The Crown Season 4 : “เราทุกคนในระบอบนี้ล้วนหลงทาง เหงา เศร้า และเป็นคนนอกที่ไร้ความสำคัญ”

Highlights

  • หลังประสบความสำเร็จจากการถ่ายทอดเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษมา 3 ซีซั่น ปีนี้ The Crown กลับมาอีกครั้งกับซีซั่นที่ 4 ซึ่งเป็นตอนที่หลายคนจับตามองมากที่สุด
  • เหตุผลเพราะการเข้ามาเป็นสมาชิกราชวงศ์ของไดอาน่า และการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของมาร์กาเรต แทตเชอร์ ซึ่งเป็นตัวละครที่จะมาท้าทายบทบาทของควีนเอลิซาเบธ
  • จุดเด่นของซีซั่นนี้คือ การรวมผลลัพธ์ของการยึดมั่นในกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเกิดจุดบกพร่องในตัวตนที่แม้แต่ควีนเอลิซาเบธยังต้องยอมรับต่อตัวเอง
  • ความโดดเด่นที่ The Crown ยังคงทำให้เห็นได้เสมอคือความเป็นมนุษย์ในตัวละครทุกคน ซึ่งในซีซั่นนี้จะเห็นภาพตัวตนที่ถูกพังทลายได้ชัดมากขึ้น

ในบรรดาหนังหรือซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษ The Crown น่าจะเป็นซีรีส์ที่มีคนติดตามมากที่สุดในยุคนี้ 

ไม่ใช่แค่เพียงเพราะการเป็น Netflix Originals ที่ทำให้คนเข้าถึงง่าย แต่เพราะเส้นเรื่องและมุมมองที่ Peter Morgan (ผู้เขียนบท The Queen) หมายมั่นปั้นมืออยากถ่ายทอดบทบาทและการปรับตัวเพื่อดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษผ่านสังคมในแต่ละยุคสมัย โดยมีศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 

The Crown

ตั้งแต่เปิดตัวซีซั่นแรกในปี 2016 จนถึงซีซั่นสองเราจึงได้เห็นพัฒนาการของเจ้าหญิงเอลิซาเบธวัยสาว (แสดงโดย Claire Foy) ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์และความรับผิดชอบ ท่ามกลางการจับตาของขุนนางหัวสมัยเก่า เคร่งครัดกฎระเบียบ และการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนในโลกสมัยใหม่

เมื่อเข้าสู่ซีซั่นสาม เนื้อหาของเรื่องมาถึงสังคมในยุค 60s เปลี่ยนภาพควีนเอลิซาเบธวัยสาวมาฉายภาพหญิงวัยกลางคน (แสดงโดย Olivia Colman) ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ท้าทายสถานะสถาบันกษัตริย์พร้อมๆ กับการวางแผนชีวิตเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (แสดงโดย Josh O’ Connor) ว่าที่ผู้สืบทอดราชบัลลังก์คนต่อไป 

The Crown

แน่นอนว่าในซีซั่น 4 เป็นตอนที่มีคนจับตามองอย่างมาก เพราะเส้นเรื่องดำเนินมาถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญคือ การเข้ามาเป็นสมาชิกราชวงศ์ของไดอาน่า (แสดงโดย Emma Collin) และการเข้ามาบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกอย่าง Margaret Thatcher (แสดงโดย Gillian Anderson) 

แม้หลังออนแอร์ได้ไม่กี่อาทิตย์ จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าบางเหตุการณ์ในซีซั่นนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกิดขึ้นจริง และอาจทำให้คนเข้าใจผิดต่อสมาชิกราชวงศ์ได้ แต่ถึงอย่างนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อประวัติศาสตร์กลายมาเป็นความบันเทิงแล้ว คนดูคงได้เห็นบทเรียนบางอย่างจาก ‘สถาบันกษัตริย์’ ที่ฉายชัดผ่านตัวละครต่างๆ ในซีซั่นนี้ 

 

“ตระกูลนี้จะพลาดแบบเดิมอีกกี่ครั้งกัน”

“หลานต้องแยกความรู้สึกส่วนตัวเหล่านั้นออกเพื่อหน้าที่ ประชาชนต้องการความแข็งแกร่งและความเป็นผู้นำของหลาน เอลิซาเบธ เมานต์แบตเทน ต้องเปลี่ยนเป็น เอลิซาเบธ รีไจนา ทั้งสองอาจจะขัดแย้งกันเอง แต่ความจริงคือมงกุฎต้องชนะ” 

ข้อความที่ควีนแมรี่ (แสดงโดย Eileen Atkins) ส่งถึงเอลิซาเบธก่อนที่เธอจะได้รับการสถาปนาเป็นควีนเอลิซาเบธในซีซั่นแรก คือเครื่องสะท้อนสิ่งที่ราชวงศ์ทุกคนต้องยึดถือได้ชัดเจนที่สุด

ยิ่งเป็นเรื่องคู่ครองและความรักอันเป็น ‘ความรู้สึกส่วนตัว’ ที่ไปไม่ได้กับ ‘หน้าที่’ ในฐานะสมาชิกชั้นสูง ย่อมลงเอยด้วยการคัดค้านจากทั้งเชื้อพระวงศ์และขุนนางที่ยึดถือกฎเกณฑ์ เราจึงเห็นว่าซีซั่นที่ผ่านๆ มาฉายให้เห็นทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ถูกทอดทิ้งหลังแต่งงานกับวอลลิส ซิมป์สัน หญิงหม้ายอเมริกัน, ความผิดหวังของเจ้าหญิงมาร์กาเรตที่ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ ทหารคนสนิทของพระบิดา และการแยกเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ออกจากคนรักที่พวกเขาคิดว่าไม่เหมาะสมอย่างคามิลลา ปาร์กเกอร์ 

แต่ในเมื่อชาร์ลส์คือรัชทายาทผู้สืบทอดราชบัลลังก์ การมองหาคนที่เหมาะสมจึงต้องมาจาก ‘การลงความเห็น’ ของสมาชิกในราชวงศ์ ซึ่งซีซั่นนี้ก็ใช้วิธีการเล่าผ่านเหตุการณ์ช่วงพักฤดูร้อนและล่าสัตว์ของครอบครัววินด์เซอร์ที่ปราสาทบัลมอรัล มีเสียงร่ำลือกันว่าหากสมาชิกราชวงศ์เชิญใครไปด้วย จะมีการทดสอบเพื่อดูว่าคนนั้น ‘เป็นที่น่ายอมรับ’ หรือไม่ เมื่อไดอาน่าเป็นหนึ่งในแขกที่ได้รับเชิญ ทุกอิริยาบถและการวางตัวของเธอทำให้ได้คะแนนสูงสุดอย่างที่ไม่มีใครได้มาก่อน เพราะความสดใส ร่าเริง สนุกสนานและเข้าร่วมทุกกิจกรรมของเชื้อพระวงศ์ได้เป็นอย่างดี (ในซีรีส์ชาร์ลส์บอกคามิลลาว่า แม้แต่คนมาตรฐานสูงอย่างเจ้าหญิงแอนและเจ้าหญิงมาร์กาเรตยังยกคะแนนสูงสุดให้)

The Crown

ข้อสำคัญที่เราคิดว่าเธอได้รับคำชมล้นหลาม อาจเพราะภาพลักษณ์ไดอาน่าตรงตามความคิดของราชวงศ์ รวมถึงการเป็นลูกสาวของเอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ ตระกูลขุนนางเก่าแก่  อีกทั้งก่อนหน้ายังมีแรงส่งจากการเปรียบเทียบกับแทตเชอร์ ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมพักร้อนในเวลาไร่เรี่ยกัน แต่เธอต้องขอลากลับก่อน โดยอ้างกับควีนเอลิซาเบธว่าติดงานด่วน ซึ่งในความเป็นจริงคือแทตเชอร์เข้ากันไม่ได้กับกิจกรรมของตระกูลกษัตริย์

ท้ายที่สุดอย่างที่เรารู้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองจบด้วยรอยร้าว แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเข้าใจความรู้สึกของทั้งคู่ เพราะในรายละเอียดของเนื้อหาจะเล่าถึงความสัมพันธ์อย่างมีเหตุมีผล ทำให้เห็นว่าทำไมไดอาน่าถึงเต็มไปด้วยความรู้สึกต้องการความรักจากครอบครัววินด์เซอร์ เช่นกันกับชาร์ลส์ที่โหยหาการยอมรับตัวตนจากครอบครัว โดยที่สุดท้ายแล้วพวกเขาเป็นเพียงแค่เหยื่อความผิดพลาดของความเชื่อในตระกูลนี้เท่านั้น 

 

แม่ของแผ่นดินและแม่ของลูก

ในบรรดาเนื้อหาแต่ละตอนของ The Crown ซีซั่นที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์กับลูกๆ ของควีนเอลิซาเบธจะมีแต่ความบาดหมาง ความห่างไกล และไม่เข้าใจกันและกันมากนัก

ยิ่งในซีซั่นนี้ บาดแผลของความสัมพันธ์ก็ชัดเจนมากกว่าเดิม เมื่อควีนเอลิซาเบธเองก็เริ่มค้นพบแล้วว่าการทรงงานหนักจากหน้าที่ประมุขของประเทศนำมาซึ่งความบกพร่องในฐานะ ‘แม่ของลูก’ ยังไง

ตัวอย่างเช่น ในตอนหนึ่งที่ ‘ลูกชายคนโปรด’ ของมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ หลงทางในทะเลทรายและหายตัวไป ทำให้ควีนเอลิซาเบธเริ่มสงสัยว่าใครคือ ‘ลูกคนโปรด’ ของตัวเอง แต่หลังจากที่พยายามนัดกินข้าวกับลูกๆ ทั้ง 4 คน เธอกลับได้ฉุกคิดว่า

“บทสรุปที่เราได้คือ ลูกๆ ของเราต่างหากที่หลงทาง นั่นหมายความว่าเราเป็นพ่อแม่แบบไหนกัน” เธอยอมรับกับเจ้าชายฟิลลิป (แสดงโดย Tobias Menzies)

The Crown

ในความจริง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเลี้ยงดูลูกของควีนเอลิซาเบธบ่อยครั้ง แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า The Crown เล่าได้มีน้ำหนักและสะท้อนความแตกต่างของบทบาทการบริหารประเทศและความเป็นแม่ของผู้หญิงสองคนได้ดีคือ ซีรีส์ใช้วิธีการเล่าแบบ Parallel Cutting ตัดสลับเหตุการณ์ระหว่างการตามหาลูกชายของแทตเชอร์ จนดูเหมือนไม่สนใจบริหารประเทศ และการเข้าไปพูดคุยกับลูกๆ ของควีนเอลิซาเบธทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน 

มีฉากหนึ่งที่เทียบให้เห็นความคิดของทั้งสองคนชัดๆ คือ ระหว่างการรายงานข้อมูลลูกชาย เลขาฯ นายกรัฐมนตรีแจ้งข่าวว่าจะหลีกเลี่ยงการปะทะกับอาร์เจนตินาในพื้นที่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ แต่แทตเชอร์ตอบกลับว่า “มันจะลงเอยด้วยดีได้ยังไง ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มีคนของเราอยู่ไกลบ้าน ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตราย” หลังจากนั้นเธอก็ขอกลับไปตามหาลูกต่อ 

ในขณะที่ควีนเอลิซาเบธเดินทางไปหาเจ้าหญิงแอน (แสดงโดย Erin Doherty) ระหว่างที่ลูกเล่าปัญหาชีวิตให้ฟังควีนเอลิซาเบธได้แต่บอกให้ลูกอดทนเพื่อผ่านปัญหาเหล่านี้ไปให้ได้

“แค่นี้เองหรือ การเพิกเฉยไม่ทำอะไรเลยเป็นทางออกของแม่กับทุกเรื่องใช่ไหม” เจ้าหญิงแอนตอบกลับทันที

แม้สุดท้ายเนื้อเรื่องจะไม่ได้บอกชัดเจนว่าควีนเอลิซาเบธจะเลิกรู้สึกผิดกับลูกๆ หรือเปล่า แต่คำพูดปลอบใจของสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงเอลิซาเบธ (Queen Elizabeth The Queen Mother) ที่บอกกับเธอก็ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าชีวิตส่วนตัวจะเป็นยังไง แต่ในฐานะประมุขของประเทศ ควีนเอลิซาเบธก็ยังคงต้องเป็นศูนย์กลางที่ทุกคนเข้าหาอยู่ดี 

“ท่านแม่บอกเราว่าอย่าโทษตัวเอง เพราะเราเป็นแม่ของแผ่นดินอยู่แล้ว” ควีนเอลิซาเบธกล่าวกับเจ้าชายฟิลลิป

The Crown

PICTURE SHOWS: Queen Elizabeth II (OLIVIA COLMAN). Filming Location: Brompton, Chatham

 

“เราทุกคนในระบอบนี้ล้วนหลงทาง”

เมื่อดูภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมด เราคิดว่าจุดเด่นของ The Crown คือการแฝงความรู้สึกของมนุษย์ไว้ในทุกตัวละคร โดยเฉพาะในซีซั่นนี้ที่เห็นผลลัพธ์การพังทลายความรู้สึกของทุกตัวละครได้ชัดเจนมาก

ทั้งการทลายกฎงดการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของควีนเอลิซาเบธ แต่เธอก็เผยความไม่พอใจต่อแทตเชอร์จนคนในราชสำนักให้ข้อมูลกับนักข่าว, ความล้มเหลวในความสัมพันธ์และขาดความมั่นคงในตัวเองของเจ้าหญิงแอน, ภาวะสูญเสียตัวตนของเจ้าหญิงมาร์กาเรต (แสดงโดย Helena Bonham Carter), รอยร้าวในความสัมพันธ์และชีวิตคู่ของเจ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่า 

The Crown

คำถามคือพวกเขาต้องทนกับความไม่เป็นตัวเองไปทำไม ในภาวะที่สังคมเปลี่ยนแปลงและต้องการเห็นความเป็นมนุษย์ของราชวงศ์มากกว่าบุคคลที่จับต้องไม่ได้ บทสนทนาระหว่างเจ้าชายฟิลลิปและเจ้าหญิงไดอาน่าในฉากสุดท้ายของงานเลี้ยงวันคริสต์มาสสะท้อนให้คนดูได้เห็นสิ่งที่พวกเขาต้องยึดถือเป็นอย่างดี

“ต่อให้ผ่านมาอีกกี่สิบปีเราก็ยังเป็นคนนอก เราทุกคนในระบอบนี้ล้วนหลงทาง เหงา เศร้า เป็นคนนอกที่ไร้ความสำคัญ ยกเว้นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สำคัญ พระองค์ (ควีนเอลิซาเบธ) คือลมหายใจ และเป็นแก่นแท้ของหน้าที่เรา”

สุดท้ายไม่ว่าใครจะเป็นอะไร แต่ทุกคนจะต้องทำตามหน้าที่ตัวเอง เพื่อให้ศูนย์กลางของระบอบสถาบันกษัตริย์คงอยู่ในสภาวะที่เจอการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกวัน 

The Crown

 

เรื่องทั้งหมดนี้จริงแค่ไหน

แม้ซีซั่นที่ผ่านมาจะมีข้อถกเถียงในประเด็นนี้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงที่ซีซั่น 4 ออกฉายได้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่อาจเป็นเพราะความร่วมสมัยของเหตุการณ์ทำให้สื่อหลายเจ้าตั้งคำถามต่อการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของผู้สร้าง จนมีการเรียกร้องให้เน็ตฟลิกซ์ติดป้ายว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง เพราะกลัวว่าคนจะเข้าใจผิดจนสร้างภาพจำต่อสมาชิกราชวงศ์ โดยเฉพาะเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ คามิลลา และควีนเอลิซาเบธเอง

ตัวอย่างเช่น ก่อนชาร์ลส์จะตัดสินใจคุยกับไดอาน่าอย่างจริงจัง เขาได้รับจดหมายเตือนการเลือกคู่ครองจากลอร์ดเมานต์แบตเทน ลุงของเจ้าชายฟิลิป ซึ่งเป็นปู่ที่ชาร์ลส์สนิทมากที่สุด ในความจริงไม่มีหลักฐานที่ระบุว่ามีการส่งจดหมายจนทำให้ชาร์ลส์เปลี่ยนใจตัวเอง 

ผู้เขียนบทอย่างมอร์แกนยอมรับว่าพวกเขาแต่งขึ้นมาเอง แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งหมดก็มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าลอร์ดเมานต์แบตเทนและชาร์ลส์เป็นปู่-หลานที่รักและสนิทกันจนพอจะส่งสารอะไรบางอย่างถึงกันได้แน่นอน 

“ผมคิดว่าบางครั้งคุณต้องละทิ้งความถูกต้อง แต่คุณต้องไม่ละทิ้งความจริง” มอร์แกนให้สัมภาษณ์กับ The Times หลังมีกระแสความไม่พอใจ

The Crown

Simon Jenkins คอลัมนิสต์ประจำ The Guardian มองว่าซีซั่นนี้เป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างร่วมสมัย และตัวละครหลายคนยังมีชีวิตอยู่ การสร้างงานที่ไม่ยึดโยงความจริงนำมาซึ่งคำถามและการสร้างภาพจำต่อคนคนนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่านักแสดงจะมีฝีมือมากความสามารถขนาดไหน การเล่าเรื่องแบบนี้ก็เป็นเพียงแค่ “การได้รับใบอนุญาตทางศิลปะที่ขี้ขลาด”

แน่นอนว่าการเล่าเรื่องต้องอาศัยศิลปะในการทำให้คนติดตามเนื้อหากันได้ยาวๆ แต่เมื่อเนื้อหาบางอย่างไม่เป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ การติดป้ายบอกคนดูไว้ก่อนอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย ดังนั้นเมื่อใครได้ดูเรื่องนี้จบแล้ว (หรือกำลังจะเริ่มดูก็ตาม) เราคงต้องขอกดดอกจัน 20 ตัวเพื่อบอกว่าเนื้อหาในซีรีส์นี้มีบางส่วนที่แต่งเพิ่มเติมเข้ามาโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกิดขึ้นจริง โปรดดูอย่างมีวิจารณญาณที่สุด 


ภาพ : Netflix: The Crown

อ้างอิง :
The Guardian
The New York Times

AUTHOR