันเอื้อกับใครบางกลุ่มหรือเปล่า เราจะไปดูในทุกด้านทั้งการศึกษา แรงงาน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม พาคนดูไปหาคำตอบ แต่เราจะไม่ตัดสินใจแทนคนดู ให้เขาตัดสินใจเอง

มันเลยเป็นงานที่หนักเหมือนกัน ตอนทำงานแรกๆ เราช็อกไปเลย เครียดมาก โทรไปร้องไห้กับพี่ทอม ไม่ไหวแล้ว มันหนักมาก พี่ทอมก็บอกว่ามันเป็นโอกาสที่อีฟจะมองว่ามันเป็นอะไรก็ได้ ถ้ามองมันเป็นกำแพงก็แค่กระโดดก้าวข้ามออกไป อีฟเลยโอเค ทำต่อ 

 

ทำไมตอนนั้นบอกว่าหนัก ไปเจออะไรมา

เราไม่เคยอยู่ในทีมสารคดีมาก่อน ทุกอย่างมันอยู่เหนือความคาดหมายหมดเลย เคสที่จะไปเจอ บางคนนัดแล้วไม่มา บางคนไม่ได้นัดแต่มีโผล่ขึ้นมา วันที่สองเราสัมภาษณ์ไป 3 เคส เรารู้สึกว่าทุกอย่างเหมือนไม่ได้จัดการ อยู่ดีๆ เคสที่ 3 โผล่มาเป็นเคสที่ 1 มันทำให้เรารู้ว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา กองเรามี 4 คน ทุกคนเอนจอยกับการทำงานมาก เขาทำสารคดีมาก่อน รับมือได้ทุกอย่าง ส่วนเราเป็นพิธีกรมือใหม่ เป็นด่านหน้าของทุกอย่างเหมือนกัน แล้วมันเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะทีมปล่อยให้เราได้สัมภาษณ์เองเลย ทุกคำถามสะท้อนจากความคิดเราหมด ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เลยรู้สึกหนักในตอนแรก แต่ก็ภูมิใจกับงานนี้มากๆ 

 

ความรู้สึกตอนทำสารคดีแตกต่างกับตอนที่เราเดินทางท่องเที่ยวไหม

แตกต่างมาก คนละเรื่องเลย แล้วเราโตขึ้นมาก เพราะตอนเดินทางท่องเที่ยวเราเจอเรื่องสวยงาม มันมีเวลาได้คิดอะไรหลายอย่าง แต่ว่าสารคดีเราทำแล้วถ่ายตอนนั้นเลย พูดออกมาตอนนั้นว่าคิดยังไง บางทีมีเวลาตกตะกอน 5 นาที แล้วทำทันที

อีกมุมคือเราได้เห็นความจริงแบบไม่ประดิษฐ์ เพราะมันคือการทำสารคดี มันคือความจริง ถ้าเราแค่บิดอะไรสักอย่างหรือพล็อตมันขึ้นมา อันนั้นมันก็ไม่ใช่แล้ว เราต้องซื่อสัตย์กับความจริง ได้เห็นอะไรที่ถ้าเราไม่มาทำรายการนี้เราไม่มีทางเห็นแน่นอน อย่างเราไปสิงคโปร์ เราจะรู้ว่าที่นี่สะอาดมาก แต่จริงๆ มันก็มีมุมที่ไม่สะอาดอยู่เหมือนกัน เราได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์คุณโทมัส (Thomas Peacock-Nazil) ผู้ก่อตั้ง Seven Clean Seas เราได้ไปเห็นแม่น้ำชิตารุม แม่น้ำที่สกปรกมากที่สุดในโลก ไปคุยกับผู้นำที่เขาดูแลเรื่องนี้ที่เขาอยากให้ทุกคนช่วยกันดูแล เพราะเขาบอกว่าแม่น้ำชิตารุมมันไหลออกทะเล ดังนั้นมันเป็นของเราทุกคน การทำงานครั้งนี้เลยทำให้เราได้เปิดประสบการณ์มากๆ

 

พอฟื้นฟูตัวเองจากภาวะหมดไฟ ได้กลับมาทำสารคดีอย่างที่ใจต้องการ ตอนนี้เรายังเดินทางและทำเพจอยู่ไหม

เรายังรักการเดินทางอยู่ แต่อย่างที่บอกว่ามันเป็นการเดินทางที่เปลี่ยนไป ความหมายมันไม่เหมือนเดิม ตอนนี้การเดินทางของเราจะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่ได้ไปเห็นคนอื่น ไม่ได้ไปเจอเรื่องราววัฒนธรรมและรู้จักคนในท้องถิ่น

ยิ่งเดินทางเรายิ่งรู้นะว่าการเดินทางมันเหมือนดาบสองคม เพราะมันดีในแง่เศรษฐกิจและรายได้ แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ทำลายธรรมชาติ หรือบางครั้งก็มีนักท่องเที่ยวบางคนที่ไม่เคารพคนในท้องถิ่น การเดินทางของเราทุกครั้งจึงต้องเคารพธรรมชาติ และไม่เบียดเบียนคนในท้องถิ่น เราไม่ทำอะไรที่ผิดแปลก ไม่ไปขอให้ชาวบ้านเขาทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำหรือไม่เป็นตัวเขา

แล้วตอนนี้เราไม่ได้เดินทางเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองอย่างเดียวแล้ว แต่ใช้สื่อเข้าไปสะท้อนหรือบอกเล่าอะไรบางอย่างในสิ่งที่เราเจอ จุดประสงค์การเดินทางมันก็เปลี่ยนไป ความหมายการเดินทางของเรามันไม่ได้เกี่ยวกับระยะทางแล้ว แค่ออกไปเจออะไรใหม่ๆ มันก็เท่ากับการเดินทางสำหรับเราแล้ว อีกอย่างคือทุกครั้งที่เราสื่อสารลงเพจ เราก็ไม่ได้ push ว่าทุกคนจะต้องไปที่นี่ จุดเช็กอินอยู่ตรงไหน เราไม่ได้ทำอะไรแบบนั้น และที่สำคัญคือตัวเราเองก็รู้สึกห่างไกลจากคำว่าบล็อกเกอร์นานแล้ว 

ล่าสุดเห็นว่ากำลังจะมีนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรกด้วย เล่าได้ไหมว่าคือคอนเซปต์อะไร

จริงๆ นิทรรศการนี้ The Jam ติดต่อมาตั้งแต่เรากลับมาจากอังกฤษแล้ว เพราะเขาสนใจภาพถ่ายเรา พอดีช่วงนั้นกำลังทำโปรเจกต์ภาพถ่ายสารคดีเกี่ยวกับคนใช้ชีวิตบนเรืออยู่ เลยเสนอ The Jam ว่าจะจัดเรื่องนี้ แต่หนึ่งปีผ่านไปก็ยังทำไม่เสร็จ แล้วเราก็ยังไม่อยากจะให้มันเสร็จเร็วขนาดนั้นเลยเปลี่ยนคอนเซปต์ใหม่

ชื่องานนี้คือ The Temporary Observer เราพยายามเล่าเรื่องของตัวเองที่สังเกตอะไรต่างๆ ตั้งแต่เรื่องราวความสวยงามของโลกไปจนถึงวันที่เราหยุดเดินทาง แต่เรายังรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงยังวนอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับเราหยุดเดินทางภายนอก แล้วมาเดินทางภายในแทน แล้วอีฟเปรียบตัวเองกับคนดูเป็นผู้สังเกตการณ์ที่จะมาคอยสังเกตว่าอีฟเป็นยังไง แล้วความรู้สึกภายในของตัวเขาเป็นยังไง

ฟังคอนเซปต์งานนี้แล้วเหมือนสิ่งที่คุณได้ตกตะกอนจากการเดินทางที่ผ่านมาทั้งหมด

ใช่ แต่นิทรรศการนี้ไม่ใช่ตอนจบของการเดินทางทั้งหมดนะ เพราะทุกอย่างมัน temporary เราจะยังเดินทางเพื่อค้นหาอะไรบางอย่างต่อไป หาสิ่งใหม่ที่มันอาจจะตอบโจทย์ในช่วงเวลานั้นๆ

อย่างตอนทำนิทรรศการนี้เราก็ได้เรียนรู้ตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย ตอนปรินต์รูปมาวางพี่ที่เป็นที่ปรึกษาเราเขาบอกให้เราลองแบ่งรูปออกเป็นสองกลุ่ม สุดท้ายเราแบ่งออกมาโดยที่ไม่รู้เลยว่ากำลังแบ่งมู้ดของตัวเองอยู่ ฝั่งหนึ่งคือภาพการเดินทาง คือมีภาพคน ภาพของ อีกฝั่งคือภาพความรู้สึกของเรา พี่เขาบอกว่านี่ไง ภาพฝั่งการเดินทางมันคือการรีเสิร์ชของอีฟ ถ้าเราไม่เดินทางก็ไม่สามารถตกตะกอนออกมาเป็นภาพอีกกลุ่มได้ เหมือนการเรียนรู้แล้วเราเอามาทำงานความรู้สึกต่อ

สุดท้ายตอนนี้คุณได้ทำงานหลายอย่างตามเป้าหมายแล้ว ถ้าให้นิยามตัวเองตอนนี้คุณอยากจะนิยามว่าอะไร

เราอยากเป็นศิลปิน (ตอบทันที) แต่เรารู้ว่าห่างไกลกับคำนี้มาก ศิลปินมันเป็นคำที่ยิ่งใหญ่มาก เราอยากเป็นศิลปินที่สามารถสร้างสรรค์งานได้ทุกที่ ไม่มีข้อจำกัด เพราะถ้าเราบอกว่าเราคือช่างภาพ เราก็จะต้องมีแต่งานภาพถ่าย เราไม่อยากนิยามตัวเองว่าเป็นนักเดินทาง เพราะตอนนี้เราก็ไม่ได้เดินทางหนักขนาดนั้น ทุกวันนี้เราอยู่กับที่ของเรา สร้างสรรค์ผลงานสักอย่าง น่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด

 

ภาพ มาริษา รุ่งโรจน์, Viewzfinder 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน