One Summer Story : ยืนมองท้องฟ้าไม่เป็นเช่นเคย ฤดูร้อนนี้มีเธอไม่เหมือนก่อน

Highlights

  • One Summer Story (2020) คือหนังรักเรียบเรื่อยเรื่องล่าสุดของ Shuichi Okita ผู้กำกับญี่ปุ่นเจ้าของผลงาน A Story of Yonosuke (2013) หนังในตำนานที่โด่งดังเป็นปรากฏการณ์แม้จะไม่เคยฉายในวงกว้างเลยสักครั้ง
  • เรื่องราวใน One Summer Story พูดถึงฤดูร้อนของเด็กสาวและเด็กหนุ่มมัธยมที่ผูกพันกันเพราะมังงะและออกเดินทางตามหาพ่อที่แท้จริงของนางเอกซึ่งไร้จุดพีค ปราศจากความดรามาติกบีบคั้น
  • ถึงอย่างนั้นหนังเรื่องนี้ก็ทำให้หลายคนหวนนึกถึงฤดูร้อนของตัวเองที่อาจไม่สลักสำคัญกับคนอื่น แต่จะมีความหมายกับเราและผู้คนในฤดูร้อนนั้นไปอีกนานแสนนาน

ไม่ต้องเป็นคนบ้าหนังขั้นฮาร์ดคอร์ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง A Story of Yonosuke (2013) ของผู้กำกับ Shuichi Okita ก็น่าจะเคยผ่านหูผ่านตานักดูหนังหลายท่านแม้ว่าจะเคยฉายในเทศกาลหนังเพียงไม่กี่รอบก็ตาม นั่นเพราะฝีมือของโซเชียลมีเดียที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นไวรัลและมีแฟนคลับมากมายจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แบบ cult following เลย

One Summer Story

เรื่องราวของ A Story of Yonosuke ว่าด้วยหนุ่มบ้านนอกซื่อๆ เด๋อๆ ชื่อโยโนสุเกะที่เข้ามาเรียนต่อในกรุงโตเกียว เขาได้พบเจอกับผู้คนมากมาย ทั้งลูกคุณหนูผู้ร่ำรวย เพื่อนชายที่เป็นเกย์แอบ ไปจนถึงสาวไซด์ไลน์ หากแต่ตัวหนังไม่ได้นำพาผู้ชมไปสู่เหตุการณ์ตื่นเต้นแต่อย่างใด มันดำเนินเรื่องแบบราบเรียบ เจือด้วยมุกขำขันคิกคักเป็นระยะ และด้วยความยาวถึง 160 นาที ผู้ชมบางคนก็หมดความอดทนไปกลางทาง หากแต่ตอนจบของหนังที่แลนดิ้งแบบสงบนิ่งกลับสร้างแรงสะเทือนอย่างรุนแรง หนังว่าด้วยชีวิต ความตาย และคำถามคลาสสิกทำนองว่า “ตกลงแล้วคนเราเกิดมาเพื่ออะไรกันนะ”

หลังจาก A Story of Yonosuke ผู้กำกับโอคิตะมีผลงานต่อเนื่องออกมาอีกหลายเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ตราตรึงอยู่ในใจของผู้เขียนมากนัก จนมาถึง One Summer Story (2020) นี่เองที่น่าจะใกล้เคียงกับคำว่ามาสเตอร์พีซอีกครั้ง หนังดัดแปลงจากมังงะ Kodomo wa Wakatte Agenai (2014) โดย Retto Tajima ว่าด้วยเด็กสาวจากชมรมว่ายน้ำที่สานสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มชมรมคัดลายมือ ก่อนทั้งคู่จะช่วยกันออกตามหาพ่อที่แท้จริงของนางเอก 

ผู้กำกับโอคิตะยังคงสไตล์เดิมจาก A Story of Yonosuke ที่ดำเนินเรื่องอย่างเรื่อยเปื่อยทุกสิ่งทุกอย่างถูกนำเสนออย่างปราศจากความดรามาติกและดูเหมือนกิจวัตรสามัญไปเสียหมด (แม้ว่าเส้นเรื่องจะเป็นการตามหาพ่อของนางเอกก็ตาม) อีกทั้งหนังยังเหมือนต่อต้านโครงสร้างของหนังญี่ปุ่นทั่วไปด้วย เช่น ปกติแล้วหากตัวเอกเป็นนักกีฬา เนื้อเรื่องก็มักเป็นแนวนักกีฬาห่วยๆ ที่ลุกขึ้นสู้และคว้าชัยในที่สุด ทว่านางเอกของ One Summer Story ไม่มีความมุ่งหมายเช่นนั้น กลับกันดูเหมือนเธอจะว่ายน้ำไปแบบงั้นๆ ส่วนพระเอกเข้าชมรมคัดลายมือก็เพราะที่บ้านทำธุรกิจลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่รุ่นปู่เท่านั้น

one summer story

one summer story

อีกสูตรหนึ่งของหนังญี่ปุ่นที่พบบ่อยคือพระเอก-นางเอกอยู่คนละชมรมแล้วเกิดอาการพ่อแง่แม่งอนเพราะเรื่องภายในโรงเรียนประเภทการแย่งใช้ห้องหรือความขัดแย้งระหว่างชมรม หากแต่ตัวเอกในเรื่องนี้เกิดจิตผูกพันเพราะชอบอนิเมะเรื่องเดียวกัน และหนังก็ถ่ายทอดความหลงใหลของโอตาคุออกมาอย่างน่ารักน่าชัง ไม่ได้ทำให้พวกเขาเป็นตัวประหลาด ยังไงก็ตาม แม้หนังจะดูมีท่าทีแสนผ่อนคลายหากสังเกตเทคนิคภาพยนตร์ให้ดีจะพบว่าหนังใช้การถ่ายลองเทค (ถ่ายยาวหลายนาทีโดยไม่ตัด) อยู่หลายฉาก โดยเฉพาะฉากบทสนทนาระหว่างพระ-นางซึ่งลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ใช้เทคนิคเพื่อโชว์เหนือแต่ประการใด

ส่วนพล็อตการตามหาพ่อของนางเอก ในที่สุดเธอได้พบว่าพ่อกลายเป็นเจ้าลัทธิไปเสียแล้ว แต่แทนที่จะผลักเรื่องไปสู่ความพิสดารประหลาดล้ำหรือความดราม่าน้ำตารินในฉากการกลับมาพบหน้ากัน กลับกลายเป็นว่านางเอกไปใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแบบฆ่าเวลารายวัน เปรียบเสมือนการไปทัศนศึกษาชั่วคราวก่อนจะกลับสู่วิถีปกติดั้งเดิม

อาจพูดได้ว่าหนังไหลเรื่อยไม่เร้าอารมณ์แบบนี้มีเพียงโอคิตะเท่านั้นที่ทำได้ หนังเรื่องล่าสุดของเขาเรื่องนี้ยังสะท้อนถึงความเฉพาะตัวของหนังญี่ปุ่นอีกประการ นั่นคือคงมีแต่หนังญี่ปุ่นนี่แหละที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์วัยมัธยมออกมาแบบสดใสซาบซ่า เปรียบเสมือนโลกที่อยู่ตรงข้ามกับซีรีส์ประเภท 13 Reasons Why ของอเมริกา และฉากสุดท้ายของหนังก็ช่างกล้าหาญที่สำรวจถึงอารมณ์ความรู้สึกของวัยรุ่นหนุ่มสาวอย่างลึกซึ้ง มันเป็นฉากที่สุ่มเสี่ยงความฟูมฟาย แต่หนังก็สามารถทำให้เราเชื่อได้ ต้องยกความดีให้ผู้กำกับรวมถึง Moka Kamishiraishi และ Kanata Hosoda นักแสดงนำของเรื่อง

ผู้ชมที่คุ้นชินกับหนังที่เน้นความหวือหวาหรือเรื่องราวใหญ่โตเกินชีวิตทั่วไปอาจมีปัญหากับ One Summer Story อยู่บ้าง ดูจบแล้วอาจเกาหัวแกรกว่าตกลงแล้วฉันดูหนังเรื่องนี้ไปเพื่ออะไร แต่ผู้เขียนคิดว่าชื่อหนังสรุปใจความของมันไว้อย่างดี นั่นคือเรื่องราวนี้เป็นเพียงหนึ่งฤดูร้อนของเด็กสองคน มันอาจเป็นช่วงเวลาที่ไม่สลักสำคัญต่อคนอื่น แต่เป็นเหตุการณ์ที่พวกเขาทั้งสองจะจดจำตลอดไป

ในฐานะคนวัยสามสิบบวก ดูแล้วก็ปวดใจอยู่บ้างเพราะฤดูร้อนของตัวเองได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว ถึงกระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธเสียงเรียกร้องของหัวใจที่จะยินดีไปกับตัวละครในเรื่องได้


One Summer Story ฉายในเทศกาล Japanese Film Festival – House Edition ช่วง 13-22 พฤศจิกายน 2563 โรงภาพยนตร์ House Samyan ดูรายละเอียดที่ Japanese Film Festival – House Edition

AUTHOR