เธอ / แก้ว / เขา : ห้วงของรักและเรื่องของแก้ว Fire-King รุ่น Jane Ray ใน In the Mood for Love

เรื่องของเรื่องคือประหลาดมากที่เราค้นพบว่าบ่อยครั้งตัวเรามักหลุดความสนใจออกจากแกนหลักของหนัง และไปจดจ่อสิ่งอื่นๆ ในหนังแทน ด้วยความชอบสังเกตว่าตัวละครตัวนี้ชอบกินขนมยี่ห้ออะไรนะ ทำไมดูน่าอร่อยจัง ทำไมนางเอกคนนี้ถึงเลือกนั่งเก้าอี้ตัวนี้ล่ะ หรือ เอ หมวกใบนี้สวยจัง ทำในยุคนั้นจริงๆ เหรอ

นั่นล่ะครับจึงเป็นที่มาที่ทาง a day รับรู้ข้อนี้ของเราและคิดว่ามันน่าสนใจ จึงชวนมาแชร์เรื่องราวให้ทุกคนอ่านไปด้วยกัน โดยในตอนแรกขอพาผู้อ่านไปย้อนดูหนังสุดคลาสสิก ของหว่อง การ์-ไว อย่าง In the Mood for Love

เกริ่นแค่นี้ก็พอ ขอเข้าเรื่องเลยก็แล้วกัน เรื่องที่ว่านั้นคือเรื่องของแก้วในหนังเรื่อง In the Mood for Love

เวลาพูดถึงหนังของหว่อง การ์-ไว ในแวบแรกเรามักนึกถึงเรื่อง In the Mood for Love นี่แหละ ในร้านอาหารสลัวไฟที่ตัวละครชายหญิงมักนัดเจอพูดคุยกัน บรรยากาศบนโต๊ะอาหารนั้นคือฉากแรกที่นึกถึง

หากจะให้เจาะจงลงไปมากกว่านั้น ที่โดดเด่นและตรึงใจไม่ใช่ริมฝีปากที่เย้ายวนของคุณนายเฉิน หรือสายตาแสนเศร้าแต่มีเสน่ห์ของคุณโจว สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เพียงอันดับ 2 และ 3 แต่สิ่งที่สะกดเราไว้เป็นอันดับ 1 กลับเป็นแก้วและจานรองสีเขียวละมุนคู่นั้นที่ทั้งคู่ใช้ในระหว่างสนทนา

พระเอกของเรื่องเล่าครั้งนี้คือชุดแก้วและจานเนื้อหยกที่ปะยี่ห้อว่า Fire-King รุ่น Jane Ray ครับ เป็น 1 ใน 8 ของซีรีส์แก้วที่เรียกว่า jade-ite (เนื้อหยก) ตัว Jane Ray นั้นมีลักษณะเนื้อบาง น้ำหนักเบากว่ารุ่นอื่นๆ และมีลวดลายเส้นตรงรอบๆ ตัว มันค่อนข้างใช้ง่ายในทุกโอกาส เรียกได้ว่าไร้กาลเวลา 

Jane Ray ผลิตภายใต้การดูแลของบริษัทแก้ว Anchor Hocking ที่ก่อตั้งโดย Isaac J. Collins ร่วมกับเพื่อน 6 คนในปี 1905 โรงงานแรกเริ่มด้วยจำนวนพนักงานเพียง 50 คน โดยใช้สถานที่ตั้งในเมืองแลงแคสเตอร์ ในรัฐโอไฮโอ ส่วนชื่อบริษัทก็มาจากแม่น้ำ Hocking  ที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของโรงงาน

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับโรงงานคือ ในปี 1924 โรงงานได้ถูกไฟไหม้ แต่ Collins กับพวกไม่ย่อท้อง่ายๆ พวกเขารวบรวมเงินจากนักลงทุนสร้างโรงงานใหม่ที่พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ทันสมัยกว่าเดิม เครื่องจักรใหม่ที่ว่าคือหัวใจหลักที่ทำให้ Anchor Hocking รอดผ่านจากช่วงวิกฤตที่ได้รับผลกระทบจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้

จุดเด่นที่ Anchor Hocking พยายามเน้นขายคือการบอกว่ามันเข้าเตาอบได้ โดยจะมีการปั๊มบอกไว้ใต้แก้ว ซึ่งการปั๊มบอกนี่แหละที่ทำให้เราจำแนกปีการผลิตได้ อย่างเจ้า Jane Ray นั้นปั๊มว่า OVEN > Fire-King > WARE > MADE IN U.S.A ซึ่งเป็นการปั๊มที่บอกเราว่า Jane Ray นั้นผลิตขึ้นในช่วงปี 1946-1965

Jane Ray ติด 1 ใน 2 ของสายการผลิต jade-ite ที่ยืนระยะได้ยาวนานที่สุด การยืนระยะนานขนาดนี้สะท้อนความนิยมของ Jane Ray ได้เป็นอย่างดี เท่าที่อ่านมา เขานิยามว่ายุคนั้นแทบทุกบ้านในอเมริกาต้องมีจานชามของ Fire-King อยู่บนโต๊ะอาหารอย่างแน่นอน

Fire-King ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เรียกได้ว่าเป็นประเทศแรกเลยก็ได้ที่เริ่มสนใจมันจริงจัง ก่อนขยายไปยังเกาหลี ไต้หวัน และนิยมในหมู่นักแคมป์ปิ้งชาวไทยตามลำดับ

ที่ญี่ปุ่น นิตยสารหลายๆ หัวมักพูดถึงมันบ่อยๆ อย่าง นิตยสาร POPEYE, BRUTUS , Lightning ที่ยกแก้วใบนี้มาเป็นสกูปหลักหรือถูกแทรกเป็นพร็อพเล็กๆ ในหนังสืออยู่บ่อยครั้ง

ข้ามไปฝั่งเกาหลีก็มี  Boouk Magazine ที่ทำธีมเล่มเครื่องครัวจากภาพยนตร์ เล่มนั้นก็เลือกเอา Jane Ray ขึ้นปก มีกระทั่งทำ handbook ที่บอกเล่าและจำแนกแก้ว Fire-King พิมพ์ออกมาจนเลือกซื้อกันไม่ถูก ทั้งยังมีการแบ่งเกรดระดับความหายากของมัน 1 ดาวคือพบได้ง่าย ไปจนถึง 5 ดาว ที่หายากมาก

และด้วยความที่ Jane Ray ถูกผลิตออกมาป้อนตลาดมากอย่างที่ว่าไป จึงทำให้ดาวที่ได้อยู่ในระดับ 1 ดาว คือค่อนข้างหาง่ายมากนั่นเอง

ไหนๆ ก็พูดถึงญี่ปุ่นแล้ว จะบอกว่าแม้ Fire-King ในอเมริกาที่ฐานผลิตหลักในตอนนั้นคือโรงงานในรัฐเวอร์จิเนียหยุดผลิตไปในปี 1986 แต่ด้วยความคลั่งไคล้ของชาวญี่ปุ่น จึงมีการซื้อเบ้าผลิต Fire-King มา แล้วผลิตขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี 2011 นับเป็นประเทศที่ไปสุดทางมาก แต่ edition ญี่ปุ่นนั้นปั๊มตราที่ต่างจาก U.S.A. ORIGINAL และมีคำที่เปลี่ยนไปนิดหน่อย คือ HERITAGE Fire-King > MILK GLASS > MADE IN JAPAN ในบ้านเราก็มีนำเข้ามาขายที่ BEAMS Shop

ส่วนเนื้อแก้วนั้น นอกจากจะมีประเภท jade-ite แล้ว ยังมีเนื้อผิวอีกหลากหลายแบบ แต่ที่ได้รับความนิยมและพบเห็นกันมากคือเนื้อประเภทที่เรียกว่า milk glass หรือเนื้อนม แต่เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเกินไป จะขอละไว้เล่าในโอกาสถัดไป

หากถามว่าในเมืองไทยนั้นมีการใช้เจ้า Fire-King บ้างไหม ตอบว่ามีครับ และได้รับความนิยมมากในระดับหนึ่งด้วย ซึ่ง Fire-King ที่ในไทยนิยมนั้นคือ รุ่น Peach Luster ที่น่าจะเริ่มเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 8 ในสมัยก่อนนิยมให้เป็นของขวัญแต่งงานหรืองานมงคลต่างๆ อาจด้วยสีที่อาบปรอท เกิดความแวววาวกว่า jade-ite จึงถูกจริตคนไทยกว่า

กลับมาที่หนังเรื่อง In the Mood for Love หากเราสังเกตดีๆ ปีที่ผลิตกับปีที่ตัวหนังดำเนินไปสอดคล้องกันได้อย่างลงตัว เรื่องราวของคุณนายเฉินกับคุณโจว เริ่มต้นในปี 1962 บนเกาะฮ่องกง และ Jane Ray นั้นถูกผลิตและจำหน่ายในช่วงปี 1946-1965  เป็นช่วงที่เรียกได้ว่ากำลังการผลิตสินค้าอยู่ในช่วงพีคช่วงหนึ่ง เพราะอเมริกาเพิ่งผ่านส่งครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ไม่นาน และเริ่มฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้คนเริ่มมีกำลังซื้ออีกครั้ง ทางโรงงานจึงผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ตลาดอย่างมากมาย 

ไอ้ความมากมายที่ว่าก่อให้เกิดการกระจายสินค้าไปทั่วอเมริกา และเริ่มขยายออกไปต่างประเทศ แม้แต่เกาะฮ่องกงเองก็ไม่เว้น จึงไม่แปลกที่ Jane Ray จะถูกนำมาใช้ในฉากโต๊ะอาหารของคนทั้งคู่

พอรู้เช่นนี้ก็รู้สึกอึ้งกับการละเมียดเลือกอุปกรณ์เข้าฉากของผู้กำกับหว่อง การ์-ไว เป็นอย่างมาก หนังอบอวลไปด้วย ความโดดเดี่ยวของความรักอันผิดที่ผิดทางของตัวละคร แต่มีสิ่งเล็กๆ มากมายในหนังที่ซ่อนตัวอยู่เพื่อทำหน้าที่ของมัน และช่วยประคองบรรยากาศนั้นๆ ให้ผ่านพ้นไปอย่างที่ควรเป็น

เสียงเพลง Quizas, Quizas, Quizas (Perhaps, Perhaps, Perhaps) ของ Nat King Cole ที่เล่นผ่านมาเป็นระยะ บรรยากาศของความรักที่แสนเปราะบางพอๆ กับแก้วตรงหน้าที่พร้อมจะแตกร้าว บวกกับสิ่งของเล็กๆ ที่ใส่ใจจัดวางลงไป สำหรับเราจึงไม่แปลกใจเลยที่แม้จะผ่านไปกี่ปีก็ยังมีผู้คนพร้อมหลงรักหนังเรื่องนี้

หวังว่าบทความนี้จะช่วยกระตุ้นความคลั่งไคล้ของคุณได้ไม่มากก็น้อย

ขอให้สนุกกับการดูหนังครับ

AUTHOR