“โฟโต้บุ๊ก Europeans ของ Henri Cartier-Bresson เล่มนี้ป่านได้เป็นของขวัญวันรับปริญญา ก่อนหน้านี้เราเคยเห็นผลงานของ Cartier-Bresson มาแล้ว ป่านชื่นชอบผลงานเขามาก ศึกษาและตามดูงานมาเรื่อยๆ จนได้เล่มนี้
“จำได้ว่าครั้งแรกที่เปิดดูภาพตื่นเต้นมาก ใจเต้นแรง เพราะวิธีการถ่ายภาพ วิธีการนำเสนอ วิธีการมองโลกของเขา ไม่เหมือนกับที่เรารู้จักมาก่อน แล้ว Cartier-Bresson เรียกได้ว่าเป็นบิดาของการถ่ายภาพสตรีทเลยก็ว่าได้ เพราะเขาทำให้ภาพสตรีทมันชัดเจนขึ้นจนมีคำเฉพาะของจังหวะการถ่ายภาพที่เรียกว่า decisive moment ซึ่งหมายถึงช่วงจังหวะ ณ เสี้ยววินาทีที่ช่างภาพสามารถแคปเจอร์สิ่งนั้นมาได้พอดี
“อาจดูประหลาดที่เอาโฟโต้บุ๊กมาคุย เพราะมันไม่มีตัวอักษร แต่สำหรับเราหนังสือภาพก็เล่าเรื่องเหมือนหนังสือที่มีตัวอักษร เราว่ามันมีเนื้อหาอยู่ในนั้นที่เราเรียนรู้ได้ เมื่อเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นโฟโต้บุ๊กก็ทำงานกับข้างในของเราได้เหมือนกัน แต่ละภาพของ Cartier-Bresson ที่ได้เปิดดูเหมือนพาเราไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่เคยไปและย้อนกลับไปไม่ได้ ที่สำคัญคือเราได้รู้จักคนคนหนึ่งผ่านภาพถ่าย ผ่านมุมมองที่เขาเลือกมองโลกว่าเขามองแบบไหน มองแบบสนุก ตลก หรือเสียดสี เรารู้สึกว่ามันพิเศษเพราะเราไม่เคยมองโลกแบบเขามาก่อน
“ตั้งแต่เด็กเราเป็นคนเดินทางน้อย ไม่ได้เห็นอะไรกว้างมาก ชีวิตวนลูปแค่ไปโรงเรียนและกลับบ้าน เรียนโรงเรียนเดิมตั้งแต่อนุบาลจนจบ ม.6 มุมมอง วิธีคิด ไม่เปลี่ยนมาก พอช่วง 15-16 ก็เริ่มถ่ายโฆษณา ทำงานกับแก๊ง Strawberry Cheesecake นั่นเริ่มเปิดโลกเรามากขึ้น แต่ก็ยังไม่หลากหลาย เรายังทำงานกับคนในเจเนอเรชั่นเดียวกัน มุมมองคล้ายกันในหลายๆ เรื่อง รวมถึงการถ่ายภาพที่ตอนนั้นยังเข้าใจว่ามันถ่ายได้แค่รูปปกติทั่วไป แม้ว่าตอนเรียนเราเรียนภาพยนตร์ แต่เราก็ไม่ได้สนใจภาพถ่าย ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้มีภาพใหม่ๆ ให้ดูเยอะขนาดนั้น
“แต่พอเจอรูปของ Cartier-Bresson เขาไม่ได้ถ่ายเหมือนรูปทั่วไปที่เราเคยเจอ เขามองแบบมีเลเยอร์ ไม่ได้มองเนื้อหาอย่างเดียว แต่มองแสงกับเงา ทำให้เรารู้ว่า อ๋อ มองแค่แสงกับเงาอย่างเดียวก็ได้เหรอ มองรูปทรงอย่างเดียวก็ได้ หรือบางครั้งให้ความสำคัญกับซับเจกต์ที่เป็นมนุษย์ หรือไม่ต้องมีคนก็ได้ ถ่ายทอดความรู้สึกแทน หรือเป็นการบันทึกช่วงเวลาหรือเหตุการณ์ก็ได้ มันเป็นอะไรก็ได้ ในขณะเดียวกันมันก็มีความสวยของศิลปะในนี้ ทำให้งานของ Cartier-Bresson มีความเป็นเพนต์ติ้งและบันทึกประวัติศาสตร์ในตอนนั้นไปพร้อมๆ กัน เพราะเราไม่ได้เห็นภาพคนใส่สูทเดินตามถนนทุกวันแบบนี้แล้ว
“การเจอหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ในจุดที่ถูกเวลาสำหรับเราเหมือนกัน เพราะช่วง 20 ต้นๆ เริ่มมีคำถามข้างในว่า โอเค หลังจากที่เราไปค้นหาและทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างตอนวัย 16-18 แล้วตอนนี้เราคือใคร อยากทำอะไร มันก็เป็นปกติที่บางช่วงวัยคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราตอบมัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็เข้ามาตอบบางจุด ณ ช่วงเวลานั้นๆ ที่เรามีคำถามอยู่
“เราจะไม่บอกว่าเพราะหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้เริ่มถ่ายรูป แต่มันเป็นส่วนประกอบของหลายๆ อย่าง เราดูงานคนอื่นด้วย อย่าง Robert Doisneau หรือ Matt Stuart เรารู้สึกว่าการดูหนังสือภาพหรือแม้กระทั่งการอ่านอะไรก็ตามแต่ ได้ใช้เวลากับมันระยะหนึ่ง มันไม่ได้ให้อะไรเราทันทีแบบดีดนิ้วแล้วเปลี่ยนกันเลย หนังสือช่วยตอบคำถามบางอย่าง แต่ไม่ได้เป็นคำตอบเดียว ทุกอย่างมาจากบริบทแวดล้อมที่ช่วยตอบคำถามนั้นๆ ในใจ
“เราเป็นคนไม่พยายามปักใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนเรา หรืออ่านแล้วจะกลายเป็นคนใหม่ทันที เราไม่คาดหวังคำตอบสำเร็จ ตายตัว เพราะเชื่อว่าทุกเล่มที่ได้อ่าน ได้เห็น หรือได้สัมผัสมุมมองของช่างภาพหรือนักเขียนที่ส่งต่อมาให้เรา มันเข้าไปเก็บอยู่ข้างในแล้วทำงาน จนเรามีมุมมองในรูปแบบของเราในแต่ละช่วงเวลา และโฟโต้บุ๊กเล่มนี้ก็เป็นอย่างนั้น
“เราถึงยังคงกลับมาเปิดดูอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เปิดมันให้อะไรมากกว่าเดิม เราเห็นอะไรมากขึ้น เข้าใจภาพถ่าย เรื่องราว และบริบทในภาพมากขึ้น เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าคำตอบสุดท้ายมันคืออะไร ทุกครั้งเราจะสร้างเรื่องราวให้กับภาพของเขาเอง และเรารู้สึกว่ามันเป็นการสะท้อนตัวเรา ณ ช่วงอายุนั้นๆ”