หลายคนอาจรู้จัก Thaiconsent ในฐานะเฟซบุ๊กแฟนเพจที่อยากให้คนไทยรู้ทันการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งยังเป็นคอมมิวนิตี้ที่ให้คนทางบ้านร่วมแบ่งปันประสบการณ์เซ็กซ์หลายแง่มุม เพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคม พร้อมภาพประกอบจากศิลปินอาสาที่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ
แต่ในปีที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้งอย่าง นานา–วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เริ่มพาให้ Thaiconsent ไปไกลกว่าที่เคย ตั้งแต่การจัดนิทรรศการป๊อปอัพ First Step: BREAK SILENCE/// ที่เมืองแซนแฟรนซิสโก สหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ E.Quality Talks and ThaiConsent Exhibition งานเสวนาและแสดงผลงานภาพประกอบที่มีขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา
และล่าสุดคือ Thaiconsent Art sExhibition นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในเพจ Thaiconsent แต่จะเล่าเรื่องเฉยๆ ก็คงธรรมดาไป เธอจึงรวบรวมศิลปินเกือบ 20 ชีวิตแบบไม่จำกัดสาขา มาจัดแสดงในร้านหนังสือ Fathom bookspace ช่วงวันที่ 8-28 ธันวาคม 2018
แต่ก่อนที่จะไปชมงานศิลปะ เราอยากชวนทุกคนมาลองฟังเรื่องราวเบื้องหลังก่อนว่าอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้นานาจัดนิทรรศการนี้
1.
นานาเล่าให้ฟังว่าเธอสนใจจัดนิทรรศการแบบนี้มาตั้งแต่แรก แต่เพิ่งได้ทำจริงหลังมีคนแนะนำให้เธอรู้จัก FRIDA The Young Feminist Fund หรือกองทุนสนับสนุนเฟมินิสต์โดยคนรุ่นใหม่ เดือนมีนาคมที่ผ่านมาเธอจึงลงมือเขียนจดหมายไปขอทุนเพื่อมาจัดแสดงงาน
“เราอยากจัดงานแบบนี้มาตั้งแต่แรกเพราะอยากให้คอนเทนต์ไปไกลกว่าแฟนเพจ และเราไม่อยากให้ในงานมีแต่งานตัวเอง ก็เลยทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้คนได้มาเจอกัน artist กับ activist ได้ทำงานร่วมกัน เพราะนักเคลื่อนไหวก็จะเคยทำแต่งานรณรงค์จัดๆ ส่วนศิลปินก็สนใจเรื่องเพศ ความเท่าเทียม มาพักใหญ่แล้ว งานนี้เลยทำให้นักเคลื่อนไหวมีไอเดียกับงานศิลปะมากขึ้น และฝั่งศิลปะก็มีไอเดียเชิงประเด็นที่ลึกขึ้น”
ศิลปินที่เข้ามาร่วมแสดงงานในครั้งนี้ นานาใช้วิธีเปิดรับสมัครผ่านแฟนเพจ ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นส่วนผสมของศิลปินที่หลากหลายทั้งที่มา อายุ และสไตล์งาน
สำหรับฝั่งนักเคลื่อนไหว หญิงสาวชักชวนเพื่อนต่างสาขาอย่างนักกฎหมาย นุ่น–ธารารัตน์ ปัญญา และนักอักษรศาสตร์ เฟลอ–สิรินทร์ มุ่งเจริญ มาเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ เริ่มจากการช่วยคัดสรรเรื่องราวประสบการณ์เซ็กซ์จากทางบ้านกว่า 400 เรื่องให้เหลือ 40 เรื่อง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้เหล่าศิลปิน โดยเลือกจากเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ครอบคลุมเรื่องราวจำนวนมากที่ส่งเข้ามา เกิดเป็นคอนเซปต์ ‘ongoing things’ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นและยังดำเนินอยู่
“เราส่งทั้ง 40 เรื่องให้ศิลปินอ่าน เขาสามารถหยิบเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือภาพรวมทั้งหมดมาสร้างงานก็ได้ มีบางคนที่ขอไปอ่านทั้ง 400 เรื่องก็มี แต่ละคนก็จะเลือกเรื่องที่ตัวเองอ่านแล้วรู้สึกสนใจหรือรู้สึกเชื่อมโยง ทั้งเชื่อมโยงจากการผ่านประสบการณ์แบบเดียวกัน อินกับสิ่งที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากในสื่อกระแสหลัก หรือบางคนไม่เข้าใจ แต่ทำเพราะอยากจะเข้าใจมันให้มากขึ้นก็มี”
เมื่อได้เรื่องราวหรือประเด็นที่สนใจ ทีมคอนเทนต์และศิลปินจึงนัดพบกันเพื่อพูดคุยถึงสเกตช์คร่าวๆ ของงาน เพื่อวางแผนการจัดแสดง ก่อนจะกลับมาเจอกันอีกครั้งในวันที่เปิดแสดงงานที่ร้าน Fathom bookspace
“เราไม่อยากเช่าแกเลอรี่ เพราะการไปแกเลอรี่มันยาก ต้องใช้ความพยายาม แต่เราอยากให้นิทรรศการอยู่ในชีวิตประจำวันของคน ไม่แยกไปเป็นอีกโลกหนึ่ง
“เราชอบร้านนี้ เพราะเขาจัดกิจกรรมบ่อยเกี่ยวกับผู้หญิง แม่ และเด็ก มีสเปซให้เล่นได้เยอะ จะเห็นว่างานที่จัดแสดงจะแทรกตัวอยู่ทั้งร้าน เซอร์ไพรส์คนที่มาร้านเป็นประจำอยู่แล้วด้วย”
2.
เมื่อเดินเข้าไปในนิทรรศการ ขวามือของเราคือโปสเตอร์สีน้ำเงินแผ่นใหญ่ เล่าถึงแนวคิดการทำงานของนิทรรศการ พร้อมกับเรื่องราวทั้ง 40 เรื่องในภาษาไทยและอังกฤษบนหน้ากระดาษ เพื่อให้ผู้เข้าชมแวะมาอ่านถึงต้นทางของงานศิลปะในร้านได้
ส่วนทางซ้ายมือคืองาน installation art ขนาดใหญ่ติดอยู่บนกำแพง ชื่อ My Book of Liminality: I Am Both and Neither X nor Y โดย Parinda Mai ซึ่งเล่าถึงสภาวะที่พูดก็ยาก อธิบายก็ยาก ศิลปินอธิบายว่าเธอได้แรงบันดาลใจจากมวลความรู้สึกโดยเมื่ออ่านเรื่องราวทั้งหมด ทั้งกรณีถูกล่วงละเมิด หรือแม้แต่เรื่องราวที่เกิดจากความยินยอม แต่ก็ยังเกิดคำถามในใจถึงสิ่งที่รู้สึก โดยงานชิ้นนี้ผู้ชมสามารถเลือกหน้ากระดาษที่ตัวเองสนใจแล้วเย็บเข้าด้วยกันเป็นหนังสือ ส่วนจะวางทิ้งไว้ เก็บกลับบ้าน นำไปขาย หรือทำอะไรกับมันก็แล้วแต่จะตัดสินใจ
ที่นานาบอกว่านิทรรศการแทรกตัวอยู่ทุกส่วนของร้านไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะเมื่อเราเดินสำรวจร้านต่อ เราก็พบว่าบริเวณชั้นล่างมีทั้งงานปั้นเหนือเปียโน เล่าเรื่องความรู้สึกของผู้ถูกล่วงละเมิดที่ต้องการมีชีวิตที่สวยงามแทนการทุกข์ทรมาน, ผลงานที่เล่าถึง BDSM ที่สวยงามเมื่อเกิดจากความตั้งใจและยินยอม ซึ่งซ่อนตัวอยู่ระหว่างชั้นหนังสือใต้บันได, บทกวีเล่าถึงการล่วงละเมิดที่มีเสียงประกอบให้ฟังบริเวณใกล้โต๊ะกาแฟ เรียกได้ว่าสามารถเดินดูงานได้ตั้งแต่ประตูร้านไปจนถึงมุมด้านในสุด
บริเวณบันไดขึ้นชั้นลอยเองก็มีงานภาพประกอบเล่าถึงความสวยงามของเซ็กซ์ที่เกิดจากการยินยอม ส่วนบริเวณชั้นลอยก็เรียงรายไปด้วยงานศิลปะ ทั้งวิดีโอที่เล่าถึงการล่วงละเมิดในวัยเด็ก, ภาพประกอบและวิดีโอที่เล่าเรื่องการล่วงละเมิดที่ผู้ชายต้องเผชิญแถมยังถูกบีบให้ยอมรับ, เก้าอี้ห่อบับเบิลกันกระแทก แทนการเป็นที่รองรับความต้องการทางเพศแต่ไม่เคยได้แสดงความต้องการของตัวเอง ฯลฯ
“เราได้พลังจากคนที่มาแสดงงานเยอะมาก เพราะทุนก็ไม่ได้มีให้เยอะ ถ้าเป็นเราทำเองอาจจะแค่ปรินต์รูป ใส่กรอบ แต่เขามีความบ้าพลัง มีคนมาจากหาดใหญ่เพื่อมาแสดงงาน เพราะเขาอยากทำเรื่องนี้มากๆ พอมีคนออร์แกไนซ์ให้เขาเลยได้ทำออกมา ทุกคนที่มาทำตรงนี้มีความบ้า” นานาเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย
3.
แม้นิทรรศการจะบ้าพลัง แต่ความตั้งใจของ Thaiconsent ไม่ได้จบเพียงแค่นี้เท่านั้น
จากที่เป็นงานอดิเรกที่ทำในเวลาว่างอย่างที่ผ่านมา ปีหน้านานามีความตั้งใจจะปรับให้ Thaiconsent มีความเป็นองค์กรมากขึ้น มีการหาโมเดลสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน มีทุนหล่อเลี้ยงจนสามารถรับเด็กฝึกงานได้ และเข้าเป็นพาร์ตเนอร์กับองค์กรต่างๆ โดยอาศัยคอนเนกชั่นที่สะสมมาในปีนี้อย่างการเข้าร่วมกับ UN Women และคนอื่นๆ ที่ทำงานเรื่องเพศหรือผู้หญิง รวมทั้งขยายเนื้อหาคอนเทนต์ให้กว้างขึ้น
“เราไม่อยากจำกัดเนื้อหาที่การละเมิดทางเพศอย่างเดียว แต่อยากพูดถึงไลฟ์สไตล์ด้วย ปัจจุบันนี้มีสื่อเพื่อผู้หญิงเยอะนะ แต่ไม่ได้เป็นในแง่เฟมินิสต์ เราเลยอยากทำคอนเทนต์ถึงการเป็นผู้หญิงเฟมินิสต์ที่เข้าใจอุปสรรคในสังคม เข้าใจความเท่าเทียมทางเพศ”
ส่วนในเนื้อหาที่มีอยู่เดิมก็จะเข้มข้นยิ่งขึ้นจากการเติบโตของตัวนานาเอง เพราะไม่นานมานี้ หญิงสาวเพิ่งเปิดเผยว่า เธอเองก็เคยเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน ซึ่งการทำเพจ Thaiconsent ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเยียวยาให้เธอแข็งแรงขึ้น
“เราเปลี่ยนตัวเองจาก victim มาเป็น survivor ซึ่งพอก้าวข้ามมันมาได้ แล้วมันดี ชีวิตที่ไม่ต้องแบกความลับมันดีมาก สามารถเชียร์คนให้ออกมาพูดได้ว่าเขาเคยมีประสบการณ์ เพราะเรารู้แล้วว่าควรเปิดเผยขนาดไหนให้ตัวเองไม่สูญเสีย เนื้อหาตรงนี้จะพร้อมขึ้น ลึกขึ้น เรื่องที่เคยเป็นนิรนามอาจจะมีน้ำหนักขึ้น”
จากวันแรกถึงวันนี้ Thaiconsent ยังคงมีเป้าหมายคือการสร้างความเข้าใจเรื่องเซ็กซ์ที่ถูกต้อง เป็นเป้าหมายระยะยาวที่นานาตั้งใจจะทำต่อไปตลอดชีวิต และในวันนี้เธอก็สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
“ก่อนหน้านี้คำว่า consent ไม่มีอยู่เลย แต่ตอนนี้เราไม่ต้องมาเถียงกับคนใกล้ตัวแล้วว่าอะไรคือความยินยอม ไม่เจอคำถามว่า ‘อันนี้มึงยอมเองหรือเปล่า’ แล้ว ปีหน้า เราตั้งเป้าว่าอยากทำให้คนหนึ่งล้านคนรู้จักว่า consent คืออะไร และด้วยเครือข่ายของผู้หญิงที่เราสะสมมาในปีนี้ เราคิดว่าน่าจะทำได้”