Oppenheimer จิตใจที่แตกสลายของผู้ทำลายโลก

*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์*

หากใครติดตามผลงานของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) มาบ้าง อาจไม่แปลกใจที่ผู้กำกับชาวอังกฤษท่านนี้เลือกเล่าเรื่องของนักฟิสิกส์ทฤษฎี เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ผู้ได้รับฉายาบิดาแห่งระเบิดนิวเคลียร์ 

เพราะประเด็นว่าด้วย ‘หายนะจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์’ ก็ปรากฏให้เห็นบ่อยในหนังของโนแลน ตั้งแต่ใน Batman Begins (2005) ที่เครื่องปล่อยพลังคลื่นไมโครเวฟถูกวายร้ายนำไปใช้ทำลายเมือง หรือใน Tenet (2020) ที่เทคโนโลยีการย้อนเวลานำพาสงครามโลกครั้งที่สามมาสู่มนุษย์

โดย Oppenheimer (2023) ดัดแปลงจาก American Prometheus หนังสือชีวประวัติของ ออปเพนไฮเมอร์ ที่ตีพิพม์ในปี 2005 ตัวหนังพาเราย้อนเวลาไปยุคสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อสำรวจชีวิตของนักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้นี้ตั้งแต่ตอนที่เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำ ‘โปรเจกต์แมนแฮตตัน’ ในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมาเพื่อต่อกรกับพรรคนาซี จนถึงเหตุการณ์หลังการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่สร้างมันต่อการเมืองระหว่างประเทศ และต่ออนาคตของมนุษยชาติ

“บัดนี้ข้าคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลก”

หนึ่งในนักแสดงหลัก แมตต์ เดมอน (Matt Damon) ได้ออกมาบอกว่าสคริปต์ของ Oppenheimer นั้นไม่เหมือนสคริปต์ไหนที่เขาเคยอ่าน เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่โนแลนเขียนสคริปต์หนังในมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งโนแลนได้ให้เหตุผลไว้ว่า เขาต้องการให้ใครก็ตามที่อ่านบทนี้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าหนังพยายามเข้าไปสำรวจจิตใจของออปเพนไฮเมอร์อย่างเต็มที่

และหน้าที่ในการทำความเข้าใจและถ่ายทอดตัวละครนี้ก็ตกเป็นของ คิลเลียน เมอร์ฟีย์ (Cillian Murphy) ผู้ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่านี่เป็นหนึ่งในบทที่ยากที่สุดที่เขาเคยแสดงมา ซึ่งคิลเลียนก็สามารถถ่ายทอดความแตกสลายของตัวละครนี้ออกมาอย่างน่าเชื่อถือ ตั้งแต่การลดน้ำหนักเพื่อให้มีรูปร่างผอมบางใกล้เคียงออปเพนไฮเมอร์ที่สุด หรือการใช้แววตาแบบ ‘Thousand-yard stare’ อันเป็นแววตาของคนที่ประสบกับบาดแผลทางใจจากการที่อาวุธของตนถูกใช้คร่าชีวิตคนนับแสนและตระหนักถึงความน่ากลัวของสิ่งที่ตัวเองสร้าง 

ความสำเร็จและความเจ็บปวดของออปเพนไฮเมอร์ยังถูกเปรียบเปรยผ่านเรื่องราวของเทพเจ้ากรีก ‘โพรมีธีอุส’ ผู้ขโมยไฟจากพระเจ้ามาให้มนุษย์ ซึ่งการกระทำนี้ส่งผลให้โพรมีธีอุสถูกพระเจ้าลงโทษ โดนนกอินทรีกินตับจนตายและเกิดใหม่วนไปอย่างนี้ตลอดกาล ‘ไฟ’ ของโพรมีธีอุสยังเป็นสัญญะของอาวุธนิวเคลียร์ เพราะด้วย ‘ไฟ’ นั้น มนุษย์ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีและสร้างอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ แต่ด้วย ‘ไฟ’ นั้น มนุษย์ก็ได้สร้างอาวุธอันร้ายแรงขึ้นมาด้วยเช่นกัน และด้วย ‘ไฟ’ นั้น โพรมีธีอุสและออปเพนไฮเมอร์ก็ต้องทุกข์ทรมานไปจนตาย

“พวกเขาจะไม่กลัวมันจนกว่าจะเข้าใจมัน 

และพวกเขาจะไม่เข้าใจมันจนกว่าจะได้ใช้มัน”

เมื่อ ‘เสด็จพ่อ’ แห่งวงการภาพยนตร์ผู้โด่งดังจากการเน้นใช้เอฟเฟ็กต์จริงตั้งแต่สร้างห้องจำลองความฝันที่หมุน 360 องศาได้ จนถึงเอาเครื่องบินมาวิ่งชนสนามบินจริงๆ ประกาศสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้คิดค้นระเบิดนิวเคลียร์ และยังยืนยันว่าฉากระเบิดที่สำคัญที่สุดในเรื่องอย่าง ‘Trinity Test’ หรือฉากการจุดระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลกจะไม่ใช้ซีจี เพราะโนแลนต้องการสร้างฉากระเบิดให้ออกมาน่ากลัวที่สุด ข่าวนี้ก็ได้กลายเป็นมุกตลกบนอินเทอร์เน็ตถึงกาลอวสานของโลกไปเรียบร้อย

แต่เอาจริงๆ มุกนี้ก็ทำให้เราสงสัยว่า ทางทีมงานจะจำลองการระเบิดระดับนั้นโดยไม่ใช้ซีจีได้อย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือเทคนิคการถ่ายภาพแบบสร้างมุมมองลวงตา (Forced Perspective) โดยทางทีมงานสร้างระเบิดขึ้นมาจริง แต่เป็นเวอร์ชันที่เล็กกว่าและใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันปิโตรเลียมแทนพลังงานอะตอม และถ่ายการระเบิดแบบใกล้ๆ เพื่อให้ออกมาดูใหญ่ในจอ

ต้องบอกว่าผลตอบแทนนั้นคุ้มค่ามาก ซึ่งถ้าจะมีอะไรทำให้เราไม่กลับไปดูหนังเรื่องนี้ซ้ำก็คงเป็นฉากระเบิดนี่แหละ เพราะตลอดระยะเวลาสามชั่วโมง ด้วยการผสมผสานระหว่างภาพและเสียง ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกถึงความน่ากลัวของระเบิดนิวเคลียร์จริงๆ

เท้าความก่อนว่าก่อนการระเบิด ‘Trinity Test’ ตัวหนังได้หย่อนช็อตสั้นๆ เป็นน้ำจิ้มที่ทำให้คนดูพอเห็นถึงพลังของระเบิดดังกล่าวไว้ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งแค่ช็อตเหล่านั้นก็สะเทือนเก้าอี้ในโรงได้ จนเมื่อถึงฉากที่เป็นอาหารจานหลักอย่าง ‘Trinity Test’ คนดูอย่างเราได้คาดหวังถึงแรงระเบิดไว้แล้ว ทำให้ตั้งแต่ฉากนับถอยหลังก่อนการระเบิด ทั่วทั้งโรงหนังก็หายใจได้ไม่ทั่วท้อง และในชั่วพริบตาที่การระเบิดเกิดขึ้น เราก็กลายเป็นตัวละครในจอที่ได้ประจักษ์ถึงความน่ากลัวที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน และทำให้เราเข้าใจว่าทำไมออปเพนไฮเมอร์ถึงพยายามต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์นับแต่นั้นมา

“พวกเราคิดว่ามันอาจเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่อาจทำลายโลกได้… 

…ผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นแล้ว”

และสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เมื่อพูดถึงหนังของผู้กำกับคนนี้ก็คือ ‘เวลา’ โนแลนเป็นผู้กำกับ ‘Auteur’ ที่มีลายเซ็นเด่นชัดในเรื่องของ ‘เวลา’ มาแต่ไหนแต่ไร อย่าง Memento (2000) ที่เล่าเรื่องตัดสลับอดีตและปัจจุบันเพื่อจำลองสภาวะความจำเสื่อมของตัวเอก Inception (2010) ที่เวลาเดินช้าเร็วต่างกันไปตามห้วงความฝัน Dunkirk (2017) ที่เล่าผ่านสามเส้นเรื่องซึ่งเกิดในระยะเวลาก่อนหลังต่างกัน หรือในภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า Tenet (2020) ที่เวลาสามารถไหลย้อนกลับได้

ภาพยนตร์ Oppenheimer เองก็หนีไม่พ้น ‘ความไม่เป็นเส้นตรงของเวลา’ เพราะในครึ่งแรก นอกจากตัวหนังจะเล่าถึงการสร้างระเบิดปรมาณูในปี 1942-1945 แล้ว ยังมีการแทรกเหตุการณ์หลัง ‘Trinity Test’ ในปี 1954 มาเป็นช่วงๆ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นการไต่สวนออปเพนไฮเมอร์ถึงความภักดีต่อประเทศ และการสืบพยานของ ลูอิส สเตราส์ (Lewis Strauss) หนึ่งในคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู เพื่อขจัดอิทธิพลทางการเมืองของออปเพนไฮเมอร์เพราะจุดนั้นเขาพยายามผลักดันให้ยุติการพัฒนาของอาวุธนิวเคลียร์ 

ในตอนแรกเราจะไม่เข้าใจเหตุการณ์หลัง ‘Trinity Test’ เหล่านี้มากนัก เพราะตัวหนังยังไม่ให้ชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่มากพอจนสามารถนำมาประกอบเพื่อเห็นภาพรวมได้ แต่เราจะเริ่มเห็นภาพใหญ่มากขึ้นก็หลังผ่านกลางเรื่องไปแล้ว ซึ่งการเล่าเรื่องดังกล่าวเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด เพราะเราเห็นมาแล้วว่าจะเกิดอะไรต่อหลังการระเบิด และทำให้คนดูตั้งตัวได้ว่าหนังจะไม่จบหลังระเบิดถูกสร้างเสร็จและเฝ้ารอเหตุการณ์หลังจากนั้น 

ในแง่หนึ่งการเล่าเรื่องแบบนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวระเบิดนิวเคลียร์ ที่ในครึ่งแรกตัวหนังมีการหย่อนปมต่างๆ ไว้อย่างช้าๆ เหมือนกับการค่อยๆ เก็บสะสมธาตุพลูโทเนียมเพื่อรอวันประกอบกลายเป็นอาวุธสมบูรณ์ จนถึงในช่วงครึ่งหลังของเรื่องหลังจากการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ ที่แม้ฉากส่วนมากจะเป็นการพูดคุยในห้อง แต่ก็อัดแน่นไปด้วยดราม่าและความตรึงเครียดเสมือนปฏิกิริยาลูกโซ่หลังการระเบิดที่ทำเอาคนดูแทบไม่ได้พักหายใจ

“นี่ไม่ใช่อาวุธแบบใหม่ มันคือโลกใบใหม่”

และดังที่ได้กล่าวไป Oppenheimer ยังพาเราไปสำรวจสภาวะการเมืองในปี 1954 หลังการพัฒนาของระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งหลังจากออปเพนไฮเมอร์ได้เห็นถึงอานุภาพของอาวุธนิวเคลียร์ที่เขาสร้าง เขาจึงพยายามผลักดันผ่านช่องทางสาธารณะให้ยุติการใช้อาวุธเหล่านี้ซึ่งขัดกับสิ่งที่รัฐบาลอเมริกาต้องการ เพราะทางรัฐบาลต้องการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ต่อเพื่อรับมือกับสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นกับฝั่งโซเวียต

แน่นอนว่า Oppenheimer สนับสนุนแนวคิดของออปเพนไฮเมอร์ในการยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพราะตัวหนังมีการวิจารณ์กลุ่มผู้มีอำนาจอย่างหนักหน่วงในช่วงครึ่งหลัง

ในพาร์ตหนึ่ง ออปเพนไฮเมอร์ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากรัฐบาลที่พยายามดึงอดีตที่เคยยุ่งเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้เล่นงานและกำจัดอิทธิพลของเขา โดยบทสรุปของนักฟิสิกส์ผู้นี้ได้ถูกทางรัฐบาลกำหนดไว้อยู่แล้ว การไต่สวนต่างๆ จึงเป็นเพียงแค่ฉากที่ทำไปตามพิธี ซึ่งพาร์ตนี้ก็ทำเอาจุกอยู่ไม่น้อยเพราะมันสะท้อนความเป็นการเมืองที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในหลายๆ สังคมในปัจจุบัน 

หรือในฉากหนึ่งที่เหล่าผู้นำในรัฐบาลสหรัฐกำลังเลือกสถานที่ทิ้งระเบิดในญี่ปุ่น ผู้นำคนหนึ่งได้กล่าวว่า ไม่อยากให้ระเบิดลงที่โตเกียวเพราะเป็นแหล่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น ก่อนจะเสริมว่าตนกับภรรยาเคยไปฮันนีมูนและชอบที่นั่นมาก ฉากนี้ก็แสดงถึงความตลกร้ายของเหล่าผู้มีสิทธิ์เลือกให้ใครอยู่ใครตายด้วยเหตุผลอันไร้สาระ

และในฉากสุดท้ายที่ออปเพนไฮเมอร์คุยกับไอน์สไตน์ จะเห็นได้ตั้งแต่ตัวอย่างแล้วว่า Oppenheimer จะมีทั้งภาพสีและภาพขาวดำ (ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ IMAX ถ่ายในภาพขาวดำ พูดได้ว่าหากออปเพนไฮเมอร์เป็นบิดาแห่งระเบิดนิวเคลียร์ โนแลนก็เป็นบิดาแห่งกล้อง IMAX ภาพขาวดำ) ซึ่งภาพขาวดำแทนมุมมองของสเตราส์ผู้หมกมุ่นว่าพระเอกคุยเรื่องอะไรกับไอน์สไตน์ สเตราส์กลัวว่าออปเพนไฮเมอร์ไปเป่าหูไอน์สไตน์ให้เกลียดเขา ในขณะที่ภาพสีแทนมุมมองของออปเพนไฮเมอร์ที่ในตอนสุดท้ายเฉลยว่า พวกเขาไม่ได้พูดถึงสเตราส์เลยแต่พูดถึงเรื่องที่น่ากลัวกว่านั้นมาก นั่นคือปฏิกิริยาลูกโซ่จากการกดระเบิดที่อาจทำให้เกิดการระเบิดต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุดและทำลายโลกลงทั้งใบ

ฉากดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสเตราส์นั้นมัวแต่หมกมุ่นกับเกมการเมืองของตัวเอง ในขณะที่ออปเพนไฮเมอร์ผู้รู้ถึงอำนาจของอาวุธที่ตนสร้างกลับกังวลในถึงชะตากรรมของมนุษยชาติต่อจากนี้ และถึงแม้ปฏิกริยาลูกโซ่ดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้น แต่ออปเพนไฮเมอร์ก็ตระหนักว่าตั้งแต่วินาทีที่ระเบิดนิวเคลียร์ถูกใช้งานครั้งแรก มนุษยชาติก็ไม่เพียงแต่ได้ประจักษ์กับอาวุธชนิดใหม่ แต่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ พวกเขาก็ได้ก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่เป็นที่เรียบร้อย

และสุดท้ายก็ไม่มีอะไรที่บิดาแห่งอาวุธนิวเคลียร์ผู้นี้จะสามารถทำเพื่อหยุดยั้งมันได้

อ้างอิง

https://collider.com/christopher-nolan-movies-science-destruction-oppenheimer/

https://www.businessinsider.com/how-christopher-nolan-oppenheimer-atomic-bomb-trinity-test-no-cgi-2023-7

https://time.com/6296257/oppenheimer-nuclear-nonproliferation/

https://movieweb.com/christopher-nolan-oppenheimer-script-first-person-reason/

https://metrophiladelphia.com/christopher-nolan-breaks-down-the-best-ways-to-watch-a-movie/

AUTHOR