ถาม-ตอบ 12 ข้อเรื่อง ‘Panya’ เกมตอบคำถามที่แจกเงินรางวัลแถมปัญญา

เดี๋ยวนี้ถ้าไม่ได้ติดธุระอะไร พอถึงเที่ยงครึ่งและสองทุ่มเมื่อไหร่ เราต้องหยิบมือถือขึ้นมากดทันที โดยให้คำอธิบายกับคนรอบข้างสั้นๆ ว่า ‘ติดเกม’

อันที่จริง จะเรียกว่าเกมก็ไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะเจ้าแอพพลิเคชั่น Panya หรือ ปัญญา คือเกมตอบคำถาม 12 ข้อที่ต้องเล่นไปพร้อมรายการสด นั่นหมายความว่าในแต่ละรอบจะมีพิธีกรคอยถามคำถาม ส่วนเราต้องกดปุ่มคำตอบบนหน้าจอให้ได้ภายใน 10 วินาที เกมนี้มีรางวัลเป็นเงินก้อนใหญ่ เมื่อจบเกม มีคนตอบถูกครบทุกข้อกี่คนก็แบ่งเงินกันไปในจำนวนเท่าๆ กัน (จะถอนเงินได้เมื่อครบ 1000 บาท) จะว่าไปก็คล้ายเกมโชว์ทางทีวี เพียงแต่เกมโชว์รายการนี้สามารถเล่นพร้อมกันได้ทีเดียวเป็นหมื่นๆ คน

ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Panya เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนมียอดผู้เล่นแต่ละวันเฉลี่ย 150,000 คน พร้อมเกิดคำถามจากปัญญาชนมากมาย ทั้งเรื่องเงินรางวัล ที่มาที่ไปของแอพฯ หรือแม้กระทั่งเรื่องทีมผู้สร้างที่เป็นปริศนา วันนี้เราจึงชวน  อัน—รัฐกิตติ์ นพรังษีธนนนท์ Co-Founder และผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีระดับสูง และ สุ—สุนันดา สัจจะตระกูล ผู้อำนวยการผลิตแอพฯ มาเป็นฝ่ายตอบปัญหาที่ค้างคาใจกันมานาน

ถ้าพร้อมแล้วก็…

3

2

1

ไปฟังคำตอบพร้อมๆ กัน


1. ทำไมต้อง ‘Panya’

อัน : เป้าหมายของเราคือเราต้องการทำอินเทอแร็กทีฟมีเดีย สร้างทูเวย์คอมมิวนิเคชั่น คือระหว่างผู้เล่นกับเราต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน เราก็มีความรู้ให้เขา เราเลยตั้งชื่อเกมว่า ‘ปัญญา’  แล้วถ้าสังเกตชื่อโดเมนเว็บไซต์ของเราเราจะใช้คำว่า panya.me ซึ่งมีที่มาจากการเล่นคำว่ามีปัญญา อีกอย่างคือปัญญามันเป็นคำที่สั้น กระชับ ไม่กี่ตัวอักษรด้วย

2. Panya เกิดขึ้นได้ยังไง

อัน : มันเริ่มจากการที่ทีมของเราเป็นสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี เคยทำซอฟต์แวร์มาหลายตัวแต่มันก็ไม่เกิดจนกระทั่งเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เราไปเห็นแอพพลิเคชั่นตอบคำถามแบบเกมโชว์ของอเมริกาซึ่งมันเจ๋งมาก เพราะเราก็รู้สึกว่านี่คือยุคใหม่ที่สื่อไม่ใช่แค่วันเวย์แล้ว ผู้ชมตอนนี้มีอำนาจมากขึ้น เขาอยากสื่อสารบางอย่างกลับไป วันรุ่งขึ้นเราก็มาคุยกับทีมแล้วเริ่มทำเลย

ตอนสร้างแอพฯ เราใช้เวลาแค่เดือนครึ่งเพราะเรามองว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ มันต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนแล้วเอาออกไปทดลอง ช่วงนั้นวิดีโอเลยจะดูบ้านๆ เพราะว่าเรายังใหม่ เรารีเสิร์ชตั้งแต่ศูนย์ เช่น การสตรีมวิดีโอทำยังไง กรีนสกรีนคืออะไร ซึ่งมันก็ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่แต่ใช้งานได้ แล้วเราก็ค่อยๆ พัฒนาจากตรงนั้น แต่เพราะเราติดขั้นตอนการอนุมัติจากฝั่งแอปเปิ้ล กว่าจะได้ launch จริงๆ คือเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (แต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือนมีนาคม)

ช่วงแรกเราให้เพื่อนเกือบๆ ร้อยคนมาลองเล่น แจกเงินง่ายๆ 500 บาทแล้วก็ลองดูว่าเป็นยังไง ซึ่งมันก็ค่อยๆ โตจากปากต่อปาก ออกไปสู่กลุ่มใหญ่ มันสนุกตรงที่เราได้เห็นฐาน user เราโตเร็วมากแบบวันต่อวัน เป็นกราฟ exponential เลยตอนนั้น

3. ใครคือผู้สร้าง Panya

อัน : ตอนแรกทีมเรามี 4 คน คือมีดีไซเนอร์ นักพัฒนาฝั่ง iOS นักพัฒนาฝั่ง Android แล้วก็ผมที่ดูภาพรวมทั้งหมด ทั้งระบบหลังบ้านและโค้ดส่วนหน้าบ้านด้วย

พอปล่อยออกไปให้คนข้างนอกเล่นแล้วฟีดแบ็กค่อนข้างเยอะมาก เพราะตอนนั้นระบบเรายังรองรับคนไม่ได้มาก วิดีโอเริ่มมีการกระตุก คนก็จะบ่นว่าค้าง เสียงกับภาพไม่ตรงกัน ไหนจะเรื่องของการถอนเงินอีก พอไลฟ์จบรอบหนึ่งต้องมีคนหลักร้อยอินบ็อกซ์เข้ามา เช่น ตอบถูกแต่ไม่ได้เงิน (หัวเราะ) ทำไมคำถามไม่ขึ้น เราไม่ได้เก่งมาจากไหน ก็เรียนรู้และแก้ไขมัน

ทีมเรานอนน้อยมากช่วงนั้น หนักที่สุดคือผมนอนตี 4 ตื่นมา 7-8 โมง อ้าว เซิร์ฟเวอร์ล่มเพราะคนมาจากไหนไม่รู้หมื่นเป็นสองหมื่นคนมาลงทะเบียนพร้อมกัน มารู้ทีหลังว่ามีคนเอาเกมเราไปแชร์ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แล้วมันก็เป็นไวรอล แต่พอหลังสงกรานต์ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น เพราะเราเทคแอ็กชั่นเร็วมาก คือเรารู้ว่าเราไม่สมบูรณ์แบบแต่เราก็พยายามทำให้มันดี

ตอนนี้ทีมงานเรามีเกือบๆ 20 คนแล้วเพราะแค่ 4 คนเราทำไม่ไหว ทั้งคิดคอนเทนต์ คิดคำถาม ต้องคุยในคอมมิวนิตี้ ตามทั้งเฟซบุ๊ก ทั้งทวิตเตอร์ ต้องแก้ปัญหาเรื่องระบบ ไหนจะต้องคิดถึงอนาคตอีก เลยรีบจ้างทีมมาช่วย (หัวเราะ)

4. ทีมงานแอบเล่นเกมเองบ้างไหม

อัน : ผมเข้าไปเล่นบ่อยนะเพราะผมต้องดูว่าระบบเรามีปัญหาไหม เช่น ถ้าเขาบอกว่าค้าง ก็ต้องหาว่าส่วนไหนที่ค้าง ถ้าเขาบอกว่าคำถามไม่ขึ้น เราก็ต้องดูว่า เอ๊ะ ยังไง เพราะในเครื่องเราก็ขึ้นนะ ถ้ามีคนบอกว่าเหลือเวลาตอบ 2 วินาทีแต่ตอบไม่ได้ ทำไมเขาตอบไม่ได้ เขาใช้โทรศัพท์รุ่นไหน คือถ้าจะรู้ว่าจะแก้ปัญหาให้ user ยังไงเราก็ต้องเล่นเอง

อีกอย่างผมต้องเข้าไปดูว่ามีคนด่ากันไหม มีคำหยาบไหม เพราะเราอยากสร้างสังคมที่ดี แต่ที่เขาคุยกันก็มีอะไรสนุกๆ เหมือนกัน เช่น ตอนนี้ผู้เล่นเขาปั่นกัน หมายถึงแกล้งบอกคำตอบข้อที่ผิด เขาก็เลยทะเลาะกันข้างใน เช่น ‘ไม่รู้จริงก็อย่าปั่น’  ผมว่ามันน่ารักดี หรือบางคนก็มาทวงเงินกันในนั้น มีคนพูดแบบ แม่เรียกไปกินข้าวแล้ว หรือโดดงานมาเล่น (หัวเราะ)

5. ทีมงานเอาเงินจากที่ไหนมาแจก

อัน : สตาร์ทอัพมันมีแต่ไอเดีย ความสนุก ความอยากเปลี่ยนแปลงโลกแต่มันไม่มีเงิน เราเลยต้องหานักลงทุนที่เชื่อในโปรดักต์ของเรา ดังนั้นเงินก็เลยมาจากนักลงทุนในช่วงแรก แล้วเราจะคิดวิธีหาเงินจากโปรดักต์นี้ต่อเพราะฉะนั้นเราเลยต้องหาฐานคนเล่นให้ได้มากที่สุด

ต่อไปเราจะหารายได้ทางด้านอื่นด้วย หลักๆ เป็นสปอนเซอร์ ล่าสุดก็มี kaidee.com เข้ามา และจะมีมาเรื่อยๆ ส่วนรายได้ด้านอื่นๆ  พวกเรายังต้องคิดอยู่ว่าจะดำเนินไปในทิศทางไหน เช่น อาจจะมีการซื้อของในแอพฯ คือมันพลิกแพลงได้หลายทาง

6. จนถึงตอนนี้ Panya แจกเงินไปแล้วกี่บาท

อัน : หลายล้านแล้วครับ เพราะคนเล่นเกมเราเยอะมากจริงๆ แล้วช่วงแรกๆ มันมีทั้งคำถามที่ทั้งง่ายและยากมาก พอคำถามยากมากคนตอบถูกก็จะน้อยลง พอคนตอบถูกน้อยลง คนที่ได้เงินก็ได้เยอะขึ้น ซึ่งเราก็พยายามปรับเรื่องความยาก-ง่ายของคำถามกันด้วย

7. ทีมงานใช้เกณฑ์อะไรในการคิดคำถามและคีย์เวิร์ดประจำสัปดาห์

สุ : สุเป็นคนเลือกหัวข้อแต่ละสัปดาห์ค่ะ โดยปกติสุชอบให้ประเด็นหลากหลายและเกี่ยวข้องกับคน เช่น สุเลือกหัวข้อเรื่องเอดส์เพราะว่าเป็นเรื่องสังคม ชีววิทยา และเรื่องการแพทย์ รวมถึงตอนนี้มียาชื่อ PrEP กับ PEP สำหรับป้องกันการติดเชื้อ สุอยากให้คนรู้เรื่องแบบนี้ก็เลยเลือกมาเป็นหัวข้อ เรื่องหอยทะเลก็เลือกเพราะเป็นเรื่องชีววิทยาและเกี่ยวกับอาหารที่คนทานเป็นประจำ ส่วนเรื่องสายการบินก็เป็นสิ่งที่พวกเราใช้ตลอดเวลาแต่อาจจะไม่ค่อยรู้รายละเอียด

แต่ละอาทิตย์ใช้คำถาม 168 ข้อ ถ้ามีรอบ survivor (ตอบคำถามไม่จำกัดข้อเพื่อหาผู้ชนะคนสุดท้ายที่จะได้รางวัลก้อนใหญ่ไปครอง) และรอบพิเศษก็ต้องเพิ่มคำถามขึ้นไปอีกค่ะ ส่วนความยากแล้วแต่รอบ บางรอบมีถึง 5 ข้อที่ยาก บางรอบก็มีข้อเดียว

เราเตรียมคำถามล่วงหน้าสองอาทิตย์แล้วก็เช็กให้ถูกต้อง 60 เปอร์เซ็นต์ของเวลา พวกเราใช้ไปกับการเช็กคำถามนี่แหละ เพราะตอนสุเริ่มเข้ามาทำก็มีปัญหาเรื่องการเฉลยผิดบ้าง คนเป็นหมื่นก็เข้ามาทุ่มในอินบ็อกซ์ จนอินบ็อกซ์ระเบิด พวกเราก็ต้องแจกหัวใจเพื่อขอโทษเขา

8. นอกจากคำถามแล้ว Panya ในแต่ละวันมีอะไรแตกต่างกันบ้าง

สุ : ตอนนี้วันเสาร์-อาทิตย์รอบเที่ยงครึ่งจะเป็นรอบรีรันคำถามเก่า รอบเย็นเป็นป๊อปควิซ เราจะถามเรื่องบันเทิงอย่าง หนัง ดนตรี คัลเจอร์ ไลฟ์สไตล์ บางครั้งก็ถามเรื่องแฟชั่น เป้าหมายคือเราอยากให้รายการมันแยกออกมาชัดเจนมากขึ้น ช่วงเย็นเน้นแบบหนึ่ง ช่วงเที่ยงครึ่งวันจันทร์ถึงวันศุกร์ก็จะเน้นอีกแบบหนึ่ง เช่น ทุกวันนี้ วันพุธเราทำรอบที่ถามเรื่องชีวประวัติ แต่ตอนนี้ก็ยังถือเป็นช่วงทดลองอยู่ เช่น เราลองมีควิซเกี่ยวกับละคร แล้วก็ควิซเกี่ยวกับหนังทั้งสากลและหนังไทย

9. ทำยังไงให้ชนะเกม

อัน : ถ้าให้ผมเล่นผมยังตอบไม่ถูกทั้ง 12 ข้อเลยนะ มันยากมากเลย (หัวเราะ) ผมว่าส่วนหนึ่งที่เขาเล่นกันแล้วถูกบ่อยๆ คือเขาต้องหากลุ่มเล่น ลุยเดี่ยวนี่ตายแน่นอน ที่ผมชอบคือมันจะมีคนรับสมัครเพื่อนร่วมทีมบอกว่าขอสายงานด้านนู้นด้านนี้ ให้มีคนหลายๆ อาชีพอยู่ในกรุ๊ปเดียวกันแล้วมาแชร์ความรู้กัน เช่น โอเค ฉันไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ แต่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ ผมก็คิดว่ามันมีแบบนี้ด้วย (หัวเราะ) กลายเป็นคอมมิวนิตี้จริงๆ มันจริงจังมาก

10. แท่งที่พิธีกรใช้โชว์ภาพในรายการคืออะไร

อัน : แท่งนั้นคือแท่ง AR (Augmented Reality) มันมีจะมีเซนเซอร์อยู่ที่แท่งเพื่อรับสัญญาณ แล้วก็มีเซนเซอร์บนเพดานเพื่อติดตามอุปกรณ์ เราจะโชว์ภาพอะไรมันก็จะไปขึ้นที่แท่งเลย ซึ่งอุปกรณ์นี้มีอีกทีมมาช่วยทำ ต่อไปก็น่าจะมีอะไรสนุกๆ มากขึ้นอีก อย่างเราอาจจะสามารถเปลี่ยนฉากไปเลย เช่น อยู่ๆ ฉากหลังก็กลายเป็นขั้วโลกเหนือไปเลยก็ได้ หรืออยู่ๆ มีตัวอะไรวิ่งมา มีพิธีกรโผล่ขึ้นมาเป็น co-host มันจะมีอะไรที่สนุกขึ้น

11. Panya ทำให้คนเห็นแก่เงินเหรือเปล่า

อัน : เงินมันคือส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเขาได้ความรู้และความสัมพันธ์กลับไป มันจะมีคนทักเข้ามาชมรายการว่าพ่อ แม่ กับพี่ที่ไม่ค่อยได้คุยกัน หันหน้ามาคุยกันเพราะเกม Panya เป็นอะไรที่เราฟังแล้วน้ำตาจะไหล แล้วเคสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เคส สองเคส แต่มันมีเป็นสิบๆ เคส เพราะฉะนั้นเงินมันก็เป็นส่วนหนึ่งแหละครับแต่ความสัมพันธ์มันลึกซึ้งกว่า หรือตอนนี้ผมเห็นอีกเรื่องเกิดขึ้นคือผู้เล่นเขาจับกลุ่มกันบริจาคเงินให้การกุศล ผมว่ามันเจ๋งที่เรามีเพื่อน สังคมดีๆ ในปัญญา นอกจากเราจะได้ความรู้ใหม่ๆ แล้วเรายังได้ให้อะไรกลับคืนให้สังคม

มีคนบอกว่าคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แต่สิ่งนี้มันกำลังจะทำให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ผมเห็นคนทำโพยรอบชีวประวัติ ทำโพยจากคีย์เวิร์ด เช่ม สมมติอาทิตย์นี้มีคีย์เวิร์ดว่าอัลเบิร์ต ไอสไตน์ เขาก็จะไปหาความรู้เรื่องไอสไตน์ว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร มาแชร์กัน บางคนเขามองข้ามเรื่องเงินไปแล้วเพราะเขามองว่าเขาได้เพื่อน ได้มิตรภาพ

ตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราทำมันจะเกิดอิมแพกต์อย่างนี้ เราแค่รู้สึกว่าเราจะทำให้ดีที่สุดแล้วให้อะไรกลับไปที่สังคมไทย อย่างน้อยก็ความรู้อย่างหนึ่ง แล้วความสัมพันธ์มันอาจจะตามมา

12. อนาคตของ Panya จะเป็นยังไง

อัน : เราจะปรับใส่ลูกเล่น กิมมิกเข้าไป ทำให้มันสนุกและท้าทายมากขึ้น เราไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศไทยแต่เราจะขยายไปยังที่อื่นๆ ด้วยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเราจะผลิตรายการอื่นด้วย คือจะไม่ได้มีแค่ Panya ที่เป็นเกมตอบ 12 คำถามแล้ว อันนั้นคนเล่นบ่อยๆ เดี๋ยวก็เบื่อ เราต้องหาอะไรสนุกๆ ทำ เรามองว่าเราเป็นเหมือนเน็ตฟลิกซ์ของอินเทอแร็กทีฟมีเดียที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับหลายๆ รายการ แต่ที่สำคัญคือสิ่งที่เราทำต้องอินเทอแร็กต์ ไม่ใช่แค่ดูแล้วคอมเมนต์ แบบนั้นมันเบสิก มันต้องมีอะไรสนุกกว่านั้น

ภาพ Panya

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก