เที่ยว Olympic Agora สเปซกลางโตเกียวที่เล่าเรื่องโอลิมปิกผ่านศิลปะ เกม และนิทรรศการ

บรรยากาศการจัดการแข่งขัน Tokyo Olympic 2020 อาจจะไม่คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่ถึงกับเงียบเหงาจนเราไม่ได้สัมผัสถึงความตื่นเต้นของมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติที่กำลังดำเนินไปอย่างร้อนแรง–ทั้งในแง่อากาศที่ญี่ปุ่นและความมุ่งมั่นของเหล่านักกีฬาตัวแทนทีมชาติ

Olympic Agora
Olympic Agora

แม้คนทั่วไปจะเข้าไปดูการแข่งขันไม่ได้ แต่ถ้าไปย่านนิฮงบาชิเราก็จะได้เห็นการประดับโปสเตอร์โอลิมปิกในอดีตและผ้าประดับตามอาคารสร้างความคึกคักเบาๆ แบบเกรงใจโควิดและคนที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดงาน การตกแต่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Olympic Agora ศูนย์วัฒนธรรมของ Tokyo 2020 (ชื่อเล่นของงานโอลิมปิกครั้งนี้)

ภายในบริเวณที่ว่ามีทั้งงานนิทรรศการ การจัดแสดงงานศิลปะและคาเฟ่กรุบกริบให้เลือกชมตามอัธยาศัย เหมาะสำหรับคนที่อยากรู้จักโอลิมปิกมากขึ้นแบบตื่นเต้นเองเงียบๆ และเพราะภายในมีงานจัดแสดงอยู่เยอะมาก เราจึงขอเลือกงานไฮไลต์มาให้ชม เผื่อนอกจากจะได้รู้จักงานโอลิมปิกครั้งนี้เพิ่มขึ้น ยังอาจช่วยให้หายคิดถึงญี่ปุ่นกันบ้างนะ

Outdoor Contemporary Art

Solidarity and Collaboration – Makoto Tojiki

Tokyo Agora

ขอเริ่มต้นด้วยผลงานสุดอลังการที่ถ้าเดินผ่านแล้วไม่หยุดมองจะถือว่าใจแข็งมาก งานประติมากรรมที่สร้างสรรค์จากเหล็กเส้นสูงกว่า 4 เมตรนี้จำลองภาพการส่งต่อไม้ในกีฬาวิ่งผลัด สื่อถึงความมุ่งมั่น ความหวัง ความสามัคคี ศักยภาพของมนุษย์ และการส่งต่อโอลิมปิกให้คนรุ่นต่อไปด้วย!

Makoto Tojiki เจ้าของผลงานเป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญในการใช้แสงและเงา เคยทำงานร่วมกับแบรนด์ดังมามากมาย เช่น Hermès, SHISEIDO และ UNICEF สำหรับครั้งนี้เขาตั้งใจทำงานไซส์ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา และใช้แสงสร้างความโดดเด่นเพราะอยากให้คนที่เดินผ่านไปมาหยุดยืนมองและอมยิ้มด้วยความประหลาดใจ ให้ศิลปะสร้างพลังบวกและความหวังให้เพื่อนมนุษย์ในยามที่ทั้งโลกต้องหยุดวิ่งไปข้างหน้าเพราะโรคระบาด 

ถ้ามาตอนเย็นที่เขาเปิดไฟจะยิ่งสวยอลังการมากๆ ใจจริงก็อยากไปดูอีกรอบแต่เขาเปิดไฟถึงแค่ 2 ทุ่ม และตอนนี้หน้าร้อนที่โตเกียว 1 ทุ่มยังไม่มืดเลย เอาเป็นว่าแค่ดูตอนกลางวันก็สวยสนุกมีมิติมากๆ แล้ว

The Audience – Xavier Veilhan

Olympic Agora

รูปปั้นคน 5 สีนั่งๆ ยืนๆ อยู่หน้าห้าง Coredo เป็นผลงานศิลปะของ Xavier Veilhan ศิลปินชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ซาเวียร์เป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญศิลปะหลายแขนงทั้งงานปั้น งานวาด งานภาพถ่าย และวิดีโอ ผลงานส่วนใหญ่มักพูดถึงความโมเดิร์น ความเร็ว การเคลื่อนไหว และความเป็นเมือง ถามว่าเขาดังแค่ไหน อาจเล่าได้จากการที่เขาได้ทำ French Pavilion ที่ Venice Biennale ครั้งที่ 57 ด้วย 

งานชิ้นนี้ made by French แต่ made in Japan ดูเผินๆ สีสันของแต่ละตัวเหมือนจะอ้างอิงจากสีของห่วงโอลิมปิก แต่มากไปกว่านั้นศิลปินยังตั้งใจสื่อถึงความหลากหลายของเพศ เชื้อชาติ และอายุด้วย ตามคอนเซปต์ ‘ถึงจะแตกต่างแต่ก็อยู่ร่วมกันได้’ ของโอลิมปิกนั่นเอง นอกจากนี้ เพราะในปีนี้ ‘ผู้ชม’ เป็นสิ่งที่ขาดหายไปเพราะแฟนๆ ไม่สามารถเข้าไปเชียร์นักกีฬาที่ขอบสนามได้ งานชิ้นนี้จึงตั้งใจเน้นความสำคัญของมวลชนคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นฮีโร่และทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ชมทั่วโลกที่กำลังชมการแข่งขันอยู่นั่นเอง 

ใครอยากมาดูไม่ต้องเสียดายไป เพราะ Olympic Foundation for Culture and Heritage จะทิ้งผลงานชิ้นนี้ไว้ให้เป็น permanent legacy หรืออนุสรณ์ถาวรที่โตเกียว ให้ทุกคนได้แวะมาดู มานั่งเล่นกับเพื่อนได้ยามโควิดจากเราไป

Podium Memories – Moment Factory

ดูงาน The Audience เสร็จ กลับหลังหันมาจะเจอจอสีดำมีหน้าจอแสดงกราฟิกขยับไปมาราวกับเชื้อเชิญให้เราเข้าไปใกล้ พูดตามตรงว่าตอนแรกแอบรู้สึกเฉยๆ กับงานนี้จนเกือบเดินผ่าน เดชะบุญพี่เจ้าหน้าที่มาทักว่าไม่ลองเล่นเหรอ สนุกนะ ซึ่งสนุกจริงด้วย แม้จะไม่ถึงขั้นว้าวแบบ teamLab แต่ก็ถือว่าน่าสนใจ ไม่เสียดายเวลาที่แวะเล่นตามคำชวน 

แท่งดำๆ และจอที่เห็นสื่อถึงโพเดียมที่ถูกแยกชิ้นส่วน เมื่อเราเดินมายืนตรงจุดที่เขากำหนดไว้ ภาพเกี่ยวกับโอลิมปิกทั้งภาพถ่าย โปสเตอร์เก่าๆ ที่หาดูยาก กราฟิก หรือแม้กระทั่งเสียงต่างๆ จะปรากฏขึ้นมา เราสามารถเลือกสิ่งที่จะดูได้ด้วยการเหยียบที่ลูกศรบนพื้นแบบเกมเต้นสมัยก่อน

ภาพที่ปรากฏขึ้นมาน่าจะหาดูยากจริงเพราะขนาดว่าเราเองค้นคว้าเรื่องโอลิมปิกมาเยอะพอสมควรยังแอบตื่นเต้นกับภาพที่เห็น การนำเสนอก็เก๋มาก สมเป็นผลงานของ Moment Factory สตูดิโอผู้เชี่ยวชาญงานแสง สี เสียง วิดีโอ และสร้างผลงานดังๆ ไว้มากมาย เช่น Where Do We Go คอนเสิร์ตไลฟ์สตรีมของ Billie Eilish

จริงๆ แล้วใน Olympic Agora ยังมีงานแนวนี้ที่น่าสนใจอีกชิ้นคือ What Is the Joy of the Future? โดย Rinko Kawauchi ช่างภาพชื่อดัง งานที่ว่ารวมภาพถ่ายพื้นที่แถบโทโฮคุในปี 2019 จากแคมเปญ Olympism Made Visible เป็นโครงการที่ใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องราวของกีฬาในฐานะเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาชุมชน  ความพิเศษคือนอกจากจะทำขึ้นเพื่องานโตเกียวโอลิมปิกโดยเฉพาะ ภาพชุดนี้ยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนด้วย แต่เราหางานไม่เจอเพราะแผนที่บอกที่ตั้งงานศิลปะไว้คร่าวมากๆ รู้สึกผิดมาก ใครหางานไม่เจอเหมือนเราแนะนำว่ากลับบ้านมารักษาใจแล้วดูงานในเว็บไซต์ก็ได้นะ

Exhibition

The Olympic Spirit

เดินชมงานศิลปะเสร็จแล้วมาดู The Olympic Spirit นิทรรศการที่เป็นพระเอกของงานนี้กันดีกว่า

The Olympic Spirit แบ่งออกเป็น 5 โซน เล่าเรื่องราวของโอลิมปิกในหลายแง่มุม เช่น ดีไซน์โปสเตอร์ คบเพลิงและเสื้อผ้าในพิธีเปิด เหรียญรางวัล หรือเรื่องราวซึ้งกินใจของนักกีฬา โดยทั้งหมดเข้าชมฟรี!

ความประทับใจแรกคือโปสเตอร์งานโอลิมปิกแต่ละครั้งสวยหมดเลย ถ้าทำโปสต์การ์ดขายจะซื้อสะสมทั้งคอลเลกชั่นแน่นอน คบเพลิงแต่ละปีก็เก๋ ยิ่งโซนเหรียญรางวัลนี่ล้ำมาก เข้าไปแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในยานอวกาศ มีเหรียญให้ชมเยอะมากตั้งแต่เหรียญดีไซน์กรีกจ๋าๆ ไปจนโมเดิร์นล้ำมินิมอล 

olympic agora
olympic agora

คอสตูมในพิธีเปิดก็มีเรื่องราวน่าสนใจ เช่น ชุดประจำชาติของกรีซที่ดูตอนแรกคล้ายๆ ชุดชนเผ่าแถวบ้านเรา หรือชุดของจีนที่ Beijing Olympic 2008 ผลงานของอาร์ตไดเรกเตอร์คอสตูมชาวญี่ปุ่น ภายใต้การคุมทีมครีเอทีฟงานพิธีเปิดโดยผู้กำกับดัง ‘จาง อี้โหมว’ 

ชุดเดินพาเหรดที่ London Olympic 2012 ซึ่ง Danny Boyle รับบทเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ก็สนุก มีทั้งชุดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเด็กอย่าง Mary Poppins และชุดที่ดูเหมือนจะได้แรงบันดาลใจจาก Alice in Wonderland แต่จริงๆ แล้วคือชุดของนางพยาบาลแบบดั้งเดิมของ National Health Service ซึ่งหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ก็พากันมาร่วมเต้นในพาเหรดด้วย เสียอย่างเดียวคือบรรยากาศโซนคอสตูมมืดไปหน่อย อ่านคำบรรยายลำบากไม่พอยังแอบน่ากลัวนิดๆ ด้วย

แต่ที่ประทับใจเป็นพิเศษคือ Olympians โซนที่เล่าเรื่องราวของนักกีฬาโดยแบ่งเป็นธีมต่างๆ เช่น นักกีฬาที่โด่งดังเพราะความสามารถโดดเด่นอย่าง Usain Bolt, ผู้บุกเบิกเส้นทางกีฬาให้กับประเทศและสังคม หรือแม้แต่หมวดผู้มีน้ำใจนักกีฬา

เราเคยได้ยินเรื่อง Mikio Oda นักกีฬาชาวญี่ปุ่นและชาวเอเชียคนแรกที่ได้เหรียญทองจากโอลิมปิกมาแล้วเลยตื่นเต้นที่ได้เห็นไดอารีที่เขาเขียนระหว่างการแข่งขันโชว์ในโซนนี้ ส่วนนักกีฬาคนที่เห็นแล้วปลื้มเป็นพิเศษคือ Charlotte Cooper 1 ใน 22 นักกีฬาหญิงที่เข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกของโลกที่เปิดรับนักกีฬาผู้หญิงด้วย ชุดที่เธอใส่ตีเทนนิสวินเทจมากราวกับหลุดมาจากนิยายเรื่อง Little Women กระโปรงก็ยาวเกือบจะกรอมพื้น แต่คว้าเหรียญทองมาได้สวยๆ ถึง 2 เหรียญ 

นอกจากนี้เรื่องของ Derek Redmond ก็ทัชใจในฐานะนักกีฬาวิ่งที่มีปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บมาโดยตลอด เขาล้มระหว่างแข่งขันที่บาร์เซโลนาปี 1992 แต่ก็ยังพยายามลุกขึ้นมาเดินกะเผลกๆ เพื่อไปให้ถึงเส้นชัย พ่อของเขาจึงวิ่งเข้าไปช่วยพยุงและเดินเข้าเส้นชัยไปพร้อมๆ กัน ส่วนอีกหนึ่งความประทับใจคือเท้าทองของ Abebe Bikila นักวิ่งมาราธอนจากเอธิโอเปีย เขาเป็นนักกีฬาคนแรกจากแถบ Sub-Saharan Africa ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก นอกจากจะชนะได้ด้วยการวิ่งเท้าเปล่า ชาวเอธิโอเปียยังรู้สึกฟินเป็นพิเศษเพราะชนะในประเทศอิตาลีซึ่งเคยยึดเอธิโอเปียเป็นเมืองขึ้น

หมดจากโซนนี้ก็เข้าสู่โซนสุดท้ายที่มีชื่อว่า The Unifying Power of Olympism ตรงทางเข้ามีแท็บเล็ตและมือถือวางเรียงรายถ่ายทอดเรื่องราวของนักกีฬาและผู้คนผ่านคลิปสั้นๆ เมื่อเดินเข้าไปด้านในจะเห็นจอใหญ่ที่นำภาพโอลิมปิกครั้งก่อนๆ มาเรียงร้อยไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ ทั้งพิธีเปิด พิธีปิด และการแข่งขันกีฬาแต่ละชนิด เป็นการจบนิทรรศการที่สร้างความฮึกเหิมสมแฮชแท็กของแคมเปญ #StrongerTogether สุดๆ

olympic agora

Agora Café

เสพคอนเทนต์โอลิมปิกจุกๆ ไปแล้วอย่าลืมไปนั่งพักที่คาเฟ่โอลิมปิกด้วย คาเฟ่ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของตึก Nihonbashi Mitsui Tower แน่นอนว่าการตกแต่งมาในธีมโอลิมปิกแบบเต็มๆ แน่นๆ ทั้งผนัง โต๊ะ เมนู กระดาษห่อแก้วกาแฟ และแน่นอนว่ามีจอให้ดูกีฬากันสดๆ ก่อนกลับอย่าลืมแวะถ่ายรูปกับเหรียญโอลิมปิกขนาดใหญ่ยักษ์ที่คาดว่าอิงไซส์จากไททันด้วย

olympic agora

การดูงานทั้งหมดทั้งมวลนี้ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน แม้งานแต่ละอย่างจะกระจายตัวกันแบบงงๆ นิดหน่อยแต่ก็หาไม่ยากขนาดนั้น และอยู่ในระยะเดินถึงกันได้สบายๆ มาตรการเว้นระยะห่างและเจลแอลกอฮอล์ต่างๆ ก็ดีงาม ที่สำคัญหากยังไปดูงานจริงไม่ได้ ในเว็บไซต์ก็มีให้ดูเยอะทีเดียว ใครกำลังอินและสนใจไปตามต่อได้ที่ olympics.com/olympic-agora/en

AUTHOR