แม่สาวนักการทูต บันทึกความทรงจำและประวัติศาสตร์ครอบครัวนักการทูตผ่านมุมมองของแม่และลูกสาว

ชีวิตที่แตกต่าง อาหารที่หลากหลาย ความคล้ายแต่ไม่เหมือนในวัฒนธรรม เป็นเรื่องน่าทำคอนเทนต์ทุกยุคทุกสมัย

มีเพจจำนวนมากเล่าเรื่องชีวิตของคนไทยในต่างประเทศ รวมถึงเพจที่ชื่อ แม่สาวนักการทูต จุดที่แตกต่างคือ เพจนี้เล่าเรื่องอาชีพนักการทูตที่ต้องย้ายประเทศ ย้ายเพื่อทำหน้าที่ตัวแทนของประเทศ เผชิญความแตกต่างผ่านสิ่งที่พบเห็นและรู้สึกเป็นชีวิตจิตใจ

เบื้องหลังครอบครัวของนักการทูตมีเรื่องน่าสนใจซ่อนอยู่มากมาย เมย์-นิโรธา จันทร์ดี ชวนคุณแม่นักการทูตวัยเกษียณเขียนบันทึกเล่าชีวิตสมัยทำงานในโลกออนไลน์ นำมาลงเป็นบทความใน Medium เพจ และเพิ่งทำเป็น Podcast ได้ไม่นานนัก มีแฟนติดตามอย่างเหนียวแน่น

เรื่องของแม่และเมย์น่าสนใจ เชื่อมโยงหลายประเด็น ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ของไทยและต่างประเทศจากมุมมองนักการทูต วิถีชีวิตคนไทยในต่างแดนยุค 70-90 ความสัมพันธ์ทางไกลอันแสนเปราะบางในยุคก่อนอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องราวในเพจเป็นมากกว่าบันทึกการทำงานธรรมดา แต่มีหัวใจของคนในครอบครัวซ่อนอยู่

เป็นตัวกลางเล่าเรื่องแม่มานาน เราชวนเมย์มาเล่าเรื่องตัวเองบ้าง เล่าแบบการเขียนบันทึกเหมือนที่แม่ / สาวนักการทูต เล่าให้คนรุ่นลูกฟัง

แม้เธอจะไม่ชอบ ไม่อยากให้ชีวิตเธอถูกทำเป็นคอนเทนต์ แต่เราอดไม่ได้จริงๆ เพราะอ่านเรื่องของครอบครัวนี้ทีไร คนทั่วไปอย่างเราๆ สะดุดกับเนื้อหาหลายจังหวะ บางบทเผลอไผลอินจนน้ำตาเอ่อ พานคิดถึงเรื่องราวในบ้านตัวเองอย่างช่วยไม่ได้

1

เราดูเซเลอร์มูนภาษาอิตาลี ดูโดราเอมอนภาษาเยอรมัน ดูดราก้อนบอลภาษาฝรั่งเศส โคตรมัน เพลงไตเติลของดราก้อนบอลที่เป็นภาษาไทยหรือญี่ปุ่นเราร้องไม่ได้นะ แต่ในหัวจะร้องเป็นภาษาอื่นก่อน ยุคนั้นการ์ตูนที่ฉายในช่องโทรทัศน์ต่างประเทศจะถูกพากย์ทับหมด

พอกลับเมืองไทยแรกๆ ลูกนักการทูตหลายคนจะเข้ากับใครไม่ได้เลย คุยกับใครไม่รู้เรื่องเลย เปาบุ้นจิ้นคืออะไร ไซอิ๋วคืออะไร ไม่รู้เรื่อง เพราะเวลาเราไปอยู่ประเทศไหน จะมี pop culture ที่เด็กๆ ดูเพื่อให้คุยกันได้ แต่พอถูกจับย้ายไปอีกประเทศ เขาฮิตคนละเรื่องกัน

เราโตมา 4 ประเทศ พ่อเป็นทหารซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ไทย แม่เราออกไปประจำที่อเมริกา พม่า สวิตเซอร์แลนด์ เม็กซิโก ตุรกี ระหว่างแต่ละประเทศจะคั่นอยู่ที่ไทยอีกประมาณ 1- 4 ปี ฟังเหมือนสนุก แต่มันไม่ใช่การไปเที่ยว ไม่ใช่อารมณ์ว่า ‘ฉันชอบเดินทางค่ะ ไปทำงานกระทรวงการต่างประเทศดีกว่า’ มันคือการโดนจับส่งไปประเทศที่ยูอาจจะไม่ชอบก็ได้ ไม่มีทางเลือก เดินทางกลับประเทศก็ยาก เวลาไปเราจะถูกหล่อหลอมแบบนักการทูตว่าต้องช่วยคนไทยในต่างประเทศ และต้องรักษาความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ด้วย

นิสัยเสียของนักการทูตเรื่องหนึ่งคือชอบช่วยคน แต่เราชอบนะ สมัยยุค 90 หญิงไทยที่อยู่เมืองนอกส่วนมากคือเมียฝรั่ง คนทำธุรกิจ หรือเป็นคนที่ถูกหลอกไปขายบริการ แม่เรามีต้องช่วยคนกลุ่มนี้ มีบางวันที่เราไม่รู้สึกว่าบ้านเป็นบ้าน ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว เพราะบ้านเราจะมีคนไทยที่มีปัญหาในต่างประเทศเข้าออกตลอด อยู่ๆ ตื่นมาเจอผู้หญิงไทยคนนึงกินข้าวอยู่ในบ้าน แม่ไปรับมาจากไหนก็ไม่รู้ เราเป็นเด็กก็ไม่ถามอะไรมาก เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเขาโดนสามีฝรั่งซ้อม กลับไทยไม่ได้ มันเลยทำให้เราไม่ค่อยแคร์ว่าใครจะมาจากไหน

อย่างหนึ่งที่เราได้จากแม่มาคือ แม่พูดกับคนสวนยังไง แม่ก็พูดกับหัวหน้าของแม่อย่างนั้น เท่ากันหมด ให้เกียรติคนทุกคน 

มันมีภาษาอังกฤษคำหนึ่งเรียกว่า Third Culture Kid หมายถึงเด็กที่พ่อแม่มาจากประเทศหนึ่งแต่ตัวเองต้องย้ายไปโตอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แต่ของเราไม่ใช่แค่หนึ่ง เราโตมากับ 4 วัฒนธรรมเลย เราเข้าใจว่าเวลาคนจะโตขึ้นมาควรจะมีวัฒนธรรมหรือภาษาให้ตัวตนยึดเกาะ แต่อย่างเราจะไม่มี อย่าลืมว่าครอบครัวนักการทูตต้องย้ายประเทศทำงานทุก 4 ปี 

ช่วงแรกพ่อแม่ไปอยู่ที่อเมริกาด้วยกัน พี่เราเกิดต่างประเทศ พอมีลูกเขาต้องให้ความสำคัญกับลูก พอกลับจากอเมริกาเขาเรียนโรงเรียนไทยไม่ได้ ก็เลยต้องเข้าโรงเรียนนานาชาติ ค่าเทอมแพง แม่เราก็ต้องไปเมืองนอกอีก พ่อต้องอยู่เมืองไทยกับพี่เพื่อให้พี่ได้อยู่นิ่งๆ เรียนหนังสือ แม่ก็เลยลากเราไปแทน ลูกสาวอยู่กับแม่ ลูกชายอยู่กับพ่อ 

ตลอดเวลาพ่อกับแม่ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ให้ลูกทั้งคู่ แต่สองคนนี้เลี้ยงลูกคนละแบบมาก พอมารวมกันสี่คนจะตลกๆ เราสองคนเหมือนแท็กทีมกันแล้วนินทาพ่อแม่ (หัวเราะ) ด้วยความที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน รักกันดี แต่ทุกคนมีนิสัยที่ต่างกันมาก 

เรื่องของเราไม่ได้พิเศษอะไร ลูกนักการทูตหรือข้าราชการกระทรวงส่วนใหญ่จะเจออย่างนี้ทุกคน 

2

เรารู้สึกว่าพอแม่เกษียณออกมาแล้วเป๋ ไม่นานพ่อก็เสีย เราเลยชวนแม่เขียนบันทึกสมัยทำงานลงใน Medium และ Facebook page ทำเพราะกลัวแม่ไม่มีอะไรทำ อีกอย่างคือเราอยากรู้จักแม่ตัวเองด้วย พอเราอายุ 30 กว่าก็อยากเข้าใจที่มาที่ไปของตัวเอง พอรู้จักที่มาแล้วจะได้เดินต่อหรือต่อยอดได้ ไม่ได้ทำเพื่อเป็นข้ออ้างว่าฉันเป็นคนอย่างนี้เพราะปมฉันเป็นแบบนี้ 

พอเขาส่งบันทึกมาให้เราอ่าน จำไม่ได้ว่าอ่านบทไหนแล้วเราน้ำตาไหล มีหลายเรื่องที่เขาไม่เคยเล่า นิสัยนักการทูตเวลาเข้าสังคมประเทศอื่นบางทีต้องเก็บอารมณ์ เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ยูจะแสดงออกไม่ได้ว่าไม่ชอบคนนี้ๆ ออกนอกหน้า เขาเลยไม่เคยคุยเรื่องอารมณ์ของตัวเองเลย คุยแต่เรื่องงาน แต่ในบันทึกเขาเล่าอารมณ์และความรู้สึกของเขา เราถึงเพิ่งได้เห็นมุมนี้ สนุกดี 

เราเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนถามว่าแม่แกเขียนทางไหน เราบอกว่าใน google drive เพื่อนก็บอกไม่เหมือนแม่เขาเลย แม่เขายังใช้มือถือแบบแอนะล็อก เรามานั่งคิดว่าคงเพราะแม่เราย้ายประเทศบ่อย เขาต้องปรับตัวตลอดเวลา เวลาไปเดินสวนเขาจะคุยกับยามหรือทักคนในสวนตลอด มันเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอเขาแล้วว่าต้องหาวิธีเอาตัวรอดตลอดเวลา คนรุ่นเราเวลาหลงทางก็ใช้เปิดมือถือ ส่วนเขาเดินเข้าไปถามคนเลย มันคือความสวยงามที่ต่างกันของคนแต่ละรุ่น เราได้รู้ว่าความแข็งแกร่งของเขามาจากไหน 

คนที่ตามเพจมีนักศึกษา โดยเฉพาะเด็กในมหาวิทยาลัยบริเวณชายแดนภาคใต้ เด็กจากยะลา ปัตตานี มากด Like เต็มเลย เขาบอกว่าอยากเป็นนักการทูต เด็ก มช. ก็มา คนฟังอีกกลุ่มคือโซนอายุ 30 ขึ้นไปที่โหยหาอดีต หรือรุ่นอายุ 60-70 ที่มาอ่านเพื่อรื้อฟื้นอดีต อันนี้เราสรุปเองนะ 

เราชอบเนื้อหาทุกตอน คนไทยถูกสอนให้มองพ่อแม่ตัวเองแบบต้องให้ความเคารพ ยกขึ้นหิ้ง พอเรามองหรือยกย่องคนที่อยู่สูง แปลว่าเราจะคาดหวังกับเขาเยอะว่าเขาต้อง perfect อย่างนี้ๆ พอเรารู้จักแม่ในฐานะคนธรรมดามากขึ้น ความคาดหวังมันไม่มี กลายเป็นเข้าใจเขามากขึ้นว่าทำไมเขาเป็นอย่างนี้ มันคือการให้อภัย แล้วมันให้อภัยตัวเองด้วย เขาไม่ได้ตั้งใจหรอกที่จะลากเราไปหลายๆ ประเทศ แต่นี่คืองานเขา เขาก็พยายามจะใช้ชีวิตของตัวเองให้ดีที่สุด ในตอนที่สถานการณ์ของเขาและโลกเป็นแบบนั้น 

เราทำ podcast เพราะพออ่านสิ่งที่แม่เล่า เราก็อยากเล่ามุมตัวเองด้วย คู่ขนานกันไป ฟังเรื่องของแม่แล้วเราได้อะไรบ้าง ไม่ได้คิดว่าความคิดเราดีกว่าคนอื่นแล้วคุณต้องฟังสิ่งที่เราพูดนะ แต่ในการวิเคราะห์เรื่องที่เห็นจากมุมมองของตัวเองแบบบุคคลที่สาม ด้วยความที่เรียนด้านสื่อมา เรารู้ว่าเวลานักข่าวพาดหัวข่าวอะไร เขามองหา react แบบไหนอยู่ มันคือการชักจูงความคิด เขาเรียกว่า media literacy เด็กไทยไม่ได้ถูกฝึกให้เห็นตรงนี้มาก เราคิดว่าควรจะมีเรื่องแบบนี้บ้าง

3

มีบันทึกตอนนึง เขาเขียนเล่าช่วงที่เขาอายุเท่าเราในปีนี้ ช่วงนั้นเขาไปอยู่พม่า แล้วเกิดสงครามกลางเมือง ไทยยังไม่เรียกเจ้าหน้าที่กลับประเทศ ยูไม่ใช่นักท่องเที่ยว ไม่สามารถซื้อตั๋วแล้วออกไปได้เลย เวลาขับรถไปทำงาน เขาเห็นคนประท้วงตีกัน มีเสียงปืน แต่ยังต้องไปทำงานเพราะไทยยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่นั่นอยู่ แปลว่าเราเป็นมิตร คุยกันได้ มันเป็นทั้งการค้า ความสัมพันธ์ เศรษฐกิจ การเมือง อีกหลายอย่างเลย มันเป็นเหมือนเกมหมากรุกที่เล่นแบบวางแผนระยะยาว 

สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับอาชีพนักการทูตคือ การไปเป็นนักสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ยูโดนโยนใส่ในวัฒนธรรมอื่น ทำอย่างไรให้ไปอยู่ในวัฒนธรรมนั้นได้อย่างให้เกียรติกัน อย่างคำว่า culture appropriation ที่มีกระแสคนผิวสีหรือคนท้องถิ่นออกมาบอกว่า เธอจะแต่งชุดประจำชาติของฉันไม่ได้เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของฉัน แต่ถ้ายูให้เกียรติวัฒนธรรมเขา มันจะมีจุดยืนนึงที่เราแต่งชุดประจำชาติเขาได้อย่างให้เกียรติ ไม่ก้าวข้ามประเพณี นั่นแหละคือศิลปะของการเป็นนักการทูต ยูเข้าไปซึมซับวัฒนธรรมโดยไม่สร้างความขุ่นเคืองใจให้ใคร 

ด้วยความที่เด็กสมัยนี้ได้รับวัฒนธรรมทั่วโลกภายในไม่กี่วินาที เรารู้สึกว่าเขายังดึงตัวเองออกมาเห็นภาพกว้างไม่ได้มากพอว่ากำลังถูกความคิดแบบไหนผลักดันอยู่ กำลังถูกวัฒนธรรมไหนครอบงำความคิดเขาอยู่ 

เราสนใจการเมืองต่างประเทศมากกว่าไทย ไม่ใช่เพราะอี๋การเมืองไทยนะ ตอนเด็กๆ เวลาอยู่ต่างประเทศ Third Culture Kid แบบลูกนักการทูตส่วนมากจะถูกส่งไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ แปลว่าเขาจะถูกครอบด้วยเนื้อหาที่เป็นตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของอเมริกาหรือไม่ก็อังกฤษ ทุกประเทศในยุโรปจะมี American school และ British school ตอนเราเรียนช่วงแรกจะรู้สึกว่า เฮ้ย เมืองนอกดีหมดเลย เจ๋ง เด็กวัยรุ่นทุกคนจะมีช่วง rebel คิดว่าบ้านเมืองของคนอื่นเจ๋งกว่าเราเยอะเลย แต่พอโตขึ้นมา ได้เห็นโลกแบบ zoom out จะเริ่มเห็นว่าบางประเทศเขากำลัง influence ประเทศอื่นด้วยแนวคิด อย่างตอนนี้เรามาเปิดดูคอนเทนต์ตามสื่อที่อยู่ในเมืองไทย โคตรตะวันตก มีความเป็น Ideology (อุดมการณ์) ของอเมริกันหรืออังกฤษมากๆ พอเราไปอยู่มาก็รู้สึกว่าส่วนแย่ของเขาก็มี มันแค่ไม่มาถึงเรา 

เราจะหงุดหงิดเด็กสมัยนี้ที่พูดภาษาไทยสำเนียงอังกฤษ หรือพูดภาษาอังกฤษกับพ่อแม่ เราไม่ได้ถูกเลี้ยงมาแบบชาตินิยมนะ แต่เวลาไปต่างแดน รู้มั้ยว่าบางประเทศเขาโหยหาวัฒนธรรมของตัวเองแค่ไหน โหยหาสิ่งที่ทำให้เขามีตัวตนและที่มาที่ไป เหมือนอเมริกาที่มีประวัติศาสตร์อายุแค่ 200 ปี ถ้าไปคุยกับคนอเมริกัน บางคนจะพูดว่า ฉันเป็นอเมริกันแต่มีรากมาจากสเปน (hispanic heritage) หรือฉันเป็นอเมริกันแต่บรรพบุรุษมาจากสกอตแลนด์ คือเขาจะภูมิใจว่าฉันมีรากเหง้าจากที่อื่น ไม่ใช่อเมริกา 

สำหรับเรา ช่วงเป็นวัยรุ่นคือช่วงที่คิดว่าพ่อแม่เราหัวโบราณจัง แต่ตอนนี้เราอยากรู้เรื่องเขา ถ้าคุณไม่ศึกษา ไม่ไปเก็บรักษาเรื่องราวของตัวเองว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เวลายูเดินหน้า เจอปัญหาที่ต้องทบทวนตัวเอง จะไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกตกผลึกได้เลย 

4

เราชอบเรื่องราวของคนธรรมดา สมัยก่อนแม่ชอบพาเราเที่ยว ตอนนั้นนั่งรถไฟไปเม็กซิโกหรือตุรกี นั่งข้างคนแก่คนหนึ่ง ก็คุยภาษาอังกฤษกัน เขาบอกว่าวัฒนธรรมของเขาเมื่ออายุ 60 ปีต้องเดินทางกลับไปหมู่บ้านที่ตัวเองเกิด เพื่อไปดูว่าหมู่บ้านที่เขาโตมาตอนเด็กตอนนี้เป็นอย่างไร มันคือการให้เกียรติที่ที่เราโตมา 

คนธรรมดาน่าสนใจ เขาแค่ไม่ได้เล่าเรื่องของตัวเอง แม่เราก็คนธรรมดา ไม่ได้เล่า ไม่คิดจะเล่าด้วย ในขณะที่เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเป็นคอนเทนต์ ทุกคนพยายามยัดเยียดความเป็นตัวเองใส่คนอื่น เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น 

มีหนังสือไทยหลายเล่มที่ชวนค้นหาตัวตนของคุณ เรารู้สึกว่านี่คือแนวคิดอเมริกัน เป็นเรื่องการตลาดมากเลย รุ่นพ่อเราไม่มานั่งค้นหาหรอกว่าฉันเป็นคนยังไง เขาก็ใช้ชีวิตของเขา ไม่ได้ปล่อยให้คำจำกัดความไหนมาครอบ หากเราค้นพบตัวเองว่าเป็นใครก็ดี แต่อย่าไปขังตัวเองไว้ตรงนั้น 

แม่เราเป็นสาวนักการทูต เราเป็นลูกสาว แต่ไม่ได้แปลว่าลูกสาวต้องเป็นเหมือนแม่ บางคนเอาตัวเองไปใส่กรอบตัวตนบางอย่าง มันดีกับชีวิตเราจริงๆ เหรอ ยิ่งทำให้เรามองอะไรแคบลงหรือเปล่า 

ยิ่งฟังเรื่องคนอื่น มุมมองของเราก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา เราเพิ่งไปเรียนซัมเมอร์เกี่ยวกับ Female Genealogy (การศึกษาเกี่ยวกับครอบครัว) สตรี เควียร์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ไปฟังเรื่องของคนที่เป็น unwanted child ลูกที่พ่อแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้นมา ฟังเรื่องพวกนี้เลยทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้นในมุมของแม่ลูก ที่ทำพอดแคสต์เพราะอยากฟังเรื่องคนอื่นด้วย 

เราเคยไปช่วยงานเทศกาลศิลปะ Low Fat Art Festival ต้องลงชุมชนแถวสวนสมเด็จย่า ช่วงแรกคนย่านนั้นไม่เปิดรับจนกระทั่งเขาคุ้นกับเรา เราคิดว่ามันคือทักษะทางการทูต ค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์อย่างหนึ่ง เห็นหน้าฉันบ่อยๆ มานั่งกินข้าวที่ร้าน วันหนึ่งเขาถึงค่อยๆ เผยชีวิตเขาให้ฟัง เรารู้สึกว่ามันมีค่ามากจนไม่สามารถเล่าให้คนอื่นฟังได้ การที่เราได้ฟังเพราะเขาเชื่อใจเรามาก เขาถึงฝากเรื่องนี้ไว้กับเรา นั่นล่ะคือความพิเศษ นั่นคือความสัมพันธ์

สมัยก่อนเพราะย้ายประเทศบ่อย เราชอบคิดว่าทุกความสัมพันธ์จะจบในเวลาไม่นาน กลายเป็น commitment phobia เช่น ตอนเราไปพม่า สนิทกับเพื่อนคนนึง แต่สักพักก็ต้องกลับประเทศ สนิทแค่ไหนก็ต้องกลับ คนอื่นยังมีเพื่อนสมัยประถม มัธยมคนเดียวกัน ของเราจะไม่มี พอรู้เลยว่าช่วงปีที่ 3 เข้าใกล้ 4 ปีจะต้องถูกดึงออกกลับไปเปลี่ยนประเทศ หลังๆ จะเริ่มชินชา ทำให้เรารู้ว่าฉันสร้างบ้านในตัวฉันเองดีกว่า บ้านไม่ใช่ประเทศ มันเป็นเหมือนการหาพื้นที่ในใจ เป็นบ้านให้ตัวเอง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ