Papeterie ท่องไปในโลกงานคราฟต์กับเจ้าของสวนที่ปลูกดอกไม้ด้วยกระดาษสีและกรรไกร

‘กระดาษ’ วัสดุแผ่นบาง แค่ออกแรงนิดเดียวก็อาจพังได้ง่ายๆ จึงทำให้กระดาษไม่ค่อยถูกเลือกมาเป็นตัวหลักในการสร้างผลงานเท่าไหร่ แต่อีกมุมหนึ่งความบอบบางนี้เองที่ทำให้ศิลปินสร้างงานที่ละเอียด และสมจริงขึ้นมาได้

ผลงานจากกระดาษที่เราคุ้นเคยมักอยู่ในรูปแบบการ์ดอวยพร หรือชิ้นงานภาพนูนต่ำ แต่สำหรับ ‘ปั้น–นภัสชล ตั้งนุกูลกิจ’ เจ้าของ Papeterie (พาเพ็ตทรี) สตูดิโอเปเปอร์คราฟต์ ศิลปินสาวใช้วิธีการตัด ปะติด เนรมิตชิ้นงานเหล่านี้ขึ้นมาเป็นงาน 3 มิติ สามารถจับต้องได้จริงราวกับมีชีวิต

เส้นทางของศิลปินหลายคนมักเริ่มต้นด้วยการวาดภาพ แต่ปั้นกลับหลงใหลโลกของศิลปะจากการตัดกระดาษก่อนเป็นอย่างแรก และนิยามตัวเองว่าเป็นเหมือน ‘เจ้าของสวนดอกไม้’ มากกว่าศิลปิน เพราะชื่นชอบในการจัดแต่งดอกไม้ที่สร้างขึ้นมาเอง ตกหลุมรักกับความไม่เพอร์เฟกต์ของธรรมชาติ ที่มีสีสันและรูปร่างที่มีความแตกต่างเฉพาะตัว จนกลายเป็นคติประจำใจเวลาทำงานนั่นคือ การตัดด้วยมือทั้งหมด เพื่อคงความไม่สมบูรณ์แบบของงานแต่ละชิ้นไว้

จากกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่ตัดเพื่อความสนุก ค่อยๆ ปูทางให้ปั้นชัดเจนขึ้นในเส้นทางศิลปะ เริ่มต้นเข้าเรียนปั้นเซรามิก ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานประจำที่แรกกับร้านดอกไม้ ‘Plant House’ แม้จะมีช่วงเวลาที่สำรวจสิ่งที่นอกเหนือไปจากการตัดกระดาษ แต่งานอดิเรกนี้ก็ไม่เคยหายไปไหน จนสุดท้ายกลายเป็นอาชีพที่เธอรัก

ในวันที่ศิลปินมีวัสดุให้เลือกมากมาย อะไรทำให้เธอสนใจในกระดาษ และหลงรักความไม่สมบูรณ์ของธรรมชาติ ไปจนถึงเส้นทางของศิลปินที่ใช้หัวใจนำทางเป็นอย่างไร เราชวนปั้นมาพูดคุยสบายๆ ในสวนดอกไม้กระดาษของเธอพร้อมกัน

เจ้าของสวนดอกไม้ (ที่ทำงานศิลปะได้)

ปกติถ้าจะเรียนศิลปะมักต้องโดนคัดค้าน เรื่องแบบนี้เคยเกิดกับคุณบ้างไหม

เออใช่ ตอนเด็กเราไม่รู้ว่าคนอื่นเขาเป็นแบบนั้น แต่พอโตมาเพิ่งรู้ว่ามันไม่ใช่ สำหรับคุณพ่อเราไม่ได้กังวลว่าเราจะเรียนอะไร ตอนที่เราจะเข้ามหาวิทยาลัยเราจริงจังมาก ตั้งใจติวหนัก คุณพ่อเราเป็นสายแบบ ไม่เห็นต้องติวเลย เข้าเอกชนก็ได้ คุณแม่เราก็แค่เอาแค่ที่ชอบ เขาก็พยายามรีเสิร์ชด้วย คุณแม่เป็นหนึ่งคนที่ทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้ เขาเป็น My best friend สำหรับเราเลย 

คุณเริ่มต้นทำ papeterie (พาเพ็ตทรี) ตั้งแต่เมื่อไร

มันเริ่มมาจากเราชอบทำของให้เพื่อนรอบข้าง เพื่อนเลยบอกว่าให้เปิดไอจีไว้ เพราะเราชอบทำงานตัดกระดาษเล่นๆ เยอะ แต่ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดี ก็เลยไปคุยกับเพื่อนสนิทเราตั้งแต่มัธยมที่เรียนอักษร เขาก็เลยช่วยคิดชื่อ เราชอบงานฝีมือ ร้านเครื่องเขียน มันก็เลยเป็นคำภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าร้านเครื่องเขียนเท่านั้นเอง มันเริ่มต้นง่ายมากเลย (หัวเราะ) 

งานไหนที่ทำให้คุณเริ่มถูกเรียกว่าเป็นอาร์ตติสแบบจริงจัง

ถ้าวงกว้างจริงๆ อาจจะเป็นโซโลแรกที่ The Jam Factory ชื่อ “Lost in the Greenland” ปี 2021 จริงๆ ตั้งแต่เรียนจบมันก็เป็นที่รู้จักอยู่แล้วประมาณนึง แต่งานนิทรรศการแรกทำให้เราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หมายถึงคนที่ไม่ใช่แค่ไถไอจีแล้วมาเจอ แต่มาจากคนที่ไปดูงาน 

ก่อนหน้านั้นตัวเราค่อนข้างจับฉ่าย เราก็ไม่ได้มีหลักว่าทำอะไรกันแน่ แต่พอมีโซโลแรก เริ่มถูกเรียกว่าอาร์ตติส เริ่มมีหมุดหมายที่จริงจังมากขึ้น แต่สำหรับตัวเองกว่าจะยอมรับคำว่าอาร์ตติสได้ก็รู้สึกว่ายาก เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นอาร์ตติสเลย อาจเพราะเรามองว่าการเป็นอาร์ตติสมันยากมาก คิดเยอะอะ มันเป็นคำที่มีความหมายที่ไม่ใช่เราขนาดนั้น เราแค่ทำสิ่งที่เราชอบ แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้คิดมากแล้วนะ เราก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเราด้วยเช่นกัน แต่สำหรับเรา  เราชอบมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของสวนดอกไม้ที่ปลูกดอกไม้ที่เราชอบ และเป็นนักจัดดอกไม้ที่เอาดอกไม้ที่เราชอบไปจัดในรูปแบบที่ชอบ อันนั้นจะรีเลตกับตัวเองมากกว่า 

นิยามของอาร์ตติสของคุณเป็นยังไง

ทุกคนมีคาแรกเตอร์ของตัวเองที่โดดเด่นชัดเจนมากๆ มีลายเส้น เป็นงานอาร์ตที่มีสตอรีที่ลึก เราเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่อาร์ตติส แต่พอเรามาค้นว่าศิลปินที่เราชอบ เราก็พบว่าไม่ได้มีใครเป็นแบบนั้น (หัวเราะ) คือเราชอบโมเนต์ (Claude Monet) อันตอนี เกาดี (Antoni Gaudí) ถ้าเก่าๆ ชอบวิลเลียม มอร์ริส (William Morris) เราว่าเป็นคนชอบอาร์ตติสที่อีโมชันนอลมากๆ แล้วก็สิ่งที่เราจะดึงดูดใครสักคนคือสีเป็นอย่างแรก ถ้าสีโดนใจเรา เราก็จะรู้สึกว่าคนนี้น่าสนใจ หลังจากที่คิดแบบนั้นปุ๊บ รู้สึกว่าเราคิดมากกับตัวเองเกินไป เราว่ายกคำว่าอาร์ตติสสูงเกินไป ถ้ามองว่าเป็นแค่อาชีพนึงก็จบแล้ว 

การตัดกระดาษคือช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

ตอนไหนที่เริ่มรู้สึกหลงรักการตัดกระดาษ

เราชอบงานกระดาษตั้งแต่ประถม มีงานจัดบอร์ดแล้วเราก็ทำเป็นภาพเหมือนออกมาจากฟิล์มหนัง แต่เราไม่ได้วาด เราใช้วิธีตัดเป็นช่องๆ เป็นคน แล้วเราจำได้ว่ามันสนุก เราเลยชอบทำงานประดิษฐ์ตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนตัวเราเป็นคนชอบศิลปะ แต่ไม่ชอบวาดรูป คือวาดได้ ตอนติวมันก็ต้องวาดดรอว์อิง แต่ไม่ใช่สิ่งที่รู้สึกว่าเอ็นจอยเท่าไหร่ เราชอบสื่อสารด้วยวิธีอื่นมากกว่า เช่น ปักผ้า แกะสลัก ตัดกระดาษ ปั้น อาจจะเพราะว่าเราชอบงานที่สัมผัสได้ด้วย การที่มันมีมวลขึ้นมา มากกว่างานที่เห็นแบนๆ 

เสน่ห์ของกระดาษคงเป็นที่ผิวสัมผัส เราชอบลูบกระดาษ รู้สึกเหมือนกระดาษมีชีวิต อยากทำความรู้จักกับคนนี้ เราว่าทุกวัสดุมันคงมีเสน่ห์ของตัวเอง แต่อันที่แมตช์กับเราและอยากทำความรู้จักคือกระดาษ เหมือนได้เล่นกับเขาแล้วสนุกเท่านั้นเอง

เคยได้ยินว่าหลายคนมักเริ่มชอบศิลปะจากการวาดภาพ

เราคงเคยวาดตอนเด็กๆ แต่การวาดรูปไม่ได้ทำให้เราชอบศิลปะ เพิ่งมาตระหนักตอนโตว่าไม่น่าชอบวาดรูปเป็นอย่างแรก รู้สึกว่าวาดเพราะต้องวาด ถ้าคุณอยากเรียนศิลปะ แต่เราเริ่มจากชอบงานฝีมือนะ ดูจากกิจกรรมที่ชอบทำตอนเด็กๆ อาจจะชอบดูงานศิลปะ ชอบความสวยงามแบบของเรา เราเคยเรียนมาหลายอย่างมาก แฟชั่น กราฟิก เราก็ชอบตอนเด็กๆ คิดว่าอยากทำเสื้อผ้ามาก แต่พอเอาเข้าใจจริงแล้วไม่ใช่ เราแค่ชอบแต่งตัว

เคยหาเหตุผลให้ตัวเองไหมว่าทำไมคุณถึงชอบงานที่ใช้มือทำ

ถ้าถามเราตอนที่สนุกที่สุดในการทำงานคือพาร์ตทำ บางคนอาจจะชอบตอนเสร็จที่สุด แต่เราชอบตอนทำที่สุด อาจจะเป็นเพราะงานเราสเกตช์ยากมาก เราไม่มีภาพในหัวขนาดนั้นว่างานชิ้นนึงจะออกมาเป็นยังไง ถ้าให้เทียบเหมือนเราปลูกดอกไม้ไว้เยอะๆ ที่คิดว่าจะใช้ แล้วเราค่อยมาเลือกอีกที เราเลยจะไม่สามารถทำอันนี้แล้วแปะตรงนี้ได้เลย เราต้องผลิตออกมาก่อน แล้วค่อยเอาสิ่งที่ผลิตเป็นวัตถุดิบนั้นออกมาใช้ เราเลยสนุกตอนทำ ชอบทำไปเยอะๆ ก่อน

เราเคยรับงานหนึ่งที่หนักมาก ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ควรรับมาเลยก็รับ แต่ก็อยากท้าทายตัวเอง อันนั้นก็ทำให้รู้เลยว่าบางครั้งเราต้องเชื่อเซนส์ตัวเองว่าบางอย่างมันไม่ได้ (เสียงสูง) คือเราเคยทำดอกไม้ 1,000 ชิ้น ในเวลาแค่เดือนกว่าๆ เราข้อมือล็อคเลย เพราะเราตัดมือเองทุกชิ้น ทุกคนก็บอกว่าทำไมไม่เลเซอร์คัตไปเลย จะง่ายขึ้น แต่เรารู้ว่าเรามีกฎของตัวเอง เราชอบตัดมือทุกชิ้น เราก็เลยรู้ว่าต้องมีขีดจำกัดของตัวเอง

สำหรับเราการทำงานมันเหมือนการบำบัดอย่างนึง ช่วงเวลาทุกอารมณ์ของเราสงบนิ่งได้ด้วยการทำงาน บางทีงานตัดกระดาษเลยมีความหมายหลายอย่างกับเรามากๆ ทุกคนมันก็มีวิธีฮีลต่างๆ แต่กับเราเวลาทำงาน เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันหยุดลง ก็เลยชอบมาก 

ทำไมการทำงานร้านดอกไม้ถึงเป็นงานแรกของคุณ แทนที่จะหยิบเอาการกระดาษเป็นงานจริงจัง

ตอนนั้นเราจบมาแล้วก็เป็นฟรีแลนซ์เลย เป็นอยู่ประมาณปีกว่า เรารู้สึกว่ามีช่วงที่งานน้อยลง เลยเป็นช่วงที่เราหางานประจำ ไม่อยากทำงานกระดาษ เราจะเว้นไว้ให้มันเป็นสิ่งที่ชอบทำ เราจะไม่ทำงานตัดกระดาษที่เป็นขั้นตอนของงานอื่น มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากแสดงเต็มที่ 

เลยถามตัวเองว่านอกจากกระดาษแล้วชอบอะไร เราชอบดอกไม้ ก็เลยไปดูว่าถ้าชอบดอกไม้ต้องทำอะไร ก็เลยไปทำร้านดอกไม้ เราไม่ได้คิดอะไรเลย คิดน้อยมาก (ยิ้ม) แค่อยากทำ ก็ไปทำเลย ไม่มีสกิลด้วย ไม่เคยจัดจริงจัง ไม่ได้รู้จักดอกไม้ เราก็เลยไปทำ วันนั้นก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน 

เราก็ยังทำงานหลายๆ อย่าง คือชอบดอกไม้แหละ แต่ก็ยังทำอะไรหลายอย่าง พอไปทำงานที่นั่นคือทำให้รู้ว่าชอบดอกไม้จริงๆ หลังจากทำไป 7-8 เดือน รู้สึกว่าต้องออกแล้วแหละ ร้านดอกไม้สนุกมากนะคะ แต่เราทำสองอย่างไม่ได้ งานประจำมันก็ 6 วันแล้ว แล้วเรายังทำฟรีแลนซ์อีก เราหยุดแค่วันเดียว ร่างกายมันน็อค เราเลยตั้งเป้าว่าทำถึงปีนึงแล้วก็ออก แล้วก็มาทำตัดกระดาษ เรายังชอบดอกไม้อยู่ เราเอาเรื่องมารวมกัน เราเลยทำงานกระดาษที่เล่าเรื่องดอกไม้ 

ธรรมชาติเป็นคนสร้างสรรค์ที่เก่งที่สุด

คุณสร้างงานจากกระดาษให้ดูมีชีวิตได้ยังไง

ดอกไม้ส่วนใหญ่มาจากดอกไม้ที่มีอยู่จริงหมดเลย เราไม่เคยรู้สึกว่าอยากทำให้เหมือนจริง เราแค่อยากทำให้เหมือนที่เราเห็นหรืออยากเห็น แต่เบสมาจากรูปร่างที่เคยเห็นทั้งหมด

อาจจะเพราะเราชอบงานที่ดูมีชีวิต งานที่เราสื่อสารเลยมีชีวิต หรืออาจจะเพราะเส้นมันไม่เป๊ะ มันเลยดูมีชีวิต บางครั้งงานที่สวยแบบเป๊ะๆ มันสวยแต่มันจะแห้งกว่า มันก็แล้วแต่ความชอบว่าคุณชอบแบบไหน อย่างเราก็จะชอบงานที่มันไม่เท่ากันทุกอย่าง เราชอบงานที่มีตำหนิ เหมือนเวลาเราเห็นคน เรารู้ว่าคนนี้หน้าตาดีเป๊ะๆ อาจจะไม่ใช่คนที่เราชอบ แต่เราชอบคนที่ดูมีคาแรกเตอร์ของตัวเองมากกว่า เราว่าสุดท้ายงานก็จะสื่อสารตัวเราออกมา เราว่าทุกงานมันแสดงตัวคนทำออกมา

อะไรที่หล่อหลอมให้คุณเป็นศิลปินที่ชอบฟอร์มธรรมชาติที่ไม่มีสมมาตร

เรามักจะมีเพื่อนสนิทที่เป็นคนนิสัยมีลำดับหนึ่ง สอง สาม สี่ ที่ดีมาก เราไม่มีเลย เรา สี่ สอง หนึ่ง (หัวเราะ) เราเลยคิดว่าน่าจะมาจากวิธีการมองภาพของเรา อย่างเราจะจำอะไรที่เป็นข้อมูลไม่เก่งเลย จำเป็นภาพได้ บางทีก็ชอบคุยกับคน แล้วรู้สึกว่ามันก็เป็นวิธีคิดของศิลปินคนนี้ด้วยที่เขาจะมองโลกยังไง 

เริ่มแรกคุณตัดไปเยอะขนาดไหน

สมัยก่อนเวลาไม่มีอะไรทำเราก็นั่งตัดใบไม้เล่น เราตัดเป็นกล่องๆ เลย เหมือนมันเป็นโจทย์ที่เราทำแล้วสนุก เราทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจ ยิ่งเราทำได้เล็กเท่าไหร่ยิ่งมีความสุข เราเลยคิดว่ามันคงดีขึ้น เพราะเราอยากตัดให้ได้เล็กกว่านี้อีก อยากตัดให้ละเอียดกว่านี้อีก เราดูว่าเราอยากได้ประมาณนี้ แล้วเราดูจนกว่าเราจะพอใจ 

เราแค่ทำเยอะๆ ทำจนกว่าจะชอบ คงเหมือนกับตอนดรอว์อิง ลากเส้นตรงจนกว่าจะได้ การฝึกที่ดีที่สุดสำหรับเราคือการทำไปเยอะๆ ให้มือมันคุ้นเคย และต้องเจออุปกรณ์ที่ถนัด เวลาใครถามว่าต้องใช้กรรไกรแบบไหน รู้สึกว่าตอบไม่ได้ขนาดนั้น คุณแค่ต้องเจออันที่ถนัดมือของตัวเอง ที่สำคัญใบมีดต้องคุณภาพดีเท่านั้นเอง 

พอมองย้อนกลับไปตอนนี้มันดีขึ้นมากๆ ตั้งแต่วันแรกที่เราทำ เพื่อนเราเคยพูดว่าความสามารถพิเศษของเธอคือความชอบทำ พอมีความชอบมันเลยทำได้เยอะ โอเค มันอาจจะมีคนที่มีพรสวรรค์แล้วทำได้เลย แต่สำหรับเรารู้สึกว่าทำไปเรื่อยๆ เลยได้สกิลที่ดีขึ้น 

ความยากของการตัดกระดาษให้ได้รูปร่างที่ตัวเองต้องการคืออะไร

บอกได้ว่าความยากของการตัดกระดาษคือการตัดเส้นโค้งให้เป็นธรรมชาติ ตัดเส้นตรงไม่ยากหรอก ถ้าใครอยากฝึกตัดให้ตัดเส้นโค้งเยอะๆ พอทำให้เส้นโค้งเป็นแบบที่เราต้องการได้ เราก็จะตัดอย่างอื่นง่ายขึ้น ถ้าเราอยากพัฒนายิ่งขึ้นเท่าไหร่ให้ตัดสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันยากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราอาจไม่ต้องตัดยากขนาดนั้นในชีวิตจริงก็ได้ 

แต่ว่าเราถ้าตัดที่เป็นเรขาคณิต อะไรที่มันเป๊ะๆ เราไม่เก่งเหมือนกันนะ ถ้ามีคนวาดแล้วให้เรากรีดตาม มันยากมาก เวลาเราไปสอนเวิร์กช็อปเราจะบอกว่าไม่ต้องเข้มงวดมาก หรือต้องให้มันตรงเส้น เราแค่ไกด์ไลน์เส้นให้คุณเฉยๆ แต่คุณสามารถทำฟอร์มของคุณได้เลย แล้วนั่นเป็นหนึ่งสื่งที่เราชอบทำงานพวกธรรมชาติ เพราะมันไม่ต้องเป๊ะ เวลาเราเห็นดอกไม้ แค่มันมีกลีบเราก็เห็นเป็นดอกไม้แล้ว มันไม่ต้องทำสัดส่วนให้มันเป๊ะ หรือเราชินแล้วก็ไม่รู้นะ 

ถ้าให้เลือกระหว่างดอกไม้กระดาษกับดอกไม้จริงล่ะ

ถ้าเราเป็นเจ้าของสวน ดอกไม้จริงก็ยังเป็นที่หนึ่งตลอดกาล ธรรมชาติเป็นคนสร้างสรรค์ที่เก่งที่สุดแล้ว มีทุกอย่างที่มันเจ๋ง ส่วนหนึ่งที่เรามีวิธีการแบบนี้เพราะเราชอบธรรมชาติ เวลาเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกัน น้องจะไม่ได้เหมือนกันแบบ copy paste แม้ว่าจะเป็นพันธุ์เดียวกัน วิธีปลูกเหมือนกันเด๊ะ นั่นเลยเป็นวิธีการทำงานแบบที่ทุกงานจะไม่เหมือนกัน แต่จริงๆ มันก็อาจจะเป็นความสวยคนละแบบ เพราะมันเหมือนออกมาจากสวนคนละที่ ทุกที่ก็มีรูปแบบของตัวเอง ถ้าถามเรายังไงดอกไม้จริงๆ ก็ดูมีชีวิตชีวากว่า

ลองดูให้รู้ไปเลยว่าชอบหรือไม่ชอบ

ดูเหมือนเส้นทางที่ผ่านมาคุณมักเลือกจากความชอบมาตลอด รู้สึกยังไงกับการที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองเลือกจนถึงตอนนี้

เราว่ามันดีที่สุด มันแล้วแต่ชีวิตคนนะ ทุกคนมีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน ถ้าถามเรา เรารู้สึกว่าแม้มันจะพลาดแต่เราได้เลือกเอง มันคือการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายแม้เราจะมีเงื่อนไขเยอะ แต่ก็พยายามที่จะได้เลือกตัดสินใจเองว่าจะทำอะไร เราจะยอมรับมันได้ง่ายกว่า เวลาเราเจอซ้ายกับขวา แล้วเราเลือกมาทางขวาเราคงไม่ได้นั่งคิดว่าทางซ้ายจะเป็นยังไง เพราะมันก็แค่เลือกมาทางนี้แล้วเท่านั้นเอง สามารถเข้าใจและยอมรับสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากกว่า

คุณใช้วิธี ‘เลือกตามความต้องการของตัวเอง’ กับการทำงานด้วยไหม

แค่เราเห็นเราต้องพอใจ โอเค ชอบแล้ว จบ แล้วก็จะปิดงานได้ แต่ถ้าไม่ชอบก็จะไม่ได้ แต่โอเค บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ชอบแบบนี้ที่สุด แต่ชอบที่สุดในเงื่อนไขที่เรามีได้ เช่น งานลูกค้า เราต้องมีความชอบของคนอื่นในงานด้วย แต่อย่างน้อยตัวเองเห็นแล้วต้องโอเคก่อน ใช้ตัวเองเป็นตัววัดมากๆ มันเลยเป็นช่วงที่ต้องทำให้ตัวเองมั่นคง เพราะถ้าตัวเองหวั่นไหวมันจะทำงานยากมาก สำหรับเรานะ เพราะเราเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง

ความรู้สึกไหนที่คุณมองงานแล้วรู้สึกว่าชอบ

ต้องไม่มี ‘อีกนิดนึง’ อะ สำหรับเราถ้าเห็นแล้วรู้สึกว่าอีกนิดนึง แสดงว่ายังไม่ใช่ เหมือนต้องเห็นแล้วไม่มีคำว่าอีกนิดนึงในหัว บางครั้งเห็นด้วยตาไม่ได้ต้องถ่ายรูป มันจะแบบมอง ถ่ายรูป มอง ถ้ามีเซนส์ว่าอีกนิดนึงปุ๊บ ถ้ายังคิดไม่ออก ให้พักไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมามองใหม่ ถ้ายังคิดไม่ออกก็ลองใส่อะไรบางอย่างเข้าไป เราก็จะรู้ว่าต้องตรงไหน เราว่าแค่ไม่มีอีกนิดนึง (หัวเราะ)

เวลาต้องตัดสินใจคนเดียวเป็นเรื่องยากสำหรับคุณไหม

คิดว่ามีทั้งดีและไม่ดี ได้ตัดสินใจเองทุกอย่างก็ดี เราก็จะได้งานดั่งใจเราที่สุด แต่ถ้ามีคนอื่นด้วยก็ดี เราก็จะได้ไอเดียอย่างอื่นที่เราคิดไม่ถึง คิดว่าดีคนละแบบ แต่ถ้าเป็นงานตัวเองล้วนๆ เรายังเชื่อตัวเองคนเดียวอยู่ บางครั้งเราก็ทำสิ่งที่ตัวเองรู้ว่าคนเห็นอาจจะไม่ได้ชอบ แต่เราเห็นแล้วชอบ เวลาเลือกงานอาจจะต้องถามว่าเนื้องานอันไหนเราชอบมากกว่า เราอาจจะไม่ได้ฟิกขนาดนั้น เราชอบทำงานกับตัวเองมากกว่า แต่ต้องถามว่าเนื้องานไหนคืองานที่เราอยากทำกว่า ถ้าเป็นงานที่เราอยากทำโปสเซสเราสามารถยอมรับได้ทั้งคู่ 

คิดว่างานเปเปอร์คราฟต์ในความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นอย่างไร

เราอาจจะมองเป็นภาพรวมมากกว่าว่าศิลปะสามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้น แค่คนทำงานศิลปะเกี่ยวกับกระดาษในไทย ในความเข้าใจของเราอาจจะไม่ได้เยอะขนนาดนั้น คนเลยไม่ได้เห็นงานกระดาษเยอะ หรืองานกระดาษมันจะถูกสื่อสารออกมาเป็นการ์ด หรือเป็นของที่ให้ตามโอกาสพิเศษ เป็นของขวัญ มันไม่ได้ถูกสื่อออกมาเป็นงานอาร์ตเชิงดีไซน์หรืองานขาย ภาพจำของงานกระดาษมันเลยดูเป็นการ์ดมากกว่า 

ยกตัวอย่าง เซรามิก ภาพจำมันไม่ค่อยถูกนำเสนอเป็นรูปปั้นแกะสลัก มันถูกจำเป็นจาน ชามมากกว่า เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องภาพจำ ส่วนเข้าถึงไหม คิดว่าคนที่ชอบก็ชอบแล้วนะระดับนึง แต่พอคนทำไม่ได้เยอะ ไม่เหมือนคนวาดรูป สื่อที่เห็นมันเลยน้อยกว่าเท่านั้นเอง

แต่เราชอบมองว่าเราก็เป็นนักวาดแหละ แต่วิธีสื่อสารคนละแบบ ก็เลยอาจจะไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น อาจเป็นเรื่องภาพจำมากกว่า เช่น เราอยากทำนิทรรศการ มันอาจจะไม่ได้มีคนทำงานสื่อสารด้วยกระดาษเท่านั้นเอง 

ด้วยความตลาดมันค่อนข้างเฉพาะทาง คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้เกิดศิลปินแบบคุณขึ้นมาอีก

สำหรับเราไม่จำเป็นต้องเป็นงานกระดาษแบบเดียว แต่ไม่ว่าคุณจะทำงานสื่อแบบไหน เราว่าอาจจะต้องหยุดคิดแล้วก็ทำเลย เราก็เป็นคนคิดเยอะ เข้าใจ แต่คิดไปมันก็ไม่เห็นภาพ สำหรับเราต้องทำไปก่อน ทำไปเรื่อยๆ ถ้ายังอยู่ในเงื่อนไขที่ทำได้นะ เราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ 

ถ้าเราไม่ได้คิดว่าทำไปแล้วต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นเราอาจจะกล้าทำ เช่นไม่ใช่ว่าทำไปแล้วต้องเป็นแบบนี้ไปตลอดกาล มันก็แค่ทำวันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้เปลี่ยนไปก็ทำใหม่ ทำไปเรื่อยๆ แล้วก็เดี๋ยวนี้มันมีโซเชียลก็ใช้สื่อสาร หรือโปรโมทตัวเองได้ 

แต่สิ่งสำคัญคือทำไปเลย ไม่ใช่ว่าคิดแล้วมันไม่ดี ถ้าคิดมันไม่เห็นสักทีว่าเป็นยังไง เช่น เราเคยคิดว่าทำแล้วเราอาจจะชอบ แต่พอทำแล้วเรากลับไม่ชอบ คืออย่างน้อยถ้าทำ เราจะรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ เราควรไปทิศทางไหนต่อ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream