8 โมงเช้าวันทำงานของ ธำมรงค์ วนาฤทธิกุล เจ้าของซีรีส์ภาพถ่ายท้ายรถกระบะ

Highlights

  • 8 โมงเช้า คือโปรเจกต์ภาพถ่ายที่ ธำมรงค์ วนาฤทธิกุล ออกไปถ่ายภาพผู้คน (บางทีก็มีหมาด้วย) ท้ายรถกระบะ จากสะพานลอยแถวบ้านก่อนไปทำงานทุกวัน เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง ก่อนนำมาจัดแสดงที่กาฐมาณฑุ โฟโต้ แกลลอรี่ วันที่ 12 มกราคม - 23 กุมภาพันธ์ 2019
  • ภาพชุด 8 โมงเช้า แบ่งออกเป็นซีรีส์ย่อยๆ 14 ซีรีส์ แต่ละซีรีส์รวมภาพถ่ายจากรถคันเดิม ที่บรรทุกผู้คนเดิมๆ ในสถานที่เดิมและเวลาเดิม ยกเว้นหนึ่งซีรีส์ที่เขารวมภาพคนนอนหลับจากรถหลายคันเข้าไว้ด้วยกัน
  • ความยากของการถ่ายภาพเซตนี้คือความเร็วของรถ หากวันไหนที่รถวิ่งเร็วเขาจะไม่สามารถถ่ายภาพที่สมบูรณ์ได้เลย ผิดกับวันรถติดที่เขามักได้ภาพดีๆ กลับมา เขาจึงอาจเป็นคนเดียวในประเทศไทยที่อยากให้รถติดตอนเช้าก่อนเข้างาน

ช่วงหนึ่งระหว่างมาทำงานตอนเช้า ฉันเจอกระเป๋ารถเมล์คนเดิมติดกันเป็นเวลาสามวัน

มันอาจฟังดูเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่สำหรับฉันซึ่งสามารถเลือกขึ้นรถเมล์เพื่อมาทำงานได้เป็นสิบสาย และมีเวลาออกจากบ้านไม่ค่อยแน่นอน การได้เจอคนแปลกหน้าคนเดิม บนรถเมล์สายเดิม แม้เพียงสามวันก็ทำให้ตื่นเต้นปนดีใจอย่างบอกไม่ถูก

โชคร้ายที่หลังจากนั้นฉันก็ไม่เคยมีโอกาสได้เจอพี่กระเป๋ารถเมล์คนนั้นอีกเลย แต่ความรู้สึกตอนนั้นยังคงอยู่ไม่เคยหายไปไหน

และเป็นแวบแรกที่เห็น ‘8 โมงเช้า’ ซีรีส์ภาพถ่ายผู้คนท้ายรถกระบะจากรถคันเดิมๆ ตลอดเวลาปีครึ่ง ของ ธรรม–ธำมรงค์ วนาฤทธิกุล ที่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับมากระโดดโลดเต้นอีกครั้ง

จุดเริ่มต้นของภาพเซตนี้เรียบง่ายพอๆ กับเช้าวันธรรมดา เมื่อในเช้าวันหนึ่งกลางปี 2017 ระหว่างเดินไปทำงานประจำ ธรรมเหลือบไปเห็นท้ายรถกระบะที่เต็มไปด้วยคนและข้าวของ องค์ประกอบระเกะระกะภายในกรอบสี่เหลี่ยมสะดุดตาเขาเข้าอย่างจัง จนอยากเก็บภาพไว้เป็นหลักเป็นแหล่งมากกว่าเพียงแค่ในความทรงจำ

“เราทำงานประจำ ไม่ได้เป็นช่างภาพมืออาชีพ เลยต้องไปทำงานทุกวัน วันหนึ่ง ประมาณเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เราเดินข้ามสะพานลอยไปทำงานตามปกติ พอมองลงไปข้างล่างเราก็เห็นคนนั่งอยู่ท้ายรถกระบะ ตอนนั้นเราพยายามหยิบมือถือมาถ่ายแต่เพราะไม่ได้ตั้งตัว หยิบๆ อยู่รถก็ไปซะแล้ว แต่ภาพนั้นยังติดตาเรา วันถัดมาเราเลยเอากล้องไปถ่าย หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือนก็เริ่มถ่ายเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา”

ความจริงจังของเขา หมายถึงทุก 8 โมงเช้าก่อนไปทำงาน ธรรมจะพกกล้องออกไปเตรียมพร้อมบนสะพานลอยใกล้บ้านเพื่อรอรถกระบะที่ผ่านมา และปักหลักอยู่ตรงนั้นเกือบๆ 45 นาที ก่อนจะไปทำงาน เมื่อทำไปสักพักเขาก็พบว่ายามถนนโล่งที่คนขับรถโปรดปรานกลับเป็นหายนะสำหรับช่างภาพ เพราะมีน้อยครั้งที่เขาจะจับภาพรถกระบะได้ทัน กลับกัน เป็นวันรถติดเสียอีกที่เขามักได้ภาพดีๆ จนทำให้เขาเกิดวิธีถ่ายภาพแบบเฉพาะตัว

“ก่อนออกจากบ้านเราจะไปชะโงกมองตรงหน้าต่างว่าวันนี้รถติดมั้ย ถ้าเห็นว่า เฮ้ย! รถติดแล้ว เราก็จะวิ่งออกไป เราอาจจะเป็นคนเดียวในประเทศที่รถติดแล้วแฮปปี้มาก” ธรรมบอกก่อนจะหัวเราะพฤติกรรมของตัวเองที่สวนทางกับคนทั่วไป

เขาเล่าให้เราฟังต่อว่าการออกไปถ่ายรูปรถกระบะยามเช้ากลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้ (ยกเว้นวันฝนตกที่ไม่มีใครอยากนั่งกระบะหลัง) ไม่นาน เขาก็พบว่าไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่ต้องผ่านเส้นทางนั้นทุกวัน

แต่รถกระบะหลายคันก็เช่นกัน

“พอออกไปถ่ายภาพได้สักพักแล้วเอารูปมาดู เราก็เห็นว่าคนนี้มาอีกแล้ว คนนี้ที่เราเคยเห็นกับคนนั้นเขานั่งรถคันเดียวกันนี่นา พอไปคุยกับพี่มานิต (มานิต ศรีวานิชภูมิ เจ้าของ Kathmandu Photo Gallery) ก็เลยบอกพี่มานิตว่าบางทีเราก็เห็นรถคันเดิมเหมือนกันนะ เก็บมาได้ประมาณ 4-5 รูป แกก็เลยแนะนำว่าให้ทำเป็นซีรีส์ จะได้น่าสนใจมากขึ้น”

ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็นงานชุด 8 โมงเช้าที่ประกอบด้วยภาพถ่ายย่อยๆ 14 ซีรีส์ ซึ่งจะจัดแสดงที่ Kathmandu Photo Gallery ในวันที่ 12 มกราคม – 23 กุมภาพันธ์ 2019 แต่ละซีรีส์บรรจุภาพรถกระบะแต่ละคันที่ถ่ายได้ในช่วงเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา เว้นแค่ซีรีส์หนึ่งที่เขารวบรวมภาพคนนอนหลับท้ายรถกระบะไว้โดยเฉพาะ

“แต่ละซีรีส์จะมีจำนวนภาพไม่เท่ากัน เพราะความยากของมันคือเราไม่มีทางรู้ว่ารถคันที่เราเคยถ่ายจะผ่านมาในวันนี้หรือเปล่า และถ้าเขาขับมาเร็วเราก็จะถ่ายไม่ทัน ช่วงแรกๆ ที่ถ่ายเราเสียดายมากเพราะเราเจอคนที่น่าจะกำลังย้ายหอพัก ท้ายกระบะมีของกองอยู่เต็ม ทั้งพัดลม ถุงตุ๊กตา และมีผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ตรงกลาง เราก็คิดว่าถ้าเราถ่ายภาพนี้ได้ต้องดีแน่ๆ เลย แต่ว่าเขาขับเร็วเกินไป

“หรือซีรีส์ที่มีน้องเสื้อเขียวนั่งท้ายรถกระบะ เราตั้งใจจะเก็บให้ได้ 30 รูป ซึ่งตอนถ่ายเราถ่ายได้มากกว่าสามสิบรูปอยู่แล้วแต่บางทีรูปไม่ชัดบ้าง บางทีท้ายรถกระบะก็ไม่ได้อยู่ในเฟรมทั้งหมด บางทีเขามาเร็ว เราจับได้แค่ครึ่งกรอบ สัปดาห์นี้ก็เลยเพิ่งจะถ่ายเสร็จ

“หรือบางทีต่อให้เราถ่ายภาพทัน แต่เขาผ่านมาแค่ครั้งเดียวเราก็เรียงเป็นซีรีส์ไม่ได้ เช่น มีรถคันหนึ่งขนถุงดำมาเป็นกองสูงมากเหมือนกองภูเขาและมีคนนั่งอยู่บนกองภูเขานั้น ซึ่งเราเห็นรถคันนี้แค่ครั้งเดียว”

ช่วงเวลาปีครึ่งที่ธรรมใช้ จะว่าสั้นก็สั้น จะว่ายาวก็ยาว ยิ่งกับการออกไปถ่ายรูปที่เดิมซ้ำๆ กันทุกวัน ปีครึ่งก็ไม่ใช่เวลาที่เล็กน้อยเลย อย่างน้อยมันก็ยาวพอที่จะทำให้คนแปลกหน้าท้ายรถกระบะกลายเป็นคนคุ้นหน้า แม้จะอยู่ในระยะที่พวกเขาไม่เคยปฏิสัมพันธ์กันเลยก็ตาม

“ถ้าไปดูภาพ จะเห็นซีรีส์กระบะคันหนึ่งที่ทั้ง 30 รูปเกี่ยวกับน้องเสื้อเขียว เราเหมือนมีความผูกพันกับเขาเล็กๆ เพราะเราเห็นเขามาตลอด ประมาณครึ่งหนึ่งของซีรีส์จะเป็นภาพน้องมาคนเดียว หลังจากนั้นเขาก็หายไปวันหนึ่ง แล้วก็กลับมาพร้อมเพื่อน แต่หลังจากนั้นน้องก็หายไปเลย มันเหมือนเขาก็ผ่านมาเจอเราหนึ่งวินาทีทุกวันแล้วเขาก็ไป

“หรือถ้าไม่ใช่คน เราก็มีซีรีส์น้องหมาด้วย ประมาณ 5 รูป วันแรกที่ถ่ายได้เขานอนอยู่ท้ายรถกระบะ ที่ตัวมีสายยางระโยงระยาง วันถัดมาเหมือนว่าน้องเขาก็ดีขึ้น สายทั้งหลายแหล่ก็ไม่มีแล้ว เราก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้ตลอด 5-6 วัน หลังจากนั้นเขาก็หายไป เราก็หวังว่าเขาจะหายป่วย วิ่งเล่นได้แล้ว”

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันใกล้ชิดกับภาพถ่ายและผู้คนเหล่านี้ได้มากขึ้นก็คือการได้เห็นพวกเขาวันแล้ววันเล่าในท่าทางต่างกัน บางครั้งพวกเขาดูเหนื่อยล้า บางครั้งก็ดูเหงาหงอย แต่บางวันก็ร่าเริงจนถึงขั้นเล่นดนตรีกันบนรถ ซึ่งธรรมบอกว่าทั้งหมดเขาเรียงร้อยรูปภาพตามลำดับเวลาที่ถ่ายแบบไม่บิดเบือน เพื่อให้เราเหมือนได้ออกไปสังเกตพวกเขาตอน 8 โมงเช้าด้วยตัวเองยังไงอย่างงั้น

“เราอยากให้คนได้เห็นชีวิตของพวกเขาในแต่ละวัน ก็เลยพยายามเลือกภาพรถคันที่เราเจอซ้ำหลายครั้งมารวมเป็นซีรีส์ เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ตอนแรกเราก็เรียงลำดับมั่วๆ แต่ถ้ามานั่งดูดีๆ มันจะผิดปกติ เช่น คนบนรถคันหนึ่งเขาย้อมผมสีทองแล้วผมก็ยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นโคนผมสีดำ ซึ่งถ้าเกิดเราเรียงวันไม่ถูกต้อง เราจะเห็นว่าเดี๋ยวผมเขาก็สั้น เดี๋ยวผมก็ยาว เดี๋ยวก็ทอง เดี๋ยวก็ดำ

“เรารู้สึกว่าแต่ละวันที่เราไปทำงาน บางทีเราก็ไม่สังเกตหรอกว่ารอบตัวเราเกิดอะไรขึ้น เราคิดว่าทุกคนเคยเห็นคนนั่ง นอน ที่ท้ายรถกระบะอยู่แล้วแหละ แต่ว่าไม่มีใครเคยโฟกัสว่าคนกลุ่มนี้เขากำลังไปไหน ไปทำงานอะไร มีอะไรอยู่ท้ายรถกระบะนั้น ไม่มีใครเคยรู้ว่าเขานั่งอยู่ตรงนี้นะ เช่น ในบางซีรีส์ 12 รูปที่เราถ่าย เขาจะนั่งอยู่จุดเดิมหมดเลย หรือบางซีรีส์ก็จะมีตะกร้าพลาสติกสีฟ้าอยู่ในสิบกว่ารูป แต่คนจะเปลี่ยนไป เราคิดว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มันน่าสนใจดี”

ธรรมค่อยๆ ไล่เรียงภาพให้เราดูรถกระบะทีละคัน ทีละวัน จนฉันเริ่มคุ้นเคยกับคนในภาพ แป๊บๆ หนึ่งพี่คนนั้นก็โผล่มาอีกแล้ว เอ๊ะ วันนี้พี่คนนั้นหายไปไหนนะ อ้าว วันนี้รถคันนี้มีข้าวของเยอะเป็นพิเศษ​จนคนต้องไปยืนเบียดกันแน่ะ หรือเขาจะไปไหนกันหรือเปล่า รู้ตัวอีกทีฉันก็แอบเติมเรื่องราวประจำวันให้พี่ๆ น้องๆ หลังรถกระบะไปเรียบร้อยแล้ว

ธรรมอมยิ้มแอบบอกกับเราว่า เขาเองก็ทำแบบนั้นเช่นกัน

“พอเราทำรูปเป็นซีรีส์แล้วมันมีเรื่องราวเพิ่มขึ้นเยอะเลย ถ้าเกิดไปดูรูปเดียว ดูแล้วก็จบ แต่ถ้าดูเป็นซีรีส์มันจะเหมือนว่ารูปแรกเราเห็นคนนี้ รูปที่สองคนนี้ยังนั่งอยู่ที่เดิม พอมาดูรูปที่สามคนนี้ไปไหนแล้ว มันมีช่องว่างให้เราไปคิดเองว่าเรื่องราวจะเป็นยังไงต่อ

“ปกติไปทำงานเราก็ขึ้นรถไฟฟ้าแบบไม่ได้สนใจอะไร แต่พอเราเริ่มออกไปถ่ายรูป เราก็เริ่มสังเกตคนรอบตัวเยอะขึ้น เช่น คนนี้เคยเห็นแล้วนี่นา เมื่อวานเขาขึ้นรถไฟฟ้าคันเดียวกัน เหมือนมันทำให้เราได้สนใจโลกรอบตัวเพิ่มขึ้น”

ธรรมทิ้งท้ายปล่อยให้ฉันกวาดสายตามองถนนรอบๆ และรถราที่วิ่งผ่านไป

ฉันกะว่าพรุ่งนี้ฉันอาจจะลองสังเกตอะไรๆ เพิ่มขึ้น ให้มากกว่าแค่กระเป๋ารถเมล์

งานชุด 8 โมงเช้า / 8 a.m. จัดแสดงที่ Kathmandu Photo Gallery วันที่ 12 มกราคม – 23 กุมภาพันธ์ 2019

*Photo Courtesy of Thamarong Wanarithikul

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย