Nike ปรับตัวยังไงในวันที่โลกถามหาความยั่งยืนจากวงการแฟชั่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ เวลานี้ไม่มีเรื่องไหนที่ผู้คนทั่วโลกจะให้ความสนใจและใส่ใจมากไปกว่า climate change หรือภาวะโลกร้อน (ปัจจุบันผู้คนเลือกที่จะใช้คำนี้แทน global warming) ที่กำลังกลายเป็นเรื่องน่ากลัวขึ้นทุกวันๆ ซึ่งสาเหตุที่เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ นั้นก็ ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพวกเรา ‘มนุษย์’ นี่แหละที่ทำให้เกิดขึ้น

ปัจจุบันหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้คนทั่วโลกแทบทุกส่วน ต่างให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกของเราในทุกพื้นที่ ทุกวงการ ทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมแฟชั่น

หนึ่งคำที่เราได้ยินหรือถูกพูดถึงมากที่สุดควบคู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้คือ sustainability หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่แต่ละแบรนด์จะต้อง crack และให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสร้างผลกระทบในวงที่แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อเจาะลึกถึง footwear industry หรืออุตสาหกรรมรองเท้า โดยเฉพาะรองเท้ากีฬาหรือรองเท้าผ้าใบ มีการประเมินไว้ว่าในแต่ละปีมีรองเท้ากว่า 2 หมื่นล้านคู่ถูกผลิตขึ้นมา หลายคนอาจคิดว่ารองเท้าพวกนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อมันถูกทิ้งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกรรมวิธีในการผลิตรองเท้านี่แหละที่สร้างผลกระทบและมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษที่มาจากเครื่องจักรหรือวัสดุต่างๆ ทั้งหลายกว่าจะมาเป็นรองเท้าคู่หนึ่งให้เราได้สวมใส่

ซึ่งผลเสียจากปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกละเลยหรือมองข้ามจากบรรดาแบรนด์ต่างๆ เสียทีเดียว เพราะหลายๆ แบรนด์เริ่มต้นให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมานานแล้ว เพียงแต่ในขณะนั้นบางโปรเจกต์อาจไม่ถูกพูดถึงอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเหมือนช่วงนี้เท่านั้นเอง

โดยแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่าง Nike ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวเพียงแต่ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก อย่างเช่นการพัฒนาเทคโนโลยีในการลดใช้ก๊าซ sulfur hexafluoride (SF6) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า greenhouse gases (ก๊าซเรือนกระจก) ในเทคโนโลยีอัดอากาศของ Air Max Unit เมื่อปี 2000 จนกระทั่งการเกิดขึ้นของ Nike Considered Line ที่เปิดตัวในปี 2005 ซึ่งกรรมวิธีในการผลิตรองเท้าไลน์ดังกล่าวพยายามทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้กาว เลือกวัสดุที่ปราศจากการใช้สารเคมี และใช้วัสดุรีไซเคิลในส่วนต่างๆ

ก่อนจะเกิดไลน์การผลิตนี้ Nike เองเริ่มต้น reuse program ชื่อว่า Nike Grind มากว่า 26 ปีแล้ว ด้วยการนำรองเท้าเก่ามารีไซเคิลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากขั้นตอนการผลิต รองเท้าตกรุ่นที่ขายไม่ออก หรือรองเท้าที่ใช้แล้วถูกทิ้ง โดยทาง Nike ได้ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในการชุบชีวิตสิ่งของเหลือใช้ดังกล่าวให้กลายเป็นสนามกีฬาประเภทต่างๆ ไปถึงการตกแต่งออฟฟิศและร้านค้าภายในเครือ รวมถึงนำมาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้า (Nike Tech Fleece) ชิ้นส่วนต่างๆ ของเสื้อผ้า และที่สำคัญคือรองเท้ากีฬา (โรงงานที่ผลิตรองเท้าให้ Nike และ Converse ใช้วัสดุยางรีไซเคิลจาก Nike Grind มากกว่า 3 ล้านปอนด์ในปีที่ผ่านมา)

ไลน์รองเท้า Nike Considered ในปี 2005 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนการมาถึงของเทคโนโลยี Flyknit ในปี 2012 ที่สามารถลดมลพิษในขั้นตอนการผลิตรองเท้าวิ่งได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์

โดยในปีที่ผ่านมากว่า 76 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าทั้งเสื้อผ้าและรองเท้าต่างใช้วัสดุรีไซเคิล โดยเปลี่ยนขวดพลาสติกกว่า 6.4 พันล้านขวดให้กลายเป็นโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ใช้ในการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ ซึ่งการนำขวดพลาสติกมาใช้ในกระบวนการผลิตนั้นทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว

ปัจจุบันโรงงานผลิตรองเท้าในที่ต่างๆ ของ Nike สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นพลังงานทดแทนได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และรีไซเคิลรองเท้าไปได้กว่า 30 ล้านคู่นับตั้งแต่เริ่มต้นโปรแกรม Nike Grind ลดกระบวนการใช้น้ำได้ถึง 3.2 หมื่นล้านลิตรในกระบวนการผลิตคอตต็อนด้วยการพัฒนาคอตต็อนแบบยั่งยืนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง โดย Nike เองบอกว่ากว่า 75 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรและส่วนต่างๆ นั้นหันไปใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนได้เต็มระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อปีที่แล้ว Chairman, President และ CEO ของ Nike, Inc. อย่าง Mark Parker ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงสถานการณ์ climate change ว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ และนั่นคือเป้าหมายหลักของพาร์กเกอร์ที่จะทำให้ Nike กลายเป็นองค์กรที่ใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025  ซึ่ง ณ ปัจจุบันในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปต่างใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นทาง Nike เองยังเข้าร่วม Global Fashion Agenda และ The United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2018 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดก๊าซคาร์บอนที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมลภาวะให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050

เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่งาน Nike Future Sport Forum 2020 ทางแบรนด์ได้โชว์วิสัยทัศน์และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการพรีวิวคอลเลกชั่นพิเศษมากมาย ทั้งในฝั่งของ Sports และ Lifestyle โดยไฮไลต์สำคัญของงานคือการเปิดตัวคอลเลกชั่นพิเศษสำหรับเทศกาลกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Tokyo Olympics 2020 และ Paralympics 2020

ภายในงานมีการเปิดตัวคอลเลกชั่นเสื้อผ้านักกีฬาทีมชาติซึ่งอยู่ในการสนับสนุนของ Nike ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด เช่น ชุดรับเหรียญรางวัลของทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่ทั้งแจ็กเก็ตและกางเกงผลิตมาจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่โลโก้ทีมชาติและชิ้นส่วนของซิปผลิตจากยางรีไซเคิลที่มาจากโปรแกรม Nike Grind และรองเท้า Nike Air VaporMax 2020 ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลถึง 75 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือใช้จากโรงงาน ส่วนโครงหน้าผ้า Flyknit ผลิตจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลและใช้วัตถุดิบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อีกไฮไลต์ในงานของทางฝั่ง Nike Sportswear คือการเปิดตัวคอลเลกชั่น Move to Zero ที่เป็นคอลเลกชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ผลิตมาจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ผสมเนื้อผ้าคอตต็อนแบบยั่งยืน ด้วยจุดประสงค์ที่จะลดก๊าซคาร์บอนและปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนั้นยังมี Space Hippie Collection ที่เป็นคอลเลกชั่นรองเท้าสนีกเกอร์ ซึ่งผลิตจากเศษวัสดุเหลือทิ้งที่ถูกทิ้งเอาไว้ตามพื้นโรงงานผลิตรองเท้า Nike ด้วยการคิดค้นวัสดุที่เรียกว่า Space Waste Yarn ซึ่งเป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะมาจากขวดพลาสติก เสื้อยืดเก่าๆ หรือเศษเส้นใยผ้าเหลือใช้ มาใช้ในส่วนที่เป็นหน้าผ้ารองเท้า ซึ่งทาง Nike เองเคลมว่าส่วนของตัวรองเท้านั้น (upper) ใช้วัสดุรีไซเคิลมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบต่อน้ำหนัก

ส่วนของระบบ cushioning นั้นเป็น Recycle ZoomX Foam ที่ใช้เศษโฟมเหลือใช้จากการผลิตรองเท้า Nike Vaporfly 4% และกรรมวิธีการผลิตที่ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงครึ่งหนึ่งของการผลิตพื้นโฟมทั่วไปของ Nike พื้นรองเท้าทุกคู่ในคอลเลกชั่น Space Hippie ถูกเรียกว่า Crater Foam ที่ผลิตจากส่วนผสมของพื้นโฟมปกติของ Nike และยางรีไซเคิลเหลือใช้อีก 15 เปอร์เซ็นต์จากโปรแกรม Nike Grind ผลลัพธ์ที่ได้สามารถลดการเกิด carbon footprint ได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และลวดลายบนเนื้อโฟมรองเท้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและแตกต่างกันไปในรองเท้าทุกๆ คู่

จะเห็นได้ว่าหนึ่งในแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอย่าง Nike ให้ความสำคัญและจริงจังต่อ climate change ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมของตัวเองในแบบยั่งยืนเพื่ออนาคตอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ Nike แบรนด์เดียวเท่านั้น แต่แบรนด์คู่แข่งรวมไปถึงแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ ต่างก็เริ่มต้นโครงการและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบและใส่ใจต่อผลกระทบที่กำลังจะมาถึง

ในขณะที่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยแทบจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นสร้างผลกระทบในวงกว้างและระยะยาวยังไง แต่อย่างน้อยเมื่อมีใครสักคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นมันก็จะเป็นเหมือนคลื่นที่กระทบไปถึงใครหลายคนและอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้ลุกขึ้นมาใส่ใจและพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

หรืออย่างน้อยจะแค่ช่วยยืดอายุโลกของเราให้ยาวนานขึ้นอีกหน่อยก็ตาม

AUTHOR

ILLUSTRATOR

จักรกฤษณ์ อนันตกุล

นักวาดภาพประกอบ ผู้ที่เคยเป็นซึมเศร้า แต่ได้รับชีวิตใหม่จากการติดตามพระเยซู ชีวิตนี้จึงรักการอ่านไบเบิล