ชีวิตนี้สอนให้รู้ว่า “ชีวิตคือการเรียนรู้” – รศ. ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

Highlights

  • คุยกับ รศ. ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำงานสอนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 48 ปี
  • อาจารย์โกวิทเติบโตมากับแพสชั่นที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จนพบกับอาชีพที่ตรงใจอย่างการเป็นอาจารย์ ทั้งยังสนใจร่ำเรียนศาสตร์ต่างๆ เพิ่มเติมจนได้ปริญญามา 5 ใบ ในขณะเดียวกันเขาในวัยกลางคนก็ได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตที่สำคัญ และกลายเป็นอาจารย์กับนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทย
  • “ผมไม่เคยคิดหรืออยากที่จะหยุด เพราะคิดว่าถ้ายังมีแรงเดินได้ เขียนได้ พูดได้ มันไม่มีสาเหตุอะไรที่ต้องหยุด แล้วหยุดก็น่าเบื่อ โดนเขาด่าบ้างก็ดี มีชีวิตชีวาขึ้นมา”

หากให้จินตนาการถึงชีวิตช่วงวัยเกษียณ เรามักจะคาดหวังภาพความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ได้พักผ่อนอย่างสบายๆ ไม่ต้องทำงาน ไม่มีอะไรให้กังวล ในบ้านหลังเล็กๆ อันร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ในย่านชานเมืองหรือต่างจังหวัดที่ไม่มีเสียงผู้คนหรือรถรามารบกวน

การนัดสัมภาษณ์กับอาจารย์โกวิทในวันนี้ทำให้เราได้เห็นภาพจริงของจินตนาการนั้น

ภาพบ้านในหมู่มวลต้นไม้ใหญ่ บรรยากาศอันเงียบสงบ และความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายที่เราวาดฝัน ทว่าสิ่งที่ผิดคาดไปบ้างเห็นจะเป็นการที่อาจารย์ยังนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ในห้องอย่างขะมักเขม้น ราวกับคนวัยทำงานที่ยังไม่เกษียณ

ในสายตาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ. ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ คืออาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ที่ทำงานสอนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 48 ปี แม้ในแง่ของอายุการทำงานทางราชการชายผู้นี้จะผ่านวัยเกษียณมานานแล้ว แต่ตอนนี้เขาก็ยังไม่หยุดทำงาน ทั้งยังรับบรรยายตามสถานศึกษาต่างๆ

ขณะเดียวกันในสายตาคนที่ติดตามการเมือง โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ คืออาจารย์และนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเห็นถึงการเมืองไทยด้วยคำถามอย่าง ‘ชาติคืออะไร’ ผ่านทวิตเตอร์ ที่ได้จอห์น วิญญู ลูกชาย เจ้าของรายการ เจาะข่าวตื้น สมัครให้ จนบัดนี้มีผู้ติดตามร่วมหลักแสนคน

แน่นอนว่าเราเคยเห็นบทสัมภาษณ์อาจารย์โกวิทเรื่องการเมืองและการเลี้ยงลูกผ่านตามาไม่น้อย แต่ครั้งนี้เราจะพูดคุยกับอาจารย์ถึงทัศนะอื่นๆ และมุมมองที่ชายคนนี้มีต่อชีวิตกันบ้าง

จากนี้คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นในห้องทำงานยามบ่ายแสนธรรมดาที่มีเสียงเตือนโซเชียลมีเดียของอาจารย์โกวิทดังเป็นระยะๆ

เรียนรู้เปลี่ยนความคิด

กว่าจะมาเป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหานับพันหมื่นคนขนาดนี้ ย้อนกลับไปเมื่อตอนวัยเรียน โกวิทคือเด็กเกเรไม่ตั้งใจเรียนที่เอาแต่หนีโรงเรียนไปชกมวย ถึงขนาดสอบเรียนต่อมหาวิทยาลัยในไทยไม่ติดเลยสักที่ จนพ่อของเขาตัดสินใจส่งลูกชายคนที่ 16 ในบรรดาลูกทั้ง 19 คนไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามพี่สาว

“ตอนเด็กเขาก็ฮิตหมอกับวิศวะ แต่ผมไม่ชอบ ไอ้ที่ไม่ชอบผมว่าเรียนก็ไม่ได้ดี พอไปทางสายสังคมศาสตร์ก็รู้สึกพอจะไปไหว ตอนนั้นเป็นช่วงสมัยจอมพลถนอม จอมพลสฤษดิ์พอดี เศรษฐศาสตร์ก็ขึ้นหม้อ อยากจะเรียนดู ก็สนุกดี พอตอนหลังไปเจอกราฟ ตัวเลข และคำนวณอะไรก็ไม่ค่อยถูกกับเขา เลยย้ายมาทางรัฐศาสตร์ คิดอยู่ว่าจบมาทำอะไรหนอ เพราะต้องนึกถึงอาชีพด้วย ก็เรียนๆ ไปแล้วรู้สึกว่าเรียนประวัติศาสตร์แล้วสนุกแฮะ ก็เลยหันไปทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะฉะนั้นผมเลยจบปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์ และปริญญาโททางประวัติศาสตร์จาก Illinois State University” อาจารย์หัวเราะด้วยน้ำเสียงที่เราคุ้นเคยจากหลายรายการที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์

หลังจากเรียนจบปริญญาโท โกวิทในวัย 20 ต้นๆ ได้พบรัก แต่งงาน และเดินทางกลับมาที่ประเทศไทย เนื่องจากทั้งเบื่อและฝืนใจตัวเองเต็มทีกับการเรียนที่นี่ 

“ผมค้นพบสิ่งหนึ่งคือ ผมจะมีความสุขเมื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พอกลับมาสมัครเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็รู้สึกตรงกับนิสัยความชอบพอดี เพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และได้ captive audience ก็คือนิสิตนักศึกษาที่ต้องนั่งฟัง สนุกดี และบังเอิญตอนที่ผมเข้าไปเป็นอาจารย์มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน พอ พ.ศ. 2516 ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีการตั้งภาควิชารัฐศาสตร์ฯ ในมหาวิทยาลัยขึ้น ผมเป็นคนรับผิดชอบก่อตั้งและเขียนหลักสูตร ก็เลือกเขียนวิชาที่ผมชอบ สนุกสนานดี สอนตามใจตัวเองชอบ และได้ค้นคว้าอะไรต่อมิอะไรเองเพิ่มเติม รู้สึกมีความสุขดี ผมเลยอยู่ที่เกษตรศาสตร์แห่งเดียวกระทั่งเกษียณ” เท่ากับว่าในช่วงวัยรุ่นโกวิทใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนการสอน 

“ตอนนั้นไม่ได้อยากเป็นแบบวัยรุ่นทั่วไปที่อยากรู้อยากลองอะไรใหม่ๆ เหรอ” เราตั้งคำถาม

“ผมก็ไม่ใช่ว่าหลงใหลอะไรไปซะหมด เข้าไปทดลองดูทีสองที เที่ยวก็เที่ยวบ้าง ไม่ได้ว่าติดอกติดใจอะไรนักหนา แต่เรื่องอ่านหนังสือศึกษาหาความรู้ ถ้าเผื่อได้ไปรู้อะไรใหม่ขึ้นมาแล้ว ผมมีความสุขจากเรื่องนั้นมากกว่า เหมือนวันนี้ได้รู้อะไรใหม่ดี และโชคดีที่ภรรยาผมเป็นคนคล้ายๆ กันก็เลยอยู่กันยืดและอยู่กันมาได้ตลอด เพราะชอบสิ่งเดียวกัน ซึ่งผมว่ามันคงหายากมั้ง ไอ้ที่ชอบอ่านหนังสือหรือศึกษาเพิ่มเติมได้อะไรใหม่ๆ ก็ดีใจ ได้ความรู้หรือความถนัดอะไรขึ้นมาใหม่ก็ดีใจ มีความสุข เพราะฉะนั้นไอ้กระบวนการนี้ก็เป็นเรื่องการค้นคว้า ไอ้ที่เปลี่ยนทัศนคติมาตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น จนถึงตอนนี้ ก็มาจากความรู้ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นมา มันเลยทำให้เปลี่ยน”

“แล้วความคิดความอ่านตอนนี้เปลี่ยนไปจากตอนวัยรุ่นขนาดไหน” เราถามต่อ

“มันพลิกกลับเลยนะ พลิกกลับคืออย่างที่สั่งสอนอบรมมาแบบล้างสมองในการมองดูประเทศชาติ รู้สึกว่ามันเห็นตรงกันข้ามกันไปเยอะมาก พูดว่า transform ก็คงจะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ไทย” ชายตรงหน้าแย้มยิ้ม

คำสอนของชีวิต

กว่าจะมาเป็นชีวิตคนคนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวและสภาพแวดล้อมคือปัจจัยหลักที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดความอ่าน ชายวัย 71 คนนี้เองก็เหมือนกัน ด้วยความที่พ่อเป็นคนดุและเข้มงวด กลัวว่าลูกชายจะหนีเรียนไปชกต่อยอีก จึงจับเข้าเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่เป็นโรงเรียนประจำ ซึ่งทำให้เด็กต่างจังหวัดอย่างเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในสังคมที่ต่างจากเดิมอย่างลิบลับ

คำสอนที่ทางโรงเรียนเน้นย้ำและเขาเห็นว่าสำคัญมากคือ การเป็นผู้ดี

“ผู้ดีก็คือคนที่ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น” โกวิทหยิบยกคำนิยามที่ได้ฟังจากตอนเรียนมาเล่าให้เราฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขายึดถือมาจนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงคำสอนเรื่องการดูคนให้เป็นและการรู้จักทำงานเป็นทีมที่เขาได้เรียนรู้จากการเล่นกีฬารักบี้สมัยเรียน

“กีฬาประเภทนี้เป็นกีฬาที่หนักและรุนแรง คนเล่น 15 คน ไม่เน้นเด่นคนเดียว มันต้องไปเป็นทีม ต้องมีสปิริต แล้วมันเล่นสกปรกง่าย โกงง่าย ลอบทำร้ายกันง่าย คนเล่นรู้ เพราะฉะนั้นลงเล่นกันแค่เกมเดียวก็รู้แล้วว่าใครผู้ดี ใครกุ๊ย อันนี้รู้กันมาตลอด ไอ้นี่สันดานแบบนี้ ไอ้นั่นเป็นคนแบบนั้น เพราะมันแสดงจากเกมกีฬา” ตอนเรียนอาจารย์ก็เล่นกีฬาสนุกไปตามประสาคนหนุ่ม ทว่าเมื่อโตขึ้นก็เข้าใจสิ่งที่แฝงมากับการสกรัมแย่งลูกรักบี้

นอกจากนี้เขาได้รับการอบรมสั่งสอนว่าถ้าชนะแล้วอย่าดีใจจนมากเกินไป ให้รู้จักถ่อมเนื้อถ่อมตัว ไม่ว่าจะชนะกีฬาหรือเรื่องใดก็ตาม ซึ่งนั่นส่งผลถึงวิธีการรับมือกับความสุขและความทุกข์ของเขาในวัยหนุ่มจนมาถึงตอนนี้ด้วย

“ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเอกซ์ตรีม ดีใจก็ดีใจ เสียใจก็เสียใจ พอนอนหลับตื่นขึ้นมาก็เป็นอีกวันแล้ว ไม่ได้ถึงขนาดลิงโลดฉลงฉลองมากมายอะไรนักหนา เอาอย่างกรณีลูกผมเรียนจบ ผมไม่เคยไปงานรับปริญญาเขาเลย ผมบอกว่ามันไม่ได้สำคัญที่ปริญญา มันสำคัญว่าตอนเรียนได้อะไรบ้าง ไอ้ความสำคัญมันอยู่ตรงนั้นมากกว่า และผมก็ไม่เห็นด้วยเลยกับที่ไปหวือหวาแต่งหน้ากันตั้งแต่ตี 2-3 ผมไม่ส่งเสริม แต่แม่เขาจะไปก็ตามใจ ผมไม่ไปแล้วก็ไม่ได้ตื่นเต้นดีใจอะไรนักหนา เรียนมันก็ต้องจบล่ะวะ” เราหัวเราะขำไปกับคำอาจารย์ 

“ส่วนเวลาเสียใจก็ไม่ได้เสียใจขนาด shut out หรืออยู่ในห้อง อยู่ในบ้าน ไม่ยอมออกไปไหน ดีใจก็ไม่ได้กระโดดโลดเต้นน่าเกลียดอะไรแบบนั้น”

และด้วยความที่เป็นคนรู้สึกกลางๆ แบบนี้ จึงไม่ค่อยมีความเสียดายในชีวิตที่ผ่านมาสักเท่าไหร่ จะมีก็แต่เสียดายองค์ความรู้ที่ตนน่าจะได้ร่ำเรียนตั้งแต่ครั้งยังมีเรี่ยวแรง เพราะตัวเขาเองสนใจศิลปะการต่อสู้ถึงขนาดเรียนยูโดและคาราเต้เพิ่มเติมจนตอนนี้เป็นนักกีฬาสายดำ ชมรมยูโด แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทว่ายังมีอีกหนึ่งสาขาวิชาการต่อสู้ที่เขาสนใจแต่ไม่มีโอกาสร่ำเรียน

“ผมไปเจออาจารย์ผู้หญิงคนหนึ่งสอนไอกิโดที่เกษตรฯ ตอนนั่งดูก็รู้สึกว่าทำไมเราไม่เคยเรียนรู้สิ่งนี้มาก่อน เพราะมันเกิดชอบขึ้นมามากๆ มันคล้ายๆ ยูโดแต่ก็ต่างกัน เลยเสียดาย ความจริงเราน่าจะเรียนตอนวัยรุ่น ตอนนั้นจะ 40 อยู่แล้ว ถ้าถามถึงสิ่งที่เสียดายก็อยากจะเรียนอันนี้ แต่ตอนนั้นก็หาเรียนไม่ได้ด้วยล่ะ คิดว่าถ้าเผื่อได้เรียนรู้ก็น่าจะดี”

จงสงสัย จงตั้งคำถาม

จากที่พูดคุยกันมา ทำให้เราทราบว่าอาจารย์มีแพสชั่นกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างมาก ไม่แม้เฉพาะในเรื่องที่สนใจ แต่ยังคาบเกี่ยวไปถึงวิชาความรู้แขนงใหม่ๆ เห็นได้จากเมื่อได้ทำงานเป็นอาจารย์ ชายคนนี้ก็ศึกษาต่อปริญญาเอก สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จนกลายเป็นพระสหายร่วมชั้นของสมเด็จกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงตามคำชวนลูกศิษย์ไปเรียนปริญญาตรีด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตอนอายุเหยียบเลขสี่ เพราะเจอเหตุการณ์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบกระเทือนถึงชีวิตการทำงาน

จากปัญหาและผลการเลือกตั้งคณบดีคณะสังคมศาสตร์ที่ลงสมัครในปีนั้น บวกกับพลาดเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในการพิจารณาขั้นสุดท้าย ทำให้เขาไปมุ่งเน้นเอาดีด้านวิชาการอย่างเต็มที่ ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรื่องเหล่านี้อีก

“ผมเรียนจบปริญญาตรีตอนอายุ 52 เรียนมา 13 ปี ตกแล้วตกอีกเพราะเถียงเขา ไม่เห็นด้วยกับอะไรต่อมิอะไรต่างๆ พอจบมาตอนนั้นอินเทอร์เน็ตเพิ่งเข้า ผมไม่ค่อยรู้เรื่องไง ก็เลยคิดว่าไปเรียนต่อดีกว่า อัพเกรดตัวเองทางด้านไอที ไปเรียนกฎหมายปริญญาโทด้วย ซึ่งน่าแปลกที่เขาตอบรับและให้ทุน ผมก็ขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยไปเรียน เขาก็บอกว่าบ้า ไม่ให้เรียน เพราะอีก 8 ปีก็เกษียณแล้ว ผมเลยทำเรื่องขอไปเพิ่มพูนความรู้ ไปเขียนตำรา เขาเลยยอมให้ไปเรียนที่ The University of Alabama ที่สหรัฐอเมริกา

“ผมก็ใช้เงินทุนส่วนตัวในการเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่ ปีหนึ่งก็จบ ไม่ยักเหมือนเมืองไทย ที่นั่นเถียงได้ไม่มีปัญหา ถ้ามีเหตุผลก็ชี้แจง เล่นกันให้เต็มที่ แต่ของไทยเราผิดธงก็ตก พรรคพวกที่มาติวผมถึงกับยกมือไหว้ว่าขอเถอะ อย่าเถียงเขาเลย” อาจารย์เจ้าของปริญญา 5 ใบหัวเราะร่วน

ช่วงที่เรียนรู้วิชากฎหมายและศึกษาเทคโนโลยีจนพอจะเป็น computer literacy โกวิทบอกกับเราว่าเขารู้สึกสนุกมาก เพราะทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่เขาในวัยห้าสิบกว่าได้พบเจอ แม้แต่การส่งเปเปอร์ให้ผู้สอนตรวจทางอีเมล

จนกระทั่งถึงช่วงเกษียณอายุราชการในวัย 60 เขาก็ยังไม่หยุดสอน ทั้งยังทำงานอย่างต่อเนื่องจนมาถึงตอนนี้ ตอนที่เขายอมรับว่าตัวเองแก่แล้วจากสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

แต่ในแง่หนึ่ง โกวิทก็ยอมรับว่าเพราะความแก่นี่แหละที่ทำให้เขาค้นพบความเข้าใจในวิชาความรู้ที่สอนอย่างถ่องแท้ ชนิดที่หากย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อนจะไม่มีทางสัมผัสความรู้สึกแบบนี้ได้

“มันแปลกนะ ผมอ่านเรื่องพุทธศาสนา เรื่องการรู้แจ้งหรือการตรัสรู้ ซึ่งวิธีการที่จะตรัสรู้ได้ก็แบ่งเป็นอย่างๆ มีการเรียนรู้ การรักษาศีล กว่าจะได้ถึงปัญญา และไอ้ที่น่าสนใจคือสอนๆ ไปเกิดเข้าใจเอง พูดๆ ไปมันคล้ายๆ โดราเอมอน เกิดเป็นหลอดไฟปิ๊งขึ้นมา สอนๆ ไปอาจารย์เข้าใจเอง มันเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะจุดเน้นสำคัญของความรู้คือความสามารถในการเชื่อมโยง เชื่อมโยงไปเชื่อมโยงมาทำให้กระจ่าง เห็นรูปภาพใหญ่ และเข้าใจอะไรต่อมิอะไรโดยไม่ต้องท่อง มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา ไปถึงที่ไหนจะพูดจะเขียนอะไรก็ออกไปเลย ออกไปเหมือนกับน้ำ เป็นประสบการณ์จากการสอน จากการมีอายุมากขึ้น”

“พูดง่ายๆ ก็ได้ คำถามที่เกิดขึ้นเสมอๆ อย่างคุณรักชาติไหม คนส่วนใหญ่จะตอบว่ารัก แต่พอถามว่าชาติคืออะไร คนก็ตอบกันไม่ได้ มิหนำซ้ำยังมีคำถามว่ารักแบบไหนอีก หรืออย่างการบอกว่าเขาเป็นคนดี พอเป็นตอนนี้เราจะถามต่อว่าดียังไง ดีในแง่ไหน มันเกิดเป็นคำถามเหล่านี้ขึ้นมา แล้วก็โจมตีกัน ด่ากัน เพราะมีคนตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นสังคมไทยถึงไม่ให้ถามไง ผมพยายามบอกลูกศิษย์ว่ามีอะไรให้ถาม ส่วนใหญ่ก็ไม่ถาม เชื่อกันไปหมดจนหมดท่า” ชายตรงหน้าเราอธิบายด้วยน้ำเสียงอ่อนใจ 

“บางคนบอกว่าเราต้องเลือกคนดีมาเป็นผู้นำของพวกเรา ผมก็ตั้งคำถามว่ายังไงถึงเรียกว่าเป็นคนดี ต้องเป็นเพื่อนที่ดี เป็นสามีที่ดี เป็นพ่อที่ดีหรือเปล่า แล้วมันดียังไง มะม่วงดีกับทุเรียนดีเหมือนกันไหม มีดโกนกับมีดปังตอดีกันยังไง มันก็ดีคนละแบบ แล้วทำไมถึงพูดกันง่ายจังเลยว่าผมเป็นคนดี พวกเราเป็นคนดี คนนั้นคนนี้เป็นคนดี ไอ้ที่ทำให้คนหมั่นไส้ผม ด่าผมอยู่ทุกวัน เพราะผมมักจะถามแบบนี้ พอเขาตอบไม่ได้ก็โกรธ”

มีแรงก็ทำไป ทำไปจนกว่าจะไม่มีแรง

แน่นอนว่าใครหลายคนเคารพนับถือเขาจากบทบาทอาจารย์ผู้ทรงความรู้และเป็นที่รักของคนรอบข้าง แต่อีกมุมหนึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยกย่องเขาจากบทบาทนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นต่อจุดยืนของตนในโลกออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย

แต่นอกจากที่มีคนเห็นด้วยและสนับสนุน ก็มีอีกฝั่งที่คิดเห็นตรงข้ามและจู่โจมกลับด้วยถ้อยคำรุนแรง อย่างกรณีอาจารย์เองก็ถึงขั้นที่ลูกศิษย์บางคนส่งข้อความมาบอกว่าขอเลิกนับถือก็มี แต่ถึงกระนั้นชายคนนี้ก็ยังไม่หยุด ทั้งที่รู้ว่าพูดไปก็รังแต่จะเสี่ยงเพิ่มขึ้น

“ผมไม่เคยคิดหรืออยากที่จะหยุด เพราะคิดว่าถ้ายังมีแรงเดินได้ เขียนได้ พูดได้ มันไม่มีสาเหตุอะไรที่ต้องหยุด แล้วหยุดก็น่าเบื่อ โดนเขาด่ามั่งก็ดี มีชีวิตชีวาขึ้นมา” คู่สนทนาเราหัวเราะสนุก

พอเห็นว่าเอนจอยกับชีวิตขนาดนี้ เราจึงถามเขาถึงความคิดที่ว่าตัวเองใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้วหรือยัง

“ผมก็ไม่มีอะไรจะห่วงแล้ว คิดว่าโอเคแล้ว” ชายที่นิยามตัวเองว่าเป็นสายปฏิบัตินิยมตอบด้วยท่าทีมั่นใจ เนื่องจากเป็นคนไม่ค่อยได้คิดหรือตั้งคำถามกับการเกิดมาและการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่ ทำให้อาจารย์ยึดหลักคิดเรื่องถ้ามีงานก็ทำไป ถ้ามีแรงก็ใช้ชีวิตไป เพื่อพิชิตเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละช่วงชีวิต

ซึ่งเป้าหมาย ณ ขวบวัยที่ชีวิตเดินทางผ่านฤดูกาลมากว่า 71 รอบ และอยู่ทันเกือบทุกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของประเทศบ้านเกิดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องนี้

“ก็คงจะพูดแสดงความคิดเห็นไปเรื่อยๆ จะน่าเกลียดไหมที่บอกว่ายังมีเมตตาอยู่ เมตตากับกรุณามันต่างกันนะ เมตตาคือเขาดีอยู่แล้ว เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่เราอยากให้เขาดีขึ้นไปอีก อย่างพ่อแม่เขาเรียกว่ามีเมตตาเยอะเกินไป ลูกดูหนังสือสิ ลูกทำงานสิ ลูกก็รำคาญ ไอ้มีเมตตามันทำให้คนรำคาญ แต่กรุณามันช่วยให้เขาพ้นทุกข์ เช่น เขาไม่มีสตางค์ก็ให้สตางค์เขา เขาต้องการความช่วยเหลือเราก็ช่วยเขา ตอนนี้ผมมีเมตตา ใครไม่รู้โดนล้างสมองได้รับข้อมูลมาผิดๆ ถ้ามีโอกาสผมก็จะพูดแสดงความคิดเห็นไป อยากให้เขารู้ อยากให้เขาเข้าใจ ไม่อยากให้เขาถูกหลอก เลยเป็นลักษณะเสือกไปหน่อย แต่ก็แบบที่บอก การมีเมตตามากเกินไปมันน่ารำคาญ อย่างพ่อแม่เซ้าซี้กับลูกอยู่เสมอ อยากให้ลูกได้ดี เพราะพ่อแม่มีเมตตา ผมเองมีโอกาสสอนก็สอนไป มีโอกาสแสดงความคิดเห็นก็แสดงความคิดเห็นไป ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นศาสดาอะไร แค่ได้เรียนรู้ขึ้นมาและคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีก็อยากบอกต่อเท่านั้นเอง”

ก่อนจากกันเราถามถึงความสุขความทุกข์ของคู่สนทนาในวัยนี้ ซึ่งโกวิทยังคงยืนยันว่าการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ยังนับเป็นความสุขอยู่เสมอ ที่น่าแปลกใจคือความทุกข์ความเศร้าของเขากลับไม่ได้ข้องเกี่ยวกับความรู้ หากแต่เป็นสิ่งที่มาพร้อมความแก่อย่างสังขารที่ร่วงโรย

“ที่ผมเศร้ามากๆ คือผมมักจะเดินออกไปขึ้นรถเมล์จากเกษตรฯ แล้วปกติผมเป็นคนเดินเร็ว แต่ระยะหลังๆ มีนิสิตเดินแซงผมตลอด มันก็เศร้าพอสมควร มีเรื่องกระดูกสันหลังไปทับเส้นประสาท ก็ไปดึง ไปรักษา แต่ที่รู้สึกขัดอกขัดใจเศร้าอกเศร้าใจก็เรื่องสังขาร มันเคยทำได้แล้วทำไม่ได้ ไปเดินไปอะไรสักพักก็ชักจะเหนื่อย แต่ก็ทำความเข้าใจไป ผมก็พยายามรักษาสุขภาพ ทำกายบริหาร และเดินเท่าที่ทำได้ ยอมรับสภาพ ยังไงมันก็ต้องแก่ ยังไงสักวันมันก็ต้องตาย เท่านั้นเอง” 


ทุกวันนี้มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

สรุปง่ายๆ ชีวิตคือการเรียนรู้ พอได้รู้อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาก็มีความสุข มันตื่นเต้น ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ แม้บางครั้งจะโกรธบ้างแต่ก็มีความสุข

เหตุการณ์ที่มอบบทเรียนสำคัญกับชีวิต

เมื่อ พ.ศ. 2518 ต้องขึ้นรถเมล์เป็นประจำ ได้เจอกระเป๋ารถเมล์ผู้ชายปากแหว่งแต่กำเนิด ผมเกิดความสังเวชและหาทางช่วยจนได้เย็บปาก หายดีแล้วก็ไม่เจอกระเป๋ารถเมล์คนนั้นอีกจนทุกวันนี้ แต่จะระลึกถึงอยู่เสมอตอนเกิดทุกข์ร้อนขึ้นมาแบบหนักหนาสาหัส เมื่อนึกถึงการกระทำครั้งนั้นแล้วก็ดูเหมือนว่าความทุกข์ยากดูจะผ่อนคลายและหายไปในที่สุด จึงตระหนักว่าการช่วยเหลือคนโดยไม่หวังผลตอบแทนนั้นมันหวนกลับมาช่วยตัวเราได้จริงๆ

อยากให้คนจดจำตัวเองแบบไหน

ไม่เคยคิด ผมไม่ค่อยจะเชื่อเรื่องพรรค์นี้ด้วย ผมว่าตายไปแล้วเดี๋ยวมันก็ลืม ขนาดนโปเลียนยังพูดเลยว่า ถ้านโปเลียนตายไปประวัติศาสตร์ก็น่าจะบันทึกไว้สักบรรทัดครึ่ง ผมก็ไม่ได้คิด ผมไม่เชื่อเรื่องที่ต้องให้ใครจำ ใครจะมัวจำ เยอะแยะไป มากมายอะไรกันนักหนา แต่ถ้าเผื่ออยากให้คนพูดถึงหรือยกตัวอย่าง ก็คงเป็นเรื่องการเป็นลูกที่ดี ผมก็คิดถึงคุณพ่อคุณแม่ผมอยู่ตลอด มีรูปมีอะไรก็คิดถึงท่านอยู่เสมอๆ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน