ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าทุกวันนี้ธงสีรุ้งจะทำให้เรานึกถึงการต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศ ธงสีรุ้ง (rainbow flag) ถูกออกแบบโดย Gilbert Baker นักเคลื่อนไหวและศิลปินชาวสหรัฐฯ ที่กล่าวว่าเขาเลือกสะท้อนความหลากหลายของชุมชน LGBTQ+ ผ่านแถบสีรุ้ง เพราะ LGBTQ+ มีที่มาจากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ไม่เกี่ยงว่าจะมีอายุเท่าไหร่ หรือมีรสนิยมทางเพศแบบไหน เขายังเห็นว่าสายรุ้งนั้นเป็นสิ่งสวยงาม มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่ถูกบังคับ
สำหรับเบเกอร์ แถบสีบนธงนำเสนอข้อความที่ต่างกัน สีชมพูหมายถึงเพศวิถี สีแดงคือชีวิต สีส้มหมายถึงการรักษาเยียวยา สีเหลืองคือตัวแทนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ สีเขียวเป็นสีของธรรมชาติ ในขณะที่สีเทอร์ควอยส์หมายถึงศิลปะ สีครามคือความปรองดองสามัคคี ส่วนสีม่วงนั้นนำเสนอจิตวิญญาณ แม้ว่าในปัจจุบันธงของเบเกอร์จะถูกลดจาก 8 สีเหลือแค่ 6 สี (มีการตัดสีชมพูและสีเทอร์ควอยส์ออกไปเพื่อให้ง่ายต่อการผลิต) ธงสีรุ้งก็ยังนำเสนอแนวคิดและกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักมากที่สุดอย่างหนึ่งของโลก
ในเดือนที่ธงสีรุ้งถูกประดับประดาไปทั่วทุกแห่ง และโลกเฉลิมฉลองความหลากหลาย เราอยากชวนมองที่ทางของสีรุ้งในประวัติศาสตร์ก่อนมันจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน LGBTQ+ อย่างทุกวันนี้
วิทยาศาสตร์หรือความมหัศจรรย์ : สายรุ้งถูกพูดถึงยังไงในประวัติศาสตร์
ยังไงก็ดีเรื่องราวของสีรุ้งไม่ได้เพิ่งถูกพูดถึงในศตวรรษที่ 20 อันที่จริงสายรุ้งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีการให้ความหมายและตีความอย่างแพร่หลายแตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรม การกำเนิดของสายรุ้งยังมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์พอๆ กับที่มันถูกผูกโยงเข้ากับความมหัศจรรย์ อเล็กซานเดอร์แห่งอะโฟรดีเซียส นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวถึงสายรุ้งเอาไว้ 2-3 ปีก่อนคริสตศักราช โดยอธิบายว่าสายรุ้งนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากแสงและสี ส่วนอริสโตเติลผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 383-322 ปีก่อนคริสตศักราชมอบคำอธิบายตั้งต้นที่จะถูกใช้ต่อไปในอีกหลายร้อยปีต่อมา
เขากล่าวถึงสายรุ้งว่า “สายรุ้งไม่เคยเกิดขึ้นเป็นวงกลมสมบูรณ์ อันที่จริงมันไม่เคยปรากฏในสภาพของรูปทรงใดๆ ที่ใหญ่ไปกว่าครึ่งวงกลม หากสายรุ้งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาอาทิตย์ขึ้นหรือตก วงโค้งของมันจะแคบ แต่แถบสีมีขนาดใหญ่ ยิ่งพระอาทิตย์ขึ้นสูงไปในท้องฟ้า วงโค้งของสายรุ้งก็จะยิ่งกว้างออก ทำให้แถบสีที่ปรากฏนั้นมีขนาดบางลง สายรุ้งไม่เคยปรากฏให้เห็นพร้อมกัน 2 วงในเวลาเดียว สีของมันมี 3 สีเสมอ สีแดงเป็นแถบสีที่ใหญ่ที่สุด ปรากฏให้เห็นทั้งวงนอกและวงใน ในระหว่างสีแดงทั้งสอง สีต่างๆ ที่ปรากฏระหว่างนั้นเป็นสีที่จิตรกรไม่อาจสร้างสรรค์ได้ คล้ายเป็นส่วนประกอบของสีแดง สีเขียว และสีม่วง”
คำอธิบายของอริสโตเติลอาจมีข้อผิดพลาดหากมองด้วยสายตาปัจจุบัน แต่ข้อคิดเห็นของเขาก็แสดงให้เห็นถึงความช่างสังเกตและเป็นการบรรยายในเชิงคุณภาพที่ไม่มีใครล้มล้างได้อีกหลายสมัย (แม้จะมีข้อท้าทายบ้างก็ตาม) เหตุผลที่สายรุ้งถูกบรรยายไว้แค่ 3 สีอาจเป็นเพราะสีสันอื่นๆ ยังไม่ถูกนิยามด้วยชื่อเหมือนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ เลข 3 ในสมัยต่อมายังเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับปรัชญาทางศาสนาเพราะหมายถึงตรีเอกานุภาพ (trinity) อันประกอบด้วย พระบิดา (พระเจ้าผู้เป็นพระบิดา) พระบุตร (พระบุตรผู้มาเกิดเป็นพระเยซู) และพระจิต (พระวิญญาณบริสุทธิ์) กระทั่งในสมัยต่อมา เมื่อมีการถกเถียงกันว่าสายรุ้งน่าจะมี 4 สี เลข 4 ก็ถูกตีความให้เกี่ยวพันกับปรัชญาของเอมเพโดคลีส นักปรัชญาชาวกรีกที่กล่าวว่าสิ่งต่างๆ และจักรวาลนั้นประกอบด้วยธาตุตั้งต้นทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ มีการกล่าวถึงบทบาทของสายรุ้งว่าเป็นตัวแทนของพันธสัญญา สายรุ้งปรากฏหลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ดังนั้นจึงเป็นคำสัญญาที่พระเจ้ามอบให้โนอาห์ว่าจะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก คัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของสายรุ้งว่าพระเจ้าได้วางสายรุ้งไว้บนเมฆ
“เมื่อเราให้มีเมฆเหนือแผ่นดิน และมีรุ้งปรากฏขึ้นที่เมฆนั้น เราจะระลึกถึงพันธสัญญาของเราที่ทำไว้ระหว่างเรากับพวกเจ้า สิ่งมีชีวิต และสัตว์ทั้งปวง แล้วน้ำจะไม่ท่วมทำลายสัตว์ทั้งปวงอีกเลย”
-ปฐมกาล 9:8-17
คำอธิบายเรื่องสายรุ้งเกิดขึ้นบนเมฆ ตรงกับแนวคิดของลูกิอุส อันไนอุส แซแนกา นักปรัชญายุคโรมันที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 4 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงปี ค.ศ. 65 แซแนกาได้เขียนอธิบายเรื่องการเกิดของสายรุ้งเอาไว้ในบทที่หนึ่งของหนังสือ Naturales Quaestiones โดยกล่าวว่า “สายรุ้งมักเกิดในทิศทางตรงกันข้ามกับพระอาทิตย์ มันจึงเกิดจากการที่แสงแดดสะท้อนเข้ากับละอองน้ำ เช่นเดียวกับที่แสงแดดสะท้อนเข้าสู่ก้อนเมฆ”
สายรุ้งในเชิงสัญลักษณ์ : เมื่อปรัญชารวมเข้ากับงานศิลปะ
ในเมื่อสายรุ้งเป็นสัญลักษณ์ที่มีความเกี่ยวพันกับศาสนาและสื่อความหมายในแง่บวก จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นสายรุ้งถูกใช้ในภาพวาดมากมายเพื่อสื่อสารกับผู้คนที่ในยุคนั้นยังไม่สามารถอ่านตัวหนังสือออก การนำสายรุ้งมาใช้ในภาพวาดปรากฏให้เห็นมากในยุคเรอเนซองซ์ซึ่งเป็นยุคที่บรรดากษัตริย์และบุคคลสำคัญเริ่มแฝงปรัชญาและแนวคิดทางการเมืองผ่านภาพเหมือนเพื่อสื่อสารกับประชาชน
หนึ่งในตัวอย่างของการใช้สายรุ้งอย่างชาญฉลาดคือภาพวาดของควีนเอลิซาเบธที่ 1 ผู้ปกครองอังกฤษในศตวรรษที่ 16 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 17 (ครองราชย์ปี 1558-1603) นอกจากเอลิซาเบธจะเป็นราชินีผู้ปรีชายังเก่งกาจเรื่องการสร้างสัญลักษณ์ ภาพเหมือนของพระองค์มีอยู่มาก แต่ละภาพล้วนมีข้อความระหว่างบรรทัดที่ถูกซ่อนไว้อย่างชาญฉลาด พระองค์ทรงเคยใช้สัญลักษณ์สายรุ้งผ่านภาพวาดที่มีชื่อเรียกในวงการศิลปะว่า The Rainbow Portrait
The Rainbow Portrait ถูกวาดขึ้นช่วงประมาณปี 1600 นำเสนอราชินีแห่งอังกฤษในชุดผ้าไหมสีส้ม ชุดของเธอเต็มไปด้วยลวดลายหูและตา อันแปลความหมายได้สองอย่าง อย่างแรกคือทรงเป็นผู้ปกครองที่ใส่ใจ รับฟัง มองเห็นความทุกข์ยากของราษฎร อย่างที่สองคือลักษณะของอำนาจที่บอกเป็นนัยว่าทรงรู้เห็นการกระทำทุกอย่างในราชอาณาจักร เป็นสัญลักษณ์แทนคำเตือนแด่ผู้ที่คิดร้ายกับพระองค์ว่าไม่ว่าคุณจะคิดหรือทำอะไร ราชินีเห็นและได้ยินอยู่เสมอ สอดคล้องกับคำขวัญที่ทรงถืออยู่ตลอดรัชสมัยคือ “Video et Taceo” หรือ “ข้าพเจ้ารู้แต่ข้าพเจ้าไม่พูด”
ในมือของเอลิซาเบธทรงถือวงโค้งที่เชื่อกันว่าเป็นสายรุ้ง ข้างกันนั้นมีข้อความภาษาละตินแปลได้ว่า “ถ้าไม่มีพระอาทิตย์ก็ไม่มีสายรุ้ง” (Non sine sole iris – There can be no rainbow without the sun.) คำกล่าวนี้พูดถึงเอลิซาเบธในฐานะพระอาทิตย์ (อำนาจปกครอง) ที่ทำให้เกิดสายรุ้ง (สันติภาพ) เพราะมีพระองค์ อาณาจักรจึงมีความสงบสุข การใช้สายรุ้งของเอลิซาเบธเปรียบเปรยว่าก่อนหน้านี้อังกฤษเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่เพราะพระองค์สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ สายรุ้งจึงปรากฏขึ้น เช่นเดียวกับสายรุ้งของพระเจ้าหลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลก
สัญลักษณ์แทนความสำเร็จของเอลิซาเบธยังถูกบอกเล่าผ่านเข็มกลัดที่ดูคล้ายปลอกมือของอัศวินตรงปกเสื้อ เป็นเครื่องหมายสื่อถึงความยิ่งใหญ่ในการศึกซึ่งอาจสื่อถึงเกียรติยศของพระองค์ที่สามารถเอาชนะกองเรืออาร์มาดาของสเปนได้ในปี 1588
ในปีที่ The Rainbow Portrait ถูกวาด ควีนเอลิซาเบธอายุใกล้ 70 แน่นอนว่าตัวจริงของพระองค์แตกต่างจากตัวตนที่ภาพวาดกำลังนำเสนอ การวาดภาพราชินี (ที่แม้จะอยู่ในวัยชรา) ให้ดูสาวและสวยไม่สร่างเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าทรงเป็นหญิงพรหมจรรย์ เอลิซาเบธมีผิวที่ขาวผ่อง ใบหน้าไร้ริ้วรอย และเนินอกที่ยังเต่งตึงบอกว่าทรงไม่เคยผ่านการแต่งงานและกาลเวลาไม่สามารถทำอะไรพระองค์ได้
ภาพวาดของเอลิซาเบธยังซ่อนความหมายที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น เครื่องประดับรูปจันทร์เสี้ยวบนเรือนผมสื่อถึงเทพธิดาแห่งพระจันทร์ (Cynthia) หมายถึงพรหมจรรย์และความบริสุทธิ์ สัญลักษณ์นี้ยังบ่งบอกว่าทรงเป็นทั้งราชินี สตรี และเทพธิดา รอบกายของพระองค์ประดับไปด้วยไข่มุกและทับทิม ไข่มุกเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และสื่อถึงอำนาจที่ได้รับจากพระเจ้า เช่นเดียวกับพระเยซูที่ถูกเปรียบเปรยว่าทรงเป็น ‘ไข่มุกของโลก’ (pearls of the world)’ ในขณะที่ทับทิมหมายถึงผู้บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม
ทั้งหมดในภาพเดียว เอลิซาเบธทรงเป็นทั้งแสงสว่าง ผู้สร้างสันติภาพ ผู้นำทางการทหารผู้ยิ่งใหญ่ หญิงพรหมจรรย์ มารดาของอาณาจักร ราชินี และเทพธิดา ทรงเป็นมนุษย์ที่ได้รับอำนาจชอบธรรมจากพระผู้เป็นเจ้าให้ปกครอง และการปกครองของพระองค์นำมาซึ่งความดีงามทั้งปวงซึ่งถูกแทนด้วยสายรุ้ง
รุ้ง 7 สีมีความหมายยังไง ความหมายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน?
หนึ่งในความหมายที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับรุ้งทั้ง 7 สีถูกโยงเข้ากับกฎหมาย 7 ข้อของโนอาห์ ตำนานเล่าว่าเมื่อโนอาห์ได้รับคำสัญญาจากพระเจ้าเป็นการปรากฏขึ้นของสายรุ้ง เขาจึงได้ตั้งกฎขึ้นมา 7 ข้อเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างมนุษย์ โดยกฎของโนอาห์นั้นประกอบไปด้วย
1. ไม่บูชารูปเคารพ
2. ไม่ดูหมิ่นพระเจ้า
3. ไม่ฆ่าคน
4. ไม่มีความสัมพันธ์ที่ผิดศีลธรรม
5. ไม่ลักขโมย
6. เคารพสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
7. จัดตั้งศาลยุติธรรม
อีกหนึ่งความเชื่อทางศาสนาคือการเชื่อมโยงสีทั้ง 7 เข้ากับทูตสวรรค์ 7 องค์ ทั้งหมดเป็นผู้ส่งสารจากพระผู้เป็นเจ้า แนวคิดเรื่องสายรุ้งกับการส่งสารมีความคล้ายคลึงกับตำนานเทพีอีริส (หรือไอริส) เทพในปกรณัมกรีกผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารของเทพีจูโน–ราชินีแห่งทวยเทพ ในความเชื่อของศาสนาคริสต์เทวดาประจำสีรุ้งทั้ง 7 ได้แก่
1. สีน้ำเงิน – ทูตสวรรค์มีคาเอล ตัวแทนของจิตวิญญาณและหัวหน้าของทูตสวรรค์ทั้งหมด
2. สีเหลือง – ทูตสวรรค์โจฟีล ตัวแทนของความคิดและสติปัญญา
3. สีชมพู – ทูตสวรรค์คามูเอล ตัวแทนของความสัมพันธ์และสันติสุข
4. สีขาว – ทูตสวรรค์กาเบรียล ตัวแทนของการแจ้งข่าวสารและการเปิดเผย
5. สีเขียว – ทูตสวรรค์ราฟาเอล ตัวแทนของการรักษาเยียวยา
6. สีแดง – ทูตสวรรค์อูรีเอล ตัวแทนของพลังและความรู้
7. สีม่วง – ทูตสวรรค์ซาดคิเอล ตัวแทนของความเมตตา
ยังไงก็ดี Jacob Olesen ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ color-meanings ได้กล่าวถึงสีทั้ง 7 ของสายรุ้งโดยเปรียบเทียบกับปรัชญาสมัยใหม่ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับสี เขาได้ให้คำอธิบายถึงสีต่างๆ ดังนี้
1. สีแดง สีแรกสุดของสายรุ้ง เป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความมีชีวิตชีวา ความกระตือรือร้น และยังเป็นเครื่องหมายที่ทำให้คนรู้สึกถึงการระวังภัย
2. สีส้ม ส่วนผสมระหว่างสีแดงกับสีเหลือง หมายถึงความคิดสร้างสรรค์ ความขี้เล่น เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ที่สามารถปฏิบัติได้จริง
3. สีเหลือง เป็นสีของแสงแดด หมายถึงความกระจ่างชัด ความรู้ ความเป็นระเบียบ และพลังงาน
4. สีเขียว สีตรงกลางของสายรุ้ง หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ การเติบโต ความสมดุล สุขภาพ และความมั่งคั่ง
5. สีน้ำเงิน สื่อถึงสิ่งที่เรายังไม่รู้เพราะเป็นสีของท้องฟ้าและมหาสมุทรซึ่งเป็นสองสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ดังนั้นสีน้ำเงินจึงหมายถึงจิตวิญญาณและอำนาจของพระเจ้า
6. สีคราม เชื่อกันว่าสีครามคือความสงบของสีน้ำเงิน ดังนั้นสีครามจึงมีความหมายเกี่ยวกับพลังลึกลับ สัญชาตญาณ และการหยั่งรู้
7. สีม่วง สีสุดท้ายของสายรุ้ง เป็นการรวมกันของสีน้ำเงินและสีแดง หมายถึงจินตนาการ แรงบันดาลใจ และบางครั้งหมายถึงความเศร้า
สีรุ้งและสายรุ้งนั้นเป็นสัญลักษณ์อย่างแรกๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ความมหัศจรรย์ของสีทั้ง 7 ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าและตำนานมากมาย บ้างก็ว่าสายรุ้งนั้นเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ชีวิตหลังความตาย บ้างก็ว่าสายรุ้งมีพลังลึกลับที่สามารถสลับเพศของผู้คนที่ลอดผ่านได้ แม้ความเชื่อเหล่านี้จะถูกหักล้างด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่หนึ่งในความเชื่อที่น่าสนใจคือสายรุ้งนั้นมักถูกผูกโยงเข้ากับการส่งสาร
สารนั้นไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายแต่ก็หมายถึงความหวัง ดังนั้นการได้เห็นรุ้งแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ จึงเป็นทั้งความหวังและกำลังใจโดยไม่ต้องพึ่งคำอธิบายใดๆ ทางวิทยาศาสตร์