นอนดูหนังใหม่ชนโรงที่บ้านแบบสบายใจ ใครได้? ใครเสีย?

ประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างร้อนแรงในงาน CinemaCon งานประชุมประจำปีของบรรดาเจ้าของโรงภาพยนตร์ทั้งหลาย นั่นคือการที่ผู้จัดจำหน่ายหนังขอลดระยะห่างระหว่างวันเปิดตัวหนังในโรงภาพยนตร์และการออกฉายในระบบ Video on Demand (VOD) จาก 90 วัน ให้เหลือประมาณ 30 วัน ว่าง่ายๆ คือ หลังจากหนังเข้าโรงไป 1 เดือน เราก็สามารถดูหนังเรื่องนั้นที่บ้านได้เลยผ่านระบบการซื้อหนังมาดูแบบส่งตรงถึงโทรทัศน์จอ 55 นิ้วที่บ้านท่าน แม้จะไม่พร้อมกันเป๊ะกับโรงหนัง แต่ก็เป็นฟีลลิ่งที่เกือบชนโรงจริงๆ เพราะกระแสยังไม่ทันจาง เราก็ดูหนังเรื่องนั้นได้ที่บ้านแล้ว

ความมันของการดีเบตครั้งนี้มีดารานำเป็นนายคริสโตเฟอร์ โนแลน

โนแลนแสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยในการออก VOD ที่รวดเร็วขนาดนั้น เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือผู้คนจะค่อยๆ เคยชินกับการดูหนังอยู่บ้านและไม่ออกมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์อีก ความกลัวของโนแลนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะตัวเขาเองนั้นเป็นสายโอลด์สคูลที่เคารพการชมภาพยนตร์ ในความหมายของการที่ผู้คนจำนวนมากเดินเข้ามาในโรงภาพยนตร์อันมืดมิดและจ้องสิ่งที่เกิดขึ้นบนจอขนาดใหญ่ข้างหน้าพร้อมๆ กัน มันเป็นอีเวนต์ของชุมชนที่ผู้คนสร้างร่วมกันมากกว่าจะเป็นการดูคนเดียวในห้องที่อพาร์ทเมนต์ นอกจากนั้นแล้ว คุณก็ลองดูหนังแต่ละเรื่องที่โนแลนสร้างสิ ทุกเรื่องล้วนโปรดักชันใหญ่ยักษ์และดีไซน์มาเพื่อจอใหญ่โดยเฉพาะ ผมเองมีโอกาสได้ดูหนังความยาว 7 นาที Dunkirk (2017) หนังสงครามเรื่องใหม่ของโนแลนในจอยักษ์ของ IMAX ผมก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ของเขามันก็ควรต้องดูในโรงหนังจริงๆ นั่นแหละ

อันที่จริงก่อนหน้านี้ นายฌอน พาร์กเกอร์ ผู้ก่อตั้ง Napster เคยผุดไอเดียโปรเจกต์ Screening Room ออกมาแล้ว มันคือการฉายหนังออนไลน์แบบชนโรงจริงๆ เปิดวันเดียวกันไปเลย โปรเจกต์นี้ไม่ได้ทำเอามัน แต่เป็นเพราะผู้สร้างมองเห็นจากการสำรวจตลาดว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่อยากดูหนัง แต่พวกเขาออกมาดูหนังที่โรงน้อยลงตั้งแต่ปี 2010 นั่นคือกลุ่มคนอายุ 25 – 39 ปี (อาจจะด้วยข้อจำกัดชีวิตที่มากขึ้น หรือการมีลูกมีครอบครัว) กลุ่มนี้ถือเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของตลาดคนดูทั้งหมด แต่ไอเดียนี้ก็เงียบหายไปด้วยข้อโต้แย้งสำคัญว่า คุณจะป้องกันหนังไม่ให้หลุดไปอยู่ในบิตทอร์เรนต์ได้อย่างไร และในอีกทางหนึ่ง ถ้าโปรเจกต์เกิดขึ้นได้ มันก็อาจจะเป็นการทับเส้นใครอีกหลายคน โดยเฉพาะเจ้าของโรงหนัง

ฟังดูแล้วเราก็ควรเห็นด้วยกับโนแลนและชาวคณะเจ้าของโรงหนังอยู่เหมือนกัน แต่อย่างว่า มันก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ ในเมื่อระบบ VOD ก็มีประโยชน์มากมายและอาจจะช่วยให้ประสบการณ์การดูภาพยนตร์ของคนดูอย่างเราดีขึ้นด้วยซ้ำ

คิดง่ายๆ ว่าแค่เราไปดูหนังที่โรงแล้วเจอเพื่อนร่วมโรงมารยาทมาร สายคลาสสิกอย่างพวกนั่งคุยกันทั้งเรื่องและพวกรับโทรศัพท์ขณะฉายหนัง หรือจะเป็นสายคอนเทมโพรารี่อย่างนักแชตมือถือแสงไฟแยงตาชาวบ้าน แค่นี้เราก็เซ็งสัดๆ แล้ว (แน่นอนว่าเราสามารถลุยหรือเอาเรื่องได้ แต่กว่าจะลุยเสร็จ ผมรับประกันได้เลยว่า หนังก็จะผ่านไปแล้วอีก 5 – 10 นาที รวมถึงอารมณ์ในการดูหนังต่อก็จะหมดไป) ที่สำคัญในขณะที่โรงภาพยนตร์เรียกร้องให้คนมาดูหนังที่โรง แต่โรงหนังเองก็ไม่สามารถควบคุมหรือทำความสะอาดมารยาททรามในโรงหนังได้ ว่าง่ายๆ คือใครเจอก็ซวยไป ความศักดิ์สิทธิ์ของโรงหนังก็ถูกทำให้ราคาถูกลงด้วยความน่ารำคาญเหล่านี้

เมื่อหันมาที่จอโทรทัศน์ใหญ่ไซส์ 50 นิ้วบวก ราคาหมื่นต้นๆ และคำนวนค่าใช้จ่ายต่อการไปดูหนังหนึ่งเรื่อง ค่ารถประมาณ 100 บาท ค่าตั๋วราวๆ 200 บาท และค่าน้ำดื่ม ป๊อปคอร์นอีก 100 บาท รวมกันถึง 400 บาทหรือมากกว่านั้น ยิ่งถ้าต้องเลี้ยงแฟนอีก เจอไปเลยเกือบหนึ่งพันบาท แต่ถ้าเกิดมีระบบ VOD ที่ให้คุณจ่ายเพียง 200 – 300 บาทต่อเรื่อง และสามารถดูกับแฟนได้พร้อมกัน ไม่ต้องเดินทาง เก็บเงินไว้ไปสั่งอะไรมากินที่บ้านขณะดูแทน ก็ดูจะเป็นทางเลือกในการชมภาพยนตร์ที่สงบและประหยัดอยู่เห็นๆ

ในด้านของคนสร้างหนัง ถ้าหากเป็นสตูดิโอยักษ์ใหญ่ก็คงจะยังต้องการยิงหนังตัวเองเข้าโรงหนังทั่วไปเพื่อกระจายคนดูให้ได้มากที่สุด และก็ต้องพยายามหาของเล่นและลูกเล่นมาหลอกล่อให้คนรู้สึกว่าต้องดูในโรงเท่านั้น (การถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 70 มม. แล้วบิลด์ให้คนไปดูที่จอยักษ์ของ IMAX ก็เป็นหนึ่งในการตลาด) แต่ในกลุ่มผู้สร้างรายเล็ก บางครั้งการต่อสู้เพื่อให้ได้ฉายในโรงหนังนั้นก็ยากแล้ว ดีไม่ดีคือไม่มีโรงไหนจะเอามาฉายด้วยซ้ำ ดังนั้นการพาหนังตัวเองไปเริ่มฉายที่ VOD เลยตั้งแต่ต้นก็เป็นทางออกที่น่าสนใจ เพราะอาจเสียค่าใช้จ่ายในการฉายน้อยกว่าและไม่ต้องแบ่งรายได้กับโรงหนัง ซึ่งมีคนลองทำมาแล้วหลายคนและประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่นเรื่อง Melancholia (2011) ของ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ ที่เปิดตัวใน VOD 1 เดือนล่วงหน้าก่อนไปฉายโรงจริงๆ รายได้ที่ออกมาคือ 2 ล้านดอลลาร์เท่ากันทั้ง VOD และโรงหนัง แต่ก็มีบางเรื่องที่ฉายใน VOD ได้เงินไปถึง 6 ล้านและเป็นตัวเลขที่มากกว่าตอนฉายโรงปกติด้วยซ้ำ

ในเกมนี้ อันที่จริงแทบจะเกี่ยวกับคนดูน้อยมาก มันพัวพันกันในธุรกิจผู้สร้างและเจ้าของโรงหนังมากกว่า แน่นอนว่าหากระบบนี้เกิดสำเร็จขึ้นมา โรงภาพยนตร์จะต้องมีรายได้น้อยลง และรายได้หลักของโรงภาพยนตร์ก็ไม่ใช่รายได้จากการฉายภาพยนตร์ด้วย แต่เป็นรายได้จากน้ำและป๊อปคอร์นราคาสูง

บางครั้งวัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปจากระบบรายล้อม ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวคนดูเพียงอย่างเดียว

มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้ที่สนับสนุนการชมภาพยนตร์ในโรงหนังและบูรณะฟิล์มเก่ามาตลอด ยังกล่าวเปรยๆ เล่นๆ จากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดที่เขาเริ่มต้นทำหนังกับค่าย Streaming Service อย่าง Netflix ว่า ภาพยนตร์ในความหมายที่ผมเติบโตและที่ผมสร้างนั้นได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว โรงหนังอยากฉายหนังบล็อกบัสเตอร์ ค่ายหนังอยากทำหนังบล็อกบัสเตอร์ กลายเป็นว่าหนังเรื่องใหม่ของเขาก็ต้องมาจบที่ค่ายหนังออนไลน์

บางทีการพัฒนาอาจจะเกิดขึ้นด้วยการที่ต้องฟังข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การรณรงค์จากการปรบมือข้างเดียว

AUTHOR