กระโปรงของผู้หญิง? กางเกงของผู้ชาย? ในวันที่ผู้ชายลุกขึ้นมาใส่กระโปรง

ในเดือนธันวาคม ปี 2020 Harry Styles ศิลปินหนุ่มชาวอังกฤษปรากฏบนหน้าปกนิตยสาร Vogue พร้อมประโยคว่า ‘ในแต่ละครั้งที่คุณสร้างกำแพงในชีวิต คุณกำลังจำกัดตัวคุณเอง’ หน้าปก Vogue ฉบับนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการแฟชั่นในทันที นั่นเพราะ Styles ไม่ได้สวมเสื้อผ้าของ ‘ผู้ชาย’ แต่กลับเป็นชุดทรงบอลกาวน์ (ball gown) จาก Gucci จับคู่กับเบลเซอร์สีดำสนิทต่างหากที่เขาเลือกใส่ 

credit : Vogue

เดรสที่จริงๆ แล้วควรจะเป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิงแต่อยู่ๆ กลับมาปรากฏบนเรือนร่างของนักร้องหนุ่มกลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในสังคมโดยทันที 

แม้ว่าในด้านหนึ่งจะมีเสียงชื่นชมแฮร์รี่อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะต่อประเด็นที่ว่า เสื้อผ้าของเขาบนปกนิตยสารสะท้อนให้เห็น ‘การปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศของสังคม’ (gender nonconforming) ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเสียงอีกส่วนหนึ่งที่ดูไม่ค่อยจะถูกใจนัก คอมเมนต์หนึ่งที่น่าสนใจมาจากทวิตเตอร์ของ Candace Owens นักเขียนชาวอเมริกัน “ไม่มีสังคมใดในโลกหรอกที่จะดำรงอยู่ได้โดยปราศจากผู้ชายที่เข้มแข็ง ชาวตะวันออกรู้เรื่องนี้ดี ในโลกตะวันตกน่ะ การที่ผู้ชายค่อยๆ ถูกทำให้เป็นผู้หญิง (feminization) มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับที่ลัทธิมาร์กซิสต์ถูกเผยแพร่ให้กับเด็กๆ อยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันคือการโจมตีซึ่งๆ หน้า เอาผู้ชายที่ ‘สมชาย’ กลับมา” ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้แปลว่าฝั่งที่ชื่นชม Vogue และสไตล์สจะพากันยกย่องเชิดชูเป็นเสียงเดียว มีคอมเมนต์ที่มองว่าแม้หน้าปกของ Vogue ฉบับนี้จะถือเป็นประวัติศาสตร์จริงอยู่ เพียงแต่มันก็ไม่ได้ ‘รุนแรง’ (radical) พอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ สอดคล้องกับอีกคอมเมนต์ที่มองว่า “หากคนบนปก Vogue ไม่ใช่ cis man ผิวขาว แต่เป็นใครสักคนที่มาจากชาติพันธ์อื่น สมมติว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศผิวสีสักคน (ที่ Vogue ก็ยังไม่เคยให้คนเหล่านี้ขึ้นปก) ลองคิดดูสิว่าเขาจะต้องเจอกับเสียงวิจารณ์แบบไหน”

credit : Vogue

หากลองพิจารณาจากกรณีของ Vogue และแฮร์รี่ สไตล์ส เราจะพบว่า ปรากฏการณ์นี้สร้างข้อถกเถียงที่ซับซ้อนในหลายมิติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมิติของแฟชั่น มิติของเพศสภาวะ ไปจนถึงมิติของชาติพันธุ์ ถึงอย่างนั้น บทความนี้จะพาไปตั้งคำถามกับประเด็นพื้นฐานที่สุดของเรื่องนี้ นั่นคือแฟชั่นกับเพศสภาวะสัมพันธ์กันยังไง ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่กระโปรงถูกจัดวางให้เป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิง กางเกงคือเครื่องแต่งกายของผู้ชาย และตั้งแต่เมื่อไหร่ที่การสวมใส่กระโปรงทำให้ผู้ชาย ‘ไม่แมน’

เพศภาวะและการประกอบสร้างทางสังคม

ต่อการจะถกเถียงถึงประเด็นเรื่องเพศในสังคมตะวันตก เราอาจต้องเริ่มต้นจากจุดตั้งต้นของการแยกความแตกต่างระหว่าง ‘เพศสรีระ’ (sex) กับ ‘เพศสภาวะ’ (gender) พูดให้ชัดคือ เพศสรีระคือเพศในความหมายทางชีววิทยาซึ่งยึดโยงอยู่กับระบบเจริญพันธุ์ของร่างกาย ขณะที่เพศสภาวะคือเพศที่เป็นการประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม

ต้องอธิบายก่อนว่า เพศสภาวะคือแนวคิดที่เกิดจากกลุ่มเฟมินิสต์ในฐานะอาวุธหนึ่งที่จะมาคัดง้างกับวิธีคิดในยุคก่อนซึ่งให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางชีววิทยา และมองว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ เพราะเมื่อผู้ชายเกิดมาแข็งแกร่งกว่าผู้หญิง สถานะของผู้ชายจึงต้องอยู่ ‘เหนือกว่า’ ผู้หญิงเป็นธรรมดา 

ทว่ากลุ่มสตรีนิยมซึ่งพยายามต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศกลับเสนอแนวคิดเรื่องเพศสภาวะซึ่งอธิบายว่า ‘ความเป็นผู้หญิง’ (femininity) กับ ‘ความเป็นผู้ชาย’ (masculinity) ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพศสรีระในทางชีววิทยา แต่เป็น ‘สภาวะ’ ที่สังคมและวัฒนธรรมประกอบสร้างขึ้นต่างหาก สอดคล้องไปด้วยกัน เพศสภาวะได้สร้างความเป็นไปได้ให้กับการนิยามความหลากหลายทางเพศอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศขยายพรมแดนครอบคลุมเพศสภาวะที่ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้หญิงอีกต่อไป กล่าวอย่างถึงที่สุดคือ เพศสภาวะเป็นแนวคิดทางการเมืองที่จะนำไปสู่การแสวงหาเสรีภาพในการนิยามชีวิตทางเพศของปัจเจกบุคคลหนึ่งผ่านการนิยามของตัวเขาเอง

ภายใต้แนวคิดเพศสภาวะที่อธิบายว่า เพศคือการประกอบสร้างทางสังคมนี่เองที่ได้นำไปสู่การพิจารณากระบวนการต่างๆ ที่ประกอบสร้างความเป็นผู้หญิงหรือความเป็นผู้ชายขึ้นมาในตัวคนคนหนึ่ง ตัวอย่างที่เรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยๆ คือการนิยามว่าสีฟ้าคือสีของเด็กผู้ชาย ในขณะที่สีชมพูคือสีของเด็กผู้หญิง หรือการที่เด็กผู้ชายควรจะเล่นหุ่นยนต์ ส่วนเด็กผู้หญิงก็ควรจะเล่นตุ๊กตา ในลักษณะเดียวกับการเลือกกำหนดสีและของเล่นให้กับเด็กๆ ล่วงหน้า เสื้อผ้าคืออีกตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการประกอบสร้างความเป็นผู้หญิงหรือความเป็นผู้ชายของสังคม

ในสังคมตะวันตก (และสังคมอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากสังคมตะวันตก) เสื้อผ้าคือกลไกทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งที่นิยามว่าเพศของปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ คือเพศอะไร เมื่อเด็กผู้ชายคนหนึ่งเกิดมา สังคมย่อมจะคาดหวังให้เขาสวมกางเกง และเมื่อเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งเกิดมา สังคมย่อมจะคาดหวังให้เธอสวมกระโปรง ตัวเลือกของเสื้อผ้าได้ผสานเข้ากับวิธีคิดที่อนุมานล่วงหน้าว่าเพศสภาวะของเด็กจะต้องเชื่อมโยงกับเพศสรีระของเด็กเท่านั้น การเชื่อมโยงเพศสภาวะของบุคคลเข้ากับกางเกงหรือกระโปรงจึงเท่ากับการลดทอนความซับซ้อนต่อการทำความเข้าใจสภาวะทางเพศของคนคนหนึ่งให้เหลือตัวเลือกเพียงแค่สอง 

ในแง่นี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่า กรณีของ Vogue และแฮร์รี่ สไตล์ส จึงไม่เพียงจะเป็นการท้าทายโครงสร้างทางสังคมที่พยายามจะยึดโยงและประกอบสร้างเพศสภาวะของบุคคลหนึ่งๆ กับตัวเลือกของเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่เท่านั้น แต่อย่างพื้นฐานที่สุด มันคือการกลับไปตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมผู้ชายถึงไม่สามารถจะใส่กระโปรงได้กันล่ะ ทำไมการที่ผู้ชายสักคนหนึ่งจะแต่งตัวแตกต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมถึงได้กลายเป็นเรื่องใหญ่นักหนา หรือแค่เพราะสังคมบอกว่ากระโปรงคือเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเท่านั้นก็เป็นคำอธิบายที่ชอบธรรมเพียงพอแล้ว 

เมื่อแฟชั่นไม่ใช่เรื่องของผู้ชาย

ในสังคมตะวันตกก่อนหน้าศตวรรษที่ 18 การแต่งตัวระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายไม่ได้แยกขาดกันอย่างชัดเจนดังเช่นในปัจจุบัน และกระโปรงก็ไม่ใช่เครื่องแต่งกายที่จำกัดอยู่เฉพาะกับผู้หญิงแต่อย่างใด ความหมายของแฟชั่นในอดีตคือการแสดงออกทางอำนาจ ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ‘การแต่งตัวให้มาก’ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม รองเท้าส้นสูง หมวกฟูฟ่องพองฟู และเสื้อคลุมยาว เหล่านี้คือเครื่องแต่งกายที่บ่งชี้สถานะทางชนชั้นของผู้สวมใส่มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของเพศสภาวะ 

กระทั่งยุควิคตอเรียน แนวคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเริ่มจะกลายเป็นที่แพร่หลายภายใต้อิทธิพลจากยุคแสงสว่างทางปัญญา แนวคิดวิทยาศาสตร์และชีววิทยาที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาร่างกายของสิ่งมีชีวิต

 ดังว่าหากพิจารณาจากเงื่อนไขของสรีระและสติปัญญาแล้ว ผู้หญิงย่อมจะเป็นเพศที่อ่อนด้อยกว่าและควรจะอยู่ภายใต้อำนาจของเพศชาย ผ่านคำอธิบายในลักษณะนี้ ชีวิตของผู้หญิงจึงถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างบ้าน ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้เป็นพ่อ สามี หรือกระทั่งลูกชาย ในขณะที่ชีวิตของผู้ชายคือชีวิตที่ดำเนินอยู่ข้างนอกอย่างเป็นอิสระ ในพื้นที่สาธารณะ ดังที่ John Ruskin นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษในช่วงเวลานั้นได้บันทึกไว้ว่า

“อำนาจของเพศชายนั้นแคล่วคล่อง เคลื่อนไปข้างหน้า และสามารถปกปักรักษาได้ เขาคือผู้ลงมือทำ ผู้สร้าง นักเดินทาง และผู้พิทักษ์ สติปัญญาของเขามีไว้เพื่อการคิดค้นและตรวจตรา ส่วนพลังงานของเขาก็มีไว้เพื่อการผจญภัย สงคราม และการพิชิต แต่อำนาจของผู้หญิงคือการปกครอง ไม่ใช่สำหรับในศึกสงคราม และสติปัญญาของเธอก็ไม่ใช่เพื่อการคิดค้นและสรรสร้าง หากคือการวางระเบียบ จัดการ และตัดสินใจ ผู้หญิงต้องอดทน ซื่อตรง และเฉลียวฉลาด ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาตัวเอง แต่เพื่อการเสียสละ หล่อนอาจจัดวางตัวเองว่าอยู่เหนือสามีได้ แต่หล่อนจะต้องไม่ห่างหายไปจากข้างกายของเขา”

แนวคิดเรื่องเพศแบบวิคตอเรียนได้นำไปสู่หนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์แฟชั่น นั่นคือปรากฏการณ์ที่ชื่อ ‘การสละทิ้งของเพศชายผู้ยิ่งใหญ่’ (The Great Male Renunciation) ซึ่งหมายถึงการแยกขาดนิยามแฟชั่นของผู้ชายจากเดิมที่เคยหลงใหลในความฟูฟ่องพองฟูของเสื้อผ้าไปสู่นิยามที่มองว่าแฟชั่นสำหรับผู้ชายคือเรื่องของ ‘การใช้สอย’ (function) มากกว่าความงาม ซึ่งควรเป็นเรื่องของผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ ความสวยงามของเครื่องแต่งกายจึงกลายเป็นคุณค่าสำหรับผู้หญิงที่อยู่กับบ้านเท่านั้นจะพึงให้ความสำคัญ ในขณะที่ผู้ชายซึ่งชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานดำเนินอยู่ข้างนอกนั้น แฟชั่นเป็นเรื่องเสียเวลา ไร้สาระ และไม่สลักสำคัญนักเมื่อเทียบกับความคล่องแคล่วและเรียบง่ายของเสื้อผ้า พูดอีกอย่างคือ เสื้อผ้าของผู้ชายกลายเป็นเรื่องของตรรกะและเหตุผล ในขณะที่เสื้อผ้าของผู้หญิงเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก

ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้กางเกงกลายเป็นเครื่องแต่งกายที่นิยามความเป็นผู้ชายอย่างชัดเจนซึ่งอิทธิพลของมันก็ยังปรากฏให้เห็นได้อย่างเด่นชัดในปัจจุบัน ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า แนวคิดซึ่งมองว่าเสื้อผ้าของผู้ชายควรจะตัดคุณค่าเรื่องความงามทิ้งไปและยึดโยงอยู่กับประเด็นการใช้สอยเท่านั้นยังได้แพร่กระจายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีกด้วย ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่ว่านี้ 

ในหนังสือ Ametora: How Japan Saved American Style ของ W. David Marx ได้อธิบายว่า หนึ่งในอิทธิพลทางความคิดของตะวันตกที่มองว่าเสื้อผ้าของผู้ชายควรเป็นความเรียบง่ายแทรกซึมเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ผ่านการเข้ามาของเสื้อสูทแบบตะวันตก และนำไปสู่คำอธิบายว่า ผู้ชายญี่ปุ่นไม่ควรจะสนใจเรื่องแฟชั่นแต่ควรจะให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยของเสื้อผ้ามากกว่า 

Toby Slade นักวิชาการด้านแฟชั่นอีกคนชี้ว่า “แนวคิดเรื่องความเป็นชายได้ส่งผลให้ผู้ชายญี่ปุ่นเข้าใจว่าพวกเขาไม่ควรจะให้ความสำคัญกับการแต่งตัวมากนัก เช่นกันที่พวกเขาก็ไม่ควรจะเสียเวลากับการพิจารณาว่าตัวเองควรจะสวมใส่อะไร” ในแง่นี้ ชุดสูทจึงกลายเป็นเครื่องแต่งกายที่ตอบโจทย์อย่างที่สุด เพราะไม่เพียงแค่ลักษณะของชุดจะสะท้อนให้เห็นความซีเรียสจริงจังอันเป็นคุณสมบัติสำคัญของความเป็นชาย แต่ชุดสูทยังเป็นเสื้อผ้าที่ผู้ชายสามารถสวมใส่ซ้ำๆ ได้ทุกวันแบบที่ยังจะดูดีอยู่เสมอ โดยไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลามานั่งคิดว่าวันนี้จะใส่เสื้อผ้าตัวไหนดี อะไรแบบนี้ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้หญิงก็พอ

ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ว่า แล้วผู้ชายสามารถสวมใส่กระโปรงได้ไหม หากพิจารณาจากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นว่า ความพยายามจะยึดโยงเสื้อผ้ากับเพศสภาวะของผู้สวมใส่คือปรากฏการณ์ของโลกตะวันตกที่ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก และถึงที่สุดแล้ว กระโปรงในฐานะเสื้อผ้าของผู้หญิงก็เป็นเพียงแค่นิยามแฟชั่นของพื้นที่หนึ่งเท่านั้น เพราะหากเราลองพิจารณาพื้นที่อื่นๆ ในโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะในอดีต แต่ยังรวมถึงปัจจุบัน เครื่องแต่งกายที่มีลักษณะคล้ายกระโปรงยังคงถูกสวมใส่อย่างแพร่หลายโดยกลุ่มบุคคลที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็น ‘คิลต์ (Kilt)’ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกระโปรงสั้นพับจีบซึ่งถูกสวมใส่โดยผู้ชายชาวสกอตแลนด์ ‘โสร่ง’ หรือ ‘โลงจี’ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่ผู้ชายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเมียนมาและมาเลเซียยังคงใส่กันอย่างเป็นเรื่องปกติ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือฟิจิกับเครื่องแต่งกายประจำชาติชื่อว่า ‘ซูลู’ (Sulu) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกระโปรง และสวมใส่กันโดยทั่วไปไม่ว่าจะในกลุ่มผู้ชายหรือผู้หญิง ซูลูมีลักษณะเป็นผ้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยที่ผู้สวมใส่ก็จะนำผ้าผืนนี้มาพันรอบสะโพกก่อนจะผูกยึดเข้ากับเอวคล้ายๆ ผ้าถุง หรือบ้างก็ใช้เข็มขัด หนึ่งในสไตล์ที่แพร่หลายในกลุ่มผู้ชายชาวฟิจิคือการจับคู่ซูลูเข้ากับชุดสูท นั่นคือในขณะที่ร่างกายส่วนบนของเขาจะสวมเสื้อสูทสไตล์ตะวันตกทั่วไป ทว่าร่างกายส่วนล่างของพวกเขากลับสวมใส่ซูลูซึ่งสั่งตัดเย็บพิเศษเพื่อให้แมตช์กับสไตล์แฟชั่นของเขา นอกจากนี้ซูลูยังถือเป็นเครื่องแต่งกายที่กองทัพฟิจิสวมใส่ในพิธีต่างๆ อีกด้วย

หรือกระทั่งแบรนด์แฟชั่นของสังคมตะวันตกหลายๆ แบรนด์ในปัจจุบันก็มีการดีไซน์ ‘กระโปรงผู้ชาย’ (man skirt) กันมากขึ้น แบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Rick Owens, Thom Browne และ Raf Simons ต่างก็เคยออกแบบหรือยังคงตัดเย็บกระโปรงผู้ชายสำหรับคอลเลกชั่นต่างๆ  โดยที่กระโปรงผู้ชายซึ่งแบรนด์เหล่านี้ตัดเย็บก็ล้วนให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางสรีสะที่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายอีกด้วย

ถึงที่สุดแล้วแม้ว่ากรณีของแฮร์รี่ สไตล์ส จะสร้างข้อถกเถียงอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันผู้ชายเริ่มหันมาสวมใส่กระโปรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าในแง่หนึ่งปรากฏการณ์นี้คือความพยายามที่จะท้าทายบรรทัดฐานของสังคมตะวันตกที่พยายามจะประกอบสร้างเพศภาวะของปัจเจกบุคคลผ่านตัวเลือกของเสื้อผ้า และขณะเดียวกันมันก็เป็นการขยายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับนิยามของแฟชั่นสำหรับปัจเจกบุคคลที่จะได้มีอิสระในการเลือกเสื้อผ้าที่เขาจะสวมใส่ได้อย่างที่ใจเขาต้องการ

และถึงที่สุดมันก็อาจย้อนกลับมาสู่ประโยคที่เรียบง่ายที่สุด แค่ว่า ‘ถ้าเขาอยากจะใส่อะไร ก็ให้เขาได้ใส่ในสิ่งที่เขาอยากใส่เถอะ’ นั่นเพราะในบางสังคมที่เสรีภาพเริ่มจะกลายเป็นอะไรที่หาได้ยาก อย่างน้อยๆ เสรีภาพบนเรือนร่างก็ย่อมจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรจะช่วยกันปกป้องไว้ไม่ใช่หรือ

AUTHOR