overall days ร้านของวินเทจพลังหญิงย่านพระนคร ที่มี ‘มิตรภาพ’ เป็นของแถมหากได้มาเยือน

Highlights

  • overall days คือร้านของวินเทจในฝันของพลอย หิรัญสถิตย์พร หญิงสาวที่หลงรักในของวินเทจ และตั้งใจเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อคัดสรรสิ่งของ ทั้งเสื้อผ้า ของตกแต่งในยุคปี 1800s ปลายๆ ไปจนถึงปี 1970s ด้วยตัวเองก่อนเปิดร้านในประเทศไทย
  • ร้านขายของที่รับประกันใน 'มิตรภาพ' หากได้มาเยือนจะเป็นอย่างไร ตามไปดู

หลายครั้งเหลือเกิน ที่สีเขียวของร้านขายของวินเทจย่านเมืองเก่าอย่าง overall days ดึงดูดสายตาฉันเอาไว้ แม้จะเป็นวันที่คนขึ้นรถเมล์จนแน่นขนัด หรือจะเป็นวันที่สติยังหลุดลอยไปไกล จนห่างไกลคำว่าพร้อมเริ่มต้นวันใหม่ แต่ทุกครั้งที่รถเมล์สาย 79 ขับผ่านถนนหลานหลวง ก็เหมือนจะมีมนตร์สะกดบางอย่างดึงดูดให้ฉันต้องหันกลับไปมองทุกที

บ่ายแก่ในวันหยุดที่ท้องฟ้ายังครึ้มไปด้วยฝุ่น ฉันก้าวลงจากรถเมล์สายเก่าที่คุ้นเคยในจุดหมายปลายทางที่ต่างไปจากเดิม 

วันนี้ล่ะ ได้เวลาออกค้นหาสิ่งที่อยู่ภายในร้านสีเขียวที่ฉันได้แต่นั่งรถผ่านทุกวันเสียที

ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าร้าน เจ้าของร้านร่างเล็กอย่างพลอย หิรัญสถิตย์พร ก็หันมายิ้มสดใส ผายมือต้อนรับและเชื้อเชิญให้เดินดูรอบๆ ร้านด้วยท่าทีเป็นกันเอง ก่อนหันไปสนทนากับลูกค้าที่ติดพันอยู่ก่อนหน้า

ทั้งร้านเต็มไปด้วยข้าวของที่จัดวางอย่างตั้งใจ แม้จะเยอะ แต่ไม่เกะกะ สินค้าแต่ละอย่างถูกวางเรียงกันเป็นหมวดหมู่ เริ่มจากเสื้อเชิ้ต เสื้อยืด กระเป๋า ข้าวของกระจุกกระจิกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ทิ้งร่องรอยความเก่าแก่เอาไว้ 

กวาดมือไปทีละชิ้น ไล่สายตาไปทีละราว รู้ตัวอีกทีก็ดูจนครบและพบว่ามันก็เพลินดีไม่หยอก

“ของในร้านเราจะมีตั้งแต่ antique สมัยปี 1800 ปลายๆ ไปจนถึงวินเทจปี 1970s ซึ่งเราเลือกเองกับมือทุกชิ้น อันไหนที่เห็นแล้วชอบ คิดว่าดี น่าสะสม ก็จะหามาไว้ คนที่มาร้านเขาก็มาเพราะเชื่อในสิ่งที่เราเลือกด้วยส่วนหนึ่ง อีกอย่างคือร้านเราเน้นขายเสื้อผ้าผู้หญิงมากกว่าด้วย เพราะร้านวินเทจในเมืองไทยส่วนใหญ่มักมีแต่เสื้อผ้าผู้ชาย เราเลยอยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่สำหรับพวกเขา เป็นพื้นที่ของผู้หญิงที่รักในของวินเทจ” พลอยเดินเข้ามาแนะนำสิ่งของต่างๆ ด้วยท่าทีสบายๆ ก่อนที่การแนะนำนั้นจะพัฒนาเป็นบทสนทนาขนาดย่อมที่เราคุยกันอย่างออกรส

“เมื่อก่อนเราไปเดินตลาดนัดจตุจักรทุกอาทิตย์ เดินเข้าร้านเสื้อผ้าวินเทจทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร รู้แค่ว่าเราชอบเสื้อผ้าพวกนี้ ใส่แต่อย่างนี้ ซื้อแต่อย่างนี้ อุดหนุนบ่อยจนเริ่มสนิทกับเจ้าของร้าน เริ่มคุย เริ่มถามว่าเสื้อผ้าพวกนี้คืออะไร ตัดเย็บในปีไหน ค่อยๆ เริ่มศึกษาและซึมซับ จนตอนนี้กลายเป็นถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว

“สเน่ห์ของของวินเทจคือของบางชิ้นไม่มีอีกแล้ว มันเป็นของในยุคนั้น บางชิ้นเป็นแฮนด์เมด ใส่แล้วไม่เหมือนใคร ดีเทลต่างๆ อย่างกระดุม ผ้า สกรีน ของใหม่ก็ไม่มีทางทำเหมือน การซื้อของวินเทจสำหรับเราเลยเป็นเหมือนการซื้อประวัติศาสตร์” คอลเลกเตอร์สาวที่ผันตัวมาเป็นแม่ค้าด้วยบอกกับเรา พลางหยิบชุดต่างๆ ในร้านมายกตัวอย่างให้เราเห็นภาพ

“เดรสฟ้าตัวนี้ เป็นผ้า Blue Calico อายุของมันน่าจะประมาณปี 18xx หรือต้น 19xx เพราะในยุคนั้นผู้หญิงที่ใส่จะเป็นคนทำงานฟาร์ม ใส่เดรสแบบนี้แล้วมี sun hat คลุมหัว การเย็บรังดุมก็เป็นแฮนด์เมด กระดุมเรียกว่า mother of pearl งานดีเทลของผ้าก็ดูรู้เลยว่ามาจากยุคนั้น เพราะผ้านุ่มแบบที่ผ้าสมัยนี้ไม่มีทางเป็นแบบนี้แน่นอน

“หรืออย่างชุดยุคเหมืองปี 1930 ตัวนี้ คนอื่นอาจมองเป็นผ้าขี้ริ้ว แต่เราคิดว่ามันเท่มากเลย มันเป็นเสื้อที่เขาทำงานกันจริงๆ แล้วยังตกมาถึงทุกวันนี้ เสื้อมันมีคาแร็กเตอร์ที่ต่อให้เราเอาเสื้อมาทำเลียนแบบอีกเป็นสิบตัว มันก็ไม่มีทางเป็นแบบนี้ได้ มันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมา”

พลอยถ่ายทอดความรู้ให้ฉันอีกหลากหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือวินเทจกับมือสอง แตกต่างกัน

เธอบอกว่าวินเทจคือสิ่งที่คนทั่วโลกตีค่า ตีราคากำหนดมูลค่าเอาไว้ เมื่อคนทั่วโลกซื้อ-ขายกันในราคานี้ เธอจึงต้องปฏิบัติตาม เน้นขายให้กับคนที่เข้าใจมันมากกว่าจะเป็นขาจร

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ราคาของบางชิ้นในร้านจะมีราคาแพงเหยียบหมื่น

บทสนทนาของเรายังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนฉันได้รู้ว่าพลอยเข้าสู่วงการวินเทจตั้งแต่ ม.ต้น และความฝันหนึ่งในชีวิตเธอคือการเปิดร้านเสื้อผ้าวินเทจเป็นของตัวเอง

เพื่อให้ความฝันนั้นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกา โดยมีเป้าหมายคือการตระเวนหาของแล้วกลับมาเปิดร้านที่ไทย

“ตอนไปอเมริกามันสนุกมาก นอกจากเรียนเราก็จะไปตระเวนดูว่าแถวบ้านมี flea market อะไรบ้าง ตื่นเช้าไปนั่งรอ วิ่งไปคุ้ย ไปแย่งของกับคนญี่ปุ่น ขับรถโรดทริปไปตามเมืองเก่าๆ หรือเมืองร้างที่เขายังมี antique store อยู่ เหมือนเอาเงินไปท่องเที่ยวเก็บประสบการณ์ พร้อมกับหาของ หาดีลเลอร์ ของตกแต่ง หุ่นพวกนี้เราก็ซื้อเก็บมาตั้งแต่ตอนนั้น เพราะเรามีแพลนอยู่แล้วว่าจะเปิดร้าน มันเป็นความฝันที่เราคิดมานานมากแล้ว

“แต่ตอนแรกก็คิดนะว่าเปิดที่เมืองไทยแล้วเราจะขายได้ไหม” พลอยหัวเราะเสียงใส เล่าให้ฟังถึงความกังวล “ที่อเมริกาวินเทจมันยังฮิตก็จริง แต่เมืองไทยมันไม่ค่อยมีคนใส่แล้ว เราก็กังวลแหละ แต่สุดท้ายพอเปิดร้านขึ้นมาจริงๆ ก็รู้ว่ายังขายได้ เพราะมันมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ชอบและอุดหนุนอยู่ ยังมีคนที่เราไม่รู้จักอีกเยอะแยะเลยที่เขาก็ชอบวินเทจเหมือนๆ กันกับเรา” 

ร้านนี้จึงเป็นเสมือนคอมมิวนิตี้คนรักวินเทจขนาดย่อม ที่เจ้าของร้านอย่างพลอยยินดีทุกครั้งเมื่อมีคนแวะเวียนมาหา มาพูดคุยแบ่งปันความชอบของกันและกัน

“เราไม่ได้หวังว่าลูกค้ามาแล้วเขาจะต้องซื้ออะไรกลับไป ถ้าไม่ซื้อเราโกรธ ไม่ใช่แบบนั้น แค่เขาตั้งใจมาร้านเรา เห็นของแล้วชอบ แค่นั้นเราก็มีความสุขแล้ว 

“ตอนเปิดร้านคิดแค่ว่าถ้าเราได้ทำงานที่เรารักมันคงจะดีมากๆ เลย เพราะสิ่งเดียวที่เราชอบก็คือของวินเทจ เราชอบหาของ ชอบขุด พอหาเจอแล้วมันมีความสุข ยิ่งถ้าเราได้ขายให้กับคนที่มีความชอบเหมือนๆ กัน มันก็ทำให้ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก ทุกวันนี้มาทำงานเหมือนไม่ได้ทำงาน แต่เหมือนมาเจอเพื่อนใหม่ มาแลกเปลี่ยนเรื่องคุยกับคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันมากกว่า เราได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นหลายคนมากจากการทำร้านนี้”

 
“ของทุกชิ้นที่เราเอามาเราเห็นคุณค่าของมันหมด แม้กระทั่งของที่ขาย บางคนอาจวางเกะกะ วางกับพื้น แต่เราไม่วางนะ แม้กระทั่งว่าเป็นของขายเราก็ยังรัก เราทำร้านนี้ด้วยความรักจริงๆ ไม่ใช่แค่ธุรกิจ

“อย่างตัวนี้จะมีลูกค้ามาเอาพรุ่งนี้ โคตรเสียดายเลย เพราะรู้อยู่แล้วว่าเราไม่สามารถหาอย่างนี้ได้อีกแล้ว อยากจะเอามากอดอีกสักวันสองวันแล้วค่อยขาย” พลอยหัวเราะ พลางจับชุดในหุ่นให้เข้าที่ 

“ถึงจะเสียดาย แต่เราก็เลือกจะทำเป็นอาชีพแล้ว ก็ต้องยอมปล่อย ร้านเราเพิ่งเริ่มต้นเอง ฝันจะให้มันเติบโตขึ้นเป็นร้านเล็กๆ ที่อบอุ่นอย่างนี้เรื่อยไป อยากที่จะหาของดีๆ มาขายให้ลูกค้าของเราเหมือนเดิม พยายามที่จะคงความเป็นเอกลักษณ์ของร้าน เลือกของทุกชิ้นด้วยมือของเรา และเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

“โลกของวินเทจมันกว้างมาก ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้รู้ทุกอย่าง ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้อยู่เหมือนกัน

“ดูจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตแหละ แต่บางทีถ้าเราชอบอะไรสักอย่างแล้ว เราจะมีความสุขที่ได้เรียนรู้มัน” 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย