คุยกับผู้นำ ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ กลุ่มคนที่ไม่อยากให้เชียงใหม่กลับไปมีอากาศแย่อันดับ 1 ของโลก

“วันนี้ดีนะ” สภาลมหายใจเชียงใหม่

ชายตรงหน้าตอบเมื่อเราถามถึงอากาศเชียงใหม่ เบื้องหลังของเขาคือวิวดอยสุเทพอยู่ไกลๆ แต่ยังมองเห็นเป็นรูปทรงภูเขาได้ชัดเจน

ถ้าถามคำถามนี้ 2-3 วันก่อนหน้าคงไม่ได้คำตอบแบบนี้แน่ๆ เขาบอกด้วยน้ำเสียงกึ่งหยอก เพราะสภาพอากาศในหลายวันนั้นไม่ค่อยเป็นมิตรกับรูจมูกเท่าไหร่ จะว่าไปก็คล้ายกับสภาพอากาศในช่วงต้นปี 2562

ตอนนั้นเชียงใหม่ประสบปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ติดอันดับหนึ่งของโลก

อันดับสูงลิ่วที่ไม่น่าดีใจเลยสักนิดนี้เองคือเหตุผลให้เขาคิดก่อตั้ง ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ องค์กรที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนหลายโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศที่คนเชียงใหม่ใช้หายใจ ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ในแวดวงสิ่งแวดล้อมและการศึกษาทางเลือก ชื่อของ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ คงเป็นที่คุ้นหูของหลายคน เพราะเขาคืออดีตผู้อำนวยการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เป็นแกนนำในการสร้างกองทุนชุมชนคนรักป่าที่พาศิลปินสัญจรไปวาดรูปในแหล่งต้นน้ำเพื่อประมูล (ชัชวาลย์แอบเล่าว่า ณ ขณะนั้น เขาพบ คามิน เลิศชัยประเสริฐ เป็นครั้งแรกด้วย) และมองในมุมคนที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องฝุ่นควัน เขาคนนี้เป็นตัวแทนของชาวประชาในการเจรจาแก้ไขปัญหากับรัฐตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เชียงใหม่เกิดปัญหา และหลายคนคงไม่แปลกใจที่เห็นชื่อเขาเป็นหนึ่งในเลขาธิการกลุ่มสภาฯ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลักดันประเด็นนี้โดยเฉพาะ

อะไรที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสิ่งนี้ร่วมกับภาครัฐ จริงๆ สภาลมหายใจเชียงใหม่จัดการเรื่องอะไร และการพัฒนาคุณภาพอากาศสำคัญต่อตัวเขาและคนเชียงใหม่แค่ไหน ในวันอากาศดีที่นิทรรศการ ART auction for AIR เปิดให้รับชมเป็นวันแรก เราจึงนัดเจอชัชวาลย์เพื่อคุยถึงที่มาที่ไปของเรื่องทั้งหมด

เราสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอด แล้วบทสนทนาว่าด้วยลมหายใจกับชัชวาลย์ก็เริ่มต้น

เมื่อการเผาไม่ใช่สาเหตุเดียวของปัญหาฝุ่นควัน สภาลมหายใจเชียงใหม่

ก่อนที่จะรู้ว่าสภาลมหายใจช่วยเมืองเชียงใหม่ยังไง เรามีสิ่งที่ติดค้างในใจมานานคือความสงสัยว่าฝุ่นควันเจ้าปัญหาพวกนี้มาจากไหน

ว่ากันตามตรง เมื่อนึกถึงปัญหาฝุ่นควัน เรามักนึกไปถึงข่าวการเผาไร่ข้าวโพดบนดอยที่ก่อควันขโมงใหญ่แล้วลอยสู่ชั้นบรรยากาศทุกที

แล้วอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่ เราถาม

“ถ้าจะมองให้ลึกลงไป สาเหตุของหมอกควันคือการพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างรุนแรง” ชัชวาลย์ไขข้อข้องใจ ก่อนเริ่มต้นอธิบายให้เราได้เห็นภาพชัดว่า สาเหตุหลักของปัญหาหมอกควันแบ่งเป็น 5 ข้อใหญ่ๆ

หนึ่ง คือการจัดการทรัพยากรของรัฐมีปัญหา การจัดการระบบที่รัฐทำในปัจจุบันไม่สามารถจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืนได้ ทำให้พื้นที่สีเขียวลดลงตลอดเวลา

สอง คือการเข้ามาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ไร่ข้าวโพดที่ส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวแล้วใช้การเผาไร่เพื่อปลูกใหม่

สาม คือระบบนิเวศป่าไม้เกิดเสียสมดุล ป่าที่เชียงใหม่มีลักษณะเป็นป่าผลัดใบและป่าดิบชื้น โดยทั่วไปหากในเขตป่าผลัดใบมีการทิ้งใบจากต้นทั้งหมดเรียบร้อย จะเกิดการไหม้เองตามธรรมชาติจนลามไปถึงอีกเขต และถูกความชื้นของป่าเขตนั้นหยุดโดยอัตโนมัติ

แต่ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้กระบวนการนี้รวน ความชื้นจากเขตป่าดิบชื้นไม่สามารถหยุดการลามของไฟป่าได้ ทำให้เกิด ‘ยุทธการชิงเผา’ ของชาวบ้านตามมา ใครๆ ก็หวังดีอยากควบคุมไฟป่าที่อาจลามเกินกว่าเหตุ

ประเด็นอยู่ตรงที่รัฐไม่เข้าใจว่ายุทธการชิงเผาสร้างประโยชน์ยังไง

“ที่ผ่านมารัฐไม่ยอมรับให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการป่า แล้วใช้มาตรการทวงคืนผืนป่า ซึ่งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ด้วย เมื่อเกิดความขัดแย้ง ความร่วมมือก็ไม่เกิด” ชัชวาลย์เล่า และลิสต์ให้ฟังต่อว่า นอกจากฝั่งคนที่ใช้ชีวิตติดป่าแล้ว ควันจากยานพาหนะ การเผาขยะ การเปิดแอร์ ควันไฟจากการทำครัวในบ้านและร้านค้าของสังคมเมืองนั้นคือสาเหตุประการที่สี่

“อีกอันคือเพื่อนบ้าน” ชัชวาลย์พูดถึงสาเหตุสุดท้าย “ช่วงไม่กี่ปีมานี้หลายบริษัทมีการส่งเสริมการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในเขตพม่า ลาว สังเกตได้จาก hotspot ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้มาก ควันพิษจากที่นั่นก็จะเข้ามาในแอ่งกระทะของเมืองเชียงใหม่ด้วย”

ชัชวาลย์บอกเราว่า ตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดหมอกควันในเชียงใหม่คือสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก (climate change) ที่ร้อนขึ้น รวมถึงมีภาวะการกดอากาศสูงจากประเทศจีนเข้ามาปกคลุมเมืองเชียงใหม่ นี่แหละคือภาวะเจ้าปัญหาที่เป็นดั่งฝาชีครอบเมืองเชียงใหม่ กันการระบายออกของอากาศร้อนและฝุ่นควัน จนในที่สุดก็เกิดการสะสม

“ที่ผ่านมา รัฐมองปัญหาฝุ่นควันเป็นปัญหาภัยพิบัติ เหมือนน้ำท่วม ฝนแล้ง มีความพยายามแก้ปัญหามาเป็นระลอกๆ เราเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอยู่ในบางช่วงที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้าไปแลกเปลี่ยน พูดคุย และแก้ปัญหากันในช่วงหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะภาครัฐเป็นคนกำหนดกติกาในการแก้ปัญหา คือนโยบาย 60 วันห้ามเผา ใครเผาโดนจับมาตรการเดียวมาโดยตลอด ซึ่งเรามองว่าเป็นการวิเคราะห์ที่ผิด มันเลยแก้ปัญหาไม่ได้” ชัชวาลย์ชี้

“ปัญหานี้ต้องเปลี่ยนจากสำนึก เข้าใจสถานการณ์ เข้าใจความจริง แล้วเปลี่ยนพฤติกรรม จากการกวาดใบไม้ทุกวันแล้วนำไปเผา ก็เอาไปทำปุ๋ยได้ไหม เปลี่ยนจากการผลิตเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้นได้ไหม ระบบการจัดการป่ามีแนวป้องกันไฟที่ชัดเจน มีการดูแลจัดการที่เป็นระบบขึ้น เป็นไร่หมุนเวียนที่มีการบริหารการเผา”

“หากจะแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จ ต้องปรับพฤติกรรมทางสังคม กระบวนการผลิต ปรับไปด้วยกันทั้งองคาพยพ”

สภาที่สร้างขึ้นมาเพื่อดูแลลมหายใจ สภาลมหายใจเชียงใหม่

จากการมองเห็นปัญหาและทางออกเช่นนั้น ประกอบกับสภาวะฝุ่นควันในเชียงใหม่ที่พูดได้ว่าร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ชัชวาลย์จึงจัดสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘การนั่งคุยกัน’ ของภาคประชาชนเพื่อทบทวนสถานการณ์ที่ผ่านมา และตัดสินใจว่ามันถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะมีส่วนเข้าไปแก้ปัญหานี้ร่วมกับรัฐ

“ปีที่แล้ว (2562) ต้องถือว่าเป็นจุดสตาร์ทที่สำคัญมาก เพราะปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลก ทุกคนรู้สึกอึดอัดในการที่ต้องเผชิญกับวิกฤต หลายคนเป็นโรค หลายคนอยากจะย้ายหนีออกจากเชียงใหม่ หลายคนโวยวายภาครัฐ หลายคนก็ลุกขึ้นมาถามว่าเราจะอยู่กันแบบนี้ตลอดไปเหรอ เริ่มมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องว่าเราคงไม่ปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

“จากการที่ดูรัฐทำมาโดยฝ่ายเดียว ยังไงก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะวิธีการแก้ปัญหาไม่ถูก เราก็เลยมานั่งคุยกันว่า จริงๆ การเผาไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ควัน ซึ่งอันนี้มีงานวิจัยรองรับด้วย และชาวบ้านเขาก็มีภูมิปัญญาในการจัดการเผาแบบหมดจด ถ้าปล่อยใบไม้ให้แห้งชัดเจน มีการสร้างแนวกันไฟและดูแลดีๆ เนี่ย เผาชั่วโมงเดียวก็หมดแล้ว แบบไม่มีควันด้วย”

ชัชวาลย์พบว่า ใบไม้ก็มีเวลาของมัน และป่าในเชียงใหม่สามารถแบ่งได้เป็น 3 โซนหลักตามทิศคือใต้ กลาง เหนือ การแห้งของใบไม้ในแต่ละโซนนั้นแปรผันต่อเวลาที่ควรเผา อย่างตอนใต้ของจังหวัด เวลาที่จะเผามากที่สุดคือเดือนมกราคม ไล่มาสู่โซนกลางและโซนเหนือที่ควรเผาในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมตามลำดับ ซึ่งเวลาเหล่านี้ขัดต่อนโยบายหลักของรัฐที่ล็อกวันเผาให้อยู่ในช่วงมีนาคม-เมษายน

ด้วยนโยบายที่ขัดกับภาพความจริงนี้ ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ จึงเกิดขึ้นในฐานะกลุ่มอาสาสมัครเพื่อสังคมที่จะช่วยผลักดันให้เสียงของประชาชนดังไปถึงหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบ เพื่อนำเสนอแนวคิดและกระบวนการทำงานใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน

หรือในกรณีนี้ คือการนำเสนอกระบวนการทำงานของชาวบ้านผู้เข้าใจต้นตอของปัญหาเป็นอย่างดี

“หลังจากที่เราเจรจามาหลายรอบ ทางจังหวัดก็ยอมรับและเริ่มให้อำเภอเป็นคนตัดสินใจในการเผา โดยใช้ข้อเท็จจริงจากพื้นที่เป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นก็ยืดหยุ่นไม่เอา 60 วัน แต่ให้เผาตามความเป็นจริงของพื้นที่นั้น”

นอกจากนโยบายการเผาตามเวลาของใบไม้ สภาลมหายใจเชียงใหม่ยังสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยผลักดันให้ออกนโยบายที่สนับสนุนอย่างชัดเจน เช่น นโยบายตลาดปลอดการเผา หากแบรนด์สินค้าใดใช้วิธีทำเกษตรอินทรีย์ หรือทำเกษตรแบบไม่เกี่ยวข้องกับการเผาเลยก็จะได้รับการโปรโมตในรูปแบบ ‘สินค้าปลอดฝุ่น’

อีกหน้าที่คือการพยายามจับคู่กันระหว่างหน่วยงานวิชาการกับพี่น้องชุมชน ชัชวาลย์อยากให้สภาลมหายใจเชียงใหม่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ ให้ชุมชนสามารถวางแผนการลดฝุ่นควันได้ในทุกกิจกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป คงวิถีชีวิตแบบเดิมไว้ แค่สร้างควันให้น้อยลง

นอกจากนี้ สิ่งที่สภาลมหายใจเชียงใหม่ให้ความสำคัญคือการเปลี่ยนมายด์เซตของคนเมืองที่มีต่อคนชนบท ยุติการโทษกันไปโทษกันมาและจับมือแก้ปัญหา เพราะทุกคนต่างก็ก่อสาเหตุของฝุ่นควันกันทั้งนั้น

“คนในเมืองมักบอกว่า ชาวบ้านอยู่ในป่า ออกมาจากป่าสิ เลิกเผาได้ไหม แต่ถ้าเราบอกคนในเมืองว่า คุณหยุดใช้รถได้ไหม หยุดใช้แอร์ได้ไหม เขาจะรู้สึกว่าล่วงละเมิดสิทธิ

“สิ่งที่เราทำก็เหมือนการช่วยให้เกิดความเข้าใจระหว่างคนเมืองกับคนชนบท เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามันมีอคติ มีวาทกรรมที่ประทับตราแล้วทำให้คนกลายเป็นแพะ กลายเป็นจำเลยตลอดเวลา อันนี้ต้องเข้าใจใหม่ เป็นการเข้าใจใหม่ที่เป็นการเข้าใจความจริง แล้วไปด้วยกัน”

ศิลปะเพื่อลมหายใจ

ความโดดเด่นของกิจกรรมของสภาลมหายใจเชียงใหม่ที่ทำให้เรารู้สึกจับต้องได้ คือการตั้งใจออกแบบกิจกรรมต่างๆ ไม่ให้อยู่ในลักษณะของอีเวนต์ แต่เป็น movement เพื่อการแก้ปัญหาระยะยาว

พูดให้เข้าใจง่ายคือ ไม่เหมือนโครงการงดเผา 60 วันที่ทำแล้วจบ และวนมาทุกปี แต่มีหลากหลายโครงการระยะสั้น-กลาง-ยาวมาผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เห็นภาพชัดเจน

เช่น โครงการรณรงค์ชวนปั่นจักรยานชมเมืองเก่า (แทนการใช้รถยนต์), โครงการ Car Free Day รณรงค์ให้คนเมืองใช้รถสาธารณะ, โครงการ Care Full Day รณรงค์การไปด้วยกันแบบ ‘คนเต็มคัน’ ดีกว่าจะใช้รถหลายๆ คัน

หรือโครงการล่าสุดที่ทำให้เราได้มานั่งคุยกับเขาตรงนี้อย่าง ‘Art auction for Air’ โครงการจัดแสดงนิทรรศการและประมูลงานศิลปะ เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนการทำแนวกันไฟของชาวบ้านในชุมชนนำร่อง 32 ตำบล (อำเภอละ 1 ตำบล รวมทั้งสิ้น 25 อำเภอ บวกกับชุมชนของชาวเขาอีก 7 ชุมชน) รวมไปถึงการสนับสนุนเทคโนโลยีที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนการเกษตรในบางพื้นที่ที่เปลี่ยนจากการเผามาเป็นทำลายด้วยวิธีอื่น เช่น เทคโนโลยีอัดฟางข้าวหลังการเกี่ยวให้เป็นแท่ง หรือเทคโนโลยีการบดกิ่งลำไยให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์

สภาลมหายใจเชียงใหม่

“เรากับคามินเคยทำงานด้วยกันมาก่อนในกองทุนชุมชนคนรักป่า” ชัชวาลย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเขากับคามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินผู้เป็นแกนนำของการจัดแสดงงานครั้งนี้ “มีโอกาสได้เจอคามินที่โหล่งฮิมคาวบ้านเราเอง ก็คุยปรารภเรื่องนี้กัน บอกคามินว่าสภาลมหายใจฯ อยากจะหาทุนในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ เขาก็เลยคิดหาวิธีช่วย

“วันหนึ่งเขาเลยนัดประชุมศิลปินที่บ้านเขา มีศิลปินมาเข้าร่วมประมาณ 30 คน แล้วให้ผมไปคุยว่าสถานการณ์กลุ่มควันตอนนี้เป็นยังไง เกิดจากอะไร ตอนนี้สภาลมหายใจฯ คิดจะทำอะไรอยู่บ้าง แล้วศิลปินจะช่วยเรื่องงานศิลปะได้ยังไง หลังจากนั้นก็ได้ไอเดียตั้งเป็น ‘เครือข่ายศิลปินเพื่อลมหายใจ’ มีอิสระในการขับเคลื่อน ก็มีข้อตกลง สัญญาใจกันเล็กๆ ว่าเมื่อได้ทุนมาแล้วจะไปสมทบช่วยชุมชนทำแนวกันไฟ ส่วนหนึ่งก็ต้องแบ่งมาช่วยศิลปิน ให้จัดกิจกรรม แคมเปญรณรงค์ในอนาคต”

ART auction for AIR คืองานแรกที่ทางกลุ่มจัดประมูลงานของศิลปินกว่า 24 รายชื่อ ทั้งศิลปินชั้นครูอย่างคามิน เลิศชัยประเสริฐ, อินสนธิ์ วงศ์สาม, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อารยา ราษฎร์จําเริญสุข รวมถึงศิลปินรุ่นกลางที่มาช่วยสมทบอย่างอุดม แต้พานิช, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข และอีกมากมาย

ทุนที่ได้จากงานนี้ส่วนหนึ่งจะนำไปต่อยอดไปสู่โครงการต่อไป อย่างการเสวนาที่จะชวนศิลปินรุ่นใหม่มาสร้างศิลปะที่พูดเรื่องอากาศและปัญหาฝุ่นควัน รวมไปถึงการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้จากฝีมือของศิลปินเหล่านั้น

สภาลมหายใจเชียงใหม่

พลังของคนตัวเล็ก

“พอเสร็จสถานการณ์แต่ละปีเราก็ต้องมีการสรุปจากทุกภาคส่วนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ได้ผลแค่ไหน เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง อะไรที่เราจะต้องปรับแก้เพื่อทำต่อไป” ชัชวาลย์เล่าถึงการวัดผลให้เราฟัง เมื่อเราถามว่าโครงการของสภาลมหายใจเชียงใหม่จะยั่งยืนได้ยังไง

“ระยะสั้นเราทำกิจกรรมอย่างการประมูลเพื่อหาทุน ระยะกลางเราหวังว่าจะเกิดการปรับการผลิต การจัดระบบการตลาดเพื่อซัพพอร์ตการผลิตที่ปลอดฝุ่นควันอย่างเป็นระบบมากขึ้นในชุมชนนำร่อง และเราหวังว่าเราจะได้ขยายชุมชนนำร่องจาก 32 ตำบล ในปีที่สองเราหวังว่าจะเป็น 100 ตำบล ในปีที่สามเราหวังว่าจะเป็น 210 ตำบลทั่วพื้นที่เชียงใหม่”

“และในระยะยาวสุด เราหวังว่าน่าจะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งตอนนี้ก็มีคณะทำงานบางกลุ่มที่สนใจนโยบายนี้ก็ไปผลักดันร่วมกับเครือข่ายอากาศสะอาดที่กรุงเทพฯ อยู่” ชัชวาลย์พูด แล้วบอกกับเราตามตรงว่า โครงการเหล่านี้น่าจะเห็นผลจริงๆ ใน 5-10 ปี

สภาลมหายใจเชียงใหม่

แล้วในฐานะที่เป็นคนธรรมดาในท้องถิ่น เป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้เป็นอาสาสมัครของสภาเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ เราทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง

ชัชวาลย์นิ่งคิดไปครู่หนึ่งก่อนตอบ “ทุกคนมีส่วนในการสร้างกลุ่มควัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนเริ่มจากตัวเอง จะลดอะไรได้บ้าง ลดขยะได้ไหม ลดถุงพลาสติกได้ไหม ลดเผาได้ไหม เริ่มอุดหนุนอินทรีย์ได้ไหม หรือลดการใช้รถยนต์ ขี่จักรยานบ้าง เดินบ้าง หรือหยุดรถไว้ที่บ้านมานั่งรถสาธารณะบ้าง

“ทุกส่วนต้องช่วยกัน ทุกองคาพยพ อยากให้ทุกคนเข้าใจและตระหนัก เพราะความตระหนักนี่แหละจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมทั้งหมดก็นำไปสู่การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เหมือนการดูแลโลกให้มันยั่งยืนในอนาคต”

สภาลมหายใจเชียงใหม่

“ถามตรงๆ ยังมีหวังไหม” เราโยนคำถามสุดท้าย

“ในความรู้สึกของเรา เราไม่มีสิทธิ์หมดหวังนะ เพราะถ้าเราหมดหวังแล้วไม่ทำอะไรเลย เราจะตาย เพราะเราอยู่ที่นี่ เราจะจมอยู่กับหมอกควันเราก็ไม่ไหว การทำเรื่องนี้เท่ากับว่าเราช่วยตัวเราเองด้วย และช่วยภาพรวมด้วย

“เรารักเชียงใหม่มากนะ ถ้าจำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้ฝุ่นควันฝุ่นพิษ เราคงไม่มีความสุข สุขภาพแย่ สิ่งแวดล้อมแย่ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจที่แย่ มันก็แย่ไปหมด เรื่องนี้คือสิ่งที่เราอยากทำเพื่อตัวเราและเพื่อเมืองของเรา

”และอีกส่วนเราก็มีความหวังลึกๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้หลายคนได้เข้าใจเรื่องสภาวะโลกร้อน เราเชื่อว่าถ้าเราทำในจุดเล็กๆ ของเราอย่างนี้ เราเชื่อว่าที่อื่นก็คงทำของเขาอยู่ ถ้าจุดเล็กๆ เหล่านี้สามารถมาต่อกันได้ มันก็น่าจะมีพลังที่ใหญ่ขึ้น” ชัชวาลย์ทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มกว้าง


ชมนิทรรศการ ART auction for AIR ได้ที่ One Nimman ตั้งแต่ 4-10 ม.ค. 2563 ติดตามดูรายละเอียดและผลงานของศิลปินที่เปิดประมูลในโปรเจกต์ได้ ที่นี่ และติดตามข่าวสารของ สภาลมหายใจ ได้ ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่จังหวัดเชียงใหม่