ปลดล็อกปรากฏการณ์นิยายแปลจีนฟีเวอร์ ก้าวสำคัญของเว็บไซต์นิยายออนไลน์ Fictionlog

ปฏิเสธได้ยากว่าทุกวันนี้สื่อออนไลน์กำลังครองพื้นที่การอ่านส่วนใหญ่ของผู้คนจนหลายต่อหลายคนขนานนามว่ายุคนี้คืออาทิตย์อับแสงของสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เป็นยุคอาทิตย์อุทัยของแพลตฟอร์มการอ่านบนหน้าจอ หลักฐานที่บ่งชี้ได้ถึงพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไปคือการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์หลายสำนัก รวมถึงเว็บไซต์นิยายออนไลน์ที่กำลังบูมถึงขีดสุด เรียกได้ว่านี่คือก้าวสำคัญของวัฒนธรรมการอ่านที่อาจเข้ามาพลิกโฉมการอ่านนิยายของคนรุ่นใหม่อย่างสิ้นเชิง

หนึ่งในปรากฏการณ์นี้คือการเกิดขึ้นของเว็บไซต์นิยายออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Fictionlog ก่อตั้งโดย ปิ๊ปโป้-เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ แรกเริ่มเขาเล็งเห็นว่าคอมมูนิตี้การอ่าน-การเขียนนิยายออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มที่ยังต้องการคนมาสานต่อ Fictionlog จึงเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างทางเลือกการอ่าน-การเขียนนิยายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และเป็นเหมือนตลาดกลางบนโลกออนไลน์ในการซื้อ-ขายนิยาย

Fictionlog ในความตั้งใจแรกเริ่มของปิ๊ปโป้ คือพื้นที่ที่นักอ่านสามารถเลือกซื้อผลงานเพื่อสนับสนุนนักเขียนได้โดยตรงในราคาที่เหมาะสม มีจุดยืนว่านักเขียนควรได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรม และเพิ่มทางเลือกให้นักอ่านได้เข้าถึงนิยายหลากหลายประเภทได้สะดวกขึ้น

Fictionlog จึงไม่ได้เป็นสำนักพิมพ์หรือเอเจนซี แต่เป็นสะพานเชื่อมโลกการอ่านของนักอ่าน-นักเขียนเข้าด้วยกัน พร้อมอีกเป้าประสงค์หนึ่งคือการพยายามผลักดันวงการหนังสือไทยให้เติบโตไปข้างหน้าโดยสนับสนุนเหล่านักเขียนที่มีความฝันให้ได้แสดงผลงานและสร้างรายได้ได้จริง

ถ้าใครเคยเข้าไปในเว็บไซต์จะรู้ว่า Fictionlog มีนิยายให้เลือกอ่านเลือกซื้อหลายหมวดไม่ต่างจากร้านหนังสือขนาดย่อม ไม่ว่าจะเป็นแนวโรแมนติกรักวัยรุ่น ดราม่าชีวิต วรรณกรรมย้อนยุค อาชญากรรม สืบสวน ระทึกขวัญ แฟนตาซี ผจญภัย กำลังภายใน อีโรติก แฟนฟิกชั่น ไปจนถึงนิยายวายที่กำลังฮอตฮิต

เรื่องที่เราสนใจคือแม้ Fictionlog จะเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่กลับเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาเพียงปีครึ่ง มีการพัฒนาและอุดช่องโหว่ในระบบอย่างต่อเนื่อง และขยายจากเว็บไซต์มาเป็นแอพพลิเคชั่นที่รองรับทั้งระบบ android และ ios ไม่เพียงแต่ตัวเลขผลประกอบการที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขั้นต้น แต่ยังดูได้จากผลตอบรับจากคนอ่านที่มียอดคลิกอ่านหลายล้านวิวในเวลาไม่นานโดยเฉพาะหมวด ‘นิยายแปลจากนิยายจีน’

เดือนมกราคมที่ผ่านมา Fictionlog ประกาศรับสมัครนักแปลนิยายจีนเพิ่มถึง 100 คน ทั้งนักแปลประจำและฟรีแลนซ์ ทั้งยังประกาศรับกองบรรณาธิการนิยายจีนอีกจำนวนมาก ใครที่เป็นแฟนประจำ Fictionlog อยู่แล้วคงไม่แปลกใจในจำนวนดังกล่าว เพราะยอดคนอ่านที่คลิกเข้าไปอ่านนิยายจีนในเว็บไซต์นั้นสูงถึงหลักล้านวิว จะเรียกว่าเป็นกระแสนิยายจีนฟีเวอร์ก็ไม่ผิด แต่เบื้องหลังปรากฏการณ์นิยายจีนฟีเวอร์ในช่วงนี้ไม่ใช่เพราะความบังเอิญ แต่คือการวางแผนการทำงานและการพยายามมองหาโอกาส ความท้าทาย และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของทีมงานทุกคน

Fictionlog นำเข้านิยายจีนจำนวนมากแบบถูกลิขสิทธิ์มาจากบริษัท Tencent บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนและสนับสนุนเรื่องคอนเทนต์โดยมีสถานะเป็น exclusive partnership ซึ่งกันและกัน นิยายที่นำมาแปลลงในเว็บไซต์เป็นตอนๆ จึงเป็นผลงานที่ถูกลิขสิทธิ์และนักแปลได้รับค่าจ้างอย่างถูกต้อง มีการเซ็นสัญญากับนักแปลอย่างเป็นกิจจะลักษณะว่าในเดือนหนึ่งต้องแปลกี่ตอน ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำจัดว่าต้องแปลแบบคู่ขนานไปกับนิยายจีนที่ปล่อยลงเว็บไซต์ของจีน จึงไม่มีสัญญาว่าต้องแปลให้จบเล่ม เพราะไม่สามารถกำหนดได้ว่านิยายจากจีนจะเขียนจบเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับคือการได้อ่านนิยายตอนต่อตอนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่นิยายจีนปล่อยออกมาให้อ่านจากเว็บไซต์ต้นทาง

การเลือกนิยายจีนมาแปลนั้น สิ่งที่ทีมงานคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือความนิยมของผู้อ่านและกระแสในช่วงนั้น หากนิยายเรื่องนั้นๆ เป็นที่นิยมในจีนอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะขายดีในไทยด้วย หรือบางเรื่องที่เนื้อหาน่าสนใจหรือมีสไตล์การเขียนที่ชวนติดตาม แม้นิยายเรื่องนั้นจะยังไม่ดังมาก ก็มีการเลือกเรื่องเหล่านี้มาแปลลงเว็บไซต์เช่นกัน

ส่วนแบ่งรายได้ที่นักเขียนหรือนักแปลจะได้รับมาจากการจ่ายเงินเพื่อเข้าไปอ่านนิยายของผู้ใช้ที่เรียกว่า ‘ระบบเหรียญ’ (coin system) ที่มีเหรียญเงินและเหรียญทองสำหรับใช้จ่ายแทนจำนวนเงินจริง การแบ่งรายได้กำหนดส่วนแบ่งชัดเจน คือ Fictionlog จะมอบเงินให้นักเขียนครึ่งหนึ่งจากการซื้อของผู้อ่าน และนักเขียนสามารถถอนเงินในระบบไปใช้ได้ต่อเมื่อมีคนจ่ายเงินเข้ามาอ่านนิยายถึงยอดเบิกขั้นต่ำ 500 บาท หากนักเขียนคนไหนเขียนนิยายจนจบเรื่อง ทางระบบจะจัดโปรโมชั่นลดราคา 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ เอาใจนักอ่านที่ต้องการจ่ายเหมาเพื่อจะอ่านครบทุกตอน ในอนาคตอันใกล้ Fictionlog ยังมีแผนที่จะเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้สะดวกยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรเครดิต

รายได้หลักและการขับเคลื่อนเว็บไซต์ Fictionlog จึงไม่ได้มาจากโฆษณาหรือผู้สนับสนุน แต่มาจากส่วนแบ่งรายได้จากผู้อ่านที่จ่ายเงินซื้อนิยาย ในปีที่ผ่านมา Fictionlog จ่ายเงินให้นักเขียนไปหลายล้านบาทหลังหักส่วนแบ่งกับทางเว็บไซต์แล้ว อีกทั้งยังมีการเปิดเผยรายได้ของนักเขียนบางคนที่สูงถึงหลายหมื่นบาทต่อเดือน นี่เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่าเว็บไซต์นิยายออนไลน์เติบโตอย่างมากทั้งในแง่รายได้และจำนวนคนอ่านที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณจากช่วงก่อตั้ง โดยนิยายที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ นอกจากนิยายที่ซื้อลิขสิทธิ์แปลจากจีนแล้ว นิยายของคนไทยที่เขียนเลียนแบบนิยายจีนก็ได้รับความนิยมตามไปด้วย และนิยายอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาโดยตลอดคือนิยายวาย หรือนิยายชายรักชาย หญิงรักหญิง ที่ติดอันดับยอดนิยมบนเว็บไซต์อยู่เสมอ

ความพยายามในการผลักดันเว็บไซต์นิยายออนไลน์ Fictionlog ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่การขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในประเทศเท่านั้น ในอนาคตผู้ประกอบการมีแผนจะส่งออกคอนเทนต์ของไทยออกไปสู่สากลอีกด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านลิขสิทธิ์ การแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และระบบการจ่ายเงินระหว่างประเทศ ยังเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน แต่การต่อยอดที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้คือ นิยายออนไลน์ของนักเขียนบน Fictionlog มีโอกาสจะได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม จุดประสงค์หลักไม่ใช่การค้าขายหรือต้องการตั้งตัวแข่งกับสำนักพิมพ์ แต่คือการสานฝันให้นักเขียนที่เขียนนิยายจนจบเล่มได้มีโอกาสรวมเล่มนิยายออนไลน์ของตนเองในรูปแบบหนังสือเล่มจริงๆ ซึ่งน่าจะเป็นความฝันของนักเขียนหลายคนที่อยากมีหนังสือเล่มเป็นของตนเอง Fictionlog พร้อมจะสนับสนุนนักเขียนออนไลน์ที่มีฝัน มีศักยภาพ และมีความตั้งใจจริง

แน่นอนว่าการมีผู้เล่นในสนามเว็บไซต์นิยายออนไลน์ย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อวงการนิยายไทย นอกจากจะทำให้ธุรกิจคึกคักและแข่งกันพัฒนาระบบของตนให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้แก่นักอ่านที่มีความต้องการหลากหลาย ทั้งยังเป็นพื้นที่ปล่อยของให้แก่นัก (อยาก) เขียนทุกคน

fictionlog.co

ภาพประกอบ พนิดา มีเดช

AUTHOR