หญิงแกร่งและดีไซน์แห่งศตวรรษที่ 20 เรื่องของโคมไฟ Panthella จาก 20th Century Women

เสียงแหบพร่าของเพลง As Time Goes By ที่คลอขึ้นมาหลังจากภาพยนตร์จบช่วยปลุกความทรงจำบางอย่างที่เราหลงลืมขึ้นมา…

เมือง Santa Barbara ปี 1979 

หญิงคนหนึ่งในชุดนอนผ้าแพรสีเหลืองนั่งชันเข่าหลังพิงหัวเตียงทองเหลือง มือซ้ายเปิดหน้านิตยสารค้างไว้ มือขวาคีบบุหรี่ สีหน้าของเธอแสดงถึงความกังวลบางอย่าง ส่วนข้างๆ มีแมวสีดำแซมขาว 

เถิบมาอีกนิดเราจะเห็นแสงนวลจากโคมไฟสีขาวรูปทรงแปลกตาที่วางไว้ข้างหัวเตียง โคมไฟดวงนั้นเหมือนจะยั่วยวน เชื้อเชิญให้เราไม่อาจละสายตาจากมันได้ และคงมีอีกหลายคนที่สะดุดตาเจ้าโคมไฟที่ว่าเช่นกัน

‘เรื่องของเรื่อง’ ประจำเดือนนี้จึงขอพูดถึงโคมไฟดวงนี้ที่มีชื่อว่า Panthella จากหนังเรื่อง 20th Century Women

20th century women

ชื่อของภาพยนตร์แปลได้ว่าผู้หญิงแห่งศตวรรษที่ 20 ส่วนโคมไฟ Panthella นี้เป็นผลงานของสถาปนิกและนักออกแบบชายคนสำคัญของศตวรรษเดียวกัน เขามีชื่อว่า Verner Panton  

เวอร์เนอร์ แพนตัน เกิดบนเกาะ Funen ประเทศเดนมาร์ก เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1944 แพนตันเข้ารับราชการทหารในเมือง Odense แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็นับว่าชีวิตช่วงนั้นเข้มข้นพอตัว เพราะนอกจากรับราชการทหารแล้วเขายังเข้าร่วมกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านการยึดครองของเยอรมนีซึ่งส่งผลให้เขาต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ช่วงหนึ่งด้วย

กระทั่งสงครามยุติลง ในปี 1947 แพนตันเข้าเรียนสถาปัตยกรรมที่ The Royal Academy of Arts ในช่วงที่เรียนอยู่เขาได้พบกับ Tove Kemp ลูกเลี้ยงของนักออกแบบระดับตำนานอย่าง Poul Henningsen ความรักของทั้งคู่งอกงามอย่างรวดเร็วและในระหว่างที่เรียนชั้นปีที่ 2 แพนตันก็ตัดสินใจแต่งงานกับเธอ

แม้ชีวิตสมรสของแพนตันกับเคมป์จะไม่ยืนยาว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเฮนนิงเซน พ่อเลี้ยงของอดีตภรรยากลับแตกต่างออกไป เพราะการแต่งงานครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพตลอดชีวิตของทั้งคู่ และเป็นเฮนนิงเซนนี่เองที่ฝากฝังเขาให้ไปฝึกงานที่สตูดิโอออกแบบของเพื่อนรัก Arne Jacobsen ซึ่งแพนตันชื่นชมและเคยกล่าวยกย่องในวงกว้างอยู่บ่อยครั้ง เช่นประโยคที่เขากล่าวไว้ว่า

“ผมไม่เคยได้เรียนรู้จากใครมากเท่ากับที่ผมได้เรียนจากอาร์เน จาค็อบเซน เขาสอนผมให้มั่นใจในผลงานของตัวเองและไม่ยอมแพ้”

Poul Henningsen / Image : Louis Poulsen
Arne Jacobsen
Verner Panton, Tove Kemp และ Poul Henningsen / Image : api.europeana.eu

ภายหลังแพนตันเองก็เป็นคนที่จาค็อบเซนยอมรับเช่นกัน กระทั่งแพนตันได้ช่วยพัฒนา Ant Chair หนึ่งในเก้าอี้ที่มีชื่อเสียงที่สุดของจาค็อบเซนด้วย

(จริงๆ แล้วเรื่องราวของสองเพื่อนรักจาค็อบเซนและเฮนนิงเซนนั้นก็น่าสนใจมาก เพราะผลงานของทั้งคู่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่อง แต่ขออนุญาตยกยอดไว้พูดถึงในตอนถัดๆ ไป)

Ant Chair / Image : vntg.com
Image : fritzhansen.com

ย้อนกลับมาที่เมือง Santa Barbara ปี 1979

หญิงในชุดนอนผ้าแพรสีเหลืองคนนั้นขยับมานั่งอยู่ปลายเตียง เธอค่อยๆ หลับตาลงแล้วสูดควัน แมวตัวนั้นกระโดดลงจากเตียงไป

ผู้หญิงคนนั้นมีชื่อว่า Dorothea Fields 

20th century women

โดโรเธีย ฟิลดส์ เกิดในปี 1924 ชีวิตวัยเด็กของเธอไม่ได้สวยงามนัก ในช่วงปี 1940 เธอต้องออกจากโรงเรียนเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น เธอจึงเข้าเรียนโรงเรียนนักบินเพื่อหวังจะเข้าร่วมรบในสงครามแต่สงครามกลับจบลงก่อนที่เธอจะเรียนจบ ต่อมาเธอได้เข้าทำงานในห้องเขียนแบบของบริษัท Continental Can ที่นี่เองที่เธอได้พบชายที่ต่อมากลายเป็นสามีและพ่อของลูก แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็คงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อความรักฉันสามีภรรยาจบลง เธอเลือกที่จะเลี้ยงดูลูกชายที่รักด้วยตัวคนเดียว

สังเกตให้ดี ไทม์ไลน์ชีวิตของแพนตันกับโดโรเธียนั้นแทบจะทับซ้อนกัน

ในช่วงชีวิตอันรุ่งโรจน์ของแพนตัน เขาผลิตผลงานมากมายที่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง งานเหล่านั้นมีจุดเด่นคือชุดแม่สีผสานกับรูปทรงเรขาคณิต เช่น Cone Chair และ Panton Chair ที่พัฒนาร่วมกับบริษัท Vitra เป็นหนึ่งในผลงานสร้างสรรค์ที่รู้จักกันดีของเขา

20th Century Women
Panthon Chair
Cone Chair

และในบรรดาผลงานที่ผลิตออกมาจำนวนมาก ในปี 1971 โคมไฟ Panthella ของแพนตัน ก็ถูกสร้างขึ้นภายใต้การดูแลของบริษัทชั้นนำอย่าง Louis Poulsen ที่มีประวัติยาวนานและมีอดีตพ่อตาอย่างเฮนนิงเซนเป็นนักออกแบบคู่บุญของบริษัทอีกด้วย

ตั้งแต่วางจำหน่าย Panthella ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากด้วยรูปทรงที่เป็นธรรมชาติหรือเรียกว่าออร์แกนิก (ขออนุญาตย้อนไปทวนความรู้ในวิชาศิลปะ 101 เล็กน้อย ว่าด้วยรูปทรงซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือรูปทรงธรรมชาติ (organic form) รูปทรงเลขาคณิต (geometric form) และรูปทรงอิสระ (free form) ซึ่งรูปทรงแต่ละอย่างก็สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน )

รูปทรงธรรมชาติมีคุณสมบัติที่เน้นถึงความมีชีวิตชีวายิ่งในตอนที่เปิดไฟ การคำนวณมาอย่างดีทำให้โคมนี้ฉายแสงสว่างนุ่มนวล ตัวโคมครึ่งวงกลมทำให้แสงสะท้อนลงมาที่ฐาน ช่วยในการกระจายแสงสว่างอย่างทั่วถึงและไม่เกิดแสงสะท้อน ในการออกแบบขั้นตอนแรกนั้นแพนตันอยากให้ฐานของโคมส่องแสงได้ด้วยแต่ก็เปลี่ยนใจในท้ายที่สุด

Image : diffusioneshop.com
Image : finnishdesignshop.com

ส่วนตัวเราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมโคมไฟนี้ถึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งชื่อของนักออกแบบและรูปทรงที่เปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวาดังที่กล่าว ทำให้ Panthella เป็นหนึ่งในผลงานของแพนตันที่ยืนระยะการขายตั้งแต่ปี 1971 จนถึงปัจจุบัน 

จวบจนกระทั่งตอนนี้ Panthella ผลิตออกมาทั้งสิ้น 4 ขนาดคือ Panthella floor lamp, Panthella table lamp, Panthella Mini และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 ซึ่งเป็นเดือนเกิดของแพนตัน บริษัท Louis Poulsen เพิ่งปล่อย Panthella รุ่นที่ 4 ออกมาโดยใช้ชื่อว่า Panthella Portable ที่มีขนาดเล็กที่สุดคือ เส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 16 เซนติเมตร (ถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับ floor lamp ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร) โดยเน้นจุดเด่นคือสามารถพกพาได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊กอีกต่อไป

ในการทำการตลาดโปรโมตครั้งนี้ Louis Poulsen ได้ว่าจ้างนักออกแบบชาวอิตาเลียนคือ Loris F. Alessandria มาออกแบบโมชั่นเพื่อทำการโปรโมตซึ่งเป็นโมชั่นที่ทำให้รู้สึกถึงการต่อยอดและทำให้เจ้า Panthella ดูน่ารักและเข้าถึงได้เป็นอย่างดี (ลองไปดูกันได้ว่ามันน่ารักขนาดไหนในลิงก์นี้)

หากนำไทม์ไลน์ของแพนตันและโดโรเธียมาทาบทับกัน 8 ปีหลังจากวางขาย โคมไฟ Panthella table lamp ก็ได้ไปตั้งอยู่ในห้องนอนของหญิงวัยกลางคน

นอกจากเรื่องราวความสัมพันธ์ ประเด็นเรื่องความเป็นผู้หญิงและบรรดาคำถามที่ตัวละครใน 20th Century Women ต้องเผชิญและก้าวผ่านนั้น ผู้กำกับ Mike Mills ยังใส่ใจองค์ประกอบรอบๆ ตัวละครเป็นอย่างดี ภาพลักษณ์หญิงแกร่งร่วมสมัยของโดโรเธียถูกเน้นย้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน เราจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมโดโรเธีย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตอนนั้นอาจเริ่มต้นอาชีพนักเล่นหุ้นแล้ว จะจอดรถแล้วเดินเข้าไปในห้างในเมืองซานต้า บาร์บารา อย่างมั่นใจ มองหาโคมไฟดีไซน์ดีๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ และพามันกลับบ้านทันที

บ้านหลังเก่าที่มีกำแพงสีแดง ห้องครัวสีเหลือง ยังเชื่อมโยงกับสีสันในผลงานของแพนตัน แต่ถ้าลงลึกอีกนิด นอกจาก Panthella ในเรื่องยังมีโคมไฟที่แพนตันออกแบบซ่อนอยู่อีกชิ้นคือ​ The flowerpot table ที่ผลิตในปี 1969 นอกจากนี้ยังมีงานของนักออกแบบเด่นๆ อีกหลายคน เช่น Thonet Chair ของ Michael Thonet (โผล่ในฉากเรื่อง La La Land) หรือ Plia Folding Chair ผลงานของ Giancarlo Piretti ที่วางขายในปี 1968 ซึ่งเป็นการตอกย้ำความใส่ใจเรื่องยุคในภาพยนตร์กับการสร้างคาแร็กเตอร์ด้วยเฟอร์นิเจอร์ได้เป็นอย่างดี 

แพนตันเกิดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1926 และจากโลกนี้ไปในวันที่ 17 กันยายน 1998 ตลอดช่วงชีวิต 76 ปี เขาได้รับรางวัลสาขาการออกแบบมากมายรวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากราชินีของเดนมาร์ก กระทั่งมีถนนเป็นชื่อตัวเองอยู่ที่เมือง Weil am Rhein ในประเทศเยอรมนี

ดังที่เกริ่นไปว่าแพนตันและโดโรเธียมีไทม์ไลน์ที่คล้ายคลึงกัน ความคล้ายคลึงที่ว่าครอบคลุมถึงกระทั่งช่วงปีที่เกิดและตาย

เมื่อถึงจุดจบของหนัง โคมไฟ Panthella หายไปจากหน้าจอ เสียงบรรยายที่พูดถึงการเดินทางต่อไปของตัวละครแต่ละตัวตามด้วยเสียงร้องของ Dooley Wilson ในเพลง As Time Goes By คล้ายสะกิดให้เราตื่นพร้อมปลุกภาพความทรงจำบางอย่าง ช่วงเวลาที่เราเคยสนิทกับเพื่อนบางคน รักแรกที่เราไปยืนรอรับทุกเช้า หรือใครสักคนที่ชีวิตของเขาและเราเหมือนจะขาดกันไม่ได้ เพื่อที่จะค้นพบว่าอีกไม่กี่ปีต่อมาเราสามารถกลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกันได้อย่างง่ายดาย

หวังว่าบทความนี้จะช่วยกระตุ้นความคลั่งไคล้ของคุณได้ไม่มากก็น้อย

ขอให้สนุกกับการดูหนัง


อ้างอิง

lorisalessandria.com
louispoulsen.com
verner-panton.com

AUTHOR