แด่ที่ไหนสักแห่งที่เราจะได้เป็นตัวเอง : เรื่องของหม้อ Le Creuset สีแดงเพลิงใน Julie & Julia

“รู้ไหมว่าฉันรักอะไรในการทำครัว ฉันรักที่หลังจากวันที่ไม่มีอะไรแน่นอนสักอย่าง ฉันยังกลับมาบ้านแล้วรู้แน่ว่าถ้าคุณตอกไข่ใส่ช็อกโกแลต เติมน้ำตาลและนมลงไปมันจะเหนียว”

ประโยคยียวนแต่กึ่งจริงจังจากปากของ Julie Powell อดีตนักเขียนผู้ย้ายสายงานมาสู่ราชการที่ต้องรับฟังการยื่นเรื่องบรรเทาทุกข์จากครอบครัวผู้ประสบปัญหาเหตุการณ์ 9/11

เราทุกคนต่างมีวันที่แย่ ในเวลาที่เหนื่อยหน่าย ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับเรื่องอะไรอีก คุณผู้อ่านทำยังไงครับ

สำหรับจูลี่ คำตอบคือการทำอาหาร เธอเสนอคำท้าให้ตัวเองและตั้งชื่อว่า ‘The Julie/Julia Project’ กติกาคือเธอต้องทำอาหารตามตำราทำอาหารของ Julia Child ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำอาหารของเธอ ให้ได้ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี

หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของคน 2 คน คือจูลี่และจูเลีย โดยเล่าการทำอาหารของจูลี่และเล่าเรื่องของจูเลียสลับไปมา ภาพของจูลี่ยืนอยู่ในครัวขนาดเล็ก มีลักษณะของความเป็นคนเมือง ส่วนจูเลียที่อยู่ในครัวแปลกตายุคเก่า สิ่งที่โดดเด่นสำหรับเราคือหม้อตุ๋นอาหารใบสีส้มใบนั้น เพราะถ้าดูให้ดีเราจะเห็นว่าจูลี่และจูเลียใช้หม้อเหมือนกัน

และนี่คือที่มาของเรื่องราวหม้อ Le Creuset ในหนังเรื่อง Julie & Julia

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1925 ที่ Fresnoy-le-Grand ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส เจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมชาวเบลเยียม 2 คน Armand Desaegher และ Octave Aubecq ได้สร้างโรงงานผลิตหม้ออบ Le Creuset ขึ้นมา ด้วยลักษณะพิเศษที่ใช้แม่พิมพ์ทราย ผนวกกับการหล่อโลหะในสไตล์ดัตช์ ทำให้ได้หม้อเหล็กที่มีลักษณะเฉพาะตัว ในกระบวนการหล่อนั้นรูปทรงของหม้อจะแตกต่างกันไปอย่างละเล็กอย่างละน้อย ทำให้ไม่มีหม้อ Le Creuset หม้อไหนที่มีองศาเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ และเหล็กที่ใช้ในการหล่อเกือบทั้งหมดคือเหล็กรีไซเคิล

ส่วนที่โดดเด่นคือสีลูกกวาดของ Le Creuset ที่ดึงดูดใจผู้คนได้เป็นอย่างดี สีแรกเริ่มคือสีแดงเพลิง (flame) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสีของเหล็กหลอมเหลว ในช่วง 30 ปีแรก Le Creuset ผลิตออกมาเพียงสีเดียว จนกระทั่งปลายยุค 1950s ถึงคลอดสีใหม่ออกมาเป็นสีเหลือง elysees และหลังจากนั้นจึงพัฒนาสีต่างๆ ออกมาในเวลาใกล้ๆ กัน จนปัจจุบันมีสีให้เลือกมากกว่า 100 เฉดสี และมีจำหน่ายในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

ช่วงหลังมีการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ แต่ในส่วนของหม้อเหล็กยังคงผลิตจากฐานผลิตที่แรกเท่านั้น และสีที่ขายดีที่สุดก็ยังคงเป็นสีแดงเพลิง

แม้ปัจจุบันจะมีการผลิตหม้อเหล็กสไตล์ French oven ขึ้นมาอีกหลายแบรนด์ แต่ต้นตำรับของแท้ก็คือ Le Creuset นั่นเอง และ Le Creuset มักโดนเทียบแบบหมัดต่อหมัดกับแบรนด์รุ่นน้องอย่าง Staub แต่ผลสรุปว่าคนส่วนมากก็ยังยกตำแหน่งคิงให้ Le Creuset อยู่ดี

กลับมาที่หนัง อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าตัวเรื่องใช้การเล่าสลับไปมาระหว่าง 2 คน

จูเลียในปี 1949 กับจูลี่ในปี 2002 ทั้งคู่ต่างมีประสบการณ์คล้ายกัน ตัวจูเลียนั้นต้องย้ายมาฝรั่งเศสเพราะงานของสามี ทำให้เธอตกอยู่ในสภาวะคนนอก ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม คล้ายๆ กับจูลี่ที่ประสบปัญหาเรื่องงานที่ไม่เข้ากับตัวตนของเธอ และทั้งคู่เจอเส้นทางบรรเทาความโดดเดี่ยวของตัวเองด้วยการทำอาหาร

จูเลียเข้าเรียนที่โรงเรียนทำอาหาร ส่วนจูลี่เริ่มลงมือทำอาหารจากตำราของจูเลีย ทั้งคู่มีหม้อสีสันสะดุดตาใบหนึ่งที่เหมือนกัน คือหม้อ Le Creuset สีแดงเพลิง

มีเกร็ดเล็กๆ ที่ขอเพิ่มเติมจากที่เห็นในภาพยนตร์ จูเลียมีหม้อ Le Creuset ที่ใช้บ่อยๆ คือรุ่น ‘La Mama’ เป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น ออกแบบในปี 1972 โดยศิลปินชาวอิตาเลียนชื่อดังแห่งยุค Enzo Mari ผู้มีปรัชญาในการดึงงานศิลปะให้หลุดขาดจากการยึดครองของกลุ่มชนชั้นนำ เน้นผลิตวัตถุที่ดูงามและมีประโยชน์เพื่อคนธรรมดาตามหลัก ‘ยูโทเปียแบบประชาธิปไตย’

เอนโซกล่าวถึงหลักการทำงานของตัวเองเมื่อต้องเริ่มงานด้วยโจทย์ใหม่ๆ ไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า 25 modi per piantare un chiodo (ชื่อไทยคือ 25 วิธีเพื่อตอกตะปูหนึ่งตัว หกสิบปีของความคิดและโปรเจ็คต์มากมายเพื่อปกป้องหนึ่งฝัน จัดพิมพ์โดย art4d) ‘แทนที่ผมจะพยายามคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่ามันจะออกมาเป็นอะไร ผมจำกัดตัวเองไว้ที่การจดจ่ออยู่กับการทำสิ่งสิ่งหนึ่งให้มันชัดเจน โดยที่ยึดหลักการที่ผมเชื่อสองอย่างไว้ให้มั่น รูปทรงต้องเป็นอมตะ อยู่เหนือเวลา เป็นอิสระจากแฟชั่น และคุณภาพรูปทรงต้องอยู่ในความสามารถของคนผลิตวัตถุสิ่งนั้น เหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีต’ เพียงประโยคนี้ก็น่าจะมากพอให้เรามอง La Mama ในมุมมองที่มากกว่าเพียงหม้อใบหนึ่ง

La Mama ถูกนำมาใช้ในรายการทำอาหารของจูเลียที่ชื่อว่า The French Chef ถือว่าจูเลียคือคนแรกๆ ที่นำมันเข้ามาใช้ให้ชาวอเมริกันรู้จัก และส่งผลให้ Le Creuset ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

หากมองย้อนลงไปอีก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Le Creuset เชิญนักออกแบบมาทำงานร่วมกัน เพราะในปี 1958 ยังได้นักออกแบบมือฉกาจ Raymond Loewy ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นบิดาของวงการออกแบบอุตสาหกรรมแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ออกแบบตกแต่งห้องโดยสาร Air Force One เครื่องบินส่วนตัวของประธานาธิบดี John F. Kennedy, ออกแบบโลโก้เปลือกหอยให้กับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง Shell, ร่วมกับนาซาออกแบบยานอวกาศในโครงการใหญ่ๆ อย่างโครงการ Apollo และมีงานออกแบบอื่นๆ อีกมากมาย (คำว่ามากมายในที่นี้คือมากจริงๆ) Le Creuset รุ่นที่เรย์มอนด์ออกแบบให้ชื่อว่า Coquelle ซึ่งเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่นอีกเช่นเดียวกัน

ในบรรดารุ่นลิมิเต็ดนั้น นอกจาก La Mama กับ Coquelle แล้ว ยังมี Futura ที่ผลิตออกมาในปี 1987 โดยร่วมมือกับนักออกแบบ J.L. Barrault แต่หากนับความนิยมและชื่อชั้นยังคงไม่สามารถเทียบได้กับ 2 รุ่นแรกที่กล่าวมา

 

เหล่านักออกแบบที่เลือกมาโดยเฉพาะเอนโซและเรย์มอนด์สะท้อนคุณค่าของแบรนด์ได้อย่างดี เหมือนที่ Rudy Boussenmart ดีไซน์ไดเรกเตอร์และฝ่ายพัฒนาของ Le Creuset กล่าวไว้ในรายการ BrandmadeTV ด้วยสายตาแห่งชัยชนะว่า “We are trendy today.”

ด้วยความที่คำนึงถึงการใช้งานและการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ ทำให้หม้อเหล็ก Le Creuset ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จึงก่อให้เกิดของปลอมหลุดออกมาขายในตลาดมากมาย เราจะขอแนะนำทริกการดูของแท้ขั้นต้นให้

หนึ่ง ต้องปั๊มตรา Le Creuset สอง ควรมีตัวเลขปั๊ม 2 หลัก สาม ควรปั๊มว่า France หรือ made in France (ไม่ได้แปลว่า Le Creuset จะไม่ได้ผลิตที่อื่น แต่ถ้าเป็น Cast Iron ยังคงผลิตที่โรงงานแห่งแรกที่ฝรั่งเศสเท่านั้น) และสี่ ควรมีเครื่องหมาย diamond ของ Le Creuset ปั๊มอยู่ในกรณีที่เป็นรุ่นเก่า

แม้ว่า Le Creuset จะยืนระยะมา 95 ปี แต่ยังคงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนลูกบิดที่ฝาหม้อให้ทนความร้อนมากขึ้น เพิ่มเส้นขอบที่ฝาหม้อ หูจับตัวหม้อก็ขยายให้จับถนัดขึ้น การประกบของฝาหม้อสนิทมากขึ้น และเพิ่มคุณภาพของการเคลือบภายใน โดยยังคงรูปร่างโดยรวมให้เหมือนรุ่นออริจินอล ซึ่งเป็นการเคารพการออกแบบดั้งเดิมได้อย่างลงตัว

กลับมาที่ภาพยนตร์

ในบั้นปลายของเรื่องจูเลียได้ทำรายการอาหารออกทีวีที่อเมริกา แน่นอนรายการของเธอทำให้ชาวอเมริกันหลงรักอาหารฝรั่งเศสมากขึ้น และได้ตีพิมพ์ตำราอาหารสมใจ ส่วนจูลี่ก็ทำตามความตั้งใจเดิมได้สำเร็จ คือการทำอาหารครบจำนวนที่ต้องการ และในปี 2005 ยังได้ออกหนังสือของตัวเองชื่อว่า Julie & Julia: 365 Days, 524 Recipes, 1 Tiny Apartment Kitchen หนังสือเล่มนี้ออกหลังจากจูเลียจากโลกไป 1 ปี 

ทั้งคู่เกิดและเติบโตต่างยุคและต่างสังคม แต่สภาวะกดดันต่างๆ ที่เจอกลับคล้ายกัน และผมเชื่อว่าบางครั้งเราก็ต่างเป็นจูลี่ เรามีคืนที่หดหู่ มีวันที่โดดเดี่ยว มีงานที่แย่ และบางครั้งความรักก็ไม่ได้ดีดั่งหวัง 

เราทุกคนต่างมีวันแย่ๆ ในเวลาที่เหนื่อยหน่าย ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับเรื่องอะไรอีก คุณผู้อ่านทำยังไงครับ

ขอยกคำถามเดิมที่ถามตอนต้นมาอีกครั้ง และหวังว่าทุกคนจะมีคำตอบให้ตัวเอง

สิ่งที่แค่เคยบรรเทาก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นทางออกได้เช่นกัน เหมือนกับที่จูลี่และจูเลียทำให้เราเห็น 

หวังว่าบทความนี้จะช่วยกระตุ้นความคลั่งไคล้ของคุณได้ไม่มากก็น้อย ขอให้สนุกกับการดูหนังครับ 🙂

AUTHOR