คริสโตเฟอร์ โนแลน และการกอบกู้ 2001 : A Space Odyssey ฉบับปรับปรุงเก่า

ที่คานส์ปีล่าสุดนี้ มีงานเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่เป็นสเตตเมนต์แสนยิ่งใหญ่ของวงการภาพยนตร์

แม้ว่าสแตนลีย์ คูบริก จะเป็นผู้กำกับที่เป็นมาสเตอร์และคลาสสิกจนถึงทุกวันนี้ขนาดไหน เขาก็เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ไม่เคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับ และไม่เคยมีหนังมาฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ นั่นทำให้เราเข้าใจว่าการได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัลนั้นไม่มีผลกระทบใดๆ กับภาพยนตร์หรืองานศิลปะชิ้นนั้น งานที่ดีจะเดินทางข้ามเวลามาได้ด้วยคนดู และในปีนี้ คนที่พาคูบริกและงานของคูบริกข้ามเวลามาคือผู้กำกับที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนี้และอดีตแฟนคลับหนังคูบริกตัวยง, คริสโตเฟอร์ โนแลน

ทุกคนรู้ดีว่าโนแลนคลั่งไคล้ความเป็นฟิล์ม 70 มม. ความเป็นจอใหญ่และความเป็นคูบริกสไตล์มากแค่ไหน ทุกอย่างได้ถูกบรรจุอยู่ใน Dunkirk เรียบร้อยหมดแล้วทั้งในตัวเนื้อหาและวิธีการฉาย ในช่วงเวลานั้น โรงภาพยนตร์หลายโรงติดตั้งเครื่องฉายฟิล์ม 70 มม.ไว้เพื่อฉาย Dunkirk โนแลนจึงเกิดไอเดียว่าไหนๆ ก็ติดเครื่องฉายกันไว้แล้ว ทำไมเราไม่เอาหนังที่เคยถูกฉายในระบบ 70 มม. กลับมาฉายอีกครั้ง บทสนทนากับสตูดิโอวอร์เนอร์สจึงเริ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายลงนามเห็นด้วยว่าหนังเรื่อง 2001 : A Space Odyssey ควรถูกนำกลับมาฉายอีกครั้ง หลังจากที่ไอเดียนี้เคยเกิดขึ้นและถูกระงับไว้เมื่อ 20 ปีก่อน พวกเขาเรียกเวอร์ชั่นนี้ว่า unrestored version

โดยปกติการเอาฟิล์มเก่ามาทำบูรณะใหม่ (restoration) นั้นมีเพื่อรักษาสภาพหนังเก่าในฐานะเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะและสังคมให้อยู่รอดต่อไป ที่ต้องซ่อมแซมรักษาก็เพราะหนังสมัยก่อนถ่ายด้วยฟิล์ม และบางเรื่องอาจจะเป็นหนังที่ถูกสร้างด้วยทุนที่น้อยหรือถูกเก็บรักษาในสภาพไม่ถูกต้อง ส่งผลให้สภาพของตัวฟิล์มที่มีอยู่แย่ลงเรื่อยๆ ถ้ายังคิดไม่ออกให้ลองคิดว่าเราถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม แต่เก็บฟิล์มไม่ดีก็อาจทำให้ภาพในม้วนฟิล์มนั้นสูญหายไปตลอดกาล แต่ปัจจุบันเราเอาฟิล์มไปล้างแล้วเราก็สแกนเก็บเข้าคอมพ์เลย ส่วนหนังเก่าๆ พวกนั้นคือภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์มแล้วเก็บไม่ดี และไม่เคยมีใครเคยเอามาสแกนเก็บ จึงมีความอันตรายในการสูญหายไปจากโลกสูงมาก

เวอร์ชั่น restored ปกติทั้งหลายจึงเป็นการเอาฟิล์มเหล่านั้นมาสแกนเข้าคอมพ์ และคลีนจุดที่สกปรกหรือจุดที่ผุพังต่างๆ ที่เกิดจากความเก่าของฟิล์มเหล่านั้น บางครั้งฟิล์มเก็บจนสีซีดเผือด หรือบางซีนฟิล์มมีรอยขูดขีด ช่างซ่อมก็ต้องเอาเทคนิคทางคอมพิวเตอร์มาทำให้มันกลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คล้ายๆ ใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อปแต่งเติมและลบริ้วรอย เพื่อที่สุดท้ายเราจะได้หนังเก่าในสภาพสวยหล่อใหม่ขึ้นอีกครั้ง

ทีนี้ปัญหาอยู่ตรงที่บางครั้งก็ซ่อม แต่งเสริม หรือปรับปรุงด้วยวิชั่นแบบคนสมัยใหม่เกินไป ทำให้หนังที่บูรณะใหม่นั้นก็ใหม่เกินไปหรือมู้ดโทนเปลี่ยนไปจากของเดิมมาก เช่น เวลาเราเจอฟิล์มสีซีดมาก พอต้องทำให้มันกลับมาสีสดเหมือนเดิมอีกครั้ง คำว่า ‘สีสดเหมือนเดิม’ จะอยู่ในนิยามของใคร บางทีเราเร่งสดเพื่อให้ดูใหม่ แต่ก็ดันสดจนผิดความตั้งใจของผู้กำกับ และบางทีผู้กำกับก็ไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นเพราะอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ถ้าผู้กำกับยังไม่ตาย เขาอาจจะบอกว่าต้นฉบับนี่มันซีดกว่าที่น้องแก้ไขมานะครับ (นึกให้ง่ายขึ้นคือผู้กำกับอยากให้ได้สีแบบฟิล์มฟูจิ แต่เราดันแก้ไขจนเฉดมันเอียงไปทางฟิล์มโกดัก มันก็ไม่เหมือนกันแล้วนะ)

ความยากคือซ่อมยังไง แก้ไขแค่ไหน ถึงจะได้ตรงกับความต้องการดั้งเดิมของผู้กำกับหรือตรงกับเวอร์ชั่นจริงที่เคยฉายในโรงภาพยนตร์สมัยก่อน นอกจากเราจะมีสีสันของภาพจากต้นฉบับจริงๆ เอาไว้เทียบตาม (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะหาไม่ค่อยได้), ดังนั้นการบูรณะฟิล์มเวอร์ชั่น restored อาจจะเป็นเวอร์ชั่นที่ใหม่และต่อชีวิตให้กับหนังเรื่องนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นฉบับที่ดีกว่าหรือตรงตามต้นฉบับอย่างที่ผู้กำกับต้องการจริงๆ

ดังนั้น โนแลนจึงตัดสินใจทำฉบับ unrestored ด้วยความตั้งใจว่า ต้องการเอา 2001 : A Space Odyssey มาฉายใหม่แบบที่ตรงตามวิชั่นของคูบริกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และแก้ไขให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เวอร์ชั่นนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความโชคดีที่สตูดิโอวอร์เนอร์สเคยมีโปรเจกต์ทำก๊อปปี้ฟิล์มของหนังเรื่องนี้สำรองเอาไว้เป็นฉบับเก็บรักษาโดยเฉพาะ และการก๊อปปี้นั้นมีโน้ตต่างๆ จากคูบริกคอยกำกับและระบุความต้องการไว้อยู่ด้วย แต่โครงการนั้นทำไม่สำเร็จเพราะไม่มีงบสนับสนุนต่อ รอบนี้จึงเป็นการสานต่อโครงการนั้นให้เรียบร้อย มันจึงเป็นการก๊อปปี้ฟิล์มฉบับนั้นมาทำต่อ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับระบบดิจิทัล เป็นการจัดการจากตัวฟิล์มโดยแท้จริง อะไรที่จำเป็นต้องซ่อมก็ซ่อม แต่อะไรซ่อมไม่ได้หรือไม่จำเป็นต้องซ่อมก็ปล่อยมันมีรอยบ้าง เป็นร่องรอยของกาลเวลา อันเป็นสิ่งที่ตัวโนแลนเรียกว่า ‘emotional information’ มันคือความบกพร่องที่มากับการล้างฟิล์มและปฏิกิริยาเคมีจริงๆ อันเป็นสิ่งที่การถ่ายทำด้วยดิจิทัลนั้นไม่มีและทดแทนไม่ได้

นี่คือผลดีของการเก็บของต้นฉบับไว้เป็นอย่างดี การเอามาบูรณะอีกครั้งจึงออกมาได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับสุดจนเรียกได้ว่าเป็นฉบับ unrestored คนรุ่นใหม่ก็มีโอกาสได้ชมความสุดขีดด้านความงามของฟิล์ม 70 มม.ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คูบริกต้องการมากที่สุดด้วย

2001 : A Space Odyssey ฉบับนี้จะฉายที่คานส์และมีเปิดฉายตามโรงต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน นี่เป็นโอกาสดีที่เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสจะได้ดูหนังเรื่องนี้ หรือจะเป็นคนแก่รุ่นเก่าที่ต้องการย้อนเวลากันอีกครั้ง ไม่ว่าพวกเขาดูแล้วจะชอบหนังเรื่องนี้หรือไม่ หนังเวอร์ชั่นนี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้ความสำคัญของการรักษาวัฒนธรรมเก่าๆ ก็เพราะหนังเก่าๆ พวกนั้นนั่นแหละที่ทำให้เรามีคริสโตเฟอร์ โนแลน ในทุกวันนี้ไม่ใช่เหรอ

ภาพประกอบ Nut.Dao

AUTHOR