ทำไมคนอังกฤษถึงเคยคิดว่าเอลิซาเบธที่ 1 เป็นผู้ชาย?

ปกครองอังกฤษถึง 45 ปี เอาชนะกองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ปฏิเสธการสมรสกับสเปนและฝรั่งเศส นำประเทศเข้าสู่ยุคทองทั้งด้านการปกครองและศิลปะวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ทำให้เอลิซาเบธที่ 1 โด่งดังเป็นที่จดจำและยังนำไปสู่ข่าวลือลึกลับรอบตัวพระองค์อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น ราชินีอังกฤษมีลูกชายนอกสมรสจริงหรือไม่ พระองค์เคยสังหารศัตรูหัวใจเพื่อให้ได้ชายหนุ่มมาครอง? แต่เรื่องเล่าที่แลดูสุดโต่งยากจะเชื่อมากที่สุด คือทฤษฎีที่คิดว่าราชินีพระองค์นี้แท้ที่จริงแล้วเป็นผู้ชาย! 

เอลิซาเบธเป็นผู้ชาย? เรื่องนี้ได้มาจากไหน 

เรื่องเล่ากล่าวว่าเอลิซาเบธตอนอายุแค่ 10 ปีเคยเดินทางออกจากลอนดอนเพื่อหลบหนีโรคระบาด พระองค์เดินทางไปเก็บตัวในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อบิสลีย์ น่าตกใจว่าเจ้าหญิงเกิดป่วยหนักและสิ้นใจ บรรดาผู้ติดตามกลัวว่าพระบิดาของพระองค์ – กษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 จะเอาโทษจึงพยายามปกปิดความผิดด้วยการควานหาตัวเด็กสาวที่มีลักษณะคล้ายกันมาเล่นละครตบตา น่าเสียดายว่าไม่มีเด็กหญิงคนไหนในระแวกนั้นมีเส้นผมและสีตาเช่นเดียวกันกับเจ้าหญิง ทีมงานควานหาตัวอยู่นานกลับได้มาแค่เด็กชายคนหนึ่งซึ่งมีลักษณะตามประสงค์ เด็กคนนี้เลยโดนนำมาแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ และต้องรับบทเป็นลูกสาวของพระเจ้าเฮนรี่นับตั้งแต่นั้น 

ทฤษฎีนี้มีชื่อเรียกในประวัติศาสตร์ว่า Bisley Boy Story โดยคนที่ทำให้แนวคิดนี้ถูกถกเถียงอย่างจริงจังคือ แบรม สโตกเกอร์ (Bram Stoker) เจ้าของงานเขียนดังอย่าง Dracula สโตกเกอร์สนใจตำนานเกี่ยวกับเด็กชายจากบิสลีย์ กระทั่งเดินทางไปค้นหาความจริงในหมู่บ้านก่อนจะออกหนังสือเล่มดังคือ Famous Impostors (1910) 

ในหนังสือเล่มนี้ สโตกเกอร์ได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับจอมลวงโลกในประวัติศาสตร์ยกตัวอย่างเช่นเพอร์กิน วอร์เบค ชายผู้อ้างตัวเป็นริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์ก หนึ่งในเจ้าชายที่หายตัวไปในหอคอย ไปจนถึงโดแฟ็งตัวปลอม ผู้กล่าวว่าตนเองคือลูกชายผู้รอดชีวิตของหลุยส์ 16 กับพระนางมารี อ็องตัวเน็ต

สโตกเกอร์ไม่เพียงสันนิษฐาน แต่มั่นใจว่าควีนเอลิซาเบธเป็นผู้ชาย โดยอ้างจากการค้นพบศพเด็กหญิงวัย 10-11 ปี ในชุดเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงยุคทิวเดอร์ ในระหว่างก่อสร้างอาคารใหม่ในหมู่บ้าน สโตกเกอร์ยังอ้างถึงข่าวลือร่วมสมัยอีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นคำกล่าวของเคานต์เดอ ฟอเรีย ที่ปรึกษาของฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน (อดีตพี่เขยของเอลิซาเบธที่ 1) 

“หากสายข่าวของกระหม่อมไม่โกหก – ซึ่งหม่อมฉันไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุผลบางอย่างที่พวกเขาให้มา กระหม่อมเข้าใจว่าพระนาง (หมายถึงควีนเอลิซาเบธที่ 1) จะไม่มีทางมีลูก” 

-เคานต์เดอ ฟอเรียเขียนถึงฟิลิปที่ 2 ในปี 1559 ตอนนั้นเอลิซาเบธอายุ 25 ปี 

สโตกเกอร์เชื่อว่าหลักฐานบางอย่างที่ทำให้ราชินีไม่สามารถมีบุตร คือร่างกายของพระองค์ที่ปราศจากมดลูกของเพศหญิง ตัวเขายังได้กล่าวถึงความลับบางอย่างที่เซอร์โรเบิร์ต ไทวิตต์ เคยเขียนไว้ 

“ข้าพเจ้ามั่นใจว่ามีความลับบางอย่างที่เลดี้แอชลีย์ (ผู้ดูแลของเอลิซาเบธขณะยังทรงพระเยาว์) และผู้ดูแลบ้าน (หมายถึงเซอร์โทมัส แพรี่) ไม่มีทางปริปากตลอดชีวิต”

-เซอร์โรเบิร์ต ไทวิตต์ ขุนนางชาวอังกฤษกล่าวไว้ในปี 1549 (ตอนนั้นเอลิซาเบธอายุ 15 ปี)

สโตกเกอร์ดูจะเชื่อว่าความลับนี้คงจะเกี่ยวพันถึงเพศของเอลิซาเบธ เขาคิดว่าความสามารถหลายอย่างของราชินีมีมากเกินไปและไม่ใช่สิ่งที่จะพบได้ในตัวผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่นคำกล่าวของพระนางก่อนสงครามอาร์มาดา 

“ข้าพเจ้ารู้ดีว่าตนเองมีร่างกายที่อ่อนแอแบบผู้หญิง แต่ข้าพเจ้ามีหัวใจและความกล้าแบบกษัตริย์ กษัตริย์ของประเทศอังกฤษ”

ซึ่งโรเจอร์ แอชแชม นักวิชาการและนักเขียนชื่อดังที่เคยรับใช้ควีนเอลิซาเบธที่ 1 ได้เคยกล่าวไว้คล้ายกันว่า “จิตใจของราชินีได้รับการยกเว้นจากความอ่อนแอแบบสตรี พระองค์มีพลังในการตัดสินใจเช่นเดียวกับผู้ชาย”

ข้อสันนิษฐานอื่นๆ ที่ถูกยกมาเพื่อสนับสนุนทฤษฎีดีนี้ยกตัวอย่างเช่น 

-พระองค์ไม่เคยแต่งงาน 

-พระองค์สวมวิกผมและแต่งหน้าหนามาก อาจเพื่อปกปิดหนวดเครา 

-พระองค์ไม่ยอมให้ใคร นอกจากหมอส่วนตัวตรวจร่างกาย และไม่ยินยอมให้มีการชันสูตรร่างหลังสวรรคต

-พระองค์มีพระวรกายสูงกว่าผู้หญิงทั่วไป

แต่เอลิซาเบธเป็นผู้ชายแน่หรือ? 

แม้แนวคิดของสโตกเกอร์จะดูตื่นเต้นน่าสนใจแต่กลับไม่ได้รับการเชื่อถืออีกต่อไปในแง่ประวัติศาสตร์เนื่องจากบรรดาหลักฐานที่ตัวเขายกขึ้นมา มีช่องโหว่มากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับบริบททางสังคมในยุคนั้น ยกตัวอย่างเช่น เป็นไปได้อย่างไรที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 จะไม่สามารถจำลูกสาวตัวเองได้ เพราะเอลิซาเบธนั้นแม้จะถูกเลี้ยงในตำหนักของตัวเอง แต่ก็ถูกเรียกตัวเข้าวังหลายครั้งโดยเฉพาะในเทศกาลสำคัญต่างๆ หรือหากเฮนรี่ที่ 8 จำลูกสาวตัวเองไม่ได้จริงๆ รอบกายเจ้าหญิงก็ยังมีบุคคลสำคัญอย่างแมรี่ ทิวเดอร์ (ต่อมาจะขึ้นครองราชย์เป็นควีนแมรี่ที่ 1) – พี่สาวต่างมารดาของพระองค์ และแคทเธอรีน พาร์ – ราชินีคนสุดท้ายของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 

แมรี่ ทิวเดอร์ ดูแลเอลิซาเบธมาตั้งแต่เด็ก ส่วนแคทเธอรีน พาร์รับหน้าที่ดูแลเอลิซาเบธต่อมากระทั่งเจริญพระชันษาเป็นวัยรุ่น เอลิซาเบธใช้ชีวิตอยู่กับแคทเธอรีน พาร์หลังเฮนรี่ที่ 8 สวรรคตดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ความผิดปกติของพระองค์จะไม่เป็นที่สังเกตเห็น 

ส่วนเหตุผลที่เอลิซาเบธไม่แต่งงาน นักประวัติศาสตร์ยุคต่อมาตีความกันหลากหลาย เป็นไปได้ว่าพระองค์เรียนรู้จากความผิดพลาดของพี่สาว (แมรี่ที่ 1) การสมรสของพระองค์กับสเปนสร้างความไม่พอใจและทำให้อังกฤษตกอยู่ใต้อิทธิพลต่างชาติ เอลิซาเบธมีข้อจำกัดสำคัญคือทรงเป็นโปรแตสแตนท์ในขณะที่เจ้าชายต่างชาติที่มีฐานะเท่าเทียมและสามารถมอบประโยชน์ทางการเมืองให้อังกฤษได้ “ล้วนเป็นคาทอลิก” แต่หากทรงคิดจะสมรสกับขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ พระองค์ก็ทรงเห็นตัวอย่างที่ไม่สวยนักของควีนแมรี่ – ราชินีสกอตแลนด์เพราะการสมรสของพระองค์กับเฮนรี สจ๊วต ลอร์ดดาร์นลีย์ กลายเป็นหายนะ สร้างความสับสนในพระราชอำนาจและทำลายเสถียรภาพในการปกครอง

ข้ออ้างที่กล่าวว่าเอลิซาเบธมีความสูงมากกว่าสตรีทั่วไปไม่เชิงว่าเป็นเรื่องประหลาด เอลิซาเบธมีความสูงมากกว่าสตรีทั่วไปจริง คือประมาณ 5.5 ฟุต หรือราว 167 เซนติเมตร ในขณะที่ผู้ชายในยุคนั้นมักสูงกันประมาณ 170-175 เซนติเมตร แต่พระบิดาของพระองค์ก็มีความสูงมากถึง 188 เซนติเมตร (ส่วนพระมารดา คือพระนางแอนน์ โบลีน สูงราว 152-161 เซนติเมตร ถือว่าสูงตามมาตรฐานสตรียุคทิวเดอร์) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความสูงจะสืบทอดมาสู่ลูกสาว และหากจะวัดกันที่ความสูงจริงๆ พระนางแมรี่ ราชินีแห่งสกอตแลนด์ ก็มีความสูงมากถึง 5 ฟุต 11 นิ้ว หรือประมาณ 180 เซนติเมตร ถือว่าสูงยิ่งกว่าผู้ชายทั่วๆ ไปเสียด้วยซ้ำ 

มีข้ออ้างว่าพระองค์แต่งหน้าหนาเพื่อปกปิดความเป็นชาย แต่เรื่องนี้มีคำอธิบายแล้วว่าลักษณะ “ผิวขาวเหมือนตุ๊กตากระเบื้อง ริมฝีปากแดงดั่งเลือดนก” เป็นนิยามความงามของสตรีชั้นสูงในยุคนั้น ไม่ใช่พระองค์คนเดียวที่แต่งหน้าแบบนี้ ส่วนเหตุที่ต้องลงแป้งหนามาก ก็น่าจะมาจากความจริงที่ว่าพระองค์เคยป่วยเป็นไข้ทรพิษตอนอายุ 28 ซึ่งแม้จะรอดมาได้แต่ก็ทรงมีแผลเป็นถาวรมากมายบนใบหน้า บรรดาแป้งที่ลงอย่างหนัก น่าจะทำเพื่อปกปิดรอยแผลมากกว่าหนวดเครา 

สำหรับข้อถกเถียงสุดท้ายเกี่ยวกับการไม่ยินยอมให้หมอคนอื่นตรวจร่างกายและไม่ให้มีการชันสูตร แม้จะไม่สามารถหักล้างได้อย่างเด็ดขาด ด้วยเราไม่มีทางรู้ว่าพระองค์คิดอย่างไร เป็นไปได้ว่าทรงไม่ต้องการให้ข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพของพระองค์แพร่ออกไป (ในยุคนั้นเป็นที่รู้กันว่าทุกประเทศมีสายลับอยู่ในทุกราชสำนักของยุโรป) ตลอดชีวิตของพระองค์ ทรงไม่เคยตั้งรัชทายาทอย่างเป็นทางการ ดังนั้นข่าวลือเรื่องสุขภาพของราชินีจึงอาจเป็นเรื่องเปราะบางที่นำไปสู่การก่อกบฏหรือความไม่สงบอื่นๆ 

มาถึงประเด็นเรื่องความลับที่คนใกล้ชิดราชินียินดีปิดไว้ไปตลอดชีวิต ความลับนี้สามารถเป็นเรื่องอื่นๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือเรื่องพระองค์มีบุตรนอกสมรส หรือเรื่องฉาวว่าทรงเคยถูกล่วงละเมิดโดยโทมัส ซีมัวร์ ขณะอาศัยร่วมชายคากับพระนางแคทเธอรีน พาร์ (โทมัส ซีมัวร์เป็นสามีคนใหม่ที่พระนางแคทเธอรีน พาร์เลือกสมรสหลังเฮนรี่ที่ 8 สวรรคต)

ทำไมแบรม สโตกเกอร์ถึงเชื่อปักใจว่าเอลิซาเบธไม่ใช่ผู้หญิง? 

ทฤษฎีเรื่องเอลิซาเบธเป็นผู้ชาย คงไม่ได้รับความสนใจหากผู้ออกมาสนับสนุนไม่ใช่ชายผู้มีชื่อเสียงอย่างแบรม สโตกเกอร์ ตัวเขามีชีวิตอยู่ในยุควิกตอเรียซึ่งเป็นช่วงที่ความเป็นหญิงชายถูกแบ่งแยกจากกันโดยเด็ดขาดผ่านหน้าที่และความรับผิดชอบในครอบครัวและสังคม ความเป็นสุภาพบุรุษในยุคนี้มีที่มาจากสำนึกที่ว่าสุภาพสตรีเป็นเพศที่อ่อนแอ ต้องได้รับการปกป้อง เนื่องจากพวกเธอขาดภาวะในการควบคุมอารมณ์ มักทำอะไรตามใจคิดดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายชายที่ต้องคอยชี้แนะและสั่งสอน 

ยุคสมัยของสโตกเกอร์เต็มไปด้วยอคติทางเพศที่ฉาบทับความคิด จนอาจบิดเบือนข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ ควีนเอลิซาเบธที่ 1 นั้น “เก่งกาจและเฉลียวฉลาดเกินกว่าจะเป็นผู้หญิง” ดังนั้นทฤษฎีเรื่องความเป็นชายจึงได้รับความนิยมในช่วงเวลาดังกล่าว แม้มันจะฟังดูงี่เง่าและไร้สาระเมื่อมองกันด้วยหลักฐานและสายตาแบบปัจจุบัน 

คำถามเรื่องเพศของราชินีและทฤษฎี Bisley Boy Story ในมุมหนึ่งอาจฟังดูขบขันแต่ก็เป็นกระจกสะท้อนที่ทำให้เรามองเห็นค่านิยมในสังคมที่ต่างไป กลายเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าการตีความประวัติศาสตร์สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามช่วงเวลาและสายตาของบุคคลในแต่ละยุคสมัย

References:

https://www.historyanswers.co.uk/kings-queens/edward-oxford-the-maniacal-pot-boy-who-nearly-killed-queen-victoria/

https://deepenglish.com/lessons/was-queen-elizabeth-i-man/

https://www.rmg.co.uk/stories/topics/queen-elizabeth-i-facts-myths

https://www.historicmysteries.com/queen-elizabeth-man/?fbclid=IwAR3S2G_fUmCFaNp_K39E-AAnMS6c0vPBpQ4Nc5dMt4tz6IknHYtQGkwW39k 
https://www.youtube.com/watch?v=15_HXkkoaV8

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ประภวิษณุ์ อินทร์ตุ่น

นักออกแบบสายแอมบิเวิร์ท ผู้หลงใหลธรรมชาติ เสียงเพลง ภูเขา งานอดิเรกคือ อ่านหนังสือ ปาร์ตี้ และของกิน