จิบกาแฟ ฟังแผ่นเสียง ละเลียดขนม เยี่ยมบ้าน ‘นักเลงบาร์’ เยือนรังหมาป่าเมืองนนท์

Highlights

  • หลังจากร้าน Sentimental ปิดตัวลง เอ๊ะ–ชนุดม พึ่งน้อย ได้กลับบ้านและเปิด 'นักเลงบาร์' ในลักษณะโฮมคาเฟ่ บาร์กาแฟที่เปิดในบ้านย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 
  • คำว่า นักเลงบาร์ เป็นสำนวนการเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เอ๊ะชื่นชอบ จึงนำมาใช้ตั้งชื่อที่ทางใหม่ของเขา
  • นักเลงบาร์ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือกาแฟ แผ่นเสียง และขนมอบ ที่เขาดูแลทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่ต้นจนจบ

วันหนึ่งในเดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ฉันเดินไปแถวซอยกลันตัน ย่านตลาดน้อย จำได้ว่าสักสองครั้งที่แวะนั่งร้านกาแฟในซอยเล็กๆ แห่งนี้ ร้านคูหาลึกยาว สีขาวสะอาด มีกาแฟดีให้ดื่ม มีขนมอบให้กิน เปิดแผ่นเสียงให้ฟัง วันที่ฉันผลักประตูเข้าไปครั้งแรกนั้นเขากำลังเปิด King of Convenience ทุกสิ่งอย่างประกอบขึ้นเป็นบรรยากาศที่ดี แต่ครั้งนี้เดินตั้งแต่ต้นจนสุดซอยกลับหาร้านไม่พบ กระทั่งมารู้ทีหลังว่า Sentimental ร้านกาแฟที่ฉันตามหา ปิดตัวไปเสียแล้ว

วันนี้ในทาวน์เฮาส์หลังย่อมละแวกปากเกร็ด เมืองนนท์ ฉันนั่งอยู่ที่โต๊ะขนาด 4 คนนั่งรอบกำลังสบาย ในยามที่แผ่นเสียงหมุนติ้วบนเครื่องเล่น ดนตรีแจ๊สลอยละล่อง ตรงหน้ามีวานิลลาบันด์เค้กและออเรนจ์พาวนด์เค้กบนผ้าปูลายลูกไม้ และอีกประเดี๋ยวฉันจะได้จิบกาแฟฝีมือชายเจ้าของบ้านที่ยืนอยู่ฝั่งหนึ่งของโต๊ะ แต่ต้องหลังจากที่ได้ถามไถ่กันเสียก่อน เป็นมายังไงจาก Sentimental จึงมาสู่ ‘นักเลงบาร์’ คาเฟ่ที่อยู่ในบ้านไปได้   

เอ๊ะ–ชนุดม พึ่งน้อย ตอบแน่วแน่และชัดคำ “ผมอยากกลับมาอยู่บ้าน”

โฮมคาเฟ่ บาร์กาแฟในบ้าน

ในวัยหนึ่งของชีวิตเราอาจกระหายในโลกกว้าง และเมื่อถึงอีกวัยหนึ่งเราอาจแค่อยากโบยบินกลับบ้าน ชายคนนี้ก็เช่นนั้น การเปิดร้านกาแฟในเมืองใหญ่เสมือนพาเขาไปพบประสบการณ์และผู้คนหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันก็แลกกับการห่างบ้านออกมาเรื่อยๆ แม้ย่านที่ตั้งของ Sentimental ในกรุงเทพฯ และบ้านของเขาในนนทบุรีไม่ถึงกับไกลนัก แต่ใช่ว่าจะเดินทางไปมาทุกวันได้สะดวก และเมื่อทุ่มเทให้อะไรสักอย่างบางทีเราก็เผลอลืมอีกอย่างที่สำคัญไม่น้อยกว่าไปด้วย 

“ผมเป็นคนติดบ้าน ติดแม่ ติดครอบครัว ตอนเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ผมมีเวลากลับบ้านน้อยมาก เวลาเปิดร้านคือเช้าถึงเที่ยงคืน ไป-กลับทุกวันไม่ไหว ต้องนอนที่ตึกของร้าน ทำร้านไปได้สักปีหนึ่งผมก็รู้สึกอยากมีเวลาให้ครอบครัวบ้าง รู้สึกคิดถึงบ้าน”

เอ๊ะเล่าย้อนว่าหลังจาก Sentimental ปิดตัวลงเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 เขากลับสู่บ้านย่านปากเกร็ดในเมืองนนท์ทันที  

“ผมกลับมาจัดบ้าน เป็นคนชอบจัดนู่นจัดนี่อยู่แล้ว พอจัดแล้วบ้านก็มีฟังก์ชั่นของมัน การตกแต่งหลักๆ จัดไว้อย่างนี้อยู่แล้ว เพราะผมอยู่บ้านนี้มา 6 ปี เราแต่งบ้านตามที่เราชอบ และทำกาแฟมานานแล้ว ที่บ้านมีอุปกรณ์ต่างๆ นานาอยู่ พอจัดบ้านเรียบร้อย ผ่านไปได้สักอาทิตย์หนึ่งผมก็นึกถึงความสนุกที่ได้ชงกาแฟให้ลูกค้า เลยบอกกล่าวออกไปว่าจะทำกาแฟเสิร์ฟที่บ้านนะ แต่ยังไม่เป็นทางการในช่วงแรก ปรากฏว่ามีลูกค้ามาจริง แล้วลูกค้าที่มากรุ๊ปแรกๆ กลายเป็นลูกค้าใหม่ที่เขาไม่เคยไปร้านเก่ามาก่อน เขาบอกรู้จักเราจากทางโซเชียล พอเห็นว่ากลับมาเปิดที่บ้านเลยลองตามมาเพราะเขาอยู่นนท์เหมือนกัน” 

การเปิดบ้านเป็นร้านกาแฟไม่ใช่การนับหนึ่งใหม่ของเขา เพราะทุกองค์ประกอบที่กลายเป็นโฮมคาเฟ่แห่งนี้ค่อยๆ สะสมบ่มเพาะอยู่ในชีวิตของเขามาตั้งแต่ต้น กลับมาอยู่บ้านเขาก็ยังทำกาแฟอย่างที่เคยทำ ยังอบขนมอย่างที่เคยอบ และยังคงไว้ด้วยบทเพลงที่โอบล้อมชีวิต ผิดแผกไปก็เพียงเปลี่ยนที่ทาง แปรจากความเป็นร้านสู่ความเป็นบ้าน บ้านที่ไม่ได้จัดวางไว้เนี้ยบเรียบกริบ บ้านที่มีเพียงเครื่องเอสเพรสโซไซส์เล็ก แต่นั่นเองที่บ่งบอกถึงภาพความจริงของการใช้ชีวิตในบ้าน

นาม ‘นักเลงบาร์’ ฉายา ‘หมาป่าเมืองนนท์’

เช่นเดียวกันกับคำว่า นักเลงบาร์ ชื่อของที่ทางปัจจุบัน ที่มิได้ถูกตั้งใหม่เอี่ยม แม้เป็นคำที่ออกจะตรงข้ามกับบรรยากาศที่อวลด้วยกลิ่นนุ่มนวล อบอุ่นในแสงบ่ายที่ส่องผ่านหน้าต่างโปร่งแสงมายังภายใน และเขาเองก็ไม่มีมาดขรึมดุของความเป็นนักเลงเลยสักนิด ซ้ำกลับเป็นมิตรยิ้มแย้ม 

“ผมชอบสำนวนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขามักเรียกนักเลงบาร์ย่านนั้นย่านนี้ คำว่านักเลงบาร์ในที่นี้ก็คือนักดื่ม นักเที่ยว คนที่ชอบไปนั่งบาร์ ไปไนต์คลับ ทีนี้เคยมีคนถามชื่อผม ผมก็ตอบว่าชื่อเอ๊ะครับ เอ๊ะเองนักเลงบาร์ เป็นคำที่มาโดยอัตโนมัติ เหมือนเป็นการหยอกตัวเอง สร้างอารมณ์ขัน ส่วนคำว่า หมาป่าเมืองนนท์ เพราะผมชอบหนังของยุทธเลิศ สิปปภาค หนังของเขามีพาร์ตที่เกี่ยวกับมือปืน แล้วมือปืนแต่ละคนจะมีฉายาเป็นสัตว์ต่อท้าย เช่น เป้ อูซี่ อินทรีแห่งเมืองจันท์ ของผมก็เลยเป็น ‘เอ๊ะเอง นักเลงบาร์ หมาป่าเมืองนนท์’ เออว่ะ ดูเป็นย่านที่เราใช้ชีวิตดี”

“ทำไมต้องหมาป่า เป็นสัตว์อื่นไม่ได้เหรอ” บนโต๊ะสนทนาคำถาม-คำตอบส่งกันไปมาต่อเนื่อง 

“หมาป่าเป็นสัตว์ที่เก็บตัวประมาณหนึ่ง สัญลักษณ์ของหมาป่าคือความกล้าหาญและความพุ่งชน ผมเป็นคนเรียบๆ นะ แต่เวลาทำงานหรือเกิดไอเดียผมจะพลุ่งพล่านมาก คิดแล้วต้องทำเลย และชอบทำอะไรเอง บางคนบอกว่านี่เป็นโรคเพอร์เฟกชั่นนิสต์ เรายอมรับ ก็ฟีลนั้นแหละ จะรู้สึกสำเร็จเวลาทำอะไรด้วยตัวเอง มันโอเคกว่าที่จะเอาแต่พึ่งพาคนอื่น”

ในโฮมคาเฟ่นามนักเลงบาร์จึงมีหมาป่าเพียงหนึ่งที่โซโลตั้งแต่ต้นจนจบกระบวน 

“ผมมองว่าการทำคาเฟ่ที่เราเป็นผู้ผลิตเองทุกกระบวนการ หมายถึงว่าทำกาแฟเอง อบขนมเอง เตรียมทุกอย่างเอง มันต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่ในสถานที่แบบนี้ทำให้เรามีเวลาทำทุกอย่างมากขึ้น ลดการพึ่งพาผู้อื่น แต่การทำร้านที่มี traffic ดีๆ ย่อมทำให้ขายคล่อง แต่สุดท้ายแล้วผมว่าวัดกันที่เราเหลืออะไรมากกว่า ไม่ได้หมายความว่าเราได้รับเท่าไหร่ แต่ดูกันที่ว่าเราเหลืออยู่เท่าไหร่ และเหลืออะไรต่างหาก”

กาแฟของนักเลงบาร์

อย่างที่เกริ่นข้างต้น โฮมคาเฟ่แห่งนี้ประกอบขึ้นด้วย 3 สิ่งชัดเจน คือกาแฟ ขนมอบ และแผ่นเสียง ฉันเปิดประเด็นไปทีละอย่าง เรื่องของกาแฟเป็นลำดับแรก จึงได้ทราบว่ากาแฟผูกพันอยู่กับชีวิตของเขามาตั้งแต่เล็ก

“บรรพบุรุษของผมขายกาแฟโบราณตั้งแต่รุ่นอากงอาม่า ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง แต่ก่อนที่นั่นมีตลาดเก่า มีโรงหนัง แต่ผมเกิดไม่ทันยุคโรงหนังที่ตลาดนะ ผมเกิดที่กรุงเทพฯ แต่กลับไปแบเบาะที่อ่างทอง คุณป้าเลี้ยง เป็นทีมนี้”

เขาชี้ไปยังภาพถ่ายสีซีดที่กรุอยู่ในกรอบติดผนัง หลายชีวิตต่างวัยนั่งและยืนเรียงมองกล้อง บ่งบอกถึงความเป็นครอบครัวใหญ่

“ในภาพคือคุณแม่ที่เล็กสุดอยู่บนตักอากง ตอนผมเกิดร้านกาแฟโบราณของอากงไม่มีแล้ว แต่แม่เล่าให้ฟังว่าตอนที่แม่ยังเด็กก็ช่วยอากงขายกาแฟโบราณหน้าโรงหนัง พอไม่มีโรงหนังแล้ว ตลาดเปลี่ยนรูปแบบ ร้านกาแฟก็หยุดไป แต่ผมโตมาในบ้านของคุณป้าอีกคน เป็นอาอี๊ พี่สาวแม่ แกขายก๋วยเตี๋ยวเป็ด แต่ตอนเช้าช่วงที่ก๋วยเตี๋ยวยังไม่เริ่มขายก็จะมีกาแฟโบราณขายก่อน ขายในร้านก๋วยเตี๋ยวนั่นล่ะ

“วัยนั้นผมไม่ได้อินว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่ม แต่อินในแง่ที่เป็น society มากกว่า ผมชอบเวลาที่มีคนเดินเข้ามาในบ้านแล้วเราต้อนรับ ทำอะไรให้เขากิน แต่ตอนนั้นเรายังเด็ก ไม่ได้เป็นคนทำ ตื่นมาแล้วเห็น เออ บ้านเราก็ดีเนอะ มีคนเข้า-ออก เพื่อนบ้านมานั่งคุย เลยทำให้ผมรู้สึกผูกพันกับการค้าขาย บวกกับภาพชินตาของตลาดเก่าร้อยปี เรายังเห็นรุ่นคุณตาคุณยายค้าขายในบ้าน เป็นภาพที่ผมเติบโตมาและจำความได้”

ไม่ว่าความสนใจในกาแฟจะส่งต่อกันทางสายเลือดหรือไม่ แต่วันหนึ่งในวัยเติบใหญ่เขาก็ก้าวสู่โลกของกาแฟเข้าจริงๆ เคยผ่านทั้งในรูปของร้านเล็กๆ ละแวกบ้านที่เปิดร่วมกับคุณแม่ ในสมัยที่คนไทยยังนิยมดื่มกาแฟหวานมัน ทั้งเคยยืนเป็นบาริสต้าในร้านที่มีระบบกาแฟจริงจังในวันที่โลกหมุนสู่ยุค third wave coffee และ specialty coffee จวบจนปัจจุบัน ในนามของนักเลงบาร์

ฉันไล่ดูเมนูกาแฟ หยุดสายตาที่หมวดกาแฟซิกเนเจอร์ที่พอจะอนุมานได้ว่า เอ๊ะเป็นนักอ่านและชอบ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ตามที่เจ้าตัวเล่า กาแฟที่ตั้งชื่อว่า ‘เสเพลบอยชาวไร่’ หนึ่งในงานเขียนของพญาอินทรีแห่งสวนอักษรคือหลักฐาน และเขาเป็นนักฟังเพลง ฟังย้อนไปยันเพลงลูกทุ่ง จึงได้เห็นกาแฟที่ชื่อ ‘สาละวันรำวง’ บทเพลงของไวพจน์ เพชรสุพรรณ และอีกแก้วที่ใช้นาม ‘ขวัญใจ ศรีประจันต์’ นักร้องลูกทุ่งผู้ล่วงลับ

“แก้วที่ชื่อเสเพลบอยชาวไร่ ผมเอาน้ำตาลมะพร้าวหรือไม่ก็น้ำตาลอ้อยมาเคี่ยวให้เป็นคาราเมล ใส่โรสแมรีลงไปเคี่ยวด้วย จึงมีกลิ่นของความเป็นท้องทุ่งที่ผมเคยได้กลิ่นตอนเป็นเด็ก กับกลิ่นที่ได้จากหนังสือ เสเพลบอยชาวไร่ ตัวนี้เป็นกาแฟนม ฟีลเหมือนเรากินกาแฟคาราเมล

“ส่วนสาละวันรำวงใช้วิธีชงที่ต่างจากตัวอื่น คือใช้เมล็ดเอสเพรสโซเบลนด์มาแช่น้ำร้อนให้ได้ระยะเวลาที่กำหนด แล้วกรองด้วยดริปเปอร์ ใส่เนยละลาย ใส่น้ำเชื่อมนิดหนึ่ง แล้วเทใส่แก้ว เชกครีมออนท็อปได้แรงบันดาลใจจากไอริชคอฟฟี่ ผมใช้ชื่อสาละวันรำวงเพราะวิธีการยุ่งยาก คือสาละวันมาก เหมือนการรำวงที่เดินหน้า-ถอยหลัง เป็นตัวที่ใช้เวลาทำนานสุด

“และตัวที่ใช้ชื่อขวัญใจ ศรีประจันต์ แก้วนี้เป็นช็อตกาแฟผสมน้ำเสาวรส สกัดกลิ่นผักชีฝรั่งสดลงไปด้วย ให้มีกลิ่นเหมือนอาหารไทยนิดๆ ปกติเราจะคุ้นชื่อขวัญจิต ศรีประจันต์ มากกว่าใช่ไหม ขวัญใจเป็นน้องสาว เลยอยากนำสิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยเห็นและชื่อที่ไม่ค่อยได้ยินมาใช้”

อีกแก้วซิกเนเจอร์เป็นตัวแทนของเขาเอง ตั้งชื่อตามฉายา ‘นักเลงบาร์ หมาป่าเมืองนนท์’ 

“เป็นตัวที่อยากให้คนดื่มรู้สึกว่าความเป็นผมไม่ได้เข้าถึงยาก จะมีความห้าวในลักษณะของหน้าตาเครื่องดื่ม แต่เมื่อดื่มเข้าไปจะมีความเป็นมิตรมากกว่าเมนูอื่น เป็นกาแฟผสมนม เวลาเสิร์ฟจะเทเฮฟวี่ครีมข้างบนให้มีความครีมมี่ ขมๆ มันๆ แต่ไม่ขมมาก เพราะกาแฟเราไม่คั่วเข้ม”

แม้แต่เมล็ดกาแฟเฮาส์เบลนด์ที่ใช้เขาก็สนุกกับการตั้งชื่อ

“ในช่วงทำแบรนด์เก่า ผมอินสไปร์การเบลนด์เมล็ดกาแฟจากเพลงแจ๊ส ตั้งชื่อเบลนด์ว่า Bebop เป็นสไตล์แจ๊สที่มีความเร่าร้อน หนักแน่น อีกเบลนด์เป็น seasonal blend ชื่อ Birth of the Cool เป็นสไตล์คูลแจ๊สที่ได้อีกอารมณ์ มีความฟุ้งเย็น สว่างไสว พอผมย้ายกลับมาที่บ้าน ตกผลึกทางความคิด จึงนำโมดัลแจ๊สซึ่งเป็นสไตล์ที่มีความมินิมอล ผ่อนคลายลง มาประยุกต์ใช้กับกาแฟเบลนด์ ทำให้ทุกอย่างมีความน้อยลงแต่อิสรเสรีมากขึ้น ใช้ชื่อเบลนด์ว่า Milestones เพลงแรกที่ Miles Davis ทำในสไตล์โมดัลแจ๊ส คำว่า milestones มีความหมายดี คือเป็นจุดสำคัญของชีวิตการเดินทาง จึงใช้เบลนด์นี้เป็นตัวแทนของผม เป็น chapter ใหม่ของนักเลงบาร์”

ขอให้ทดชื่อของไมล์ส เดวิส และคำว่าโมดัลแจ๊สไว้ในใจ คู่สนทนาของฉันจะพาเรากลับมาที่ชื่อและคำนี้อีกครั้ง

แผ่นเสียงสำเนียงแจ๊ส

“ผมเข้าสู่โลกของแผ่นเสียงก่อนโลกของกาแฟเสียอีก” หมายความว่าความหลงใหลในแผ่นเสียงของเขามีมานานกว่า 10 ปี 

“ผมชอบอะไรที่เป็นวินเทจดีไซน์และชอบฟังเพลงเก่าเป็นทุนเดิม อาจเพราะแม่ชอบร้องและผมเคยอยู่ตลาดเก่าที่อ่างทอง เลยทำให้ผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ ผมเป็นแฟนเพลง The Beatles และ Elvis Presley แล้วคนสมัยก่อนเขาฟังฟอร์แมตเดิมคือแผ่นไวนิล ตอนเรียนปี 4 ผมลองไปหาแผ่นที่พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน แล้วก็เปิดโลกเลย land of vinyl records ทั้งชั้น

“ก่อนซื้อเครื่องเล่นผมได้แผ่นเสียงมาก่อน ได้อัลบั้ม Imagine ของ John Lennon และ Let It Be ของ The Beatles มาเป็นสองแผ่นแรก หลายคนที่เล่นแผ่นก็เริ่มจากการซื้อแผ่นก่อนแล้วค่อยซื้อเครื่องเล่น เพราะแผ่นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเราได้มากที่สุด เราฟังเพลงก็เพราะว่าแผ่นนั้น เพราะศิลปินคนนั้น พอเจออัลบั้มที่อยากฟังก็ซื้อไว้ก่อน เดี๋ยววันหนึ่งเราจะหาอุปกรณ์มาเล่นมันเอง

“แผ่นที่มีอยู่ในบ้านตอนนี้ไม่เยอะมาก อยู่ที่หลักร้อย แต่ไม่ถึงกับหลายร้อย ผมเป็นคนให้คุณค่ากับสิ่งของค่อนข้างมาก ของที่เราจะเก็บต้องเป็นของที่ได้ใช้งานจริงๆ ถ้ารู้ว่าซื้อมาแล้วไม่ได้ฟังแน่ผมก็ไม่ซื้อ จะไม่ซื้อเพื่อสะสมอย่างเดียว แต่จะซื้อเพราะฟัง”

เพลงแจ๊สเดินทางมาสู่ชีวิตเขาเพราะมีหนังสือนำพา เอ๊ะเอ่ยถึงหนังสือเรื่อง Rocktopia ของวิรัตน์ โตอารีย์มิตร ที่แนะนำให้เขารู้จักกับอีกหลายศิลปินซึ่งขยายขอบเขตการฟังเพลงของเขา

“เล่มนี้พูดถึงศิลปินทุกสไตล์ ร็อก ป๊อป แจ๊ส ผมเลยไปรื้อหูตัวเองในการฟัง ฟังเพลงเก่าขึ้น ฟังบลูส์ที่ลึกลงไปถึงรากฐาน ฟัง Robert Johnson แล้วขยับมาฟังยุคที่พัฒนาขึ้น Louis Armstrong, Billie Holiday พอมาสายโมเดิร์นแจ๊สก็ฟังไมล์ส เดวิส ทีนี้ก็ยาวไปเลย ยุคนั้นผมฟังโดยอ่านเครดิตมากขึ้น แล้วเราก็เห็นว่าเดวิสเล่นกับแบ็กอัพที่เป็นดาวรุ่งในยุคนั้นหลายคน John Coltrane, Paul Chambers ทำให้ผมพัฒนาไปฟังงานของศิลปินในทีมเขาอีก ซึ่งทำให้การฟังแจ๊สของเรากว้างขึ้น เพราะเวลานักดนตรีแต่ละคนไปเล่นให้ลีดเดอร์คนไหนเขาก็จะพยายามเล่นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าเขาเป็นลีดเดอร์เองในบางอัลบั้ม อัลบั้มนั้นก็จะแสดงสิ่งที่เขาคิดและตัวตนที่แท้จริงออกมา ความเจ๋งของแจ๊สคือบางคนเล่นให้เข้าคอนเซปต์ของลีดเดอร์ก็จริง แต่มีกิมมิกบางอย่างที่ฟังแล้วรู้ว่าต้องเป็นคนนี้” 

ฉันถามว่า “นักเลงบาร์มีเพลงที่เป็นเสมือนซาวนด์แทร็กชีวิตบ้างไหม” เขาตอบด้วยการเดินไปหยิบไวนิลแผ่นหนึ่งขึ้นวางบนเครื่องเล่น ให้เสียงเพลงเป็นคำเฉลย ถึงตรงนี้ขอให้คุณกลับไปยังสิ่งที่ฉันฝากทดไว้ในใจ

“อัลบั้ม Kind of Blue ของไมล์ส เดวิส เป็นอัลบั้มที่ผมฟังแล้วอิน ผมเคยมองว่าแจ๊สเป็นแนวดนตรีที่เข้าถึงยาก ตอนมัธยมมีมายด์เซตว่าแจ๊สอยู่คนละโลกกับเรา มันไม่ได้เปิดประตูต้อนรับเรา แต่พอเราโต เริ่มเปิดใจ ใจเย็นขึ้น ฟัง Kind of Blue ของเดวิสแล้วค่อนข้างฟังง่ายมาก คือในยุคก่อนเดวิดเขาก็หนักแน่นในการเล่นสไตล์ที่รวดเร็ว เป็น bebop, hard bop มีการอิมโพรไวส์จัดๆ แต่ในยุค Kind of Blue เหมือนเขาพยายามหาสไตล์การเล่นใหม่ๆ ที่ไม่รุงรังเท่ายุคก่อนหน้านี้ เลยมีผลให้เพลงในยุคนี้ของเขาเล่นแบบใช้คอร์ดน้อยลง เรียกกันว่าโมดัลแจ๊ส

“การที่ผมย้ายกลับมาบ้านก็เหมือนผมทำโมดัลแจ๊สของตัวเองน่ะครับ คือหาจังหวะให้เรารู้สึกผ่อนคลายกับชีวิตมากขึ้น”

old-fashioned cake เชยแต่ชอบ

วานิลลาบันด์เค้กและออเรนจ์พาวนด์เค้กถูกหั่นออกมาอย่างละชิ้นโต ใกล้มือคือกาแฟซิกเนเจอร์ที่เขาชงให้จิบก่อนหน้า ไม่มีอะไรจะเหมาะเจาะเท่านี้แล้ว ในยามบ่ายที่ร่างกายต้องการความตื่นตัวและของหวาน 

“ผมทำเค้กมานานแล้ว แม่ชอบเรียกให้ช่วย สอนพื้นฐานให้นิดหน่อย และเรียนจากตำราที่เราศรัทธา อ่านเล่มไหนแล้วรู้สึกว่าเล่มนี้มีอะไรน่าค้นหาเราก็จะถอดความรู้จากเล่มนั้นมาใช้ อาจารย์คนแรกของผมคือพี่เมย์ After You (กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ) ในวันที่พี่เมย์ไปร้านกาแฟที่เก่า ผมดีใจที่ได้บอกเขาเองว่าเขาเป็นครูคนแรก เราเรียนรู้จากตำราขนมของเขาเป็นเล่มแรก แม้ทุกวันนี้ไม่ได้ใช้ตำราเล่มนั้นแล้ว หรือหลังจากนั้นก็มีสูตรที่เราพัฒนาเองแล้ว แต่เราก็ไม่เคยลืมว่าเราทำขนมถึงวันนี้ได้เพราะตำราเล่มนั้นนะ”

เอ๊ะบอกว่าเขาชอบทำเค้กที่มีหน้าตาเรียบง่าย ค่อนไปทางโบราณ หรือที่ตัวเขาเองเรียกว่า เค้กเชยๆ 

“สุดท้ายผมก็หนีไม่พ้นความโบราณแบบที่เราชอบ อะไรที่ดูวินเทจ โอลด์แฟชั่น ผมกลับรู้สึกว่าพวกนี้ไม่น่าเบื่อ เหมือนกับที่เราชอบฟังเพลงเก่า แต่งบ้านให้วินเทจหน่อย ส่วนหนึ่งชอบเรื่องรูปทรง ดีไซน์ แต่ส่วนหนึ่งคือตอบสนองเรื่องจิตใจด้วย เค้กแบบนี้อาจดูเชย แต่เห็นแล้วรู้สึกอบอุ่น comfortable กับเรา ดูแล้วสบายตาสบายใจ 

“เค้กที่ผมทำบ่อยก็มีวานิลลาบันด์ตัวนี้ เป็นเค้กเนยในแบบหนึ่งนี่ล่ะ แต่มีลักษณะเป็นปล่อง ส่วนเค้กที่อบในพิมพ์โลฟหรือพาวนด์เค้ก ผมจะทำหมุนเวียนหลายแบบ บานาน่าโลฟบ้าง แอปเปิลโลฟบ้าง หลักๆ เป็นเค้กที่ใส่ผลไม้ ผลไม้ที่ใช้ผมเลือก taste note ที่มีอยู่ในกาแฟด้วย ส้ม มะนาว แอปเปิล เวลากินกับกาแฟจะเกิดการเชื่อมโยงทางรสชาติที่สนุก และมีบันด์เค้กตัวหนึ่งที่ผมเรียกว่านักเลงบาร์ เพราะใส่กาแฟของเราเองด้วย

“การทำขนมต่างจากการทำกาแฟตรงที่ระยะเวลาทั้งหมดทั้งมวล กว่าจะเสร็จอย่างหนึ่งเป็นชั่วโมง ขนมนี่ถ้าเราเซตรูทีนไว้แบบนี้ก็ต้องแบบนี้ไปเลย แต่กาแฟบางทียังอิมโพรไวส์ได้บ้างในบางวิธีชง แต่ขนมถ้าเราอยากได้ผลลัพธ์แบบเดิมก็ต้องทำแบบเดิม ขนมจึงตอบโจทย์เรื่องความอดทน ถ้าเราทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ แล้วไม่เบื่อแสดงว่าสิ่งนั้นตอบสนองความรักที่เรามี เวลาผมทำเค้ก เหมือนเราได้เฝ้าดูลูกเราเติบโต เราตีแป้ง เอาเข้าเตาอบ เหมือนค่อยๆ คลอดออกมา เสร็จแล้วก็ต้องจับแต่งตัวอีก เหมือนเลี้ยงดูเขา

“แต่กาแฟมันนำพาสิ่งที่เราคิดให้ออกมาเป็นแก้วแก้วหนึ่ง ขนมไม่ใช่ตัวเรา เหมือนลูกเรา แต่กาแฟคือตัวเรา เป็นสิ่งที่เราแสดงออกมา ส่วนแผ่นเสียงผมมองว่าเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งไอดอล เพราะรู้สึกว่าเพื่อนที่ดีที่สุดของเราคือเพลง นอกจากจะทำให้เราไม่เหงา เขายังเข้าใจเราในบางช่วง เพราะเราเป็นคนเลือกเปิดอัลบั้มนั้นเอง เหมือนเราเลือกเพื่อน แต่ที่สำคัญคือเวลาที่เราอยากได้ไอเดียใหม่ๆ หรืออยากมีความคิดที่ตกผลึกก็จะมีบางแผ่นที่ผมเลือกเปิดฟัง ผมจึงค่อนข้างเคารพในศิลปินแต่ละคน ให้คุณค่า ให้ความสำคัญ”

“เป็นคนชอบอยู่บ้าน กลับมาทำงานที่บ้านคงไม่มีความรู้สึกเบื่อบ้านใช่ไหม” ทันทีที่จบคำถาม เอ๊ะตอบทันใด

“ไม่เบื่อครับ ผมก็ไม่รู้ว่าจะเวิร์กหรือไม่เวิร์กนะ แค่คิดว่าเราทำอะไรได้เราก็ทำ ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่เราปรารถนาที่จะทำเป็นอาชีพสุดท้าย ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เดินผิดทางนะ ก็ถูกทางนั่นล่ะ แค่ว่ายังไม่ใช่เอ๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่นี่คือเอ๊ะครับ คุณมาที่นี่คือคุณมาร้านของเอ๊ะ”


นักเลงบาร์ (Nugleng Bar)

address: 37/105 หมู่บ้านเปี่ยมสุข ทัสคานี ซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 22 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
tel: 083-266-4714
hour: เปิดทุกวัน 8:00-20:00 น.
facebook: Nugleng Bar

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย