เมื่อสงครามเลิก อะไรที่ Dunkirk ทิ้งไว้ให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์

โดยไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องหนังดีไม่ดีหรือชอบไม่ชอบ
สิ่งที่ Dunkirk
สร้างไว้คือการทำให้คนอยากดูหนังเรื่องนี้ด้วยความที่มันเป็นเหมือนอีเวนต์หนึ่งของเดือน
ไม่ใช่ในฐานะภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง

ใครๆ ก็ทราบดีถึงความเนิร์ดเรื่องการถ่ายฟิล์มและการดูหนังในโรงของคริสโตเฟอร์
โนแลน และดูเหมือนว่าการทำหนังเรื่อง Dunkirk นี้จะดีไซน์มาเพื่อการถ่ายฟิล์มและการดูหนังในโรงโดยเฉพาะ
โดยผลิตมันออกมาด้วยการลดบทบาทของบทภาพยนตร์ลง (เนื้อเรื่องน้อย
พล็อตนิดเดียว)
เพื่อทำให้คนดูโฟกัสกับประสบการณ์ที่อยู่ตรงหน้า

ประสบการณ์ตรงหน้าที่ว่าคือความใหญ่โตของภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์ม
70
มม. ความกระหึ่มของเสียงเบสต่ำของเรือ
ความดังปรี๊ดเสียดหู (จะแตก) ของเครื่องบินที่ทะยานข้ามหัวเราไป
สิ่งเหล่านี้ถูกกระหน่ำโปรโมตมาตลอดช่วงก่อนหนังฉาย เน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าคุณควรจะมาดูสิ่งเหล่านี้ และคุณควรจะดูในโรงภาพยนตร์ IMAX ด้วย (ห้ามดูผ่าน Netflix
นะ, โนแลนไม่ได้กล่าว
แต่เราเองที่จะกล่าวในถัดๆ ไป) เพราะการที่ดูกับหน้าจอขนาดใหญ่ที่โอบรอบตัวทำให้เรารู้สึกว่าเรา
be
there หรืออยู่ในเหตุการณ์ของหนังได้จริงๆ
สำหรับผมคิดว่านี่คือหนังที่ทำให้ IMAX ในระบบ 2D ได้มีพื้นที่ขึ้นมาจริงๆ
หลังจากที่คนมุ่งไปสนใจแต่แค่ระบบ 3D จากหนังแบบ Avatar
กลายเป็นว่าเทคนิคการถ่ายทำแบบ
70
มม. ก็สามารถทำให้คนดูออกจากบ้านมาดูที่โรงและไม่ยอมดูหนังซูมได้สำเร็จเสียที

หน้าหนังของ Dunkirk
จึงถูกอุทิศให้กับเทคนิคภาพยนตร์อันยิ่งใหญ่และวัฒนธรรมการชมหนังในโรงภาพยนตร์ที่เคยรุ่งเรืองขีดสุดในอดีต
ซึ่งเป็นหนึ่งในปณิธานการทำงานของโนแลน
ดังนั้นความรู้สึกที่เราสัมผัสได้รอบๆ จากคนดูนั่นคือ การไป experience หนังเรื่องนี้
ไม่ใช่การ ‘ไปดู’ หนังเรื่องนี้
มันเหมือนเป็นอีเวนต์หนึ่งที่ต้องออกจากบ้านมาเพื่อไปลอง, ทั้งหมดถือเป็นเรื่องดีและแปลกใหม่
ซึ่งสำหรับคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่นั้น ไอ้ความรู้สึกว่า ‘หนังเรื่องนี้ต้องดูในโรงใหญ่เท่านั้น’ เป็นสิ่งที่เราไม่ได้รู้สึกกับมันนานแล้ว
และหลังจากดูจบ เราก็ได้รับประสบการณ์สุดยิ่งใหญ่ที่ทำให้รู้สึกว่าแม่งควรต้องดูในโรงจริงๆ ด้วย
มีเหตุผลเป็นรูปธรรมชัดเจน (ไม่เหมือนหนังอื่นๆ ที่เราคิดว่าดูโรงปกติก็ทดแทนได้ หรือดูที่บ้านก็ยังพอไหว) ก็ได้แต่จินตนาการว่าสมัยสแตนลีย์
คูบริค ทำหนังสุดเอพิคอย่าง 2001: A Space Odyssey แล้วฉายโรงนั้นมันคงเป็นอะไรแบบนี้ ซาบซึ้งถึงคุณค่าของการผลิตหนังฉายโรงมากขึ้น

แต่คำถามมีอยู่ว่า สำหรับมนุษย์ที่แถวบ้านไม่มีโรง
IMAX
จะทำอย่างไร และคำถามต่อไปคือถ้าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ดูในโรง IMAX เราจะขาดทุนหรือไม่
เราจะทำให้โนแลนผิดหวังรึเปล่า
และคำถามสุดท้ายคือว่าคนทำหนังควรดีไซน์หนังให้ฉายได้แบบเต็มประสิทธิภาพเฉพาะกับโรง
IMAX
อย่างเดียวไหม

ผมได้อ่านทวีตของฝรั่งบางคนพูดถึงปัญหาเหล่านี้
ประมาณว่าเขาอยากดูโรง IMAX มากเลยนะ แต่เมืองเขาไม่มี
ถ้าจะดูก็ต้องขับรถข้ามเมืองเพื่อไปดู
ซึ่งโนแลนอาจจะบอกว่าถ้ารักเราจริงก็ต้องขับรถข้ามเมืองมาให้ได้สิ
แต่คนดูทุกคนก็อาจจะไม่มีต้นทุนขนาดนั้น
คล้ายๆ กับการดูคอนเสิร์ตวงดนตรีดังๆ ของเมืองนอกที่บางคนต้องยอมดูที่เมืองไทยที่อุปกรณ์อาจจะไม่ยิ่งใหญ่
เพราะพวกเขาก็ไม่มีเงินมากพอที่จะไปดู live in tokyo ที่ครบเครื่องสมบูรณ์

ยิ่งโนแลนออกตัวว่าเขาต่อต้าน Netflix
และสนับสนุนการดูในโรงมากๆ
เราก็ยิ่งเกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรในการกอบกู้วัฒนธรรมการเสพพลังภาพยนตร์ในโรง
ในยุคสมัยที่เราไม่มีโรงเพียงพอจะรองรับการกอบกู้นั้น ประเทศไทยยังโชคดีที่โรง IMAX บ้านเราเป็น
1
ใน
5
ประเทศในโลกที่ยังฉายหนังแบบฟิล์มจริงๆ ได้อยู่
(แม้ว่าจะฉายแล้วพังไป 2 – 3 วันจนต้องรีบซ่อมก็ตาม) แต่โรงอื่นๆ ที่ฉายฟิล์มไม่ได้ก็ต้องฉายแบบ IMAX with Laser ไปซึ่งภาพจะมืดกว่าเล็กน้อย
นอกจากนั้น ในยุคนี้ก็มีคนทำหนังเพียงไม่กี่คนที่ยังมีอำนาจต่อรองพอที่จะถ่ายหนังด้วยฟิล์มได้
ถ้าพวกเขาไม่ยอมถ่ายดิจิตอล (หรือไม่ทำหนังกับ Netflix)
พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ได้ทำหนังเลย

สิ่งที่โนแลนพูดไม่ได้มีอะไรผิด
การถ่ายฟิล์มมันดีกว่าจริงๆ การดูหนังในโรงมันดีกว่าจริงๆ เราสนับสนุนมาก เพียงแต่ในสภาพความเป็นจริง
เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสิ่งนี้มันจะอยู่ได้นานแค่ไหน
และจะมีกี่คนที่ทำได้อย่างเขา (แน่นอนว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะความเป็นคริสโตเฟอร์
โนแลน
แน่นอนว่าเขาไม่ได้เกิดมาแล้วเป็นโนแลนเลย
เขาเองก็ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อพิสูจน์ตัวเองกว่าจะมาถึงจุดนี้
และแน่นอนว่าสตูดิโอคงไม่ได้อนุญาตให้โลกมีโนแลนได้หลายคน)

เช่นเดียวกับในเรื่อง Dunkirk, สงครามแห่งธุรกิจภาพยนตร์
ทหารแต่ละคนก็ต่างมีวิธีการเอาชีวิตรอดที่แตกต่างกัน

AUTHOR