วิวัฒนาการล่าสุดของธุรกิจหนังสือ เมื่อกลุ่มทุนเข้ามาอุ้มร้านหนังสือและสำนักพิมพ์

ทฤษฎีวิวัฒนาการ (evolutionary theory) ของชาร์ล ดาร์วิน อธิบายกระบวนการต่างๆ ในหลายมิติทั้งด้านชีววิทยาหรือแตกออกไปสู่วิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม ผู้คน เมื่อพูดถึงธุรกิจหนังสือ เลยเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ได้ไม่มากก็น้อยว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการเพื่อมุ่งไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หรืออาจจบลงด้วยการไม่เกิดอะไรขึ้นมา

ในทศวรรษล่าสุด เราเห็นวิวัฒนาการมากมายของธุรกิจหนังสือ หนึ่งในนั้นที่ชัดเจนคือการอยู่รอดของผู้ที่เข้มแข็งพร้อมๆ กับเกิดวิวัฒนาการในทางธุรกิจใหม่

หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมนุษย์มาช้านาน เริ่มต้นจากการถ่ายทอดความเชื่อทางศาสนาสู่ความรู้ และมีพัฒนาการที่หลากหลายผสมผสานอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งท่ามกลางความตื่นตัวของเทคโนโลยี หนังสือเกือบถูกทำให้เชื่อว่าจะวิวัฒน์ไปสู่บรรทัดฐานใหม่ของการอ่าน คำว่าอีบุ๊กเป็นคำอนุมานกว้างๆ ที่ไม่ขัดเขินต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น และดูเหมือนความเป็นหนังสือเล่มอาจจะต้านทานไม่อยู่เลยจริงๆ ไม่เกินไปนักถ้าจะสรุปว่าในตอนนั้นถนนทุกสายมุ่งสู่อีบุ๊ก

สิ่งที่นักวิวัฒนาการลืมไปในขณะนั้นคือลักษณะและวิธีที่หนังสือถูกคิดค้นขึ้นมา หนังสือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความขัดแย้งในหลายมุม หนังสือเป็นสิ่งสะสมได้ ขณะเดียวกันก็สามารถส่งต่อเมื่ออ่านจบ กระทั่งทิ้งไปถ้าไม่ต้องการ หนังสืออาจมีราคาแพงทะลุรายได้ของคนบางคนทั้งชีวิต แต่หนังสือก็สามารถมีราคาถูกในแบบที่ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้ หนังสือสามารถเป็นของขวัญ หนังสือสามารถเป็นของตกแต่งห้อง เหล่านี้อธิบายความเป็นหนังสือได้ดีอย่างที่ภาษาอังกฤษบอกว่า ‘Book is resilience’ และนี่เองคือความซับซ้อนที่เทคโนโลยีไม่สามารถหาทางทดแทนได้

ตอนนั้นเราต่างคาดหวังว่าคนจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการอ่านจากหนังสือไปสู่อีบุ๊ก แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม คนอ่านหนังสือเล่มน้อยลง และยอดขายไม่ได้เกิดขึ้นที่อีบุ๊กแต่อย่างใด ความเป็นจริงไม่ได้อธิบายตรงไปตรงมาแบบนั้น หนังสือเล่มถูกท้าทายด้วย internet bloom ก่อนที่จะ burst ในเวลาต่อมา เมื่อฝุ่นหายตลบ แน่นอนว่าร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่อ่อนแอเกินกว่าจะผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่นี้ก็ล้มหายไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ส่วนที่อยู่ต่อก็ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดที่แตกต่างกันออกไป

วิวัฒนาการลำดับถัดมาที่กำลังเกิดในตอนนี้ คือการควบรวมกิจการของสำนักพิมพ์ใหญ่ การเข้าซื้อกิจการที่สร้างจากความรักและแพสชั่นของเจ้าของ อาทิ การที่สำนักพิมพ์ Bonnier Publishing เข้าซื้อสำนักพิมพ์อิสระ John Blake Publishing หรือนิยามที่ว่า ‘แยกไปโต’ ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ เห็นได้จากการที่สำนักพิมพ์อย่าง Bloomsbury Publishing หรือ DK UK แยกตัวออกไปรับผิดชอบด้านการขาย การตลาด จากเดิมที่ Penguin UK เป็นผู้บริหารการขายให้ สำนักพิมพ์เหล่านี้พร้อมที่จะสร้างทีมงาน วิ่งหาลูกค้า แยกบูทในการออกงานเอง เพื่อความยั่งยืนและการปรับตัว สำหรับสำนักพิมพ์ที่ ‘มีดี’ ย่อมกล้าที่จะก้าวออกไปเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง และมั่นใจว่าสินค้าของตัวเองจะไม่ใช่ ‘งานฝาก’ อีกต่อไป นี่ถือเป็นวิวัฒนาการหนึ่งของความพยายามที่จะหาพื้นที่ใหม่ให้ตัวเอง

ปี 2018 ยังคงมีความต่อเนื่องเรื่องการควบรวม การเข้าซื้อ และการแยกตัวออกไปบริการจัดการเอง เริ่มต้นปีด้วยสำนักพิมพ์ Laurence King ของอังกฤษที่เดิมถูกบริหารจัดการโดย Thames & Hudson ก็ได้ เวลาที่จะออกมาเผชิญโลกเอง Laurence King ก็เหมือนกับ Bloomsbury และ DK ที่เป็นสำนักพิมพ์ที่แข็งแรง มีสินค้าที่เด่นและชัดในเอกลักษณ์ของตัวเอง การเป็นส่วนหนึ่งของสำนักพิมพ์อื่นอาจนำมาซึ่งความกังขาในสินค้าที่บางทีก็ปฏิเสธว่าดูเหมือนกันไม่ได้ ล่าสุด Laurence King จึงประกาศเดินหน้าเข้าซื้อกิจการของสำนักพิมพ์ BIS Publishers ที่เด่นเรื่องกราฟิกดีไซน์ งานปรัชญาด้านศิลปะ และการออกแบบ พร้อมกันนี้เรารับทราบถึงการลาจากของผู้ที่อ่อนแอเพิ่มขึ้นอย่างสำนักพิมพ์ ROAD ที่จะลาจากธุรกิจในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

วิวัฒนาการด้านการลงทุนพร้อมกับความไม่มั่นใจก็คือการขยายตัวเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการร้านหนังสือของเหล่าหุ้นนอกตลาด (private equity) ต่างๆ เดิมที กองทุนต่างๆ เคยเข้ามาซื้อกิจการร้านหนังสือหรือร้านค้าปลีกอื่นๆ แต่มักจะจบลงไม่สวย เพราะปรัชญาหลักของการลงทุน คือผลตอบแทน และต้องได้ผลตอบแทนนั้นในระยะเวลา 3-5 ปี น้อยครั้งนักที่จะเห็นความสำเร็จจากการเข้าซื้อกิจการของเหล่ากองทุนในธุรกิจหนังสือ แต่ทำไมสิ่งนี้ถึงได้กลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการที่สำคัญ

ข่าวใหญ่ล่าสุดคือการเข้าซื้อกิจการ Waterstones ในอังกฤษจากเจ้าของเดิมชาวรัสเซียที่กู้ชีวิต Waterstones ให้กลับมามีผลกำไร และเดินหน้าขยายกิจการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2011

สูตรสำเร็จของการเข้าซื้อกิจการร้านหนังสือของกองทุนคือ turnaround กิจการให้มีกำไรแล้วขายต่อเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุนตัวเอง แต่สำหรับ Waterstones นั้น พวกเขามีกำไรผ่านการ turnaround ที่เข้มข้นมาแล้ว ดูเหมือนพอร์ตโฟลิโอต่างๆ จะกำลังไปได้สวยภายใต้การนำของ James Daunt

แล้วในครั้งนี้กองทุนจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร คำตอบที่อาจยังไม่เห็นตอนนี้ก็คือเงินทุนที่ Waterstones ยังต้องการให้อัดฉีดเข้ามาเพื่อเดินหน้าขยายสาขาท่ามกลางความตกต่ำของธุรกิจขายปลีกในอังกฤษ ทำให้พื้นที่ขายปลีกทั่วทุกเมืองในอังกฤษเกิดสุญญากาศ นี่เองที่เป็นโอกาสชั้นเยี่ยมที่ Waterstones จะได้ขยายกิจการเข้าไป นี่คือสิ่งที่เราเฝ้ารอว่าท้ายที่สุด Waterstones จะเดินไปทางไหน

ระหว่างที่มีการคาดเดามากมายถึงอนาคตของ Waterstones สิ่งที่น่าวิเคราะห์กว่าคือ ใครคือคนที่เหมาะกับการเป็นเจ้าของธุรกิจร้านหนังสือกันแน่ ท่ามกลางวิวัฒนาการมากมายของธุรกิจหนังสือ สินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของธุรกิจหาใช่หนังสือไม่ แต่ ‘คน’ คือหัวใจของทั้งหมด

การที่ Waterstones หรือร้านหนังสือใดๆ อยู่รอดได้ นอกจากจะมีหนังสือดีแล้ว คนคือผู้เปลี่ยนเกมที่สำคัญ มักมีคำกล่าวที่ดูจะเกินจริงว่า ‘ธุรกิจหนังสือต้องการคนทำหนังสือ ไม่ใช่สิ่งที่ใครทำก็ได้’ ในความเป็นจริง สิ่งนี้ไม่ได้เกินเลยไปแต่อย่างใด การดูว่าธุรกิจหนังสือหรือร้านหนังสือจะอยู่รอดหรือไม่ ให้รอดูที่นโยบายเรื่องคนของเจ้าของใหม่ว่าจะไปในทิศทางไหน และหลายๆ ครั้งที่พบว่าเงินไม่ได้เป็นคำตอบของทุกสิ่ง ถ้าไม่เข้าใจจังหวะเต้นของหัวใจในธุรกิจ

คนและหนังสือผ่านกระบวนการวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมมาพร้อมๆ กัน และคนอีกเช่นกันที่เป็นผู้ตัดสินใจถึงอนาคตของหนังสือทั้งด้านการจัดหา การทำ การอ่าน ดังนั้นเลยไม่ยากสำหรับกองทุนที่เข้าใจทิศทางและจังหวะเต้นของหัวใจธุรกิจ นโยบายที่มุ่งหวังผลตอบแทนในอัตราที่สูง ท่ามกลางความซึมเศร้าของตลาดทุนทั่วโลกย่อมเป็นทางเลือกที่ไม่เลวนัก เพียงแต่ก่อนที่จะถึงจุด exit จำต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่การลงทุนเพื่อผลระยะสั้น มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะกลับไปตั้งต้นที่หนึ่งใหม่ หรืออาจถึงคราววิวัฒนาการใหญ่อีกครั้ง และเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ทางแห่งความหลากหลายด้านเนื้อหาน้อยลง เพราะผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะได้กำหนดอนาคต และในอนาคตก็คงเหลือผู้แข็งแรงเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

ภาพประกอบ Nut.Dao

AUTHOR