ความฝัน ความเหนื่อยล้า และการจากลาของความรัก เรื่องของเก้าอี้ Thonet No. 18 จากหนังเรื่อง La La Land 

เมื่อเราได้พบใครสักคน เราย่อมอยากแบ่งปันโลกของเราให้เขาเข้ามา เชื่อว่าหลายคนก็คงเคยอยู่ในสภาวะนี้ เซบาสเตียนแห่ง La La Land ก็เช่นกัน

เซบาสเตียนคือชายหนุ่มผู้อุทิศชีวิตให้กับดนตรีแจ๊ส เขาหลงใหลดื่มด่ำจนถึงขั้นฝันที่จะทำบาร์แจ๊สดีๆ สักร้านขึ้นมา เมื่อพบกับมีอา หญิงสาวที่เขาหลงใหล เซบาสเตียนจึงไม่ลังเลที่จะดึงเธอเข้ามาสู่โลกของเขา โลกแห่งดนตรีแจ๊ส

ในแจ๊สบาร์แห่งนั้น มีอานั่งมองกลุ่มนักดนตรีบรรเลงเพลง Herman’s Habit เคียงข้างเซบาสเตียนที่กำลังบรรยายถึงความสวยงามของมันอย่างออกรสออกชาติ และถ้าคุณรักใครสักคน ก็ไม่ยากที่คุณจะรักสิ่งที่เขารัก 

นั่นล่ะครับบรรยากาศของความรักที่ก่อตัวในบาร์แสงหม่น จากนั้นระยะห่างความสัมพันธ์ของทั่งคู่ก็ค่อยๆ เขยิบเข้าหากันทีละน้อย หัวใจของมีอาเริ่มเปิดรับท่วงทำนองเพลงแจ๊ส ระยะห่างของเก้าอี้เริ่มลดลงเรื่อยๆ และก่อนที่กล้องจะแพนตามความรักที่กำลังงอกงามเราอยากชวนคุณหยุดตรงนี้ หยุดตรงที่มุมด้านล่าง

เก้าอี้ที่ทั้งสองคนนั่งคุยกันคือเรื่องของเราในวันนี้ และนี่คือที่มาของเรื่องเก้าอี้ Thonet No. 18 ในหนังเรื่อง La La Land

ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 1819 ที่เมืองบอปพาร์ด ประเทศเยอรมนี ที่นั่น Michael Thonet ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชาวปรัสเซีย เริ่มรับการเข้าฝึกฝีมือช่างไม้จากพ่อของเขา Franz Anton Thonet ผู้เป็นนักฟอกหนังและช่างไม้ฝีมือฉกาจในปี 1830 โทเนตได้เริ่มทดลองเฟอร์นิเจอร์ด้วยเทคนิคการดัดไม้ (bentwood) หลังจากฝึกฝนมากว่า 22 ปี ความมุ่งมั่นของเขาก็ฉายแวว

เดือนสิงหาคม ปี 1841 Prince Metternich เห็นผลงานของเขาในงานแสดงสินค้าเมืองโคเบลนซ์ จึงเชิญโทเนตมาที่วังโยนิสเบิร์ก นั่นเป็นผลให้สถาปนิก Peter Hubert Desvignes มอบหมายให้เขาผลิตเฟอร์นิเจอร์ และยังผลักดันให้โทเนตนำเสนอผลิตภัณฑ์ของเขาในงานนิทรรศการระดับโลกต่างๆ อีกด้วย 

ในปี 1849 หลังจากมีผลงานออกมาในระดับหนึ่ง โทเนตก็เจอปัญหาการลอกเลียนผลงาน เขาจึงตัดสินใจทำตราสัญลักษณ์ใต้เก้าอี้ตัวเองในปีนั้น จนก่อเกิดวลีที่ว่า “If it’s not marked with the thonet brand, It’s not a Thonet chair”

Thonet no.1

พอปี 1849 นอกจากจะเป็นปีแรกของการเริ่มคิดทำประทับตรากำกับแล้ว ยังเป็นปีที่โทเนตเปิดตัวเก้าอี้ Thonet No. 1 ที่เขาสร้างขึ้นสำหรับใช้ในสวนของเจ้าชาย Schwarzenberg ซึ่งรูปทรงและหน้าตาของ No.1 นี่เองที่เป็นต้นแบบของเก้าอี้ Thonet อีกหลายรุ่น รวมถึงเก้าอี้รุ่น No. 18 ที่อยู่ในบาร์แจ๊สแห่งนั้น

“ดนตรีแจ๊สเกิดขึ้นที่โรงแรมซอมซ่อในนิวออร์ลีนส์” เซบาสเตียนกล่าวด้วยความตื่นเต้น “และรู้ไหม เก้าอี้ตัวที่เขานั่งนั้น เกิดครั้งแรกในมอเรเวีย” ประโยคหลังเซบาสเตียนไม่ได้กล่าว 

Thonet No. 18

ลูกชายทั้ง 5 ของไมเคิล โทเนต

ปี 1853 โทเนตเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Gebrüder Thonet โดยให้เหล่าลูกชายทั้ง 5 ของเขาเข้ามาดูแล และเริ่มขยายโรงงานไปหลายที่ในยุโรป ผลักดันตัวเองเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมแบบเต็มตัว จนในปี 1856 โทเนตจดสิทธิบัตรการดัดไม้ด้วยเทคนิคความร้อนจากไอน้ำซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่เขาคิดค้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องกาวหมดสภาพเพราะอุณหภูมิระหว่างขนส่ง 

แม้ว่าในปี 1871 โทเนตจะเสียชีวิตลงที่เมืองเวียนนา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมในเก้าอี้ของเขาเสื่อมลงเลย แถมในปี 1873 ได้ขยายสาขาไปที่นิวยอร์กเป็นครั้งแรก และได้พัฒนาลังขนส่งสินค้าให้สามารถบรรจุเก้าอี้ได้ถึง 36 ตัว และนับว่าลังนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดขายของ Thonet พุ่งขึ้นไปอีก

ลังขนส่งสินค้าที่สามารถบรรจุเก้าอี้ได้ถึง 36 ตัว

แม้เก้าอี้ No. 1 เป็นตัวต้นแบบของ No. 18 แต่มันก็ถูกแค่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดนั้นเราขอยกให้กับ Thonet No. 14 ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนพี่ชายฝาแฝดของ No. 18 

Thonet No. 14

เจ้า Thonet No. 14 เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Vienna Café Chair ถูกผลิตขึ้นมาในปี 1859 ด้วยความที่สวยงามมีเส้นโค้งดึงดูด แต่ยังคงความเรียบง่ายและเปี่ยมไปด้วยสมดุล โครงสร้างไม้บีชบวกกับแผ่นไม้อัดทำให้เก้าอี้มีน้ำหนักเบาและที่สำคัญคือราคาจับต้องได้จนถึงขั้นที่ว่ากันว่าในยุคนั้น Thonet No. 14 มีราคาถูกกว่าไวน์ 1 ขวดเสียอีก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มันได้รับความนิยมในร้านอาหาร ผับ บาร์ ไปจนถึงร้านกาแฟ

จากสถิติในปี 1891 เก้าอี้ Thonet No. 14 ถูกขายออกไปแล้วมากกว่า 7,300,000 ตัว และถ้านับจากปีที่เปิดตัวจนถึงปี 1930 เก้าอี้ Thonet No. 14 ทำสถิติยอดขายเก้าอี้ทั่วโลก 50 กว่าล้านตัว ส่งผลให้ Thonet No.14 เป็นเก้าอี้ที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก ตอกย้ำความนิยมที่กล่าวมาข้างต้นได้เป็นอย่างดี

 

แม้เวลาจะผ่านมาเป็นร้อยปี แต่ปัจจุบัน Thonet No.14 ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นงานดีไซน์ที่อยู่เหนือกาลเวลา มันได้รับรางวัลเหรียญทองในงาน 1867 World Exposition ที่ปารีส และยังคงได้รับคำชื่นชมจากนักออกแบบและสถาปนิกจำนวนมากรวมถึง Le Corbusier นักออกแบบชั้นนำที่คนในวงการออกแบบระดับโลกทุกคนต่างยกย่องยังกล่าวไว้ว่า “Never was a better and more elegant design and a more precisely crafted and practical item created.”

ในปี 1876 โทเนตยังไม่หยุดพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ของเขา ในบรรดาสินค้าที่ผลิตออกมานั้น Thonet No. 18 ถูกสร้างขึ้นมา หากมองเผินๆ เราอาจไม่เห็นความแตกต่างของ No. 14 กับ No. 18 แต่ถ้าสังเกตดีๆ เราจะพบว่าในตัว No. 18 นั้นมีการเพิ่มพื้นที่รองรับหลังพาดยาวจนถึงที่นั่ง No. 14 นั้นจะหนุนหลังแค่ส่วนบน ส่วนวัสดุและการประกอบยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิม แต่ด้วยความที่พี่ชายฝาแฝดคือ No.14 ได้กวาดรางวัลและคำชมไปมากแล้ว คนจึงไม่ได้ตื่นเต้น หรือไม่ได้พูดถึงมันเท่าไหร่นัก เพราะหน้าตาและรูปทรงของมันไม่ได้สร้างความแปลกใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา และจากประสบการณ์ส่วนตัวก็มักเจอคนเรียกมันทั้งคู่สลับกัน

Thonet No.18

Thonet No. 14

ปี 2009 เก้าอี้ No. 14 ให้ James Irvine ศิลปินชาวอังกฤษช่วยออกแบบและปรับปรุงใหม่เพื่อให้เข้าถึงวัยรุ่นมากขึ้นโดยให้ muji เป็นผู้จัดจำหน่าย 

แม้สถานะของ Thonet No. 18 นั้นเกือบจะเป็นแค่ตัวประกอบหรือเป็นแค่เงาในประวัติศาสตร์อันยาวนานของซีรีส์เฟอร์นิเจอร์ Thonet แต่ถ้าในแง่ความสวยงามแล้ว เชื่อว่า Thonet No. 18 ก็ยังคงครองใจใครหลายคนได้อยู่ดี หรืออย่างน้อยๆ ในบาร์แห่งนั้นที่มีหนุ่มสาวสองคนกำลังคุยถึงความฝัน ก็ยังหยิบ No. 18 เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของร้านไม่ใช่หรือ 

Thonet No. 18

นักดนตรีหยุดบรรเลงเพลง เซบาสเตียนหันไปปรบมือด้วยความปีติ พร้อมกระซิบเล่าถึงความฝันของเขา มีอามองและยิ้มตอบ หลายคนบอกว่าควรหยุดฝันและลืมตาขึ้นมาเผชิญโลกแห่งความจริง แต่หลายคนยืนยันการมีชีวิต ที่มิใช่แค่มีลมหายใจ ความฝันไม่ใช่หรือที่เป็นส่วนผสมที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า

บทความนี้คงไม่อาจบอกอะไรคุณได้มากกว่านี้ แต่สิ่งที่สำคัญถ้าคุณอ่านจนมาเจอบรรทัดนี้แล้ว ผมก็หวังใจว่าบทความนี้จะช่วยกระตุ้นความคลั่งไคล้ของคุณได้ไม่มากก็น้อย ขอให้สนุกกับการดูหนังครับ


ขอตอกย้ำความนิยมของเก้าอี้ Thonet ด้วยบุคคลระดับโลกที่ใครๆ ย่อมรู้จักอย่าง Pablo Picasso เพราะปิกัซโซ่นั้นมีเก้าอี้โยกหนึ่งตัวที่เขาชอบมากคือ Thonet No. 21 Rocking Chair ในบ้านที่ชื่อ La Californie ของเขาที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส แถมเจ้าเก้าอี้โยกนี้ยังปรากฏอยู่ในงานวาดของปีกัสโซ หลายๆ งาน เช่น Jacqueline sitting in a Rocking Chair, Femme dans un rocking chair, Nude in a Rocking Chair

AUTHOR