Akirart เปลี่ยนออฟฟิศโฆษณาเก่าเป็นคาเฟ่วินเทจที่มีเรื่องเล่าจากคนรุ่นพ่อเป็นฉากหลัง

Akirart เปลี่ยนออฟฟิศโฆษณาเก่าเป็นคาเฟ่วินเทจที่มีเรื่องเล่าจากคนรุ่นพ่อเป็นฉากหลัง

Highlights

  • เยือนคาเฟ่คอนเซปต์ย้อนยุคที่ฮอตที่สุดในชั่วโมงนี้อย่าง Akirart Cafe Studio ของสองหนุ่มเพื่อนซี้ เคนโด้–นาเคนทร์ พุฒิกุลางกูร และ นิว–อาทินันท์ เดชแพ ที่เปลี่ยนพื้นที่ออฟฟิศโปรดักชั่นเฮาส์โฆษณาเก่าให้กลายเป็นคาเฟ่สุดเท่
  • เด็กหนุ่มทั้งสองคนไม่ได้มองว่า Akirart เป็นเพียงคาเฟ่หรือสตูดิโอวินเทจเท่ๆ เพื่อให้คนเดินเข้ามาถ่ายรูปสวยๆ ลงโซเชียล แต่มองมันเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีเรื่องเล่าการทำงานของคนรุ่นพ่ออยู่เบื้องหลัง แถมที่นี่เต็มไปด้วยร่องรอยของยุครุ่งเรืองของงานโฆษณาด้วย คนที่ชอบงานโฆษณาวินเทจจะต้องชอบที่นี่มากแน่ๆ

กระแสโซเชียลมีเดียพาเรามายืนอยู่หน้าตึกแถวอายุหลายสิบปีในซอยอนุสรณ์ 1 เราเดินผ่านประตูเหล็กยืดบานเก่า เดินขึ้นบันไดไปจนถึงชั้นสาม เดินหลบเครื่องสแกนฟิล์มเครื่องใหญ่ รอบๆ บริเวณนี้เต็มไปด้วยจอคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าที่ผิวของมันกลายเป็นสีเหลืองเข้ม และของใช้สำนักงานที่หาดูไม่ได้แล้วในออฟฟิศสมัยนี้

นี่คือร้านกาแฟที่ไปสุดกับคอนเซปต์ออฟฟิศยุค 80s ประโยคนี้แวบเข้ามาในหัวเราทันทีที่ทิ้งตัวหน้าบาร์กาแฟที่ทำจากตู้เหล็กเก็บเอกสาร

Akirart Cafe Studio คือคาเฟ่ของสองหนุ่มเพื่อนซี้ เคนโด้–นาเคนทร์ พุฒิกุลางกูร และ นิว–อาทินันท์ เดชแพ บัณฑิตจากรั้วคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่วนตัวเรารู้จักเคนโด้และนิวผ่านเวิร์กช็อปสอนทำกาแฟ ตอนนี้พวกเขามีหน้าร้านของตัวเองสมกับความตั้งใจแล้วเลยถือโอกาสแวะเวียนมาทักทายสองหนุ่มเสียเลย

“ที่นี่เคยมีอะไร เคยเป็นอย่างไร ทุกวันนี้มันก็ยังคงเป็นอย่างนั้น” เคนโด้ไม่ได้หมายถึงสภาพตึกหรือข้าวของเครื่องใช้เก่าเก็บทุกชิ้นจากบริษัทของคนรุ่นพ่อ เขาพูดรวมถึงความทรงจำเก่าที่มีต่อตึกออฟฟิศเก่าแห่งนี้ด้วย

“เมื่อก่อนตอนที่พ่อเริ่มทำบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์แห่งนี้ เขาอยากตั้งชื่อบริษัทว่า Akirart Studio ที่เป็นการรวมคำว่า aki ภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าแสงอาทิตย์รวมกับคำว่า art ปรากฏว่าชื่อนี้เรียกยากไปสำหรับคนยุคนั้นก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น Kamarart Studio มาจากคำว่า camera กับ art เพื่อให้เรียกและจำง่ายขึ้น พอทำคาเฟ่เลยอยากเอาชื่อเก่าที่พ่อตั้งกลับมาใช้ด้วย” เคนโด้ เด็กหนุ่มที่โตมากับบริษัทของคุณพ่อ เฉลยที่มาของชื่อร้านให้เราฟัง

20 ปีก่อน คามาราร์ตสตูดิโอ คือบริษัททำโฆษณารายแรกๆ ที่นำเข้าฟิล์มและอุปกรณ์สำหรับทำโปรดักชั่นส่งตรงจากญี่ปุ่น บรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยงานสร้างสรรค์และงานศิลปะหลากแขนงหล่อหลอมตัวตนและความชื่นชอบส่วนตัวของเขามาจนถึงทุกวันนี้

ผลงานเก่าๆ ฝีมือคุณพ่อของเคนโด้ (เช่น พรินต์แอดของแบรนด์ Nescafe, Honda, Pizza Hut, การบินไทย, ปตท. และแบรนด์ดังอื่นๆ) ถูกจัดวางเรียงรายอยู่ตามผนัง ริมทางเดิน หรือซอกมุมต่างๆ คือหลักฐานชั้นเยี่ยมที่บอกเราว่า Kamarart คือเฮาส์โฆษณาที่จัดว่ารุ่งเรืองมากๆ ในสมัยนู้น

ใครชอบงานโฆษณาวินเทจน่าจะตกหลุมรักที่นี่ได้ไม่ยากเลย

“อีกมุมหนึ่งที่ผมกับเพื่อนๆ ชอบมากๆ คือตรงนั้น” เคนโด้ชี้ไปทางชั้นหนังสือที่อยู่ในห้องทำงานอีกห้องหนึ่งที่อยู่ใกล้กัน “บนชั้นหนังสือมีหนังสือรวมโฆษณาและรูปภาพเจ๋งๆ ของญี่ปุ่นด้วยครับ เวลาที่ใครอยากหาเรฟเฟอร์เรนซ์เอาไปทำงานก็มาเปิดดูได้” หนังสือทั้งหมดนั่นเป็นหนังสือเก่าเก็บของคุณพ่อของเคนโด้ เมื่อครั้งที่ได้ไปเรียนและทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

ในวันที่คุณพ่อของเคนโด้ล้มป่วยจนต้องถอยออกจากงานโปรดักชั่น คุณแม่ของเคนโด้ก็เข้ามารับหน้าที่ดูแลบริษัทคามาราร์ตต่อ การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ บริษัทคู่แข่งเพิ่มจำนวนขึ้นสวนทางกับจำนวนของลูกค้าทำให้คามาราร์ตรับงานได้น้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงเวลาพลิกผันของบริษัทเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เคนโด้เข้ามหาวิทยาลัย และเป็นช่วงที่เขาได้ทำความรู้จักเพื่อนซี้คนใหม่อย่างนิว

“ช่วงทำโปรเจกต์และธีสิส พวกเราใช้ประโยชน์จากตึกนี้บ่อยมาก จะถ่ายภาพ ทำหนัง หรือจับกลุ่มแฮงเอาต์กับเพื่อนเราก็มาที่นี่ ผมกับเพื่อนเลยค่อนข้างผูกพันกับสถานที่ตรงนี้มาก เวลาผ่านไปไม่นานหุ้นส่วนบริษัทของพ่อเขาต้องการย้ายออกจากตึก ผมไม่อยากเสียพื้นที่ที่เรามีความทรงจำตรงนี้ไป เลยขอใช้ตึกและของในตึกนี้ต่อจากพ่อ ชวนนิวมาทำโปรเจกต์บนตึกนี้ด้วยกัน”

เด็กหนุ่มทั้งสองคนไม่ได้มองว่า Akirart เป็นเพียงคาเฟ่หรือสตูดิโอวินเทจเท่ๆ เพื่อให้คนเดินเข้ามาถ่ายรูป แต่มองมันเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีเรื่องเล่าการทำงานของคนรุ่นพ่ออยู่เบื้องหลัง

“เราอยากให้สถานที่กับของเก่าๆ พวกนี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวในอดีตของพื้นที่ตรงนี้ ตั้งแต่ชั้นแรกคุณจะเห็นป้ายหน้าตึกที่เป็นชื่อบริษัทเก่าของพ่อ ชั้นที่สองจะเป็นห้องถ่ายแพ็กชอตที่พ่อเคยใช้ เราดัดแปลงมันให้เป็นสตูดิโอที่สว่างขึ้นเพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาเช่าใช้ทำงานได้ พอเดินขึ้นมาอีกชั้นก็เป็นโซนของร้านกาแฟที่ของตกแต่งทุกอย่างล้วนเป็นของที่เคยถูกใช้งานจริงๆ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ เครื่องพรินต์ แผ่นดิสก์ที่เราเอามาเป็นที่วางแก้ว หรือห้องทำงานย่อยๆ ที่กั้นด้วยบานกระจกที่พ่อเคยนั่ง”

“อย่างห้องที่เป็นร้านกาแฟก็เป็นห้องล้างฟิล์มมาก่อน อ่างล้างแก้วด้านหลังก็เคยเป็นอ่างที่ใช้ล้างฟิล์มมาก่อน หรือกระดานเมนูนี้เมื่อก่อนเขาก็เคยใช้ลิสต์งานต่างๆ ที่เขาทำบนนี้ เราตั้งใจทำร้านกาแฟที่ทำให้คนได้มาชื่นชมสถานที่ตรงนี้ด้วย นี่คือเหตุผลที่เราเลือกทำร้านกาแฟบนชั้นสามของตึก” นิวช่วยเสริม

ความตั้งใจอีกอย่างของพวกเขาคือเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้เป็นที่นั่งจิบกาแฟคุยงานของเพื่อนๆ ที่ทำงานในสายภาพยนตร์ด้วย

“สมัยที่พวกเราเรียนหรือว่าทำงานแล้วก็ตาม เรานัดคุยงานกันที่ร้านกาแฟตลอดเลย กาแฟเลยเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรา พอเริ่มชอบและศึกษาลงลึกกับมันมากขึ้นก็ได้รู้ว่าโลกของกาแฟมันกว้างมากๆ มีเรื่องน่ารู้ที่เราไม่รู้อีกเยอะมากเลย

“Akirart เลยเป็นสถานที่ที่เอาความชอบและการใช้ชีวิตของพวกเรารวมกันไว้อย่างพอดี เอาจริงๆ ตอนนี้ผมชอบทำกาแฟมากกว่าทำหนังอีกครับ” เคนโด้หัวเราะ

ที่ร้านใช้เมล็ด 2 แบบด้วยกันคือแบบคั่วกลางที่ให้รสโทนถั่ว เบลนด์ระหว่างเมล็ดบราซิลและรัฐฉาน และคั่วอ่อนที่ให้รสเปรี้ยวโทนผลไม้ที่เบลนด์ระหว่างกัวเตมาลาและรัฐฉานเช่นกัน ใครชอบรสชาติโทนไหนก็สามารถเลือกกับหนุ่มๆ บาริสต้าที่ร้านได้เลย

เมื่อไถ่ถามสองหนุ่มถึงเมนูซิกเนเจอร์ของที่ร้าน พวกเขาแนะนำอเมริกาโนร้อนที่เสิร์ฟด้วยแก้วทรงแปลกเป็นอันดับแรก

“ในภาษาคอมพิวเตอร์มีสัญลักษณ์หรืออักษรที่ใช้แทนลักษณะของข้อความ เช่น Bold ที่แทนตัวหนา ผมรู้สึกว่ามันน่าจะแทนคาแรกเตอร์เครื่องดื่มที่เข้มข้น กับอีกแบบคือ Italic หรือตัวเอียง อันนี้เอาไว้แทนเครื่องดื่มที่มีบอดี้เบาๆ บางๆ และให้ความสดชื่น เวลาเสิร์ฟอเมริกาโน่เราเลยเสิร์ฟในแก้วทรงเอียงๆ แบบนี้ ตั้งใจทำให้เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน” เคนโด้เล่า

แก้วที่สองที่สองหนุ่มแนะนำคือ Passion Fruit Espresso เครื่องดื่มรสเปรี้ยวอมหวานแก้วอร่อยที่เกิดจากความบังเอิญ

“เรื่องมีอยู่ว่าพ่อแม่ของผมย้ายไปอยู่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แล้วเขาก็ส่งน้ำเสาวรสจากอำเภอภูเรือมาให้ชิม ตอนนั้นผมพยายามคิดเมนูเครื่องดื่มในร้านก็เลยลองเอาน้ำเสาวรสมาผสมกาแฟกินเล่นๆ ผลที่ได้คือมันอร่อยมาก เอาให้เพื่อนๆ ชิม เพื่อนๆ ก็ชอบกัน ทุกวันนี้กลายเป็นว่าพ่อกับแม่ต้องส่งน้ำเสาวรสมาจากภูเรือมาให้ผมขายที่ร้านแทน” เคนโด้หัวเราะ

อีกหนึ่งเมนูที่พลาดไม่ได้คือ Afogato x ไอติมหม้อไฟยศเส

“อันนี้เป็นเหมือนเมนูที่อยากเอาของดีในย่านนี้มากินคู่กับกาแฟของเราครับ ตอนแรกพวกเราไม่มั่นใจเลยว่าร้านไอติมหม้อไฟยศเสเขาจะยอมขายไอศครีมให้เรา (หัวเราะ) แต่พอเข้าไปคุยจริงๆ ที่ร้านใจดียอมขายให้ คงเป็นเพราะเห็นว่าพวกเราเป็นลูกหลานที่เกิดและเติบโตจากย่านนี้จริงๆ” เคนโด้เล่าพลางจัดแจงไอศครีมรสนมจากร้านดังลงในถ้วย

ไม่นานจากนั้นไอศครีมรสเข้มข้นที่มาพร้อมกับเอสเพรสโซชอตก็ถูกยกมาเสิร์ฟตรงหน้า ระหว่างที่เรากำลังละเมียดเมนูของหวานปิดท้ายนี้ สองหนุ่มขอตัวไปดูแลกลุ่มลูกค้าที่ตั้งใจมาเยือนร้านของพวกเขาต่ออย่างขยันขันแข็ง

แม้จะต้องชงกาแฟมือเป็นระวิง ยืนต้อนรับผู้มาเยือนที่หลั่งไหลมาที่นี่ทั้งวัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของสองหนุ่มกลับไม่มีความเหนื่อยเจือให้เราเห็นเลยสักนิด

Akirart Cafe Studio

ปัจจุบันชาว Akirart Cafe Studio ย้ายออฟฟิศไปอยู่ที่
address: 138 ซอยประดู่ ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
hours: 10:00-19:00 น. (ปิดวันพฤหัส)
tel. 064 810 8622
facebook: Akirart

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com