‘อีบุ๊กจะมา หนังสือเล่มจะหายไป’ ประโยคนี้จะล้าสมัยสุดๆ ในอีกไม่นาน

Highlights

  • ผลประกอบการธุรกิจหนังสือในประเทศอังกฤษประจำปี 2017 ถูกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นตัวเลขที่ชวนให้ปีติอย่างมาก เพราะตลาดรวมปีที่ผ่านมาเติบโต 4% และหนังสือที่ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 60% ของรายได้สำนักพิมพ์
  • นั่นแสดงให้เห็นว่ารายได้อีบุ๊กทั้งการขายในและนอกประเทศลดลงต่อเนื่องในรอบสามปีหลัง ที่สวนทางขึ้นมาคือการขายหนังสือเล่มที่เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2017 ตัวเลขการเติบโตอยู่ที่ 5% สื่อในอังกฤษใช้คำอธิบายว่า “Physical book sales continue to outpace digital” หรือ “หนังสือเล่มยังคงเติบโตแซงหน้าอีบุ๊ก” ซึ่งใครจะเชื่อว่าจะมีวันนี้
  • สื่อการสอนภาษาอังกฤษเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการอ่านมากขึ้น หรืออาจด้วยโครงสร้างการศึกษาของประเทศต่างๆ ที่ยกระดับการใช้และเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ทำให้ตลาดหนังสือภาษาอังกฤษมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อนาคตเป็นผลอันเกิดจากปัจจุบัน และเป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้

หลายปีที่แล้วหากข่าวกลับมาพาดหัวอีกครั้งว่า ‘ธุรกิจหนังสือมียอดขายเติบโตเป็นประวัติการณ์’ หรือ ‘หนังสือเล่มเติบโตต่อเนื่อง’ เราคงคิดว่าถ้าคนพูดไม่บ้าก็คงเพิ่งออกจากหลังเขา ในรอบหลายปีนี้เราต่างเตรียมใจว่าธุรกิจหนังสืออยู่ในช่วงขาลง สำนักทำนายทิศทางเศรษฐกิจมักจัดให้เป็นหนึ่งในดาวร่วงประจำทุกปี

แล้วใครจะเชื่อว่าธุรกิจหนังสือจะเดินมาสู่ ‘ขาขึ้น’ เหมือนที่เรามักบอกกันผ่านข้อความให้กำลังใจว่า ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังขึ้นทางทิศตะวันออกทุกวัน เมื่อนั้นความหวังจะไม่หายไปจากใจผู้กล้า

ผลประกอบการธุรกิจหนังสือในประเทศอังกฤษประจำปี 2017 ถูกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นตัวเลขที่ชวนให้ปีติอย่างมาก เพราะตลาดรวมปีที่ผ่านมาเติบโต 4% และหนังสือที่ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 60% ของรายได้สำนักพิมพ์

เราอาจอนุมานได้จากสององค์ประกอบ อย่างแรกคือค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าต่อเนื่องและเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหนังสือเมื่อเทียบกับราคาของฝั่งอเมริกา แม้ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนลงมาเล็กน้อยเช่นกัน เพราะสำนักพิมพ์ฝั่งอังกฤษและอเมริกาให้น้ำหนักความสนใจในธุรกิจแตกต่างกัน สำนักพิมพ์ฝั่งอังกฤษพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นรายได้หลัก ขณะที่สำนักพิมพ์ฝั่งอเมริกายังเน้นการขายภายในประเทศ เห็นได้จากผลิตภัณฑ์หนังสือที่มีขนาดและรูปแบบไม่ตรงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศเมื่อเทียบกับฝั่งอังกฤษ

ดูง่ายๆ เลยคือ ตลาดส่งออกต้องการหนังสือปกอ่อนเล่มเล็กหรือที่เรียกว่า paperback แต่ฝั่งอเมริกากลับผลิตหนังสือปกแข็ง (hardcover) หรือหนังสือปกอ่อนเล่มใหญ่ (tradepaperback) เพราะสองขนาดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ นานๆ ทีเราจะเห็นหนังสือฝั่งอเมริกาที่เป็น paperback หรือที่ฝั่งอเมริกาเรียกว่า mass market

องค์ประกอบที่สองเป็นทิศทางธุรกิจที่ส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องขนาดหนังสือ หนังสือจากฝั่งอังกฤษกินพื้นที่หนังสือส่งออกส่วนใหญ่ของโลก ครั้งหนึ่งสำนักพิมพ์จากอเมริกาเคยบอกผมว่า “เหตุผลที่ตลาดในไทยและประเทศอื่นๆ ทางเอเชีย (ยกเว้นฟิลิปปินส์) เห็นได้ชัดเลยว่า UK dominated ในความเป็นจริงไม่ใช่แค่เรื่องราคา แต่สิ่งสำคัญคือรูปเล่มที่สวยงาม การออกแบบปกซึ่งคล้ายจะตรงจริตคนเอเชียมากกว่าฝั่งอเมริกาที่หลายครั้งก็ได้แต่มองปกแล้วคิดในใจว่า ออกแบบมาได้ไง”

กลับมาที่เรื่องการเติบโตของตลาด ข้อมูลล่าสุดบอกว่าตลาดหนังสือเด็กติดลบไป 3% แต่นั่นเป็นเพราะปี 2016 มีหนังสือที่ขายถล่มทลายอย่าง Fantastic Beasts ของ J.K. Rolling ที่ออกมาช่วงกลางปี แต่เมื่อถอดตัวเลขของ Fantastic Beasts ออกแล้วก็จะพบว่าหนังสือเด็กยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ในขณะที่ตลาดอีบุ๊กเฉพาะในประเทศอังกฤษมียอดขายลดลง 9% แม้ตลาดรวมทั้งในและต่างประเทศของอีบุ๊กทั้งหมดจะยังเติบโตที่ 3% แต่เมื่อถอดเอายอดจำหน่ายอีบุ๊กที่เป็นรูปแบบวารสารวิชาการต่างๆ ออกจะพบว่าการจำหน่ายอีบุ๊กโดยรวมลดลง 2%

นั่นแสดงให้เห็นว่ารายได้อีบุ๊กทั้งการขายในและนอกประเทศลดลงต่อเนื่องในรอบสามปีหลัง ที่สวนทางขึ้นมาคือการขายหนังสือเล่มที่เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2017 ตัวเลขการเติบโตอยู่ที่ 5% สื่อในอังกฤษใช้คำอธิบายว่า “Physical book sales continue to outpace digital” หรือ “หนังสือเล่มยังคงเติบโตแซงหน้าอีบุ๊ก” ซึ่งใครจะเชื่อว่าจะมีวันนี้

ผลดังกล่าวทำให้สัดส่วนยอดขายอีบุ๊กเทียบกับหนังสือเล่มลดลงมาอยู่ที่ 35% โดยปี 2013 เป็นปีที่ยอดขายอีบุ๊กตกหนักถึง 51% หมวดหนังสือที่เชื่อกันว่าอีบุ๊กน่าจะขายดีอย่างหมวดนวนิยายก็มียอดขายตกลงไป 11% ซึ่งนับว่ามากโข ส่วนหนังสือแนวสารคดีที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจากการขายอีบุ๊ก 4% ก็สะท้อนทิศทางหมวดหนังสือที่ขายได้ในตลาดรวมเช่นกัน

การตกต่ำของอีบุ๊กนั้นเริ่มมีสัญญาณมาก่อนหน้านี้หลายปี เช่น เรื่องความล้มเหลวที่จะผนวกเทคโนโลยีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการอ่านของเด็กๆ เพราะผลการศึกษาพบว่าเด็กยังไม่เหมาะจะใช้ screen บ่อย ในเวลานานจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี แต่สาเหตุหลักๆ น่าจะมาจากการไม่ฟิตอินหรือไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานเมื่อใช้งานจริง บวกกับความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่กลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ พอเปลี่ยนอุปกรณ์ก็มีอุปสรรคเมื่อจะอ่านอีบุ๊ก เราเริ่มไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชิ้น หลายคนมีสมาร์ตโฟนหนึ่งเครื่องก็เพียงพอ และโทรศัพท์ก็ไม่เหมาะจะใช้อ่านหนังสือ

ในเรื่องการใช้อีบุ๊กในโรงเรียน เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วเราพยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่ผนวกเนื้อหาด้านการศึกษาเข้าไว้ด้วยกันและนำออกสู่ตลาดจำนวนมาก โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ เริ่มเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์เหล่านั้น คำว่า eLibrary เป็นคำฮิตที่หลายสถาบันต้องมี แต่ในความเป็นจริงก็พบว่ามันไม่มีหนังสือให้ซื้อเพราะยังไม่เปิดขายทั่วโลก ตราบใดที่เรื่องลิขสิทธิ์ยังเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศนอกอเมริกา อังกฤษ ยุโรป

สำนักพิมพ์หนึ่งบอกผมเรื่องแผนการขาย eLibrary ว่า ‘NOT IN THE NEAR FUTURE’ หรือยังไม่มีแผนขายในเร็วๆ นี้แต่อย่างใด ทำให้การลงทุนสูญเปล่า เห็นได้จาก eBook Station ในหลายสถาบันที่กลายเป็นที่วางหนังสือหรือไม่มีคนใช้งานแต่อย่างใด ในปี 2017 ยอดขายหนังสือเล่มและเท็กซ์บุ๊กเข้าโรงเรียน จึงกลับมาเติบโตที่ 12% ซึ่งถือว่ามากเอาการ ที่ผ่านมาห้องสมุดทั้งหลายยังใช้งบประมาณไปเน้นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังสือมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะ Under Resource หรือเนื้อหาและข้อมูลต่างๆ ไม่พอที่จะพัฒนาการศึกษา

กลับมาที่ตลาดส่งออกหนังสืออังกฤษที่มีสัดส่วน 60% ของมูลค่าตลาด ในตัวเลขนี้ ตลาดยุโรปยังมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับหนึ่งที่ 36% (แต่ลดลงจาก 39% เมื่อปี 2013) สวนทางกับตัวเลขตลาดทางเอเชียที่เพิ่มเป็น 18% (จาก 15% ในปี 2013 เช่นกัน) ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น อเมริกาใต้เพิ่มขึ้นเป็น 8% จาก 5% แอฟริกาและออสเตรเลียคงสัดส่วนเดิมที่ 14% และ 9% ตามลำดับ

เราพอจะอธิบายนัยจากตัวเลขนี้ได้ว่า ทิศทางการอ่านและธุรกิจหนังสือโดยเฉพาะในตลาดใหม่มีแนวโน้มสดใส ในตลาดจีน อินเดีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาษาอังกฤษก็มีความสำคัญ สื่อการสอนภาษาอังกฤษเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการอ่านมากขึ้น หรืออาจด้วยโครงสร้างการศึกษาของประเทศต่างๆ ที่ยกระดับการใช้และเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ทำให้ตลาดหนังสือภาษาอังกฤษมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทิศทางธุรกิจหนังสือเมื่อราว 10 ปีที่แล้วเริ่มต้นโดยปราศจากข้อมูลที่จะวิเคราะห์ความเป็นไปของหนังสือเล่มและอีบุ๊ก แต่ปัจจุบันข้อเท็จจริงต่างๆ ได้กลับมายืนยันความถูกต้องของความรู้สึกที่ว่า ‘หนังสือเล่มยังคงอยู่และอีบุ๊กก็จะไม่หายไปไหน’ วันนี้คนขายหนังสือจึงอดพูดไปยิ้มไปไม่ได้เวลาเล่าถึงวงจรชีวิตระหว่างหนังสือเล่มกับอีบุ๊ก

ในเร็ววันนี้ เราอาจต้องเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนี้ใหม่ การมองว่าอีบุ๊กจะมา หนังสือเล่มจะหายไป เป็นเรื่องที่เชยและล้าสมัยมาก ตอนนี้สิ่งที่ยังขาดไปเห็นจะเป็นเรื่องกำลังใจของคนทำหนังสือ เราอาจต้องเร่งหนุนใจกันและกัน อย่าเพิ่งหยุดและถอดใจ เพราะวัฒนธรรมการอ่านเป็นเรื่องใหญ่ เราจะได้เห็นการหันหัวเรือและความเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้าๆ

ฉะนั้นเวลานี้ หน้าที่สำคัญของเราก็คือทำหนังสือให้มีคุณภาพจริงๆ เพราะการจะขายอะไรก็ได้ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนอีกต่อไป

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา