กลับคืนสู่ธรรมชาติ ทำไมคนญี่ปุ่นจึงหลงใหลเสื้อผ้าสไตล์เอาต์ดอร์

เมื่อพูดถึงแฟชั่นญี่ปุ่น บางคนอาจนึกถึงเสื้อผ้าสไตล์ avant-garde จากดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง Yohji Yamamoto และ Rei Kawakubo หรือบ้างอาจเห็นภาพของกิโมโนและชุดยูกาตะที่อยู่คู่สังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ว่าคุณจะเชื่อมโยงแฟชั่นญี่ปุ่นกับสไตล์การแต่งตัวแบบไหนก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความหลากหลาย’ คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้แฟชั่นญี่ปุ่นน่าตื่นเต้นและดูมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ

ท่ามกลางสไตล์การแต่งตัวต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นในสังคมญี่ปุ่น ‘เอาต์ดอร์’ คือหนึ่งในสไตล์ที่ดูจะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ระดับที่ว่าการเห็นผู้คนสวมเครื่องแต่งกายประหนึ่งว่ากำลังจะออกไปเดินป่า กางเต็นท์ แต่กลับเดินเล่นอยู่ในเมืองใหญ่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดอีกต่อไป หากเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเสื้อกั๊กสำหรับตกปลา กางเกงอเนกประสงค์ที่มาพร้อมกระเป๋าเล็กๆ ไว้ใส่อุปกรณ์แคมป์ปิ้ง ไปจนถึงสนีกเกอร์ที่ดูเหมาะกับการไปวิ่งเทรลมากกว่าการเดินเหินในโอซาก้าและโตเกียว

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่าเสื้อผ้าสไตล์เอาต์ดอร์ไม่เพียงได้รับความนิยมขึ้นเท่านั้น แต่ยังผสานเป็นส่วนหนึ่งกับแฟชั่นคนเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือ อะไรคือสาเหตุของความนิยมนี้กันล่ะ แล้วความคลั่งไคล้ในเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ของคนญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

เอาท์ดอร์

กลับไปหาธรรมชาติ

ย้อนกลับไปในปี 1970 Yasuhiko Kobayashi แห่ง Heibon Punch นิตยสารสำหรับผู้ชายญี่ปุ่น ได้เดินทางไปนิวยอร์กเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับเขียนคอลัมน์ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะเคยเดินทางไปอเมริกาอยู่บ้าง แต่โคบายาชิก็ได้บันทึกถึงการมาเยือนนิวยอร์กในครั้งนี้ว่า “ทัศนคติที่ผมสัมผัสได้อย่างชัดเจนท่ามกลางวัยรุ่นอเมริกันคือ พวกเขาดูพยายาม ‘กลับไปหาธรรมชาติ’ (back to nature) กันมากขึ้น”

การกลับไปหาธรรมชาติที่โคบายาชิหมายถึงคือการเกิดขึ้นของกิจกรรมใหม่ๆ เช่น การหันมาแฮงเอาต์กันในสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวในเมือง และการที่วัยรุ่นหันมาใช้วิธีการโบกรถ (hitchhike) เพื่อเดินทางไปสถานที่ต่างๆ นอกเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สอดคล้องไปกับกิจกรรมเหล่านี้คือการแต่งกายของวัยรุ่นอเมริกันที่เปลี่ยนไป จากที่ครั้งหนึ่งเคยใส่เสื้อผ้าที่ดูฟู่ฟ่าสดใส ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นกางเกงยีนส์ตัวโคร่ง รองเท้าเดินป่า และกระเป๋าเดินทางขนาดมหึมาที่เพียงพอจะบรรจุข้าวของทุกอย่างที่จำเป็นต่อการประทังชีวิตลงไป

โคบายาชิได้จดบันทึกความแปลกใหม่ที่เขาพบเห็นในอเมริกาก่อนจะเดินทางกลับไปยังญี่ปุ่น ทว่าบรรดาเพื่อนร่วมงานของเขาที่ Heibon Punch กลับดูไม่ค่อยสนใจสักเท่าไหร่ เพราะสังคมญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้บรรยากาศของการขับไล่ฐานทัพอเมริกันให้ออกไปจากประเทศ ความไม่ชอบขี้หน้าพญาอินทรียังได้ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นหันไปคลั่งไคล้แฟชั่นสไตล์ยุโรปอย่างที่ Hirofumi Kurino หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ UNITED ARROWS เคยเล่าว่า “ในช่วงต้นยุค 70s แฟชั่นญี่ปุ่นยึดโยงอยู่กับเสื้อผ้าสไตล์ glam rock จากลอนดอน เห็นได้จากการที่ผู้คนหันมาใส่เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดและมีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น”

กระทั่งในปี 1973 เมื่ออยู่ๆ ก็เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจากที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างฉับพลันทันด่วนได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านวัตถุนิยมจนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มหันกลับไปให้ความสำคัญกับวีถีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างในอดีต เช่นเดียวกับวัยรุ่นญี่ปุ่นบางกลุ่มที่ค่อยๆ พาตัวเองออกจากเมืองหลวงเพื่อแสวงหาวิถีชีวิตท่ามกลางป่าไม้และขุนเขาในต่างจังหวัดแทน

ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของนิตยสารหัวใหม่ในปี 1975 อย่าง Made in U.S.A. โดยทีมงานบางส่วนก็มาจากนิตยสาร Heibon Punch อาจกล่าวได้ว่า Made in U.S.A. คือนิตยสารที่หยิบเอาบทบันทึกของโคบายาชิที่เขียนถึงปรากฏการณ์ที่วัยรุ่นอเมริกันหวนกลับสู่ธรรมชาติมาต่อยอดเป็นเนื้อหา จนออกมาเป็นหนังสือที่โฟกัสไปที่แฟชั่นอเมริกันและกิจกรรมเอาต์ดอร์โดยเฉพาะ กางเกงยีนส์ Levi’s 501 รองเท้ายี่ห้อ Red Wing ไปจนถึงแบรนด์เดินป่าอย่าง The North Face เหล่านี้คือตัวอย่างแฟชั่นอเมริกันที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งภายใต้นิตยสาร Made in U.S.A. 

เอาท์ดอร์

หลบหนีออกจากเมืองใหญ่

ด้วยความนิยมแบรนด์เอาต์ดอร์ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ว่าในปี 1978 The North Face ได้เซ็นสัญญาเฉพาะกิจกับตัวแทนผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่น ส่งผลให้สินค้าของ The North Face หลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก โดยที่ยอดขายของแบรนด์ก็เติบโตขึ้นหลายเท่าในปีต่อๆ มา และแม้ว่าโปรดักต์ของ The North Face จะผลิตขึ้นโดยคำนึงถึงการใช้งานในสภาพแวดล้อมของประเทศตะวันตกก็จริง แต่หลังจากที่ได้เห็นการระเบิดขึ้นของตลาดญี่ปุ่น แบรนด์ก็เริ่มหันมาผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าในซีกโลกตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ

Tuneyoshi Kawaguchi แห่ง OSHMAN’S แบรนด์อุปกรณ์กีฬาและกิจกรรมเอาต์ดอร์ญี่ปุ่นเล่าว่า “ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมเอาต์ดอร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผู้คนเริ่มตระหนักว่าแทนที่จะต้องเสียเงินไปกับการนอนโรงแรมหรูๆ หรือเดินทางไปต่างประเทศในช่วงวันหยุด พวกเขาสามารถมีความสุขกับการประหยัดผ่านการออกเดินทางไปต่างจังหวัด ไปเดินป่า และกางเต็นท์ได้” 

Tomosuke Noda นักพายเรือแคนูและนักเขียนสายเอาต์ดอร์ผู้โด่งดังก็มองว่า การเฟื่องฟูขึ้นของกิจกรรมเอาต์ดอร์เป็นผลลัพธ์โดยตรงจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองในญี่ปุ่น “เมืองญี่ปุ่นมันแย่มากๆ มันไม่มีธรรมชาติอยู่ในนั้นเลย” โนดะเล่า ก่อนจะเสริมว่าความเร่งรีบและตึงเครียดของวิถีชีวิตแบบคนเมืองได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักให้ผู้คนพยายามหลบหนีไปข้างนอก โดยที่เขาไม่ได้มองว่ากิจกรรมเอาต์ดอร์จะเป็นเทรนด์ที่มาๆ ไปๆ เพราะตราบใดที่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในเมือง พวกเขาก็จะยังแสวงหาเหตุผลที่จะพาตัวเองออกจากความวุ่นวายของสังคมเมืองอยู่เรื่อยๆ ต่อไป

จะเห็นได้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและรูปแบบของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งให้ชาวญี่ปุ่นอยากกลับไปสู่ธรรมชาติมากขึ้น แต่หากเราลองย้อนเวลากลับไปในอดีตอีกสักเล็กน้อยจะพบว่า จริงๆ แล้วสังคมญี่ปุ่นมีความผูกพันกับธรรมชาติเสมอมา อย่างที่ Kent Kodamasu แห่งแบรนด์แฟชั่น SHELTER อธิบายว่า “ชินโตคือศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น ซึ่ง ‘Amaterasu Omikami’ เทพเจ้าผู้สร้างญี่ปุ่นขึ้นมาก็ได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งพระอาทิตย์ นั่นเท่ากับว่าธรรมชาติคือเทพเจ้าของเรา หรือหากคุณมีโอกาสได้เห็นศาลเจ้าชินโต คุณจะพบว่าศาลเจ้าจำนวนมากถูกโอบล้อมด้วยแมกไม้และสวนที่งดงาม ซึ่งอะไรเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นให้คุณค่ากับธรรมชาติมากมายเพียงใด”

หัวใจคือความอเนกประสงค์

ถึงตรงนี้เราคงจะพอรู้แล้วว่าอะไรคือคำอธิบายที่อยู่เบื้องหลังความคลั่งไคล้กิจกรรมเอาต์ดอร์ของคนญี่ปุ่น แต่คำถามคือ แล้วอะไรคือสาเหตุให้ชาวญี่ปุ่นฮิตใส่เสื้อผ้าเอาต์ดอร์ในเมืองกันล่ะ Sam Fitzgerald แห่งแบรนด์ nonnative อธิบายว่าความอเนกประสงค์ที่เหมาะกับสภาพอากาศทุกรูปแบบคือคำตอบที่เสื้อผ้าเอาต์ดอร์เป็นที่นิยมกันในหมู่คนเมือง

“ที่ญี่ปุ่นน่ะ ในช่วงหน้าร้อนมันก็จะร้อนชื้นสุดๆ แต่พอหน้าหนาวมันก็จะหนาวโคตรๆ เหมือนกัน หรือระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมฝนก็จะตกหนักมากๆ ไหนจะมีพายุไต้ฝุ่นช่วงฤดูใบไม้ร่วงอีก สภาพอากาศที่ผกผันแบบนี้แหละคือคำตอบว่าทำไมเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ถึงได้รับความนิยมในเมืองอย่างโตเกียวที่ผู้คนจะต้องเคลื่อนที่อยู่เสมอท่ามกลางสภาพแวดล้อมเหล่านี้ นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมคุณถึงพบเห็นผู้คนในฮาราจูกุและชิบูย่าแต่งตัวสไตล์เอาต์ดอร์อยู่เรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้จะออกไปแคมป์ปิ้งอะไรหรอก พวกเขาอาจแค่กำลังเดินทางกลับจากออฟฟิศก็เท่านั้น”

แม้ว่าชาวญี่ปุ่นจะมีความผูกพันกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นแตกต่างไปจากสังคมตะวันตกคือ พวกเขาชื่นชอบที่จะแสดงความคลั่งไคล้กิจกรรมเอาต์ดอร์ออกมาให้เห็นอย่างเปิดเผยผ่านเสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่เลือกใช้อย่างที่ Hiroki Nakamura ผู้ก่อตั้งแบรนด์ visvim อธิบายว่า “ชาวญี่ปุ่นจะประพฤติตัวเสมือนว่าเป็นนักสะสม พวกเขาจะศึกษาไลฟ์สไตล์หนึ่งๆ และซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับมันอย่างจริงจัง ในขณะที่ชาวตะวันตกจะให้คุณค่ากับประสบการณ์ที่ได้รับจากไลฟ์สไตล์มากกว่า พวกเขาไม่ค่อยยึดติดกับตัวสินค้ามากนัก”

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าในอดีตเสื้อผ้าและอุปกรณ์เอาต์ดอร์ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากโลกตะวันตก แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นแบรนด์เอาต์ดอร์สัญชาติญี่ปุ่นหลากหลายแบรนด์ ที่ไม่เพียงผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องคุณภาพของวัสดุและฟังก์ชั่นในการใช้งาน แต่ยังรวมถึงการดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถสอดรับกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น แบรนด์อย่าง Snow Peak, and wander และ South2 West8 คือตัวอย่างเพียงคร่าวๆ เท่านั้น

ชาวญี่ปุ่นกับธรรมชาติคือสองสิ่งที่แยกจากกันไม่ขาด น่าสนใจว่าความเชื่อมโยงนี้ไม่เพียงสะท้อนผ่านความพยายามที่จะพาตัวเองหลบหนีจากความวุ่นวายในเมืองอยู่เรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังมองเห็นได้จากสไตล์ของเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่อีกด้วย

เอาท์ดอร์

AUTHOR