ตะเกียบ หนวดปลาหมึก ความบอบช้ำจากสงครามโลก และเสือจากญี่ปุ่นที่ชื่อ Onitsuka Tiger

สำหรับคนที่สนใจโลกของรองเท้าผ้าใบหรือ sneakers culture แล้ว แทบจะไม่มีใครที่ ไม่รู้จัก Onitsuka Tiger และ ASICS หลายๆ คนอาจจะคิดว่าทั้งสองแบรนด์นี้คือแบรนด์เดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันมีทั้ง ‘ใช่’ และ ‘ไม่ใช่’

สิ่งที่เหมือนกันของสองแบรนด์นี้คือสัญลักษณ์ลายเส้น 4 เส้นพาดไปมาบริเวณด้านข้างรองเท้าของ Onitsuka Tiger และ ASICS ที่สื่อถึงรูปตะเกียบที่กำลังพยายามคีบหนวดปลาหมึก โดยมีความหมายแฝงไว้ว่า ตะเกียบนั้นถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น และการรับประทานหนวดปลาหมึกนั้น เวลาที่เราคีบหนวดปลาหมึกสดจะต้องใช้ความตั้งใจและสมาธิ สัญลักษณ์ดังกล่าวจึงแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่แฝงอยู่ในสัญลักษณ์ของ ASICS และ Onitsuka Tiger นั้นเอง

แม้ในปัจจุบันชื่อเรียกและภาพลักษณ์ของทั้งสองแบรนด์จะแตกต่างกัน แต่จุดเริ่มต้นของทั้งสองแบรนด์นั้นมาจากเจ้าของเดียวกันคือ ASICS Corporation

จุดกำเนิดของแบรนด์ญี่ปุ่นแบรนด์นี้มาจากอดีตนายทหารผ่านศึกที่ชื่อ Kihachiro Onitsuka ที่เริ่มต้นก่อตั้งบริษัท Onitsuka.Co.,LTD. ในวันที่ 1 กันยายน ปี 1949 หลังจากความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างความสิ้นหวังและความบอบช้ำให้กับชาวญี่ปุ่น Onitsuka เองมีความคิดที่จะฟื้นฟูจิตใจและความบอบช้ำดังกล่าวให้กับประชาชนในชาติ จึงเลือกทำธุรกิจผลิตรองเท้ากีฬาโดยเฉพาะ เพราะเชื่อว่ากีฬานั้นมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าคนรุ่นใหม่ เพื่อในท้ายที่สุดแล้วมันจะส่งผลต่อสังคมและวัฒนธรรมโดยรวม

เขาเริ่มต้นผลิตรองเท้าบาสเก็ตบอลที่ว่ากันว่าผลิตยากที่สุด ด้วยความคิดที่ว่า หากเริ่มต้นทำอะไรที่ยากที่สุดแล้ว ต่อไปเวลาเจออุปสรรคอะไรก็ตามมันจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป

ในปี 1950 ทางบริษัทได้เปิดตัวรองเท้าบาสเก็ตบอลรุ่นแรกที่มีโลโก้รูปเสือ และตั้งชื่อแบรนด์รองเท้าว่า ‘Onitsuka Tiger’ ตามชื่อของเขาเองและสัตว์ที่เขาชื่นชอบ แต่ผลลัพธ์กลับล้มเหลวเพราะมีรูปร่างประหลาดและไม่มีคุณภาพที่ดีพอ

แทนที่เจ้าตัวจะยอมแพ้ เขากลับนำเอาคำแนะนำติชมจากบรรดานักกีฬาและโค้ชมาพัฒนารองเท้าให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จนในที่สุดก็ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทเริ่มขยายรูปแบบสินค้ารองเท้าไปยังกีฬาประเภทอื่นๆ ทั้งฟุตบอล วิ่ง กอล์ฟ คริกเก็ต มวยปล้ำ วอลเลย์บอล และอีกมากมาย มีช็อปมากกว่า 500 สาขาทั่วญี่ปุ่นในปี 1955 ส่วนโลโก้ข้างรองเท้าของ Onitsuka Tiger ที่เป็นรูปตะเกียบคีบปลาหมึกแบบที่เราเห็นปัจจุบันนั้น เปิดตัวครั้งแรกในปี 1966 ระหว่างการวิ่ง Pre-Olympic สำหรับ 1968 Summer Olympics ที่เม็กซิโก โดยรองเท้าที่ว่ามีชื่อเรียกว่า Limber Up เป็นรองเท้าคู่แรกของ Onitsuka Tiger ที่มีโลโก้ลายทางดังกล่าว ซึ่งภายหลังรองเท้ารุ่นนี้ได้กลายเป็นรองเท้าไอคอนที่ได้รับความนิยมสูงสุด และได้เปลี่ยนชื่อเรียกรองเท้ารุ่นนี้ไปเป็น ‘Mexico 66’

ในช่วงปลายยุค 50s หลังจากนักศึกษาและนักวิ่งทางไกลจากมหาวิทยาลัย Oregon ที่ชื่อ Phillip Knight จบการศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาดสำหรับรองเท้ากีฬา เขาเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อติดต่อกับบริษัท Onitsuka เพราะมองเห็นช่องทางในการทำตลาดด้วยการนำเข้ารองเท้า Onitsuka Tiger ไปวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา

ปี 1963 ฟิลลิป ไนต์ ได้รับ shipment แรกจากทางบริษัท และในเวลาต่อมาเขากับโค้ชกรีฑาของเขาที่ชื่อ Bill Bowerman หนึ่งในโค้ชกรีฑาที่เก่งที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นคนหัวก้าวหน้าและได้รับการยอมรับจากการทดลองสร้างสรรค์รองเท้าวิ่งทำมือที่มีน้ำหนักเบาและรองรับแรงกระแทกได้ดีกว่ารองเท้าในตลาดทั่วไป ได้ลงทุนร่วมกันคนละ 500 ดอลลาร์สหรัฐในการก่อตั้งบริษัท Blue Ribbon Sports ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น Nike.,Inc.

ในปี 1968 Onitsuka Tiger เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกาจากบริษัท Blue Ribbon Sports

จากช่วงเริ่มต้นที่นำเข้ารองเท้ารุ่น Limber Up เข้าตลาด ไนต์และโบเวอร์แมนเริ่มขยายตลาดไปยังรองเท้าออกกำลังกายทั่วไปที่มีชื่อเรียกว่า Bangkok และรองเท้า Training ที่ผลิตด้วยหนังสีขาวทั้งคู่และมีพื้นโฟมรองเท้าที่หนาขึ้นที่ชื่อ Cortez ซึ่งรองเท้ารุ่นนี้ไนต์และโบเวอร์แมนร่วมพัฒนาขึ้นมาด้วยกัน

ภายหลังไนต์และโบเวอร์แมนมีปัญหาเรื่องสัญญาธุรกิจกับทาง Onitsuka ที่ปฏิเสธส่งรองเท้ามาให้ขายอีกต่อไป จนสิ้นสุดความสัมพันธ์ลงในปี 1971 โบเวอร์แมนจึงได้นำดีไซน์ของ Cortez กลับมาทำเองและวางจำหน่ายในปี 1972 ภายใต้ชื่อแบรนด์ Nike (หลังจากนั้นจึงมีคดีความเรื่องการถือสิทธิครอบครองรองเท้าคู่นี้ ซึ่งทาง Onitsuka Tiger แพ้และต้องเปลี่ยนชื่อรุ่นรองเท้าดังกล่าวไปเป็น Corsair ทั้งที่มีรูปร่างหน้าตาที่เหมือนกันแต่แตกต่างที่โลโก้ข้างรองเท้าเท่านั้น โดยชื่อของ Cortez นั้นตั้งขึ้นมาเพื่อบลัฟรองเท้าวิ่งของ Adidas คู่หนึ่งที่ชื่อ Azteca Gold ที่วางจำหน่ายในปี 1968 โดย Cortez คือชื่อของชายที่สามารถเอาชนะอาณาจักร Aztec และปัจจุบัน Nike Cortez ได้กลายไปเป็นหนึ่งในรองเท้าไอคอนที่สำคัญที่สุดคู่หนึ่งในประวัติศาสตร์ของ Nike ซึ่งกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของแบรนด์ Onitsuka Tiger ในเวลาต่อมา)

ทางบริษัท Onitsuka Tiger ได้ผนึกกำลังเข้ากับบริษัทกีฬา GTO.Co.,LTD. และบริษัทเครื่องนุ่งห่ม JELENK.CO.,LTD. ในปี 1970 และภายหลังในปี 1977 ทั้งสามบริษัทได้ควบรวมและเปลี่ยนชื่อบริษัทและแบรนด์ใหม่เป็น ASICS ที่เป็นการนำอักษรนำหน้าจากประโยคของบทกวีภาษาลาตินที่ว่า Anima Sana In Corpore Sano อันมีความหมายว่า ‘a sound mind, in a sound body’ (จิตใจที่สดใสร่าเริงในร่างกายที่แข็งแรง) ที่แต่งโดยนักกวีชาวโรมันที่ชื่อ Juvenal โดยมีสโลแกนของแบรนด์ว่า ‘Sports : The Universal Language’ (กีฬา คือภาษาสากล)

หลังจากที่ได้ควบรวมกิจการของทั้งสามบริษัทเข้าด้วยกันทั้งทางด้านการเงินและตำแหน่งทางการตลาดของธุรกิจผลิตภัณฑ์กีฬา บริษัทได้ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์สินค้าเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สกี เบสบอล รวมไปถึงกอล์ฟ

ในวาระครบรอบ 10 ปี ASICS ได้ปรับโลโก้ของแบรนด์ โดยปรับให้ตัวหนังสือเพรียวมากขึ้นและปรับสโลแกนของแบรนด์ใหม่เป็น ‘Sports Technology for Active Lifestyles’ (เทคโนโลยีของกีฬาเพื่อวิถีชีวิตที่กระตือรือร้น) และเปลี่ยนโลโก้ของแบรนด์อีกครั้งในปี 1992 ด้วยการเพิ่มตัวหนังสือ a ที่ดูลักษณะเหมือนวงกลมเพื่อสื่อถึงธุรกิจของแบรนด์ที่ขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา

ในขณะที่รองเท้าประเภท Performance ของแบรนด์นั้นขายดีและได้รับความนิยม แต่ในไลน์สินค้ารองเท้าคลาสสิกอย่าง Onitsuka Tiger กลับตรงกันข้ามและได้รับความนิยมลดลงสวนทางกับสินค้าประเภทอื่นๆ และด้วยวิกฤตฟองสบู่แตกในช่วงต้นยุค 90s ทั้งยังขาดความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ทำให้บริษัทขาดทุนติดต่อกันกว่า 9 ปี

แต่ในช่วงขาลง กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่กอบกู้ ASICS ให้กลับมาได้อีกครั้งกลับเป็นไลน์รองเท้าคลาสสิกของ Onitsuka Tiger นั่นแหละ

ด้วยการรีแบรนด์ Onitsuka Tiger อีกครั้งและวาง positioning ในหมวด Sport Lifestyle ประกอบกับการมาถึงของเทรนด์รองเท้าวิ่งคลาสสิกวินเทจที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ณ เวลานั้น โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปอย่างฝรั่งเศสและอิตาลี เสริมทับด้วยการปรากฏตัวของรองเท้า Onitsuka Tiger รุ่น Tai-Chi สีเหลืองแถบดำที่ถูกสวมใส่โดย The Bride ที่แสดงโดย Uma Thurman ในภาพยนตร์ Kill Bill ของผู้กำกับ Quentin Tarantino ในปี 2003 (ที่ชุดวอร์มสีเหลืองแถบดำทั้งชุดและรองเท้า Onitsuka Tiger ที่ได้นำแรงบันดาลใจมาจากตำนานผู้ล่วงลับอย่าง Bruce Lee ที่เคยแต่งตัวและใส่รองเท้า Onitsuka Tiger เช่นกัน) ได้จุดกระแสความนิยมไปทั่วโลก ผู้คนต่างเสาะหารองเท้า Onitsuka Tiger มาใส่กันให้ได้ ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเราด้วยเช่นกัน

โมเดลชูโรงอย่างรุ่น Mexico 66, Ultimate 81 และ Nippon 60 ทำให้รองเท้าของ Onitsuka Tiger เข้ามาอยู่ในโลกของแฟชั่นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การฟื้นคืนชีพของ Onitsuka Tiger สร้างแรงขับเคลื่อนครั้งใหญ่ให้กับบริษัทอีกครั้ง ด้วยการเปิดร้าน stand alone ขายเฉพาะของไลน์สินค้า Onitsuka Tiger เพียงอย่างเดียวกว่า 23 แห่งทั่วญี่ปุ่นในปี 2007 ก่อนจะขยายไปหัวเมืองใหญ่ๆ นอกประเทศอย่างฮ่องกง, ปารีส, เบอร์ลิน, ลอนดอน และโซล โดยมีการเพิ่มไลน์พรีเมียมอย่าง Nippon Made รองเท้ารุ่น Mexico 66 กลายเป็นโมเดลรองเท้าที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Onitsuka Tiger จนถึงปัจจุบัน

เมื่อหันกลับมาดูอีกฝั่งในไลน์สินค้า Performance อย่าง ASICS แล้ว ASICS เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยซัพพอร์ตและยกระดับประสิทธิภาพนักกีฬาด้วยการก่อตั้ง ASICS Research Lab ในปี 1979 แต่ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีเทคโนโลยีไหนที่จะยกระดับ ASICS ให้เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร จนกระทั่งในช่วงกลางยุค 80s ในขณะที่ทุกๆ คนกำลังตื่นตาตื่นใจกับเทคโนโลยีรองรับแรงกระแทกด้วยระบบถุงลมอากาศ (air cushion) ของ Nike ณ เวลานั้น ทาง ASICS ก็ค้นคว้าระบบรองรับแรงกระแทกในรูปแบบคล้ายๆ กัน

จนกระทั่งในปี 1986 ที่ ASICS เปิดตัวเทคโนโลยี aGEL หรือในชื่อเต็มว่า Alpha GEL ที่มีลักษณะเป็นซิลิโคนเจลกึ่งเหลว และในปีเดียวกันได้เปิดตัวรองเท้าชื่อ ‘GEL Freak’ ซึ่งเป็นรองเท้าวิ่งคู่แรกที่ใช้เทคโนโลยีรองรับแรงกระแทกดังกล่าว โดยในช่วงแรกวางขายในญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว ก่อนที่ปีต่อมา ASICS จะเปิดตัวรองเท้ารุ่น GEL Lyte ไปทั่วโลก ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นสินค้า flagship ของ ASICS ความพิเศษของ GEL Lyte นั้น นอกเหนือไปจากเทคโนโลยีที่ซัพพอร์ตผู้ใส่แล้ว สิ่งที่น่าดึงดูดใจให้คนหันมามองก็คือการเลือกใช้สีบนชิ้นส่วนต่างๆ ของรองเท้า ถ้าให้เปรียบเทียบกับ Nike ที่กลายมาเป็นคู่แข่งหลักแล้วละก็ ASICS GEL Lyte ก็คือคู่ต่อกรของ Nike Air Max นั่นเอง

สำหรับโลกของ sneaker culture แล้ว ว่ากันว่า The Greatest Shoe ของ ASICS ก็คือ ASICS GEL Lyte III โมเดลรองเท้าวิ่งที่เปิดตัวในปี 1990 ออกแบบโดย Shigeyuki Mitsui ด้วยเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่เหมือนรองเท้าในตลาดเวลานั้น นั่นคือการดีไซน์ลิ้นรองเท้าสองแฉกแยกตรงกลางออกจากกัน และการเลือกใช้สีสันที่ฉูดฉาดน่าสนใจ ถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานและมีรองเท้าในตระกูล GEL Lyte ออกมาอีกมากมาย ที่ได้รับความนิยมก็อย่างเช่นรุ่น GEL Lyte V หรือรุ่น GEL-Kayano ที่ภายหลังกลายมาเป็นอีกหนึ่งรองเท้า flagship ของแบรนด์เช่นเดียวกัน แต่ถึงที่สุด GEL LYTE III ก็ยังถูกวางเอาไว้ให้เป็น pinnacle ของรองเท้าในตระกูลนี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง Nike, Adidas หรือแม้กระทั่ง Puma ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอย่างฮิปฮอปหรือสตรีทไปแล้ว แต่กระแสของ ASICS กลับแทบไม่ได้รับความนิยมหรือถูกพูดถึงใดๆ เลยในโลกของ sneaker culture

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผ่านมาของ ASICS ที่ผู้เขียนมองเห็นคือ ความภาคภูมิใจในความเป็น ASICS ตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่นที่มีลักษณะคอนเซอร์เวทีฟและยากที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทาง

จวบจนกระทั่งในปี 2007 ที่ ASICS เริ่มทลายกำแพงของตัวเอง

ASICS เริ่มทำงาน collaboration ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในกลุ่มของ sub-culture ที่น่าสนใจ โดย collaboration ในยุคแรกๆ ASICS เริ่มต้นทำงานร่วมกับ PATTA ร้าน sneaker boutique จากอัมสเตอร์ดัม (ซึ่งถือเป็น collaboration แรกที่ PATTA ทำงานร่วมกับแบรนด์รองเท้าระดับ major ด้วยเช่นกัน) และร่วมกับ Alife Rivington Club ร้าน sneaker boutique จากนิวยอร์ก รวมถึง David Z อีกหนึ่งร้านรองเท้าจากนิวยอร์กที่ ณ เวลานั้นมี head buyer ที่ชื่อ Ronnie Fieg เป็นผู้ดูแลโปรเจกต์ดังกล่าว (ซึ่งภายหลัง Ronnie Fieg ลาออกมาก่อตั้งร้าน sneaker boutique ของตัวเองที่ชื่อ KITH ในเวลาต่อมา)

ความเหมือนกันของการ collaboration ทั้งสามคือการคืนชีพกระแสความนิยมของรองเท้ารุ่น GEL Lyte III ที่เคยได้รับความนิยมในอดีต โดยทั้งหมดได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม และนั่นกลายเป็นการถางทางให้ ASICS ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นคนสำคัญในโลกของ sneaker culture

จิ๊กซอว์ส่วนสำคัญที่ทำให้ ASICS กลายเป็นที่รู้จักและเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นมาจากตัว Ronnie Fieg ที่ยังคงทำงานร่วมกันกับ ASICS ในโปรเจกต์ต่อๆ มา และการันตีความสำเร็จในทุกๆ ครั้งที่มีรองเท้า collaboration จากทั้งคู่วางจำหน่าย และสร้างให้ ASICS กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ชอบแบรนด์รองเท้ากีฬานอกกระแสนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี 2017 ASICS แตกไลน์รองเท้าในหมวดของ Sport Fashion ด้วยชื่อ ‘ASICS TIGER’ ที่แยกออกจากหมวด Performance ชัดเจน การเปลี่ยนแปลง positioning ของแบรนด์ในครั้งนั้นคือการตัดสินใจกระโจนเข้าสู่ตลาด Sport Fashion อย่างเต็มตัว เพราะนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ASICS TIGER กลายเป็นแบรนด์รองเท้าที่มีวางจำหน่ายในร้าน sneaker boutique ชั้นนำทั่วโลก

ซึ่งตัวชูโรงทั้งหลายของ ASICS TIGER ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบรรดารองเท้าในตระกูล GEL เป็นหลักนี่แหละ และได้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์แฟชั่นรองเท้าในช่วงต่างๆ จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2017 ที่เทรนด์รองเท้าในสไตล์ chunky หรือ dad style เริ่มได้รับความนิยม ทำให้รองเท้ารุ่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตระกูล GEL Lyte ของ ASICS TIGER เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับแผนการตลาดที่ไปด้วยกันกับบรรดา fashion-forward ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ WoodWood จากเดนมาร์ก หรือร้านรองเท้าชื่อดังจากญี่ปุ่นอย่าง atmos หรือแม้กระทั่งการนำรองเท้าวิ่ง ASICS TIGER เข้าไปอยู่ในโลกของ runway fashion ด้วยการทำงานร่วมกับแฟชั่นดีไซเนอร์ที่เพิ่งจบจากสถาบัน Central Saint Martins หมาดๆ ณ เวลานั้นอย่าง Kiko Kostadinov โดยทางแบรนด์ให้อิสระในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีที่มาจากรองเท้า Performance ทั้ง GEL และ Flyte Foam ของ ASICS บวกรวมกับดีไซน์ของ Kostadinov ทำให้ได้รองเท้า Hybrid Performance คู่แรกที่ชื่อ GELBURZ 1 และวางขายในช่วงฤดูกาล Spring/Summer 2018 ซึ่งรองเท้าในคอลเลกชั่นนี้ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม และพา Kostadinov และ ASICS TIGER เข้าไปอยู่ในโลกของ sneaker culture และแฟชั่นเต็มตัว

สำหรับปีนี้ ASICS TIGER ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกอีกครั้งไปเป็น ASICS Sportstyle ซึ่งยังคงวางตัวเองในหมวดของ Sport Fashion และ Culture ในขณะที่ ASICS Performance เน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์กีฬาโดยเฉพาะ และ Onitsuka Tiger ก็ยังคงรักษารากเหง้าของความเป็น Onitsuka Tiger ในแบบต้นฉบับดั้งเดิมเอาไว้

แต่ไม่ว่า ASICS จะพาตัวเองไปอยู่ในทิศทางไหนก็ตาม ดีเอ็นเอสำคัญของแบรนด์ที่ต้องการให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจตามความต้องการของผู้ก่อตั้งอย่าง Kihachiro Onitsuka ก็ยังคงไหลเวียนอยู่ในรองเท้าทุกคู่ที่มีโลโก้ตะเกียบคีบหนวดปลาหมึกนั่นเอง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

จักรกฤษณ์ อนันตกุล

นักวาดภาพประกอบ ผู้ที่เคยเป็นซึมเศร้า แต่ได้รับชีวิตใหม่จากการติดตามพระเยซู ชีวิตนี้จึงรักการอ่านไบเบิล