เก็บสีสันของเมือง กับ phafai.art.studio แบรนด์สีน้ำแฮนด์เมดที่หยิบหินรอบสงขลามาสร้างเฉดสีไม่ซ้ำใคร

แน่ล่ะว่า การจะทำอะไรยากๆ บางทีอาจจะต้องเจอกับความผิดพลาด หรือไม่ได้ราบรื่นตั้งแต่ครั้งแรก แต่สิ่งที่ทำให้ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้อีกหลายครั้งจนสำเร็จ เพราะมีแรงผลักดันของ ‘ความรัก’ เป็นตัวนำทางให้เราสมัครใจท้าทายกับเรื่องยากๆ ต่อไป

เช่นเดียวกับฝ้าย-นันท์นภัส บุญจินดา’ หญิงสาวที่ขลุกตัวอยู่กับการตามล่าหิน มาทดลองทำสีน้ำจากธรรมชาติจนเกิดเป็นแบรนด์ phafai.art.studio และออกมาเป็น ‘สงขลาโทน’ ให้เราได้เห็น 

“เราอยากออกเดินทางไปเก็บหินให้ทั่วจังหวัดเลย อยากให้โทนสีที่เราทำออกมามีเรื่องเล่าและเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ซ่อนอยู่” แม้ตอนนี้เธอจะยังไม่สามารถทำได้อย่างหวัง 100% แต่ฝ้ายยังคงไม่หยุดออกเดินทาง และทำในสิ่งที่เธอรักต่อไป 

วันนี้เราเลยอยากแวะมาคุยกับเธอถึงความตั้งใจว่า เรื่องราวหินๆ ของเธอจะหินแค่ไหนกันนะ

  • เริ่มจากหินแบบหินๆ

ก่อนจะเดินเข้าประตูที่ชื่อว่างานประจำ หลายๆ คนน่าจะเคยผ่านช่วงเวลาที่อยากออกไปใช้ชีวิตในแบบของตัวเองก่อนสักตั้ง  ฝ้ายเองก็เหมือนกัน เธอจึงเลือกใช้ช่วงรอยต่อนั้นทุ่มให้กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ นั่นคือการวาดภาพและกิจกรรมบำบัด

“ช่วงที่เราเรียนจบเราว่าง เลยอยากใช้เวลาอยู่กับตัวเองก่อนที่จะหางานประจำทำ ช่วงนั้นเราอยากวาดภาพอยากระบายสี อยากหาพวกกิจกรรมบำบัดทำ เลยสนใจทำสีน้ำจากธรรมชาติ จากนั้นเลยไปรีเซิร์ชหาวิธีทำพร้อมกับไปลองทำเวิร์กช็อปมาหนึ่งครั้ง พอกลับมาช่วงนั้นเป็นช่วงที่ข้างบ้านกำลังทลายหน้าดิน เราก็เลยลองไปเก็บหินมาทดลอง ก็เลยเริ่มจากจุดนั้น”

 “แต่ยอมรับว่าแรกๆ มันก็ยังใช้ไม่ได้ เราเลยต้องลองทดลองเรื่อยๆ” ฝ้ายยืนยันกับเราว่าเธอเองก็เริ่มจากความไม่รู้ อาศัยการลองผิดลองถูกมาตามประสาคนนึกสนุก ตั้งต้นจากการลองเก็บหินละแวกบ้านมาตำให้ละเอียด ได้ผลลัพธ์ที่ดีบ้างไม่ดีบ้างสลับกันไป แต่เธอกลับไม่เคยย่อท้อกับสิ่งนี้เลยสักครั้ง ทั้งยังไปลงคอร์สเรียนรู้เรื่องหินเพิ่มเติมที่ศูนย์ระยอง เพื่อให้เข้าใจในธรรมชาติของหินมากยิ่งขึ้น 

เมื่อเริ่มต้นจริงจังกับสีธรรมชาติ สายตาของฝ้ายก็มองหาวัตถุดิบมาทำสีอยู่เสมอ ดินและหิน กลายเป็นวัตถุดิบหลักที่เธอเลือกเก็บ และกลายเป็นของฝากที่เพื่อนนำมาให้อยู่บ่อยๆ รู้ตัวอีกที ห้องทดลองขนาดเล็กที่บ้านของเธอก็เต็มไปด้วยขวดโหลขนาดเล็กที่บรรจุผงสีธรรมชาติอยู่เต็มไปหมด 

แต่กว่าจะได้ออกมาแต่ละสีก็หินใช่เล่น ฝ้ายเล่าขั้นตอนคร่าวๆ ให้ฟังว่าหลังจากที่เก็บหินในพื้นที่มาต้องทำความสะอาดขัดคราบดินที่เปื้อนให้เกลี้ยง เอาไปตากให้ก้อนหินแห้งสนิทก่อนนำมาตำเป็นผงๆ แล้วใช้กระชอนกรองเพื่อแยกผงละเอียดออกจากก้อนกรวด 

จากนั้นก็นำผงละเอียดมาผสมกับน้ำ เพื่อให้เม็ดสีจากก้อนหินละลาย ก่อนจะนำไปตากให้แห้ง เพื่อนำมาตำให้ละเอียดและกรองอีก 2 – 3 รอบ และเก็บแยกโทนสีใส่ขวด 

พอได้พิกเมนต์หรือเม็ดสีจากก้อนหินที่ละเอียดแล้ว ก่อนจะนำไปใช้งาน ฝ้ายจะเตรียมสื่อผสมสำหรับใช้ทำสีน้ำอีกครั้ง อย่างพวกกัม อารบิก (Gum Arabic) ยางไม้ กาวกระถิน น้ำผึ้ง และน้ำร้อน มาผสมเข้ากับพิกเมนต์สีที่เราได้มา เท่านี้ก็จะได้ธรรมชาติไร้สารเคมีแล้ว 

เมื่อเริ่มมีวัตุดิบที่มากพอฝ้ายเลยตัดสินใจทำแบรนด์ Phafai.art.studio เพื่อส่งต่อความน่ารักของโทนสีต่างที่เธอค้นพบ ไปยังมือของคนที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน แต่ความพิเศษคือฝ้ายจะไม่ได้จัดเซตสีไว้ให้ก่อนหน้า หากมีลูกค้าสนใจเธอจะให้เลือกโทนสีที่อยากได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ตลับสีนั้นเป็นสีเฉพาะความชอบของแต่ละคน แม้จะใช้ระยะเวลามากกว่า แต่ความรู้สึกพิเศษที่ลูกค้าจะได้รับสำคัญกว่า เธอว่าอย่างนั้น

‘ต้องรักและใส่ใจ’ เป็นคำที่ฝ้ายใช้ตอบเราเสมอ เธอจะพูดตลอดว่า ถ้ารักสิ่งไหน ยิ่งต้องใส่ใจในสิ่งนั้นให้มากๆ เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจในทุกๆ อย่างที่เราตัดสินใจในวันนี้ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้เพื่ออะไร 

เธอฝากมาบอกด้วยว่า ถ้าคนที่เริ่มจากความไม่รู้อะไรเลยอย่างเธอทำได้ ทุกคนก็เริ่มทำในสิ่งตัวเองสนใจได้เหมือนกัน ขอแค่ไม่ทิ้งความอยากรู้อยากลองไปก็พอ 

  • ค้นพบสงขลาโทน

“อย่างที่บอกว่าเราเริ่มใช้หินจากพื้นที่ใกล้ตัวละแวกบ้าน โทนที่ได้ออกมาเลยใกล้กันมากๆ เราเลยเริ่มเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ รอบสงขลามากขึ้น เพื่อค้นหาเฉดสีที่ยังไม่มี”

เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า แต่ละที่ไปได้โทนสีอะไรกลับมาบ้าง 

“หินสงขลาจะให้โทนชมพูม่วงพาสเทล อันนี้ได้จากเกาะหนูเกาะแมว ดูเป็นสีที่คล้ายเครื่องแกงกะปิของภาคใต้ดี ถัดมาที่รัตภูมิจะได้หินโทนขาว เหลือง เพราะส่วนใหญ่ที่นี่จะเป็นหินปูนเยอะ แต่เหลืองที่ได้มาไม่ใช่เหลืองพาสเทลนะ จะสดเหมือนสีพริกแกงใต้มากๆ

“ส่วนหินที่เจอในหาดใหญ่จะได้เป็นโทนแดงเข้ม แดงอิฐ แดงส้ม เพราะเป็นบริเวณที่มีการทับถมของแร่ธาตุเยอะพอสมควร เลยได้สีโทนเข้มหน่อย 

“บ้านพรุฝั่งสะเดา ส่วนใหญ่จะเป็นก้อนกรวดเล็กๆ ที่ให้โทนเข้มๆ ไม่ได้ละเอียดเท่าฝั่งลำธารของรัตภูมิ  แต่สีที่ได้สวยมากๆ เป็นแดงเข้ม กับโทนเขียวมินต์ เขียวชานมแซมไปด้วย

จากที่ได้ไปมาหลายๆ ที่ ถึงจะยังไม่ใช่ทั้งหมดในจังหวัด แต่เราว่าหินสงขลามีความต่างจากที่อื่นนะ อย่างหินเชียงใหม่ก็จะมีความออกเขียว จะหาแดงยากมาก เป็นโทนนวลๆ เอิร์ทโทน มีความพาสเทลไปอีกระดับหนึ่ง แต่ว่าของเราจะมีความเข้มข้นของแร่ธาตุอยู่มาก  สีที่ได้เลยสดเหมือนแม่สีเลย”

“เหมือนโทนสีพวกก้อนอิฐตามตึกเก่าๆ ที่เหลืออยู่ในเมืองมากๆ เลย” เราแชร์ความเห็นหลังจากได้ไปเดินย่านเมืองเก่าก่อนที่จะมาพูดคุยกับเธอ

“ด้วยความที่ส่วนใหญ่จะเป็นสีโทนร้อน พอระบายออกมาเลยเหมือนเหมือนโทนอิฐในย่านนั้นมากๆ เคยมีลูกค้ามาซื้อไปวาดเขาก็บอกแบบนี้มาเหมือนกัน” เธอตอบพร้อมรอยยิ้ม

  • แบรนด์คราฟต์เล็กๆ ที่อยากเห็นสงขลาเป็นเมืองคราฟต์

แม้ว่าแต่ละขั้นตอนจะมีความยากและท้าทาย แต่เธอยังมีความสุขที่ได้ใช้เวลาว่างไปกับการทดลองในทุกๆ วัน ฝ้ายยังชอบทุกครั้งเวลาได้เจอหินชนิดใหม่ๆ ได้เก็บหินเหล่านั้นมามาบดทำเป็นสี ได้ทำความรู้จักเนื้อในของหิน และเรียนรู้การนำหินแต่ละชนิดมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ “มันเหมือนกิจกรรมบำบัดเลยนะ แล้วเวลาเราได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองมันมีความสุขได้ง่ายๆ เลย เราเลยอยากส่งต่อความรู้สึกนี้ให้กับคนอื่นๆ เหมือนกัน”

ฝ้ายเลยไม่อยากปล่อยความสนุกของการทำสีธรรมชาติจากหินไว้เพียงลำพัง เธอต่อยอดความชอบเป็นกิจกรรมเวิร์กช็อปวาดภาพสีน้ำจากหินสีธรรมชาติ ที่ให้เราได้เริ่มตั้งแต่บดหินให้ละเอียด ก่อนจะได้ออกมาเป็นโทนสีที่ถูกใจเพื่อใช้ในการวาดรูป เธอเองก็ไม่เคยคิดหรอกว่าจากสิ่งที่ทดลองเล่นๆ ในบ้านคนเดียว จะมีคนเริ่มหันมาสนใจมากขนาดนี้ 

ในมุมของคนที่อยากให้งานฝีมือเลี้ยงชีพได้ มันก็เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเมืองนี้เหมือนกัน เธอว่า

“อีกมุมหนึ่ง เราว่าคนสงขลาเริ่มสนใจงานคราฟต์เยอะขึ้นนะ เวลาเราไปออกบูทก็มีคนเดินเข้ามาถามเยอะมากขึ้นว่าสิ่งนี้คืออะไร ก็ดีใจที่เห็นคนในเมืองเริ่มตื่นตัวกับงานฝีมือ เริ่มมีเทศกาลที่สนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น”

เราถามกลับไปว่าอยากเห็นคราฟต์ในสงขลาไปได้ไกลถึงไหน 

“ถ้าคนจะนึกถึงบ้านเราว่าสงขลามีอะไรดี ก็อยากให้มีงานคราฟต์เป็นคำตอบต้นๆ นะ ตอนนี้พูดถึงนครนอกนครในทุกคนจะนึกถึงสตรีทอาร์ตแต่เราอยากมีงานคราฟต์ให้คนได้นึกถึงด้วย คนสงขลากับหาดใหญ่มีฝีมือเยอะมากนะ แค่ตอนนี้ทุกคนอยู่กันแบบกระจัดกระจาย ยังไม่มีพื้นที่ไหนที่จะรวมคนเหล่านี้เอาไว้ อย่างเชียงใหม่เขาก็จะมีสเปซที่รวมงานคราฟต์เอาไว้ เราเองก็อยากให้สงขลาไปถึงจุดนั้นๆ ได้เหมือนกัน”

“ส่วนเราเองก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากตะลอนจัดเวิร์กช็อปเล็กๆ ของตัวเองไปเรื่อยๆ อยากมีเวลาออกไปสำรวจหินของแต่ละพื้นที่ให้มากกว่านี้  เราอยากรู้เหมือนกันว่าหินแต่ละพื้นที่แตกต่างกันยังไง โทนสีที่ได้จะออกมาเป็นแบบไหน ทั่วทั้งจังหวัดที่เราอยู่มีสีอะไรให้ได้ตื่นเต้นอีกบ้าง”

“ถึงตอนนี้มันจะดูเหมือนช่วงต้นของการเดินทาง แต่เราก็ดีใจนะที่เรายังอยากเดินต่อ และมีภาพสถานที่ที่เราอยากไปให้ถึง” เธอเปรียบ

ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่ 

IG : phafai.art.studio

AUTHOR