‘เราจะปลงไปทำไม ถ้ายังทำอะไรได้’ ป่าน ปัณยวีร์ ศิลปินผู้ใช้ร่างกายตั้งคำถามกับสังคม

Highlights

  • ป่าน–ปัณยวีร์ วาดภาพแอ็บสแตรกท์เป็นอาชีพ และมีรายได้จากสิ่งนี้เพียงอย่างเดียวตั้งแต่ตัดสินใจออกจากงานในแวดวง social enterprise
  • เวลาดำเนินมาถึงปีที่ 6 ที่ทำงานนี้เป็นอาชีพ เธอได้โอกาสในการแสดงงานกับ DesignNation ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน ที่ bacc โดยเธอเลือกวางผืนผ้าใบไว้ในสตูดิโอ แล้วใช้ร่างกายของเธอเป็นสื่อ
  • เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ใช้งานศิลปะเพื่อบอกเล่าความทุกข์ระทมและอารมณ์โกรธขึ้งกับอดีตอีกต่อไป แต่อยากให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ในงานแสดงสดที่ชื่อว่า ‘The Third Person’ เธอจึงตั้งคำถามกับคนดูว่า ‘การใช้ชีวิตแบบวางตัวเองไว้นอกความขัดแย้ง เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีจริงหรือ’

“เราว่าศิลปินส่วนมากมีจุดประสงค์อยู่แล้วว่าอยากให้คนดูคิดอะไร” เธอพูด หยิบแก้วไวน์ขึ้นมา แล้วกลืนไวน์แดงลงคอ เราที่ดื่มอยู่เกือบจะสำลัก ถามกลับทันควันว่า “แล้วที่กำลังจะทำนี่คืออะไร” ที่ถามออกไปอย่างนั้น เพราะ ป่าน–ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ศิลปินที่มีการวาดภาพแอ็บสแตรกท์เป็นลายเซ็น เขียนเอาไว้ในคำโปรโมต ‘The Third Person’ งานเพอร์ฟอร์แมนซ์ชิ้นแรกของเธอว่า ‘อยากจะตั้งคำถามกับคนดู’

“อาจจะดูเหมือนแค่ตั้งไปอย่างนั้น แต่มันก็จำเป็น” เธอตอบเร็ว ฉะฉาน มั่นใจ เหมือนงานของเธอไม่มีผิด

เธอเคยนิยามตัวเองกับสื่อทุกที่ว่าเธอเป็น abstract painterในความหมายที่ว่าเธอวาดภาพแอ็บสแตร็กท์เป็นอาชีพ และมีรายได้จากสิ่งนี้เพียงอย่างเดียวตั้งแต่ตัดสินใจออกจากงานในแวดวง social enterprise เมื่อ 5-6 ปีก่อนเพราะมีอาการซึมเศร้า เธอเคยบอกว่าการทำงานเพื่อสังคมทำให้เธอเจอคนหลายแบบ บางคนอยากได้ภาพ บางคนอยากทำงานจริงๆ พอเจอคนที่ทำงานแบบเอาหน้าหรือทำไปอย่างนั้นเธอก็รู้สึกเจ็บปวด

จากที่ทำงานเพื่อสังคม ทำวิจัยกับเด็ก จัดงานระดมทุน ทำแคมเปญให้ความรู้ต่างๆ เธอเปลี่ยนมาทำงานศิลปะ เริ่มจากงานเพนต์ผนังห้างเอสพลานาด งานวาดรูปติดผนังห้องลูกค้า งานแสดงในแกลเลอรี งาน live painting ในคอนเสิร์ตและงานดนตรี ไปจนถึงงานศิลปะจัดวางที่เธอเทสีลงไปบนก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ ทั้งหมดนั้นใช้อารมณ์นำทาง ประกอบกับการเลือกเฉดสีที่เข้มและจัดจ้าน การป้ายสีด้วยมือและปาดขนแปรงหนักๆ ลงบนผ้าใบ รวมถึงการใช้สีปริมาณมากเพื่อนำเอาพลังงานที่พุ่งพล่านอยู่ภายในออกมา

เวลาดำเนินมาถึงปีที่ 6 ที่เธอทำงานนี้เป็นอาชีพ เธอได้โอกาสในการแสดงงานกับ DesignNation ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน ที่ bacc โดยครั้งนี้เธอเลือกวางผืนผ้าใบไว้ในสตูดิโอ แล้วเดินออกมาทำเพอร์ฟอร์แมนซ์โดยใช้ร่างกายตัวเองเป็นสื่อเป็นครั้งแรกในงานที่ชื่อว่า ‘The Third Person’ เพื่อตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตแบบเป็น ‘บุคคลที่สาม’

“มันคือการใช้ชีวิตรูปแบบหนึ่งที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ต่างๆ มันคือการมองโลกโดยไม่เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่มีปัญหา ไม่ต้องทะเลาะกับใคร ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องพูดทุกอย่างที่คิด ไม่มีใครเจ็บปวด ชีวิตสงบสุข” เธอนิยามการใช้ชีวิตแบบ ‘บุคคลที่สาม’ เอาไว้เช่นนั้น

ครั้งนี้สีอะคริลิกเป็นเพียงตัวละครรอง แต่เรื่องราวที่เธอพบเจอในสังคมเป็นตัวละครหลัก เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างงาน และเป็นสิ่งที่ทำให้เธอคิดจนตกผลึกออกมาเป็นคำถามที่ว่า ‘การใช้ชีวิตแบบวางตัวเองไว้นอกความขัดแย้ง เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีจริงหรือ’

ในงานของเธอ เธออาจเป็นคนตั้งคำถาม แต่ในวันนี้ เราอยากให้เธอเป็นคนให้คำตอบ

 

ที่คุณบอกว่า เราว่าศิลปินส่วนมากมีจุดประสงค์อยู่แล้วว่าอยากให้คนดูคิดอะไร แต่การตั้งคำถามก็ยังจำเป็น” อยากให้ขยายความประโยคนี้ให้ฟังหน่อย

เราคิดว่าการคิดงานในเชิง conceptual มันไม่เหมือนการวาดรูปหรือเพนต์รูปที่มีประเด็นว่าภาพที่ออกมาต้องสวยงาม องค์ประกอบต้องได้ แต่พอคุณทำงานที่เป็นคอนเซปต์หนักๆ มันจะบังคับให้คุณต้องผ่านกระบวนการคิดและกลั่นกรองเยอะมาก มันต้องมีการอ้างอิงหนังสือ มันต้องอ่านมาแล้ว คิดมาแล้ว แล้วก็กลั่นออกมาว่ามันคืออะไร คนทำได้เกิดการ ‘อ๋อ’ ไปแล้วว่าอันนี้คือแบบนี้นะ บางคนอาจจะทำให้คนอ๋อไปเลย แล้วก็จบไปเลย แต่ส่วนใหญ่แล้วงานเชิงนี้มันต้องการให้คนคิดเองมากกว่า เพราะมันมีความเป็นไปได้หลายแบบ ประโยคนั้นของเราหมายความว่า ตัวศิลปินมีเป้าหมายอยู่แล้วว่า เขาตั้งคำถามเรื่องนี้เพราะเขาอยากให้คนดูคิดไปทางนั้นทางนี้ ซึ่งทางไหนก็ไม่ผิด แต่เพราะว่ามันกรองมาเยอะ เขาเลยมักมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่า เฮ้ย สิ่งนี้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นนะ

ทีนี้ต่อให้กรองมาแล้วหรือคิดมาแล้ว วิธีเล่าของแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกัน อย่างเราเข้าไปดูงานของบางคนแล้วเราไม่ชอบ เพราะดูแล้วรู้สึกอึดอัด รู้สึกว่าเขาชี้นำแบบไม่แยบยล แล้วเสน่ห์มันหาย เหมือนกับว่าระหว่างทางที่คุณเดินจากหน้าแกลเลอรีไปจนสุดแกลเลอรีเขาดีไซน์มาหมดแล้วว่าสุดท้ายคุณต้องคิดอะไร เราจะไม่ชอบงานแบบนั้น แต่จะชอบงานที่เป็นปลายเปิด เดินย้อนกลับมาแล้วเราก็ยังคิดได้

อย่างงานน้ำแข็งที่เคยทำ (‘Every Pain is Temporary’ จัดแสดงที่งาน Low Fat Art Fes ปีที่แล้ว) มันก็บอกชัดว่าคือความแปรเปลี่ยนไป ไม่แน่นอน แต่ด้วยความที่มันเป็นน้ำแข็ง มันก็มีเรื่องของความเจ็บปวด มีเสียงน้ำแข็งแตก มีเรื่องของอุณหภูมิ มีเรื่องการละลายของของแข็ง มีการที่สีและรูปทรงเปลี่ยนไประหว่างนั้น ก็แล้วแต่คนจะตีความ เราว่ามันสนุกกว่าที่จะได้คิดเยอะๆ อะไรที่ผ่านการคิดและประมวลผลด้วยตัวเองมันจะจำได้

นอกจากความแยบยลในการนำเสนอแล้ว คุณคิดว่าอะไรอีกที่เป็นเสน่ห์ของงานศิลปะ

งานศิลปะที่มีเสน่ห์คืองานศิลปะที่ทำให้คนรู้สึก ความรู้สึกกับความสวยงามมันต่างกันนะ เราคิดว่าความสวยงามอาจเกิดจากความแยบยลในการนำเสนอ ส่วนความรู้สึกมันเป็นอีกเรื่อง คนจะรู้สึกก็ต่อเมื่อคนทำสร้างงานด้วยความตั้งใจ แพสชั่น และความซื่อสัตย์กับมุมมองของตัวเอง ถ้างานไหนมันเนี้ยบมากเราก็ต้องรู้สึกได้ว่าคนทำตั้งใจและละเอียดกับมัน ถ้างานไหนมันอารมณ์มาก เราก็ต้องรู้สึกอะไรบางอย่างกับมัน อย่างงานที่ Mori Art Museum ของ Shiota Chiharu ตอนเราเดินเข้าไปในห้องเราก็รู้เลยว่าเขาทุกข์ระทมเนอะ เขาก็คิดมาเยอะเนอะ มันต้องมีมวลนั้นๆ ออกมาจากงาน แต่ถ้าคุณดูงานชิ้นหนึ่งแล้วมันไม่มีมวลอะไรเลย แสดงว่าเมสเซจมาไม่ถึงคุณ

 

ในการจะส่งเมสเซจไปให้ถึงคนดู คุณใช้กระบวนการสร้างงานแบบไหน

มันก็ต้องทุ่มเท แล้วก็ต้องคิดให้เยอะ ตั้งใจให้มาก มีสมาธิให้มาก ที่สำคัญต้องจำลองตัวเองเป็นคนดูว่า ถ้าดูงานนี้แล้วจะรู้สึกไหม รู้สึกยังไง วางตัวเองไว้ทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งคนสร้างงานและฝั่งคนเสพงาน เพราะเวลาเราตั้งใจเล่าแบบหนึ่ง คนใกล้ตัวเราอาจเข้าใจอยู่แล้วว่าเราอยากเล่าอะไร แต่เราต้องลองคิดว่าถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักเรามาก่อนและไม่เคยรู้เรื่องที่เราจะพูดมาก่อน เขาจะเข้าใจและเข้าถึงได้ไหม ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบงานด้วย

อย่างถ้าเป็นงานเพนติ้ง เราอาจคิดถึงเรื่อง stroke รูปแบบสี จะเลือกแบบไหนให้อิมแพกต์ที่สุด อย่างงานชิ้นหนึ่งที่ทำให้ลูกค้า เราตั้งใจทำเป็นคลื่น ก็ต้องอาศัยการสังเกตการเคลื่อนไหวของคลื่น จะทำยังไงให้รู้สึกถึงพลังของคลื่น แล้วเราถึงจะเอามาตีความให้ออกมาเป็นน้ำหนักพู่กันแบบใดแบบหนึ่งได้ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่คน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ เทคนิค การใช้สีของคนคนนั้น

หรืออีกชิ้นหนึ่งที่ตั้งใจทำเป็นปลาคาร์ป เราก็ดูวิดีโอปลาคาร์ปในสวนเซ็นจากมุมท็อป นั่งดูมันว่ายในบ่อปลาไปเรื่อยๆ มองดูกล้ามเนื้อ สังเกตการเคลื่อนไหวของมัน คล้ายกับการวาดรูปคนที่ต้องศึกษาภายวิภาค เราไม่ค่อยมีภาพในหัวเวลาวาดรูป ต่อให้เป็นคลื่นหรือปลาคาร์ป เพราะเราไม่ชอบออกแบบไว้ก่อน อยากให้เป็นการสื่อสารระหว่างเรากับผ้าใบ กับสีที่เราใช้ เพราะฉะนั้นก่อนวาดต้องใช้สมาธิและทบทวนเส้นเรื่องประมาณหนึ่ง ระหว่างวาดอาจจะใช้เวลาน้อย แต่ใช้สมาธิมาก

งาน live painting เราจะออกแบบสี เลือกเทคนิค เลือกเพลง และคิดเรื่องเอาไว้ ส่วนเพอร์ฟอร์แมนซ์เราจะออกแบบแต่ละ sequence ไปล่วงหน้า เพื่อให้งานออกมาครบถ้วนอย่างที่อยากจะสื่อสารที่สุด งานเพอร์ฟอร์แมนซ์มันต่างกับเพนติ้งตรงที่มันไม่มี final product เป็นชิ้นเป็นอันให้คนดูไปนั่งตีความทีหลังได้ ถ้าดูจบแล้วไม่จำมันก็รีรันไม่ได้อีก

คุณเริ่มใช้สื่อชนิดอื่นตั้งแต่ขยับจากการวาดบนผ้าใบมาเป็นน้ำแข็ง แต่คราวนี้คุณใช้ร่างกายตัวเองเป็นสื่อ อยากรู้ว่าจุดเริ่มต้นคืออะไร

จุดเริ่มต้นคือเราเริ่มเบื่อการทำงานแบบเดิมๆ แล้ว ต่อให้เป็น live painting มันก็คือการโชว์การเพนต์ คุณตั้งสมาธิไป 10-20 นาที คุณไปวาดมาให้มันเป็นรูปที่สวย ให้คนดูแล้วรู้สึกว่า “เออ มันสวยดี” จากตอนวาดก็ดี มาเป็น live painting ก็ดี พอทำไปเรื่อยๆ มันรู้สึกว่า ทำไมเราต้องจำกัดตัวเองอยู่แค่ผ้าใบ ทำไมมันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ใช้อย่างอื่นไม่ได้ คนจะจำเราได้ว่า “อ๋อ พี่เขาสาดสีแรงๆ วาดรูปพลังๆ” แต่เราอยากรู้ว่า ถ้าไม่ใช้สีรุนแรงอะไรขนาดนั้นมันสื่อสารได้เหมือนกันหรือเปล่า

เราทำงานนี้มาหกปีแล้ว คนเราควรจะโต เราไม่ควรหากินกับอะไรเดิมๆ เราควรพัฒนางานตัวเอง แล้วเรารู้สึกว่ามันถึงจุดที่เราอยากไปสู่อย่างอื่นแล้ว เราอยากเล่าเรื่องอื่นที่ลึกกว่านี้ มากกว่าว่าภาพนี้ดูแล้วรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ เราอยากให้คนกลับบ้านไปแล้วยังคิดอยู่ว่า “งานพี่เขาพูดเรื่องอะไรวะ” หรืองานที่มันสะท้อนเรื่องในสังคมหรือความคิดเห็นของเรา เพราะแค่เพนต์บนผ้าใบมันไม่พอ โอเค มันบอกได้ว่า รูปนี้คืออารมณ์โกรธ แต่ว่ามันก็ไม่ได้บอกว่าคุณโกรธเรื่องอะไร หรือร้องไห้เรื่องอะไร พอมันไม่มีบอกปุ๊บเราเลยคิดว่าเราอยากทำอะไรที่ลึกกว่านี้ กว้างกว่านี้ เอฟเฟกต์กว่านี้

มันถึงจุดที่ศิลปะไม่ใช่เพื่อตัวเองแล้ว หกปีที่แล้วคือใช่ มันคือเรื่องของเรา เรื่องข้างใน เรื่องแบบในไดอารี ชีวิตเรา เคยเศร้ายังไง เคยคิดถึงแม่ที่เสียไปแล้วยังไง แต่ตอนนี้เราอยากถามกับสังคมแล้วว่า มันมีอะไรบ้างที่เราเปลี่ยนได้ หรือมีคำถามอะไรที่เราอยากถาม มีอะไรที่อยากให้คนคิดหรือตระหนักรู้ เราเก็บมาตลอด แต่ยังไม่ถึงจุดที่พร้อมจะทำ พอตอนนี้มีโอกาสก็เลยคิดงานนี้ขึ้นมา

เอาจริงๆ แล้วโอกาสมันก็ไม่ได้มาพร้อมกับทุกอย่าง นี่ก็ยังไม่มีเงินทำอยู่เลย พอไม่มีเงินทำ แต่เป็นงานแบบนี้ มันเลอะไม่ได้ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เราก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดที่เรามี เช่น เรื่องเงิน โครงสร้าง สถานที่ เราก็ต้องเอาตัวเองมาอยู่ในความเป็นจริงว่า เราทำได้แค่ไหน แล้วจะทำให้มันอิมแพกต์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเงินที่มีและพื้นที่ที่ได้มาได้ยังไง มันก็เลยต้องตัดหลายอย่างออกไปให้เหลือแค่แก่นจริงๆ

เราไม่ได้พยายามจะท่าน้อย เราแค่เปลี่ยน medium ของการวาดรูปมากกว่า รุ่นพี่คนหนึ่งเคยบอกว่าเราคือจิตรกร แต่ก่อนเราก็เรียกตัวเองว่า abstract painter แต่พอเราทำไปถึงจุดหนึ่ง เราถึงรู้ว่าจุดที่เราทำอยู่คือศิลปิน ไม่ใช่คนวาดรูป เพราะเราเริ่มเปลี่ยน medium การเป็นศิลปินแล้วมันต้องไม่มีกำแพงเรื่องนี้

จากงานชุด Creatures (จัดแสดงที่ตึก Eight Thonglor เมื่อไม่กี่ปีก่อน) ที่คุณวาดภาพแอ็บสแตรกท์ตีความจากพฤติกรรมสัตว์ทะเล มาสู่งานชิ้นนี้ที่พูดถึงเรื่องในสังคม อยากรู้ว่ามีเหตุการณ์ไหนที่เป็นจุดเปลี่ยน

ประเด็นเรื่องบุคคลที่สามมันมาจากแฟนเรา แฟนเราเป็นคนที่ไม่ชอบยุ่งกับใคร ไม่ยุ่ง ไม่เอา ไม่เกี่ยว เพื่อนเราหลายคนก็บอกว่าไม่ยุ่ง ไม่อยากยุ่ง แต่ว่ามันทำไปแล้ว มันไม่มีสิทธิที่จะมาบอกว่าไม่ยุ่ง ไม่อยากยุ่ง คุณจะมาบอกว่าขอเป็นคนนอกได้ยังไงในเมื่อการกระทำนั้นมันออกมาจากร่างกายคุณแล้ว หรือคำพูดมันออกมาจากปากคุณแล้ว พอเราเจอแบบนี้หลายๆ ครั้ง ทั้งกับแฟน กับเพื่อน กับคนรอบตัว เราเลยมาคิดว่า ทำไมคนถึงชอบคิดว่าตัวเองจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอะไร ทั้งที่มันเกิดขึ้นไปแล้วเพราะคุณลงมือทำเอง

อย่างเรื่องการเมืองก็เหมือนกัน ทำไมคนถึงชอบคิดว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับตัวเอง เขาขึ้นภาษงภาษีกัน แล้วคุณกินข้าวแพงขึ้น คุณไม่รู้เหรอว่ามันเกี่ยวกับคุณ เขามีเรื่องปิดถนนปิดอะไรกัน คุณดีใจได้หยุด การที่คุณไปเลือกตั้งแล้วเลือกคนที่อาจจะโกงน้อยกว่า แล้วคุณบอกว่ามันโอเค คุณรู้ไหมว่าหนึ่งโหวตของคุณก็ทำให้เกิดภาพใหญ่ที่มันไม่โอเคได้เหมือนกัน หรือการที่คุณไม่ไปเลือกตั้ง สุดท้ายมันก็กลับมากระทบคุณ การที่คุณบอกว่าเราไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วย เพื่อนทะเลาะกัน เรื่องของเขา เราก็แค่ไม่ต้องเจอเขาสองคนพร้อมกัน อะไรแบบนี้ เราสงสัยว่าทำไมไม่คิดจะทำสถานการณ์ให้มันดีขึ้น ทั้งที่คุณทำได้ คุณกลัวอะไรกัน ทำไมถึงเฉยเมย แม่เราชอบใช้คำว่าดูดาย ทำไมถึงดูดายสิ่งเหล่านี้แล้วปล่อยให้มันเกิดขึ้นล่ะ

พอมันสะสมมาเรื่อยๆ เราก็ได้ไปอ่านเรื่องเต๋า ซึ่งอาจจะปลงมากขึ้นว่าสิ่งนั้นมันเป็นเช่นนั้นเอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช่ ถ้าคุณอยู่หมู่บ้านเต๋า แต่ถ้าคุณอยู่ในโลกที่ทุกอย่างยังหมุนไปแบบนี้ คุณใช้วิธีคิดแบบเต๋าไม่ได้ การปลงมันไม่ใช่เรื่องของยุคสมัยเรา มันต้องดูด้วยว่าตัวเองทำอะไรได้ และทำไมถึงไม่ทำ อย่างเรื่องมีคนโดนจับ พอคนอื่นโดนจับ ไม่รู้สึกอะไร พอเพื่อนตัวเองโดนจับก็รู้สึกสะเทือนใจ แต่ก็ไม่ทำอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา เราสงสัยว่า การเป็นคนแบบนี้มันดีจริงเหรอวะ ถ้าเรามีเพื่อน เราไม่อยากมีเพื่อนแบบนี้นะ

คุณมองว่าคนส่วนใหญ่ที่มาปะทะกับคุณค่อนข้างเฉยเมยและพยายามกันตัวเองออกไปจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้หรือไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนั้น คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

เพราะว่าใช้ชีวิตปกติมันง่ายกว่า พอไม่ยุ่งแล้วมันก็ไม่เดือดร้อน คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการถูกตัดสิน และไม่ต้องการตัดสินว่าตัวเองเป็นใคร เพราะเป็นแบบนี้ก็เลยไม่เอาอะไรเลยดีกว่า เพราะพอทำอะไรสักอย่างไป มันก็เหมือนกับคุณโดนตัดสินไปแล้วว่าจะอยู่ข้างไหน จะเป็นใครในบทบาทที่โลกนี้มีให้คุณเล่น เราว่ามันเป็นอะไรที่ไม่ค่อยน่ารัก

เราเคยอยู่กับแฟนเก่าที่บังคับเราทุกอย่าง เคยมีเจ้านายที่บังคับทุกอย่าง พอวันหนึ่งเราไม่ทำนั่นนี่ให้ เขาก็จะรู้สึกว่าทำไมเราไม่ทำให้แล้วล่ะ โดนแฟนทำร้ายร่างกาย โดนเจ้านายวีนแตก จนเรารู้สึกว่าตัวเองแย่ ไร้ค่า ก็ไปหาจิตแพทย์อะไรไป หมอก็บอกว่า “คุณต้องสู้เพื่อตัวเองนะ คุณต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง”แต่ก่อนเราจะชอบพูดว่าไม่เป็นไร ยังไงก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราเลือกที่จะบอกไปเลยว่า ในความเป็นจริงแล้วเราต้องการอะไร

เราว่ามันเป็นความห่วยแตกของยุคสมัยที่หล่อหลอมให้เด็กจำนวนมากโตขึ้นมาเป็นคนแบบนี้ ครูที่บอกว่าอย่าเป็นอย่างนั้นค่ะ อย่าพูดอย่างนี้ค่ะ แล้วก็กลายเป็นว่าคุณโตขึ้นมาเป็นคนห่วยแตก ไม่กล้าก้าวไปทางไหนสักทาง ตัดการเลือกข้างทางการเมืองออกไป มันคงเป็นเรื่องใหญ่เกินไป แค่เลือกว่าจะอยู่กับเพื่อนกลุ่มไหน คุณก็ไม่กล้าเลือก เลือกว่าจะเป็นคนแบบไหนในสังคม คุณก็ไม่กล้าเลือก จะทำอาชีพอะไร คุณก็ไม่กล้าเลือก สมัครงานที่ไหนได้คุณก็จะเอาอันนั้น ไม่มีตัวตนและจุดยืนอะไรเลยกระทั่งค่านิยมการใช้ชีวิต

คุณคิดว่าทำไมคุณถึงพร้อมที่จะเป็นคนที่มีจุดยืนและซื่อสัตย์กับตัวเอง

เราพยายามฟิตอินแล้วมันไม่ลงล็อกสักที จนคิดได้ว่าจุดบนโลกนี้ที่เราจะยืนอยู่มันคงต้องเป็นจุดที่เราสร้างขึ้นมาเอง เราไม่ได้เป็นคนที่ศิลปะมาก เราเป็นคนตลก บ้าแมว ดูมีมขำๆ เวลาไปกินเหล้าเราก็เต้นเรื้อนๆ เวลาทำงานเราก็ทำงาน คือเราไม่มีลุคว่าจะเป็นศิลปิน ต้องขบคิดเรื่องของตัวเอง เขียนเรื่องเศร้า จะเป็นไปทำไม มันเหนื่อย สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ว่าเราเลือกที่จะแตกต่าง แต่มันคืออิสระ มันคือความรู้สึกว่าในที่สุดเราได้เป็นอิสระ

เราคิดว่าอาจเป็นเพราะเราไม่ได้ทำงานประจำมานานแล้วด้วย เราเคยคุยกับรุ่นพี่ที่ทำคินบากุ (ญาดา แก้วบุรี) ช่วงนั้นพี่เขางานน้อย เราก็ถามเขาว่า “พี่เคยคิดจะทำอย่างอื่นไหม”เขาบอก “ไม่เลยว่ะ พี่ไม่รู้จะทำอะไร”แล้วเราก็บอกเขาไปพร้อมๆ บอกตัวเองว่า “เออ เรามาไกลกันเกินกว่าจะถอยหลังกลับแล้วเนอะ” แล้วมันจบแค่นั้น

ตอนนี้ผ่านมา 5-6 ปี เราไม่มีสิทธิเปลี่ยนกลับไปสมัครงานหรือว่าอยู่ในระบบแล้ว เพราะเราสร้างที่ของเราไปแล้ว มันก็มีช่วงเครียดที่ไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไง แต่มันก็เกินกว่าจะถอยหลังกลับแล้ว มีแค่ต้องไปต่อเท่านั้นเลย

ขอบคุณภาพจาก ปองณภัค ฟักสีม่วง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!