The LOC. Box กล่องรวมของดีจากเชียงใหม่โดยสองแม่ญิงเหนือผู้อยากเห็นร้านค้าในชุมชนกลับมาคึกคัก

Highlights

  • The LOC. Box คือโปรเจกต์ที่คัดสรรสินค้าและบริการดีๆ ในเชียงใหม่มาใส่ในกล่องแพ็กเกจสวย ฝีมือ เม–วรรณลักษณ์ สุวรรณภู และ แพร–อัชฌา นามจันทร์ลักษณ์ ผู้อยู่เบื้องหลังเพจรีวิวที่กินที่เที่ยวในเชียงใหม่ชื่อดังอย่าง ‘บันทึกกิน บันทึกกรรม’
  • หลักการคัดสรรของเข้าสู่ The LOC. Box ง่ายๆ คือของกิน ของใช้ และสินค้าทุกชิ้นต้องผ่าน QC จากทั้งคู่ และต้องมีราคาพิเศษที่ถูกกว่าหน้าร้าน นอกจากจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนในช่วงวิกฤตที่รายได้จากนักท่องเที่ยวหดหายแล้ว นี่ยังเป็นการแนะนำแบรนด์ดีๆ ให้คนทั้งในและนอกเชียงใหม่ได้รู้จัก
  • ในอนาคต คุณอาจเห็น The LOC. Box ต่อยอดกลายเป็นอีเวนต์ที่คงคอนเซปต์การแนะนำของดีจากเชียงใหม่ให้คนภายนอกรู้จักด้วย

LOC. Box

บ่ายวันที่ฉันนัดเจอ เมวรรณลักษณ์ สุวรรณภู และ แพรอัชฌา นามจันทร์ลักษณ์ สองสาวเหนือผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ The LOC. Box เป็นบ่ายที่ท้องฟ้าของเชียงใหม่ระบายสีครึ้ม

ดูก็รู้ว่าฝนใกล้ตก โชคดีที่ฉันถึงที่นัดหมายก่อนหยาดฝนจะโปรยปราย ในมุมหนึ่งของถนนท่าแพ มีตรอกเล็กๆ ติดกับ rivers & roads ร้านขายของฝากสุดคิวต์ที่เมื่อก้าวเข้าไปจะพบเวิ้งที่ตั้งของบาร์แจ๊ส ร้านกาแฟ รวมถึงร้านอาหารอิตาเลี่ยนชื่อ Barefoot Café–ที่นัดหมายของเราในวันนี้

วรรณลักษณ์และอัชฌายิ้มต้อนรับฉันกับช่างภาพตรงที่นั่งหน้าร้าน ทั้งคู่อยู่ในชุดพื้นเมืองล้านนาสีสะอาดตา บนโต๊ะตรงหน้ามีกล่องสีชมพูอ่อนที่บรรจงห่อด้วยเทคนิค Furoshiki แบบที่คนญี่ปุ่นชอบใช้ห่อของขวัญให้กัน วางเคียงข้างชะลอมสานที่บรรจุบางสิ่งไว้ ถัดไปหน่อยคือซองกระดาษสีเหลืองสดใสที่น่าลุ้นว่ามีอะไรอยู่ข้างในเหมือนกัน

The LOC. Box

นี่คือ The LOC. Box กล่องบรรจุของกิน ของใช้ และประสบการณ์จากเชียงใหม่ที่วรรณลักษณ์กับอัชฌาคัดสรรอย่างตั้งใจ ทั้งคู่เริ่มทำกล่องแรกในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ COVID-19 กำลังระบาดหนัก ด้วยจุดประสงค์หลักคือ หนึ่ง พวกเธออยากแนะนำของดีเชียงใหม่ให้คนทั้งในและนอกเชียงใหม่ได้รู้จัก สอง เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเชียงใหม่ในช่วงที่พวกเขาขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว

“เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวแต่นักท่องเที่ยวหายหมดเลย มันน่าเศร้านะ” วรรณลักษณ์เล่าที่มาที่ไป จนถึงวันที่บทความนี้เผยแพร่ The LOC. Box ก็ถูกทำขึ้นมาแล้ว 23 ครั้ง นับจำนวนทั้งหมดก็หลายร้อยใบ และแม้กระแสโรคระบาดจะซาไป ทั้งสองก็ไม่มีท่าทีว่าจะหยุด

นี่คือเรื่องราวของสองแม่ญิงเหนือผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่เต็มหัวใจ และพยายามช่วยเชียงใหม่ในเวลาที่คนในชุมชนต้องการมากที่สุดด้วยสองมือของตัวเอง

The LOC. Box

กล่องที่ช่วยผู้ประกอบการจากวิกฤต

ก่อนจะทำโปรเจกต์ The LOC. Box วรรณลักษณ์ทำเพจที่เธอรีวิวประสบการณ์กินเที่ยวที่เชียงใหม่ในสไตล์ของตัวเอง

บันทึกกิน บันทึกกรรม คือชื่อของเพจนั้น

จุดเริ่มต้นของเพจมาจากการที่วรรณลักษณ์ชอบกินและดื่มเป็นทุนเดิม เธอเคยทำงานเป็นแอร์โฮสเตสที่บินไปประเทศไหนก็ต้องไปหาชิมอาหารโลคอลของที่นั่นตลอด และเมื่อถอดปีกแอร์ฯ ในปี 2556 วรรณลักษณ์ก็กลับมาเอนจอยกับการกินดื่มแบบโลคอลในบ้านเกิดของตัวเอง และแบ่งปันความชอบของตนเองผ่านทางหน้าแฟนเพจ

“ชื่อบันทึกกิน บันทึกกรรม มาจากความตั้งใจแรกที่จะทำทั้งรีวิวกิน สลับกับที่ออกกำลังกาย เหมือนกินแล้วต้องมาชดใช้กรรม แต่ทำโพสต์บันทึกกรรมไปได้แค่ 2 โพสต์ก็หาทางไปต่อไม่ได้ เลยบิดมารีวิวกินเที่ยวอย่างเดียว เพราะเอาจริงๆ ความหิวก็คือกรรมอย่างหนึ่งถูกไหม” คำอธิบายของเธอทำให้ฉันหัวเราะ เคล้าไปกับเสียงฟ้าร้องครืนใหญ่ ฝนที่เริ่มลงเม็ดทำให้วรรณลักษณ์เล่าด้วยเสียงดังขึ้น

“คอนเซปต์ของเพจที่อยู่มาตั้งแต่แรกคือเราอยากช่วยโปรโมตธุรกิจของคนเชียงใหม่ เพราะเราชอบไปร้านเล็กๆ ในซอกหลืบที่เพจดังๆ ไม่ไปกัน เราไปกินเอง จ่ายเอง พอเริ่มมีคนติดตามแล้วก็ถูกเชิญไปกินบ้าง แต่เราไม่ได้เอาค่าจ้าง เพราะเราตั้งใจจะช่วยบอกต่อสิ่งที่คิดว่าดีจริงๆ”

ในช่วงแรกเริ่มของการทำเพจนี้เอง วรรณลักษณ์พบกับอัชฌาในยิมออกกำลังกายแห่งหนึ่ง เรื่องตลกคือทั้งคู่เจอกันเพราะการออกกำลังกาย แต่สุดท้ายจบที่ร้านอาหาร

“เหมือนผีเห็นผี” อัชฌาผู้เป็นคนลำพูนที่มาเรียนและทำงานเป็นวิศวกรอยู่เชียงใหม่เล่า “พอได้มารู้จักกันก็รู้ว่าจบมช.เหมือนกัน แถมยังเป็นคนชอบกินชอบดื่มเหมือนกันอีก รู้อย่างนั้นก็เลยชวนกันไปบาร์ฮอป สรุปตอนหลังๆ ยิมก็กลายเป็นแค่ที่จอดรถที่เรานัดเจอกันแล้วออกไปหาอะไรกิน” หญิงสาวหัวเราะ

ด้วยรสนิยมที่คล้ายกันทำให้ทั้งคู่เริ่มสนิทสนม อัชฌากลายเป็นคู่หูของวรรณลักษณ์ตอนไปทำรีวิวกินดื่มโดยปริยาย จากการเป็นเพื่อนกินก็ขยับขยายมาสู่เพื่อนร่วมธุรกิจ หรือถ้าใช้คำให้ถูกต้องก็น่าจะเป็นเพื่อนจิตอาสาเสียมากกว่า

เรื่องทั้งหมดเริ่มขึ้นตั้งแต่วรรณลักษณ์เป็นอาสาสมัครในโครงการสายใต้ ออกรถ โครงการช่วยเหลือสังคมที่เกิดขึ้นตอนเชียงใหม่ประสบปัญหาไฟป่า โดยมีแกนนำคือ น้ำตาล–ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร เจ้าของร้าน Wine Citizen Chiang Mai ที่ชักชวนเชฟจากร้านอาหารมีชื่ออย่างแกงเวฬา, อันจะกินวิลล่า และร้านดังในเชียงใหม่อีกมากมายมาทำอาหารเพื่อระดมทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศ หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ให้โรงเรียน และแหล่งขาดแคลนในหลายชุมชน

The LOC. Box

ช่วงนั้นวรรณลักษณ์ไปเที่ยวดูไบ แต่ก็อาสาเข้ามาช่วยเหลือโครงการสายใต้ ออกรถ ในฐานะแอดมินเพจกับประสานงาน เธอเริ่มมองเห็นสถานการณ์การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ที่แย่ลงเรื่อยๆ จนมาถึงจุดพีคคือช่วงโควิด-19 ระบาด

“ตั้งแต่ตอนทำงานให้สายใต้ฯ เราได้รู้จักชุมชนต่างๆ ที่มีของดีเยอะ ข้าวและมะเขือเทศจากอำเภอแม่วาง ลูกท้อจากอำเภอเชียงดาว เราเห็นแล้วก็คิดว่าอยากทำโปรเจกต์ที่เอาของพวกนี้มาขาย ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้ว่าของพวกนี้มาจากไหนบ้าง แต่ตอนนั้นอยู่ดูไบเลยยังทำไม่ได้ ก็ฟุ้งอยู่พักหนึ่ง

“พอโควิดมา เราเห็นภาพถนนนิมมานโล่ง ท่าแพนี่แทบไม่มีคน เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวแต่นักท่องเที่ยวหายหมดเลย มันน่าเศร้านะ ก็เลยคุยกับแพรว่าจะช่วยได้ยังไงดี แพรเสนอไอเดียว่าน่าขายของออนไลน์ โดยเลือกของจากร้านที่มีอยู่ในเพจบันทึกกินฯ  เพราะตอนนั้นทุกร้านซบเซา ไม่มีใครออกจากบ้านมากินเลย”

The LOC. Box

กล่องใส่ความห่วงใย

“เราเป็นคนบ้าดู Pinterest แล้วไปเห็นธุรกิจ Subscription Boxes ของเมืองนอกที่จะส่งกล่องเครื่องสำอางและกล่องสุ่มให้ผู้รับ” วรรณลักษณ์เผยแรงบันดาลใจสำคัญของการทำ ‘กล่อง’ ให้เราฟัง ขณะที่สายฝนเบื้องบนลงเม็ดกระหน่ำ

“โมเดลนี้ที่เมืองนอกฮิตมาก เราเห็นว่าเป็นคอนเซปต์ที่น่าสนใจและยังไม่มีใครทำ แต่เราไม่ได้อยากทำกล่องสุ่ม เพราะอยากให้คนรู้จักของ ได้เห็นของก่อนตัดสินใจซื้อ สุดท้ายก็สรุปว่าเราจะทำกล่องที่รวบรวมสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการในเชียงใหม่ลงกล่อง หมุนเวียนกันไปเพื่อผลัดให้ลูกค้าได้รู้จักว่าคนเชียงใหม่มีของดีอะไรบ้าง”

จากความตั้งใจของเพจบันทึกกิน บันทึกกรรม ที่อยากช่วยโปรโมตธุรกิจในเชียงใหม่ The LOC. Box ทำให้ไอเดียดูจับต้องได้ขึ้นอีกขั้น สิ่งที่แตกต่างก็คือครั้งนี้พวกเธอไม่ได้ช่วยโปรโมตเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น เพราะในช่วงที่เริ่มต้นทำกล่องแรก ไม่ว่าร้านเล็กหรือใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไม่ต่างกัน

เมื่อได้ไอเดียเป็นธงตั้งต้น พวกเธอก็คิดธีมให้แต่ละกล่อง หลังจากนั้นก็ช่วยกันคัดสรรสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับธีมนั้นที่สุด โดยคำนึงว่าราคาต้องเป็นตัวเลขที่เอื้อมถึง ที่สำคัญต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่ทั้งคู่ลงความเห็นร่วมกันแล้วว่าเลิศ

“เราตั้งราคาโดยใช้เกณฑ์ว่าแม้แต่เราก็อยากจ่ายเงินซื้อราคานี้” อัชฌาบอกตามตรง “ส่วนเรื่องต้องเป็นสินค้าที่เราลงความเห็นแล้วว่าดี แต่มันก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าคนอื่นจะว่าดี อย่างที่เราบอกคือ The LOC. Box มันเหมือนการโปรโมตให้คุณไปลองดู ไป experience เองว่าชอบไหม เพราะสุดท้ายคุณตัดสินใจเอง”

The LOC. Box

เราสงสัยว่า อะไรที่อยู่ในกล่องได้บ้าง ทั้งคู่ตอบว่าบางกล่องอาจเป็นของกินจากหลายร้าน บางกล่องเป็นของใช้ล้วน บางกล่องก็มีแค่เวาเชอร์ใบเดียวเพื่อไปใช้บริการ หรือบางกล่องก็มีทั้งสินค้าและบริการ

“ด้วยความที่ทุกอย่างมันแพ็กลงกล่องไม่ได้ เราก็เลยคุยกันว่างั้นก็ต้องมีเวาเชอร์เพื่อคนจะได้ไปใช้จริงๆ คือเราก็ไม่อยากให้มันจำเจ เพราะทุกอย่างมันไม่ได้ใส่กล่องได้ อย่างประสบการณ์ คอร์สเรียน คุณต้องไปลองไง”

ของในกล่องที่แตกต่างกันยังส่งผลถึงรูปแบบการจัดส่งให้ลูกค้า บางกล่องที่เป็นขนมหรือของกิน มีวันหมดอายุจึงส่งได้แค่ในเชียงใหม่ ในขณะที่กล่องจำพวกเวาเชอร์สามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่ทุกกล่องมีเหมือนกันคือการเน้นย้ำให้ลูกค้าได้รู้จักที่มาของสินค้าและบริการ ผ่านการ์ดใบจิ๋วที่มีคำแนะนำตัวของสองสาวและข้อมูลโดยคร่าวของร้านในกล่อง

ว่าแล้วอัชฌาก็เปิดกล่องหนึ่งในคอนเซปต์ ‘สายใต้ ออกรถ’ ให้ฉันดู พร้อมเล่าว่า กล่องนี้ตั้งใจให้ลูกค้าได้รู้จักว่าเชฟของโครงการนี้มีใครบ้าง จึงมีของกินราคาพิเศษจากเชฟหลายคนมารวมไว้ ทีเด็ดคือกุนเชียงจากร้านอันจะกินวิลล่าที่รับลูกค้าวันละโต๊ะ วรรณลักษณ์บอกว่าตอนนี้คิวยาวไปถึงปลายปีโน่นแล้ว

The LOC. Box

แกะกล่องของกินเสร็จ ทั้งคู่ก็ลงมือกับห่อกระดาษสีเหลืองสวยต่อ แล้วฉันก็ได้รู้ว่าข้างในบรรจุเวาเชอร์เรียนทำพาสต้าเส้นสดกับเจ้าของร้าน Barefoot Café ร้านอาหารอิตาเลี่ยนที่เรากำลังนั่งกันอยู่ตอนนี้

“อันนี้ขายดีมาก ลูกค้ามาเรียนเสร็จแล้วมาขอซื้อไปให้เพื่อนเรียนอีก” วรรณลักษณ์เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น เธอยังขายต่อว่าไม่ได้มีแต่คอร์สทำอาหารเท่านั้น แต่ยังมีคอร์สสอสเขียนลายมือออนไลน์ ไปจนถึงเวาเชอร์ขายบริการอย่างอื่นเช่นเวาเชอร์ห้องพักในโรงแรม ซึ่งขายพ่วงกับประสบการณ์บาร์ฮอปหลายร้านในหนึ่งคืน ประมาณว่าถ้ามานอนโรงแรมนี้ คุณจะสามารถเดินไปดื่มได้หลายร้านบนถนนเส้นเดียวกัน พอมึนแล้วก็เดินกลับมาหลับที่โรงแรมได้เลย

The LOC. Box

กล่องบรรจุความภูมิใจ

สองสาวเผยกับเราว่า ความยากที่สุดของโปรเจกต์นี้คือช่วงเริ่มต้น เพราะ The LOC. Box ทุกกล่อง ถ้าเทียบกับราคาจริงของสินค้าแล้วถูกกว่าหลายเปอร์เซ็นนัก การตามหาร้านที่เข้าใจคอนเซปต์นี้จนตอบตกลงนั้นไม่ง่ายเลย

“เพราะไม่อยากขายแพง เราจึงขอราคาพิเศษไป และมีหลายร้านเหมือนกันที่ไม่ค่อยเก็ตว่าจะเป็นยังไง ได้อะไร มาขอราคาถูกแล้วได้อะไร ซึ่งเราก็ไม่ว่ากัน” เพราะฉะนั้นกล่องแรกของทั้งคู่จึงเริ่มกับร้านเบเกอรี่ที่มีคอนเนกชั่นกัน คุยกันง่ายอยู่แล้วจำนวน 6 ร้านถ้วน

“อย่าง 6 ร้านแรกเขาชอบคอนเซปต์ แต่ในทางกลับกัน เขาดันเป็นห่วงว่าเราได้อะไร คือเราบวกไปมันคือค่าแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ก็แทบไม่ได้กำไรอะไร แต่มันก็อิ่มใจ” วรรณลักษณ์ยิ้ม

“ถามว่าตอนนี้ได้ทุนคืนหรือยัง” อัชฌาแซว

แล้วถ้าหากมันไม่ได้กำไร อะไรที่ทำให้คุณอยากทำโปรเจกต์นี้ต่อ ฉันถามสิ่งที่คิด

“ส่วนตัวเรามองว่ามันสนุก คือเวลาทำกล่องเราก็จะเห็นว่าผู้ประกอบการเขามีความตั้งใจในการเอาของมาลงให้เรา มีการทำแพ็กเกจจิ้งที่พัฒนาไปอีกขั้น แล้วแต่ละคนไม่ใช่แค่แบบง่ายๆ คือเขาก็แข่งกัน เขาก็เต็มที่ เราก็คิดว่ามันไปต่อได้ มีคนอินกับเราเว้ย” วรรณลักษณ์เผย “ก็ถ้ามันยังไหวก็ไปต่อ ถ้ายังไม่เจ็บไม่ป่วยมาก เข้าเนื้อนิดหน่อยก็ได้อยู่”

เราเริ่มกันเดือนพฤษภา เพิ่งเริ่มเอง สิ่งที่ทำให้เราไปต่ออีกข้อคือเวลามีคนซื้อไปแล้วเขาส่งมา เขาชอบนะ ส่งสตอรีมา ตอนเปิดเป็นยังไง ชิมแล้วอร่อยหรือเปล่า อันนี้คือรู้สึกฟิน เป็นฟีดแบ็กที่ดี” อัชฌาเล่า

จุดนี้วรรณลักษณ์เสริมอีกว่า เอาจริงๆ เลย เมื่อก่อนที่คนบอกว่า เป็นคนเชียงใหม่เหรอ อิจฉาว่ะ ตอนเด็กๆ ไม่เก็ตนะ แต่พอด้วยความที่เราไปอยู่เมืองนอกบ่อย นาน และไปเรื่อยๆ ไม่มีครั้งไหนที่อยากกลับบ้านเท่าครั้งนี้ เราเห็นโควิดแล้วคิดถึงบ้านเรา มันอินด้วยความที่เราโตมากขึ้น  แล้วเห็นว่าคนเชียงใหม่ต้องการความช่วยเหลือ คือเราจะไปหวังพึ่งจากองค์กรหรือคนข้างบนไม่ได้นัก เพราะฉะนั้นมันจะต้องเหลือคนที่ช่วยกันเอง

“เรามองว่าอย่างน้อยเราเป็นคนที่นี่ เราก็อยากทำอะไรให้คนที่นี่บ้าง ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้มากหรือไม่ได้กับทุกคน แต่การที่คุณได้ทำมันก็โอเคแล้ว ถึงจะเป็นสเกลเล็กแต่มันก็เป็นฟันเฟืองที่ไปขับเคลื่อนสเกลใหญ่ต่อไปได้ แค่ต้องมีคนเริ่มทำอะไรสักอย่างแค่นั้นเอง”

ในอนาคต วรรณลักษณ์กับอัชฌายังวางแผนจะขยับขยาย The LOC. Box ไปสู่รูปแบบใหม่ เช่น อีเวนท์ทั้งในและนอกเชียงใหม่ โดยทั้งคู่ประเดิมจากกิจกรรม ‘ลองเดท’ ที่รับสมัครคนโสดที่ไม่รู้จักกันมาก่อนมากินข้าวด้วยกัน ซึ่ง “ยังคงใช้คอนเซปต์แนะนำสินค้าดีๆ ในเชียงใหม่ให้รู้จักเหมือนเดิม เพิ่มเติมคืออาจได้แฟนด้วย” วรรณลักษณ์หัวเราะ

บทสนทนาของเราสิ้นสุดลงพร้อมฝนเม็ดสุดท้าย แล้วความรู้สึกที่มีต่อเชียงใหม่ของฉันก็เปลี่ยนไป อาจเพราะการได้ฟังว่าหัวเมืองเหนือแห่งนี้มีของดีหลายอย่างที่แม้แต่ฉันเองก็ยังไม่รู้จัก อาจเพราะมีประสบการณ์หลายอย่างที่หาไม่ได้จากที่ไหน หรืออาจเพราะได้เจอคนที่รักเชียงใหม่สุดหัวใจอย่างวรรณลักษณ์กับอัชฌา

ฉันเงยหน้ามองฟ้าหลังฝนของเชียงใหม่ เห็นสีของท้องฟ้าที่เปลี่ยนเป็นโทนสดใสก็ยิ้มออก

The LOC. Box The LOC. Box

The LOC. Box The LOC. Box

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่จังหวัดเชียงใหม่