วันนี้ปลาเรียงยังไง เพจกาวๆ ที่บันทึกความรู้สึกส่วนตัวผ่านแผงปลา

ท่ามกลางอากาศร้อนจัดในเดือนกรกฎาคม เดือนก้ำกึ่งระหว่างฤดูฝนและฤดูร้อน แสงแดดกล้าหาได้มีประโยชน์ต่อผิวหนังแบบบางไม่ แต่กลับจำเป็นอย่างยิ่งต่อการไล่ความชื้นออกจากสิ่งที่เปียกชุ่ม เช่น ปลาแดดเดียว หากเลือกได้คงขอให้ตัวเองไม่มีเหตุให้ต้องออกไปกลางแจ้ง แต่ด้วยหน้าที่การงานจึงทำให้ต้องเดินทางออกไปพบกับใครคนหนึ่ง เพื่อตอบคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจ

ชายหนุ่มที่เรากำลังไปพบ มีความสนใจที่น่าแปลกประหลาด นั่นคือ การถ่ายภาพการเรียงปลา

อย่าเพิ่งคาดหวังว่าเราจะเล่าเรื่องของชายคนนี้ด้วยการพรรณนาราวกับวรรณกรรม แต่เพราะสำนวนการเขียนอย่างประณีตเช่นนี้มักปรากฏอยู่ในเพจ วันนี้ปลาเรียงยังไง เพจที่เป็นเหมือนแกลเลอรี่ภาพถ่ายปลาหลากชนิดถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ หรือบางครั้งก็มีแพตเทิร์นที่น่าสนใจบนกระบะน้ำแข็งในซูเปอร์มาร์เก็ต 

ท่ามกลางบรรดาเพจภาพถ่าย ดูเผินๆ เพจนี้เหมือนเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไป แต่ด้วยความแปลกและแคปชั่นที่เล่าเรื่องด้วยสำนวนละเมียดละไมอย่างร้ายกาจ จึงทำให้สามารถเพิ่มผู้ติดตามจาก 200 ถึง 2,000 ได้เพียงข้ามคืน และเกือบแตะ 30,000 ไลก์แล้วภายใน 2 เดือนขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้

จอย-พฤฒิพร สุวรรโณ เจ้าของเพจวันนี้ปลาเรียงยังไง ภายใต้ภาษาที่ถูกร้อยเรียงอย่างสละสลวย ตัดกับรูปปลานอนเรียงกันที่ประกอบในแคปชั่น เขาคือชายหนุ่มที่มีความพังก์ร็อกตั้งแต่แรกเห็น ก่อนจะพบว่าความขัดแย้งกันนี้คือเจตนาที่อยากจะลองทำอะไรปั่นๆ กวนๆ ตามตัวตนของเขานั่นเอง

หากมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมที่เพจ เราอาจจะได้รู้จักปลาที่ถูกจัดวางบนแผงเรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องราวเบื้องหลังกว่าที่ปลาเหล่านั้นจะถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กจะเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้เขาตั้งเพจนี้ขึ้นมา จอยจะมาตอบคำถามเหล่านี้ โดยมีจุดตั้งต้นว่า ‘วันนี้ปลาเรียงยังไง’

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียงปลา

“อันนี้ให้คะแนนเท่าไหร่ครับ”

จากการให้คะแนนการเรียงปลาขำๆ กับเพื่อนของจอยบนเฟซบุ๊ก กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเพจ ‘วันนี้โลตัสเรียงปลายังไง’ ในชื่อเวอร์ชั่นแรก ก่อนเปลี่ยนเป็น ‘วันนี้ปลาเรียงยังไง’ ในชื่อล่าสุด เพื่อขยายระบบนิเวศการเรียงปลาไปให้ไกลขึ้น นอกเหนือจากซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้าน

เชื่อว่าหลายคนอยากรู้จักตัวตนว่าจริงๆ แล้วเขาคือใคร จากการถามไถ่ทำให้เราทราบว่าเขาคลุกคลีในแวดวงด้านงานสร้างสรรค์มาไม่น้อย จอยมีอาชีพหลักคือช่างสัก แถมยังเป็นมือกีตาร์ metal underground แห่งวง Sinners Turned Saints และอดีตนักศึกษาฟิล์ม  

เราเริ่มต้นด้วยคำถามที่อยากรู้มากที่สุดคือ เริ่มเห็นความพิเศษของการเรียงปลาได้อย่างไร เพราะปลาในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา ไม่น่าจะกลายเป็นความชอบได้ แต่การเกิดเพจนี้น่าจะทำให้หลายคนกลับมาสำรวจแผงปลากันอีกครั้ง

“ภาพแรกจะเป็นรูปใน cover ของเพจ อันนั้นคือแบบว่าสวยว่ะ เขาจะเรียงเป็นเส้นตัด มีเว้นระยะ มี distance ของมัน อันนั้นคือชอบมาก ทุกวันนี้ก็ยังใช้เป็นวอลเปเปอร์ ชอบที่สุดแล้ว ตอนนั้นเรารู้สึกว้าวมากกว่าว่าเดี๋ยวนี้เขาตั้งกันดีๆ แล้วเนอะ ไม่ได้เทลงในกระบะแล้วให้เรามารื้อๆ

“ด้วยความที่ไม่ได้เดินห้างมานานแล้ว ตอนที่เดินเราก็หันไปสะดุดตากับการจัดวางของปลา ก็เลยถ่ายรูปแล้วเอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก เพื่อนๆ ก็มาเล่นกัน หลังจากนั้นก็กลับไปดูที่เดิม เห้ย มันก็ยังเรียงใหม่อีกแบบนึงนะ ทีนี้ก็ถ่ายรูปให้เพื่อนดูใหม่ จากนั้นก็เริ่มมีเพื่อนที่ไปเจอแผงปลาที่นู่นที่นี่ก็ส่งมาให้ดู เอามาให้คะแนนกัน มีการเปรียบเทียบกัน ว่า เฮ้ย คนนี้ฝีมือยังไม่ถึงนะ ก็เล่นกันขำๆ

 “ส่วนเรื่องเปิดเพจไม่ได้อยู่ในหัวเลยตั้งแต่แรก ด้วยความที่เล่นกันเยอะๆ ก็มีคนยุ รุ่นพี่คนนึงยุเราอยู่หลายเดือนว่าให้เราเปิดเพจ จนช่วงนั้นมันมีปัญหาชีวิตอะไรสักอย่าง เราอยากทดลองเริ่มอะไรใหม่ๆ ดู ก็เลยลองทำจนเป็นทุกวันนี้ 

“มันดังแบบฟลุกๆ ด้วยความที่จ่าพิชิตเขาแชร์ จากคนกดติดตามวันเดียว 200 เป็น 2,000 เลยแบบ ฮึ่ย อะไรวะเนี่ย แล้วก็คุยกับรุ่นพี่ว่าจ่ามันไปเห็นได้ไงวะ ด้วยความที่เราก็เล่นกันแค่เรา คนก็แชร์ต่อไปเรื่อยๆ พอมันเริ่มบูมปุ๊บ มันก็เริ่มมีคนส่งรูปมาเรื่อยๆ รุ่นพี่คนนั้นตอนนี้ก็ให้เป็นที่ปรึกษาของเพจไป” จอยเล่า

หากย้อนไปถึงความผูกพันกับปลาจริงๆ จอยบอกว่าเขาชอบดูปลาและสัตว์ทะเลอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะจากสารคดี National Geographic นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปลาจึงดึงความสนใจจากเขาได้มากเป็นพิเศษ (จอยบอกว่าแม้ปลาในร้านค้าจะไม่มีชีวิตเหมือนที่เขาเคยดูในสารคดี แต่หากไม่เห็นกรรมวิธีชำแหละปลาเขาก็รับได้)

ไดอารี่ส่วนตัว

แม้จะดูเป็นเพจตลกขบขัน ไม่น่ามีเรื่องเครียด แต่ช่วงทำเพจแรกๆ เขาก็มีความกดดันด้วยเหมือนกัน นั่นคือการหาแนวทางการเขียนที่เป็นตัวเองมากที่สุด 

ช่วงเริ่มต้นหากจอยมีเรื่องไม่สบายใจเขาเลือกที่จะไม่เขียนอะไรเลยบนเพจ จนได้ไปปรึกษากับเพื่อนๆ และได้คำตอบมาว่าเขาสามารถเป็นตัวเองได้ แม้ในวันที่มืดมนสุดๆ เพราะนี่คือเพจของเขาเอง และจากนั้นเพจของเขาก็กลายเป็นเหมือนไดอารี่บันทึกความรู้สึกประจำวัน โดยมีปลาเป็นตัวแทน

“ตอนหลังมันมีช่วงที่เฟลๆ ในชีวิตนิดนึง ก็เลยหยุดโพสต์ไปวันสองวัน แล้วก็ไปคุยกับพวกรุ่นพี่ เพื่อนๆ รุ่นน้องที่สนิทว่าถ้าเราเขียนเราจะเขียนเรื่องที่มันดาร์ก เศร้า เราเลยเลิกเขียนดีกว่าไหม เขาก็บอกว่า เพจมึง มึงใส่ตัวมึงได้เลย เราก็เลยถามว่า แล้วคนมันจะไม่เครียดไปกับเราเหรอ เพื่อนก็บอก มึงจะเครียดทำไม ก็เพจของมึงไง ตอนหลังก็เหมือนรู้ว่าเราสามารถเอาเรื่องพวกนี้เป็นไดอารี่เราได้เลย ก็คือเปรียบเทียบเรื่องที่เรากาวไว้ แต่ใส่ความรู้สึกเข้าไปด้วย ถ้าเห็นโพสต์ไหนเศร้า โพสต์ไหนมีความสุข นั่นก็คือตัวเราในวันนั้น

“ช่วงนั้นอกหัก เลิกกับแฟนเก่า มันเป็นครั้งแรกที่เอาเรื่องส่วนตัวมารวมกับปลา โดยที่รู้สึกว่ามันเข้ากันได้ไงวะ ก็รู้สึกว่าช่วงกำลัง move on แล้วเราก็รู้สึกติดค้างกับเขาหลายอย่าง พอเจอรูปนี้ก็ทำให้ความรู้ที่ติดค้างของเรากับเขาได้พูดออกไปหมดแล้ว หลังจากเขียนไปแล้วมันก็เหมือนว่าโล่งมากกว่าเดิม ในอีกมุมมันก็ช่วยฮีล หลังจากนี้ก็จะมีอีก 2-3 โพสต์มั้ง ที่เป็นความรู้สึกแบบนั้น มันจะมีช่วงที่อยู่ในมรสุมอยู่ พอหลุดออกมาแล้ว ก็จะเป็นช่วงที่ฉันเบิกบาน แทบจะเป็นบ้า

“ตั้งแต่นั้นเหมือนเจอทางของตัวเอง ว่ามันคือไดอารี่เรา โดยที่โยงกับปลาได้ หรือล่าสุดโยงกับคอนเสิร์ตได้ แต่อันนั้นนั่งคิดนานเหมือนกัน ยากอะ เลยรู้สึกว่าถ้ามีคนมาจ้างคงจะยาก เราคงกดดันน่าดู”

ใช้เวลาเขียนไม่ถึง 1 ชั่วโมง

เบื้องหลังการเขียนเรื่องราวชีวิตประจำวันผ่านปลา จอยบอกว่าใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แม้ว่าภาษาที่เขียนออกมาราวกับนักเขียนหนังสือดีๆ สักเล่ม แต่สิ่งที่เขาถนัดจริงๆ คือการเป็นนักอ่านตัวยงของ ปราบดา หยุ่น จนกระทั่งได้ลองเขียนบนเพจจึงทำให้เขาได้ค้นพบตัวเองอีกด้านว่าเขาก็เขียนได้ดีไม่แพ้กัน

“เราไม่ได้ชอบการเขียนขนาดนั้น แต่ชอบการอ่านมากกว่า เคยลองทำเรื่องสั้น นานมาแล้วตั้งแต่สมัยเรียนมหา’ลัย เขียนไปเขียนมา ทำไมมันไม่ยาวเหมือนคนอื่นเลยวะ ก็เลยเลิกไปเลย เราโตมากับหนังสือ พ่อจะให้อ่านหนังสือเยอะหน่อย เอาจริงๆ อย่างงานเขียนที่ผมชอบมีแค่คนเดียวคือ พี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น อ่านตั้งแต่มัธยม ชอบสำนวนเขามาก ติดงอมแงม ถ้าไปอ่านของคนอื่นจะรู้สึกขัดใจ ไม่ใช่ว่าของคนอื่นไม่ดีนะ แต่คนนี้เราชอบมาก ก็เลยเป็นที่มาของสำนวนอย่างที่เห็น หรือบางทีก็ไปเห็นจากที่อื่น เขาใช้คำเจ๋งดีว่ะ ก็จะเอามา adapt บ้าง

การเขียนส่วนใหญ่จะอยู่บนเฟซบุ๊กในสเตตัสส่วนตัว เหมือนเราไปนู่นไปนี่มาก็ไปเล่าให้เพื่อนฟัง โพสต์เฟซยาวๆ ร่ายเยอะ พอมาเขียนเป็นเพจก็ไม่คิดว่าจะมีคนมาชอบด้วย เพราะไม่มีใครเคยชมไง แต่เราก็ส่งให้พ่อกับแม่ดู เขาก็งง แล้วบอกว่า เขียนเก่ง ก็ดีนะ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือเยอะ พอมาทำอันนี้น่าจะเข้ากัน”

ด้วยความชอบเล่าเรื่องเป็นทุนเดิม การโพสต์แต่ละครั้งของเขาจึงใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาที – 1 ชั่วโมงเท่านั้น จอยบอกว่าความกาวจะเกิดขึ้นระหว่างที่เขาปรับแต่งรูปอยู่นั่นเอง 

“การโพสต์แต่ละครั้งเราเริ่มจากแวะตลาด ตลาดของเราคืออินบ็อกซ์ เดี๋ยวนี้ไปเองน้อยมาก เพราะไม่ค่อยมีเวลา เราก็จะเลือกอันที่องค์ประกอบดี แล้วก็เอาเข้าไลท์รูม จังหวะที่เอาเข้าไลท์รูมก็ดูว่ามันเล่าอะไรได้บ้าง พอได้รูปที่แต่งเสร็จ ทีนี้ก็เริ่มดมกาว (หัวเราะ) เริ่มร่ายมนตร์ เสร็จแล้วก็เช็กคำผิด 2-3 รอบ แล้วก็โพสต์เลย จริงๆ ไวมาก ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ ต่อครั้ง ถ้านานสุดน่าจะเป็น 1 ชั่วโมง รวมแต่งรูป”

ศิลปะอยู่รอบตัวเรา

ตั้งแต่เริ่มทำเพจมาสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในความคิดจอยมาก่อนคือการมีคนชื่นชอบมากขนาดนี้ เขาเล่าว่า ที่จริงแล้วมีคนถ่ายภาพเฉพาะปลาบนแผงมาก่อนเขาเสียอีกโดยโพสต์บนอินสตาแกรม แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือวิธีการเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง

“ของเขาจะเน้นถ่ายรูปเลย เป็นอาร์ตเลย แต่เรากวนตีนไง พนักงานเขาก็เรียงอะไรของเขานั่นแหละ แต่เราก็ไปมั่วซั่วใส่ให้เขา เราก็กาวไปเรื่อยๆ เฮ้ย มันใช้หลักนี้ หลักนี้ แต่มันเป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาหมดเลย”

แม้ไอเดียการเล่าเรื่องจะเต็มไปด้วยความกาว แต่จอยก็พยายามหาแนวทางการเขียนและการเล่าเรื่องราวที่เหมาะกับเขามากที่สุด และบางครั้งก็นำไปสู่สาระอย่างคาดไม่ถึง

“เราก็รู้สึกดีนะที่มีคนอ่านแคปชั่นด้วย ถ้าโพสต์แรกๆ สังเกตว่าเราจะเขียนไม่ยาวมาก เพราะกลัวคนไม่ได้อ่าน แต่จริงๆ ก็ไม่ได้กลัวอะไรขนาดนั้น เพราะเริ่มมาจากทำเล่นๆ แต่พอเขียนไปแล้ว วันไหนไอเดียพุ่งหน่อย ก็เขียนยาวเลย แล้วค่อยมาคิดว่ามันยาวไปหรือเปล่าวะ แต่เราคิดว่าคนน่าจะชอบอ่าน แต่กลับกัน บางคนก็อาจจะไม่ชอบอ่าน เพราะถ้าสังเกตจากที่คอมเมนต์มันก็จะมี ‘มึงไม่ได้อ่านแน่ๆ’ เราไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย” จอยเล่าพลางหัวเราะ

“ลูกเพจส่วนใหญ่จะเป็นแบบ positive มากกว่า เขาก็มาเล่นด้วย เช่นเขาก็มีมุมของเขาว่าสามารถสื่อถึงอันนี้ได้เหมือนกันนะ ซึ่งพอเรามามอง เออว่ะ จริงด้วย หรือบางคนจะแบบว่า มีสาระเลย อย่างเมื่อก่อนโพสต์รูปปลาคาร์ฟ เขาก็มาบอกว่า ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นนะ เขาจะมีอุตสาหกรรมเลี้ยงไว้กินจริงจัง เราก็แบบ เฮ้ย แม่งว้าวว่ะ มีความรู้ว่ะ” จอยเล่าอย่างมีความสุข

แม้จอยจะบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนที่สนใจการดูงานศิลปะอย่างจริงจัง แต่เขาก็เห็นว่าการจัดเรียงไม่ได้มีเพียงแค่ปลาเท่านั้น แต่ยังมีการจัดเรียงในสิ่งอื่นๆ รอบตัวด้วย 

“ที่เราเห็นจะมีพวกหมูสไลซ์ มีรูปนึงที่เคยโพสต์ เอาเนื้อสไลซ์มาทำดอกกุหลาบ เราก็แบบสวยว่ะ แต่งเป็นบาร์บี้เป็นชุดเลย หรือซันไบร์ทยังทำเลย เอาขนมมาเรียง จริงๆ การจัดเรียงมันมีมานานแล้ว เคยมีคนส่งมาให้ดูนะ ส่งมาจากปีนู้นปีนี้ ซึ่งแบบ เฮ้ย มันมีประวัติศาสตร์แล้วว่ะ มันเริ่มขุดได้ เพียงแต่อาจจะมีแค่บางสาขาที่ทำ และบางสาขาที่ไม่ได้ทำ ซึ่งอันนี้เราไม่ได้รู้ เพราะสาขามันมีเยอะมาก” 

เพจนี้คือความท้าทายของคนเรียงปลา

“เคยคุยกับรุ่นพี่ว่าเราเหมือน สคบ. แล้วว่ะ เหมือนทำสงครามให้คนอื่นแข่งกัน”

จอยเล่าย้อนกลับไปการมีเพจนี้ ทำให้พนักงานเรียงปลาตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างส่งรูปมาให้จอยช่วยดูว่าดีพอแล้วหรือยัง ก่อนบานปลายไปถึงการแข่งขันเรียงปลาระหว่างห้าง

“เราเคยเจอลูกเพจที่เป็นคนเรียงปลาจริงๆ เขาส่งรูปมาให้ ถามว่า พี่แบบนี้โอเคมั้ยคะ เราก็บอก เฮ้ย เราไม่ได้เป็นหัวหน้าคุณ ไม่ต้องมาถามเรา เราไม่รู้ (หัวเราะ) มันจะมีช่วงโลตัส บิ๊กซี เริ่มประชันการเรียงปลากัน แล้วเพื่อนก็บอกว่า let them fight มึงไม่ต้องรู้สึกผิด เราก็ ได้! แล้วก็ปั่นของเราไปเรื่อยๆ เป็นคอนเทนต์นึง” 

นอกจากการแข่งขันกันของพนักงานเรียงปลาแล้ว จากการเปิดเพจมาได้ระยะหนึ่งยังเขาได้เจอคนที่ชอบการเรียงปลาเหมือนกันโดยไม่คาดคิด และเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเริ่มสำรวจระบบนิเวศในกระบะปลาใกล้ตัวเองเช่นกัน

“บางทีมันก็มีเหมือนกันที่คนมันก็จะงงเวลาเห็นโพสต์เรา เรียงปลามันทำไมวะ แต่มันก็มีคนที่โพสต์ปลาอย่างเดียวเหมือนกัน อันนั้นเขาก็ทำมานานมากแล้ว เคยเข้าไปไล่ดู โคตรสวยเลย เราว่าถ้าเขาเปิดเพจเขาดังยิ่งกว่าเรา เขาระดับมาสเตอร์เลย (ig: everywherefishy) เราได้เรียนรู้ว่ามีคนชอบถ่ายปลาเหมือนกัน

“การมีเพจนี้มันไม่ถึงกับมีอิทธิพลกับการเป็นคอมมูนิตี้ขนาดนั้น” จอยยอมรับ “แต่การมีเพจนี้ขึ้นมาก็ทำให้เขาเห็นว่ามีการเรียงแบบนี้อยู่ ก็เลยอยากรู้ว่าข้างบ้านกูเรียงยังไงวะ อย่างบางคนก็ทักมาบอกว่าพอเห็นโซนปลาแล้วคิดถึง เลยถ่ายรูปมาฝาก เออมันก็รู้สึกดีนะ ก็คิดว่ามีส่วนทำให้คนอยากรู้ว่ามันจัดวางยังไง แต่เรารู้สึกดีในการได้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันมากกว่า เหมือนการฟังเพลง พอเราได้เจอคนที่ชอบฟังเหมือนๆ กัน รู้สึกว่าคลิกง่าย

“จุดประสงค์ของเพจเราทิ้งท้ายไว้ว่า อย่าไปซีเรียสกับมัน ศิลปะมันอยู่รอบตัวเรา อยู่ที่เรามอง ตอนแรกมันก็มาจากความสนุกนั่นแหละ ความไม่รู้ ความกวนตีน แต่มันมาถึงตรงนี้ได้โดยความไม่ตั้งใจที่อยากให้มันสนุกมากกว่า” จอยย้ำ

ถ้าถามว่าตอนนี้มีเพจไหนที่ทำให้เราอยากไปเดินสำรวจแผงปลามากที่สุด ไม่ใช่เพจทำอาหาร ไม่ใช่เพจปลาสวยงาม ไม่ใช่เพจถ่ายภาพ 

แต่เป็นเพจวันนี้ปลาเรียงยังไง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream